ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน

คู่มือการจัดตั้งและการดำเนินงาน ศพค.

Download คู่มือการจัดตั้งและการดำเนินงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน

--------------------------------------

ระเบียบเงินอุดหนุน พ.ศ 2548

Download เอกสารระเบียบเงินอุดหนุนกิจกรรมพัฒนาครอบครัวในชุมชน พ.ศ 2548

ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน

สำนักส่งเสริมสถาบันครอบครัว สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

255 อาคารศรีสังวาลย์ ชั้น 2 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 02-306-8773 โทรสาร: 02-306-8982

-----------------------------------------------

ตัวอย่างแบบสำรวจข้อมูลด้านครอบครัว

Download ตัวอย่างแบบสำรวจข้อมูลด้านครอบครัว

-------------------

ตัวอย่างการกรอกแบบรายงาน ศพค.มฐ.

Download ตัวอย่างการกรอกแบบรายงาน ศพค.มฐ

กรอบกิจกรรมเงินอุดหนุน โครงการศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.)

คำชี้แจง : ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนเลือกจัดโครงการ/กิจกรรม ตามตัวอย่างกิจกรรมที่กำหนด อย่างน้อย 1 กิจกรรม (ควรจัดกิจกรรมให้แตกต่างจากที่เคยทำมาแล้ว)

ทั้งนี้หาก ศพค. ใดมีความพร้อมที่จะดำเนินการได้มากกว่า 1 กิจกรรม หรือมีกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากกิจกรรมที่กำหนด

แต่เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมการเรียนรู้ของสมาชิกในครอบครัว ก็สามารถจัดกิจกรรมตามความต้องการของชุมชนได้

หมายเหตุ : รูปแบบกิจกรรมที่กำหนด พื้นที่อาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

กิจกรรมที่ 1

การสำรวจพื้นที่สร้างสรรค์/พื้นที่อันตราย ต่อความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวในชุมชน

หลักการและเหตุผล

การตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัว โดยเฉพาะกับเด็ก เยาวชน เป็นภารกิจที่ต้องเกิดจากความเห็นพ้องต้องกันของชุมชน ผ่านการแสดงความคิดเห็นจากมุมมองของเด็ก เยาวชน และเครือข่ายครอบครัว ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน จึงเป็นกลไกที่จะทำหน้าที่เชื่อมประสานให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่และเด็กเยาวชนในชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมระดมสมองเพื่อสำรวจพื้นที่สร้างสรรค์และพื้นที่อันตรายในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีการวางแผนในการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการคุ้มครองครอบครัว

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสร้างความรู้และความตระหนักให้แก่ชุมชน ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ช่วยเหลือและคุ้มครองครอบครัวให้อยู่ในชุมชนได้อย่างปลอดภัยในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

2. เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การทำงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน

3. เพื่อให้ท้องถิ่นมีข้อมูลในการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการคุ้มครองครอบครัว

กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ

- กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็ก เยาวชน และครอบครัวในชุมชน โดยใช้พื้นที่ศูนย์กลางในชุมชน

- ผู้ร่วมดำเนินการ

· คณะทำงาน ศพค.

· เด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง

· เครือข่ายชุมชน เช่น กลุ่มผู้นำ อปท. อาสาสมัคร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

· เครือข่ายโรงเรียน เครือข่ายครอบครัว

· ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจ

กลวิธีในการดำเนินกิจกรรม

การจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเด็ก เยาวชน และครอบครัว กับผู้เกี่ยวข้องในชุมชน เรื่องพื้นที่สร้างสรรค์และพื้นที่อันตรายในชุมชน

1. ให้เด็ก เยาวชน และครอบครัว วาดภาพสภาพแวดล้อมในชุมชนที่เค้ารู้สึกว่าปลอดภัย และไม่ปลอดภัย ในมุมมองของตนเอง

2. นำเสนอ และช่วยกันคิดหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ทั้งในส่วนของเครือข่ายชุมชน เครือข่ายครอบครัว โรงเรียน และบุคคลทั่วไป

3. สรุปเป็นผลการสำรวจพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่อันตรายต่อครอบครัวในชุมชน

4. ชุมชนมีแผนการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมครอบครัวให้ได้รับการพัฒนาในทางที่เหมาะสม

ระยะเวลาดำเนินการ 1 วัน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตระหนักถึงความสำคัญของ ศพค. ในการทำงานเฝ้าระวังและคุ้มครองครอบครัว

2. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีส่วนร่วมในการสร้างความรู้และความตระหนักให้แก่ชุมชน ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ช่วยเหลือและคุ้มครองครอบครัวให้อยู่ในชุมชนได้อย่างปลอดภัยในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

3. สามารถสร้างเครือข่ายในการทำงานด้านการเฝ้าระวัง คุ้มครองครอบครัวให้กับศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน

4. มีข้อมูลที่เหมาะสมกับบริบทชุมชน และสามารถนำไปใช้ในการเผยแพร่ได้

ข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน

เพื่อให้เกิดผลสูงสุด ควรนำข้อสรุป/ ความคิด ที่ได้จากการจัดกิจกรรมนี้ไปจัดทำแผนงานโครงการเพื่อใช้ในชุมชนต่อไป ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมของชุมชน

***************************

กิจกรรมที่ 2

แผนงานการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในประเด็นความรุนแรงในครอบครัว

หลักการและเหตุผล

เนื่องจากสภาพสังคมในปัจจุบันพบว่าปัญหาครอบครัวไม่ว่าจะเป็นเด็กตกเป็นเหยื่อของการถูกกระทำความรุนแรง สามีทำร้ายร่างกายภรรยาหรือภรรยาทำร้ายร่างกายสามี การเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่อย่างผิดวิธี การถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยบุคคลภายในครอบครัว หรืออีกหลายสาเหตุที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ทั้ง โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งนี้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม และในแต่ละครั้งล้วนมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม การอบรมเลี้ยงดู และการใช้สุรา ยาเสพติด รวมถึงปัญหาการปล่อยปละละเลยของผู้ปกครอง จากการที่ความรุนแรงนั้นเกิดจากคนใกล้ชิดทำให้การเข้าไปสอดส่องดูแล ช่วยเหลือเป็นไปได้ยาก เมื่อผู้กระทำมักเป็นคนที่อยู่ในครอบครัวหรือได้รับความไว้วางใจจากครอบครัว จึงทำให้ผู้ถูกกระทำต้องอยู่ในวงจรการถูกทำร้าย และไม่กล้าปฏิเสธหรือเกิดความสับสนหากจะต้องเอาผิดกับบุคคลนั้น แต่ขณะเดียวกันนั้นสถานการณ์ร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นก็กัดกร่อนทำลายจิตใจของบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง จนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกกระทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน

แม้ว่าการทำงานด้านการป้องกันเป็นวิธีที่ดีที่สุดของการลดความรุนแรงของปัญหา แต่ในสภาพความเป็นจริง การป้องกันบุคคลในครอบครัวให้พ้นจากภัยของความรุนแรงในด้านต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก เพราะฉะนั้นเพื่อป้องกันมิให้เด็กต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในด้านต่าง ๆ จึงมีการจัดทำโครงการ “การยุติความรุนแรงในครอบครัว” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และร่วมกันหาวิธีหรือแนวทางในการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัวร่วมกับชุมชน เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจถึงสาเหตุและรูปแบบของความรุนแรงและแนวทางในการแก้ไข เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติและยุติการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา

วัตถุประสงค์

1. กระตุ้นให้เห็นความสำคัญและผลเสียของการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

2. เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านความรุนแรงและการป้องกันความรุนแรง

3. เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายในการทำงานด้านการคุ้มครองเด็กและครอบครัวระหว่างท้องถิ่นและชุมชน

กลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน

กลวิธีการดำเนินการ

1. จัดบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นแบบล้อมวงคุยกันโดยมีประเด็นคำถามเป็นตัวเชื่อมร้อยการสนทนาให้ร้อยเรียงกันต่อเนื่องอย่างราบรื่น

2. กำหนดกติกาในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน คือ ทุกคนมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยแสดงออกถึงการเคารพเพื่อน ด้วยการฟังอย่างตั้งใจเมื่อเพื่อนพูดแสดงความคิดเห็น เพราะทุกความคิดเห็นล้วนมีความสำคัญ และมีคุณค่าต่อการใส่ใจรับฟัง และรู้สึกปลอดภัยเมื่อต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองให้ผู้อื่นได้รับฟัง

3. ผู้ดำเนินการอบรม เปิดประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยคำถามปลายเปิด เช่น ความรุนแรงในครอบครัวคืออะไร ความรุนแรงในครอบครัวมีรูปแบบใดบ้าง มีสาเหตุมาจากอะไร มีแนวทางป้องกันและแก้ไขอย่างไร ความขัดแย้งเป็นความรุนแรงหรือไม่ มีส่วนเกี่ยวข้องกันหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้มีการอภิปรายในกลุ่มผู้เข้าอบรม เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นทุกความคิดเห็นโดยไม่ตัดสิน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ดำเนินการอบรมมองเห็นภาพรวมของความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมกิจกรรม และสามารถเติมเต็มข้อมูลส่วนที่ยังขาดไปได้โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และไม่ละเลยความคิดเห็นที่แตกต่างของคนส่วนน้อย เพื่อสะท้อนให้เห็นความสมานฉันท์ในวงสนทนาที่เป็นรูปธรรมและเป็นตัวอย่างของการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

ระยะเวลาดำเนินการ 1 วัน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบในเรื่องความรุนแรงในครอบครัว

2. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความรุนแรงและการยุติความรุนแรงภายในครอบครัว

3. สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับเพิ่มเติมไปปรับใช้ในครอบครัว เพื่อป้องกันความรุนแรงในครอบครัวได้

4. สามารถสร้างเครือข่ายในการทำงานด้านการคุ้มครองเด็กให้กับศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน เพื่อเป็นการช่วยเหลือครอบครัวที่ประสบปัญหาหรือมีความเสี่ยงได้

ข้อควรระวังในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องความรุนแรงในครอบครัว

ต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่คำนึงถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการบอกเล่าแลกเปลี่ยนข้อมูล และมีกติกา คือ การรักษาความลับของเพื่อนๆ ไม่นำไปพูดต่อนอกห้องประชุม เพราะอาจจะเกิดความเสียหายหรือผลกระทบกับผู้ถูกกล่าวถึงได้ สิ่งเหล่านี้เป็นการคำนึงถึงความละเอียดอ่อนในการทำงานเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเป็นการสร้างบรรทัดฐานของการทำงานที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับการปกป้องและให้เกียรติ อย่าลืมว่า “จงทำกับผู้อื่น เหมือนสิ่งที่เราต้องการได้รับ”

***************************

กิจกรรมที่ 3

แผนงานการจัดทำโครงการบ้านหลังเรียน

หลักการและเหตุผล

จากสภาพปัญหาของครอบครัวในชุมชน ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก สภาพทางเศรษฐกิจสังคม ปัญหาความยากจน การไม่มีเวลาที่จะทำความเข้าใจระหว่างสมาชิกในครอบครัว ปัจจัยเหล่านี้ จึงส่งผลให้ครอบครัวไม่มีความมั่นคง นำไปสู่ครอบครัวที่แตกแยก หย่าร้าง เป็นเหตุให้เด็กซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด ติดยาเสพติด และสร้างปัญหาให้กับชุมชน การป้องกันมิให้ต้นเหตุแห่งปัญหาเกิดขึ้น จึงต้องมุ่งสร้างสถาบันครอบครัวให้มีศักยภาพ มีข้อมูลจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับองค์กร ยูนิเซฟประเทศไทย พบว่าเด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพครอบครัว ขาดผู้ดูแลและส่งเสริมให้เด็กมีการพัฒนาการตามวัย รวมถึงขาดผู้ปกป้องดูแลให้เด็กได้เจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อเด็ก

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงกำหนดจัดกิจกรรม “โครงการบ้านหลังเรียน” ขึ้นเพื่อดำเนินการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กกำพร้า เด็กในครอบครัวด้อยโอกาส และเด็กที่มีวุฒิภาวะต่ำกว่าเกณฑ์ เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพตามวัยที่เหมาะสม มีโอกาสเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีทักษะมีภูมิคุ้มกันตนเองจากภัยต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เพื่อให้เด็กมีจุดยึดมั่นคือ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ และเป็นบ้านหลังที่ ๓ ของเด็กต่อจากครอบครัวและโรงเรียน ในการที่จะสามารถสื่อให้บุคคลอื่นหรือคนในครอบครัวได้ร่วมรับรู้ ความรู้สึกนึกคิด ความต้องการ ที่เด็กเหล่านั้นไม่สามารถบอกกล่าวได้ รวมทั้งเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ปลอดภัยซึ่งจะสามารถให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพอย่างเหมาะสมให้กับเด็กและเยาวชนของท้องถิ่น

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรม นันทนาการร่วมกัน

2. เพื่อเสริมสร้าง พัฒนาศักยภาพตามวัยที่เหมาะสม

3. เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ สำหรับเด็ก

4. เพื่อร่วมกันปลูกฝัง สร้างสรรค์สิ่งดีงาม ให้กับเด็ก

กลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนช่วงชั้นประถมศึกษา

พื้นที่ดำเนินการ

สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือศูนย์เรียนรู้ในชุมชน เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์สายใยรักแห่งครอบครัว เป็นต้น

ระยะเวลาดำเนินโครงการ ต่อเนื่องประมาณ ๒ เดือน (อาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม แต่ควรมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม)

กลวิธีการดำเนินงาน

1. ประชุมคณะทำงานเพื่อจัดทำโครงการ

2. เสนอโครงการเพื่อขออนุมัติดำเนินการ

3. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4. ขออนุญาตผู้ปกครองเพื่อให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมตามวัน เวลาที่กำหนด

5. กำหนดกิจกรรมตามโครงการโดยใช้เวลาหลังเลิกเรียน เวลา ๑๕.๓๐ น.-๑๗.๐๐ น. โดยใช้สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือศูนย์เรียนรู้ในชุมชนเป็นศูนย์กลาง โดยมีพี่เลี้ยงซึ่งประกอบด้วยบุคลากรที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น คณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน , เจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อบต.) , ทีมสหวิชาชีพ ร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมตามตารางที่กำหนดไว้ในแต่ละวัน ให้เด็กได้ใช้เวลาในวันจันทร์-วันศุกร์ รวม ๕ วัน เพื่อทำกิจกรรมตามตารางที่กำหนดไว้ดังนี้คือ

วันจันทร์ ทำการบ้าน และบอกกล่าว เล่าความ (สื่อรักด้วยใจ)

วันอังคาร ทำการบ้าน และเรียนรู้ศิลปะ งานประดิษฐ์ต่าง ๆ

วันพุธ ทำการบ้าน และเรียนรู้ดนตรี กิจกรรมนันทนาการ

วันพฤหัสบดี ทำการบ้าน และเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

วันศุกร์ ทำการบ้าน และเรียนรู้ทักษะกีฬาตามความถนัด

หมายเหตุ กำหนดตารางกิจกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

6. ดำเนินกิจกรรม ตาม วัน เวลาที่กำหนด

7. ประเมินผลโครงการ/ สรุปผลการดำเนินงานเสนอผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยประเมินผลจากแบบสอบถามและประเมินผลจากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากเข้าร่วมโครงการ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. เด็ก เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์

2. เด็ก เยาวชน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้เพิ่มขึ้น

3. เด็ก เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพตามความถนัด เหมาะสม

4. สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้ ให้กับเด็ก เยาวชน

ข้อควรระวังในการจัดทำโครงการ

การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ ควรมีการตรวจสอบข้อมูลให้เป็นปัจจุบันตรงต่อความเป็นจริง เพื่อให้สามารถติดตามประเมินผลการเปลี่ยนแปลงและเติมเต็มในส่วนที่เด็กต้องการได้ตรงตามความต้องการของเด็ก โดยควรนำเสนอในแนวทางที่สร้างสรรค์และเปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นพบศักยภาพตนเองที่มีอยู่โดยไม่นำมาเปรียบเทียบกัน แต่มุ่งเน้นให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในคุณค่าของตนเอง

***************************

กิจกรรมที่ 4

กิจกรรมครอบครัวสัมพันธ์

หลักการและเหตุผล

ในหลายศตวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก อันเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาประเทศตามแนวคิดการพัฒนากระแสหลักหรือการพัฒนาที่ เดินตามการชี้นำของประเทศตะวันตก ทำให้ทุกองคาพยพของสังคมพลอยถูกขับเคลื่อน หรือบางส่วนอาจเข้าข่ายการถูกฉุดดึงไปตามกระแสการพัฒนาด้วย สถาบันครอบครัวไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น การพัฒนาตามแนวคิดการพัฒนากระแสหลักให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวย หรือความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นการพัฒนาแบบแยกส่วน ทำให้เกิดกระบวนการดึงคนออกมาจากครอบครัว แยกพ่อแม่ ลูกหลาน ปู่ย่าตายาย ออกจากกัน

ผลของการพัฒนานั้นแม้จะทำให้ครอบครัวไทยมีภาวะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีความสุขสบายด้านวัตถุมากขึ้น แต่ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่เคยแนบแน่นและอบอุ่นก็เริ่มเลือนหายไป เปลี่ยนแปลงเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่แนบแน่นดังก่อน ความผูกพันกันในเชิงอารมณ์และความรู้สึกมีค่อนข้างน้อย คนในครอบครัวมีกิจกรรมร่วมกันน้อยลง พ่อแม่มีหน้าที่แสวงหาทรัพย์สินเงินทอง และวัตถุเพื่อมาเลี้ยงดูปรนเปรอความสุขให้ลูก ส่วนลูกซึ่งต้องทำหน้าที่เรียนหนังสือ ก็ถูกวัฒนธรรมต่างชาติและอบายมุขชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสีย การเติบโตเป็นผู้ใหญ่เป็นไปตามยถากรรม เด็กๆเรียนรู้ชีวิตด้วยตนเองจากสังคมนอกบ้านมากกว่าสังคมในบ้าน สภาพการณ์เช่นนี้หลายคนมองว่าสถาบันครอบครัวไทยกำลังตกต่ำอยู่ในสภาพใกล้ล่มสลาย ไม่มีความเป็นครอบครัวเหลืออยู่

ซึ่งครอบครัวเองก็ไม่สามารถยับยั้ง หรือผ่อนคลายปัญหาได้ ทุกคนได้แต่คอยเรียกร้องให้คนนอก ไม่ว่าจะเป็น ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือแม้แต่รัฐบาลให้เข้ามาช่วยจัดการแก้ไขปัญหาครอบครัว

ไม่ว่าจะมองเรื่องนี้กันอย่างไร สังคมทำให้สถาบันครอบครัวเกิดปัญหา หรือสถาบันครอบครัวกลายเป็นปัญหาของสังคม แต่สิ่งที่คนในสังคมไทยเวลานี้เห็นพ้องร่วมกันก็คือสังคมต้องให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวให้มากขึ้น ต้องทำความเข้าใจครอบครัวที่อยู่ท่ามกลางกระแสพายุของการเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้น ทุกวันนี้แม้เราเติบโตจากครอบครัว แต่เราก็แทบจะไม่รู้จักครอบครัวอย่างแท้จริง เพราะขาดข้อมูลที่ลึกซึ้ง น่าเชื่อถือเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในสถาบันครอบครัวให้สามารถอ้างอิงเผยแพร่ได้

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้ครอบครัวมีเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้วิเคราะห์สภาพปัญหาในครอบครัวของตนเอง

2. เพื่อให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ

3. เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสถาบันครอบครัวในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง

กลุ่มเป้าหมาย

ครอบครัวในชุมชน ประมาณ 20 – 30 ครอบครัว

พื้นที่ดำเนินการ

สำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ นอกสถานที่ ตามความเหมาะสม

ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 – 2 วัน

กลวิธีการดำเนินงาน

แบ่งการจัดกิจกรรม เป็น ๓ ส่วน (อาจปรับเปลี่ยน หรือจัดลำดับกิจกรรมตามความเหมาะสม)

1. ผู้นำสันทนาการ เป็นผู้นำทำกิจกรรมละลายพฤติกรรม เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมทั้งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรู้จักกันมากยิ่งขึ้น กิจกรรมละลายพฤติกรรมอาจเป็นกิจกรรมง่าย ๆ และสร้างความสนุกสนาน เช่น ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแนะนำตัวเองสั้น ๆ การเล่นเก้าอี้ดนตรี การปรบมือสร้างความพร้อมเพรียง การเต้นตามจังหวะเพลง เป็นต้น และเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ในแต่ละส่วน สลับกับผู้ให้ข้อมูลหลัก

2. ผู้นำกระบวนการเวทีครอบครัว โดยดำเนินกิจกรรมด้านครอบครัว ดังนี้

2.1 กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องสถานการณ์ครอบครัว โดยให้ช่วยกันคิดว่าปัจจุบัน สถานการณ์ครอบครัวในชุมชนเป็นอย่างไร โดยให้บอกให้ด้านที่ดี พร้อมยกตัวอย่าง และที่กำลังเป็นปัญหา พร้อมหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน

2.2 กิจกรรมการเสริมสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว โดยกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนในครอบครัว พ่อแม่ลูกหรือผู้ปกครองได้พูดคุยกันถึงการกระทำที่ดี / ไม่ดีที่เกิดในครอบครัว และให้ช่วยกันหาแนวทางแก้ไข

2.3 กิจกรรมรู้จักบทบาทพ่อแม่ลูก ร่วมแก้ไขปัญหาครอบครัว โดยกิจกรรมนี้แบ่งผู้ร่วมกิจกรรมเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพ่อ-แม่ /ผู้ปกครอง และกลุ่มลูก โดยแยกกลุ่มกันทำกิจกรรม

- กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง : การปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว และช่วยกันหาแนวทางแก้ไข พร้อมทั้งทำความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ดีและเหมาะสมในครอบครัว

- กลุ่มลูก : พูดคุยถึงบทบาทหน้าที่ของลูกในครอบครัว พร้อมทั้งสอดแทรกกิจกรรมสันทนาการเพื่อกระตุ้นความสนใจเด็ก

2.4 กิจกรรม walk rally เป็นกิจกรรมที่ทำให้ครอบครัวมีความสามัคคี ได้ร่วมกันคิดวางแผน และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา (อาจดำเนินการในภาคบ่าย)

3. สรุปประเด็นทั้งหมดพร้อมทั้งประเมินผลการจัดกิจกรรม

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดี ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน

2. ชุมชนมีความตื่นตัวในการทำงานด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัว

ข้อควรระวังในการจัดทำโครงการ

ไม่ควรจัดกับกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก เพราะจะทำให้ขาดการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ ควรมีการติดตามผลความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีปัญหา ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่หลังจากเข้าร่วมกิจกรรม

หมายเหตุ

ประเด็นในการจัดกิจกรรมอาจสอดแทรกเนื้อหาให้มีความหลากหลาย เช่น สิ่งแวดล้อม(ครอบครัวปลูกป่า), การออกกำลังกาย(ครอบครัวปั่นจักรยาน), กีฬา(แข่งขันกีฬาครอบครัว) เป็นต้น แต่ควรมีประเด็นในเรื่องของการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก

***************************

กิจกรรมที่ 5

ค่ายพัฒนาครอบครัวไทยห่างไกลยาเสพติด

หลักการและเหตุผล

สถานการณ์ครอบครัวในปัจจุบันที่มีสภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัตน์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่งผลกระทบทำให้แบบแผนการดำเนินชีวิตของครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป การแพร่ระบาดของยาเสพติดที่สำคัญ พบว่ามาจากปัจจัยครอบครัว เช่น ครอบครัวแตกแยก หย่าร้าง การใช้ความรุนแรงในครอบครัว เด็กขาดความอบอุ่น การอบรมเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม บุคคลในครอบครัวติดการพนัน หรืออยู่ในครอบครัวที่มีบุคคลในครอบครัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งแทบจะทุกครอบครัวที่มีผู้ติดยาเสพติด จะมีปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาสังคมเกิดขึ้นตามมาเป็นลูกโซ่อีกมากมาย

ดังนั้น การตระหนักและให้ความสำคัญว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของครอบครัว ในการเฝ้าระวังการเสพและการค้ายาเสพติดในชุมชน ตลอดจนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้แก่สมาชิกในครอบครัวที่มีแนวโน้มต่อปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่เสี่ยงต่อการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จะช่วยให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปอย่างยั่งยืน และสร้างให้ครอบครัวเป็นสุข ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศชาติมั่นคง

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของครอบครัว ความรัก การเอาใจใส่ที่ดีจะช่วยให้สมาชิกในครอบครัวไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

2. เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวตระหนักรู้ถึงปัญหายาเสพติด

3. เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวรู้ถึงทักษะการปฏิเสธ

4. เพื่อให้ครอบครัวในชุมชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ในการดูแลสมาชิกในครอบครัว และชุมชน

กลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มครอบครัวทั่วไปในชุมชน + ครอบครัวกลุ่มเสี่ยง

กลวิธีการดำเนินการ

1. ละลายพฤติกรรม สร้างความสัมพันธ์ครอบครัว

2. บรรยายถึงความสำคัญของครอบครัว การใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ การตระหนักรู้ถึงความแตกต่างกันของสมาชิกในครอบครัว และความสำคัญของการให้ความรัก ความเข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว

3. ให้แต่ละครอบครัวได้ตระหนักรู้ในครอบครัวตนเอง โดยให้เวลาประมาณ 5-10 นาที ให้สมาชิกในครอบครัวได้พูดคุยกันว่าแต่ละคนได้ให้ความสำคัญกับครอบครัวมากน้อยอย่างไร โดยมีกติกาว่าทุกคนในครอบครัวต้องตั้งใจฟัง ไม่ขัดแย้ง หรือต่อว่ากันและกัน

4. บรรยายให้ความรู้ถึงสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน ทักษะในการปฏิเสธ และการสังเกตเมื่อคนในครอบครัวติดยาเสพติด

5. แบ่งกลุ่มทำกิจกรรมการแสดง (role play) เกี่ยวกับปัญหายาเสพติดในชุมชน

6. ร่วมกันวิเคราะห์แนวทางในการช่วยกันแก้ไขปัญหายาเสพติดที่มีในชุมชน เพื่อสร้างเป็นรั้วป้องกันภัยยาเสพติดไม่ให้เข้าสู่ครอบครัว

ระยะเวลาดำเนินการ 1-2 วัน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวและผลกระทบในเรื่องยาเสพติด

2. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับยาเสพติด และทักษะในการปฏิเสธ

3. สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับเพิ่มเติมไปปรับใช้ในครอบครัวเพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกในครอบครัวเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้

4. สามารถสร้างเครือข่ายครอบครัวในการเฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชน

***************************

กิจกรรมที่ 6

กิจกรรมเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในครอบครัว

(Gender in Family)

หลักการและเหตุผล

คนในสังคมทั่วไปยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่ว่าการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ควรกระทำเฉพาะในงานสวัสดิการทางสังคมเท่านั้น และบางครั้งก็เข้าใจกันผิดๆ ว่า การจัดหาทรัพยากรและสิทธิพิเศษต่างๆ ให้กับผู้หญิงจะนำมาซึ่งความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ในทางปฏิบัติแล้ว ความเข้าใจเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ เพราะความไม่เสมอภาคระหว่างหญิงและชายนั้น ฝังรากลึกอยู่ในทุกมิติของความสัมพันธ์ในสังคมทุกสังคม โดยเฉพาะในครอบครัว

ถ้าจะกล่าวถึงคำว่า “ครอบครัว” คงหลีกหนีไม่พ้นที่จะกล่าวถึง “ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว” ไปพร้อมๆ กัน ครอบครัวจึงอาจมีทั้งสุขและทุกข์ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่มีความสมดุลหรือไม่สมดุล รวมทั้งปัจจัยภายนอก เช่น สภาพทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง ฯลฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบทบาทและความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่ไม่สมดุล มักเกิดจากการใช้อำนาจ การเอารัดเอาเปรียบ การ ข่มเหงรังแกระหว่างคนในครอบครัว ทั้งหญิงกับชาย และเด็กกับผู้ใหญ่

กิจกรรมเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในครอบครัว เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะทำให้ผู้เข้าอบรมเกิดความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักว่าสังคมไทยนั้นมีแบบแผนการเลี้ยงดู หล่อหลอม กล่อมเกลา หรือความคาดหวังที่กำหนดไว้ต่อหญิงและชายแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างนั้นเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเกิดความสมดุลหรือความไม่สมดุล อันก่อให้เกิดปัญหาสังคมในภาพกว้างตามมา เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการเลือกปฏิบัติและความไม่เสมอภาคทางสังคม ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่จุดเริ่มต้น จึงควรมีการเรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับถึงต้นตอที่แท้จริงของปัญหา เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายในครอบครัว โดยหล่อหลอมการเรียนรู้และความเข้าใจของสมาชิกในครอบครัวให้ช่วยกันขจัดบทบาทและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของทั้งหญิงและชาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ส่งเสริมความเข้าใจว่าความเสมอภาคระหว่างหญิงชายเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคม ซึ่งเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว ชุมชน และสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ให้เกียรติ เกื้อกูล ส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบและทำร้ายกัน เพื่อประโยชน์สุขของทุกคนในสังคมนั่นเอง

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้ตระหนักว่า ครอบครัวมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอม เลี้ยงดู และคาดหวังต่อความเป็นหญิงและชายที่แตกต่างกัน และความแตกต่างนั้นส่งผลให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ไม่สมดุล และอาจนำมาซึ่งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาความไม่เสมอภาคหรือปัญหาการเลือกปฏิบัติได้

2. เพื่อให้สมาชิกในครอบครัว / ชุมชน ตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่เหมาะสมและสมดุล โดยเริ่มที่ครอบครัวของตนเอง ด้วยวิธีการง่ายๆ ในการปฏิบัติต่อกันและการแบ่งเบาภาระของสมาชิกในครอบครัว ทั้งพ่อ แม่ ลูกหญิง ลูกชาย และสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัว

กลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง ลูกหลาน และคณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน โดยใช้พื้นที่ศูนย์กลางในชุมชน

ระยะเวลาดำเนินการ 1-2 วัน

รูปแบบดำเนินการ

1. จัดบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นแบบล้อมวงคุยกัน ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละครั้งน่าจะมีจำนวนไม่มากนัก เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

2. สื่อและวิธีการ ได้แก่ บัตรคำ (สุภาษิตคำพังเพย/คำคมที่คาดหวังและไม่คาดหวังต่อผู้หญิงและผู้ชาย) ฟลิปชาร์ต ตารางงาน วีดีทัศน์เรื่อง Impossible Dream การระดมสมอง อภิปรายกลุ่ม การเล่าเรื่อง และการสรุปรวมความคิด

3. ภายหลังการเข้าร่วมกิจกรรม ควรมีการติดตามผลความเปลี่ยนแปลง ว่ามีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่หลังจากเข้าร่วมกิจกรรม

วิธีดำเนินการ

1. ผู้นำสันทนาการ เป็นผู้นำทำกิจกรรมละลายพฤติกรรม เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมทั้งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรู้จักกันมากยิ่งขึ้น กิจกรรมละลายพฤติกรรมอาจเป็นกิจกรรมง่ายๆ และสร้างความสนุกสนาน เช่น ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแนะนำตัวเองสั้นๆ การปรบมือสร้างความพร้อมเพรียง การเต้นตามจังหวะเพลง เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ในแต่ละส่วน สลับกับผู้ให้ข้อมูลหลัก

2. ผู้นำกระบวนการ โดยดำเนินกิจกรรม ดังนี้

2.1 กิจกรรมเรียนรู้การอบรมเลี้ยงดู/การขัดเกลาความเป็นหญิงเป็นชายในครอบครัว

· ผู้นำกระบวนการแจกบัตรคำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม แล้วให้แต่ละคนแสดงความคิดเห็นต่อบัตรคำที่ตนเองได้รับ ว่านึกถึงผู้หญิงหรือผู้ชาย และเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น จากนั้นให้คนอื่นๆ ในกลุ่มร่วมแสดงความคิดเห็นต่อบัตรคำเหล่านั้นด้วย

· นอกจากใช้บัตรคำแล้ว ผู้นำกระบวนการอาจใช้สื่ออื่นๆ เช่น ภาพจากโฆษณา ละครโทรทัศน์ เป็นสื่อนำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมแสดงความคิดเห็น

· ผู้นำกระบวนการสรุปตอนท้ายของกิจกรรมนี้ว่า เป็นเรื่องของบทบาทที่สังคมคาดหวัง (Gender Relations) ที่สังคมมักยึดติดอยู่กับความคิดเคยชินที่ว่า พฤติกรรมหรือคุณลักษณะบางอย่าง (ตามบัตรคำ) เป็นของหญิงหรือของชาย ครอบครัวมีส่วนสำคัญในการตอกย้ำสิ่งเหล่านี้ โดยการอบรมเลี้ยงดูลูกหญิงลูกชายให้แตกต่างกัน แท้จริงแล้วสามารถเป็นสิ่งที่ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ต่างก็ทำได้เหมือนๆ กัน ถ้าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดี ก็ควรสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายกระทำ แต่ถ้าสิ่งใดเป็นสิ่งไม่ดี ก็ไม่ควรกระทำด้วยกันทั้งสองฝ่าย

2.2 กิจกรรมรู้จักบทบาทหน้าที่ภายในบ้านของพ่อ แม่ ลูก หรือสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว

· กิจกรรมนี้จะเปิดโอกาสให้คนในครอบครัว พ่อแม่ลูกหรือผู้ปกครองได้ร่วมพูดคุยถึงกิจวัตรประจำวันของแต่ละคนตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน โดยร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างหญิงกับชาย เด็กกับผู้ใหญ่ คนโสดกับคนไม่โสด คนไม่โสดก่อนมีชีวิตคู่กับภายหลังการมีชีวิตคู่ เพื่อเรียนรู้ร่วมกันว่า ผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ ทำงานต่างกันอย่างไร ชั่วโมงการทำงาน ความสัมพันธ์ในการทำงาน และเพื่อให้ตระหนักว่าเวลาที่หายไปจากชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีผลต่อการสร้างความสุขให้ตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ยังเรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว

· ผู้นำกระบวนการกล่าวสรุปในช่วงท้ายถึงการเรียนรู้ร่วมกันว่า การแบ่งเบาภาระงานภายในครอบครัว ระหว่างพ่อ แม่ ลูก และสมาชิกในครอบครัวที่สมดุลจะทำให้ครอบครัวเกิดความสุขได้ อาจสรุปตอกย้ำอีกครั้งด้วยภาพในวิดีทัศน์เรื่อง Impossible Dream

2.3 กิจกรรมคำมั่นสัญญา เป็นกิจกรรมสุดท้ายให้สมาชิกในครอบครัวร่วมหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสมร่วมกัน อาจใช้วิธีการตั้งปณิธานความสัมพันธ์ คำมั่นสัญญา หรือการใช้บัตรคำรูปหัวใจ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

· ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิดการเรียนรู้ เข้าใจ และตระหนักว่าการเลี้ยงดูและคาดหวังต่อความเป็นหญิงและชายที่แตกต่างกัน เป็นที่มาของปัญหาความไม่เสมอภาคระหว่างหญิงชาย และทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ไม่สมดุล

· ภายหลังเข้าร่วมกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิดความตระหนัก เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว และเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสม โดยเริ่มที่ครอบครัวของตนเอง ด้วยวิธีการง่ายๆ ในการปฏิบัติต่อกัน เช่น การอบรมสั่งสอนและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก ไม่กระทำการกดขี่ รังแก ก้าวร้าว ทำร้าย เอาเปรียบ เลือกปฏิบัติ ทั้งระหว่างหญิงต่อชาย ชายต่อหญิง เด็กกับผู้ใหญ่ และการแบ่งเบาภาระของสมาชิกในครอบครัว

**************************************

กิจกรรมที่ 7

กิจกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น

หลักการและเหตุผล

วัยรุ่น หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีอายุ 9 – 19 ปี เป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญา โดยมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ มีพัฒนาการทางร่างกาย โดยเฉพาะมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ จนมีวุฒิภาวะทางเพศอย่างสมบูรณ์ มีพัฒนาการด้านจิตใจ ซึ่งเป็นระยะที่เปลี่ยนแปลงจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ และมีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยเปลี่ยนจากการพึ่งพาครอบครัวมาเป็นผู้ที่สามารถประกอบอาชีพ และมีรายได้ของตนเอง หรือมีสิทธิทางกฎหมายในเรื่องต่างๆ เช่น ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทำงาน เยาวชนมีอายุ 18 ปีขึ้นไป หากกระทำผิดต้องขึ้นศาลผู้ใหญ่ เป็นต้น ในด้านพัฒนาการทางอารมณ์ และจิตใจ พบว่าวัยรุ่นเป็นวัยอยากรู้ อยากเห็น และอยากทดลอง ต้องการการยอมรับจากเพื่อน

ดังนั้น วัยรุ่นเป็นวัยที่อาจถูกชักจูงได้ง่าย ขาดความนับถือตนเอง รวมถึงขาดทักษะชีวิต ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยง (risk behavior) ในด้านต่างๆ เช่น ขับรถประมาท ยกพวกตีกัน ดื่มสุรา และใช้สารเสพติด มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ระวัง ส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ทั้งนี้ พฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว เป็นสาเหตุการตายของวัยรุ่น โดยเฉพาะเพศหญิง ได้แก่ การทำแท้ง การคลอด การติดเชื้อ HIV ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้

กิจกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น จึงมุ่งเน้นที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่อง

- บทบาททางเพศที่แตกต่างกันระหว่างหญิงชาย เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้อย่างสมดุล

- สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เช่น พัฒนาการทางเพศตามวัย การรักษาสัมพันธภาพกับเพื่อนเพศเดียวกันและต่างเพศ การตัดสินใจและไขปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ

วัตถุประสงค์

1. สร้างความตระหนักและองค์ความรู้เรื่องบทบาทและคุณค่าของความเป็นชาย/หญิงในสังคม พัฒนาการทางเพศ การจัดการอารมณ์ สัมพันธภาพทางเพศ พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่น การเสริมสร้างสุขภาพวัยรุ่น

2. เสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองของวัยรุ่น และมีทักษะในการปฏิเสธต่อพฤติกรรม

ที่เสี่ยงต่อการดำรงชีวิต

กลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มเยาวชน อายุระหว่าง 12 - 19 ปี ในชุมชน

ระยะเวลาดำเนินการ 1-2 วัน

รูปแบบดำเนินการ

1. จัดบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นแบบล้อมวงคุยกัน ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละครั้งน่าจะมีจำนวนไม่มากนัก เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

2. สื่อและวิธีการ ได้แก่ บัตรคำถาม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความเห็นว่า ควรปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์นั้นๆ

วิธีดำเนินการ

1. ผู้นำสันทนาการ เป็นผู้นำทำกิจกรรมละลายพฤติกรรม เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมทั้งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรู้จักกันมากยิ่งขึ้น กิจกรรมละลายพฤติกรรมอาจเป็นกิจกรรมง่ายๆ และสร้างความสนุกสนาน เช่น ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแนะนำตัวเองสั้นๆ การปรบมือสร้างความพร้อมเพรียง การเต้นตามจังหวะเพลง เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ในแต่ละส่วน สลับกับผู้ให้ข้อมูลหลัก

2. ผู้นำกระบวนการ โดยดำเนินกิจกรรม ดังนี้

· แบ่งกลุ่มจำนวนเท่าๆ กัน ผู้นำกระบวนการแจกบัตรคำถาม ให้สมาชิกในกลุ่มแสดงความคิดเห็น

2.1 บทบาททางเพศที่แตกต่างกันระหว่างหญิงชาย

ตัวอย่างคำถาม - คำอธิบาย เช่น

- คำถาม : “น้องๆ คิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า เราสามารถสืบพันธุ์ได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายชายมีอสุจิ ฝ่ายหญิงมีประจำเดือน”

คำอธิบาย : การสืบพันธุ์นั้น หมายถึง การที่อสุจิผสมกับไข่ โดยมุ่งหวังให้เกิดทายาท แต่การมีเพศสัมพันธ์เป็นสัมผัสที่มีเหตุทางอารมณ์ ซึ่งอาจเป็นไปในทางบวกหรือทางลบก็ได้ ดังนั้น ควรคิดอย่างรอบคอบถึงเหตุผลทั้งของเรา และคู่ของเราเมื่อจะมีเพศสัมพันธ์ อย่าให้อีกฝ่ายมาบังคับ และถ้าพร้อมจะมีเพศสัมพันธ์อย่าลืมป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย

- คำถาม : “เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม – สาว เป็นรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง น้องๆคิดว่า ร่างกายของเรามีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง”

คำอธิบาย : เมื่อเราเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หรือ วัยหนุ่มสาว ร่างกายเราจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สูงขึ้น แข็งแรงขึ้น น้ำหนักขึ้น มีสิว ขนขึ้น มีกลิ่นตัว กลิ่นปาก อารมณ์แปรปรวน ในเด็กหญิงจะมีส่วนเว้า ส่วนโค้ง หน้าอกโต มีประจำเดือน ในเด็กชายจะมีกล้ามเนื้อโตขึ้น มีอวัยวะเพศที่ยาวและใหญ่ขึ้น เสียงแตกและทุ้ม ลึก อารมณ์แปรปรวน อาจจะรวมถึงหงุดหงิด สับสน กังวล และมีความรู้สึกทางเพศ เหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเป็นปกติเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว

2.2 สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ

ตัวอย่างคำถาม - คำอธิบาย เช่น

- คำถาม : “การพูดคุยกับคนแปลกหน้าทางอินเตอร์เนต พฤติกรรมแบบนี้ถือว่าเสี่ยงไหม”

คำอธิบาย : การคุยกับคนแปลกหน้าทางอินเตอร์เนตมีโอกาสเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะถ้ามีการแลกเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ หรือนัดพบกันตามลำพัง เพราะคนแปลกหน้าที่ติดต่ออาจไม่ใช่คนดีอย่างที่คิด อาจหวังที่จะหลอกลวงหรือคิดไม่ดีกับเรา หากเห็นว่าจำเป็นต้องนัดเจอกัน ควรรอจนรู้จักกันให้มากขึ้น หากตัดสินใจนัดพบกันควรเป็นที่สาธารณะ และไม่ควรไปคนเดียว

- คำถาม : “ถ้าอีกฝ่ายขอให้ไปอยู่ในที่ส่วนตัว ลับตาคน สองต่อสอง น้องๆ จะพูดว่าอย่างไร”

คำอธิบาย : ลองชวนเขาทำกิจกรรมอื่น ร่วมกับเพื่อนหรือครอบครัวของเรา หรืออาจบอกตรงๆ ว่าไม่อยากไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ ทั้งนี้ต้องรู้จักประเมินความเสี่ยงและรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมาด้วย

- คำถาม : “ถ้าแฟนชวนไปที่บ้าน แล้วชวนให้นอนค้างที่บ้าน น้องๆ จะทำอย่างไร”

คำอธิบาย : การไปนอนค้างบ้านแฟนนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีเพศสัมพันธ์กันเสมอไป แต่การอยู่ใกล้ชิดกันอย่างนั้น โอกาสที่อารมณ์จะพาไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ก็มีสูงมาก ถ้าไม่พร้อมควรบอกแฟนอย่างตรงไปตรงมา หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรชวนเพื่อนๆ ให้อยู่กันหลายๆคน และถ้าเกิดมีเพศสัมพันธ์ขึ้นมาจริงๆ ต้องมั่นใจว่าเป็นเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและใช้ถุงยางอนามัย

- คำถาม : “ถ้าแฟนไม่ใช้ถุงยางอนามัย จะทำอย่างไร”

คำอธิบาย : อย่างแรกควรคิดว่าเราพร้อมหรือยังที่จะรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลที่จะตามมา ซึ่งอาจจะเกิดการตั้งครรภ์ หรือการเกิดการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ถ้าคิดว่ายังไม่พร้อมควรบอกแฟนไปตรงๆ ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะชอบเราน้อยลง เพราะถ้าเขารักเราจริง เขาจะต้องเข้าใจเหตุผลของเรา

· นอกจากใช้บัตรคำแล้ว ผู้นำกระบวนการอาจใช้สื่ออื่นๆ เช่น ภาพจากโฆษณา ละครโทรทัศน์ เป็นสื่อนำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมแสดงความคิดเห็น

3. ผู้นำกระบวนการกล่าวสรุปในช่วงท้ายถึงการเรียนรู้ร่วมกันว่า

“ ร่างกายของเราเมื่อกำลังเข้าสู่วัยรุ่นนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าอนามัยเจริญพันธุ์ เริ่มโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็สามารถสืบพันธุ์ได้ มีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน เช่น มีสิวขึ้น ความสูงและน้ำหนักที่มากขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ วัยรุ่นจะให้ความสนใจเรื่องเพศ อยากเป็นที่รักที่สนใจของคนที่ตนเองสนใจ วิธีที่ดีที่สุดที่จะเตรียมตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ คือการเรียนรู้ เข้าใจและปรับตัว ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องปกติ

การประเมินความเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เป็นทักษะชีวิตที่แต่ละคนควรจะประเมินอันตรายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละสถานการณ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสบายใจ ความพร้อม และความสามารถในการรับผิดชอบของแต่ละคนที่สามารถรองรับผลที่ตามมา

การต่อรองเป็นทักษะที่ประยุกต์ใช้ได้กับทุกๆ สถานการณ์ ถ้าใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงพอแล้วจะช่วยให้เราสามารถบรรลุความสำเร็จทั้งเรื่องการเรียน การทำงาน และเรื่องส่วนตัว และการมีทักษะการต่อรองที่ดี จำเป็นต้องมีการสื่อสารบนรากฐานของเหตุและผล และทั้งสองฝ่ายต้องสบายใจด้วยกัน หากต้องการมีทักษะการต่อรองที่มีประสิทธิผลสำเร็จ ก็ต้องหมั่นฝึกฝน”

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

· เด็กและเยาวชนทั่วไปมีทักษะและภูมิคุ้มกันในการจัดการกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ

· เสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองของวัยรุ่น และมีทักษะในการปฏิเสธต่อพฤติกรรม

ที่เสี่ยงต่อการดำรงชีวิต

กิจกรรมที่ 8

กิจกรรมการพัฒนาสตรีและเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว

หลักการและเหตุผล

กลไกการทำงานที่มีความสำคัญและมีพลังในการขับเคลื่อนมากที่สุดของทุกองค์กร คือ กลไกที่อยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ในการทำงานด้านสังคม หน่วยงานภาครัฐในส่วนกลางถือเป็นผู้รับมอบนโยบายโดยตรงจากรัฐบาล เพื่อนำมากำหนดเป็นแนวทางการดำเนินงานในภาพรวม แต่การจะนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ได้นั้น ย่อมต้องอาศัยกลไกในระดับพื้นที่ เนื่องจากมีความใกล้ชิด และเข้าใจในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ได้มากกว่า

สำหรับการทำงานด้านการพัฒนาสตรีและความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวนั้น มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจโดยตรงในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เกิดจนตาย มีหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในทุกจังหวัดทำหน้าที่ดูแลในพื้นที่คือ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ศูนย์พัฒนาสังคม บ้านพักเด็กและครอบครัว ซึ่งจะต่อยอดการทำงานลงสู่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายใยพื้นที่ต่อไป แต่เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนมากและมีความหลากหลาย อาศัยเพียงกำลังของบุคลากรภาครัฐเพียงส่วนเดียว คงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทั่วถึงและเกิดประสิทธิภาพในระยะเวลาอันสั้น จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ขึ้น เพื่อเป็นกลไกการทำงานในระดับตำบลเพื่อช่วยให้สามารถเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น โดยคณะทำงาน ศพค. จะทำหน้าที่ในการจัดโครงการ/กิจกรรม ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายในตำบลของตนเอง โดยสอดแทรกองค์ความรู้ สาระความบันเทิง ที่เกี่ยวกับการพัฒนาสตรีและเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ทั้งนี้รูปแบบของการจัดกิจกรรม อาจเป็นกิจกรรมที่เน้นหนักไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ค่ายครอบครัวต้านยาเสพติด ความเสมอภาคหญิงชายในครอบครัว ค่ายครอบครัวสัมพันธ์ การยุติความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คณะทำงาน ศพค. สามารถเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำเสนอและเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนาสตรีและเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวได้ โดยการจัดกิจกรรมที่ให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย ที่มีเนื้อหาสาระที่สำคัญโดยสรุป ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบเป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันได้

วัตถุประสงค์

1. เผยแพร่ข้อมูล ความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาสตรีและเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว

กลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มครอบครัวในชุมชน

ระยะเวลาดำเนินการ 1 วัน

รูปแบบดำเนินการ

1. จัดบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นแบบล้อมวงคุยกัน ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละครั้งน่าจะมีจำนวนไม่มากนัก เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

2. การบรรยายให้ความรู้ โดยอาจใช้สื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ เช่น พาวเวอร์พอยต์ วีดีทัศน์ แผ่นโปสเตอร์ เป็นต้น

3. การแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น หลังจากที่มีการให้ข้อมูลความรู้ในเรื่องการพัฒนาสตรีและเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ผู้นำกระบวนการควรมีการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็น โดยให้ผู้ที่เข้าร่วมช่วยกันวิเคราะห์แลกเปลี่ยนกันว่า ในพื้นที่ชุมชนของเรามีปัญหา หรือความกังวลต่อเรื่องใดที่คิดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวของคนในชุมชน เพื่อจะได้เป็นข้อมูลที่จะต่อยอดการจัดกิจกรรมในครั้งต่อๆ ไป ของ ศพค.

วิธีดำเนินการ

1. ผู้นำสันทนาการ เป็นผู้นำทำกิจกรรมละลายพฤติกรรม เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมทั้งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรู้จักกันมากยิ่งขึ้น กิจกรรมละลายพฤติกรรมอาจเป็นกิจกรรมง่ายๆ และสร้างความสนุกสนาน เช่น ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแนะนำตัวเองสั้นๆ การปรบมือสร้างความพร้อมเพรียง การเต้นตามจังหวะเพลง เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ในแต่ละส่วน สลับกับผู้ให้ข้อมูลหลัก

2. ผู้นำกระบวนการ โดยดำเนินกิจกรรม ดังนี้

2.1 การบรรยายให้ความรู้

· ผู้นำกระบวนการบรรยายให้ความรู้ในเรื่องการพัฒนาสตรีและเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว (ใช้ใบความรู้ 1-7 ประกอบการบรรยาย)

· ผู้นำกระบวนการอาจใช้สื่อต่างๆ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ เช่น พาวเวอร์พอยต์ วีดีทัศน์ แผ่นโปสเตอร์ เป็นต้น

2.2 การแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น ผู้นำกระบวนการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็น อาจแยกเป็นกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง กับกลุ่มเด็กและเยาวชน ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันวิเคราะห์แลกเปลี่ยนกันว่า ในพื้นที่ชุมชนของเรามีปัญหา หรือความกังวลต่อเรื่องใดที่คิดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวของคนในชุมชน และนำเสนอ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลที่จะต่อยอดการจัดกิจกรรมในครั้งต่อๆ ไป ของ ศพค.

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

· ประชาชนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวมีข้อมูล ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

· ประชาชนกลุ่มเป้าหมายทราบช่องทางในการเข้าถึงหน่วยงาน หรือบุคลากรในชุมชนที่จะช่วยเฝ้าระวัง แก้ไขปัญหาครอบครัวได้

กิจกรรมที่ 9

ครอบครัวกับการจัดการภัยพิบัติ

หลักการและเหตุผล

ความสูญเสียในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านชีวิตและความเสียหายของที่อยู่อาศัย สัตว์เลี้ยง การดำรงชีวิตความเป็นอยู่ การล่มสลายของชุมชน การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หัวหน้าครอบครัว ลูกหลาน หรือญาติสนิท มิตรสหายของคนในชุมชน ที่เป็นผลจากภัยพิบัติ สิ่งที่เกิดขึ้นจากการอดีตที่ผ่านมาจึงเป็นแรงผลักดันส่งเสริมให้เกิดคลื่นความรู้ ความตื่นตัวในการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ชนรุ่นหลังจึงต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ในการเตรียมรับมือ ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติ และเมื่อเกิดภัย ชุมชนสามารถจัดการกับภัยได้ทันท่วงที ซึ่งจะทำให้ลดระดับความรุนแรงของความเสียหายจากภัยดังกล่าว โดยต้องช่วยเหลือตนเองก่อน ขณะที่รอความช่วยเหลือจากภายนอก คนในชุมชนและสังคมต้องตื่นตัวร่วมมือกัน หันหน้าเข้าหากัน ตักเตือนกันและกันให้ระมัดระวังภัยต่างๆ ในชุมชน

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากการประสานงาน และความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจอย่างมาก จากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และจะก่อให้เกิดความร่วมมือในระดับชุมชน ท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด ตลอดจนถึงระดับประเทศ การเตรียมความพร้อมให้กับคนในชุมชนให้มีความรู้ในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น แนวคิดนี้มุ่งให้คนในชุมชนสามารถช่วยให้ตนเองและครอบครัวปลอดภัยและรอดพ้นจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น โดยสามารถที่จะดำรงชีวิตได้ในระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าระบบการช่วยเหลือจากภาครัฐหรือส่วนต่างๆ จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้ครอบครัวในชุมชนเกิดความตระหนัก ความตื่นตัวในการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

2. เพื่อให้ครอบครัวในชุมชนมีการเตรียมความพร้อมในการจัดการภัยพิบัติ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานรากในการขับเคลื่อน นำเอาความรู้ดั้งเดิมประสบการณ์ที่มีอยู่ และความรู้ใหม่ในเรื่องภัยพิบัติ มาจัดการความรู้ของชุมชนในการป้องกันความเสี่ยงและรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ อย่างเป็นระบบ

กลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มครอบครัวในชุมชน

ระยะเวลาดำเนินการ 1-2 วัน

รูปแบบดำเนินการ

1. สร้างความตระหนักว่า “ครอบครัวในชุมชนกำลังเผชิญกับภัยอะไรอยู่” เริ่มจากการสร้างความตระหนักว่า ตนกำลังเผชิญกับอะไร ให้เข้าใจถึงสาเหตุและสามารถคาดคะเนถึงผลที่อาจเกิดขึ้น บอกเล่าประสบการณ์จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแล้ว

2. ให้เข้าใจว่า “ผลกระทบจากภัยสามารถคาดการณ์ได้” เมื่อครอบครัวในชุมชนตระหนักว่า กำลังเผชิญกับภัยอะไรอยู่ โดยการสำรวจข้อมูลปฏิทินฤดูกาล และประวัติการเกิดภัยในพื้นที่หมู่บ้านชุมชนของตน แนวคิดการป้องกันภัยเชิงรุกที่สำคัญ คือ การประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงภัย การกำหนดมาตรการและวิธีการควบคุม หรือหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และการลดผลกระทบของความเสี่ยง ทั้งนี้ต้องให้สมาชิกในครอบครัวได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในมุมมองของเพศ และวัยที่แตกต่างกัน เพราะผู้ใหญ่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ชาย ผู้หญิง อาจมีผลกระทบจากภัยพิบัติที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน

วิธีดำเนินการ

1. ผู้นำสันทนาการ เป็นผู้นำทำกิจกรรมละลายพฤติกรรม เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมทั้งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรู้จักกันมากยิ่งขึ้น กิจกรรมละลายพฤติกรรมอาจเป็นกิจกรรมง่ายๆ และสร้างความสนุกสนาน เช่น ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแนะนำตัวเองสั้นๆ การปรบมือสร้างความพร้อมเพรียง การเต้นตามจังหวะเพลง เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ในแต่ละส่วน สลับกับผู้ให้ข้อมูลหลัก

2. ผู้นำกระบวนการ ดำเนินกิจกรรม ดังนี้

· แบ่งกลุ่มจำนวนเท่าๆ กัน โดยอาจแบ่งตามวัย เช่น กลุ่มเด็ก กับ กลุ่มผู้ใหญ่ หรือแบ่งตามเพศ เช่น กลุ่มผู้ชาย กับ กลุ่มผู้หญิง ผู้นำกระบวนการเปิดประเด็นคำถามเกี่ยวกับปัญหาภัยพิบัติที่ครอบครัวอาจต้องเผชิญ ว่ามีอะไรบ้าง ให้สมาชิกในกลุ่มให้ข้อมูลและบอกเล่าประสบการณ์ที่เคยพบเจอให้เพื่อนๆ ในกลุ่มฟัง และให้สมาชิกในกลุ่มแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยน สรุปประเด็นว่าการประสบกับภัยพิบัติของบุคคลที่มีความแตกต่างกันทางเพศ และวัยมีสิ่งใดที่เหมือนหรือแตกต่างกันบ้าง นำเสนอข้อสรุปของกลุ่มให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรับฟังและให้ข้อเสนอเพิ่มเติม

· ผู้นำกระบวนการ ให้ทุกคนร่วมกันวิเคราะห์ในประเด็นต่อไปนี้

- ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น (มากน้อยเพียงใด มีเหตุปัจจัยใดที่เพิ่มความเสี่ยง)

- มาตรการที่ ครอบครัวและชุมชน สามารถดำเนินการได้เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

- ให้ครอบครัวและชุมชนร่วมกันกำหนดมาตรการหรือแนวทางการดำเนินงานเบื้องต้น ที่จะเป็นการเตรียมความพร้อมของครอบครัวในการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

· ครอบครัวในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

· ครอบครัวในชุมชนได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์และนำมากำหนดเป็นมาตรการที่ครอบครัวและชุมชนสามารถดูแลตนเองในเบื้องต้นหากเกิดภัยพิบัติได้

กิจกรรมที่ 10

กิจกรรมร้อยรวมคน 3 วัย สานสายใยรักแห่งครอบครัว

หลักการและเหตุผล

ด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคมในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความห่างเหินของสมาชิกครอบครัว มากขึ้น รวมทั้งความรัก ความอบอุ่น การดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกันเริ่มขาดหาย เด็กๆ ขาดการเลี้ยงดูเอาใจใส่ ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง คนวัยทำงานมุ่งแต่จะหาเลี้ยงชีพ จากสภาพปัญหาครอบครัวปัจจุบัน จึงก่อให้เกิดความตระหนักในการส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้เป็นครอบครัวแห่งความรัก ครอบครัวแห่งความสามัคคี ครอบครัวคุณธรรม ครอบครัวแห่งความรู้ และครอบครัวอยู่ดีมีสุข ซึ่งร้อยรวมคน 3 วัยเข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้ 5 แนวคิดหลักของโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว คือ

เตรียมพร้อมก่อนครองคู่ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมก่อนมีครอบครัวด้วยสติและวิจารณญาณ โดยมุ่งเน้นจิตวิทยาและสังคม จารีตประเพณี

เรียนรู้ร่วมกันแต่ในครรภ์ (ทารก - พ่อ - แม่) ส่งเสริมให้มารดาและบุตรในครรภ์มีการพัฒนาการที่สมบูรณ์ และเตรียมความพร้อมให้มารดาและครอบครัวในการดูแลบุตร โดยมุ่งเน้นความรู้ที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ความสัมพันธ์และการช่วยเหลือในครอบครัว

คิดสร้างสรรค์แต่เยาว์วัย สร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นพัฒนาเด็กและเยาวชนตามขั้นตอนพัฒนาการตามวัย

ครอบครัวเสริมกายใจ เฝ้าระวังปัญหา ป้องกัน แก้ไขปัญหาครอบครัว โดยมุ่งเน้น ศีลธรรม จริยธรรม ค่านิยม เศรษฐกิจ จิตวิทยาครอบครัว ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบ รู้จักปัญหาที่เกิดขึ้น และมีมาตรการการแก้ปัญหาครอบครัว - สังคม ในทางที่ถูก

ผู้สูงวัยสานใยรัก ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีสถานภาพบทบาทและคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่กับครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีความสุข มีคุณค่าและศักดิ์ศรี โดยมุ่งเน้น การดูแลรักษาสภาพร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นและดึงประสบการณ์มาใช้ การใช้จิตวิทยาให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนมีค่า พยายามดึงศักยภาพและประสบการณ์ของแต่ละคนมาใช้ มีกิจกรรม ผู้สูงวัยสานสายใยรัก ทัศนคติและค่านิยมของการเตรียมคนผู้สูงอายุไม่ใช่คนแก่ (Old People) แต่เป็นผู้สูงวัยที่ทรงคุณค่า (Senior Citizen) การใช้จิตวิทยาควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์การกีฬาและสันทนาการ

ซึ่งสนองต่อโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระราชูปถัมภ์ของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฎราชกุมารฯ อันเกิดจากพระปณิธานของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ที่ทรงมีพระประสงค์ให้ครอบครัวในสังคมไทยมีความรัก ความอบอุ่น

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ เสริมสร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว

2. เพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกของสมาชิกในครอบครัว ให้เห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว และการมีส่วนร่วมในการดูแลเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และสมาชิกทุกคนในครอบครัว

3. เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเผยแพร่ความรู้ แนะนำวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในลักษณะต่าง ๆ ต่อสมาชิกในครอบครัว

เป้าหมาย

กลุ่มครอบครัวในชุมชน ประมาณ 20-30 ครอบครัว

ระยะเวลาดำเนินการ 1-2 วัน

กลวิธีดำเนินการ

1. กระบวนการสร้างความคุ้นเคย โดยมีผู้นำสันทนาการ ใช้กิจกรรมละลายพฤติกรรมสร้างความใกล้ชิดคุ้นเคยให้กับสมาชิกในครอบครัว เช่น กิจกรรมร้องเพลง ปรบมือเข้าจังหวะ เกมส์ต่างๆ ที่ให้สมาชิกในครอบครัวได้ร่วมกันทำกิจกรรม กล้าแสดงออก เตรียมความพร้อมในการทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป ซึ่งเกมส์กิจกรรมนั้น ต้องเหมาะสมกับวัยของผู้เข้าร่วม

2. ผู้นำกระบวนการ เริ่มกระบวนการ ดังนี้

2.1 กิจกรรมลูกโป่งหลากอารมณ์ แจกลูกโป่งให้ช่วยกันเป่า แล้วนำสีเมจิกมาวาด ตกแต่งลูกโป่งเป็นหน้าตาที่แสดงอารมณ์ต่างๆ ตามจินตนาการ สอนให้แสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม โดยการบอกให้คนอื่นเข้าใจ แทนที่จะร้อง อาละวาด หรือก้าวร้าว เป็นกิจกรรมที่นำไปใช้กับเด็กๆ ได้ ทำให้รู้จักการเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น เป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์อันดีด้านอื่นๆ เป็นทักษะที่เราสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ 3 อย่าง คือ 1) การอ่านอารมณ์และความรู้สึก 2) การฝึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา 3) ฝึกการตอบสนองที่สอดคล้องกัน

2.2 “ชุมชนกับการดูแลผู้สูงอายุ” โดยการบรรยายให้ความรู้เนื้อหาเกี่ยวกับ บทบาทของครอบครัว/ลูกหลานในการดูแลผู้สูงอายุ บทบาทของผู้สูงอายุ ในระยะครอบครัววัยชรา บทบาทของชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุ

2.3 กิจกรรม “คุณ...เป็นพ่อแม่แบบใด...” ให้แบ่งกลุ่มตามประเภทของลักษณะพ่อแม่ที่คุณเป็นในประเภทต่างๆ แล้วเฉลยผลที่เกิดกับลูกจากพ่อแม่ในลักษณะต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงผลดี ผลเสียที่เราได้ปฏิบัติต่อลูก และเกิดการยอมรับในการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น ซึ่งจะมีทั้งพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม เพื่อที่จะได้ปฏิบัติต่อวัยรุ่นได้อย่างถูกต้อง

กิจกรรม คุณ...เป็นพ่อแม่แบบใด...

A ประเภทรักมากและปกป้องมากเกินไป

คือการให้ความรักแก่ลูกมากมาย ทะนุถนอมมากเกินไป

ปฏิบัติดูแลลูกเหมือนเป็นเด็กเล็กๆทั้งๆที่ลูกก็โตแล้ว

ผลที่เกิดกับลูก….

มีความมั่นใจในตัวเองน้อยมาก เพราะไม่เคยตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองเลย

ทำให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนเด็กเลี้ยงเท่าไรก็ไม่รู้จักโต

B ประเภทที่ไม่ต้องการลูก

พ่อแม่ที่มีทัศนคติแบบนี้ก็จะไม่รักลูกและพาลเกลียดลูก

ปฏิบัติต่อลูกด้วยความรุนแรง

ทั้งวาจา พฤติกรรม และสีหน้า และไม่สนใจลูก

ผลที่เกิดกับลูก….

เด็กที่กระด้าง ก้าวร้าว ชอบทะเลาะวิวาท หงุดหงิด

และมีลักษณะต่อต้านสังคม อาจจะเกิดปัญหาสุขภาพจิต ติดยาเสพติด ติดเหล้า ติดการพนัน ลักขโมย

C ประเภทตามใจมากจนไม่มีขอบเขต

พ่อแม่มักจะตามใจลูกทุกอย่าง

โดยเฉพาะทางวัตถุ ลูกจะได้ทุกอย่างตามที่เขาต้องการ

ผลที่เกิดกับลูก

เมื่อลูกออกสู่สังคมนอกบ้าน ก็จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ยาก

ทำให้เกิดปัญหาในการปรับตัว

เอาแต่ใจตัวเองและขาดความอดทน

มีสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นที่ไม่ราบรื่น

D ประเภทวิตกกังวลหวาดกลัวมากเกินกว่าเหตุ

พ่อแม่มักจะตีตนไปก่อนไข้ แสดงความวิตกกังวล

ในตัวลูกมากเกินกว่าเหตุ

ผลที่เกิดกับลูก

ลูกเติบโตเป็นเด็กที่มีแต่ความวิตกกังวล

หวาดกลัวห่วงใยในเหตุการณ์ต่างๆ

จนไม่มีความสุขและขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง

E ประเภทเจ้าระเบียบจัด พ่อแม่แบบนี้จะเป็นคนระเบียบจัด

ต้องการให้ทุกอย่างเรียบร้อย เป็นระเบียบถูกต้อง

ทุกอย่างไม่รู้จักผ่อนปรน ต้องคอยชี้แจงซ้ำซาก ตลอดเวลา

ผลที่เกิดกับลูก

เด็กที่เต็มไปด้วยความผิดหวัง และมีปมด้อย

เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดี ไม่มีความสามารถ

เพราะทำอะไรไม่เคยถูกใจพ่อแม่เลย

2.4 “การสื่อสารสร้างสุขในครอบครัว” โดยใช้กิจกรรมดังนี้

กิจกรรมที่ 1 “คุณรู้สึกอย่างไรกับคำพูดเหล่านี้” ผู้นำกระบวนการอ่านประโยคเหล่านี้ แล้วให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบอกความรู้สึกที่ได้ยินคำพูดในประโยคต่างๆเหล่านี้ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

- โอ๊ย .. ทำงานเหนื่อยๆ กลับมาถึงบ้านแทนที่จะสบายใจ ดูซิแก้วน้ำวางเกลื่อนบ้าน รองเท้าก็วางระเกะระกะ บอกให้เก็บผ้าก็ไม่ยอมเก็บ คนบ้านนี้ไม่เห็นใจกันเลยปล่อยให้ฉันเหนื่อยอยู่คนเดียว

- นี่เบอร์ใคร โทรออกหลายรอบ ชื่อก็ไม่เม็มไว้ แล้วหมู่นี้ชักมีอะไรแปลกๆ ทำไมกลับบ้านค่ำได้ทุกวัน

- ขอเงินไปลงทุน เจ๊งไปกี่ครั้งแล้ว ครั้งนี้ให้ไปทำอีก แน่ใจหรือว่าจะไม่เจ๊งอีกที จะให้ล่มจมกันอีกหรือยังไง

- บอกว่าเดี๋ยวๆๆ หลายเดี๋ยวแล้ว หยุดโทรศัพท์ แล้วเข้านอนเดี๋ยวนี้ ก่อนที่ฉันจะหมดความอดทนกับแก

- ไม่ต้องมาพูดแก้ตัวอะไรแล้ว ฉันเบื่อที่จะฟัง รับปากอะไรก็ไม่เห็นทำได้สักที

- แกมันใจดำเหมือนพ่อแก แกไม่น่าจะเกิดเป็นลูกฉันเลย มีแต่ทำให้ฉัน ปวดหัวได้ทุกวัน

- นี่ดูตัวอย่างซิ ..คนที่ไม่กตัญญูพ่อแม่ เป็นยังไง ทำอะไรก็ไม่เจริญ พระท่านบอกว่า...”

กิจกรรมที่ 2 “บอกความรู้สึก” โดยใช้การเขียนลงในตาราง ผู้นำกระบวนการแจกกระดาษให้สมาชิกในครอบครัวเขียนถึงกัน

(1) สมาชิกในครอบครัว (แต่ละคน) เขียนบอกความรู้สึกต่อกัน โดยจะเลือกเขียนถึงสมาชิกคนใดในครอบครัว หรือทุกคนก็ได้ แบ่งออกเป็น 4 ส่วนคือ

1.บอกความรู้สึกของเราที่เกิดขึ้นในครั้งแรก (ความรู้สึกแท้ๆ)

2. บอกพฤติกรรมที่เรายอมรับไม่ได้อย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา

3. บอกผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรม

4. บอกความต้องการ / สิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น

ตัวอย่าง (พ่อเขียนถึงลูก)

(2) ให้จับกลุ่มครอบครัว (ครอบครัวคิดด้วยกัน) นึกถึงสถานการณ์ที่ขัดแย้งในครอบครัว 1 สถานการณ์ แบ่งออกเป็น 4 ส่วนคือ

1.บอกความรู้สึกของเราที่เกิดขึ้นในครั้งแรก (ความรู้สึกแท้ๆ)

2. บอกพฤติกรรมที่เรายอมรับไม่ได้อย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา

3. บอกผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรม

4. บอกความต้องการ / สิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น

ผู้นำกระบวนการสรุปกิจกรรมนี้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสาร คำพูดในเชิงบวกและลบกับผลที่ตามมา และเรียนรู้ถึงหลักการสื่อสารที่สร้างสรรค์และสร้างความสุขให้ครอบครัว

(3) ผู้นำสรุปประเด็นกิจกรรมทั้งหมดและประเมินผลการจัดกิจกรรม

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. ครอบครัวมีการเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดี ได้เปิดใจแลกเปลี่ยนความรู้สึกความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

2. ครอบครัวได้เรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่เหมาะสมและจำเป็นกับตนเองและครอบครัว มีความรู้ความเข้าใจในการเสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้อยู่ดี มีสุข และได้รับการถ่ายทอดการสร้างจิตสำนึกรักครอบครัวและชุมชน

หมายเหตุ การจัดกิจกรรมต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม เช่น วัยของสมาชิกครอบครัวที่มาร่วมกิจกรรมและเวลาที่จัดกิจกรรม

การรายงานผลการจัดกิจกรรม

การรายงานผลการจัดกิจกรรมของ ศพค. รายงานตามแบบ ศพค.มฐ.

โดย จังหวัดดำเนินการจัดส่งแบบรายงานดังกล่าว ส่งให้สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว 2 งวด คือ งวดที่ 1 ภายในเดือนมีนาคม งวดที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม ทางไปรษณีย์ หรือ อีเมล์แอดเดรส family_center08@hotmail.com

ทั้งนี้ สค. จะใช้ข้อมูลจากแบบรายงาน ศพค.มฐ. สรุปเป็นข้อมูลผลการดำเนินงานโครงการศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนของจังหวัด เพื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณรายศูนย์ และรายงานให้กระทรวงฯ ทราบต่อไป

หมายเหตุ : สามารถดาวน์โหลด กรอบกิจกรรม แบบรายงาน ศพค.มฐ. ตัวอย่างการกรอกแบบรายงาน ศพค.มฐ. และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้จากเว็บไซต์ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน http://sorporkor.women-family.go.th

***************************

ตัวอย่างการกรอกแบบขอรับเงินอุดหนุน

ตัวอย่างการกรอกแบบขอรับเงินอุดหนุน กิจกรรมที่ 1 (Download)

ตัวอย่างการกรอกแบบขอรับเงินอุดหนุน กิจกรรมที่ 2 (Download)

ตัวอย่างการกรอกแบบขอรับเงินอุดหนุน กิจกรรมที่ 3 (Download)

ตัวอย่างการกรอกแบบขอรับเงินอุดหนุน กิจกรรมที่ 4 (Download)

ตัวอย่างการกรอกแบบขอรับเงินอุดหนุน กิจกรรมที่ 5 (Download)

ตัวอย่างการกรอกแบบขอรับเงินอุดหนุน กิจกรรมที่ 6 (Download)

ตัวอย่างการกรอกแบบขอรับเงินอุดหนุน กิจกรรมที่ 7 (Download)

ตัวอย่างการกรอกแบบขอรับเงินอุดหนุน กิจกรรมที่ 8 (Download)

ตัวอย่างการกรอกแบบขอรับเงินอุดหนุน กิจกรรมที่ 9 (Download)

ตัวอย่างการกรอกแบบขอรับเงินอุดหนุน กิจกรรมที่ 10 (Download)

----------------------------------------