เลื่อยยนต์ เป็นเครื่องมือสำคัญของคนล้มไม้ รุกขกร และคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ไม้ เป็นเครื่องทุ่นแรงและช่วยให้งานไม้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากประโยชน์ที่ได้รับจากเลื่อยยนต์แล้วหากผู้ใช้มีความประมาทหรือใช้ไม่ถูกวิธีและไม่มีอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลแล้วก็อาจได้รับอันตรายจากเลื่อยยนต์ได้
กางเกงป้องกันเลื่อยยนต์ (Chainsaw Chaps) เป็นอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล หรือ Personal protective equipment (PPE) สำหรับป้องกันส่วนขาของผู้ใช้เลื่อยยนต์
ลักษณะของกางเกงป้องกันเลื่อยยนต์โดยทั่วไปเป็นกางเกงที่มีเพียงส่วนด้านหน้า (ไม่มีส่วนก้น) ใช้สวมทับกางเกงปกติเพื่อป้องกันส่วนขา สามารถปรับขนาดให้เหมาะกับขนาดขาแต่ละคนได้ด้วยสายรัด ส่วนใหญ่เป็นแบบเต็มตัว คือรัดตั้งแต่เอวลงไปถึงเท้า แต่มีบางรุ่นมีความยาวตั้งแต่หัวเข่าถึงเท้า ซึ่งช่วงหน้าแข้งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงในการโดนใบเลื่อยบาดมากที่สุดจากการล้มไม้
กางเกงป้องกันเลื่อยยนต์ในประเทศไทยยังไม่มีการผลิตใช้เอง ที่มีขายคือนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาในไทยจากที่ค้นในinternet แบบเต็มตัวตัวละ 8,000 บาท ซึ่งแพงมาก แพงกว่าราคาเลื่อยยนต์บางรุ่น ส่วนประกอบภายในของกางเกงมักจะไม่ค่อยเปิดเผยโดยละเอียดอาจจะเป็นข้อมูลทางการค้า ดังนั้นเราจึงเสียสละกางเกงป้องกันเลื่อยยนต์หนึ่งตัว เพื่อนำมาศึกษาวัสดุภายในกัน…
ตัวอย่างกางเกงป้องกันเลื่อยยนต์ ที่ใช้ในการศึกษานี้คือ
Husqvarna 531309565 Chain Saw Apron Chaps
เราทดลองด้วยการจับเวลาที่ใช้ในการหยุดทำงานของเลื่อยยนต์เมื่อตัดลงที่กางเกง โดยพันกางเกงไว้กับท่อนไม้และวางพาดกับโครงเหล็กที่ออกแบบไว้เพื่อป้องกันอันตรายกับผู้ทดสอบ เร่งเครื่องเลื่อยยนต์และปล่อยเลื่อยยนต์ลงด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก (ไม่ได้ออกแรงกดที่เลื่อย)
เส้นใยของวัสดุในกางเกงจะพันโซ่เลื่อยจนเครื่องหยุดการทำงาน จากการทดลองสามารถหยุดโซ่เลื่อยได้ภายใน 2 วินาที โดยฟันเลื่อยไม่ลึกถึงท่อนไม้
วัสดุภายในกางเกงประกอบด้วย
ชั้นนอกสุด : ผ้ากันน้ำ
ชั้นที่ 1 : เส้นใยสังเคราะห์ (Kevlar) แบบหนา
ชั้นที่ 2–5 : เส้นใยสังเคราะห์ (Kevlar) แบบบาง
กางเกงเลื่อยยนต์มี สิทธิบัตร สามารถค้นหาได้จาก US 8,745,765 B1
อนาคตเราหวังว่าจะมีกางเกงป้องกันเลื่อยยนต์ที่เราผลิดเองได้ในราคาที่น่าคบหาสำหรับคนไทย.