ยูคาลิปตัส เป็นไม้เศรษฐกิจที่นิยมปลูกในประเทศไทย เนื่องจากยูคาลิปตัสเป็นไม้ที่มีการเจริญเติบโตเร็ว ปลูกและดูแลรักษาง่าย ทนต่อสภาพแห้งแล้ง ลำต้นเปลาตรง เนื้อไม้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งใช้ทำเสา ทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ก่อสร้าง ทำฟืนเผาถ่าน ทำเยื่อกระดาษ ทำชิ้นไม้สับเพื่อผลิตไม้อัดแผ่น หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าได้ ยูคาลิปตัสเป็นไม้ที่มีรอบการตัดฟันสั้นกว่าไม้สัก และไม้ยางพารา คือเมื่อไม้ยูคาลิปตัสมีอายุประมาณ 3-5 ปี ก็สามารถโค่นล้มนำมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว นอกจากนี้ยังสามารถแตกหน่อได้อีก 2-3 รอบ ช่วยให้เกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อต้นกล้าใหม่ แต่ด้วยที่มีรอบการตัดฟันสั้นนั้นทำให้ไม้ยูคาลิปตัสมีการปลูกใหม่บ่อยกว่าไม้ชนิดอื่น
การปลูกยูคาลิปตัสในประเทศไทยยังนิยมใช้แรงงานคนเป็นหลัก หลังจากไถพรวนเตรียมพื้นที่ปลูกแล้วจะวัดระยะปลูกโดยการดึงเชือกเพื่อหมายตำแหน่งขุดหลุมปลูก ขุดหลุมโดยใช้จอบขุดให้มีขนาดของหลุมประมาณ 25x25x25 เซนติเมตร บางครั้งขนาดหลุมปลูกอาจจะใหญ่ถึง 50x50x50 เซนติเมตร อาจรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือสารอุ้มน้ำ (โพลิเมอร์) เพื่อช่วยให้ต้นกล้ายูคาลิปตัสมีอัตราการรอดตายสูง และเจริญเติบโตได้ดี หลังจากนั้นนำต้นกล้าวางในหลุมปลูก กลบดิน และรดน้ำ คนงานจะขนต้นกล้ายูคาลิปตัสวางกระจายในพื้นที่ปลูก ในขั้นตอนการปลูกนี้จะใช้แรงงานคนประมาณ 4-5 คน ซึ่งในหนึ่งวันอาจจะปลูกได้ประมาณ 200-400 ต้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการปลูก สภาพพื้นที่ และสภาพอากาศ การทำสวนป่าเศรษฐกิจไม้ยูคาลิปตัสบางแปลงอาจมีขนาดพื้นที่ใหญ่ ต้องใช้เวลาในการปลูกเพิ่มมากขึ้น และเสียค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และอาจพบปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ในอนาคต
ในบางประเทศที่มีปัญหาด้านแรงงาน ทั้งขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างแรงงานที่สูง ทำให้มีการประดิษฐ์อุปกรณ์หรือเครื่องมือเพื่อนำมาใช้ทุ่นแรง หรือทดแทนแรงงานคน การปลูกสวนป่าไม้เศรษฐกิจก็เช่นกัน ขอยก 2 ตัวอย่างเครื่องมือปลูกต้นไม้ที่ช่วยทุ่นแรงมนุษย์ที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ
1. เครื่องปลูกแบบท่อ จุดเด่นของเครื่องนี้คือคนปลูกไม่ต้องก้มลงไปขุดและกลบดิน ใช้เหล็กปลายแหลมของท่อกดลงไปในดินเพื่อให้เกิดหลุม และใส่ต้นกล้าจากปลายท่อด้านบน ต้นกล้าจะไหลลงหลุม เมื่อยกท่อขึ้นดินจะกลบโคนต้นพอดี คนปลูกจะใช้เท้าเหยียบดินบริเวณรอบต้นให้แน่นอีกครั้ง เป็นเครื่องมือที่มีหลักการทำงานง่ายๆ ไม่ต้องใช้เครื่องจักรกลอะไรพิเศษ ออกแบบโดยชาวฟินแลนด์ นิยมใช้ปลูกต้นสน และใช้คู่กับกะบะใส่ต้นกล้าแบบสะพาย สามารถใช้ปลูกต้นกล้ายูคาลิปตัสได้
2. เครื่องปลูกแบบล้อเอียง อุปกณ์ต่อพ่วงด้านหลังของรถแทรกเตอร์ที่มีเหล็กคล้ายรูปตัว V อยู่ด้านล่างเพื่อลากดินให้เกิดร่องสำหรับวางต้นกล้า มีที่นั่งสำหรับคนหย่อนกล้าไม้ มีกะบะใส่ต้นกล้า และมีล้อเอียงอยู่ส่วนท้ายช่วยกลบดินหลังวางต้นกล้าแล้ว เครื่องปลูกนี้มีการประยุกต์และดัดแปลงที่หลากหลาย ที่ประเทศบราซิลก็มีใช้ในการปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสด้วยเช่นกัน
โดยเครื่องปลูกทั้งสองแบบมีการนำมาใช้ในการปลูกต้นไม้ในสวนป่าเศรษฐกิจในหลายๆประเทศ สำหรับในประเทศไทยเรานั้นมีนิสิตระดับปริญญาโทของภาควิชาวิศวกรรมป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือนางสาวปัทมา แสงวิศิษฏ์ภิรมย์ สนใจและศึกษาวิจัยเพื่อออกแบบเครื่องปลูกยูคาลิปตัสที่เหมาะสำหรับสวนป่าเศรษฐกิจของประเทศไทย จากผลการศึกษาได้ออกแบบเครื่องปลูกยูคาลิปตัสมา 2 แบบ คือ Euca-Planter No.1 และ Euca-Planter No.2 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ต่อพ่วงกับรถแทรกเตอร์ที่มีขนาด 49 แรงม้าขึ้นไป หลักการทำงานทั่วไปที่เหมือนกันของเครื่องปลูกทั้ง 2 แบบนี้คือการทำให้เกิดหลุม 2 หลุมในเวลาเดียวกัน โดยมีแกนที่สามารถปรับระยะห่างของหลุมได้ ซึ่งเมื่อรถแทรกเตอร์วิ่งหนึ่งรอบจะปลูกต้นกล้ายูคาลิปตัสได้ถึงสองแถว มีกะบะใส่ต้นกล้าที่ควบคุมด้วยระบบไฮดรอลิกดันต้นกล้าลงหลุมทีละหนึ่งต้น การวางตัวของกะบะใส่ต้นกล้าจะเอียงเล็กน้อยเพื่อช่วยในการลำเลียงต้นกล้าให้ไหลลงมายังตำแหน่งดันกล้า
สำหรับเครื่องปลูกยูคาลิปตัส Euca-Planter No.1 อุปกรณ์ที่ทำให้เกิดหลุมคือ พลั่ว ที่ควบคุมด้วยระบบไฮดรอลิกกดพลั่วลงดินและตักดินขึ้นจะเกิดหลุมขนาด 20x20x20 เซนติเมตร เมื่อดันต้นกล้าลงหลุมแล้วจะกลบโดยให้พลั่วข้างซ้ายเคลื่อนที่ลง เพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างพลั่วทั้งสองจะทำให้ดินที่ตักขึ้นไว้ในขั้นตอนการขุด ไหลลงไปกลบโคนต้นกล้าพอดี ส่วนเครื่องปลูกยูคาลิปตัส Euca-Planter No.2 ทำให้เกิดหลุมด้วยการเจาะ หัวเจาะที่ควบคุมด้วยระบบไฮดรอลิกจะกดลงไปในดินจนสุด เมื่อหัวเจาะเคลื่อนที่ขึ้นจะเกิดหลุมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร ลึก 20 เซนติเมตร เมื่อดันต้นกล้าลงหลุมแล้ว เครื่องปลูกนี้จะกลบดินโดยอาศัยแผ่นเหล็กขนาดเล็กที่ติดกับโครงหัวเจาะด้านท้าย เมื่อรถแทรกเตอร์เคลื่อนที่แผ่นเหล็กจะดันดินลงหลุม ซึ่งแผ่นเหล็กนี้ออกแบบไว้ไม่ให้ทำความเสียหายกับต้นกล้า จากการทดสอบผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์เครื่องปลูกทั้งสองใช้เวลาในการปลูกไม่ถึงหนึ่งนาทีต่อต้น นอกจากนี้นิสิตได้ศึกษาต้นทุนในการผลิตสำหรับเครื่องปลูกทั้งสองที่ไม่รวมราคารถแทรกเตอร์ประมาณ 50,000 กว่าบาทต่อเครื่อง แต่ยังไม่ได้มีการผลิตขึ้นจริงเนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณของผู้ออกแบบ หากท่านผู้อ่านสนใจต้องการตัวแบบไปลองผลิตใช้สามารถติดต่อนางสาวปัทมา แสงวิศิษฏ์ภิรมย์ ภาควิชาวิศวกรรมป่าไม้ที่ 02-579-0169
กล่าวโดยสรุป อนาคตเครื่องมือหรืออุปกรณ์อัตโนมัติจะมีการพัฒนาเพื่อให้ใช้งานได้ในหลากหลายด้านรวมถึงงานปลูกสร้างสวนป่าเศรษฐกิจ ต้นทุนในการผลิตจะลงลดหากมีการแข่งขันกันมากขึ้น ผู้ใช้หรือเจ้าของสวนป่าจะมีตัวเลือกเพิ่มขึ้น เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูก และส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนงาน เป็นแนวโน้มการทำงานที่สนับสนุนนโยบาลประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลยุคปัจจุบัน
บทความใน นิตยสารไม่ลองไม่รู้ ปีที่ 18 ฉบับที่ 209 ประจำเดือน ธันวาคม 2561