ปรึกษาปัญหาชีวิตจากดวงชาตา นิทานโหราศาสตร์ อ.อรุณ ลำเพ็ญ

...อ.ธนเทพ ปฏิพิมพาคม...

...คอลัมน์นี้จะเป็นที่ปรึกษาสำหรับทุกท่านที่มีความทุกข์ร้อนต่างๆในเรื่อง ปัญหาการเงิน ปัญหาเรื่องงานต่างๆ ...ปัญหาเรื่องครอบครัว ๆลๆ แต่มีข้อแม้ว่าทุกท่านต้องรู้ วัน เดือน ปี และเวลาที่เกิด สถานที่เกิดของตนเอง ที่แน่นอน...ผมจึงสามารถที่จะตรวจดวงชาตาของท่านออกมาได้อย่างถูกต้อง และแม่นยำ อันที่จริง ถึงแม้จะไม่มีเวลาเกิด ผมก็สามารถตรวจดวงชาตาได้แต่นั่นหมายความว่าท่านจะต้องมาหาผมด้วยความตั้งใจที่จะดูดวงของตนเองอย่างมุ่งมั่นโดยตรงเท่านั้น ซึ่งนั่นก็ต้องหมายถึงต้องใช้เวลาในการหาลัคนาราศีของท่านเป็นเวลาซักชั่วครู่ใหญ่ จะต้องถามความเป็นอยู่คร่าวๆ พี่น้องมีกี่คนมีบุตรกี่คน ๆลๆ จิปาถะทีเดียวและครับ และอาจจะต้องลองทายย้อนหลังไปมาอยู่อีกหลายเรื่องทีเดียว เพราะถ้าไม่มั่นใจผมก็ไม่สามารถทำนายดวงชาตาได้อย่างเฉียบขาด...ชัดเจนอย่างแน่นอน...

สรุปว่าถ้าท่านใดมีปัญหาที่แก้ไม่ตกในชีวิตก็เข้ามาเพจนี้ ผมยินดีเป็นที่ปรึกษาให้ท่านได้ จากทุกข์หนัก อาจขจัดปัดเป่าให้เบาบางลงได้ ยิ่งถ้าผู้ที่เข้ามาปรึกษา นึกอยากเรียนรู้ ศึกษาวิชาโหราศาสตร์ ก็ยิ่งเป็นการดีอย่างยิ่งเพราะถ้าท่านเข้าใจเรื่องโหราศาสตร์ได้แล้ว จะรู้จักกับคำว่า "รอจังหวะ...และ เวลา" ได้จากตัวท่านเอง...

...เว็บด้านล่างนี้จะเป็นบทความต่างๆ ที่เกี่ยวกับวิชาโหราศาสตร์...

http://exguitarhora.wix.com/exastrology โหราศาสตร์ไทย & นานาสาระ

http://tanatepastrol.blogspot.com/ บทเรียน + บทความ + ดวงตัวอย่าง + นิยายโหราศาสตร์

...โดย อ.ธนเทพ ปฏิพิมพาคม...

exguitarhora.blogspot.com...บทความนานาสาระประโยชน์

...โดย อ.ธนเทพ ปฏิพิมพาคม...

https://sites.google.com/site/nanasaraprayokhn/

เว็บไซต์นานาสาระประโยชน์ อ.ธนเทพ ปฏิพิมพาคม

...เว็บด้านล่างนี้เป็น website และ ที่รวบรวมบทความโหราศาสตร์นานาประโยชน์

ไว้ให้ทุกท่านไว้ศึกษาหาความรู้ในเบื้องต้นโดยครูบาอาจารย์ทั้งหลายในอดีต...

...การผูกดวงชาตาเบื้องต้น...

โหราศาสตร์ไทย เรียนด้วยตนเอง อ.สิงห์โต สุริยาอารักษ์

http://www.horawej.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=267576&Ntype=3

...โปรแกรมผูกดวงชาตา..

.http://www.payakorn.com/lukana.php

...โหราศาสตร์ระบบเรือนชาตาสัมพันธ์...

http://sunwasa.wordpress.com/

...โหราศาสตร์ไทย อ.เทพ สาริกบุตร...

http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/astrology/astrology.htm

...ประวัติ อ. อรุณ ลำเพ็ญ และนิยายเรื่องจริงโหราศาสตร์ของท่าน...

http://www.horawej.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=377858&Ntype=3

...โหราเวสม์ เป็นคลังของหนังสือโหราศาสตร์โดยตรง...

http://www.horawej.com/

... ZODIAC ..

...อ.อรุณ ลำเพ็ญ...

...ขอยกคำนำในหนังสือเรื่องสั้นดังกล่าว ฉบับสำนักพิมพ์ "สวิตา"...

(ฉบับรวมเล่มครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๒ และ ฉบับงานพระศพของ อ.อรุณ ลำเพ็ญ (พ.ศ. ๒๕๓๔) คือ...

"หมอเถา(วัลย์)" ผู้เขียนหนังสือโฮ๋ราสาดเล่มนี้ เป็นคนแปลกที่มีความคิดแปลก และมีแนวการเขียนหนังสือแปลก ความแปลกในแนวเขียนของเขา เป็นความแปลกและใหม่ ซึ่งมิได้เคยมีปรากฎมาก่อนในวงการหนังสือ ที่เหนือยิ่งไปกว่าความแปลกก็คือเนื้อหาสาระของเรื่องที่ติดเนื้อพึงใจแก่ผู้อ่านมากมายมาถึง 2 รอบ 2 คราว คราวแรกเป็นเรื่องสั้นๆ ลงพิมพ์ในวารสาร "ดวง" รายเดือน เมื่อปีพ.ศ.2515 ลงติดต่อมาจนถึงปีพ.ศ.2517 เรื่องจบไปแต่ผู้อ่านไม่ยอมจบ ในปี 2520 ได้รบเร้าเรียกร้องให้เอาเรื่องเก่านั้นมาพิมพ์อีก จึงได้ลงในวารสาร "พยากรณ์สาร" อันเป็นวารสารของสมาคมโหรอีกเป็นรอบที่ 2 ซึ่งได้รับความนิยมยกย่องจากผู้อ่านเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าคราวแรก

ในการรวมเล่มครั้งนี้คาดว่าจะได้รับความสำเร็จเช่นกัน เรื่องเดียวที่พิมพ์ซ้ำถึง 3 คราว ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี นับเป็นความแปลกที่น่าทึ่งมาก ในตลาดหนังสือจะมีหนังสือประเภทเรื่องเล่นเขียนให้อ่านเล่น และเรื่องเล่นเขียนให้อ่านจริง หรือเรื่องจริงที่เขียนให้อ่านจริง แต่"โฮ๋ราสาด" เป็นเรื่องจริงเขียนให้อ่านเล่น ถ้าอ่านเล่นก็จะได้รับความสนุกเพลิดเพลินเล่นๆ ถ้าอ่านจริงก็จะได้รับสาระความรู้ที่แท้จริง

ถ้าจะอ้างภูมิหลังของ "หมอเถา(วัลย์)" ผู้เขียน ท่านไม่แปลกใจเลยว่า "โฮ๋ราสาด" นี้น่าอ่านเพียงใด หมอเถา(วัลย์) เป็นนักเขียนที่เริ่มงานเขียนนวนิยายเป็นเล่มยุคเพลินจิต และวัฒนานุกูลเมื่อพ.ศ.2579 เป็นนักเขียนที่ร่วมแก้วเหล้ามากับ "ไม้เมืองเดิม" และ "มนัส จรรยา" และทิ้งปากกาหันไปจับจอบขุดดินกินหญ้ากับ "สด กูรมโรหิต" เขาใช้นามปากกาในยุคนั้นว่า "รุ่ง บางหลวง"

ในข้อเท็จจริงที่หาได้ในปัจจุบันคือ บทความเรื่องสั้น "โฮ๋ราสาด"นั้น พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารพยากรณ์สารฉบับเดือน พฤษภาคม ๒๕๑๖ เป็นตอนแรกคือ "บุษบามีคู่" จากนั้นพิมพ์ต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน ๒๕๑๖ ตอน "ยามกาลชะตา" ก็หยุดลง เนื่องจากมีการเปลี่ยนคณะบรรณาธิการพยากรณ์สารและสำนักพิมพ์ จากนั้นจึงนำก็ไปพิมพ์ต่อเนื่องลงในนิตยสาร "ดวง" ของ อ.ประทีป อัครา เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ มีอ.อรุณ ลำเพ็ญ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ตั้งแต่ฉบับปฐมฤกษ์ เดือนมกราคม ๒๕๑๗ พิมพ์ต่อเนื่องในนิตยสารดังกล่าว จนกระทั่งกลางปี ๒๕๑๘ ก็หยุดเขียนเนื่องจากเหตุผลส่วนตัวของท่านอ.อรุณ ลำเพ็ญเอง รวมทั้งสิ้น ๒๙ ตอนคือ บุษบามีคู่ ,ยามอัฐกาล ,กฎแห่งกรรม ,ตั้งชื่อเด็ก ,ยามกาลชะตา ,ดาวคู่มิตร-คู่ธาตุ ,ห้ามฤกษ์ ,จับโจร ,บุพพกรรมแห่งดาว ,เรียนโหราศาสตร์ ,ทักษาประสมเรือน ,พินทุบาทว์ ,ลัคเน ,อ่านดาว ,ดวงพระ ,ตนุเศษ ,นามนี้ ดีไฉน ,จุดคราสในดวงชะตา ,ทักษาสมเด็จ ,พระเคราะห์ถ่ายเรือน ,ดาวบุพกรรม ,ดาวลอย ,ดาวแฝงแสง ,ฤกษ์งาม-ยามดี ,ดวงสองชั้น ,เกณฑ์ชัณษา ,ทนายโหราศาสตร์ ,ดวงชาวเกาะ ,บุตรสุดที่รัก...

ในการเรียบเรียงครั้งนี้ ใช้ฉบับที่พิมพ์แล้วและได้เผยแพร่อยู่ตามเวปไซต์ต่างๆ มาจัดเรียงหน้าตามเรื่องสั้นของสำนักพิมพ์ "สวิตา" ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ เพราะได้ทำการเผยแพร่ในงานศพของท่านเองด้วย โดยภรรยาและบุตรชายเป็นผู้พิมพ์เผยแพร่ ซึ่งในปัจจุบันแนวการเขียนเล่าเรื่องแบบของท่านนี้ ก็เป็นที่นิยมในหมู่นักโหราศาสตร์ ระดับ Master ซึ่งเขียนบทความลงในนิตยสารฉบับต่างๆด้วย ...

... อ.ธนเทพ ปฏิพิมพาคม ...

...ผมในฐานะที่เป็นหนึ่งในศิษย๋ [ในนาม ] ของท่านจึงได้คัดลอกจากหนังสือ โฮ๋ราสาด ที่ครอบครัวท่านแจกเผยแพร่ในงานศพของท่านและมาจัดทำเขียน

รูปดวงขึ้นมาใหม่ ให้ดูสะอาดตาและอ่านง่าย เพราะบทความเรื่องสั้น " โฮ๋ราสาด" นี้มีคุณค่าต่อบุคคลทั่วไปและนักศึกษาโหราศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง...

...ผมได้จัดทำไว้ที่ http://tanatepastrol.blogspot.com/

...ต่อจากนี้เป็นเรื่อง " บุษบามีคู่ กฏแห่งกรรม ดวงชาวเกาะ ตั้งชื่อเด็ก " ...โหราศาสตร์นอกคอก แต่ไม่นอกครู...

จังหวัดที่ผมอยู่เป็นจังหวัดเล็กๆริมทางผ่านของถนนสายใหญ่เป็นเมืองชนบทที่มีธรรมชาติและผู้คนสงบ ครั้งหนึ่งโหราศาสตร์เคยรุ่งโรจน์ ณ ที่นี้ และทำให้ชื่อเสียงจังหวัดของเราโด่งดังมาก ในสมัยเมื่อท่านเจ้าคุณใหญ่ยังมีชีวิตอยู่ ชื่อเสียงในการพยากรณ์ของท่านเล่าลือไปในหมู่โหรเกือบทุกจังหวัด แม้โหรผู้มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯก็เคยมานมัสการท่านอยู่เสมอ ท่านเจ้าคุณใหญ่จึงเสมือนสมบัติของเมืองนี้ที่ชาวเมืองเคารพ รัก และภาคภูมิใจ...

เมื่อท่านมรณภาพ ล่วงมาจนบัดนี้ร่วม 20 ปี ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านยังคงอยู่ก็จริงแต่แสงเพลิงโหราศาสตร์ในเมืองนี้ดับวูบลง เหมือนเพลิงสิ้นเชื้อ นักโหราศาสตร์ที่เคยกระตือรือล้นเล่าเรียนเพื่อเอาดีทางนี้ ต่างเลิกรากันไปทีละคนสองคนจนถึงบัดนี้แทบจะเรียกว่าไม่มีเหลืออยู่เลย...

นอกจากหลวงตาชื้น ซึ่งเคยมาอยู่รับใช้ปรนนิบัติวัตฐากท่านเจ้าคุณใหญ่อยู่ 2 - 3 ปี ก่อนท่านมรณภาพ แม้จะมิได้เป็นศิษย์ที่ได้เล่าเรียนสั่งสอนกันโดยตรง แต่อยู่ใกล้ชิดได้ยินได้ฟังอยู่เสมอจึงพอจะจดจำมาได้ตามกำลังปัญญา เมื่อท่านย้ายมาจำพรรษาในเมือง กุฎิของท่านจึงมีแขกไม่เว้นแต่ละวัน นอกจากชาวบ้านร้านตลาดที่มีทุกข์มาขอความอนุเคราะห์จากท่าน ก็มีพวกนักโหราศาสตร์ที่ยังสนใจและไม่สันทัดจัดเจนมาชุมนุมกันถกเถียงไต่ถามท่านบ้าง มาดูลีลาการพยากรณ์ของท่านเพื่อเก็บเป็นความรู้...

...ในจำนวนนั้นก็มีผมอยู่ด้วยคนหนึ่งที่เป็นขาประจำไม่ขาด ...

อันที่จริงความรู้ทางโหราศาสตร์มือขนาดผมก็แค่งู ๆปลาๆ เป็นนักเรียนก็แค่ประถม ๔ ที่ต้องยึดโหราศาสตร์ไว้เหนียวแน่น เพราะอาชีพผมเป็นหมอแผนโบราณ ผมชื่อเต็มๆว่า นายเถาวัลย์

แต่ใครๆทั้งเมืองเรียกผมสั้นๆเหลือแต่ “หมอเถา” เดิมอาชีพนี้จำเริญรุ่งเรืองดี แต่พอหมอฝรั่งมัน

เฟ้อเต็มเมือง ผมก็เลยต้องลดฐานะลงมาเหลือแต่แผนกกุมารเวช คือรับกวาดยาเด็กเป็นอาชีพหลัก พวกพ่อแม่เด็กก็มักขอให้ตั้งชื่อเด็กบ้าง ผูกดวงเด็กบ้าง เพราะเขาถือว่าการผูกดวงเด็กเท่ากับผูกมิ่งขวัญเด็กให้เป็น สิริมงคล ผมจึงจำเป็นต้องกระตือรือร้นขวนขวายเรียน...

...วิชาโหราศาสตร์...

วันนี้ก็เช่นเดียวกับวันก่อนๆพอตกบ่ายกะว่าพระฉันเพลเรียบร้อยแล้ว ผมก็แอบไปชวนครูก้อนเพื่อนคู่หูขึ้นกูฎิหลวงตาชื้นเช่นเคย...

พอกราบเสร็จ ท่านก็ยกป้านชาคอของโปรดส่งมาให้อย่างรู้ใจ วันนี้เป็นวันพระ จึงมีขนมเหลือเพลกินแกล้มน้ำชา กินไปคุยไปสารพัดเรื่อง ตั้ง แต่ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ เรื่อยมาจนเรื่อดินฟ้าอากาศ...

เสียงหมาใต้ถุนกุฎิเห่ากันขรม แข่งกับเสียงเรียกชื่อหลวงตา แสดงว่ามีแขกมา เณรขั้วซึ่งมีหน้าที่ปรนนิบัติและดูแลแขกก็ลุกไปประตูชานกุฎิ...

เป็นผู้หญิงวัยกลางคน เหลียวหน้าเหลียวหลังคอยระวังสุนัขที่รุมเห่า ไม่ทันเห็นเณรที่ชะโงกประตู ยังคงตะโกนเสียงดัง...

“ หลวงตา ขา อยู่ ไม๊ ”

เณรชั้วอายุย่าง 16 ปีนี้นิสัยติดค่อนข้างจะทะเล้นๆ ตอบสวนควันทันที...

”ขาของหลวงตาอยู่ทั้งสองข้างจ้ะ เดี๋ยวนี้ตัวของท่านก็อยู่กะขาของท่านน่ะแหล่ะ คุณนายเฮี๊ยะ”

แม่ค้าร้านชำในตลาดที่ชอบให้คนเรียกคุณนาย ทั้งยิ้มทั้งค้อนพร้อมกัน...

ประคองถาดรองถวายพระขึ้นบันไดกุฎิ ไม่ต่อล้อต่อเถียง ผ่านเฉลียงไปมุขหน้ากุฎิที่...

...หลวงตาเอกเขนกอยู่...

คุณนายเฮี๊ยะวิสาสะครูก้อนกับผมตามประสาคนคุ้นเคยกัน แล้วก็ก้มกราบหลวงตาชื้นประเคนถาดดอกไม้ธูปเทียนและใบชา...

หลวงตาชื้นทอดผ้าอาบรับประเคนแล้วก็ทักทาย

“เออ ไม่ได้พบกันเสียนาน ค้าขายดีอยู่หรือ”

“ไม่ค่อยดีเจ้าค่ะ” คุณนายเชื้อจีนตอบสำเนียงไทยชัดเจน

“ตั้งแต่เตี่ยเต็กตายไม่มีใครช่วยค้าขายเลยเจ้าค่ะมีลูกสาวกะเขาก็ไม่ได้พึ่งแรงมันทัศนาจรทุกวัน”

ครูก้อนร้องเอ๊ะ ! “ทัศนาจรกันยังไง ทุกวัน”

“ก็มันจรไปจรมา ไม่อยู่ติดร้านสักวัน” คุณนายเฮี๊ยะตอบยิ้มๆ

ทั้งผมและครูก้อนร้อง “อ้อ” เหมือนนัดกัน...

คุณนายเฮี๊ยะหันมาทางหลวงตา พูดถึงธุระที่มา

“ดิฉันตั้งใจจะมาให้หลวงตาตรวจดวงชะตา ลูกบุษบาสักหน่อยเจ้าค่ะ

หนูมันเกิดวันพฤหัส ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ เวลา 5 โมงเย็น เจ้าค่ะ”

(๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๙)

หลวงตาชื้นถามยิ้มๆ เรียกชื่อเดิมของลูกสาวคุณนาย

“ดูว่าเมื่อไร แม่ฮวยมันจะหายจรไปจรมายังงั้นเร้อะ”

“ไม่ใช่เจ้าค่ะ” แม่เฮี๊ยะตอบยานคาง “ปีนี้หนูบุษบาของอิฉันอายุย่างเข้า 26 ปีเข้าไปแล้ว ยังไม่มีเหย้าไม่มีเรือนเป็นฝั่งฝากะเขาสักทีกลุ้มใจเหลือเกินเจ้าค่ะ ธรรมเนียมจีนมันขายหน้าพ่อแม่”

ผมคันปากอดไม่ได้ก็เคาะเอาว่า “แล้วคุณนายเฮี๊ยะไม่ดูเนื้อคู่กะเขามั่งหรือ”

แม่เฮี๊ยะเหลียวขวับมาทางผม จะว่าค้อนก็ไม่เชิงเพราะนัยน์ตาเขียวปั้ดคงเข้าใจว่าถูกเกี้ยวพาราสี ยกนิ้วขึ้นชี้หน้าผมจัง ๆ

“นี่หมอเถา ปีนี้อายุกี่ขวบแล้ว ผมก็ขาวโพลนไปทั้งหัว”

“ก็ 60 แหละ อีกนานกว่าจะตาย” ผมทั้งอายทั้งเคืองที่ถูกถอนหงอกอย่างไม่ไว้หน้า “ถ้ามีเมีย ก็เห็นพอจะมีลูกได้สัก 2-3 คนหรอก”

“นั่นน่ะซีย๊ะ” แม่เฮี๊ยะกระแทกเสียง...

“คนแก่ปูนนี้มัวแต่คิดเรื่องไม่เป็นสิริมงคลพรรค์นี้มันถึงต้องหากินจนแก่ตาย”

ผมหน้าร้อนผ่าว ขยับจะโต้คารมต่อไปอีก ก็พอดีถูกครูก้อนสะกิดจึงได้สติยอมนิ่ง นึกเสียว่าเสียเฟื้องดีกว่าเสียสลึง เพราะยังจำประวัติแม่เฮี๊ยะคนนี้ได้ว่าขนาด 5 ต่อ 1 รุมทะเลาะ ยังด่าไม่ทันแก“

ฟังครูว่าสักหน่อยคุณนาย” ครูก้อนรีบขัดจังหวะเพื่อหย่าศึก ด้วยการเอาน้ำเย็นละลายยาหอมปลอบ “อ้ายเรื่องเช่นนี้มันธรรมดาโลกนะจ๊ะ ไม่น่าขุ่นเคือง ทั้งคุณนายก็ใช่ว่าจะแก่เฒ่าขี้ริ้วขี้เหร่เมื่อไรยังสวยยังอิ่มเอิบ จะปล่อยให้อับเฉาร่วงโรยก็น่าเสียดาย หมอเถาแกถามด้วยความหวังดีหรอกจ๊ะ”

“อย่ามาจ๊ะมาจ๋าเลยครู เรื่องความหวังดีของผู้ชายน่ะ” แม่เฮี๊ยะชี้นิ้วกราดเฉียดหน้าจนทั้งผมและครูก้อนต้องหลบวูบ " ฉันเข็ดเสียแล้ว เมื่อแรกๆ แสดงตัวมาก็ทำท่าจะเป็นตัวเถ้าแก่ช่วยกันค้าขาย ลงท้ายก็จะเหมาตำแหน่งลูกเขย ฉันขี้เกียจมีลูกกะหลานพร้อมกัน ลำดับญาติไม่ถูกเลยเฉดหัวหมด”

หลวงตาชื้นก้มหน้าก้มตาลงเลขผานาทีกระดานโหรอยู่พักใหญ่ๆ พอผูกดวงเสร็จ ท่านพิจารณาแล้วก็ยิ้มอยู่ในที เลื่อนกระดานโหรมาวางตรงหน้าผมกับครูก้อน...

“เอ้าหมอเถากะครู ลองช่วยกันดูซิว่าเรื่องคู่ที่เขาถาม จะเป็นอย่างไร”

(วันนั้นเป็นวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2515 ) ทั้งผมและครูก้อนช่วยกันตรวจดวงชะตาแม่บุษบา(ฮวย) อย่างถี่ถ้วน ครูก้อนเป็นคนปัญญาไวกว่า ก็ทักขึ้นก่อนว่า...

“ถ้าว่ากันตามพื้นดวง ราหูเล็งลัคน์อย่างนี้ก็เป็นพินทุบาทว์เป็นดวงชะตาแตก ซ้ำเสาร์ยังเข้ามาเล็งลัคน์เป็นพินทุบาทว์ซ้ำสอง เรือนปัตนิเสียหมดทั้งเดิมทั้งจรยังงี้ เรื่องคู่ครองเห็นจะยังยากนะครับหลวงตา"

“เออว่าไป” หลวงตาชื้นหันมาทางผม “หมอเถาล่ะ เห็นเป็นอย่างไง”

ผมสบตากับครูก้อน เกรงใจที่ต้องขัดคอเพื่อน “ผมว่าถ้าเป็นดวงอื่นก็อาจจริงตามครูว่า แต่ตรงนี้ลัคนาเขาอยู่ราศีพิจิกเป็นกีฎะราศี ราหูเดิมเล็งอยู่นั้นเป็นองค์เกณฑ์ แม้เสาร์มาเล็งร่วมอนุโลมเป็นองค์เกณฑ์เช่นกัน มันควรจะเป็นคุณมากกว่าโทษเรื่องคู่มันน่าจะมีผล”

“แต่เสาร์จรเล็งลัคน์นี้ ผมไม่เห็นมันดีสักราย ไม่ว่าราศีไหนๆ ตำราเก่าๆทายร้ายทุกราย”

ครูก้อนรู้สึกเสียแต้มจึงรีบแย้ง...

“เลยไม่รู้เรื่องกัน” แม่เฮี๊ยะมองหน้าคนโน้นคนนี้เลิกลั่ก “ทั้งดีทั้งชั่วทั้งได้ทั้งไม่ได้จะว่ายังไงเจ้าคะหลวงตา”

“เดี๋ยวอย่างเพิ่งขัด” ผมโบกมือห้าม “เสาร์ถึงราหูมันน่าจะได้เพื่อนร่วมชีวิตน่ะนา”

หลวงตาหัวร่อจนตัวคลอน...

“เอ้าว่าเข้านั่น มันก็ถูกทั้ง 2 คนนั่นแหละ เพราะตำราเขาว่าไว้ยังงั้น”

“ถ้าถูกทั้งผมกะหมอเถา แล้วจะทายเขายังกันล่ะครับ” ครูก้อนฉงน

“เออฟังให้ดีทั้งสองคน” หลวงตาลุกขึ้นนั่งขัดสมาธิตัวตรง “องค์เกณฑ์หรือพินทุบาทว์น่ะเขาเอาไว้อ่านดวงเดิม กฎเกณฑ์พวกนี้ยังมีอีกแยะ ของเก่าเขาก็ไม่ผิดหรอก แต่มันเหมือนตาลยอดด้วนเอามาทายโดดๆไม่ได้ มันไม่มีทางเดิน กฎเกณฑ์มันขัดกันเข้า คนพยากรณ์มักหกล้มเสียก่อน”

...หลวงตาชี้มือลงบนกระดานโหร...

“จะว่าข้างราหูเล็งลัคน์ในดวงเดิมเป็นพินทุบาทว์ไม่ถึงกับว่าจะมีคู่กะเขาไม่ได้ตลอดชีวิตหรอกเป็นแต่เพียงว่ามีคู่ช้า เพราะดาวมฤตยูร่วมราศีอยู่ด้วย อย่างรายแม่หนูบุษบานี่ก็อายุล่วงเข้า ๒๖ แล้วสมัยนี้ถือว่าช้ามาก เพราะเขาตบแต่งกันตั้งแต่อายุ 16-17 เสียโดยมาก แต่ว่าบทจะมีคู่ก็ปุบปับรวดเร็วตามอำนาจราหู”

หลวงตาชื้นหยุดรินน้ำชาจิบแก้คอแห้งแล้วก็พูดต่อ “ที่ว่ามีคู่ช้าเพราะอะไร ถ้าเล่นแต่กฎเกณฑ์ มันก็เหมือนตาลยอดด้วนอย่างว่า ไม่มีทางเดินคำพยากรณ์ต่อได้ การเล่นโหราศาสตร์จะทิ้งภพทิ้งเรือนทิ้งดาวเขาไม่ได้ เพราะเป็นหลักใหญ่ ทั้งทางเดินคำพยากรณ์ก็เป็นเรื่องเป็นราว ยิ่งเพิ่มธาตุเพิ่มทักษาก็ยิ่งวิจิตรพิศดาร”

ผมกับครูก้อนได้แต่นั่งอ้าปากฟัง เหมือนศิษย์ฟังครูสอน หลวงตาก้มลงดูกระดานแล้วก็อ่านดวงให้ฟังต่อ “ดูทางเรือนเขาราหูเจ้าเรือนพันธุมากุมเรือนปัตนิ ญาติมันคอยคุมเรื่องคู่ ดูศุกร์เจ้าเรือนปัตนิต่อไปอีกก็มาอยู่ภพศุภะ เรื่องคู่ครองมันหนีไม่พ้นผู้ใหญ่กะญาติคอยจัดแจงเจ้ากี้เจ้าการอยู่อีตอนมันขัดข้องช้านานก็เพราะศุกร์เจ้าเรือนปัตนิร่วมเสาร์กาลกิณีนี่แหละ ...

...มันถึงมียากมีเย็น”

“หลวงตาพูดถูกเจ้าค่ะ” แม่เฮี้ยะรับ “อิฉันเป็นคนคอยควบคุมเข้มงวดเพราะมีลูกสาวกะเขาคนเดียวไม่อยากจะต้องใส่ตะกร้าล้างน้ำ แนะนำคนไหนให้มันไม่ชอบสักคน”

...หลวงตาพินิจพิจารณาดวงในกระดานแล้วมาเปิดปูมโหรดูอยู่ครู่ใหญ่...

“ ได้การละ แม่บุษบาจะได้พบอิเหนากันเสียที ปีนี้ละว๊ะได้แต่งกันแน่ คุณนายเตรียมฉีก

ผ้าอ้อมเลี้ยงหลานได้แล้ว”

“จริงหรือเจ้าคะ หลวงตา” แม่เฮี๊ยะนัยน์ตาเป็นประกายด้วยความยินดีปรีดา

“จะซักเมื่อไร กลางปีหรือปลายปีอิฉันจะได้บอกนังหนูมันรู้ตัว”

“นี่ก็เข้าเดือน 3 แล้ว” หลวงตานั่งนับนิ้ว...

“ตกในเดือน 6 นี่แหละแต่งแน่ อีตอนศรีถึงปัตนินี่ต่อให้ขังไว้บนปราสาท 7 ชั้นก็ต้อง

มีผัวแน่ หาฤกษ์ให้ก่อนก็ยังได้ว๊ะ”

“อีก 3 เดือน แม่เฮี๊ยะรำพึงกับตัวเอง “แต่มันยังไม่มีเค้าเลยเจ้าค่ะ หลวงตา เพิ่งปฏิเสธเขาไปหยกๆ

เมื่อเร็วๆนี้เอง”

“ไม่รู้ ฉันว่าตามดาวตามดวง” หลวงตาชื้นว่า “เอ้าหมอเถากะครูดูเอา มันหลายมุมนัก”

ผมกะครูก้อนชะโงกดูกระดานโหรตามมือหลวงตาที่ชี้ ขั้นแรกดูทักษาปีนี้อายุเข้า 26 ตามปูมพุธ ราหูเป็นศรี ดูราหูเดิมซิมันอยู่ปัตนิ มันก็คือปัตนิมาเป็นศรีข้อหนึ่ง

ข้อสองราหูที่เป็นศรีเหยียบเรือนเสาร์ ถึงจะเป็นเรือนกาลกิณีเดิมก็ไม่เป็นไร เพราะเขาเป็นคู่มิตรกันย่อมไม่ทำลายกัน เมื่อศรีเข้าเรือนเสาร์และเสาร์จรเล็งลัคน์ ดาว 2 ดวงนี้มันไฟฟ้าต่อสายเป็นดวงเดียวกัน ก็เท่ากะว่าศรีเล็งลัคน์เต็มตัว

ข้อสามเสาร์จรเข้าเรือนปัตนิทับราหูเดิมคู่มิตร มันคู่มิตรกันยังไงคู่มิตรเขากำลังโกรธกันหรือกำลังรักกัน มันต้องดูเสาร์เดิมของเขากับราหูจรในดวงนี้มันเล็งกันรักกันเป็นคู่เสน่หา ยืนยันเรื่องดาวทับกันในเรือนปัตนิ มันก็ให้ผลเรื่องผัวเรื่องเมียชัดๆ ไม่ต้องสงสัย”

หลวงตาหยุดหายใจ หอบเสียจนจีวรกระเพื่อมเพราะพูดมายืดยาว พอพักดื่มน้ำชาจนหมดถ้วย ท่านก็เริ่มชี้ให้เห็น “ทำไมฉันถึงทายว่าเขาจะได้แต่งงานกันในเดือน 6 เพราะรอให้ศุกร์เจ้าเรือนปัตนิถึงเรือนของเขาเสียก่อน พอย่างเดือน 5 อังคารกาลกิณีจรก็เข้าเรือนปัตนิก่อนกระทบเสาร์คู่ศัตรูและทับคู่มิตรเข้าเต็มแรง อีตอนนี้แหละจะยุ่ง แทบจะเลิกตบเลิกแต่งกันทีเดียวเคราะห์ดีพอข้างขึ้นแก่ๆ ศุกร์ก็ยกเข้าไปเป็นเกษตรในราศีพฤษภเรือนของเขา อังคารเป็นคู่มิตรกับศุกร์อยู่แล้ว เมื่อเจ้าของบ้านเขาเข้ามาเป็นเกษตรอยู่ อังคารกาลกิณีก็เซาหมดฤทธิ์ไป ทำลายเรือนปัตนิเขาไม่ได้ กะพอว่าอังคารไปตกมรณะก็ได้การแน่ในเดือน 6”

ทั้งผมและครูก้อนมองเห็นทางเดินของดาวในดวงชะตาสว่างไสวยังกะจุดเจ้าพายุดู

แม่เฮี๊ยะนั่งอ้าปากฟังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องดาวเรื่องดวงจับความแต่ว่าลูกสาวจะได้แต่งแน่

ก็พอใจ...

“เนื้อคู่ของหนูบุษบา เขารูปร่างยังไงเจ้าค่ะ ฐานะยากดีมีจนสักแค่ไหน”

แม่เฮี๊ยะพยายามซักละเอียด “อย่างเอารูปร่างเลย คนเรามันอ้วนได้ผอมได้ แต่ดาวมันคงที่เขาเป็นที่มีอายูพ้นวัยกลางคนแล้ว ตระกูลดั้งเดิมของเขาก็ยากจนมาก่อนเพิ่งจะมาตั้งเนื้อตั้งตัวมี

ชื่อเสียงภายหลังนี้เอง”

“เขาจะอยู่กันยืดไม๊เจ้าค๊ะ และจะมีลูกผู้ชายสืบแซ่ไหม”

“บ๊ะ-ซักจริง ยังไม่ทันแต่งลูกถามถึงหลานเสียแล้ว”

หลวงตาชื้นหัวเราะเอิ๊กลงลูกคอ “ไว้เอาดวงผู้ชายมาดูสมพงษ์กันมันถึงจะรู้”

แม่เฮี๊ยะซักโน่นซักนี่จนแน่ใจก็กราบหลวงตาลากลับ กับครูก้อนแกยกมือไหว้ลา

แต่กับผมแกใช้ชำเลืองหางตาค้อนขวับแทนบอกลา คงยังเจ็บใจที่ถูกเย้าเมื่อแรกมา ...

พอแม่เฮี้ยะลงกุฎิไปแล้ว ครูก้อนยังติดใจสงสัยคำพยากรณ์ของหลวงตาที่เป็นเรื่อง

เป็นราวน่าฟัง ก็ซักต่อ “หลวงตาดูอะไรจึงทายเขาว่าจะได้ลูกเขยมีอายุฐานะอย่างว่า”

" อ้าวครู ก็เมื่ออ้ายตัวจะก่อเรื่องคู่มันคือเสาร์จร เราก็ดูเสาร์เดิมเขาเป็นประ มันก็ยากจนต่ำต้อยมาก่อน อีตอนเสาร์จรมาเล็งเป็นเนื้อคู่เป็นมหาจักรมีชื่อมีเสียงมีฐานะขึ้น อ้ายเรื่องอายุ

ก็ดาวเสาร์อีกนั่นแหละ เสาร์แปลว่าเก่านานก็เมื่ออายุมันเก่ามันนานก็ต้องไม่ใช่คนหนุ่มซีว๊ะ”

... ผมกับครูก้อน ก้มลงกราบเหมือนนัดกันไว้ เพราะคิดถึงพระคุณที่ท่านให้อรรถาธิบายจน...

แจ่มแจ้ง...

เหตุการณ์ต่อมา มีพ่อค้าทางชุมพรค้าขายเป็นเอเย่นต์บุหรี่และสุราฐานะดี เมียตายตกพุ่มหม้าย แต่งแม่สื่อมาเจรจาสู่ขอแม่เฮี๊ยะตกลงรับเพราะลูกสาวไม่ขัด เมื่อรับของหมั้นขันหมากแล้ว ก็กำหนดนัดวันแต่งงานกระทันหันในวันที่ 8 พฤษภาคม 2515 ตรงกับวันจันทร์แรม 12 ค่ำ เดือน 6 เมื่อวันแต่งผมถือย่ามเป็นลูกศิษย์ ตามหลังหลวงตาไปสวดมนต์ฉันเพลและผมได้รับเลี้ยงมาอิ่มหนำสำราญ...

๑. ชาคอ = รสดี ส่วน ชากลิ่น = รสปานกลางแต่กลิ่นหอมมาก...

...เรื่องราวของ "บุษบามีคู่ " ก็ได้จบลงเอย...แฮ๊ปปี้เอ็นดิ้ง...แต่เพียงเท่านี้...

...นิยายเรื่องจริงโหราศาสตร์ของท่าน อ.อรุณ ลำเพ็ญ ยังมีอีกหลายเรื่อง...

...ผมจะค่อยๆจัดนำเสนอในต่อๆไป...

...พบกันใหม่ในบทความ + บทเรียน + นิยายเรื่องจริงโหราศาสตร์ กันได้นะครับ...สวัสดี...

วันนั้นเป็นวันพระ ขึ้น 8 ค่ำ เดือนยี่ อากาศหนาวจัดเช่นทุกๆปี ถึงกระนั้นผมก็ตื่นแต่เช้าใส่บาตร์อันเป็นกิจวัตร์ที่ผมทำมาหลายปีดีดักจนเป็นนิสัย บางทีก็หลายองค์บางทีก็องค์เดียวสุดแต่อัฐฬสจะอำนวย อาหารใส่บาตร์ก็มักเป็นไข่ต้มไข่เค็มยืนพื้น จนชาวบ้านที่ปากเปราะมักล้อผมว่า ชาติหน้าผมคงได้เกิดเป็นพอค้าไข่แน่ ผมมักเอาหูทวนลมเสีย ผมคิดตามประสาตาแก่โง่ๆ ว่าทำบุญก็เหมือนฝากออมสิน ผมตายไปเป็นผีก็จะได้เบิกเอามากินมาใช้ได้ เพราะผมตัวคนเดียวพี่น้องญาติกาไม่มี ใครเล่าเขานะทำบุญไปให้...

พอสัก 8 โมงกว่าๆ ผมก็เข้าวัดแอบไปนั่งอยู่ริมประตูทางเข้าโบสถ์ ฟังพระท่านลงอุโบสถสวดมนต์ตั้งแต่ทำวัตรเช้าเรื่อยไป ถ้าเป็นวันพระข้างขึ้น 15 ค่ำ ก็เป็นบุญหูได้ฟังท่านสวดปาฎิโมกข์ จะได้บุญหรือกุศลอะไรผมก็ไม่ได้คิดจริงจังนัก เพียงแต่ได้ฟังพระภิกษุท่านสวดมนต์พร้อมๆกัน ดังกังวาลกระหึ่มในโบสถ์ มันก้องหูก้องหัวใจ ผม ทำให้จิตใจชุ่มชื่นเบิกบานเป็นสุขเสียนี่กระไร เป็นความสุขตามประสาคนแก่ที่จะหาได้วันพระละครั้ง...

และพอพระท่านสวดจบออกจากอุโบสถไปแล้ว ผมก็คลานไปกราบพระประธานองค์ใหญ่จุดธุปเทียนบูชาท่านและอาราธนาศีลและรับศีลเองเสร็จ ผมถือศีล 5 ด้วยวิธีนี้มาทุกวันพระ ศีลข้อ อทินนา ปาณา กาเม สุรา ผมเคร่งทุกข้อมีแต่ศีลข้อ 4 มุสาวาทาเว นี่แหละลำบากใจอยู่ทุกวันพระ มันคอยแต่จะพลั้งๆ เผลอๆ อยู่ร่ำไปตามนิสัย ผมถือศีลไม่ได้กุศลส่งขึ้นสวรรค์ก็อีตรงศีลข้อ 4 นี่แหละ

...ที่จะทำให้ศีลขาดทุกวันพระ...

พอเสร็จกิจอื่นๆผมก็ออกมาลานโบสถ์ เอาแรงกายทำบุญถวายพระ กวาดระเบียงโบสถ์จนรอบเป็นประจำ เช้าวันนี้ก็เช่นเดียวกับทุกวันพระ ผมกราบพระประธานแล้วก็ออกมากวาดลานโบสถ์ กวาดไปคิดไปว่ากุศลนั้นเป็นของมีจริงเป็นจริงได้กะตัวผมเอง การมาโบสถ์เป็นกิจนิจสินนี่เอง วันพระหนึ่งนานมาแล้ว ท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสท่านเสร็จกิจออกจากโบสถ์มา ทักผมด้วยเมตตาบอกว่า...

“หมอเถาเอ๋ย ใจหมอเป็นกุศลมั่นคงดี หมอแก่แล้วตัวคนเดียวไร้ญาติ ฝากผีไว้กับฉันเถอะ เวลาตายฉันจะรับเป็นเจ้าภาพเผาให้ ไม่ต้องเป็นห่วง”

ผมก้มลงกราบเท้าท่าน ดีใจดังได้สมบัติพระศรีอารย์ก็ไม่ปาน เพราะเหตุนี้แหละอดมั่งอิ่มมั่งผมก็ไม่ค่อยจะทุกข์ร้อนเท่าไร จะทุกข์อยู่นิดๆ ก็ตรงที่กลัวว่าท่านเจ้าคุณจะเกิดมรณภาพไปก่อนผมละก็เป็นกรรมของเถา แน่ !

กำลังกวาดลานโบสถ์เพลินคิดเพลินนึกอิ่มอกอิ่มใจอยู่ ก็ต้องสะดุ้งสุดตัว เพราะมีคนสะกิดบั้นเอวข้างหลัง ...

“บ๊ะเล่นพิเรนอะไรกัน ตกกะใจ” ผมจ้องหน้าคนสะกิดนึกฉุนคิดว่าถ้าวันนี้ไม่ใช่วันพระจะด่าในใจให้แหลกทีเดียว “จะทักทายให้สุ้มให้เสียงซักหน่อยก็ไม่ได้ มาเงียบๆ ยังกะอ้ายโจร”

“ก็โจรน่ะซี ฉันละ” ชายร่างเล็กที่ยืนคู่กับชายร่างใหญ่กำยำ รับสมอ้างสีหน้าทะเล้นยิ้มระรื่น“บ๊ะ ลุงนี่เส้นตื้นพิลึก สะกิดหน่อยเดียว เต้นยังกะหนังตะลุง”

ผมพิจารณาดูชายสองคนที่ยืนอยู่ตรงหน้า ชายหนึ่งกำยำล่ำสัน หน้าเข้มดูเป็นคนจริงจัง อายุอานามราว 30 แต่งเนื้อแต่งตัวทะมัดทะแมง แววตากล้าจน ผมไม่อยากสบสายตา อีกคนหนึ่งเป็นคนร่างเล็กเกร็งอายุน้อยกว่า สง่าราศรีดูแค่ชั้นลูกกะโล่ และดูเป็นคนแปลกหน้าไม่ใช่คนเมืองนี้ทั้งคู่ จึงบอกชื่อเรียงนามของผม ...

“ฉันชื่อหมอเถา พ่อสองคนนี้มีธุระอะไรกะฉันรึ”

“เถาอะไรน่ะลุง” จ้าคนตัวเล็กสอดปากถาม

“เถาวัลย์ หรือจะว่าเถาวัลย์เปรียงก็ยังได้ เพราะฉันเป็นหมอยาไทย”

“อ้อ-นึกว่า เถาคัน” เจ้าคนตัวเล็กปากอยู่ไม่สุขสัพยอกให้เจ็บ ผมเหลียวดูรอบๆตัวเองมัน

ห่างกุฎิพระไกล แม้เกิดอะไร ตะโกนเรียกคนช่วยก็คงไม่มีใครได้ยิน ...

เลยต้องเป็นคนอารมณ์เย็น เฉยไว้ ...

พอดีเจ้าผู้ชายคนตัวใหญ่สะกิดห้ามเพื่อนให้นิ่ง และยกมือไหว้นอบน้อม “ขอโทษ พ่อลุง รู้จักกุฎิหลวงตาชื้นไม๊ ฉันอยากพบท่านสักหน่อย”

“ถ้าเป็นหลวงตาชื้นโหรละก็รู้จักแน่” ผมนึกชอบใจเจ้าหมอตัวใหญ่ที่รู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ “หลวงตาเป็นอาจารย์ของฉันเอง กุฎิท่านไม่ไกลจากที่นี่เท่าใดหรอก พาไปพบก็ยังไหว”

“ถ้าเมตตาพาไป ฉันก็ขอขอบพระคุณพ่อลุง” เขายกมือไหว้อีก

ผมมาเจอคนมืออ่อนปากอ่อนเข้าก็เลยใจอ่อน ขมีขมันอาสาวางมือจากงานออกเดินนำหน้าลัดเลาะต้นโพธิ์ใหญ่ท้ายวัดมากุฎิหลวงตาชื้น พอก้าวขึ้นกุฎิเห็นหลวงตากำลังฉันเพล ก็นึกออกว่าอีตอนกวาดวัดได้ยินเสียงกลองเพล และแปลกใจที่เห็นครูก้อนนั่งอยู่กับหลวงตา ...

ผมจัดแจงบอกเจ้าสองคนให้นั่งคอยที่ระเบียงหอฉัน คอยหลวงตาท่านฉันเพลเสียก่อน ตัวผมเองก็เข้าไปกราบหลวงตา ...

ครูก้อนหันมาเห็นก็ทัก “อ้าวหมอเถา-ไหงมาแต่เพล ตั้งใจว่าบ่ายๆจะแวะไปชวนอยู่”

“พ่อสองคนโน่น เขาขอให้พามาหาหลวงตา” ผมบุ้ยปากไปที่สองคนแปลกหน้าที่นั่งคอยอยู่ห่างๆ” ครูล่ะ ”

“การ์ดรถไฟ เขาเอาชมภู่มาเหมี่ยวมาจากกรุงเทพฯมาฝาก ก็เลยคิดถึงหลวงตา เลยเอามาถวายเพล”

หลวงตาชื้นหันมาทักทายปราศรัยผม 2-3 คำ และปรายตาดูเจ้าสองคนนั่น แล้วก็ลงมือฉันต่อไปจนเสร็จ เมื่อเณรชั้วยกสำรับออกไปแล้ว ท่านก็จุดบุหรี่เอกเขนกพิงหมอนขวานตามสบาย จิบน้ำชานิ่งอยู่สักพักใหญ่ๆ แล้วท่านก็กวักมือเรียกเจ้าสองคนที่นั่งอยู่ระเบียงหอฉันให้มาหา ...

เจ้าคนตัวใหญ่ซุบซิบอยู่ครู่หนึ่ง เจ้าคนตัวเล็กยกมือไหว้มาทางหลวงตา แล้วก็ถอยลงจากกุฎิไป แล้วเจ้าคนตัวใหญ่ก็เข้ามาคุกเข่ากราบหลวงตา

“มีธุระอะไรหรือพ่อว่าไปไม่ต้องเกรงใจ” หลวงตาทักเสียงเรียบๆ แสดงความเมตตากรุณา

“ผมมีทุกข์ในใจเหลือเกิน” มือที่กราบยังคงพนมอยู่ที่อกแสดงความเคารพ “อยากจะให้หลวงตาตรวจดูดวงชะตาสักหน่อย เมื่อไรมันจะพ้นเคราะห์”

“จำวันเดือนปี และเวลาเกิดได้ไม๊ล่ะ”

“ได้คะรับ ผมเกิดวันเสาร์ ขึ้น 6 เดือน 7 ปีมะเส็ง เวลาตีสี่ครึ่ง”

หลวงตาพยักหน้าและซักถามต่อ “ตีสี่ครึ่ง ของคืนวันเสาร์และรุ่งเช้าเป็นวันอาทิตย์ยังงั้นรึ”

“คะรับ-หลวงตา”

หลวงตาคว้าปูมโหรที่อยู่ข้างๆมาเปิดๆ “อ้อตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 แล้วท่านก็ลุกขึ้นนั่งหยิบกระดานโหรลงดาวลงเดือนวางลัคนา เสร็จแล้วท่านก็ก้มหน้าลงพิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์อยู่นานสักครู่ใหญ่ แล้วท่านกลับหันไปรินน้ำชามาจิบเงียบๆไม่พูดว่ากระไร เป็นกิริยาแปลกที่ผมและครูก้อนฉงนใจ เพราะไม่เคยเห็นท่านปฎิบัติดังนี้มาก่อน”

เห็นนิ่งอยู่นานผมอดรนทนไม่ได้ก็ถามท่าน

“ดวงชะตาเขาเป็นอย่างไรครับ หลวงตา”

หลวงตาเหลือบดูผมแวบหนึ่ง แล้วก็มองดูหน้าเจ้าชะตาหนุ่มใหญ่อย่างพินิจพิเคราะห์เหมือนจะอ่าน หัวใจ ...

“ฉันว่า ดวงนี้จะมาหาพระผิดกุฎิเสียแล้วกระมัง” หลวงตาพูดเรื่อยๆ “มันควรจะไปหาพระที่เป็นอาจารย์ขลังๆรดน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ หรือขอของดีคุ้มตัว ไม่ใช่มาหาพระหมอดู”

ผมสังเกตว่าเจ้าหมอนั่นสะดุ้งจนเห็นชัด

“ไม่ผิดหรอกคะรับหลวงตา ผมตั้งใจมาหาหลวงตาจริงๆ”

เขาว่าเสียงหนักแน่นเด็ดเดี่ยว “ผมอยากจะรู้ว่ามีเคราะห์ถึงเป็นถึงตายหรือไม่ในระยะนี้”

“เมื่อตั้งใจมาอาตมาก็ต้องสนองศรัทธาตามกำลัง” สายตาท่านยังจับใบหน้าอยู่ไม่วางตา “ตอบฉันก่อนว่า พ่อเป็นคนจังหวัดไหน คงไม่ใช่คนพื้นนี้แน่ ...

เขานิ่งตรึกตรองก่อนตอบอยู่ครู่หนึ่ง “ผมเป็นคนสุพรรณครับ”

“อ้อ” หลวงตาชื้นพยักหน้า “อ้ายเรื่องราวของชีวิตก็พอจะรู้ๆ เค้าอยู่ละ ถ้าแต่เจ้าตัวจะปิดๆบังๆไม่อยากให้ใครรู้อาตมาก็จะทายให้แต่เพียงว่า อ้ายเรื่องที่หนักอกหนักใจเป็นทุกข์อยู่นี่น่ะ มันยังไม่เกิดขึ้นหรอกในระยะ 3 เดือนนี้ แต่มันมีข้อแม้อยู่…”

“ข้อแม้อะไรคะรับหลวงตา จะบนบาลศาลกล่าว หรือสะเดาะห์เคราะห์อะไรผมยอมทั้งนั้น” เขารีบรับคำรวดเร็วดีอกดีใจ

“ไม่ใช่ยังงั้น” หลวงตาโบกมือ “เมื่อจะพูดข้อแม้มันก็ต้องพูดกันละเอียด มันก็จะกลายเป็นเปิดโปงเรื่องที่เจ้าจะปิดไป มันผิดมารยาทสงฆ์ มันพูดยาก”

“สำหรับหลวงตาผมไม่ปิดหรอก…แต่” เขามองมาทางผมและครูก้อน ...

หลวงตารู้นัยในกิริยาว่าไม่ไว้ใจจึงรับรองว่า “หมอเถากับครูก้อนเป็นศิษย์อาตมา ไว้ใจได้ มีศีลธรรมเหมือนพระเหมือนกัน เพียงแต่ว่าไม่ได้นุ่งเหลืองห่มเหลืองเท่านั้น”

“ถ้าหลวงตารับรองผมก็ไว้ใจ” เขาตัดสินใจเด็ดเดี่ยว เพราะอยากรู้ชะตาชีวิตของตนเองให้ละเอียดถี่ถ้วน ตัวผมเป็น…..”

“หยุดก่อนอย่าเพิ่งเล่า” หลวงตารีบชิงห้าม “ขอบใจพ่อที่เชื่อหน้าอาตมา นิ่งๆ ฟังอาตมาก็แล้วกัน ถ้าผิดก็คอยท้วงว่าผิดไม่ต้องเกรงใจ ขอเอาดวงสอนศิษย์สองคนนี่สักหน่อย”

หลวงตาชื้นเลื่อนกระดานโหรเข้ามาใกล้ ผมและครูก้อนกระเถิบเข้าไปจนติด เพื่อจะดูให้ถนัด รู้สึกตื่นเต้นแปลกใจสงสัยสับสนไปหมด หลวงตาท่านชี้ดวงให้ดู ...

“หมอกะครูดูให้ดีพื้นดวงเขาเป็นอย่างไรเสียก่อน”

ผมมองปราดดูลัคนา เห็นเสาร์กุมก็ได้ช่องจะพยากรณ์อวดภูมิโหรกับคนแปลกหน้า จึงรีบทายเพราะถ้าขืนช้า เดี๋ยวครูก้อนแกจะคว้าเอาไปกินเสียก่อน ...

“คนเกิดวันเสาร์ เสาร์กุมลัคน์มักดื้อ”

“เออแน่ะ หมอเถา..” หลวงตาพูดยิ้มๆ “ทายยังกะหมอจีนเขาทาย”

เห็นท่านพูดทิ้งท้ายแล้วนิ่ง ผมคิดว่าท่านชมก็เลยซักต่อ “เขาทายว่าไงครับหลวงตา”

“เขาทายว่า มั่ว เหล็ก ๆ หลู้ หล้าน ไม่ ซั่วโพ่ ซั่วแม่”

ผมหน้าร้อนฉ่าเพราะความอาย ได้แต่หัวเราะแหะ ๆ กลบเกลื่อนและนึกรักครูก้อนที่มิได้พลอยหัวเราะเยาะเพียงแต่ยิ้มอยู่ในหน้า

“หลวงตาทายดีกว่าครับ” ครูก้อนว่า “ผมกะหมอเถายังอ่อนหัดทายทีไรมันออกมาทั้งท่อนยังกะดุ้นฟืน”

“เอ้าดูให้ดี” หลวงตาชี้เสาร์ที่กุมลัคน์ “มันทายได้หลายแง่ เสาร์เขามาจากเรือนกัมมะ ถ้ากุมลัคน์ ได้ตำแหน่งดี ๆ ก็ทายว่าเป็นคนเอางานเอาการ นี่เสาร์เป็นนิจก็ต้องทายว่า เรื่องการงานไม่มีน้ำอดน้ำทน ทำการสิ่งใดพักเดียวก็เลิก”

“พ่อผมมีนาอยู่มาก” หนุ่มใหญ่ออกตัว “แต่มีลูกจ้างทำอยู่ และแบ่งให้เขาถือทำ ผมก็เลยไม่ค่อยได้ลงนา”

“เออว่ะ พ่อเองเป็นคนดี แม่เอ็งมีสมบัติเก่ามา พ่อก็ช่วยขยันทำมาหากินสร้างฐานะจนเป็นปึกแผ่นมีหน้ามีตา กับลูกใครๆ เขาก็ว่าเอ็งเป็นลูกเศรษฐี”

เจ้าหนุ่มอ้าปากหวดแปลกใจ “จริง คะรับ”

“หลวงตาทายยังกับรู้จักเหล่ากอเขามาก่อน” ผมยังก้มหน้ามองดูดวงจับดาวตามรอยไม่ทัน

“ว๊ะ ก็ดวงมันบอกยังงั้นจริงๆ” หลวงตาชี้ที่เรือนพันธุ “เรือนแม่ เจ้าเรือนเป็นเกษตร แม่เขาก็มีฐานะเป็นปึกแผ่น เจ้าเรือนศุภะคือ พฤหัสตัวพ่อมันมาอยู่กดุมภะ เจ้าเรือนก็เป็นเกษตร ทั้งพ่อทั้งแม่มันโยคหน้ากัน และพ่อแม่ พฤหัส จันทร์ ก็เป็นดาวคู่ธาตุกัน มันบอกอย่างอาตมาทายไหม ดูเอา”

หลวงตาแนะดาวผมกะครูก้อนร้องอ้อ มองเห็นเป็นฉากๆใสแจ๋ว “จริงครับหลวงตา”

“ต้องดูตรงที่มันคัน” หลวงตาว่าแล้วก็รินน้ำชาดื่มกลั้วคอ ตายังจับอยู่ที่กระดาน “ว่าทางทักษา ตัวกาลกิณีมันก็พุธสหัชชะเพื่อนฝูงนั่นเอง เพื่อนเลวเพื่อนชั่วก็พอทำเนา ตนุเศษคือจิตใจ ตัวเองมันก็ตกพุธกาลกิณีไปด้วย แสดงว่าตัวเรานี้มันใฝ่ชั่ว เห็นดีงามตามเพื่อนชั่วๆไปกะเขาด้วย หันมาดูตนุลัคน์คือตัวตนของตนซิ มาอยู่เรือนราหูเรือนเดช ราหูตัวเจ้าเรือนมันมาอยู่ภพอริเรือนกาลกิณีเข้าอีก ว่ะ ตัวราหูมันตัวลุ่มหลง นักเลง เป็นเดช ตัวเราประพฤตินักเลงขนาดคนกลัวทีเดียว ติดอริมันก็ตัวเราเดือดร้อนมีเรื่องไม่หยุด แล้วไม่ใช่เรื่องดีเสียด้วย เพราะมันติดอริเรือนกาลกิณี ดูเสาร์ที่กุมลัคน์ก็คือบริวารมันล้อมหน้าหลัง ยิ่งเสาร์ได้คู่มิตรกะราหูเรือนอริเข้าด้วย ทั้งเพื่อนทั้งบริวารมันจะจูงมือตัวเราลงเหวเสียน่ะนา”

ทั้งผมทั้งครูก้อนฟังหลวงตาอ่านดวงอย่างกับอ่านเรื่องพระอภัยมณี มันคล้องจองเป็นเรื่องเป็นราวสนุกสนาน ส่วนตัวเจ้าชะตานั่งก้มหน้านิ่งไม่เถียงสักคำ ...

“ว่ายังไงเจ้าหนุ่ม” หลวงตาเงยหน้าจากกระดานโหรถาม “ถ้ามันไม่ถูกไม่จริงอย่างอาตมาว่า ก็ขอให้ค้านได้อย่าปล่อยให้คนแก่เพ้อเจ้อผิดๆ เข้ารกเข้าพงไป เพราะอีตอนต่อไปนี้แหละมันสำคัญที่เป็นที่ตายทีเดียว”

เจ้าหนุ่มร่างใหญ่เงยหน้าแววตาสลดเหมือนคนสำนึกตัว ยกมือพนมท่วมหัว “จริงอย่างหลวงตาว่าทุกอย่าง ผมมันคนรักเพื่อน ดีชั่วไม่ใคร่ได้นึก พอมันเกิดแล้วเป็นแล้วถึงได้คิด แม่ต้องร้องไห้เพราะผมบ่อยๆ พ่อก็ต้องวิ่งเอาเงินทำขวัญเขาให้เรื่องมันเงียบหลายต่อหลายราย”

หลวงตานิ่งอึ้งครางอืออยู่ในคอ ผมและครูก้อนพลอยตื้นตันใจ เมื่อนึกถึงหัวอกพ่อแม่ เลยพลอยนั่งนิ่งพูดอะไรไม่ออก ต่างคนต่างนิ่งคิดกันไปหลายสถาน หลวงตาท่านก็คงคิดอย่างสงฆ์ปลงกรรมของสัตว์ เจ้าตัวอาจคิดเสียใจในความมัวเมาหลงผิด ...

นิ่งกันอยู่นานจนกระทั่งหลวงตาชื้นท่านกระแอมเบาๆ “หมอดูหมอยาก็ครือกัน อ่านดวงเหมือนอ่านโรคเขา เพื่อจะได้หาทางบำบัดรักษา ข้อสำคัญอย่าอายหมอเท่านั้น”

“เชิญหลวงตาเถอะคะรับ ผมเคารพหลวงตาเหมือนปู่ย่าตายาย จะไม่ปิดบังเลย”

“หมอเถากะครูดูให้ดีน๊ะตรงนี้สำคัญ” หลวงตาชื้นท่านกรีดนิ้ววนรอบๆดวงบนกระดานโหรตรงหน้า “นี่ก็ปีกุนอายุย่างเข้า 31 ตกภูมิศุกร์อังคารมนตรีเดิมเป็นศรี ราหูเดชเดิมเป็นกาลกิณี ตัวราหูขณะนี้จรอยู่ ภพกัมมะเรือนเสาร์คู่มิตร ตัวเสาร์เจ้าเรือนไปอยู่กดุมภะแสดงว่าเจ้าตัวได้การอย่างหนึ่งร่วมกับเพื่อนเพื่อได้เงินมา และราหูนี้เป็นอริเดิมและเป็นกาลกิณี การกระทำนั้นเป็นเรื่องชั่ว และเป็นเหตุให้เดือดร้อน เหลียวดูอังคารตัวตนุลัคน์เข้าเรือนวินาสน์ ตัวเองต้องหลบๆ ซ่อนๆ หนีหัวซุกหัวซุน เมื่ออังคารเป็นศรีมันถึงหนีเอาตัวรอดมาได้”

หลวงตาชื้นหยุดเว้นระยะหายใจ จ้องหน้าผู้ชายที่อยู่ตรงหน้าที่ไม่ยอมสบตา แล้วท่านก็ถอนหายใจดังฮือ “ข้าขอพูดตรงๆ อ้ายหนุ่มเอ๋ย เอ็งประพฤติเป็นโจรปล้นเขาและหนีกฎหมายบ้านเมืองมา มาดูดวงชะตาว่าจะหนีรอดหรือไม่”

เจ้าหนุ่มร่างใหญ่ขยับตัวลูกขึ้นนั่งทันควัน ทั้งผมและครูก้อนใจหายวาบ เพียงคำทำนายตรงๆ ของหลวงตาก็ตกใจพออยู่แล้ว เห็นทีท่าเจ้าหนุ่มโจรผลุดลุกขึ้นนั่ง ก็ตกใจแทบสิ้นสติตะลึงตัวแข็งอยู่กับที่กลัวหลวงตาถูกทำร้าย ...

แต่ เจ้าหนุ่มโจรพนมมือซบหน้าลงกราบแทบเท้าหลวงตา เป็นลักษณะเสือสิ้นฤทธิ์ เสียงพูดรับสารภาพเครือๆ บอกความรู้สึกในหัวใจ

“หลวงตาเทวดาดูเหมือนตาเห็น เป็นความจริงอย่างหลวงตาว่าทุกอย่าง ผมปล้นเขามาแต่สุพรรณฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย ทรัพย์สินผมไม่ได้หวังแต่มันเป็นเรื่องแค้นกัน ผมมันเห็นกงจักรเป็นดอกบัว กำลังเมาเหล้าไม่ทันคิดหน้าคิดหลัง ผิดแล้วจึงได้คิดมันก็สายเสียแล้ว ช่วยผมด้วยเถิด ทำอย่างไรจึงจะเอาตัวรอดไปได้ ผมอยากมีโอกาสกลับตัวสักครั้ง แม้แต่จะบนตัวบวชก็ยอมทั้งสิ้น”

หลวงตายกมือลูบหัวแล้วพยุงให้เงยขึ้น “ข้ารู้ตั้งแต่ผูกดวงเสร็จถึงได้ถามว่ามาหาพระรดน้ำมนต์สะเดาะห์เคราะห์หรือมาหาพระหมอดู”

ผมโล่งใจที่เหตุร้ายกลายเป็นดีไปแล็วก็จริง แต่พอนึกถึงคำพูดพล่อยปากที่ผมพูดที่ข้างโบสถ์ว่าเป็นอ้ายโจรเลยชักคิดหวาดๆไม่กล้ามองสบนัยน์ตา ...

“หนทางเอ็งมันสั้นเต็มที” หลวงตาชื้นก้มหน้าลงตรวจดวงอย่างตั้งอกตั้งใจ “พฤหัสเจ้าเรือนศุภะพ่อเอ็งซึ่งเป็นมนตรีก็ตกมรณะเสียแล้ว เขาคงจนปัญญาจะวิ่งเต้นช่วยได้ เรื่องมันต้องพึ่งตัวเองเอา แต่ข้าประกันได้ว่าในปีนี้เอ็งเอาตัวรอดไม่ถูกจับแน่ แต่ต้องรับสัจจะเสียก่อน”

“ผมยอมรับคะรับ”

“ข้อหนึ่งเอ็งต้องไม่ประพฤติเป็นโจรต่อไปอีก ข้อสองเอ็งต้องไม่กลับคืนถิ่นเดิม ถ้ารับได้ข้าก็ประกันได้อย่างว่า แต่อ้ายที่จะตลอดลอดฝั่งไปตลอดนั้นมันไม่ได้ ก่อกรรมไว้ผลกรรมมันย่อมเกิดย่อมสนองตามกฎแห่งกรรมมันหนียาก ดูแต่พระโมคคัลลาน์มหาเถรสาวกพระพุทธองค์สำเร็จอรหัตน์มีฤทธิ์เดชบารมียังต้องรับกรรมให้โจรฆ่าตาย กระดูกป่นเป็นเมล็ดงา”

เจ้าหนุ่มร่างใหญ่ก้มลงกราบรับสัจจะมั่นคง เจ้าเพื่อนร่างเล็กที่ใช้ลงไปดูต้นทางนอกกุฎิเมียงๆเข้ามากระซิบเบาๆ

“ตกบ่ายได้เวลารถจะออกแล้ว”

เจ้าหนุ่มร่างใหญ่พยักหน้ารับรู้แล้วหันมาบอกลาหลวงตาชื้น “ผมจะล่องลงใต้หลบไปให้ไกล หางานหาการทำตั้งหลักฐานหาแดนตายเอาใหม่”

“เออ ไปเถอะ ขอให้รอดพ้นภัย อันทั้งปวง” หลวงตาท่านให้พรด้วยใจจริง

“ผมอยากกราบขอของดีหลวงตาติดตัวไว้คุ้มกันอันตรายบ้าง”

“ลูกหลานเอ๋ย อ้ายของดีมันคุ้มตัวสู้ความดีไม่ได้ เอ็งจำคำหลวงตาไว้ ความดีมันคุ้มตัวได้ตลอดชีวิต อยู่ที่ไหนเอ็งทำแต่ความดีไว้เถอะ คุ้มหัวได้ยิ่งกว่าเอ็งแขวนของดีมากนัก”

พอเจ้าคนรับพรเทศน์โปรดของหลวงตาก้มลงกราบลา หลวงตาท่านก็ยึดข้อมือไว้อีกบอกว่า “เอ็งเข้าวัดพบพระทั้งที เอาธรรมะติดตัวไปมั่ง นี่แหละของดีจำใส่ใจไว้เถอะ”

อันทางธรรมถูกถ้วนเป็นถ่องแท้ ตามกระแสต้องพินิจจึงคิดเห็น

ธรรมบทมีกำหนดเป็นกฏเกณฑ์ เรื่องกรรมเวรที่ได้สร้างแต่ปางบรรพ์

เรื่องกรรมดีกรรมชั่วติดตัวตน ให้ทุกข์ทนดลสุขเกษมสันต์

ไม่เลือกหน้าข้าเจ้าล้วนเท่ากัน ต่างผูกพันผลกรรมที่ทำมา

ทิฎฐธมฺมเวทนิยกมม นั้น เกิดโดยพลันสนองทันชัณษา

ทั้งบาปบุญปัจจุบันเห็นทันตา ตามชะตาบารมีวิถีกรรม

อุปปชชเวทนิยกมม จะน้อมนำชูชุปอุปถัมภ์

ในชาตินี้เบี่ยงบ่ายไม่กลายกล้ำ มุ่งกระทำในชาติหน้าบัญชาชนม์

อัปราปรเวทนิยกมม จ้องประจำไม่รุนแรงแสดงผล

ต่อหลายชาติอาจจะเนาว์เข้าผจญ ติดตามตนจนบรรลุอนุกุล

อโหสิกมม ไม่ซ้ำไม่ค้ำจุน ทั้งแรงบุญแรงบาปก็สาปสูญ

ไม่ก่อกรรมนำชีวาให้อาดูร ไม่เพิ่มพูนความสุขทุกประการ

กรรมลิขิตมิใช่ฤทธิ์ของเทวา ชี้บัญชาชีวันดังบรรหาร

เป็นกรรมเก่าเราเองแต่เพรงกาล ดลบันดาลโทษทัณฑ์นิรันดร

อันบุญกรรมนำชะตาอนาคต มิได้จดลงบัญชีมีอักษร

ทั้งคุณโทษไม่มีโจทก์แจ้งอุทธรณ์ กรรมมันซ่อนอยู่ในทรวงดวงกมล

สุดล้ำเหลือเนื้อกรรมที่จำแนก ล้วนผิดแผกแตกต่างในทางผล

กาลกำเนิดจะบังเกิดแก่ชีพชนม์ ตามยุบลเที่ยงแท้กระแสความ

...เรื่องราวของ "กฏแห่งกรรม" ก็จบลงแต่เพียงเท่านี้...

...พบกันใหม่ในบทความ + บทเรียน + นิยายเรื่องจริงกันได้ใหม่ครับ...

...สวัสดี...

ดวงชาวเกาะ

...วันสุดท้ายในกรุงเทพมหานครฯ...

หลวงตาชื้นและศิษย์เป็นวันว่าง ธุระที่ตั้งใจมาสำเร็จเรียบร้อยแล้วและตั้งใจว่าวันรุ่งขึ้นก็จะออกเดินทางกลับวัดในต่างจังหวัด...

ตั้งแต่ฉันท์เช้าเสร็จ พอเสียงระฆังย่ำเหง่งหง่าง หลวงตาและมาหาครื้นก็พากันลงจากกุฏิไปลงอุโบสถเพราะเป็นวันพระ...

ครูก้อนก็ถือโอกาสไปเยี่ยมเพื่อนฝูงที่เคยรู้จักมักคุ้นเก่าๆครั้งยังรับราชการครูมาด้วยกัน และมามีถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพฯชวนหมอเถาชมพระนครไปด้วยกัน หมอเถาก็ปฏิเสธ เพราะตั้งใจจะไปกราบพระแก้วมรกต...และเจ้าพ่อหลักเมือง ...

ทั้งก็อยากจะไปสนามพยากรณ์โคนมะขามซึ่งเป็นของแปลกแห่งเดียวในเมืองไทย...

เนื่องจากหมอเถาไม่ชินถนนหนทางในกรุงเทพฯ เพราะมิได้มาเสียนานจึงต้องมีคนนำทางซึ่งเป็นเพื่อนเก่า อายุเพิ่งเข้า 16 ซึ่งห่างกันร่วม 4 รอบ เมื่อ 2 ปีก่อนหนีออกจากบ้านที่ชุมพรซัดเซพเนจร

หมอเถาเก็บตกจากหน้าวัดพามารับความอุปการะจากหลวงตาชื้น ส่งเสียให้มาเล่าเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ โดยอาศัยอยู่กับมหาครื้นเป็นศิษย์วัดไปในตัว...

หมอเถาแต่งตัวเสร็จนานแล้ว เดินหมุนไปหมุนมาอยู่หน้ากุฏิคอยผู้นำทางที่กำลังบรรจงแต่งตัว...

กระทั่งครูก้อนออกมาจากกุฏิถามขึ้น “ยังไม่ไปกันอีกรื้อหมอเถา”

หมอเถาบุ้ยปากและชี้มือ ครูก้อนมองตามก็เห็นเด็กน้อยที่กำลังแตกเนื้อหนุ่มในปีนี้กำลังจัดกลีบเสื้อกางเกงอย่างประณีตจึงร้องเตือนแทน”

“เอ้า...เร็วๆ เจ้าหนุ่มน้อย นักเรียนทุนหลวง เว้ย”

หมอเถาฟังคำครูก้อนนึกดีใจ “อ้อ...เจ้าหนูน้อยของข้า สอบได้ทุนเรียนของรัฐบาลเร๊อะ เออ มันเก่งแท้”

ครูก้อนกลับหัวเราะเยาะ “โธ่...หมอเถาก็พลอยโง่ไปด้วย”

“โง่...ยังไง” หมอเถาเถียง “ทุนหลวงมันก็ทุนรัฐบาลน่ะซี”

ครูก้อนใช้นิ้มจิ้มหน้าหมอเถา “ทุนเล่าเรียนหลวง หลวงตาว่ะ”

หมอเถาถูกนิ้วจิ้มหน้าฉุนก็ฉุน ขันก็ขัน เพราะสำนวนศัพท์ครูก้อนเป็นความจริงกระทั่งเจ้าหนุ่มน้อยแต่งตัวเสร็จ ซ้ำสะพายย่ามครบชุด ทันสมัยวัยรุ่น...

หมอเถาพิศดูแล้วสัพยอก “เจ้าหนูของข้านี่มันรูปหล่อนา น่ากลัวจะต้องมีเมียเยอะ”

เจ้าหนูน้อยยิ้มรับคำชม “ต่อไปนี้ลุงหมอและลุงครูก้อนเรียกชื่อฉันตั้งชื่อตัวเองใหม่แล้ว”

ครูก้อนซัก “ชื่ออะไรล่ะ”

“ชื่อถวัลย์” เจ้าหนุ่มน้อยอธิบายทั้งเหตุทั้งผลเสร็จว่า “ผู้มีพระคุณเหมือนพ่อคือลุงหมอ ที่อุตสาห์

อุ้มชูฉันจากเด็กพเนจรจนได้ที่พึ่งหลวงตา ชื่อ “เถาวัลย์” ฉันเลยตัด “สระเอา” เหลือแต่ตัว “ถ” เป็น“ถวัลย์ ให้คล้องจองกัน”

หมอเถาโอบกอดเจ้าหลานชายนอกไส้ที่มีกตัญญูด้วยความรักเปี่ยมหัวใจ แต่เจ้าหลานชายนาย

ถวัลย์กลับปิดป้องด้วยความเกรงเสื้อผ้าจะยับเสียรูป...

หมอเถาบรรจงนิ้วจับดูเสื้อและกางเกงเจ้าหนุ่มน้อยดูพิจารณา...

“เออสวยดี คงหลายเงิน..นี้ แต่ดูเสื้อมันหลวมโพรก เป็นปูข้างแรมว่ะ เจ้าหนูซื้อเสื้อผิดขนาดหรือเปล่า”

“นี่แหละแบบทันสมัยเปี๊ยบ ของหนุ่มกรุงเทพฯเขาละลุงหมอ เขาเรียกแฟชั่น 5 ย ”

ครูก้อนหัวเราะชอบใจ “ย.แย่ หรือเปล่าว๊ะคุณถวัลย์”

หมอเถาว่า “ชื่อเป็นอักษรย่อ ยังกะเครื่องแบบทหารเขา ลองอธิบายหน่อยรึ”

เจ้าหนุ่มถวัลย์พิจารณาดูเครื่องแต่งกายด้วยความภูมิใจหนักหนา...

“ย.ที่ 1 คือ ผมต้องยาวประบ่า ย.ที่ 2 คือ เสื้อใหญ่ ย.ที่ 3 ก็ต้องสวมกางเกงยีนส์ ย.ที่ 4 นั้น ต้องสะพายย่าม ย.ที่ 5 นั้นก็คือ สวมรองเท้ายาง”

ทั้งครูก้อนและหมอเถามัวคิดตามและตกตะลึกไปครู่ใหญ่กว่าจะหัวร่ออก เลยชัดเสียก๊ากใหญ่

และก่อนที่ครูก้อนจะแยกจากไปด้วยความเป็นห่วงเพื่อนจึงยัดเยียดเงินจำนวนหนึ่งใส่กระเป๋าเสื้อ

หมอเถาไว้ให้เป็นทุนเที่ยวชมเมือง...

หมอเถาและมัคคุเทศน์ ออกจากวัดโดยไม่ยอมขึ้นรถขึ้นรา กลับเดินเลียบชมตึกร้านบ้านช่องไป

ตามท้องถนน เป็นการทัศนศึกษาในตัวเจ้าหลานชายถวัลย์ต้อยคอยฉุดคอยลากให้เดินต่อไป

เสมอ เพราะหมอเถาคอยแต่จะหยุดชมสินค้าในตู้โชว์ไปหมดทุกๆร้านไม่เว้น ...

จะข้ามถนนแต่ละแห่งต้องฉุดต้องจูงกันละล้าละลัง เพราะความตื่นกรุงตื่นรถยนต์ที่แล่นขวักไขว่

ไม่หยุดยั้ง หมอเถาเดินไปบ่นไปตลอดทางว่าเข็ดแล้วเมืองกรุงบางกอกอันศิวิลัย เพราะมีอันตรายรอบตัวยิ่งกว่าเดินทางในป่าเดินป่านั้นคอยระแวงระวังแต่สัตว์ร้ายจะขบกัดทำร้าย และก็มีน้อยตัวหลีกหลบก็ง่าย แต่เดินในเมืองหลวงนี้ไหนจะคอยระวังรถยนต์สวยๆที่มีมากยังกะมด จะมาคร่าชีวิตแล้วยังต้องคอยระวังคนด้วยกันหน้าสวยๆจะคอยเล่นงานที่โดนมาแล้วจนหมดตัวเมื่อวันลงจากรถไฟ...

ลุงและหลานนอกไส้จูงมือกันลัดเลี้ยวมาหลายถนน จนถึงวัดพระแก้วตามที่ตั้งใจมา

หมอเถาเงยหน้าชมยอดเจดีย์ทองสุกอร่ามเป็นประกายอยู่กลางแดด ทั้งช่อฟ้าใบระกาอันสวยงามด้งสวรรค์ จนเจ้าหลานต้องฉุดให้เดินต่ออีกเพราะมายืนชมอยู่กลางถนน...

เป็นวันอาทิตย์ผู้คนจึงหลายหลากมากมายเข้าสู่วัดพระแก้ว ทั้งพ่อค้าขายนกปล่อยและดอกไม้ธูป

เทียน ต่างเบียดเสียดกันตรงทางเข้าประตู เจ้าหลานถวัลย์จูงมือหมอเถาไว้กันหลง ทางเดินเบียดไปตามกระแสฝูงคน พอถึงธรณีประตู ก็ถูกหมอเถากระตุกมือให้หยุดชะงักอยู่กับที่...

เจ้าหลานถวัลย์สงสัยเหลียวมาถาม “หยุดทำไมอีกล่ะลุงหมอคนกำลังแน่นรีบเข้าไปเร็วๆเถอะ”

“เดี๋ยวซีว๊ะ” หมอเถายั้งกายให้ตัวตรง เพราะถูกคนเบียดหลั่งไหลจะเข้าประตู จนต้องหลีกหลบเข้าพิงกำแพงข้างประตู “ จะก้าวข้ามประตูเข้าไปมันต้องเคารพวิญญาณผู้เฝ้าประตูเขาเสียก่อน”

“ปัดโธ่ลุง”

“ไม่ปัดละว๊ะ เอ็งมันเด็กบ้านนอกไม่รู้อะไร” หมอเถาพูดเสียงขึงขังและชี้นิ้วลงหน้าธรณีประตู

“เมื่อตอนเขาสร้างเมืองกรุงเทพฯนี้เขาขุดหลุมฝังทั้งเป็น นายอิน นายจัน นายมั่น นายคงเอาไว้ใต้ธรณีประตูเมืองให้เป็นคนเฝ้าประตู จะข้ามเข้าไปมันต้องเคารพกราบเขาเสียก่อน”

“เอาซีถ้าลุงก้มลงกราบเดียวนี้ คงได้เป็นผีเฝ้าประตูแน่ เพราะผู้คนก็จะเหยียบติดแผ่นดินอยู่นี่แหละ แล้วถ้าเขาจะฝังจริงมันตั้งเป็นร้อยๆปีมาแล้ว ประตูไหนก็ไม่รู้ประตูออกรอบวัง”

“ชั่งเถอะว๊ะ กราบที่ประตูนี้มันถึงกันเองทุกประตู” หมอเถาคันข้างเข้าถูกับเด็ก “งั้นกราบตรงนี้ก็ได้ว๊ะ”

หมอเถากราบฝากไว้ข้างกำแพงประตูทั้งยังบังคับขู่เข็ญเจ้าหลานถวัลย์ให้กราบตามตนจนได้ มิใยคนข้างๆจะมองอย่างสงสัยในสติสัมปรัญญะของหมอเถา...

พ้นประตูแรกเข้ามาแล้ว เมื่อผ่านประตูที่สองเข้าสู่ลานพระอุโบสถพระแก้วมรกต หมอเถาเหลียวดูรูปปั้นสูงใหญ่ทั้งคู่ที่ยืนถือตระบองเฝ้าประตูอยู่ หมอเถาก็ยกมือพนมไหว้นอบน้อม...

เจ้าหลานถวัลย์หัวเราะเยาะเอานิ้วจี้สีข้างลุงหมอจนสะดุ้งตัวโก่ง...

“ลุงไปใหญ่แล้ว ไหว้กระทั่งรูปยักษ์เฝ้าประตูวัดก็ไหว้”

“เขาถึงว่า คนโง่มันไม่รู้ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ” หมอเถาพูดหน้าบึ้งๆ“นี่แหละว่า เทพยดา เอ็งรู้ไว้เถอะ”

เจ้าหลานหัวร่อรวน แหงนดูรูปปั้น “เทวดา เขี้ยวโง้งเชียวน๊ะ”

“ข้าจะอธิบายให้ฟัง เอ็งไหว้ท่านเสียก่อนซิ” หมอเถาออกคำสั่งอีก...

“ไม่เอา..เจ้าหลานต่อรอง “ลุงอธิบายก่อน ถ้ามีเหตุผลดีน่าเชื่อ ผมถึงจะยอมไหว้”

หมอเถายึดอกอย่างภาคภูมิ อธิบายเสียงดังๆ...

“สถานที่นี้ ท่านสร้างเป็นเมืองชั้นในเป็นพระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์ซึ่งท่านสมมติเป็นเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ ดูซิที่ประทับท่านก็ตั้งเป็นชื่อสวรรค์ชั้นสุดของภพเทวดา เช่นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพราะฉะนั้นสวรรค์ชั้นบนเมืองมนุษย์นี้ ก็ต้องมีเทพยาดารักษาประตูทั้ง 4 ทิศ เหมือนกับสวรรค์ชั้นฟ้ามหาจักรวาฬ ที่มีคัมภีร์กล่าวว่าเบี้องบรรพทิศนั้นท้าวธตรฐราชเป็นผู้ดูแลรักษา...เบื้องปัจฉิมทิศนั้นท้าววิรูปักขราชเป็นผู้รักษา เบื้องอุดรนั้นท้าวไพศพมหาราชเป็นผู้รักษา ...เบื้องทักษิณท่านท้าววิรุฬหกราชรักษา ทั้ง 4 ท่านเป็นเทพดาจ้าวพญาแห่งยักษ์มารทั้งปวง”

เจ้าหลานผู้เยาว์กว่า ถูกอ้างคัมภีร์นรกสวรรค์และเทวดาทั้ง 4 ทิศก็ยอมแพ้ยกมือไหว้เคารพโดยดี

ผู้คนที่เร่เข้ามาฟังหลานกับลุงเถียงกันแต่แรกก็พลอยยกมือไหว้ยักษ์ตามกันไปด้วย...

เพราะหลงเชื่อคำที่หมอเถาสอนหลาน...

แต่ยังมีบุรุษหนึ่งวัยคราวหมอเถา ยืนอมยิ้มสบตาอยู่ข้างๆมิได้จากไปเหมือนคนอื่นๆซ้ำยังถือวิสาสะ ถามว่า...

“พ่อลุงถ้าจะเคยมาวัดพระแก้วบ่อยๆกระมัง”

หมอเถาตอบตามตรงไม่ต้องคิด “มาหนเดียว หลายสิบปีมาแล้ว”

ฉันเป็นคนงานกวาดวัดพระแก้วนี้มา ตั้งแต่เป็นหนุ่ม” แกบอกเสียงเรียบๆและชี้ไปที่ท่านฐานยักษ์

“ยักษ์พวกนี้เขาเขียนชื่อไว้ทุกตนเป็นยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์ทั้งหมดแหละ ประตูทิศเหนือชื่อ...

มังกรกัณฐ์กับวิรุฬหก ประตูทิศใต้ชื่ออินทรชิตกับสุริยาภพ ประตูทิศตะวันออกชื่อ...

ทศคีรีวันกับทศคีรีธร ประตูทิศตะวันตกมี 3 ประตู ชื่อจักรวรรดิ์กับอัศกรรณมาลา ทศกรรณฐ์ ...

กับสหัสเดชะ มัยราพณ์กับวิรุญจำบัง...

ดูเหมือนหมอเถาจะไม่ทันฟังให้จบทุกประตู เพราะรู้ว่าตนพลาดเสียแต้มไปถนัด รีบจูงมือกึ่งลากเจ้าหลานชายไปเสียให้พ้นๆ...

แต่เจ้าหลานถวัลย์ยังหัวเราะอยู่หันบอกหมอเถาว่า ...

“ถ้าใครเขาชวนลุงไปเที่ยววัดโพธิ์ อย่าไปเทียวน๊ะ ลุงหมอ”

หมอเถาฉงน “ทำไมว๊ะเจ้าหนู”

“ระเบียงวัดโพธิ์ พระพุทธรูปเรียงเป็นพระอันดับรอบโบสถ์เป็นร้อยๆองค์ ลุงหมอต้องไหว้ตั้งแต่องค์แรกพอถึงองค์สุดท้ายก็แขนบวม”

“เช๊อะ...ข้าไม่โง่จนแขนบวมหรอกว่ะ ใช้วิธีพนมมือจบขึ้นเหนือหัว หมุนตัวกวาดรอบทั้ง 4 ทิศ แบบนักมวยไหว้ก็ได้ว๊ะ”

หมอเถาหัวเราะแล้วก็จูงข้อมือหลานชายแหวกผู้คนขึ้นสู่พระอุโบสถ จุดธูปเทียนปักหน้าโบสถ์แล้วคลานเข้าไปกราบพระแก้วมรกตซึ่งสถิตอยู่บนบุษบกทองคำสูงจนต้องแหงนหน้ามอง และเมื่อกลับออกมาหัวใจเต้มเปี่ยมไปด้วยความปิติในกุศลกรรมที่ตนกระทำ สองลุงหลานชวนกันเลียบระเบียงโบสถ์ชมภาพรามเกียรติ์ตามผนัง จนออกประตูหลังเข้าเขตพระบรมมหาราชวัง...

หมอเถาและเจ้าหนุ่มถวัลย์เดินชมความสวยงามอันโอฬารตั้งแต่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท วกอ้อมไปชมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งบรมพิมาน และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท ทุกพระที่นั่งหมอเถาจะต้องเคารพนบไหว้อ่อนน้อม แม้กระทั่งพลับพลาจตุรมุขพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท และแถมบังคับเจ้าหลานชายให้ไหว้ตามด้วย...

ขากลับออกมาแห่งสุดท้ายที่ตั้งใจมาก็คือศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่ผู้คนเบียดกันสักการะ

แน่นขนัดอยู่ตลอดเวลา ทั้งอึกกระทึกครึกโครมเสียงกลองละครชาตรีแก้บนที่แสดงติดต่อกันมา

เป็นแรมเดือนแรมปีไม่ขาด หมอเถาเบียดเข้าไปจุดธูปเทียน และถวายทองปิดตามประเพณีและ

กราบขอสิริมงคล และขอพรให้ตนเองจงรุ่งเรืองในวิชาโหราศาสตร์ที่ตนรัก และไม่อาจอยู่นานได้

เพราะผู้คนทยอยเข้าออกสับสนอยู่ตลอดเวลา ทั้งตกเวลาบ่ายโมง เจ้าหลานถวัลย์ชวนกินข้าว

กลางวันแถวๆนั้น...

กระทั่งบ่ายแดดอ่อนลง...

หมอเถาและหลานหนุ่มก็ยังไม่หมดรายการท่องเที่ยวเพราะหมอเถาต้องการชมนักพยากรณ์โคน

มะขามหน้าศาลแพ่ง หมอเถาเดินสำรวจยืนชมไปตั้งแต่รายแรกที่พยากรณ์ไพ่ป๊อกบ้าง ลายมือบ้างดวงดาวบ้าง ที่มีคนมาขอรับคำพยากรณ์ ยิ่งดูก็ยิ่งเพลิน มาจนถึงตอนกลางเป็นที่ร่มรื่นเพราะมะขามคู่ใบดกกว่าตอนอื่น หมอเถาหยุดเหม่อมองดูผู้คนเดินกันขวักไขว่ เสียงใครคนหนึ่งร้องกลอนลิเกทำนองราชนิเกริงได้ยินถนัด...

“มาแลพบประสบภักตร์

เพื่อนเอ๋ยเพื่อนรักแต่ก่อนเก่า

แสนยินดีปรีดาที่พบหน้า...หมอเถา”

พอลงท้ายระบุชื่อตนหมอเถาก็เหลียวขวับหาตัวผู้ร้อง เป็นนักพยากรณ์ปูเสื่ออยู่โคนมะขาม

และนั่งยิ้มแย้มนัยน์ตาจับจ้องอยู่ที่หมอเถา...

“โอ้...หมอสุริยันนั่งเอง เออดีใจจริงที่ได้พบ”

หมอเถากระปรี้กระเ่ปร่าดังเด็กพบเพื่อนๆ จูงมือเจ้าหลานถวัลย์เข้าไปนั่งลงบนเสื่อ...

หมอสุริยันลิเกเก่าก็ดีใจเช่นกัน...

“ไม่ได้พบกันเสียนาน ตั้งแต่คราวก่อนที่แวะไปกราบเท้าหลวงตาชื้นที่วัด ท่านกรุณาแนะมาให้บ้าง แม้จะเล็กๆน้อยๆก็เป็นประโยชน์แก่ผมเหลือเกิน ทำให้ทำนายทายทักได้คล่องตัวขึ้นแยะ เดี๋ยวนี้มีแขกประจำมากพอเลี้ยงตัวได้ เลยไม่ต้องเร่ร่อนขึ้นเหนือลงใต้เหมือนแต่ก่อนๆ คิดถึงหลวงตาท่านเหลือเกิน”

หมอเถาอ้าปากค้าง เพราะพ่อหมอสุริยันพูดเสียคนเดียวยืดยาวตลอดเรื่อง ถ้าหมอเถาไม่โบกมือ

หมอสุริยันคงพูดต่ออีก...

“หลวงตาและครูก้อนก็ลงมาด้วยกันและตั้งใจจะกลับพรุ่งนี้แหละและเวลานี้พักอยู่กับมหาครื้น”

หมอสุริยันใจร้อนรวบเครื่องทำมาหากินนับแต่ป้ายโฆษณาดูแม่นๆและปูมโหรลงใส่กระเป๋าหนัง

“งั้นไปด้วยกัน ผมอยากจะไปกราบเท้าขอบพระคุณพระเจ้าตาผู้มีพระคุณ บางทีอาจได้เพชรร่วง

ของโหราศาสตร์มาอีก”

หมอเถาขืนข้อมือที่เก็บของห้ามไว้ “จะไปก็ได้ แต่ผมเดินชมวัดวาอารามตั้งแต่เช้าเมื่อยขาเหลือเกินขอพักสักครู่ เดี๋ยวค่อยไปด้วยกัน”

หมอสุริยันเป็นคนช่างเจรจา คุยเล่าไปหลายเรื่องหลายราว และก็ต้องวนเวียนยกย่องชมเชย...

หลวงตาชื้นว่าเป็นเอกบุรุษในทางโหราศาสตร์...

“หมอเถามีบุญที่ได้เป็นศิษย์เอกใกล้ชิดหลวงตา คงได้รับถ่ายทอดของดีไว้มากๆ ถ้าพ่อหมอเถา

มาปูเสื่อโคนมะขามนี่พักเดียวต้องเอาเงินใส่ปี๊บกล้บบ้าน”

หมอเถาถูกชมชักกระดากจึงออกตัว "ผมยังเป็นนักเรียนชั้นประถมโหราศาสตร์ ไม่เก่งกาจอย่างที่

หมิสุริยันคิดหรอก ยังต้องเรียนรู้อีกมาก "

หมอสุริยันยังคงรำพรรณต่อไปอีก “บางทีผมก็นึกท้อๆในโหราศาสตร์ ยิ่งเรียนรู้มากยิ่งโง่ ยิ่งใช้กฎพยากรณ์มากครูมากอาจารย์เข้ายิ่งยุ่งใหญ่ เกือบๆจะเลิกหลายหน หนสุดท้ายพบหลวงตาของหมอเถาเข้านี่แหละค่อยมีกำลังใจขึ้น”

หมอเถาออกความเห็นว่า “ การพยากรณ์นี้ใช้มากครูมากอาจารย์ไม่ดีแน่ สู้อาจารย์เดียวกฎเดียว

ไม่ได้ เพราะไม่ปนกันเลอะเทอะ ”

“อ้ายจริงน่ะก็จริงหรอก แต่ไม่รู้เหตุผลว่ามันเพราะเหตุใด”

หมอเถานึกถึงคำของหลวงตาชื้นอาจารย์เคยเล่าไว้ ก็เอามาเล่าต่อเป็นอุทธาหรณ์

“หลวงตาเคยเล่าให้ฟังว่า ผู้ใหญ่บ้านที่เมืองกาญจน์คนหนึ่งแกปลูกบ้านอยู่ห่างชาวบ้าน เพราะแกเป็นคนเก่าแก่และมีญาติมากจึงไม่ใคร่เกรงโจรผู้ร้าย ตอนนั้นโจรสุพรรณกำลังชุกชุม คืนหนึ่งก็เข้าปล้นบ้านแกเข้าจนได้ แกอยู่บ้านคนเดียว ลงจากเรียนก็ไม่กล้าเพราะเสียงปืนข้างล่างดังไม่ต่ำกว่าสิบลำยิงกราดขึ้นมาบนเรือน อีตอนตัดสินใจลงจากเรือนก็เพราะพวกโจรมันโยนคบไฟขึ้นมาบนเรือน เป็นลูกไม้โจรที่ไม่ต้องเสียเวลาค้นหาเงิน เพราะเจ้าทรัพย์กลัวบ้านไหม้จะรวบรวมติดตัวโดดจากเรือนหนี ได้ครบทุกบาททุกสตางค์ ผู้ใหญ่บ้านแกอารามตกใจรวมเงิน และทองหยองใส่ย่าม...และคว้าห่อพระทั้งห่อใหญ่บนหิ้งบูชาใส่ย่าม โดดหน้าต่างเรือนหนี ปืนโจรร่วม 10 ลำ ยิงเข้าใส่ดังจนหูแทบดับ กระสุนปืนสักนัดเดียวก็ไม่ระคายหนัง เสื้อผ้าแกขาดกระจุยเพราะกระสุนเหลือแต่ตัวเปล่าๆกับย่ามเงินและพระห่อใหญ่ วิ่งแก้ผ้าโทงๆหนีโจรเข้าป่าเอาตัวรอดไปจนได้”

เจ้าหลานถวัลย์นั่งอ้าปากฟัง อดออกความเห็นไม่ได้ “ลุงหมอไม่เห็นเกี่ยวกับโหราศาสตร์ตรงไหนเลย”

“เดี๋ยวซีว๊ะเจ้าหนู ขอหยุดหายใจก่อน” หมอเถาหันไปค้อนเจ้าหลานชายที่ขัดคอกลางคัน

ชาวบ้านลือกันทั้งเมืองว่าแกหนังดีนัก เวลาแกมีราชการไปจับผู้ร้าย แกต้องเอาพระห่อใหญ่นั้นซึ่งมีอยู่ร่วม... 100 องค์นั้นใส่ย่ามสะพายไหล่จนเอียงไปด้วยทุกครั้งเพราะไม่อาจเลือก รู้ได้ว่าองค์ไหนศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยชีวิตแกไว้ แกก็เลยพกทั้งห่อใหญ่ตลอดมาหลายปี”

หมอสุริยันเข้าใจทันทีเพราะประสบกับตนเองมาในเชิงโหราศาสตร์...

“นั่นนะซี ผมเองเวลานี้ก็ตกที่นั่งผู้ใหญ่บ้านเมืองกาญจนบุรีเหมือนกัน ทำนายใครเขาใช้กฎข้อนั้น

บ้างข้อนี้บ้าง บางทีกฎนั้นถูก บางทีกฎข้อนี้ถูก ผลสุดท้ายก็เลยต้องหอบเอาทุกกฎมาใช้เวลาทายเขาทุกทีจะทิ้งก็ไม่กล้า”

“ถ้าใช้พระเครื่ององค์เดียวได้เมื่อไร เมื่อนั้นเป็นนักพยากรณ์”

หมอเถารำพึงบอกหมอสุริยันและตนเองด้วย...

เสียงเอะอะเฮฮาดังมาจากต้นทางซึ่งเป็นทางเดิน ผู้คนหลีกหลบเป็นช่อง เป็นกลุ่ม ชายวัยกลางคนที่อยู่ในอาการมึนเมาสุรา โดยเฉพาะคนรูปร่างสูงใหญ่ที่ดูท่างจะเมามากกว่าคนอื่นๆเพราะส่งเสียงเอะอะ แต่ก็ล้วนเป็นเรื่องสนุกสนานมากกว่าจะก่อเหตุวุ่นวายและพอผ่านหน้าหมอเถาชายนั้นเหลียวดูป้ายหมอสุริยันที่เขียนตัวโตๆว่า “ดูแม่นๆ” ก็สบัดมือจากเพื่อนๆเลี้ยวขวับเข้ามานั่งแปะลงตรงหน้าหมอเถา...

หมอเถาใจหายวูบไม่รู้ว่ามาดีมาร้าย แต่ก็ยังยิ้มสู้เอาไว้ก่อนตามวิสัยชายชาตรี

ชายนั้นเอื้อมมือคว้าป้าย “หมอดูแม่นๆ” เอามาถือให้หมอเถาดูและถามจ้องหน้า

“แม่นแน่เร๊อะ...หมอ ฉันจะดู”

หมอเถาอึกอักเหลียวมองหน้าหมอสุริยันเจ้าของป้าย แต่หอมสุริยันพยักเพยิด “เชิญหมอเถาเถอะ”

หมอเถาร้อง “อ้าว...”

“ไม่ต้องอ้าว...เรานี่แหละ” ชายนั้นชี้หน้าหมอเถากลิ่นเหล้าคลุ้งและควักธนบัตรใบละ 100 บาท ออกมาชูอวด “ถ้าทายถูกจ่ายหมดร้อย ถ้าผิดอดเลย ...

ถ้าเป็นหมอแล้วไม่ดู ก็เอาสระอาใส่ท้ายชื่อแล้วหลบไปให้พ้น”

หมอเถาถูกสบประมาทซึ่งๆหน้า แม้คนพูดจะเมามายก็ไม่วายเลือดขึ้นหน้าจนชา ความคิดแต่แรกที่จะหลบหลีกเกรงมีเรื่องก็หมดไปจากหัวใจ ย้อนถามเอาบ้าง...

“ถ้าไม่อยากเป็นหมอสระอา ก็ต้องดูกันยังงั้นซีน๊ะ”

“ใช่แล้ว...” เขาตอบลากเสียหัวร่อร่วนกวนโมโห เพื่อนๆสามสี่คนที่ยืนห้อมล้อมแทนที่จะห้ามกลับเฮฮาสนับสนุน และผู้คนที่อยู่ใกล้ๆได้ยินเสียงเอะอะกะเร่เข้ามาล้อมฟังเป็นกลุ่มใหญ่...

หมอเถาก็ชาติชายที่ติดไปตายเอาดาบหน้า เรื่องจะยอมเสียหน้าเสียศักดิ์ชายนั้นยอมไม่ได้

เสียแล้ว จึงตัดสินใจพยักหน้า...

“เอ้าบอกวันเดือนปีมา เรื่องเงินไม่สำคัญ”

หมอสุริยันจัดแจงจดวันเดือนปีและเวลาเกิดตามที่นักเลงสุราบอก และเปิดปูมโหรคำนวณดวงดาว

และวางลัคนาเสร็จ แล้ววางตรงหน้าหมอเถาและตนเองซึ่งใจคอเต้นไม่เป็นส่ำเพราะตื่นเต้นก็ชะโงกอ่านดวงช่วยอีกแรงหนึ่ง...

“หลวงตาสอนให้ดูอะไรก่อน” หมอสุริยันกระซิบ

หมอเถาก็กระซิบตอบ “หลวงตาสอนให้ดูตนุลัคน์ว่าเขาเป็นอย่างไร”

หมอสุริยันเป็นคนพูดพันๆปากง่ายๆและพยายามอวดรู้ “จันทร์ธาตุดินเป็นตนุลัคน์ ไปอยู่ราศีมีน

ธาตุน้ำ ลัคนาเองก็อยู่ราศีกรกฎธาตุน้ำ ดินอยู่กลางน้ำ ตัวเองก็อยู่กลางน้ำ เอ๋...มันแปลกจริงๆ”

หมอเถากำลังโกรธปนกลัว ความคิดระส่ำระสาย เพราะไม่เคยตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ ...

จึงเผลอตัวคิดดังๆออกมาไม่ทันยั้ง ...

“งั้นก็เป็นชาวเกาะแน่”

เจ้าของดวงชะตาทวนคำเสียงดังลั่นบอกเพื่อน...

“เฮ้ย...เขาว่าอั๊วเป็น ชาวเกาะว่ะ”

เสียงฮาครืนจากเพื่อนๆของชายนั้น คนหนึ่งในจำนวนนั้นดัดเสียงแหลมถามกวนโทโส...

“คุณพี่ เขาเกิดที่อีสานแล้วมาอยู่กรุงเทพฯมีเกาะที่ไหน มิทราบ”

คนนอกที่ล้อมวงอยู่พลอยหัวเราะคิ๊กคักสนุกสนานไปด้วย หมอเถาอายจนเหงื่อแตกตัวเบาหวิว

แทบจะเป็นลม นึกเสียใจตัวเองว่าไม่ควรเลย นึกถึงครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเพิ่งกราบ

ขอพรมาเมื่อครู่...

บัดดลนั้นเอง ท่ามกลางเสียงหัวเราะเฮฮาจนฟังไม่สรรพ เสียงแผ่วๆเหมือนใครบอกอยู่ข้างหูว่า...

“เถาเอ๋ย ดูเสาร์ปัตนิร่วมอาทิตย์กดุมภะ พฤหัสศุภะก็เล็งจันทร์”

หมอเถาขนลุกซู่ หันไปยกมือไหว้ทางศาลเจ้าพ่อหลักเมืองปัญญาสว่างแวบเหมือนได้ไฟส่องทาง

“ใช่แล้ว...อาทิตย์เจ้าเรือนกดุมภะเป็นคู่ธาตุกับเสาร์ในเรือนปัตนิ การเงินของตนเป็นหลักฐาน

เพราะเมีย ซึ่งมีฐานะมั่นคง จันทร์ตนุลัคน์ไปอยู่ภพศุภะอันเป็นที่พึ่ง และพฤหัสที่พึ่งมาก็มา

เป็นปัตนิ ใช่แล้วชาวเกาะแน่ๆ”

หมอเถาแหงนหน้ามองไปรอบวงอย่างอาจหาญต่อเสียงหัวเราะเยาะและประกาศก้องว่า...

“ชาวเกาะแน่ เกาะเมียกิน”

เท่านั้นเอง เสียงหัวเราะรอบๆวงล้อมกลายเป็นเสียงฮาครืน

พร้อมกัน เจ้าของดวงชะตาโกรธจนตาแดง ฮึดฮัดลุกขึ้นชี้หน้า

“ไอ้หมอ...แกว่าข้าเป็นผู้ชายแมงดา”

เพื่อนๆที่มาเข้ารั้งแขนกันไว้ เพราะกลัวมีเรื่องถึงขั้นทำร้ายร่างกาย หมอเถาก็ลุกขึ้นยืนเช่นกัน

ทั้งยืดอกท้าอย่างผ่าเผย...

“แกสาบาลต่อหน้าเจ้าพ่อหลักเมืองและพระแก้วมรกตซีว่า ข้าทายผิด ข้าจะยอมให้แกเตะกินเปล่า”

“ข้าไม่สาบาล ใครจะทำไมว๊ะ” เพื่อนๆเกรงจะขายหน้ายิ่งขึ้นและยิ่งดิ้นรนก็เลยช่วยกันฉุดลากออก

ไปให้พ้นๆไปเสีย แม้จะห่างออกไปก็ยังได้ยินเสียงตะโกนปฏิเสธโวยๆตลอดทาง...

หมอเถาทรุดตัวลงนั่ง เหนื่อยเหมือนคนวิ่งมาสัก 20 เส้น รำลึกถึงพระคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยแก้หน้าไว้ได้ ก็คุกเข่าหันหน้าไปทางศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ก้มลงกราบพอครบสามคาบจะเงยหน้าก็เห็นชายผ้าเหลืองบังอยู่ตรงหน้า เมื่อเงยขึ้นอีกก็เห็นว่าเป็นจีวรพระภิกษุพอเห็นหน้าถนัด...

หมอเถาตะครุบข้อเท้าไว้ดีใจ “หลวงตาขอรับ”

หลวงตาชื้นหัวเราะว่า “เออ...ข้าเองหมอเถา เห็นหายมาตั้งแต่เช้าจนบ่ายไม่กลับ จึงออกมาตาม

ข้ามายืนอยู่ข้างหลังตั้งแต่เริ่มทายเขาแล้ว ”

“ถ้าเช่นนั้นเสียงกระซิบนั่น เป็นของหลวงตานั่นเอง”

หลวงตายิ้มๆไม่ตอบ เพราะหันไปรับไหว้หมอสุริยันเสีย และออกปากชวนกลับวัด หมอสุริยันถือ

โอกาสเก็บข้าวของหอบกระเป๋าตามหลวงตาไปด้วยอีกคนหนึ่ง...

พอเริ่มออกเดินตามหลังหลวงตา เจ้าหลานชายนายถวัลย์ก็แอบเข้ามาใกล้หมอเถาส่งใบละร้อย

ที่นายชาวเกาะชูอวดทีแรกให้และอธิบายหัวเราะๆ ...

“ลุงหมอทายถูกใจดำเลยโกรธ กำลังปล้ำห้ามกัน ผมก็เลย

กระตุกจากมือเอามาเพราะเป็นค่าดูของลุงหมอ”

...เรื่องราวก็เอวังด้วยประการฉะนี้...

...พบกันใหม่กับบทความ + บทเรียน + นิยายโหราศาสตร์ ในลำดับต่อไปกันนะครับ...

ตั้งชื่อเด็ก

ย่างเข้าเดือน ๗ มาจนจะเข้าข้างแรม ฝนประจำฤดูการขาดหายไปร่วมเดือน บนท้องฟ้าว่างไม่มีเค้าเมฆเค้าฝนให้เห็น อากาศร้อนอบอ้าวไปทุกหนทุกแห่ง ราวกับฤดูร้อนตอนสงกรานต์ไม่ผิด...

ถนนสายเดียวจากตัวเมืองผ่านตลาดและหมู่บ้านออกไปสู่ทุ่งนายาวสุดตาไม่มีรถราหรือผู้คนสัญจรด้วยเป็นเวลาบ่ายแดดจัด ตรงทางแยกจะเข้าสู่วัดเป็นละเมาะไม้ร่ม หญิงหนึ่งหน้าตาสวยสะอาดหมดจดอุ้มทารกน้อยแนบอกหลบแดดแฝงเงาไม้มาตามริมทาง กิริยาดูร้อนรนหวาดหวั่นเหมือนนางเนื้อระแวงภัย พอถึงทางแยกก็มุ่งหน้าเข้าสู่วัดแวะถามมาตลอดทางจนถึงกุฏิที่มีต้นมะยมคู่หน้าประตูเป็นที่สังเกต ก็รีบรุดขึ้นกุฏิโดยไม่ลังเล...

หลวงตาชื้นเอกเขนกประจำที่อยู่หน้าพาไลห้องเช่นทุกวัน เสียงประตูชานกุฏิเปิด เหลียวมองเห็นหญิงสาวอุ้มลูกทรุดตัวลงนั่งไหว้แต่ไกลยกมือป้องดูก็จำไม่ได้ว่าเป็นใคร จึงหันมาทางแขกที่นั่งอยู่ด้วย...

“ครูก้อนตาดีๆ ช่วยดูทีหรือมันลูกใครหลานใครกัน”

ครูก้อนซึ่งมานั่งคอยหมอเถาแต่บ่ายและยังไม่พบกัน พลอยป้องมือตามหลวงตาดูมั่ง...

“ผู้หญิงครับหลวงตา”

“ทุด…”หลวงตาชื้นทั้งฉิวทั้งขำ “ลูกกะตาฉันก็มี ถึงจะแก่ชรา70 เศษ ก็พอรู้หรอกวะว่าผู้หญิงผู้ชาย ไม่ถามให้มันเสียเวลา อยากรู้ว่ามันใครกัน ครูรู้จักหรือเปล่า”

“คนแปลกหน้าครับหลวงตา ดูจะไม่ใช่คนบ้านเรา” ครูก้อนตอบตายังเพ่งอยู่ แล้วกวักมือเรียก “เข้ามาซีแม่หนู มีธุระอะไรก็เข้ามาใกล้ๆนี่เถอะ “

หญิงสาววัยยี่สิบเศษลุกเดินผ่านชานกุฏิเข้ามานั่งพับเพียบเรียบร้อย วางลูกที่แนบออกลงหมอบกราบนอบน้อมใกล้ๆเท้าหลวงตาที่เหยียดอยู่ จนหลวงตากระดากต้องหดเท้าหนี...

“หนูขอกราบเท้าหลวงตา”

“เออ ไหว้พระแม่คุณจำเริญ ๆ เถอะ” หลวงตายกมือรับไหว้แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่าลูกหลานใคร

ที่รู้จักมาก่อนหรือเปล่า ยังไม่ทันได้พูดจาไต่ถาม ก็ได้ยินเสียงเถิดเทิงกลองยาวแว่วห่างๆ จนกระทั่งใกล้กุฏิและมาหยุดอยู่หน้ากุฏิ เสียงกลองเสียงฉาบดังจนกระทั่งจะพูดกันไม่ได้ยิน ซ้ำเสียงไชโยโห่ฮิ้วดังลั่นแสบแก้วหู...

หลวงตาชื้นมองหน้าครูก้อนเหมือนจะถามว่ามันอะไรกัน จะว่าเป็นขบวนแห่บวชนาคก็ผิดสังเกตที่มาเล่นกันอยู่นอกโบสถ์ จะแห่อื่นใดก็มองไม่เห็น ครูก้อนขยับตัวจะลุกขึ้นเปิดประตูก็พอดี ชายรูปร่างท้วมสูงใหญ่เปิดประตูผลัวะเข้ามา เสื้อผ้าเปียกปอนตลอดตัว หน้าประแป้งลายไปทั้งหน้า

ครูก้อนเพ่งถนัดก็จำได้หัวเราะก๊าก...

“บ๊ะ…บ๊ะ…

หมอเถา วันนี้เกิดร้อนจัดหรือไง ถึงแต่งหน้าแต่งตาพิกล ช๊ะๆ ยังมีขบวนแห่มาส่งเสียด้วย”

หมอเถาหัวเราะเอามือลูบหน้าลบรอยประแป้งออกเข้ามากราบหลวงตา...

ซึ่งท่านจ้องมองตะลึงอยู่...

“เขาไปขอฤกษ์แห่นางแมว ฝนฟ้ามันแล้งเหลือเกิน พืชผลในไร่เสียหายหมด ก็เลยต้องร่วมขบวนแห่นางแมวมากับเขาด้วย”

“แห่ให้มันเสียเวลา” หลวงตาชื้นว่า “อีกวันสองวันก็จะเข้าเดือน 8 แล้วพอย่างข้างแรมเข้า

พรรษาฝนมันก็ตก”

หมอเถาเหลือบดูหญิงสาวแขกของหลวงตาที่นั่งอยู่ข้างๆ นึกชมในใจตามประสาผู้ชายว่าเธอ

เป็นคนสวยคนหนึ่ง...

”แม่หนูมาธุระอะไรหรือจ๊ะ”

“หนูจะมารบกวนหลวงตาท่านสักหน่อย” เธอว่า...

“เออ ลืมไป” หลวงตาพยักหน้า “มัวหนวกหูไอ้เสียงเถิดเทิงแห่หมอเถาเลยลืมถามว่ามาทำไร

มีอะไรว่าไปแม่หนูไม่ต้องเกรงใจ”

“หนูอยากจะมาขอชื่อลูกชายเจ้าค่ะ”

“อ้อได้ซิเป็นไรไป” หลวงตาเอานิ้วจิ้มหน้าผากเด็ดสัพยอก“หน้าตามันน่ารักดีเจ้าหนู แต่ข้าสงสัยว่านังแม่มันจะมีทุกข์หัวใจมากกว่าเรื่องชื่อลูก”

คำท้ายของหลวงตา ทำให้แม่ลูกอ่อนสะดุ้งหลบตา ทั้งหมอเถาและครูก้อนรู้สึกสะกิดใจคำหลวงตาชื้นที่มีนัยชวนให้คิด...

“แม่หนูมีทุกข์มีร้อนอะไรก็บอกหลวงตาท่านเถอะ” หมอเถาพูดน้ำเสียงปลอบโยนแสดงเมตตา

“อ้ายความทุกข์นะมันท่วมหัวใจหนูทีเดียว” เธอพูดเสียงเครือน้ำตาคลอ...

หลวงตารีบพูดขึ้นก่อน “ดวงยามมันบอกว่า เป็นเรื่องผัวเรื่องเมียมันจะเลิกร้างแตกแยกกัน”

เจ้าตัวสะอื้นฮักแล้วปล่อยโฮหมดอาย “ใช่เจ้าค่ะ ผัวเขาจะทิ้งอิฉัน”

ทั้งผมทั้งครูก้อนตกตะลึงอ้าปากค้าง ที่หลวงตาท่านทายเหมือนปาฏิหารย์ ทั้งๆที่มิได้ผูกดวงผูกดาวแต่สักอย่าง ผมและครูก้อนขณะนี้คิดตรงกันอยู่อย่างหนึ่ง ก็คืออยากรู้ว่าหลวงตาท่านเอาอะไรทายเช่นนั้น แต่ไม่กล้าถามขึ้นมาขณะนี้เพราะเกรงใจท่านอยู่ จึงสบตากันเหมือนถามกันเองอยู่เงียบๆ...

หลวงตาเหมือนจะรู้ใจเราทั้งสองคน ท่านพูดลอยๆเป็นปริศนาบอกใบ้...

“ยามแม่หนูเขามาเป็นยามศุกร์ วันนี้ศุกร์มันเดินเป็นมรณะแก่จันทร์ มันก็เรื่องศุกร์ ความรักความใคร่ มรณะมันแตกแยกสูญเสียน่ะซีและวันนี้วันพุธ ศุกร์เป็นมูละ ถ้าเป็นนกก็ออกจากรังแล้วไม่กลับคืนเรือนแน่ หมอกะครูทำหน้าตกอกตกใจไปได้”

“ขอรับ เป็นพระเดชพระคุณที่สุด” ทั้งผมทั้งครูก้อนพนมมือรับคำ ในใจผมยังคิดไม่แจ่มแจ้ง...

หลวงตาจึงพูดต่อไปอีก “ธรรมดาริเป็นหมอดู พอเห็นหน้าเขามันก็ต้องพิจารณายามดวงดาวประจำวัน เพื่อเป็นทางรู้ว่าเขามาเรื่องอะไรร้ายหรือดี มัวแต่นั่งซักนั่งถามเรื่องราวมันก็ไม่ใช่

หมอดู เป็นหมอถาม”

“เรื่องตัวยามเข้าดวงดาวหลวงตายังไม่เคยสอนพวกกระผมเลย”ครูก้อนยิ้มประจบ

“แต่คำที่หลวงตาชี้แจงเมื่อกี้ผมพอมองเห็นเค้าบ้างแล้ว "

ผมนึกอิจฉาครูก้อนเสียจริงๆที่หมอมีความคิดปราดเปรื่องว่องไวเข้าใจอะไรดูง่ายดายผิดกะผม

จะได้อะไรสักทีก็ต้องไปนั่งท่องนอนท่องเป็นวันเป็นคืน อ้ายคนเราเรียนกะไม่ได้เล่าเรียนมัน

ผิดกันตรงนี้เอง...

“เขาเรียก กาลชะตาทางจันทรคติ เอาไว้วันประหัส เอาดอกไม้ธูปเทียนมาทั้งสองคนฉันจะสอนให้” หลวงตาพยักหน้าและให้โอวาท“เป็นหมอดูจะรู้แต่ดาวเดือนอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องเรียนรู้รอบตัวสารพัดจึงจะเอาตัวรอด”

หลวงตาท่านหันมาทางหญิงสาวที่กำลังเช็ดน้ำตา...

“แม่หนูเป็นคนที่ไหน ถึงได้หอบลูกฝ่าแดดมาหาอาตมาถึงนี่”

“หนูเป็นคนราชบุรี มาได้สามีอยู่ที่นี่เมื่อปีที่แล้วเจ้าค่ะ”

“เออ มันก็ยังเป็นข้าวใหม่ปลามัน มีลูกมีเต้าด้วยกันมันน่าจะมีความสุขประสาผัวๆเมียๆ ทำไมจะมาทิ้งขว้างกันเสียล่ะแม่หนู”

“มันเรื่องเวรเรื่องกรรมเจ้าค่ะ ก็เพราะเรื่องลูกนี่แหละ” น้ำตาที่เหือดแห้งแล้วกลับพรูนองแก้มออกมาอีก สาวแม่ลูกอ่อนก็เริ่มเล่าเรื่องแต่ต้น...

“หนูเป็นเด็กราชบุรี กำพร้าพ่อแม่มาแต่เล็กๆ พอจำความได้ก็อาศัยอยู่กับคนอื่นเรื่อยมา อดบ้างอิ่มบ้างมาตลอด พอตอนอายุ 15-16 ก็ยิ่งลำบากหนักขึ้น พอจะได้ที่อยู่ที่กินมีความสุขก็ต้องเปลี่ยนที่โยกย้ายจนแทบจะจำไม่ได้ว่าเคยอาศัยอยู่กับใครมาบ้าง ใครๆเขาว่าเกิดเป็นผู้หญิง

ขอให้สวยอย่างเดียวชีวิตหาความสุขได้ง่าย หนูไม่เชื่อเลยจริงๆเจ้าค่ะเพราะความสวยนี่แหละมันเป็นตัวกรรมให้ลำบากลำบนระเหเร่ร่อนพอแตกเนื้อสาวไปอาศัยใครเขาอยู่ มิช้ามินานพอเมียเขาหึงก็ต้องจรออกจากบ้านไป พอไปพบที่เมียเขาเป็นคนดีไม่หึง ข้างผัวก็มักทำตาวาวแอบจับมือจับแก้ม เหมาะๆบางรายมุดมุ้งปล้ำเอาก็เคยโดนเจ้าค่ะ”

”มาเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้เพื่อนฝูงเขาแนะนำชักจูงไปทำงานเป็นนางเสริฟในบาร์ขายเหล้าขายเบียร์ มีรายได้ดี พอจะมีชีวิตกินอิ่มนอนหลับได้แต่งเนื้อแต่งตัวสวยๆสักหน่อย เสียอย่างเดียวงานชนิดนี้มันเปลืองตัวเปลืองชีวิตอยู่สักหน่อย มันได้อย่างเสียอย่างเจ้าค่ะ”

“เมื่อต้นปีที่แล้ว พี่เขามาเที่ยวบาร์พบกันเข้า เขารักหนูมากชวนไปร่วมชีวิตผัวๆเมียๆ หนูก็เต็มใจแม้ว่าพี่เขาจะเป็นคนเชื้อจีนอยากเลิกชีวิตดอกไม้ริมทางเสียที จะได้มีชีวิตเป็นครอบครัว แก่ตัวเข้าจะได้ไม่ลำบาก”

เธอหยุดเช็ดน้ำตามองเหม่อเหมือนนึกถึงความรักความหลัง“เมื่อมาอยู่ด้วยกันแรก ๆ ก็เรียบร้อยดี แต่พอนานนับเดือนเข้าพี่น้องญาติ ๆ ของพี่ซึ่งล้วนแต่เป็นคนจีน ก็ตั้งข้อรังเกียจประวัติหนหลังของหนูว่าเป็นคนไม่ดี หนักเข้าก็ยุยงพี่ให้ทิ้ง อ้างว่าเสื่อมเสียวงศ์สกุลที่ร่วมแซ่ ”

“พอเริ่มตั้งท้องลูกคนนี้ เราสองคนผัวเมียก็เริ่มระหองระแหงพี่เขาพูดอยู่เสมอว่าอาจไม่ใช่ลูกเขาก็ได้ หนูสู้อุตส่าห์อดทนมาจนถึง วันคลอด ได้ลูกผู้ชายหน้าตาผิวพรรณมาข้างหนูทั้งหมด ไม่มีส่วนละม้ายไปทางพ่อเลย เรื่องก็เลยยิ่งซ้ำร้ายหนักขึ้น เราทะเลาะกันแทบไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งญาติพี่น้องเขาก็รุมด่าเช้าด่าเย็นทุกวัน จนหนูอดทนไม่ไหวก็ต้องหนีออกจากบ้านมาวันนี้”

ทั้งหลวงตา ผม และครูก้อน นั่งนิ่งฟังใจคอหดหู่ต่อเคราะห์กรรมของเด็กสาวอายุยังเยาว์แต่ความทุกข์ประหนึ่งทะเลหลวงอันกว้างใหญ่ไพศาล เด็กผู้หญิงเล็ก ๆ คนนี้จะว่ายข้ามไปพ้นหรือ

“จะให้หลวงตาช่วยอะไรแม่หนูได้บ้างก็บอกเถอะ” หลวงตาเองถึงจะเคยพบเห็นความทุกข์ยากของผู้อื่นมามาก ก็ยังไม่วายสลดใจ...

หรือจะให้ไปช่วยพูดกับผัวแม่หนูให้รู้ผิดชอบ ก็เต็มใจจะพูดให้ เอาไม๊ล่ะ”

“ไม่เจ้าค่ะ หลวงตา” เธอรีบปฎิเสธ “หนูคิดไปตายดาบหน้าเสียแล้ว ที่มาหาหลวงตาก็อยากจะ

ให้ตั้งชื่อผูกดวงเป็นสิริมงคลแก่ลูกเพราะหนูคงหมดปัญญาเลี้ยงเขาต่อไปได้ เพราะจะต้องมีชีวิตร่อนแร่พเนจรกินไหนนอนไหนก็ยังไม่รู้แห่ง ตั้งใจจะเอาไปยกให้เป็นลูกคนที่เขารักเด็ก วันข้างหน้ามีบุญแม่ลูกคงได้พบกัน”

“แม่หนูจำวันเกิดเวลาเกิดตัวเองได้ไม๊ล่ะ” ผมถามเบาๆ “จะได้ตรวจดวงชะตาดูทีหรือว่ามันจะหมดเคราะห์หรือยัง ด้นดั้นไปครั้งนี้จะดีหรือร้ายอย่างไร”

“หนูจำไม่ได้เลย เพราะแม่ตายเสียแต่ยังจำความไม่ได้ และอาศัยคนอื่นเขาเรื่อยมาเลยไม่มีโอกาสรู้”

“เจ้าหนูน้อยละมันเกิดวันใดเวลาใดแม่หนูลองบอกซิ” หลวงตาถาม...

“หนูจำไว้แม่นยำเจ้าค่ะ” เธอว่า และก้มลงดูบุตรน้อยที่หลับอยู่คาอก “วันศุกร์ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5

ปีกุน วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2514 ปีนี้เจ้าค่ะ เวลาตกฟากหนูหกโมงเช้ายี่สิบห้านาที”

“เออจำ ละเอียดแม่นยำ ดี เอา…ลองผูกดวงมันดู ข้างมันจะดีชั่วแค่ไหน” หลวงตาคว้ากระดานโหรหยิบปูมมาเปิดดวงดาววางลัคนาขีดเขียนอยู่ครู่เดียวก็วางดวงชะตาเสร็จ ท่านพินิจพิเคราะห์ดูอยู่สักครู่แล้วก็ถอนใจเลื่อนกระดานฯมาให้ผมกับครูก้อนดู...

๒ เมษายน ๒๕๑๔

๖ ฯ ๕ ปีกุน เวลา ๐๖.๒๕ น.

ผมพินิจพิจารณาดวงชะตาอยู่ 2-3 รอบ จับเอาพฤหัสทายก่อนเพราะขืนช้ากลัวครูก้อนแกจะคว้าเอาไปกินเสีย...

“ชะตาเด็กคนนี้ ผมว่าคงจะไม่ตกต่ำ พฤหัสเป็นเก้า จะมีความสุขสบาย และพฤหัสเป็นตนุตกเรือนศรี ไปเบื้องหน้าเห็นทีจะไม่ลำบาก ชีวิตคงจะอุดมด้วยลาภผลสมบูรณ์”

ครูก้อนไม่ยอมน้อยหน้าผม “ลัคนาเขาอยู่ราศีอำพุ จันทร์เป็น 4 ได้องค์เกณฑ์ตามตำราจะเป็นถึงพระยา ชีวิตเด็กคนนี้จะรุ่งเรืองด้วยยศศักดิ์ และอังคารคือศรีอยู่เรือนกัมมะ ประกอบการงานอย่างใดก็เจริญรุ่งเรืองดี”

หลวงตาชื้นหัวร่อชอบอกชอบใจสองลูกศิษย์พยากรณ์ได้คล่องปากแบบนกขุนทอง...

“ไอ้ที่ทายนี่น่ะมันไม่ผิดหรอก แต่มันยังไม่ถูก ทั้งหมอทั้งครูแหละ เรื่องเดชเรื่องศรีเรื่องกาลกิณี สอนไม่ใคร่จำกันเลยว่า อย่าเอามาเล่นออกโรงโดดๆไม่ได้ ต้องเอาดาวเอาภพเข้าก่อนแล้วถึง เอาเดช ศรีกาลี เข้าประกอบ มันถึงจะแนบเนียน ทีหลังไม่จำให้ได้ มันต้องจับเฆี่ยนกันเสียบ้าง คงจะจำได้ดีขึ้น”

หลวงตาท่านชี้นิ้วบนกระดาน “ขึ้นต้นมันต้องตรวจดวงเสียก่อนว่าวันเวลาเกิดที่เขาบอกนั้น เมื่อเฉลิมรูปดวงชะตาแล้ว มันพอจะเข้าเค้าเรื่องชีวิตของเขาหรือไม่ เป็นการสอบเวลาเกิดว่าเขาบอกผิดถูกอย่างไรด้วย”

“อย่างดวงนี้” หลวงตาชี้ที่จันทร์ “จันทร์อยู่เรือนพันธุของลัคนาจันทร์ก็คือแม่เรือนพันธุเผ่าพงษ์ เป็นมรณะกับพฤหัสตนุลัคน์ หมายถึงแม่จากไปเหมือนตายจากกัน และไกลญาติไกลพี่ไกลน้อง พอเชื่อได้ว่าเป็นดวงของเขาจริงๆ”

หลวงตาหยุดตรวจดวงแล้วก็อธิบายต่อ “การจะดูวาสนาหรือชีวิตเขาจะดีจะชั่วอย่างไร ไม่ใช่จะคอยจ้องแต่ศรีหรือกาลกิณีอย่างเดียวมันต้องดูตัวเขา คือลัคนาหนึ่ง และตนุลัคน์เขาอีกหนึ่ง ดูการงานของเขาอีกหนึ่ง ดูการเงินของเขาอีกหนึ่ง ดูการศึกษาเล่าเรียนอันเป็นความรู้เขาอีกหนึ่ง มันเป็นปัจจัยประกอบกันเป็นความรุ่งเรืองไปมิได้ เช่น ความรู้ดีไม่เอาการงานหรือทำการใดไม่ยืด

มันก็ไม่เจริญ งานดีความรู้ดีแต่ตนเองเสเพลประพฤติชั่วก็เอาตัวไม่รอด คนดี งานดี ความรู้ดี แต่

การเงินเสียหายมันก็ตั้งหลักฐานเป็นปึกแผ่นไม่ได้ เหมือนเก้าอี้ 4 ขาขาดขาใดขาหนึ่งมันก็ตั้งอยู่มิได้”

ทั้งผมและครูก้อนรู้สึกเสียใจตัวเองที่ไม่ควรผลีผลามตะกรุมตะกรามทายโดยไม่ตรวจตราให้ละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน ฟังโอวาทหลวงตาครั้งใดปัญญาแจ่มกระจ่างไปทุกครั้ง...

”ดวงเด็กคนนี้ว่าถึงจะบุกบั่นฟันฝ่าเอาดีเอาเด่นจริงจังด้วยลำแข้งของตนเองยาก”

หลวงตาชื้นพูดช้าๆไตร่ตรอง นัยน์ตาท่านจับอยู่บนกระดานโหร...

“ตัวตนุตนนั้นน่ะดีอย่างหมอเถาว่า ตนุลัคน์ตกศุภะในเรือนศรีตนจะได้ที่พึ่งอุปถัมภ์ที่จะพาชีวิต

ให้รุ่งเรืองในภายหน้า ว่าถึงการงานดูเผินๆก็น่าจะดีเด่น เพราะอังคารศรีสถิตเรือนกัมมะพฤหัส

คู่สมพลทายได้ว่าจะได้หน้าที่ตำ แหน่งการงานที่เป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาเป็นเกียรติแก่ตน แต่

จะดูงานไปในทางลาภผลร่ำรวยไม่ได้ เพราะเรือนลาภะราหูเจ้าเรือนวินาสน์เป็นกาลกิณีครอง

อยู่ เจ้าเรือนลาภะคือเสาร์ไปอยู่กฎุมภะเป็นนิจ เท่ากับกาลกิณีเรือนกฎุมภะ การเงินการทอง

กว่าจะได้ก็ต้องเหนื่อยสายตัวแทบขาดตามอำนาจเสาร์ เรียกได้ว่าลาภผลการเงินไม่ดี ดูการศึกษาเล่าเรียนก็ดูอาทิตย์พุธคู่นี้เป็นการศึกษาเล่าเรียนวัยต้นๆมากุมลัคน์อยู่ก็จริง แต่พุธมูละ

เป็นประและอาทิตย์มาจากภพอริ การศึกษาเล่าเรียนขัดข้องไม่ตลอดหรือจะเรียนรู้ให้เป็น

หลักฐานมั่นคงมิได้”

ผมตั้งอกตั้งใจฟังเพื่อจดจำไว้ “เด็กคนนี้ดีเพียงสองสถาน ก็เพียงแต่เอาตัวรอดได้เท่านั้นนะครับหลวงตา”

“ถูกละ แต่ยังก่อน” หลวงตาพยักหน้ารับแต่ยังชี้นิ้วนับไปตามราศีตรวจดาว” มันจะต้องดูว่าดวงดาวอะไรจะนำพาชีวิตของเขาให้รุ่งเรืองได้บ้างและทางไหน”

“ผมรักดาวพฤหัส” ผมออกความเห็น...

“พฤหัสน่ะถูก..แต่จะดีทางไหน ลองว่ามาซิหมอเถา“ หลวงตาย้อนถามสอบภูมิ”

ผมนิ่งอึ้งคิดอยู่ครู่หนึ่งตอบอ้ออมแอ้มไม่แน่ใจนัก...

“ชีวิตเขาจะมีความสุข”

“บ๊ะ…” หลวงตาเกาหัวแกรกไม่สบอารมณ์คำตอบ “หมอเถามันตอบกำปั้นทุบดิน คนดีคนเลวคนจนคนมี มันก็มีทางมีความสุขกันได้ทุกคน ทายอย่างนั้นไม่ได้”

“พฤหัสเป็นเก้าอย่างหมอเถาว่าดีน่ะถูก เขาเรียกธรรมเกณฑ์ไม่สู้จะให้คุณทางโลก แต่ให้คุณในทางธรรม เป็นผู้มีคุณธรรม จะได้รับการยกย่องนับถือ ทั้งนี้ลองหวลมาดูเรือนปัตนิดูหรือมฤตยูและเกตุเขาครองอยู่ด้วยกัน และพุธเจ้าเรือนก็เป็นประเรื่องลูกเมียดูมันจะดับสูญเป็นเพลิงสิ้นเชื้อเอา และจันทร์องค์เกณฑ์ของลัคนาราศีอำพุเป็นคู่ธาตุกับพฤหัสด้วย จะได้เป็นพระยาอย่างครูก้อนว่า แต่เป็นพระยาพระน่ะนา ถ้าบวชเรียนตำแหน่งเจ้าคุณเห็นจะอยู่แค่เอื้อมเท่านั้น”

“ผมเห็นจริงอย่างหลวงตาว่าชัดเจนทีเดียว” ผมมองเห็นเป็นฉากๆ ตามคำอธิบายและก็อดพูดเล่นตามประสาคนปากอยู่ไม่สุข“เด็กคนนี้เห็นทีจะไม่พ้นทางชีวิตสมณเพศเสียเป็นแน่ ยกให้เป็นลูก

หลวงตาเสียดีกระมัง พอโตสักหน่อยก็บวชเณรเรื่อยไป เพราะดวงมันต้องพึ่งพระพึ่งสงฆ์ “

หลวงตาอธิบายยืดยาวจนต้องหยุดพักเหนื่อยจิบน้ำชาไปพลางพิศดูหน้าตาเด็กและดวงชะตาไปพลาง คิดหาเหตุผลตามประสาพระสงฆ์ผู้เฒ่า...

“จะตั้งชื่อเด็กคนนี้ว่ากระไรดี” ผมเรียนถามแล้วออกความเห็นอีก

“การตั้งชื่อก็ต้องเล่นทางทักษา ผมว่าเอาศรีคืออักษรอังคารจะเหมาะ”

“ผมว่าวรรคเดชคือจันทร์จะเหมาะกว่า” ครูก้อนแย้ง “การตั้งชื่อเด็กชายเขาต้องใช้เดช ส่วนเด็กหญิงเขาใช้ศรี”

”การตั้งชื่อบุคคลจะใช้แต่เดช ศรี ทางทักษาอย่างเดียวมันหยาบไป เรามีดาวก็ต้องดูดาวประกอบด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าเดชหรือศรีก็ดีจะให้คุณจริงหรือไม่”

“ดูเอาเห็นไม๊ะ” หลวงตาชี้นิ้ว “อังคารตัวศรีก็สัมผัสกับกาลกิณีทางเสาร์คู่ศัตรูที่ครองเรือนอังคารอยู่ ส่วนเดชคือจันทร์ก็อ่อนไปไม่เหมาะแก่เด็กผู้ชาย”

“ตัวที่เหมาะที่สุดคือพฤหัส ซึ่งทางทักษาเป็นมนตรี และทางดาวก็ตกเรือนศุภะ เด็กน้อยผู้นี้จะต้องพรากจากอกแม่ไปอยู่ในความคุ้มครองของคนอื่น ตั้งชื่อมนตรีและศุภะไว้จะได้มีที่พึ่งที่อุปถัมภ์ชีวิตที่ดีเป็นเหมาะกว่าอื่น”

“จริงครับหลวงตา เหมาะแก่ชีวิตเขาเป็นที่สุดแล้ว”ผมสนับสนุนเพราะเห็นจริงอย่างหลวงตาพูด

“นังหนู แม่ชื่ออะไร พ่อชื่ออะไร จะได้ตั้งชื่อเด็กให้มันคล้องจองพ่อแม่”

หลวงตาหันมาถามหญิงสาว...

“หนูชื่อบุนนากเจ้าค่ะ แต่ชื่อพ่อเขาไม่ต้องการให้เข้ามาเกี่ยวเจ้าค่ะคนใจร้าย”

“เอาชื่อ บุญเกื้อ ก็แล้วกัน ได้ทั้งเดชทั้งศรี เป็นคู่ธาตุคู่สมพลแล้วยังได้สระคืออาทิตย์เป็นคู่มิตรอีกครบองค์ "

“ดีแล้วเจ้าค่ะ หนูชื่อบุนนาก ลูกชื่อบุญเกื้อ คล้องจองกันดีเจ้าค่ะ” เธอค่อยวางลูกลงก้มกราบแสดงความขอบพระคุณหลวงตา...

“เอ้าอุ้มเจ้าหนูเข้ามาใกล้ ๆ ผูกข้อมือรับชื่อเป็นสิริมงคลเสีย”หลวงตาจับสายสิญจ์ทบเป็นเก้าเส้นยาวขนาดพอเหมาะ จับสองปลายเกลือกคลึงข้อมือเด็ก ปากทานก็พึมพำอาราธนาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณพระสังฆคุณคุ้มครองรักษา แล้วก็เรียกชื่อ “เจ้าหนูบุญเกื้อผลบุญจะเกื้อกูลให้เจ้าเป็นสุข”

เธอบรรจงวางลูกกำลังหลับลง “ลูกขอฝากบุญเกื้อไว้สักครู่เจ้าค่ะ จะเข้าไปในตลาดเพราะเพื่อนเขานัดว่าจะใช้เงินยืมให้ จะได้เอาไว้เป็นค่าพาหนะเดินทาง”

“เชิญเถอะแม่หนู” ผมรีบรับอาสาทันควัน “เรื่องเด็กๆ ฉันพอจะดูแลกันได้ รีบไปรีบหลับมาอย่างนานนัก ตื่นขึ้นหิวนมจะร้องไห้ปลอบไม่หยุด”

เธอยกมือไว้ผมอ่อนน้อมน่าสงสาร ถอยออกจากประตูกุฏิไปแล้ว ผมก็หันมาสัพยอกครูก้อน...

“เด็กชื่อบุญเกื้อ ถ้าได้พ่อชื่อบุญก้อนและคล้องกันเปี๊ยบเลย ครูก้อนน่าจะรับเอาไว้เป็นลูกบุญธรรมสักคน”

“ของผมน่ะสี่คนเข้าไปแล้วเต็มกลืน” ครูก้อนส่วยหน้าเหลือระอา

“แต่ถ้าแถมแม่ให้ด้วยละก็ขอคิดดูก่อน อาจพอรับไว้ได้”

“ชะช้า ครูก้อน…”ผมชี้หน้าเพื่อน “มีลูกบุญธรรมน่ะมันไม่กระไร แต่จะมีเมียบุญธรรมอีกคนละก้อ รนหาที่ตายแน่”

“ตายยังไงหมอเถา” ครูเถียงคอเป็นเอ็น “ผมเป็นหนุ่มแข็งแรงกว่าหมอนะ ไม่ตายง่ายๆหรอก แล้วเมียผมก็ไม่ดุร้ายด้วย”

“ฟ้ามันจะผ่าตาย” ผมหัวเราะ แล้วลำเลิกความหลังของครูก้อนที่รู้ๆกันว่ามีเมียขี้หึง สงสัยว่าครูนอกใจทีไรจับสาบานทุกครั้ง “ครูเคยจุดธูปสาบานบ่อยๆให้ฟ้าผ่าตาย นี่ก็จะเข้าน่าฝนฟ้ามันคะนองอยู่ ไม่นึกกลัวผิดคำสาบานมั่งรึ”

“หมอเถาปากเสีย” ครูก้อนทั้งอายทั้งขำปนกัน แต่ก็อดหัวเราะไม่ได้ หลวงตาชื้นเองก็หัวเราะเต็มเสียง ส่วนตัวผมนั้นล่อเสียตัวงอที่เห็นเพื่อนอายกระมิดกระเมี้ยน...

เสียงหัวเราะดังลั่นของเราทั้ง 3 คน ปลุกเด็กน้อยพ่อบุญเกื้อสะดุ้งตกใจตื่นร้องจ้า ผมเคยอุ้มเด็กกวาดยาอยู่ทุกวันก็ประคองสองมือช้อนแนบอกโอ๋ปลอบ แต่พ่อหนูน้อยกำลังตกใจไม่ยอมหยุดกลับร้องจ้าลั่นกุฏิ หลวงตาลูบหัวปลอบก็ไม่ฟัง ครูก้อนถึงกับลงทุนแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกทำกิริยาแปลกๆ พ่อหนูบุญเกื้อกลับร้องดังกว่าเก่าขึ้นไปอีกตอนนี้ชักอลเวงทั้งกุฏิ หลวงตาไม่คุ้นกับเด็กๆเล็กๆ ชักไม่สบายใจผมอุ้มใส่บ่าลุกขึ้นเดินนึกหาเพลงฉ่อยเพลงลิเกที่ร้องเล่นเมื่อตอนหนุ่มๆ

ก็นึกไม่ออกได้แต่ร้องฮือๆฮาๆ ปลอบไปตามเรื่อง...

“เอ…นี่มันก็นานโขแล้วนะหมอเถา ทำไมแม่เจ้าหนูนี่มันยังไม่ยอมกลับ” หลวงตาปรารภด้วยความเป็นห่วง...

ผมเองกับครูก้อนก็คิดอย่างหลวงตาชื้นเช่นกัน แต่ยังไม่ทันจะคิดหรือพูดอะไรก็ได้ยินเสียงใครเรียกอยู่หน้าประตูนอก...

”หลวงตาคะร๊าบ…หลวงตาคะร๊าบ”

ผมเดินไปเปิดประตู ก็เห็นเจ้าเด็กรุ่น จำได้ว่าเป็นลูกแม่ค้าที่ท่ารถเมล์ “อะไรวะอ้ายหนู”

“มีจดหมายเขาฝากมาให้หลวงตา” เจ้าเด็กท่าทางแคล่วคล่องชูซองจดหมายในมือให้ดู...

“ก็ขึ้นมาซี” ผมกวักมือเรียก เจ้าเด็กนั้นก็แล่นตามมือขึ้นกุฏิตรงไปหาหลวงตา...

หลวงตารับจดหมายฉงนสนเท่ห์ใจ จึงซักเจ้าเด็ก “ใครฝากเอ็งมาวะอ้ายหนู”

“ผู้หญิงสาวๆ สวยด้วยครับ เขาจ้าง 5 บาท ให้เอามาให้หลวงตา”

“แล้วตัวเขาล่ะ ไปไหนเสีย” หลวงตาสังหรณ์ใจ...

“ขึ้นรถเมล์เที่ยวบ่ายเข้ากรุงเทพฯ ไปแล้วครับ”

หลวงตารีบฉีกจดหมายออกอ่านรวดเร็ว ข้อความมีอยู่ไม่เท่าไรแต่หลวงตาอ่านทวนไปทวนมาหลายตลบ นิ่งอั้นนึกไม่ถึง...

“จดหมายแม่บุนนากใช่ไหมครับหลวงตา” ครูก้อนเดาเรื่อง...

หลวงตาพยักหน้าส่งจดหมายให้ครูอ่านเอาเอง ผมก็เร่เข้าไปชะเง้ออ่านอยากรู้เรื่อง พออ่านรู้ความในจดหมาย หูผมอื้อไปหมดเจ้าหนูบุญเกื้อร้องจ้าอยู่ข้างหูก็ยังไม่ได้ยิน เพราะข้อความในจดหมายมันดังก้องอยู่ในสมองอึงคนึงไปหมด...

กราบเท้าหลวงตาที่เคารพ เจ้าค่ะ

หนูสิ้นคิดสิ้นปัญญาที่จะหอบหิ้วเอาลูกบุญเกื้อไปด้วยจริงๆมิฉะนั้นก็คงจะไปไม่รอด หนูจึงขอยกลูกบุญเกื้อให้หลวงตา ถ้าแม้หลวงตาไม่อาจเลี้ยงดูแกได้ จะยกให้ใครก็สุดแต่หลวงตาจะเห็นสมควร...

จาก บุนนาก ผู้มีกรรม

...อ้าว...เป็นอย่างงี้ไปได้...

...พบกันใหม่กับบทความ + บทเรียน + นิยายโหราศาสตร์ ในลำดับต่อไปกันนะครับ...

เขียนโดย ธนเทพ ปฎิพิมพาคม ที่ 01:30