บวชพระ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

คำว่า บวช มาจากภาษาบาลีว่า ปะวะชะ แปลว่า เว้น ได้แก่ งดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น คือ เว้นจากกิจบ้านการเรือนมาบำเพ็ญเพียรทำกิจพระศาสนา

การบวชนั้น ถ้าเป็น สามเณร เรียก บรรพชา ถ้าเป็น พระภิกษุ เรียก อุปสมบท

การบวช มี ๓ อย่าง คือ

    • พระพุทธเจ้าบวชให้ด้วยทรงพระดำรัสว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อพ้นจากทุกข์โดยชอบเถิด เรียก เอหิภิกขุอุปสัมปทา
    • พระสาวกบวชให้ ด้วยเปล่งวาจาว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ นี้เรียก ติสรณคมนูปสัมปทา แปลว่า อุปสมบทโดยการเข้าถึงพระรัตนตรัย
    • พระสงฆ์ ๕-๑๐ รูป รวมทั้งพระอุปัชฌาย์บวชให้ด้วยการสวดญัตติ ๑ ครั้ง อนุสาวนา ๓ ครั้ง รวมเป็น ๔ ครั้ง เรียก ญัตติจตุตถกรรมวาจา การบวชข้อที่ ๓ นี้ เป็นการบวชที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
    • คนที่ไม่อนุญาตให้บวช
        • คนมีอายุไม่ครบ ๒๐ ปี
        • คนทำความผิดหลบหนีอาญาแผ่นดิน
        • คนหลบหนีราชการ
        • คนมีคดีค้างในศาล
        • คนถูกตัดสินจำคุกฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ
        • คนถูกห้ามอุปสมบทโดยเด็ดขาด
        • คนมีโรคติดต่อ
        • คนมีอวัยวะพิการ ไร้ความสามารถจนไม่อาจปฏิบัติศาสนกิจได้สะดวก
      • คนที่ควรบวชให้คือ
        • คนมีอายุครบ ๒๐ ปี บริบูรณ์
        • มีอาชีพชอบและมีหลักฐานดี
        • มีความประพฤติดี ไม่ติดสิ่งเสพติด เช่น ฝิ่น กัญชาและสุรา เป็นต้น
        • มีความรู้อ่านออกเขียนได้
        • ปราศจากบรรพชาโทษ และมีรูปร่างสมบูรณ์ ไม่ชรา ทุพพลภาพ หรือพิกลพิการ

คำว่า นาค คนที่จะบวชเขาเรียกว่า นาค แปลว่า ผู้ประเสริฐ หรือ ผู้ไม่ทำบาป เหตุที่ได้ชื่อว่า นาค เรื่องเดิมมีอยู่ว่า พญานาคแปลงตัวเป็นมนุษย์มาบวช ในพระพุทธศาสนาเวลานอนหลับกลับเพศเป็นนาคตามเดิม วันหนึ่งพวกภิกษุไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสเรียกเธอมาถาม ได้ความว่าเป็นเรื่องจริง จึงสั่งให้สึกเสียพญานาคมีความอาลัยในเพศบวช จึงกราบทูลขอฝากชื่อนาคไว้ ถ้าผู้ใดจะเข้ามาบวชขอให้ เรียกชื่อว่า นาค คำว่านาค จึงเป็นชื่อเรียกผู้ที่จะบวชจนถึงทุกวันนี้

หมายเหตุ: ผู้ประสงค์จะบรรพชาอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร ต้องมาติดต่อพระอาจารย์เจ้าคณะต่าง ๆ ภายในวัดที่ตนเองรู้จักหรือถ้าไม่รู้จักให้ไปกราบขอบวชที่พระอุปัชฌาย์ (พระเทพสารเวที) คณะกุฏิโดยตรง ไม่รับสมัครบวชทางโทรศัทพ์หรือโทรสาร และต้องมีระยะเวลาบวชอย่างน้อย ๑๕ วัน

ข้อแนะนำภิกษุใหม่วัดบวรนิเวศวิหาร

หมวด 1 กิจวัตร

1. ออกบิณฑบาตในตอนเช้า ต้องให้ได้อรุณ คือ ให้สว่างเสียก่อนและควรออกบิณฑบาตทุกวัน การเดิน บิณฑบาตต้องอยู่ในลักษณะสำรวมและต้องห่มจีวรซ้อนสองผืน ( คลุมสองไหล่ )

2. ลงทำวัตรเช้า เวลา 08.00 น. ทุกวัน

2.1 สำหรับวันพระ ลงทำวัตรและฟังเทศน์ เวลา 09.00 น. และฟังเทศน์เวลา 15.20 น. พาดผ้าสังฆาฏิด้วย ( เข้าพระอุโบสถทางด้านข้าง ห้ามเข้าทางด้านหน้าในวันดังกล่าว )

2.2 ถ้าหากเป็นขึ้น-แรมวันพระแรม 14-15 ค่ำ ตามปักขคณนา ( ปฏิทินสำหรับบอกวันธรรมสวนะแบบหนึ่ง โดยถือการโคจรของดวงจันทร์เป็นสำคัญ ซึ่งพระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกาย ใช้วิธีนี้ ) ต้องลงฟังพระปาติโมกข์ ( วินัยสงฆ์ที่เป็นข้อสำคัญมี 227 ข้อ ได้มีพุทธานุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือนเรียกว่า สวดปาติโมกข์ ) ที่พระอุโบสถ เวลา 12.45 น พาดผ้าสังฆาฏิด้วย การลงฟังพระปาติโมกข์เป็นสิ่งสำคัญมาก ภิกษุทุกรูปต้องไม่ขาดการฟัง และต้องไม่รับนิมนต์ออกไปข้างนอกในวันดังกล่าว

2.3 วันพระและหลังวันพระ เวลา 19.00 น. ลงฟังการอบรมกรรมฐานที่ตึกส . ว . ธรรมนิเวศ ( โปรดไปให้ถึงก่อนเวลา ) ภิกษุจะเลือกลงทำวัดค่ำ หรือลงฟังการอบรมกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ และถ้าภิกษุรูปใดเลือกที่จะลงฟังการอบรมกรรมฐานทั้งสองวันดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเป็นการขาดลงทำวัตรค่ำ เมื่อมีการขานฉายาตามข้อ 3.

3. ลงทำวัตรค่ำ เวลา 20.00 น. ทุกวัน หลังจากทำวัตรค่ำแล้ว ต้องตั้งใจฟังฉายา ( ชื่อ ) ของตนให้ดีเวลาถูกเรียกฉายา ให้ขานรับว่า อาคะโต ภันเต แปลว่า มาครับ

3.1 ต้องมาทำวัตรค่ำให้ทันบทสวดพุทธคุณ หากมาช้ากว่านี้ อย่าขานรับเพราะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ในข้อ มุสาวาท

3.2 ข้อสำคัญ การลงทำวัตรเช้า-ค่ำ ถือเป็นกิจวัตรจำเป็นสำหรับพระภิกษุ จึงควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

หมวด 2 ระเบียบวัด

1. จะออกนอกวัดทุกครั้งทุกกรณี ต้องลาท่านเจ้าอาวาสเสียก่อน

1.1 การบิณฑบาต ต้องได้รับอนุญาตจากท่านเจ้าอาวาสเสียก่อน เมื่อได้รับอนุญาตให้บิณฑบาตได้ทุกวันแล้ว ไม่ต้องขออนุญาตอีก

1.2 การไปฉันภัตตาหารข้างนอก จะต้องขออนุญาตจากท่านเจ้าอาวาสทุกครั้ง

1.3 การออกนอกวัดและการบิณฑบาต ต้องนุ่งห่มไตรจีวรครอง ( ชุดครอง ) ทุกครั้ง และการออกนอกวัดต้องห่มจีวรคลุมไหล่ซ้อนสองผืน และไม่สวมรองเท้า

2. ถ้าท่านเจ้าอาวาสไม่อยู่หรือมีเหตุขัดข้องอย่างอื่นไม่สามารถขออนุญาตลาได้ ให้บอกลารองเจ้าอาวาส ถ้ารองเจ้าอาวาสไม่อยู่ ให้ลาเจ้าคณะ ถ้าเจ้าคณะไม่อยู่ให้ลาอาจารย์ของตน

3. การออกนอกวัดหลังเที่ยงวันต้อง “ ลาวิกาล ” ถึงแม้ได้ลาท่านเจ้าอาวาสแล้ว ต้องลาวิกาลกับภิกษุอื่น ( จะมีอายุพรรษามากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ ) โดยมีคำลาว่า “ วิกาเล ภันเต คามัปปะเวละนัง อาปุจฉามิ ” ถ้าลาวิกาลกับภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่าใช้คำว่า “ วิกาเล อาวุโส คามัปปะเวละนัง อาปุจฉามิ ” ยกเว้น ไปวัดอื่นไม่ต้องลาวิกาล

4. จะออกนอกคณะ ต้องนุ่งห่มจีวรให้เรียบร้อย ห้ามนุ่งเฉพาะผ้าสบงและอังสะ

5. เมื่อภิกษุห่มจีวรคลุมสองไหล่ หรือ สวมรองเท้า หรือ กั้นร่ม ห้ามเดินผ่านบริเวณพระเจดีย์ เพราะเป็นอาบัติทุกกฏ

6. เมื่อเดินเข้าไปใกล้พระผู้แแก่กว่าต้องถอดรองเท้า หรือพับร่มและควรหยุดยืนสำรวมเพื่อแสดงความเคารพจนท่านเดินผ่านไป

7. ควรหลีกเหลี่ยงการเดินสวนกับพระผู้แก่กว่าซึ่งห่มจีวรเฉียง กรณีที่ภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่าห่มจีวรคลองสองไหล่ เพราะเป็นการไม่ให้ความเคารพต่อพระผู้แก่กว่า

8. เมื่อมีพระผู้แก่กว่านั่งอยู่ ภิกษุผู้อ่ออนพรรษากว่าต้องถอดรองเท้าเสียก่อน แล้วจึงค่อยเดินผ่านไป หากสวมรองเท้าเดินผ่านท่าน จะเป็นการไม่ให้ความเคารพท่าน

9. การลุกขึ้นยืนเพื่อแสดงความเคารพต่อพระเถระ ( พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ คือ พระที่มีพรรษา 10 ขึ้นไปและมีความรู้ในพระปาฏิโมกข์ )

เมื่อพระภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่านั่งอยู่ใก้ลทางเดิน หากมีพระเถระเดินผ่าน หลักการแสดงความเคารพพึงกระทำดังนี้

9.1 ถ้าพระเถระเดินสวมรองเท้าผ่านมา ภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่าต้องลุกขึ้นยืนเพื่อแสดงความเคารพ

9.2 ถ้าพระเถระเดิน ไม่สวมรองเท้าผ่านมา ภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่าต้องถอดรองเท้าแล้วลุกขึ้นยืน

เพื่อแสดงความเคารพ

10. ในวันธรรมสวนะ และวันอุโบสถ ( วันพระ ) เมื่อภิกษุจะเข้าโบสถ์ ให้ทุกรูปเดินอย่างสำรวมเข้าในช่องทางระหว่างพระประธานกับโต๊ะหมู่บูชาเป็นแถวตามระเบียบ ภิกษุต้องไม่เดินเข้าและออกในช่องระหว่างกำแพงโบสถ์ เนื่องจากมีอุบาสก อุบาสิกา นั่งฟังเทศน์อยู่

11. ในวันพระไม่ควรออกนอกวัด

12. ไม่ควรรับแขกผู้หญิงในเวลาหลัง 18.00 น. เว้นไว้แต่ในกรณีจำเป็น แต่ต้องแจ้งให้เจ้าคณะทราบ และห้าม

รับแขกผู้หญิงในห้อง ( รวมทั้งโยมมารดาด้วย ) ในเวลาที่มีแขกผู้หญิงมาเยี่ยมต้องมีพระ หรือ เณร หรือ--

ผู้ชายอื่นมานั่งอยู่ด้วย และต้องไม่รับแขกในที่ลับหูลับตา

13. ห้ามเดินเรียงหน้ากระดาน จับคอ จับแขนกัน เย้าหยอกกัน หัวเราะเสียงดัง หรือตะโกนเรียกกัน

14. ห้ามเดินสูบบุหรี่ ถ่มน้ำลาย ขากเสลด ตามที่สาธารณะ

หมวด 3 มารยาททางสังคม

1. ฉันอาหารรวมกันตั้งแต่ 2 รูปขึ้นไป ต้องใช้ช้อนกลางตักอาหาร

2. จะฉันอะไรทุกอย่างรวมทั้ง ยารักษาโรคต่างๆ ต้องรับประเคนก่อน ยกเว้น น้ำสะอาดสำหรับฉัน หรือแปรงสีฟัน

การประเคน ไม่ให้ห่างเกิน 1 ศอก ( หัตถบาส ) ถ้าผู้หญิงประเคนต้องใช้ผ้ารับ หรือ ถ้าผู้ชายและผู้หญิงประเคนร่วมกันต้องใช้ผ้ารับ

3. การบริโภคปัจจัย 4 คือ จีวร, อาหาร ที่อยู่อาศัย ยา ต้องพิจารณาก่อน

4. หลัง 12.00 น. ห้ามฉันอาหาร นม น้ำผลไม้ที่มีกาก คอฟฟี่เมท ( น้ำผลไม้ที่ไม่มีกากฉันได้ ) การฉันอาหาร เครื่องดื่ม ต้องนั่งลงฉันทุกครั้ง

5. จำวัดเวลาใด ให้ปิดกุฏิให้เรียบร้อย ( ไม่ทำเป็นอาบัติทุกกฏ )

6. แสดงกิริยามารยาทที่สำรวมขณะที่นั่งอยู่ในพระอุโบสถ ห้ามนั่งเท้าแขน หักนิ้วมือนิ้วเท้า หรือ นั่งคุย

7. ประนมมืออย่าให้มือตก หรือนิ้วห่าง หรือประสานนิ้ว หรือใช้นิ้วค้ำคาง ควรประนมมือให้เป็นรูปดอกบัวตูม อยู่ในระดับทรวงอก ปลายนิ้วเชิดขึ้นเล็กน้ย เพื่อความสวยงามน่าเลื่อมใส

8. ไม่นุ่งผ้าลอยชายอย่างคฤหัสถ์ ต้องนุ่งห่มให้เรียบร้อย

9. ในเวลาต้อนรับแขกต้องห่มจีวรทุกครั้ง ถ้ามีแขกผู้หญิงต้องนั่งบนอาสนะคนละผืน

10. ไม่ตาก หรือ พาดผ้า วางสิ่งของ ตามราวบันไดที่ใกล้ถนน

11. ไม่จับกลุ่มคุยกันส่งเสียงดังในทุกที่ ไม่ตะโกนข้ามกุฏิส่งเสียงดัง

12. ไม่เด็ดดอกไม้ ใบไม้ ทำลายต้นไม้ ฝ่าฝืนเป็นอาบัติปาจิตตีย์

หมวด 4 เบ็ดเตล็ด

1. ไม่แน่ใจเรื่องใดให้ถามพระพี่เลี้ยงทุกครั้ง

2. ควรหาโอกาสพูดคุยกับพระเก่าที่มีอายุพรรษามากกว่าที่สามารถแนะนำพระวินัย ที่ตนไม่ทราบและไม่เข้าใจ

3. ถ้าอยู่ในกุฏิหรือในขณะของตน เมื่อไม่มีแขกจะสวมแต่สบงและอังสะไม่ห่มจีวรก็ได้

4. ถ้าประสงค์สิ่งใดให้ใช้คำ กัปปิยโวหาร คือถ้อยคำที่สมควรแก่สมณะ เช่น อาตมาต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้จงไปหา

มาให้ เป็นต้น กัปปิยโวหารเช่นคำว่า อาตมา ( ฉัน ผม ) จำวัด ( นอน ) ฉัน ( ทานสิ่งต่างๆ )

5. ห้ามจับเงิน ทอง และสิ่งที่ใช้แทนเงินทอง (ธนบัตร เหรียญ ) รวมทั้งอัญญมณีต่างๆ

6. ต้องรักษาความสะอาดเสนาสนะที่อยู่ของตนอย่างเคร่งครัด

7. การวางบาตร ห้ามวางบาตรโดยไม่มีขาวางบาตรเด็ดขาด ห้ามวางบาตรบนโต๊ะ ตั่ง เตียง ถ้าจะวางต้องวาง

ลึกเข้าไป 1 ศอก ห้ามยืนเช็ดบาตรเด็ดขาด ต้องนั่งลงเวลาเช็ด

ขั้นตอนการบรรพชา - อุปสมบท วัดบวรนิเวศวิหาร

ขั้นตอนที่ 1 ญาติผู้ใหญ่ตัดผมนาค ภายในคณะ

ขั้นตอนที่ 2 พระพี่เลี้ยงโกนผมนาค ภายในคณะ

ขั้นตอนที่ 3 กราบมารดา-บิดา ท่านละ 1 ครั้ง (ไม่แบมือ) แล้วรับมอบผ้าไตรจากมารดาบิดาญาติผู้ใหญ่

(สถานที่ ศาลาแดง ด้านข้างพระอุโบสถ)

ขั้นตอนที่ 4 ถ่ายภาพที่ระลึกด้านหน้าพระอุโบสถ

ขั้นตอนที่ 5 นาคโปรยทาน (เหรียญ) หน้าประตูทางเข้า พระอุโบสถ

ขั้นตอนที่ 6 คุณพ่อคุณแม่ส่งนาคเข้าพระอุโบสถ

ขั้นตอนที่ 7 นาคส่งผ้าไตรให้เจ้าหน้าที่แล้วนำดอกไม้ บูชาที่หน้าพระประธาน

ขั้นตอนที่ 8 รอพระอุปัชฌาย์โดยอาการสงบ

ขั้นตอนที่ 9 กราบพระอุปัชฌาย์แล้ว หยิบผ้าไตรวางบนแขน เปล่งวาจาขออุปสมบท เอสาหัง พร้อมกัน

ขั้นตอนที่ 10 กล่าวจบแล้ววางผ้าไตรลงและฟังพระอุปัชฌาย์สอนกัมมัฏฐานแล้วกล่าว เกสา โลมาฯ

ขั้นตอนที่ 11 พระอุปัชฌาย์สวมผ้าอังสะให้นาค

ขั้นตอนที่ 12 ออกไปครองผ้าไตรจีวร ด้านหลังพระอุโบสถ (ญาติไปเก็บชุดนาคที่ด้านหลังพระอุโบสถด้วย)

ขั้นตอนที่ 13 เปล่งวาจาขอสรณะและศีล ๑๐ จากพระอาจารย์

ขั้นตอนที่ 14 เมื่อรับศีลเสร็จแล้วไปที่ศาลาแดง เพื่อรับประเคนบาตรจากมารดาบิดา

ขั้นตอนที่ 15 คลานเข่าเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ ถวายดอกไม้ธูปเทียนแล้วกล่าวคำขอนิสัย

ขั้นตอนที่ 16 พระกรรมวาจารย์คล้องบาตร

ขั้นตอนที่ 17 พระคู่สวดสอบถามอันตรายิกธรรม (คุณสมบัติ)

ขั้นตอนที่ 18 คลานเข่าเข้ามาท่ามกลางสงฆ์, กราบสงฆ์

ขั้นตอนที่ 19 เปล่งวาจาขอญัตติกรรม สังฆัม ภันเต

ขั้นตอนที่ 20 ฟังอนุสาสน์บาลีจากพระอุปัชฌาย์

ขั้นตอนที่ 21 ถวายเครื่องไทยธรรม กรวดน้ำ เป็นเสร็จพิธี

บทสวดลาสิกขา

๑. กราบลาพระอุปัชฌาย์

เตรียมดอกไม้ธูปแพ เทียน แพ พร้อมกรวยดอกไม้ เข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ วางดอกไม้ธูปเทียนข้างซ้ายของตน แล้วกราบ ๓ ครั้ง เมื่อกราบเสร็จ ยกธูปเทียนขึ้นเสมออก แล้วกล่าวคำขอขมาโทษว่า “อุปชฺฌาเย ปมาเทน ทวารฺตเย น กตํ สพฺพํ อปราธํ ขมตุ โน ภนฺเต

พระอุปัชฌาย์ ท่านจะกล่าวต่อว่า “อหํ ขมามิ ตุมฺเหหิปิ ขมิตพฺพํ” ให้ตอบรับว่า ขมามิ ภนฺเต จากนั้น พระอุปัชฌาย์ท่านจะให้พร เมื่อจบแล้วให้รับว่า สาธุ ภนฺเต จากนั้น ให้ประเคนพานดอกไม้ แล้วกราบ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีลาพระอุปัชฌาย์

สำหรับการกราบลาพระอาจารย์ ให้เปลี่ยน “อุปชฺฌาเย” เป็น อาจริเย” นอกนั้นเหมือนเดิม

สำหรับการกราบลาพระพี่เลี้ยง ให้เปลี่ยน “อุปชฺฌาเย” เป็น “อายสฺมนฺเต” นอกนั้นเหมือนเดิม

หมายเหตุ สำหรับสมเด็จพระสังฆราข ถ้ามิได้เป็นองค์อุปัชฌาย์ เปลี่ยน อุปชฺฌาเย เป็น มหาเถเร

ถ้ากล่าวพร้อมกันหลายรูป ให้เปลี่ยน “ขมตุ เม” เป็น “ขมตุ โน”

เปลี่ยน “ขมามิ” เป็น “ขมาม”

๒. การลาสิกขา

เมื่อพระสงฆ์นั่งประชุมเรียบร้อยแล้ว ให้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยแล้วหันมาทางพระสงฆ์กล่าวคำอาราธนาพระปริต ว่า

วิปตฺติ ปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติ สิทฺธิยา

สพฺพทุกฺขวินาสาย ปริตฺตํ พรูถ มงฺคลํ

วิปตฺติ ปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติ สิทฺธิยา

สพฺพภยวินาสาย ปริตฺตํ พรูถ มงฺคลํ

วิปตฺติ ปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติ สิทฺธิยา

สพฺพโรควินาสาย ปริตฺตํ พรูถ มงฺคลํ

พระสงฆ์จะสวดพระปริต ทำน้ำมนต์ ให้นั่งประนมมือฟังจนจบ เมื่อพระสงฆ์สวดจบ ให้หันมากราบพระพุทธรูป ๓ ครั้ง พร้อมทั้งกล่าว “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” ๓ จบ แล้วกล่าวบท อตีตปัจจเวกขณะ ดังนี้

อชฺช มยา อปจฺจเวกฺขิตฺวา ยํ จีวรํ ปริภุตฺตํ, ตํ ยาวเทว สีตสฺส ปฏิฆาตาย, อุณฺหสฺส ปฏิฆาตาย ฑํสมกสวาตาตปสิรึ สปสมฺผสฺสานํ ปฏิฆาตาย, ยาวเทว หิริโกปินฺนปฏิจฺฉาทนตฺถํ

อชฺช มยา อปจฺจเวกฺขิตฺวา โย ปิณฺฑปาโต ปริภุตฺโต โส เนว ทวาย น มทาย น มณฺฑนาย น วิภูสนาย, ยาวเทว อมสฺส กายสฺส ฐิติยา ยาปนาย วิหึ สุปรติยา พฺรหฺมจริยานุคฺคหาย, อิติ ปุราณณฺจ เวทนํ ปฏิหงฺขามิ นวญฺจ เวทนํ น ปุปฺปาเทสฺสามิ ยาตฺรา จ เม ภวิสฺสติ อนวชฺชตา จ ผาสุวิหาโร จาติ

อชฺช มยา อปจฺจเวกฺขิตฺวา ยํ เสนาสนํ ปริภุตฺตํ ตํ ยาวเทว สีตสฺส ปฏิฆาตาย, อุณฺหสฺส ปฏิฆาตาย, ฑํสมกสวาตาตปสิรึ สปสมฺผสฺสานํ ปฏิฆาตาย, ยาวเทว อุตุปริสฺสยวิโนทนํ ปฏิสลฺลานารามตฺถํ.

อชฺช มยา อปจฺจเวกฺขิตฺวา โย คิลานปจฺจยเภสชฺชปริกฺขาโร ปริภุตฺโต, โส ยาวเทว อุปฺปนฺนานํ เวยยาพาธิกานํ เวทนานํ ปฏิฆาตาย อพฺยาปชฺฌปรมตายาติ

เมื่อสวดจบแล้ว กราบ ๓ ครั้ง หันมาทางพระสงฆ์ กราบ ๓ ครั้ง แล้วกล่าวคำลาสิกขาบท ว่า “สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ ข้าพเจ้าลาสิกขา

คิหีติ มํ ธาเรถ ขอท่านทั้งหลาย จงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นคฤหัสถ์” แล้วกราบ ๓ ครั้ง

จากนั้น เปลี่ยนผ้าเป็นผ้าขาว กราบพระสงฆ์ ๓ ครั้ง แล้วกล่าวถึงพระไตรสรณคมน์ แสดงตนเป็นอุบาสก ว่า

“เอสาหํ ภนฺเต สุจิรปรินิพุตมฺปิ, ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ, ธมฺมญจ ภิกฺขุสงฺฆญฺจ อุปาสกํ มํ สงฺโฆ ธาเรตุ, อชฺชตคฺเคปาณุเตํ สรณํ คตํ”

เมื่อกล่าวจบแล้ว พระผู้เป็นประธาน จะกล่าวให้ศีล ให้อุบาสกใหม่ว่าตามไปทุกบท ดังนี้

ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

กาเมสุ มิจฺฉาจารา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

สุรา เมรย มชฺช ปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

พระผู้ให้ศีลจะกล่าวสรุปว่า “อิมานิ ปญฺจ สิกฺขาปทานิ นิจฺจสีลวเสน สาธุกํ รกฺขิตพฺพานิ.

อุบาสกใหม่ รับว่า อาม ภนฺเต

จบแล้ว อุบาสกใหม่ กราบพระสงฆ์ ๓ ครั้ง ลุกออกมานั่ง ณ ที่ซึ่งเตรียมไว้อาบน้ำมนต์ ในขณะที่พระสงฆ์รดน้ำมนต์ ให้อุบาสกใหม่นั่งประนมมือ เมื่อรดน้ำมนต์เสร็จแล้ว ก็เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเป็นชุดคฤหัสถ์ ซึ่งอาจเป็นชุดขาวล้วน จากนั้นเข้ามากราบหมู่พระสงฆ์ อีก ๓ ครั้ง ประเคนถวายไทยธรรม เป็นดอกไม้ ธูปเทียน ใบปวารณา ตามแต่จะศรัทธา

จากนั้น พระสงฆ์จะกล่าวอนุโมทนา ให้อุบาสกกรวดน้ำ เมื่อพระสงฆ์สวดจบให้กราบ ๓ ครั้ง แล้วกราบ มารดาบิดา ท่านละ ๑ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีในการลาสิกขา.

ขอความดีที่ท่านกระทำ จงส่งผลดีไปยังภพหน้าของท่าน