ซุงไม้สัก ที่คณะวนศาสตร์เป็นซุงไม้สักขนาดใหญ่ มีความสำคัญและเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของคณะวนศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ภายนอกอาคาร อาจเสื่อมโทรมผุพังเนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการสร้างแบบจำลองสามมิติโดยการสำรวจด้วยเครื่องสแกนเลเซอร์ภาคพื้นดินสามารถจัดเก็บข้อมูล ณ ปัจจุบันในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถวัดขนาด และสร้างเป็นข้อมูลในโลกเสมือน งานวิจัยนี้จึงได้ประยุกต์เทคโนโลยีดังกล่าวจัดทำแบบจำลองสามมิติของซุงไม้สักและประเมินมิติต่างๆ ของซุงไม้สักจากข้อมูลที่ได้เปรียบเทียบกับการประเมินแบบดั้งเดิม
ผลการศึกษาพบว่าจากข้อมูลของกลุ่มของข้อมูลจุดซุงไม้สักมีพูพอน ไม่กลม มีความโตที่ระดับความสูงเพียงอกจากการวัดด้วยโปรแกรม Faro scene เท่ากับ 1.726 เมตร สูงจากพื้นดินเท่ากับ 5.267 เมตร ปริมาตรซุงไม้สักส่วนเหนือพื้นดินจากการประมาณด้วยสมการ Newton มีค่าเท่ากับ 9.764 ลูกบาศก์เมตร ข้อมูลที่ได้จากการศึกษานี้้จะเป็นประโยชน์ที่ใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของซุงไม้สักที่อาจมีการผุพังไปตามการเวลา และเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการวัดขนาดของไม้ยืนต้นได้
#TLS #PointCloud #TreeDimension #TerrestrialLaserScanner #สามมิติ #เทคโนโลยี
ผู้เขียน : ผศ.ดร.ลัดดาวรรณ เหรียญตระกูล ภาควิชาวิศวกรรมป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (21 April 2023)