โรคที่มากับน้ำท่วม

6 โรคที่ควรระวังช่วงน้ำท่วม

ส่งท้ายฤดูฝนด้วยภาวะน้ำท่วมที่หลายพื้นที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย และการคมนาคมไปตาม ๆ กัน

แต่ นอกจากเรื่องที่อยู่อาศัยและการคมนาคมที่ลำบากแล้ว สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับภาวะน้ำท่วม เห็นจะเป็นเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่มากับน้ำ ซึ่งมันส่งผลต่อสุขภาพของคนเราได้อย่างมากมาย กระปุกดอทคอมวันนี้ จึงขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับโรคที่มากับน้ำท่วมมาฝากกัน เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้ระมัดระวัง และปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม 6 โรค ดังนี้

1. โรคฉี่หนู ฉี่หนูเป็นโรคระบาดในคนที่ติดต่อมาจากสัตว์ มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา (Leptospira sp.) ที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ ตั้งแต่หนู วัว ควาย ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวเลยทีเดียว โดยคนจะสามารถรับเชื้อฉี่หนูนี้เข้าไปทางบาดแผล หรือผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงเยื่อเมือกอย่างตาและปากอีกด้วย

อาการของโรคฉี่หนู มี 2 แบบ คือแบบไม่รุนแรงจะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา ปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยรู้ตัวและรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ กับอาการรุนแรงที่จะทำให้ตาอักเสบแดง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ และเมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในสมองจะทำให้เกิดอาการเพ้อ ไม่รู้สึกตัว และยิ่งไปกว่านั้นหากติดเชื้อทั่วร่างกายจะทำให้เลือดออกในร่างกายจนเสีย ชีวิต

การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู หลีกเลี่ยงการเดินอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง การเล่นน้ำ โดยเฉพาะในเด็กที่มักจะสนุกสนานไปกับการย่ำน้ำหรือเล่นน้ำในช่วงน้ำท่วม แต่หากจำเป็นต้องเดินผ่านบริเวณน้ำท่วมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ให้รีบเดิน อย่าแช่น้ำจนผิวหนังเปื่อยเพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และควรใส่รองเท้าบูททุกครั้งเมื่อเดินลุยน้ำ เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดบาดแผลที่เท้า และป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลที่เท้าหรือน่อง ทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์ที่หนีน้ำกัดได้ ส่วน ในผู้ที่เริ่มมีอาการปวด หัว ตัวร้อน ให้รีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน อย่ารอให้อาการหนักเพราะอาจจะรักษาไม่หายและเสียชีวิตก็เป็นได้

2. อหิวาตกโรค เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholerae ที่แพร่กระจายอยู่ในน้ำดื่มและอาหาร โดยมีแมลงวันเป็นพาหะนำโรค และแน่นอนว่าโรคนี้แพร่ระบาดได้โดยการกินและดื่มอาหารที่มีแมลงวันตอมและมี เชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ รวมทั้งอาหารสุข ๆ ดิบ ๆ ด้วย

อาการของโรค ผู้ป่วยจะอุจจาระเหลวเป็นน้ำวันละหลายครั้ง แต่ไม่เกินวันละ 1 ลิตร อาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนได้ ซึ่งถือว่าเป็นอาการในระยะแรกสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 1-5 วัน แต่หากติดเชื้อขั้นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเดิน อุจจาระมากและมีลักษณะอุจจาระเป็นน้ำซาวข้าว มีกลิ่นเหม็นคาว และอุจจาระได้โดยไม่ปวดท้องและไม่รู้สึกตัว สามารถหายได้ภายใน 2-6 วันหากได้รับเกลือแร่และน้ำชดเชยน้ำที่เสียไป แต่หากได้รับไม่พอดีกับที่เสียไปแล้ว ผู้ป่วยก็จะมีอาการหมดแรง หน้ามืด อาจช็อคถึงเสียชีวิตได้

การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันอหิวาตกโรค ควรรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก รวมถึงรักษาสุขภาพอนามัยด้วยการล้างมือ และภาชนะใส่อาหารให้สะอาดทุกครั้ง แต่ไม่ควรนำน้ำท่วมมาล้าง หรือทำความสะอาดภาชนะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค หรือหากติดเชื้ออหิวาแล้วก็ควรพบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่ง ครัด

3. ไข้ไทฟอยด์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi ที่อยู่ในน้ำและอาหารเช่นเดียวกับอหิวาตกโรค แพร่ระบาดโดยการดื่มน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค

อาการของโรค เมื่อได้รับเชื้อนี้เข้าไปจะไม่แสดงอาการทันที แต่จะแสดงอาการหลังจากรับเชื้อประมาณ 1 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว เบื่ออาหาร มีไข้สูงมาก ท้องร่วง บางรายมีผื่นขึ้นตามตัว แน่นท้อง สามารถหายได้เองภายใน 1 เดือน แต่ผู้ป่วยควรจะพบแพทย์หลังจากมีอาการแล้ว เพราะอาจจะเสียชีวิตจากภาวะปอดบวมได้

การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันไข้ไทฟอยด์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเชื้อโรคทุกชนิด และนั่นหมายถึงว่า ให้ทานอาหารที่สะอาด อยู่ในภาชนะที่สะอาด รวมถึงล้างมือให้สะอาดก่อนทานทุกครั้ง และควรจะหลีกเลี่ยงอาหารจากร้านค้าข้างถนนที่อยู่ในบริเวณที่ไม่สะอาด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรืออีกทางหนึ่งคือฉีดวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์

4. โรคตับอักเสบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบของเซลล์ตับ ทำให้ตับทำงานผิดปกติ จนทำให้มีอาการเจ็บป่วยได้ และไวรัสตับอักเสบที่มาจากภาวะน้ำท่วม ก็คือไวรัสตับอักเสบชนิดเอ ที่มีสาเหตุมาจากการทานอาหารที่ไม่สะอาด ไม่ทำให้สุก

อาการของโรค เมื่อแสดงอาการแล้วผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ปวดตัวแถวชายโครงขวา และมีปัสสาวะเป็นสีชาแก่ เริ่มมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองในสัปดาห์แรก และจะหายเป็นปกติภายใน 2-4 สัปดาห์

การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคตับอักเสบ คือ ทานอาหารที่สุกและสะอาด ไม่ใช้แก้วน้ำและช้อนร่วมกับผู้อื่น

5. ตาแดง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีบ ไวรัส Chlamydia trachomatis และ Bacterial Conjunctivitis อาจมาจากภูมิแพ้ หรือสัมผัสสารที่เป็นพิษต่อตา มักเกิดจากการเอามือที่สกปรกไปขยี้หรือสัมผัสดวงตา รวมถึงใช้ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าเช็ดหน้าไปสัมผัสกับดวงตา

อาการของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการคันตาจนหลายรายต้องขยี้บ่อย หรือบางคนแค่เคืองตาเท่านั้น และมีขี้ตามากกว่าปกติ มีลักษณะเป็นหนองและมีสะเก็ดปิดตาตอนเช้า และมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ตามัว หรืออาจปวดตา

การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคตาแดง ควรล้างมือให้สะอาด ไม่ใช่เครื่องสำอาง ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับคนอื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาในทุกกรณี และอย่าใช้ยาหยอดตาร่วมกับคนอื่น หากเริ่มเคืองตาหรือคันตา ให้รีบปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์

6. ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในเด็ก มักระบาดในฤดูฝน ที่มีการแพร่พันธุ์ของยุงลาย

อาการของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 2-7 วัน เบื่ออาหาร อาเจียนออกมามีสีน้ำตาลปนอยู่ ปวดกล้ามเนื้อ ตัวแดง หรืออาจมีผื่นหรือจุดเลือดตามผิวหนัง หากเข้าสู่ภาวะวิกฤตผู้ป่วยจะไข้ลด มือเท้าเย็น ตัวเย็น ชีพจรเต้นเร็ว อาเจียนมาก ปัสสาวะน้อย ทำให้เข้าสู่ภาวะช็อคได้ หากมีอาการควรรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคตาแดง พยายามอย่าให้ยุงกัดโดยทากันยุงเป็นวิธีที่ดีที่สุด และอย่าปล่อยให้ภาชนะต่าง ๆ ภายในบ้านมีน้ำขังนานเพราะจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หรือหากเป็นไข้เลือดออกแล้วไม่ควรให้ยุงกัดเพราะจะทำให้แพร่เชื้อไปสู่คน ใกล้ชิดได้ผ่านยุง

และ นั่นก็คือ 6 โรค ที่ระบาดเยอะในช่วงน้ำท่วมและฤดูฝน ดังนั้น ทุก ๆ คนที่ประสบภาวะน้ำท่วม รวมถึงคนทั่วไปก็ควรที่จะระวังการระบาดของโรคเหล่านี้ เพราะไม่ว่าจะอย่างไร การป้องกันเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการรักษาเมื่อเป็นโรคแล้วเสมอ เพราะฉะนั้น อย่าลืมใส่ใจสุขภาพอนามัยและพิถีพิถันกับการใช้ชีวิตในช่วงน้ำท่วมและช่วง ฤดูฝนมากขึ้นกันสักนิดนะคะ

วิธีป้องกันตัวเองจาก ฮ่องกงฟุต เชื้อราที่เท้า

หน้าฝนทีไร จะย่างเท้าไปทางไหนก็มีแต่น้ำขังเฉอะแฉะไปหมด แถมบางแห่งยังมีน้ำท่วมขังสูง ๆ จะเดินแต่ละทีก็แสนจะลำบาก และที่สำคัญ น้ำที่ท่วมขังก็เต็มไปด้วยเชื้อโรคและสิ่งสกปรก ย่อมทำให้เรามีปัญหา "ฮ่องกงฟุต" หรือ "น้ำกัดเท้า" ตามมาอย่างแน่นอน แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะวันนี้กระปุกดอทคอม มีข้อมูลดี ๆ ในการป้องกันและรักษา โรคฮ่องกงฟุต หรือ น้ำกัดเท้า มาบอกต่อกันค่ะ

สำหรับ ฮ่องกงฟุต หรือ น้ำกัดเท้า หรือเชื้อราที่เท้าเป็นโรคที่เกิดจากการย่ำน้ำ หรือแช่เท้าในที่น้ำท่วมขัง และมีเชื้อโรค สิ่งปฏิกูลปะปนอยู่เป็นเวลานาน แล้วไม่ได้ใส่ใจดูแลรักษาความสะอาดของเท้าให้ดี ทำให้เท้าเกิดความอับชื้น จนเชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดี

อาการของผู้ที่ เป็น ฮ่องกงฟุต หรือ น้ำกัดเท้า จะเกิดแผลเปื่อย เป็นผื่น ทำให้เท้าเปื่อย มีอาการคันที่ง่ามนิ้วเท้า โดยส่วนมากจะเกิดระหว่างนิ้วเท้าที่ 3 กับ 4 และนิ้วเท้าที่ 4 กับ 5 เริ่มแรกจะเป็นขุยขาว ๆ ยุ่ย ๆ ก่อน จากนั้นจะลอกเป็นแผ่น หรือตกสะเก็ดแล้วแตกเป็นร่อง ถ้าลอกขุยขาว ๆ ออก จะเห็นผิวหนังข้างใต้มีสีแดง และมีน้ำเหลืองซึมออกมา แต่หากเป็นมาก หรือเท้ามีแผลอยู่แล้วก่อนแช่ในน้ำสกปรก จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น เป็นหนอง เป็นฝี มีอาการเจ็บปวดอย่างมาก หรือเป็นไข้ได้เลย ซึ่งอาการอาจจะลุกลามไปยังเล็บเท้า ฝ่าเท้า ได้ด้วย หากไม่ได้รับการรักษา

ทั้งนี้ อาการคัน มีแผลที่ง่ามนิ้วเท้า อาจมีสาเหตุมาจากโรคภูมิแพ้ได้ แต่ต่างกันตรงที่ หากเกิดแผลเปื่อยคันจากโรคภูมิแพ้ จะเกิดเฉพาะบริเวณง่ามนิ้วเท้าเท่านั้น ไม่ลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่น

นอกจากนี้ ในนักกีฬาที่ฝึกซ้อมอย่างหนัก หรือผู้ที่ใส่รองเท้าอบทั้งวัน จนมีเหงื่อออกภายใต้ถุงเท้า-รองเท้าที่สวมใส่ ก็มีโอกาสเป็นติดเชื้อราที่เท้าได้เช่นกัน ดังนั้น จึงมีการเรียกชื่อโรคนี้อีกชื่อว่า "โรคเท้านักกีฬา" หรือ "แอทลีตฟุต" (Athlete’s foot) รวมทั้งผู้ที่นิยมอาบน้ำในห้องอาบน้ำรวม ก็เสี่ยงที่จะเป็นเชื้อราที่เท้าด้วย

การรักษาโรคฮ่องกงฟุต หรือน้ำกัดเท้า

เชื้อราที่เท้ายากที่จะรักษาให้หายขาดได้ แต่หากมีอาการขึ้นมา ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยแพทย์จะขูดเอาผิวหนังในบริเวณที่เป็นโรคไปพิสูจน์ หากพบว่าเป็น ฮ่องกงฟุต จะจ่ายยาทาฆ่าเชื้อรามาให้ อาจเป็นรูปแบบครีม ขี้ผึ้ง หรือยาน้ำ หากเป็นมากทายาแล้วไม่หาย แพทย์จะจ่ายยารับประทานปฏิชีวนะฆ่าเชื้อรามาให้ ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นเชื้อราที่เท้าต้องทายาอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ หรือรับประทานยาให้ครบกำหนดตามแพทย์สั่ง และปฏิบัติควบคู่ไปกับการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นอีก คือหมั่นรักษาความสะอาดของเท้า ไม่ให้เท้าเกิดความอับชื้นนั่นเอง

วิธีการดูแลตัวเอง จากโรคฮ่องกงฟุต หรือน้ำกัดเท้า

หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรใส่รองเท้าบูทยางที่กันน้ำ แต่ถ้าหากน้ำล้นเข้าไปในรองเท้าบูท ก็ควรถอดแล้วเทน้ำทิ้งเป็นครั้งคราว เพื่อไม่ให้มีน้ำแช่ขังในรองเท้าตลอดเวลา

หลังเดินย่ำน้ำควรล้างเท้าด้วยน้ำสบู่ แล้วเช็ดเท้าให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้า และใช้แป้งฝุ่น โรยที่เท้าเพื่อให้เท้าแห้งสนิท

หลังอาบน้ำทุกครั้ง ควรเช็ดง่ามนิ้วเท้าให้แห้งเสมอ

หากมีบาดแผลที่เท้า ไม่ควรลงไปย่ำน้ำสกปรก แต่หากเกิดบาดแผลขึ้นในช่วงเดินลุยน้ำ ให้เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ หากมีแผลอักเสบ ปวด บวม มีอาการไข้ร่วมด้วย ให้ทานยาแก้อักเสบติดต่อกัน 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหายดี

ระวังระมัดสัตว์ที่มากับน้ำกัดต่อย รวมทั้งของแหลมมีคมตำเท้า เพราะจะทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อโรคต่าง ๆ รวมทั้งเชื้อบาดทะยักตามมาได้

ไม่ควรสวมถุงเท้าที่หนาและคับจนเกินไป เช่น ถุงเท้าใยสังเคราะห์ หรือไนลอน ควรเลือกถุงเท้าที่ระบายความอับชื้นได้ดีอย่างถุงเท้าผ้า และถุงเท้าที่ทำจากขนสัตว์ที่ระบายอากาศได้ดีกว่า

ควรมีรองเท้า 2 คู่สลับกัน ไม่ควรใส่รองเท้าคู่เดิมทุกวัน เพราะรองเท้าที่อับชื้นจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคอย่างดี

ไม่ควรซื้อยารักษาเชื้อรามารับประทานเอง หากสงสัยว่า เท้าจะเป็นเชื้อรา เพราะยาบางชนิดอาจทำให้แพ้ และมีอาการระคายเคืองมากขึ้น ควรมาพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อวินิจฉัยก่อนว่าเป็นเชื้อราจริงหรือไม่

กรมการแพทย์แนะวิธีใส่ใจดูแลน้ำกัดเท้า

กรมการแพทย์แนะวิธีใส่ใจและดูแลน้ำกัดเท้า ปัญหาสำคัญที่มากับน้ำท่วม (ไอเอ็นเอ็น)

กรมการแพทย์ห่วงใยสุขภาพประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม พบน้ำกัดเท้าเป็นปัญหาสำคัญ ที่ไม่ควรมองข้าม โดยเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลและป้องกันอย่างถูกวิธี

นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า หลายพื้นที่ในประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัย ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวต้องเผชิญกับโรคภัยต่าง ๆ เนื่องจากกระแสน้ำจะพัดพาสิ่งสกปรก เชื้อโรค ของเสีย และสารเคมี กระจาย เป็นวงกว้าง ซึ่งปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินย่ำน้ำ หรือแช่อยู่ในน้ำนาน ๆ ก็คือ น้ำกัดเท้า ที่เป็นจุดอ่อนทำให้เชื้อโรคที่มากับน้ำเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

อาการน้ำกัดเท้าแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่

ระดับที่ 1 โรคน้ำกัดเท้าในระยะนี้ ยังไม่มีเชื้อรา เป็นเพียงอาการระคายเคืองจากความเปียกชื้น และสิ่งสกปรกในน้ำ ทำให้เท้าเปื่อย ลอก แดง คัน และแสบ โดยเฉพาะตามง่ามนิ้วเท้า และขอบเล็บ ซึ่งผิวหนังอักเสบในระดับนี้ยังไม่มีเชื้อโรคใด ๆ เข้าไปในบาดแผลได้

การรักษาระดับนี้ ควรใช้ยาทาที่ผสมสเตียรอยด์ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา เพราะยาบางชนิดจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและแสบผิวหนังมากขึ้น และเมื่อสัมผัสกับสิ่งสกปรกที่อยู่ในน้ำจะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย

สำหรับระดับที่ 2 ผู้ ป่วยจะมีแผลเล็ก ๆ ที่เกิดจากผิวหนังอักเสบและมีเชื้อโรคเข้าไปทางบาดแผล โดยมีอาการบวมแดง เป็นหนองและปวด ควรให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาตามอาการของผู้ป่วย อนึ่งหากปล่อยให้มีอาการโรคน้ำกัดเท้าอยู่นาน ผิวที่ลอกเปื่อยและชื้น จะติดเชื้อราทำให้เป็นโรคเชื้อราที่ซอกเท้ามีอาการบวมแดง มีขุยขาวเปียก มีกลิ่นเหม็น และถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นเรื้อรัง เชื้อราจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในผิวหนังรักษาหายยาก ถึงแม้จะใช้ยาทาจนอาการดีขึ้นดูเหมือนหายดีแล้ว แต่มักจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่เมื่อเท้าอับชื้น ก็จะเกิดเชื้อราลุกลาม ขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดอาการเป็น ๆ หาย ๆ เป็นประจำ ไม่หายขาด

สำหรับ คำแนะนำในการดูแลและป้องกันน้ำกัดเท้า ได้แก่ หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนาน ๆ หากจำเป็นต้องลุยน้ำให้สวมรองเท้าบูทกันน้ำ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันของมีคมที่อยู่ในน้ำทิ่มหรือตำเท้า รวมทั้งรีบทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ และเช็ดเท้าให้แห้งเมื่อเสร็จธุระนอกบ้าน ซึ่งการรักษาความสะอาดให้เท้าแห้งอยู่เสมอ เป็นหลักปฏิบัติสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคนี้ โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษที่บริเวณซอกนิ้วเท้า

นอก จากนี้ หากพบว่ามีบาดแผลตามผิวหนังไม่ควรสัมผัสน้ำสกปรก เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย หากเป็นไปได้ควรทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำสะอาด และด่างทับทิมวันละครั้ง อย่างไรก็ตามเมื่อมีแผล ผื่น ที่ผิวหนังควรพบแพทย์ โดยทายาหรือรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

โรคตาแดง อาการโรคตาแดง

ตาแดง โรคตาแดง

หน้า ฝนมาเยือนทีไร ก็มักจะนำหลาย ๆ โรคมาสู่คนเรา และหนึ่งในโรคสำคัญที่มักระบาดในฤดูฝน หรือในช่วงที่มีน้ำท่วม ก็คือ โรคตาแดง นั่นเอง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกกระเด็น เข้าตา และติดต่อแพร่ระบาดผ่านกันได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ๆ ที่มีนิสัยชอบเล่นน้ำ อาจจะลงไปเล่นน้ำที่ท่วมขัง ซึ่งแพทย์ก็ได้ประกาศเตือนให้ระวัง โรคตาแดง แล้วเช่นกัน

วันนี้กระปุกดอทคอมจึงนำข้อมูลของ โรคตาแดง มาฝากกัน เพื่อให้สามารถป้องกันและเตรียมรับมือกับ โรคตาแดง ได้ค่ะ

โรคตาแดง (Conjunctivitis) เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตาจากการติดเชื้อไวรัส เป็นกลุ่มอาดิโนไวรัส (Adenovirus) ที่แบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ได้มากกว่า 50 กลุ่ม และประมาณ 1 ใน 3 สามารถทำให้เกิด โรคตาแดง ได้ ทั้งนี้การติดเชื้อไวรัสตาแดงมีทั้งหมด 3 ชนิด คือ

1.ชนิดคออักเสบร่วมด้วย

2.ชนิดตาอักเสบไม่มาก

3.ชนิดตาอักเสบรุนแรง ซึ่งชนิดสุดท้ายเป็นชนิดที่มีความรุนแรงมากกว่าทุกชนิด

อาการติดเชื้อไวรัสตาแดงชนิดมีเลือดออก (Acute hemorrhagic Conjunctivitis) นี้ ระยะเวลาของโรคตาแดงนี้จะนาน 10-14 วัน

กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ โรคตาแดง

โรคตาแดง สามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน ผุ้ใหญ่ ตลอดจนผู้สูงอายุ และมักเกิดในโรงเรียน โรงพยาบาล ที่ทำงาน สถานเลี้ยงเด็ก ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก และ โรคตาแดง มักจะระบาดในช่วงฤดูฝน และระยะเวลาของโรคจะเป็นประมาณ 5-14 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนอย่างอื่น

การติดต่อ โรคตาแดง

โรคตาแดง สามารถติดต่อได้ง่าย ๆ โดย

1.การ คลุกคลีใกล้ชิด หรือสัมผัสกับผู้ป่วยโรคตาแดง ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการติดต่อ โรคตาแดง จากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วยที่ติดมากับนิ้วมือ และแพร่จากนิ้วมือมาติดที่ตาโดยตรง

2.ใช้เสื้อผ้า หรือสิ่งของร่วมกับผู้ป่วย

3.ฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา

4.แมงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา

5.ไม่รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะมือและใบหน้า

ทั้ง นี้ โรคตาแดง จะไม่ติดต่อทางการสบสายตา ทางอากาศ หรือรับประทานอาหารร่วมกัน และอาการต่าง ๆ จะเกิดได้ภายใน 1-2 วัน และระยะการติดต่อไปยังผู้อื่นประมาณ 14 วัน

อาการของ โรคตาแดง

ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัส จะมีอาการตาแดง เคืองตา ตาขาวจะมีสีแดงเรื่อ ๆ เพราะมีเลือดออกที่เยื่อบุตาขาว น้ำตาไหลเจ็บตา มักจะมีขี้ตามากร่วมด้วย โดยอาจเป็นเมือกใสหรือสีเหลืองอ่อน จากการติดเชื้อแบคทีเรียมาพร้อมกัน ต่อมน้ำเหลืองหลังหูมักเจ็บและบวม มักเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วจะติดต่อมายังตาอีกข้างได้ภายใน 1-2 วัน ถ้าไม่ระวังให้ดี ถ้าระมัดระวังไม่ให้น้ำตามข้างทาง ที่ติดเชื้อไวรัสมาถูกตาข้างที่ดีจะไม่เป็นตาแดง แต่ส่วนใหญ่มักเป็นไปอีกข้างอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้บางรายอาจมีตาดำอักเสบ ทำให้เคืองตามาก และมีแผลที่ตาดำชั่วคราวได้

โรคแทรกซ้อน โรคตาแดง

มีอาการเคืองตามาก ลืมตาไม่ค่อยได้ มักมีอาการกระจกตาอักเสบแทรกซ้อน ซึ่งจะดีขึ้นได้ประมาณ 3 สัปดาห์ หรือบางรายเป็น 1-2 เดือน ทำให้ตามัวพร่าอยู่เป็นเวลานาน

การรักษา โรคตาแดง

จะ รักษา โรคตาแดง ตามลักษณะอาการของโรค เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสนี้โดยตรง ถ้ามีขี้ตามากก็หยอดยาปฎิชีวนะ มีไข้ เจ็บคอ ก็ใช้ยาแก้อักเสบร่วมด้วยกับยาลดไข้ ยาลดปวด

ผู้ป่วย โรคตาแดง ต้องพยายามรักษาสุขภาพพักผ่อนมาก ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอาการตาแดงอย่างรุนแรง ไม่ควรทำงานดึกควรนอนให้เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องปิดตาไว้ตลอด ยกเว้นมีกระจกตาอักเสบ เคืองตามาก จึงปิดตาเป็นครั้งคราว และควรสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันแสง

ควรงดการใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกัน ทุกครั้งที่จับตาควรล้างมือให้สะอาด ผู้ป่วยไม่ควรลงเล่นน้ำในสระ จะแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปในน้ำได้

หากรักษาด้วยยาป้ายตา หรือยาหยอดตานานเกิน 7 วัน แล้วอาการยังไม่ทุเลา หรือมีอาการอื่นร่วม เช่น ปวดตามาก ตามัว ขี้ตาเป็นหนอง ลืมตาไม่ขึ้น มีไข้สูง ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะหากทิ้งไว้นานถึงขั้นตาบอดได้

การป้องกัน โรคตาแดง

1.หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ

2.ไม่คลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย

3.ถ้ามีฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที

4.อย่าปล่อยให้แมลงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา

5.หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ให้สะอาดอยู่เสมอ

6.ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน เพื่อป้องกันการกระจายของโรค

7. หลีกเลี่ยงการใช้มือแคะ แกะ เกาหน้าตา

ทั้งนี้หากมีอาการตาแดง ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดอาการตาแดง ซึ่งนอกจากจะเกิดจากเชื้อไวรัสแล้ว อาจเกิดจากสารเคมี หรือรังสี โดยเฉพาะรังสีอุลตราไวโอเลตได้

ข้อแนะนำ สำหรับผู้ป่วย โรคตาแดง

1.หากเป็น โรคตาแดง แล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยควรหยุดเรียน หรือหยุดงานรักษาตัวอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 3 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้ โรคตาแดง ลุกลามหรือติดต่อสู่คนอื่น

2.หากใช้กระดาษ หรือสำลีเช็ดขี้ตา เช็ดหน้าแล้ว ควรทิ้งในถังขยะที่มิดชิด

3.ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าเช็ดขี้ตา เพราะผ้าเช็ดหน้าจะเก็บสะสมเชื้อไว้และติดต่อไปยังผู้อื่นได้

4.ควรใส่แว่นกันแดดเพื่อลดการระคายเคืองแสง

5.ไม่ควรใช้ผ้าปิดตา เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น

6.งดใส่คอนแทกเลนส์จนกว่าตาจะหายอักเสบ

7.ควรพักผ่อนให้เต็มที่ และพักการใช้สายตา

8.หมั่นรักษาความสะอาด และต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่จับบริเวณใบหน้าและตา เนื่องจาก โรคตาแดง จะติดต่อโดยการสัมผัสมากที่สุด การล้างมือจะช่วยตัดการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างดี


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หมอชาวบ้านเรียบเรียงข้อมูลโดย กระปุกดอทคอม