โขน - รามเกียรติ์

โขน

โขน (อังกฤษ: Khon) เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความสง่างาม อลังการและอ่อนช้อย การแสดงประเภทหนึ่งที่ใช้ท่ารำตามแบบละครใน แตกต่างเพียงท่ารำที่มีการเพิ่มตัวแสดง เปลี่ยนทำนองเพลงที่ใช้ในการดำเนินเรื่องไม่ให้เหมือนกับละคร แสดงเป็นเรื่องราวโดยลำดับก่อนหลังเหมือนละครทุกประการ ซึ่งไม่เรียกการแสดงเหล่านี้ว่าละครแต่เรียกว่าโขนแทน มีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานจดหมายเหตุลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการกล่าวถึงการแสดงโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทาง ประกอบกับเสียงซอและเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ ผู้แสดงจะสวมหน้ากากปิดบังใบหน้าตนเองและถืออาวุธ

โขนเป็นจุดศูนย์รวมของศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนงเช่น วรรณกรรม วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ โดยนำเอาวิธีเล่นและการแต่งตัวบางชนิดมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ มีท่าทางการต่อสู้ที่โลดโผน ท่ารำ ท่าเต้นเช่น ท่าปฐมในการไหว้ครูของกระบี่กระบอง รวมทั้งการนำศิลปะการพากย์ การเจรจา หน้าพาทย์และเพลงดนตรีเข้ามาประกอบการแสดง ในการแสดงโขน ลักษณะสำคัญอยู่ที่ผู้แสดงต้องสวมหัวโขน ซึ่งเป็นเครื่องสวมครอบหุ้มตั้งแต่ศีรษะถึงคอ เจาะรูสองรูบริเวณดวงตาให้สามารถมองเห็น แสดงอารมณ์ผ่านทางการร่ายรำ สร้างตามลักษณะของตัวละครนั้น ๆ เช่น ตัวยักษ์ ตัวลิง ตัวเทวดา ฯลฯ ตกแต่งด้วยสี ลงรักปิดทอง ประดับกระจก บ้างก็เรียกว่าหน้าโขน

ในสมัยโบราณ ตัวพระและตัวเทวดาต่างสวมหัวโขนในการแสดง ต่อมาภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงไม่ต้องสวมหัวโขน คงใช้ใบหน้าจริงเช่นเดียวกับละคร แต่งกายแบบเดียวกับละครใน เครื่องแต่งกายของตัวพระและตัวยักษ์ในสมัยโบราณมักมีสองสีคือ สีหนึ่งเป็นสีเสื้อ อีกสีหนึ่งเป็นสีแขนโดยสมมุติแทนเกราะ เป็นลายหนุนประเภทลายพุ่ม หรือลายกระจังตาอ้อย ส่วนเครื่องแต่งกายตัวลิงจะเป็นลายวงทักษิณาวรรต โดยสมมุติเป็นขนของลิงหรือหมี ดำเนินเรื่องด้วยการกล่าวคำนำเล่าเรื่องเป็นทำนองเรียกว่าพากย์อย่างหนึ่ง กับเจรจาเป็นทำนองอย่างหนึ่ง ใช้กาพย์ยานีและกาพย์ฉบัง โดยมีผู้ให้เสียงแทนเรียกว่าผู้พากย์และเจรจา มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องบทให้ ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าประกอบการแสดง นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุท ปัจจุบันสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มีหน้าที่หลักในการสืบทอดการฝึกหัดโขน และกรมศิลปากร มีหน้าที่ในการจัดการแสดง

ประวัติ

ทศกัณฐ์หน้าสีทอง ตอนทศกัณฐ์ลงสวนเกี้ยวนางสีดา

ทศกัณฐ์หน้าสีทอง ตอนทศกัณฐ์ลงสวนเกี้ยวนางสีดา

ละครใน ต้นแบบของการแสดงโขน

โขนจัดเป็นนาฏกรรมที่มีความเป็นศิลปะเฉพาะของตนเอง ไม่ปรากฏชัดแน่นอนว่าคำว่า "โขน" ปรากฏขึ้นในสมัยใด แต่มีการเอ่ยถึงในวรรณคดีไทยเรื่องลิลิตพระลอที่กล่าวถึงโขนในงานแสดงมหรสพ ระหว่างงานพระศพของพระลอ พระเพื่อนและพระแพงว่า "ขยายโรงโขนโรงรำ ทำระทาราวเทียน"[ โดยมีข้อสันนิษฐานว่าคำว่าโขนนั้น มีที่มาจากคำและความหมายในภาษาต่าง ๆ ดังนี้

  • คำว่าโขนในภาษาเบงคาลี ซึ่งปรากฏคำว่า "โขละ" หรือ "โขล" (บางครั้งเขียนด้วยคำว่า "โขฬะ") ที่เป็นชื่อเรียกของเครื่องดนตรีประเภทหนังชนิดหนึ่งของฮินดู ลักษณะและรูปร่างคล้ายคลึงกับตะโพนของไทย ไม่มีขาตั้ง ทำด้วยดิน ไม่มีสายสำหรับถ่วงเสียง มีเสียงดังค่อนข้างมาก จัดเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมในแคว้นเบงกอล ประเทศอินเดีย ใช้สำหรับประกอบการละเล่นชนิดหนึ่ง เรียกว่ายาตราหรือละครเร่ที่คล้ายคลึงกับละครชาตรี โดยสันนิษฐานว่าเครื่องดนตรีชนิดนี้ เคยถูกนำมาใช้ประกอบการเล่นนาฏกรรมชนิดหนึ่ง จึงเรียกว่าโขลตามชื่อของเครื่องดนตรี
  • คำว่าโขนในภาษาทมิฬ มีจุดเริ่มต้นจากคำว่าโขล ซึ่งมีความใกล้เคียงกับโกลหรือโกลัมในภาษาทมิฬ หมายความถึงเพศหรือการแต่งตัว การประดับตกแต่งร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าให้สวยงามตามแต่ลักษณะของเพศหญิงและเพศชาย หรืออีกความหมายหนึ่งของโกลหรือโกลัมคือการใช้แป้งโรยประดับตกแต่งหน้าบ้าน
  • คำว่าโขนในภาษาอิหร่าน มีที่มาจากคำว่าษูรัต ควาน (อังกฤษ: Surat khwan) หมายความถึงตุ๊กตาหรือหุ่น ซึ่งใช้สำหรับประกอบการแสดง โดยมีผู้ขับร้องและให้เสียงแทนตัวหุ่น เรียกว่าควานหรือโขน (อังกฤษ: Khon) มีความคล้ายคลึงกับผู้พากย์และผู้เจรจาของการแสดงโขนในปัจจุบัน
  • คำว่าโขนในภาษาเขมร เป็นการกล่าวถึงโขนในพจนานุกรมภาษาเขมร ซึ่งหมายความถึงละคร แต่เขียนแทนว่าละโขน ที่หมายความถึงการแสดงมหรสพอย่างหนึ่ง

จากข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าโขนเป็นคำมาจากภาษาใด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ระบุความหมายของโขนเอาไว้ว่า "โขนหมายถึงการเล่นอย่างหนึ่งคล้ายละครรำ แต่เล่นเฉพาะในเรื่องรามเกียรติ์ โดยผู้แสดงสวมหัวจำลองต่าง ๆ ที่เรียกว่าหัวโขน" หรือหมายความถึงไม้ใช้ต่อเสริมหัวเรือท้ายเรือให้งอนเชิดขึ้นไปที่เรียกว่าโขนเรือ หรือใช้สำหรับเรียกเรือชนิดหนึ่งที่มีโขนว่าเรือโขนเช่น เรือโขนขนาดใหญ่น้อยเหลือหลายในลิลิตพยุหยาตรา หรือหมายความถึงส่วนสุดทั้งสองข้างของรางระนาดหรือฆ้องวงใหญ่ที่มีลักษณะงอนขึ้นว่าโขน

วงปี่พาทย์ที่ใช้ในการแสดงโขน

ในสมัยของสมเด็จพระนาราย์มหาราช ได้มีการกล่าวถึงโขนโดยลาลูแบร์ เอาไว้ว่า "โขนนั้น เป็นการร่ายรำเข้า ๆ ออก ๆ หลายคำรบ ตามจังหวะซอและเครื่องดนตรีอย่างอื่นอีก ผู้แสดงนั้นสวมหน้ากาก (หัวโขน) และถืออาวุธ แสดงบทหนักไปในทางสู้รบกันมากกว่าจะเป็นการร่ายรำ และมาตรว่าการแสดงส่วนใหญ่จะหนักไปในทางโลดเต้นเผ่นโผนโจนทะยาน และวางท่าอย่างเกินสมควรแล้ว นาน ๆ ก็จะหยุดเจรจาออกมาสักคำสองคำ หน้ากาก (หัวโขน) ส่วนใหญ่นั้นน่าเกลียด เป็นหน้าสัตว์ที่มีรูปพรรณวิตถาร (ลิง) หรือไม่เป็นหน้าปีศาจ (ยักษ์) " ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อมหรสพในอดีตของชาวไทยในสายตาของชาวต่างประเทศ

การแสดงโขนโดยทั่วไปนิยมแสดงเรื่องรามยณะหรือรามเกียรติ์ ในอดีตกรมศิลปากรเคยจัดแสดงเรื่องอุณรุฑ แต่ไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ มีหลายสำนวน ทั้งที่มีการประพันธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะบทประพันธ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ นิยมแสดงตามสำนวนของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่กรมศิลปากรได้ปรับปรุงเป็นชุดเป็นตอนสำหรับแสดงเป็นโขนฉาก ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็เคยทรงพระราชนิพนธ์บทร้องและบทพากย์ไว้ถึง 6 ชุด ได้แก่ ชุดนางสีดาหาย ชุดเผากรุงลงกา ชุดพิเภกถูกขับ ชุดจองถนน ชุดประเดิมศึกลงกาและชุดนาคบาศ

แต่เดิมนั้นการแสดงโขนจะไม่มีการสร้างฉากประกอบการแสดงตามท้องเรื่อง การดำเนินเรื่องราวต่าง ๆ เป็นแบบจินตนาการถึงฉากหรือสถานที่ในเรื่องราวเอง การจัดฉากในการแสดงโขนเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยที่ทรงคิดสร้างฉากประกอบการแสดงโขนบนเวทีขึ้น คล้ายกับการแสดงละครดึกดำบรรพ์ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงคิดขึ้น

ประเภทของโขน

การแสดงโขนกลางแปลง เรื่องรามเกียรติ์

โขนเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มักนิยมแสดงเป็นมหกรรมบูชาเจ้านายชั้นสูงเช่น แสดงในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระศพ แสดงเป็นมหรสพสมโภชเช่น ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และแสดงเป็นมหรสพเพื่อความบันเทิงในโอกาสทั่ว ๆ ไป นิยมแสดงเพียง 3 ประเภทคือ โขนกลางแปลง โขนหน้าจอและโขนฉาก สำหรับโขนนั่งราวหรือโขนโรงนอกไม่นิยมจัดแสดง เนื่องจากเป็นการแสดงโขนที่มีแต่บทพากย์และบทเจรจาเท่านั้น ไม่มีบทร้อง ใช้ราวไม้กระบอกแทนเตียงสำหรับนั่ง และโขนโรงในซึ่งเป็นศิลปะที่โขนหน้าจอนำไปแสดง แต่เดิมไม่มีองค์ประกอบจำนวนมาก ต่อมาภายหลังเมื่อมีความต้องการในการแสดงมากขึ้น โขนจึงมีวิวัฒนาการพัฒนาเป็นลำดับ แบ่งเป็น 5 ประเภทคือ

โขนกลางแปลง

โขนกลางแปลงเป็นการเล่นโขนกลางแจ้ง ไม่มีการสร้างโรงแสดง ใช้ภูมิประเทศและธรรมชาติเป็นฉากในการแสดง ผู้แสดงทั้งหมดรวมทั้งตัวพระต้องสวมหัวโขน นิยมแสดงตอนยกทัพรบ วิวัฒนาการมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์เรื่องกวนน้ำอมฤตที่ใช้เล่นในพิธีอินทราภิเษก ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยนำวิธีการแสดงคือการจัดกระบวนทัพและการเต้นประกอบหน้าพาทย์มาใช้ แต่เปลี่ยนมาเล่นเรื่องรามเกียรติ์แทน มีการเต้นประกอบหน้าพาทย์และอาจมีบทพาทย์และเจรจาบ้าง แต่ไม่มีบทร้อง

เมื่อ พ.ศ. 2339 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีการเล่นโขนในงานฉลองอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมชนกาธิราช โดยโขนวังหน้าเป็นทัพทศกัณฐ์ฝ่ายลงกา และโขนวังหลังเป็นทัพพระรามฝ่ายพลับพลา แลัวยกทัพมาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารความว่า "ในการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐิครั้งนั้น มีโขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลังและวังหน้า แล้วประสมโรงเล่นกันกลางแปลง เล่นเมื่อศึกทศกัณฐ์ยกทัพกับสิบขุนสิบรถ โขนวังหลังเป็นทัพพระราม ยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวัง โขนวังหน้าเป็นทัพทศกัณฐ์ ยกออกจากพระราชวังบวรฯ มาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงกันดังสนั่นไป"

ซึ่งการแสดงโขนในครั้งนั้น เกิดการรบกันจริงระหว่างผู้แสดงทั้งสองฝ่าย จนเกิดการบาดหมางระหว่างวังหน้าและวังหลัง จนกระทั่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ต้องเสด็จมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้แก่วังหน้าและวังหลัง ทั้งสองฝ่ายจึงยอมเลิกบาดหมางซึ่งกันและกัน ทำให้เป็นข้อสันนิษฐานว่าเหตุใดการแสดงโขนกลางแปลงจึงนิยมแสดงตอนยกทัพรบและการรบบนพื้น มีเครื่องดนตรีวงปี่พาทย์ไม่ต่ำกว่าสองวงในการบรรเลง

โขนนั่งราว

การแสดงโขนนั่งราว

โขนนั่งราวหรือเรียกอีกอย่างว่าโขนโรงนอก วิวัฒนาการมาจากโขนกลางแปลง เป็นโขนที่แสดงบนโรงที่ปลูกสร้างขึ้นสำหรับแสดง ตัวโรงมักมีหลังคาคุ้มกันแสงแดดและสายฝน ไม่มีเตียงสำหรับผู้แสดงนั่ง มีเพียงราวทำจากไม้ไผ่วางพาดตามส่วนยาวของโรงเท่านั้น มีช่องให้ผู้แสดงในบทของตัวพระหรือตัวยักษ์ ที่มีตำแหน่งและยศถาบรรดาศักดิ์ สามารถเดินวนได้รอบราวซึ่งสมมุติให้เป็นเตียง ในส่วนผู้แสดงที่รับบทเป็นเสนายักษ์ เขนยักษ์ เสนาลิงหรือเขนลิง คงนั่งพื้นแสดงตามปกติ

มีการพากย์และเจรจา ไม่มีบทขับร้อง วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์เช่น กราวใน กราวนอก ฯลฯ ในการแสดงใช้ปี่พาทย์สำหรับบรรเลงเพลงถึงสองวง เนื่องจากต้องบรรเลงเป็นจำนวนมาก โดยตำแหน่งของปี่พาทย์ตัวแรกจะตั้งอยู่บริเวณหัวโรง ตำแหน่งของปี่พาทย์ตัวที่สองจะตั้งอยู่บริเวณท้ายโรง และกลายเป็นที่มาของการเรียกว่า "วงหัวและวงท้ายหรือวงซ้ายและวงขวา"

โขนโรงใน

โขนโรงในเป็นโขนที่นำศิลปะการแสดงของละครใน เข้ามาผสมผสานระหว่างโขนกับละครใน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 รวมทั้งมีราชกวีภายในราชสำนัก ช่วยปรับปรุงขัดเกลาและประพันธ์บทพากย์ บทเจรจาให้มีความคล้องจอง ไพเราะสละสลวยมากยิ่งขึ้น โดยนำท่ารำท่าเต้น และบทพากย์เจรจาตามแบบโขนมาผสมกับการขับร้อง เป็นการปรับปรุงวิวัฒนาการของโขน

ในการแสดงโขนโรงใน ผู้แสดงเป็นตัวพระ ตัวนางและเทวดา เริ่มที่จะไม่ต้องสวมหัวโขนในการแสดง มีการพากย์และเจรจาตามแบบฉบับของการแสดงโขน นำเพลงขับร้องประกอบอากัปกิริยาอาการของตัวละคร และเปลี่ยนมาแสดงภายในโรงแบบละครในจึงเรียกว่าโขนโรงใน มีปี่พาทย์บรรเลงสองวง ปัจจุบันโขนที่กรมศิลปากรนำออกแสดงนั้น ใช้ศิลปะการแสดงแบบโขนโรงในซึ่งเป็นการแสดงระหว่างโขนกลางแปลงและโขนหน้าจอ

โขนหน้าจอ

การเชิดหนังใหญ่ในการแสดงโขนหน้าจอ

โขนหน้าจอเป็นโขนที่แสดงหน้าจอหนังใหญ่ ซึ่งใช้สำหรับแสดงหนังใหญ่หรือหนังตะลุง โดยผู้แสดงโขนออกมาแสดง สลับกับการเชิดตัวหนัง ที่ฉลุแกะสลักเป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์อย่างสวยงามวิจิตรบรรจง เรียกว่า "หนังติดตัวโขน" ซึ่งในการเล่นหนังใหญ่ จะมีการเชิดหนังใหญ่อยู่หน้าจอผ้าขาวแบบจอหนังใหญ่ ยาว 7 วา 2 ศอก ริมขอบจอใช้ผ้าสีแดงและสีน้ำเงินเย็บติดกัน ใช้เสาจำนวน 4 ต้นสำหรับขึงจอ ปลายเสาแต่ละด้านประดับด้วยหางนกยูงหรือธงแดง มีศิลปะสำคัญในการแสดงคือการพากย์และเจรจา ใช้เครื่องดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดง ผู้เชิดตัวหนังจะต้องเต้นตามจังหวะดนตรีและลีลาท่าทางของตัวหนัง

นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ภายหลังยกเลิกการแสดงหนังใหญ่คงเหลือเฉพาะโขน โดยคงจอหนังไว้พอเป็นพิธี เนื่องจากผู้ดูนิยมการแสดงที่ใช้คนแสดงจริงมากกว่าตัวหนัง จึงเป็นที่มาของการเรียกโขนที่เล่นหน้าจอหนังว่าโขนหน้าจอ มีการพัฒนาจอหนังที่ใช้แสดงโขน ให้มีช่องประตูสำหรับเข้าออก โดยวาดเป็นซุ้มประตูเรียกว่าจอแขวะ โดยที่ประตูทางด้านซ้ายวาดเป็นรูปค่ายพลับพลาของพระราม ส่วนประตูด้านขวาวาดเป็นกรุงลงกาของทศกัณฐ์ ต่อมาภายหลังจึงมีการยกพื้นหน้าจอขึ้นเพื่อกันคนดูไม่ให้เกะกะตัวแสดงเวลาแสดงโขน สำหรับโขนหน้าจอ กรมศิลปากรเคยจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้รับชมในงานฉลองวันสหประชาชาติที่สนามเสือป่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2491 และงานฟื้นฟูประเพณีสงกรานต์ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 13 เมษายน - 15 เมษายน พ.ศ. 2492

โขนฉาก

โขนฉากเป็นการแสดงโขนที่ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรก ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้มีการจัดฉากในการแสดงแบบละครดึกดำบรรพ์ ประกอบตามท้องเรื่อง แบ่งเป็นฉากเป็นองก์ เข้ากับเหตุการณ์และสถานที่ จึงเรียกว่าโขนฉาก ปัจจุบันการแสดงโขนของกรมศิลปากร นอกจากจะแสดงโขนโรงในแล้ว ยังจัดแสดงโขนฉากควบคู่กันอีกด้วยเช่น ชุดปราบกากนาสูร ชุดมัยราพณ์สะกดทัพ ชุดนางลอย ชุดนาคบาศ ชุดพรหมาสตร์ ชุดศึกวิรุญจำบัง ชุดทำลายพิธีหุงน้ำทิพย์ ชุดสีดาลุยไฟ และปราบบรรลัยกัลป์ ชุดหนุมานอาสา ชุดพระรามเดินดงและชุดพระรามครองเมือง

ซึ่งในการแสดงโขนทุกประเภท มีวิวัฒนาการมายาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน รูปแบบและวิธีการแสดงของโขนได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย แต่คงรูปแบบและเอกลักษณ์เฉพาะของการแสดงเอาไว้

โขนนอกตำรา

นอกจากประเภทของโขนต่าง ๆ ทั้ง 5 ประเภทแล้ว ยังมีการแสดงโขนนอกตำราที่ทางกรมศิลปากรไม่จัดให้รวมอยู่ในประเภทของโขน ได้แก่

  • โขนสด

โขนสด เป็นการแสดงที่ผสมผสานทางวัฒนธรรม ที่ปรับปรุงมาจากการแสดงโขนให้มีความเรียบง่าย มีการปรับเปลี่ยนลดท่ารำ การแต่งกาย การขับร้อง คำพากย์และการเจรจา เป็นการแสดงที่เกิดจากผสมผสานการแสดง 3 ชนิดคือ โขน หนังตะลุงและลิเก ไม่มีการพากย์เสียงและเจรจา โดยผู้แสดงจะเป็นผู้พูดบทเจรจาเอง แต่งกายยืนเครื่อง สวมหัวโขนบนศีรษะแต่ไม่คลุมหน้า สามารถมองเห็นใบหน้าของผู้แสดงได้อย่างชัดเจน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในชนบท แสดงด้วยกิริยาท่าทางโลดโผน จริงจังกว่าการแสดงโขนมาก

  • โขนหน้าไฟ

โขนหน้าไฟ เป็นการแสดงโขนที่มักนิยมจัดแสดงในตอนกลางวัน หรือแสดงเฉพาะตอนพระราชทานเพลิงศพ เป็นการแสดงในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ โดยมีจุดประสงค์ในการแสดงเพื่อเป็นการแสดงความเคารพและให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิตหรือเจ้าภาพของงาน รวมทั้งเป็นการแสดงคั่นเวลาให้แก่ผู้ที่มาร่วมงานได้ชมการแสดงก่อนถึงเวลาพระราชทานเพลิงจริง แต่เดิมโขนหน้าไฟใช้สำหรับในงานพระราชพิธี รัฐพิธีหรืองานของเจ้านายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง เสนาขุนนางอำมาตย์เช่น งานถวายพระเพลิงพระศพพระบรมวงศ์นานุวงศ์ ณ บริเวณทุ่งพระเมรุหรือท้องสนามหลวง

  • โขนนอนโรง

โขนนอนโรง เป็นการแสดงโขนที่มักนิยมแสดงในเวลาบ่าย ก่อนวันแสดงจริงของโขนนั่งราว แสดงตอน "เข้าสวนพิราพ" เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น มีปี่พาทย์สองวงในการบรรเลงเพลงโหมโรง แสดงเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ โดยก่อนแสดงจะมีผู้แสดงออกไปเต้นกระทุ้งเสาทั้ง 4 มุมของโรงแสดง ซึ่งการกระทุ้งเสานั้น เป็นการทดสอบความแข็งแรงของเวทีในการรับน้ำหนักตัวของผู้แสดง สมัยก่อนเวทีสำหรับแสดงใช้วิธีขุดหลุมฝังเสาและใช้ดินกลบ ทำให้ระหว่างทำการแสดงเวทีเกิดการทรุดตัว เป็นเหตุผลให้อาจารย์ผู้ทำการฝึกสอน มักให้ผู้แสดงไปเต้นตามหัวเสาทั้ง 4 มุมของเวที เพื่อให้การเต้นนั้นช่วยกระทุ้งหน้าดินที่ฝังเสาไว้ให้เกิดความแน่นมากขึ้น

หลังแสดงเสร็จ ผู้แสดงมักจะนอนเฝ้าโรงแสดงเพื่อแสดงโรงนั่งราวต่อในวันรุ่งขึ้น ในอดีตโขนนอนโรงเคยแสดงมาแล้วสองครั้งคือ ครั้งแรกแสดงในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในงานสมโภชพระเศวตคชเดน์ดิลก และครั้งที่สองในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แสดงที่บริเวณท้องสนามหลวงในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 10 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2475

โขนชักรอก

โขนชักรอก เป็นการแสดงโขนที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้สันนิษฐานได้ว่า โขนชักรอกนั้นมีการตั้งแต่ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นการแสดงโขนในโรงแสดงที่ปลูกขึ้นโดยเฉพาะ ยกพื้นสูงและมีหลังคา แสดงเหมือนกับโขนทุกประการ แตกต่างเพียงแต่ผู้แสดงนั้นสามารถลอยตัวขึ้นไปในอากาศด้วยการชักรอก มีอุปกรณ์ที่ใช้เป็นจำนวนมาก เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โขนชักรอกไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากนัก

กรมศิลปากรเคยจัดแสดงโขนชักรอกให้ประชาชนได้ชม เมื่อคราวงานเทศกาลวัดอรุณราชวราราม ร.ศ. 100 การจัดแสดงโขนชักรอกครั้งนี้ กรมศิลปากรได้ร่วมมือกับบริษัทออร์กาไนเซอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อนอนุรักษ์วัดอรุณและการแสดงที่หายากในปัจจุบัน ระหว่างวันที่ 9 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 เวลา 17.00 - 22.00 น. โดยใช้พื้นที่บริเวณหน้าวัดเป็นโรงแสดง มีพระปรางค์วัดอรุณเป็นฉากหลัง

โขนในพระราชสำนัก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผู้ก่อตั้งคณะโขนสมัครเล่นตามแบบธรรมเนียมโบราณ

ในสมัยโบราณข้าราชการ มหาดเล็กที่รับราชการในสำนักพระราชวัง มักได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ฝึกหัดแสดงโขน เนื่องจากโขนนั้นถือเป็นการละเล่นของผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ ใช้สำหรับแสดงในงานพระราชพิธีเท่านั้น ทำให้ต้องมีการคัดเลือกผู้แสดงที่มีความสามารถ ฉลาดเฉลียว จดจำและฝึกหัดท่ารำท่าเต้นต่าง ๆ ให้เข้าใจได้โดยง่าย ดังคำสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า "บางทีเกิดมี 'กรมโขน' ขึ้นจะมาแต่การเล่นดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษกนี้เอง โดยทำนองจะมีพระราชพิธีอื่นอันมีการเล่นแสดงตำนานเนือง ๆ จึงเป็นเหตุให้ฝึกหัดโขนหลวงนี้ขึ้นไว้ สำหรับเล่นในการพระราชพิธี และเอามหาดเล็กหลวงมาหัดเป็นโขนตามแบบแผน ซึ่งมีอยู่ในตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก" แต่เดิมนั้นใช้ผู้ชายล้วนในการแสดงทั้งตัวพระและตัวนาง การได้รับคัดเลือกให้แสดงโขนในสมัยนั้น ถือเป็นความภาคภูมิใจต่อผู้ที่ได้ถูกรับคัดเลือก เนื่องจากโขนเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง และกลายเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ผู้แสดงโขนในพระราชสำนักจะต้องเป็นพวกมหาดเล็ก ข้าราชการหรือบุตรหลานข้าราชการเท่านั้น

ยุคเจริญรุ่งเรือง

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านายชั้นสูง ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เสนาอำมาตย์และผู้ว่าราชการเมือง เข้ารับการฝึกหัดโขนเพื่อเป็นการประดับเกียรติยศแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล และทรงโปรดให้หัดไว้เฉพาะแต่เพียงผู้ชายตามประเพณีดั้งเดิม ทำให้ผู้ที่ฝึกหัดโขน มีความคล่องแคล่วว่องไว สามารถใช้อาวุธต่าง ๆ ในการต่อสู้ได้อย่างชำนาญ รวมทั้งทรงโปรดให้มีการแต่งบทละครสำหรับแสดงโขนขึ้นอีกด้วย ทำให้เจ้านายชั้นสูง ขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากต่างหัดโขนไว้ในคณะของตนเองหลากหลายคณะเช่น โขนของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ หรือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และโขนของกรมพิทักษ์เทเวศร์ เป็นต้น และมีการประกวดแข่งขันประชันฝีมือ รวมทั้งได้มีการฝึกหัดโขนให้พวกลูกทาสและลูกหมู่ ซึ่งเป็นผู้ที่สังกัดกรมกองต่าง ๆ ตามวิธีควบคุมทหารแบบโบราณอีกด้วย ทำให้โขนในสมัยนั้นได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ประทับ ณ พระราชวังสราญรมย์ ได้ทรงโปรดให้มีการฝึกหัดโขนขึ้นตามแบบโบราณ โดยมีชื่อคณะว่า "โขนสมัครเล่น" ทรงโปรดให้ยืมครูผู้ฝึกสอนจากเจ้าพระยาเทเวศ์วิวัฒน์ จำนวน 3 คน ได้แก่

  1. ขุนระบำภาษา (ทองใบ สุวรรณภารต) ต่อมาภายหลังได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์โดยลำดับจนถึงพระยาพรหมาภิบาล ทำหน้าที่เป็นครูยักษ์ ผู้ฝึกหัดสอนโขนในตัวยักษ์
  2. ขุนนัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ต่อมาภายหลังได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์โดยลำดับจนเป็นพระยาในราชทินนาม ทำหน้าที่เป็นครูพระและครูนาง ผู้ฝึกหัดสอนโขนในตัวพระและตัวนาง
  3. ขุนพำนักนัจนิกร (เพิ่ม สุครีวกะ) ต่อมาภายหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระดึกดำบรรพ์ประจง ทำหน้าที่เป็นครูลิง ผู้ฝึกหัดสอนโขนในตัวลิง

สำหรับผู้ที่เข้ารับการฝึกหัดโขนนั้น ล้วนเป็นผู้ที่ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดพระองค์มาโดยตลอดเช่น ลูกขุนนาง เจ้านายและมหาดเล็ก เป็นต้น โดยทรงฝึกหัดโขนด้วยความเอาพระทัยใส่เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งให้การสนับสนุนในการแสดงโขนมาโดยตลอด เคยนำออกแสดงในงานสำคัญสำคัญหลายครั้งเช่น งานเปิดโรงเรียนนายร้อย (ทหารบก) ชั้นมัธยม เมื่อวันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม

ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2542) ดังความในสูจิบัตรที่แจกจ่ายในงาน

โดย ความฝันอันสูงสุด http://www.oknation.net/blog/nuthrawadee

โขน "วัฒนธรรมร่วม"

ของสุวรรณภูมิ ในอุษาคเนย์

"ฟ้อนรำระบำเต้น"คำคล้องจองแต่โบราณกาลที่เป็นต้นกระแสให้มีพัฒนาการเป็น โขน กับ ละคร (ฟ้อน คำ

ลาว-ระบำ,รำ คำเขมร-เต้น คำลาว)

คำว่าโขนกับละคร เป็นคำเดียวกัน มีรากจากตระกูลชวา-มลายู ว่า lecon ในราชสำนักเขมรเขียน ละโขน อ่านว่า

ละคอน นับเป็น"วัฒนธรรมร่วม" การละเล่นที่มีลักษณะเฉพาะของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์

โขน การละเล่นรวมหมู่

โขน-ไม่น่าจะมีกำเนิดมาจากการละเล่นอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว(อย่างที่เคยอธิบายกันสืบมาว่าโขนมีกำเนิดมาจากชักนาคดึกดำบรรพ์ หรือโขนมีกำเนิดมาจากหนัง เป็นต้น) แต่โขนควรเป็นการละเล่นซึ่งก่อรูปขึ้นมาจากประเพณีหลายๆ อย่างที่มีอยู่ก่อนแล้วคือหนัง ระบำ รำเต้น ชักนาคดึกดำบรรพ์ และ ฯลฯ ให้รวมเข้าด้วยกันแล้วกลายเป็นสิ่งใหม่เรียกชื่อว่า "โขน"

แม้บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จะยกย่องชื่อ "ทวารวดี"จากมหากาพย์รามายณะและมหาภารตะมาเป็นชื่อบ้านเมืองและแว่นแคว้น แต่ก็มิได้หมายความว่าชนชั้นสูงยกย่องศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูไว้สูงสุด เพราะพุทธศาสนามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

แท้จริงแล้วทั้งพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูมีบทบาทสำคัญประสมประสานอยู่ด้วยกันดังกรณีเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีและเมืองละโว้ จังหวัดลพบุรี ล้วนมีศาสนวัตถุสถานที่เนื่องในพุทธและพราหมณ์อยู่พร้อมๆ กันมาตั้งแต่ยุคแรกรับแบบแผนจากอินเดีย และยังมีระบบความเชื่อดั้งเดิมคือผีอยู่ด้วย

เมื่อมีระบบความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาย่อมเป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่ผู้เป็นใหญ่ในสังคมนั้นๆ จะต้องจัดให้มีการละเล่นเพื่อเสริมความขลังและศักดิ์สิทธิ์ ให้ระบบความเชื่อนั้นๆ เพราะฉะนั้นบ้านเมืองที่ยกย่องคติรามายณะ ก็ควรจะมีการละเล่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรามเกียรติ์ (ถือเป็นชื่อพื้นเมือง) แม้ว่าระบบความเชื่อในยุคแรกๆ จะยังปะปนกันระหว่างพุทธกับพราหมณ์ (หรือจะเรียกฮินดูก็ตามที) และผี แต่ลักษณะผสมดังกล่าวก็มิได้เป็นอุปสรรคที่จะจัดให้มีการละเล่น

น่าเชื่อว่ามีการละเล่นที่เกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อ เช่น รามเกียรติ์หรือมหาภารตะเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วตั้งแต่ยุคทวารวดี เพราะชื่อบ้านเมืองว่าทวารวดีมีความศักดิ์สิทธิ์มาจากมหากาพย์ 2 เรื่องนี้

แต่ก็น่าเสียดาย เพราะยังไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับการละเล่นดังกล่าว ที่พอจะเห็นร่องรอยความต่อเนื่องบ้างก็คือความเชื่อตามคติ "จักรพรรดิราช" ในราชสำนักเขมร ซึ่งแสดงออกในพระราชพิธี "อินทราภิเษก" เช่น สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

(พ.ศ.1656-หลัง พ.ศ.1688 และเชื่อว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เกี่ยวดองเป็นวงศ์ญาติกับกษัตริย์ราชวงศ์มหิธรปุระแห่งลุ่มน้ำมูลละแวกพิมาย-พนมรุ้งในเขตอีสานใต้)

การชักนาคกวนน้ำอมฤตหรือกวนเกษียรสมุทรน่าจะเป็นการละเล่นมหึมาอยู่ในราชสำนักพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เพราะมีภาพสลักเรื่องนี้อยู่ที่ปราสาทนครวัด และมีความสืบเนื่องมาเป็นการละเล่นอยู่ในราชสำนักสยามในลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งตราไว้ในกฎมณเฑียรบาลชื่อ "ชักนาคดึกดำบรรพ์"ในพระราชพิธีอินทราภิเษกซึ่งยกย่องว่าเป็นแบบแผนที่พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยายุคแรกๆ จัดให้มีขึ้น

หลังสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893 แล้ว พระราชพิธีอินทราภิเษก ที่มีการละเล่นเกี่ยวข้องกับชักนาคดึกดำบรรพ์มิได้จัดให้มีขึ้นทุกรัชกาล เท่าที่มีบันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาจะมีประมาณ 3 ครั้ง คือในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ครั้งหนึ่ง ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิครั้งหนึ่ง และในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองอีกครั้งหนึ่ง (ความจริงอาจมีมากกว่านี้ แต่ก็ไม่ทุกรัชกาล)

หลังแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้วไม่พบร่องรอยการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์อีกเลย แต่มีชื่อ "โขน" เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

เรื่องที่เล่นโขนมาจากรามายณะของอินเดีย เมื่อไทยรับรามายณะฉบับทมิฬ-อินเดียใต้มาแล้วจึงเรียกภายหลังว่ารามเกียรติ์

โขน-เป็นการละเล่นที่ค่อยๆ ก่อรูปขึ้นช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ.2034-2072)

กับแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2172-2199) เพราะเมื่อถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ โขนที่เคยศักดิ์สิทธิ์อยู่ในราชสำนักก็กลายเป็นมหรสพเล่นอยู่ในโรงเพื่อต้อนรับอัครราชทูตลาลูแบร์เรียบร้อยแล้ว

รามเกียรติ์จากทมิฬ-อินเดียใต้

ละคร-เล่นเรื่องรามเกียรติ์และเรื่องอื่นๆ ได้ทุกเรื่อง เมื่อประกาศเล่นละครจึงต้องบอกว่าเล่นเรื่องอะไร

โขน-เล่นรามเกียรติ์เรื่องเดียวเท่านั้นไม่เล่นเรื่องอื่น ฉะนั้น จึงไม่ต้องประกาศว่าโขนเรื่องรามเกียรติ์ เพราะโขนเล่นเรื่องอื่นไม่ได้ การประกาศโขนจะบอกชื่อตอนหรือชุดจากเรื่องรามเกียรติ์ เช่น โขนชุดนางลอย โขนชุด

นาคบาศ โขนชุดจองถนน เป็นต้น

เรื่อง "รามเกียรติ์" ที่แพร่หลายอยู่ในดินแดนสยามมาแต่โบราณ (รวมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มิได้มีต้นตอมาจาก "รามายณะ" ฉบับของมหากวีวาลมีกิโดยตรง เพราะมีข้อแตกต่างกันมาก ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ตั้งข้อสังเกตไว้หลายประการในหนังสือ บ่อเกิดรามเกียรติ์

แท้ที่จริงแล้ว รามเกียรติ์ฉบับชาวสยามมีต้นเรื่องมาจากรามายณะฉบับของชาวทมิฬในอินเดียภาคใต้ ดังที่พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร ทรงพระนิพนธ์ไว้ (เมื่อ พ.ศ.2479 และ พ.ศ.2499) แล้วทรงอธิบายเพิ่มเติมต่อไปอีกว่าชาวอินเดียใต้สมัยราชวงศ์ปัลลวะและคุปตะนำเรื่องนี้เข้ามาเผยแพร่ ต้นเรื่องรามเกียรติ์น่าจะเป็นรามายณะฉบับท้องถิ่นอินเดียใต้ ตลอดจนหนังสือปุราณะประจำถิ่นนั้น

นอกจากนี้เมื่อไทยรับนับถือพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพแห่งไสยผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว บรรดาปุราณะของพวกไศวะคือพวกที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ ได้แก่ ลิงคปุราณะ และศิวปุราณะ ก็ได้มามีอิทธิพลต่อเรื่องพระรามในไทยด้วย

หน้ากากรามเกียรติ์

ใน กฎมณเฑียรบาล มิได้ระบุแบบแผนการแต่งเครื่องของผู้เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ที่เป็นเทวดา วานร ยักษ์ และทวยเทพชั้นสูงต่างๆ

แต่ก็มีภาพสลักรูปอสูรและเทวดาตลอดจนรูปต่างๆ เป็นต้นเค้าอยู่บนผนังปราสาทหินในเขมรและภาคอีสานของไทย เช่น ปราสาทพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทนครวัด ฯลฯ

เอกสารของลาลูแบร์รายงานว่า ผู้เล่นโขน (และระบำ) นุ่งผ้าแต่ไม่สวมเสื้อจึงแต่งเครื่องประดับกับตัวเปล่า แต่มีเทริดสวมหัวอย่างเครื่องแต่งตัวขุนนางสมัยนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงแปลเอกสารลาลูแบร์ที่รายงานเรื่องโขนตอนหนึ่ง ทรงถอดคำว่า Mask เป็นไทยว่า "หน้าโขน" ทุกครั้ง มิได้ทรงใช้ว่า "หัวโขน" เลย

หน้าโขน-หมายถึงหน้ากากใช้ในการละเล่นโขนสมัยแรกๆ ที่ยังไม่มีหัวโขน หน้าโขนใช้ปิดหน้าเป็นรูปต่างๆ มีตัวอย่างคือ หน้ากากพรานบุญในโนราชาตรี

ตำราไหว้ครูและครอบโขนละครฉบับหลวงสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ตกทอดมาจากกรุงศรีอยุธยาไม่เรียก "หัว" แต่ล้วนเรียก "หน้า" ทั้งหมด เช่น หน้าฤๅษี หน้าทศกัณฐ์ หน้าพระราม หน้าพระลักษมณ์ หน้าหนุมาน หน้าช้าง หน้าม้า ฯลฯ

ลักษณะหน้าโขนอาจมีพัฒนาการมาจากหน้ากากผีบรรพบุรุษในการละเล่นดั้งเดิม เช่น หน้ากากปู่เยอญ่าเยอที่เล่นในวันสงกรานต์แถบล้านช้าง และอาจสัมพันธ์กับการพอก (แต่ง) หน้าในการละเล่น "กถากลิ" เรื่องรามายณะ (รามเกียรติ์) ของแคว้นทมิฬในอินเดียภาคใต้

ถ้าผู้เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ใส่หน้ากากหรือหน้าโขนเป็นรูปยักษ์-ลิง ย่อมสอดคล้องกับรายงานลาลูแบร์ที่ว่าสวมเทริดอยู่บนหัว เพราะยังไม่มีหัวโขน ถ้ามีหัวโขนแล้ว และเมื่อผู้เล่นสวมหัวโขนก็ไม่ต้องสวมเทริดซ้อนหัวโขนเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นก็เชื่อได้ว่าการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ในพระราชพิธีอินทราภิเษกนั้นผู้เล่นใส่หน้ากากหรือหน้าโขนเป็นวานร อสูร และเป็นตัวต่างๆ ที่ระบุไว้ในเรื่องรามเกียรติ์แล้วสวมเทริดอยู่บนหัวอีกชั้นหนึ่ง

ต่อมาจึงพัฒนาหน้าโขนให้ยึดติดกับเทริดแล้วสวมหัวปิดหน้าปิดหัวมิดชิดเป็นรูปร่างหน้าตาต่างๆ จึงเรียกหัวโขน

หัวโขน-อาจจะเริ่มก่อรูปขึ้นเมื่อสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ราวแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศหรือหลังๆ มาเล็กน้อย แล้วเจริญมากขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ดังที่ทรงประดิษฐ์หัวโขนเรียก "พระยารักน้อย-พระยารักใหญ่"

ท่าเต้นโขน ยักษ์, ลิงได้จากท่ากบขอฝน 2,500 ปีมาแล้ว

ถีบเหลี่ยม เป็นศัพท์โขน ใช้เรียกการฝึกหัดเบื้องต้นเพื่อดัดส่วนขาให้อยู่ในท่าตั้งเหลี่ยมที่ต้องการ คนที่หัดเป็นยักษ์และลิงต้องย่อให้ได้เหลี่ยมตรง หมายถึงยืนหลังตรง ย่อขา แบะเข่าทั้งสองข้างให้เป็นเส้นตรงออกไป เข่าซ้ายแบะไปทางซ้าย เข่าขวาแบะออกไปทางขวา จนส่วนโค้งของเข่าเป็นมุมฉาก

ท่าโขนตั้งเหลี่ยมตรงหรือตั้งเหลี่ยมอัดหน้าตรง ไม่มีในท่าฟ้อนรำต่างๆ 93 ท่า ที่จิทัมพรัมในอินเดีย (ดูลายเส้นในหนังสือละครฟ้อนรำ พระนิพนธ์ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2546)

แต่ท่าโขนเหล่านี้มีตรงกับท่ากบ (ขอฝน) ในภาพเขียนสีทั้งที่พบในมณฑลกวางสีกับที่พบในภาคอีสานของไทย อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว ผมเขียนเล่าไว้ในหนังสือคนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ (มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2537) ว่าภาพเขียนสีบนผาลายในมณฑลกวางสีเป็นรูปคนจำนวนนับพัน ทำท่าเดียวกันคือยืนย่อเข่า ถ่างแข้งถ่างขาสองข้าง เหมือนท่ายักษ์ ท่าลิงในโรงโขนกรมศิลปากร

ท่ากบ หมายถึง คนทำท่าเป็นกบที่ยกย่องเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ บันดาลให้มีน้ำฝนไว้ทำไร่ไถนา เกิดความอุดมสมบูรณ์ ประเพณีอย่างนี้มีทั่วไปทุกชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์

ภาพสลักบนปราสาทหินในกัมพูชาและในอีสาน มีกองทหารนุ่งโจงกระเบนทำท่าเดินทัพ (หรือสวนสนาม) ตัดไม้ข่มนามก่อนออกรบในสมรภูมิ ล้วนตั้งเหลี่ยมอัดหน้าตรงไปในทิศทางเดียวกันเหมือนท่ากบ แสดงว่าเป็นแบบแผนพื้นเมืองอุษาคเนย์ที่ได้จากท่ากบ (ขอฝน) อันเป็นท่าเต้นศักดิ์สิทธิ์

แบบแผนภาพสลักจากท่ากบนี่เอง เป็นต้นแบบให้ท่ายักษ์ท่าลิงของโขนสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่าท่าเซิ้งบั้งไฟกับท่ารำมวยโบราณของอีสานก็มีต้นเค้ามาจากท่ากบเดียวกันนี่แหละ

(ที่มา : คอลัมน์สยามประเทศไทย ในมติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2552) หน้า 20

ประวัติตัวละครเรื่อง รามเกียรติ

วันพฤหัสบดี ที่ 15 พฤศจิกายน 2550กำเนิดตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์

Posted by almayati_arm

กำเนิดพระราม พระลักษมณ์ นางสีดา

พระราม

พระลักษมณ์

นางสีดา

ท้าวทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยาปกครองบ้านเมืองมานานยังไม่มีโอรสแลธิดาเลย จึงมีพระดำริว่าจะหาคนลงมาเกิดเพื่อปราบพวกยักษ์ เพราะโลกกำลังเข้าขั้นกลียุค จึงไปปรึกษากับเหล่าฤาษีทั้งหลาย ฤาษีจึงมีความเห็นว่าผู้ที่จะมาเกิด ควรจะเป็นพระนารายณ์เท่านั้น จึงขึ้นไปเข้าเฝ้าพระอิศวรขอให้พระนารายณ์อวตารลงมา พระนารายณ์ก็มา พร้อมด้วยเทวดาทั้งหลายที่อาสาลงมาช่วยพระนารายณ์ปราบยักษ์ด้วย ดังนี้

“พระราหูฤทธิ์ไกรไชยชาญ เป็นทหารชื่อนิลปานัน

พระพินายนั้นเป็นนิลเอก พระพิเนกนั้นเป็นนิลขัน

พระเกตุเป็นเสนีกุมิตัน พระอังคารเป็นวิสันตราวี

พระหิมพานต์จะเป็นโกมุท พระสมุทรนิลราชกระบี่ศรี

พระเพลิงเป็นนิลนนมนตรี พระเสารีเป็นนิลพานร

พระสุกรเป็นนิลปาสัน พระหัศนั้นเป็นมาลุนทเกสร

พระพุธเป็นสุรเสนฤทธิรอน พระจันทรเป็นสัตพลี

วิฬูรหกวิรูปักษ์สองตระกูล เป็นเกยูรมายูรกระบี่ศรี

เทวันวานรนอกนี้ บัญชีเจ็ดสมุดตราฯ”

พระอิศวรอนุญาตและประทานพรว่าเมื่อถูกฆ่าตายแล้วพระพายพัดมาเมื่อไรจงฟื้นคืนชีวิตดังเดิม

ต่อมาฤาษีก็จัดทำพิธี ฤาษีทุกองค์สำรวมจิตอ่านพระเวทมนตร์พร้อมกัน จนกระทั่งเวลาผ่านไปถึงสามราตรีก็บันดาลให้พระธรณีเลื่อนลั่นบังเกิดเพลิงควันพลุ่งแสงสว่างรุ่งโรจน์ บัดเดี๋ยวก็มีอสูรทูนถาดข้าวทิพย์ขึ้นมาจากกองไฟ ในถาดมีข้าวทิพย์สี่ก้อน

กล่าวถึงนางมณโฑอยู่ในปราสาทได้กลิ่นข้าวทิพย์ก็อยากกิน นางกากนาสูรจึงแปลงกายเป็นนางกาตัวใหญ่ไปโฉบเอามาได้ครึ่งปั้น ส่วนที่เหลืออีกสามปั้นครึ่งนั้น พระมเหสีของท้าวทศรถคือ พระนางเกาสุริยา พระนางไกยเกษี พระนางสมุทรเมวีก็เสวยไป ก็ทรงครรภ์ขึ้น

ต่อมามเหสีทั้งสามก็ให้กำเนิดพระโอรส โดยพระนางเกาสุริยาประสูติพระจักราพระวรกายเขียวดังกับนิลมณี พระนางไกยเกษีประสูติพระโอรสพระวรกายดั่งสีทับทิม พระนางสมุทรเทวีประสูติพระโอรสพระวรกายสีเหลืองคล้ายทาทอง และต่อมาก็ประสูติพระวรกายสีม่วง

ท้าวทศรถดีใจมาก และได้ให้ชื่อลูกโดยให้พระเชษฐาคือพระนารายณ์อวตารพระนามว่า พระราม จักรหรือน้องให้พระนามว่า พระพรต บัลลังก์กับสังข์ทรงพระนามว่า พระลักษมณ์ ศทาวุธให้พระนามว่า พระสัตรุด

กล่าวถึงนางมณโฑตั้งแต่ได้เสวยข้าวทิพย์ครรภ์ก็เจริญทุกที ครั้นคลอดออกมาก็ได้พระธิดางดงามยิ่ง นางนั้นร้องขึ้นสามครั้งว่า ผลาญยักษ์ ๆ ๆ แต่ทศกัณฐ์และนางมณโฑไม่ได้ยิน เมื่อเกิดมาทศกัณฐ์ก็ให้พิเภกทำนายดวงชะตา พิเภกทำนายว่าพระธิดานี้จะฆ่าพ่อแม่ ทำให้บ้านเมืองล่มจม จึงให้เอาในส่ผอบไปลอยน้ำ เมื่อถึงน้ำด้วยอำนาจแห่งพระลักษมีก็ปรากฏดอกบัวผุดมารองรับที่ท่าน้ำมุนี ซึ่งที่ท่าน้ำนี้มีฤาษีชนกมาสรงน้ำเป็นประจำ ก็ได้มาเห็นผอบและเห็นทารกอยู่ก็เก็บมาเลี้ยง แต่ก็คิดว่าถ้าเลี้ยงไว้ก็เป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญพรต จึงนำไปฝากให้เหล่าเทพยดารักษ์ให้เลี้ยงรักษาที่ใต้ต้นไทร

ต่อมาฤาษีชนกบำเพ็ญเพียรนานเข้าไม่สำเร็จก็เกิดความเบื่อหน่ายจึงคิดจะกลับไปครองราชสมบัติจึงมาขุดเอาพระธิดาไปเป็นลูก เมื่อพบแล้วก็ดีใจยิ่ง จึงให้ลูกชื่อว่า นางสีดา

กำเนิดพาลีกับสุครีพ

พาลี

สุครีพ

ขอกล่าวถึงฤาษีองค์หนึ่งชื่อโคดม เดิมทีเดียวฤาษีองค์นี้เป็นกษัตริย์ครองเมอืงสาเกตรู้สึกเบื่อหน่ายในราชสมบัติจึงออกบำเพ็ญตบะอยู่ในป่าถึงสองพันปี จนหนวดยาวเหมือนหญ้าออกมาปกคลุม นกก็เข้ามาทำรัง วันหนึ่งนกตัวผู้ออกหากินแล้วเกิดไปหากินในดอกบัว และดอกบัวหุบขังนกตัวนั้นเอาไว้ นกตัวเมียที่อยู่ในรังก็สงสัยว่าผัวตนหายไปนาน จึงคิดว่าผัวนอกใจ เช้ามาเมื่อผัวกลับมาแล้ว ก็บอกเมียว่าไม่ได้นอกใจแต่นกตัวเมียไม่ยอมเชื่อ นกตัวผู้จึงบอกว่า ถ้าตนนอกใจจริงขอให้บาปทั้งหมดของฤาษีโคดมตกที่ตัว ฤาษีโคดมได้ฟังดังนั้นก็สงสัยว่าตนอุตส่าห์บำเพ็ญเพียรมาตั้งสองพันปี จะมีบาปได้อย่างไร นกจึงบอกว่าฤาษีมีบาปคือไม่ยอมมีลูกเมียคอยสืบบัลลังก์

ดังนั้น ฤาษีโคดมจึงภาวนาเสกนางขึ้นกลางไฟ และให้ชื่อนางนั้นว่า กาลอัจนา ฤาษีมีลูกกับนางกาลอัจนา คือ นางสวาหะ

วันหนึ่งฤาษีโคดมออกไปหาผลไม้ในป่า พระอินทร์คิดจะหาคนช่วยพระนารายณ์อวตารปราบทศกัณฐ์ให้ได้ จึงคิดจะไปมีลูกกับนางกาลอัจนา เพื่อที่จะได้ไปช่วยพระนารายณ์รบกับทศกัณฐ์ ดังนั้นพระอินทร์จึงลงมาเกี้ยวพาราสีนางกาลอัจนา จนนางกาลอัจนาหลง และเมื่อพระอินทร์ลูบหลังนาง นางก็ตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชายมีกายสีเขียวอ่อน ฤาษีโคดมนึกว่าลูกตนก็รักยิ่งกว่านางสวาหะ

ต่อมาฤาษีโคดมออกป่าอีก พระอาทิตย์กำลังแผดแสงแรงกล้า นางอัจนาเห็นพระอาทิตย์ก็เกิดรักใคร่ พระอาทิตย์ทราบ และคิดจะช่วยพระนารายณ์ปราบทศกัณฐ์เช่นกัน จึงลงมาสมสู่กับนางกาลอัจนา จนเกิดเป็นลูกชายกายสีแดงเหมือนพระอาทิตย์ ฤาษีโคดมนึกว่าเป็นลูกตนก็เกิดความรักใคร่มากไปอีก

วันหนึ่งฤาษีโคดมจะไปอาบน้ำได้อุ้มลูกอันเกิดจากพระอาทิตย์ไว้ที่สะเอว ลูกที่เกิดจากพระอินทร์ขี่หลังส่วนลูกของตนจูงมือ นางสวาหะเห็นก็น้อยใจ จึงพูดว่า ทีลูกคนอื่นอุ้มบ้าง ขี่หลังบ้าง ทีลูกตัวเองหนอให้เดิน ฤาษีโคดมได้ยินก็สงสัย จึงถามความจริง เมื่อทราบเรื่องทั้งหมดจึงลองพิสูจน์ดู โดยโยนลูกทั้งสามลงไปในน้ำแล้วอธิษฐานว่าถ้าเป็นลูกของตนให้ว่ายน้ำกลับมา แต่ถ้าเป็นลูกคนอื่นให้กลายเป็นลิงและหายเข้าป่าไป ปรากฏว่า นางสวาหะว่ายน้ำกลับมา และโอรสทั้งสองก็กลายเป็นลิงค่างและหายเข้าป่าไป ฤาษีเห็นดังนั้น ก็โกรธนางกาลอัจนามาก จึงได้สาปแช่งให้นางกลายเป็นหิน ส่วนนางกาลอัจนาทราบว่าลูกสาวตนเป็นคนบอกความจริงแก่ฤาษีก็โกรธจึงสาปแช่งให้นางสวาหะไปยืนอ้าปากตีนเดียวเหนี่ยวกินลมที่เชิงเขาจักรวาล ต่อเมื่อมีลูกเป็นลิงที่มีฤทธิ์เลิศกว่าลิงทั้งหลายแล้วจึงจะพ้นคำสาป

ฝ่ายพระอินทร์และพระอาทิตย์เห็นลูกตนตกระกำลำบากก็หาทางช่วยเหลือ โดยสร้างเมืองให้ครอง ชื่อว่า เมืองขีดขิน ตั้งชื่อลูกพระอินทร์ว่า พระยากากาศ ตั้งชื่อลูกพระอาทิตย์ว่า สุครีพ พร้อมทั้งสอนวิชาเวทมนตร์ให้

คราวนี้ขอกล่าวถึงเมืองชมพู ท้าวมหาชมพูเป็นเจ้าพระนคร มีพระมเหสีนามแก้วอุดร แต่ไม่มีโอรสและธิดา พระอิศวรจึงประทานลูกพระกาฬชื่อนิลพัทธ์มาให้ ท้าวชมพูนี้ทรงศักดาวราฤทธิ์มากไม่ยอมไหว้ใครนอกจากพระนารายณ์กับพระอิศวรเท่านั้น ท้าวมหาชมพูเป็นสหายกับพระยากากาศ ไปเยี่ยมเยียนำปมาหาสู่กันเสมอ

กำเนิดหนุมาน

หนุมาน

ฝ่ายพระอิศวรเห็นนางสวาหะยืนอ้าปากกินลมก็สงสารจึงสั่งองค์พระพายเอาเทพอาวุธและกำลังกายของพระองค์ซัดเข้าปากของนางสวาหะ ให้เกิดลูกเป็นกระบี่ มีกระบองเพชรเป็นสันหลังตลอดหาง ตรีเพชรเป็นตัว เป็นมือ เป็นตีน จักรแก้วเป็นเศียร หากจะต่อสู้กับใครก็ชักเอาตรีเพชรที่อกออกมาสู้ได้ เวลาที่ลูกกระบี่นี้คลอดนั้น ได้คลอดออกมาทางปากของนางสวาหะ เผือกผ่องทั้งกาย ตัวใหญ่ ออกมาแล้วก็เหาะขึ้นไปบนฟากฟ้าลอยอยู่หน้าพระชนนี มีรัศมีโชติช่วง มีกุณฑล เขี้ยวแก้ว ขนเพชร หาวเป็นดาวเป็นเดือน มีแปดมือสี่หน้า พระพายให้ชื่อลูกว่า หนุมาน

พระพายได้บอกหนุมานว่า กุณฑลขนเพชรนั้นหากมีผู้ใดเห็นมาทักทาย ท่านนั้นคือพระนารายณ์อวตารมาเพื่อปราบยักษ์ จงสวามิภักดิ์ด้วย หนุมานก็รับคำแล้วร่อนเร่ออกไปเรื่อย ๆ ฝ่ายพระพายเห็นว่าหนุมานยังไม่ฝากตนกับใครจึงพาไปเฝ้าพระอิศวร หนุมานเรียนวิชากับพระอิศวรจนชำนาญ พระอิศวรจึงมีดำริว่าพระยากากาศกับสุครีพ ไม่มีลูกเมียจึงจะส่งหนุมานกับชมพูพานไปอยู่เมืองขีดขิน หนุมานและชมพูพานจึงได้ไปอยู่เมืองขีดขิน

กำเนิดทศกัณฐ์

ทศกัณฐ์

กล่าวถึงยักษ์ตนหนึ่งชื่อนนทก มีหน้าที่ล้างเท้าเทวดาอยู่ที่บันไดเขาไกรลาส เวลาเทวดามาเฝ้าพระอิศวร นนทกจะเป็นผู้ล้างเท้าให้ ระหว่างที่นนทกล้างเท้า เทวดาพิเรนบางองค์มืออยู่ไม่สุขเอามือลูบหัวเล่นบ้าง ลูบหน้าเล่นบ้าง บ้างก็ถอนผมนนทกเล่น นานเข้าผมบนหัวนนทกก็บางลงทุกที ในที่สุดก็โกร๋นเกลี้ยง นนทกมองดูเงาตัวเองในน้ำ ครั้งแรกตกใจ แทบไม่เชื่อ แต่แล้วก็ต้องแค้นใจเทวดาจนต้องร้องไห้ ยิ่งคิดไปยิ่งมองไปก็ยิ่งเพิ่มความแค้นหนักขึ้น นนทกจึงรีบไปเฝ้าพระอิศวร เมื่อถึงก็ทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นปิ่นโลก พระองค์ย่อมมีพระทัยเมตตาปรานีทั่วหน้า ผู้ใดทำชอบก็ทรงโปรดประทานความดีความชอบ ตัวข้าเองก็ได้กระทำความดีต่อพระองค์โดยมีหน้าที่ล้างเท้าเทวดามาถึงโกฏิปีแล้วมิได้มีความผิดแต่อย่างใด แต่ก็ช่างเป็นการประหลาดแท้ที่พระองค์มิได้ประทานยศศักดิ์แม้แต่น้อยแต่ข้า ไม่ทราบว่าข้าได้ทำกรรมสิ่งใดไว้ มันช่างน่าน้อยใจยิ่งนัก”

ทูลแล้วนนทกก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่แทบพระบาท

พระอิศวรเห็นนนทกร้องไห้ก็ทรงมีเมตตาจึงตรัสว่า

“อย่าร้องไห้ไปเลยวะเจ้านนทก เอ็งอยากได้อะไรบอกกูจะให้”

ได้ยินดังนั้นนนทกก็หยุดร้องไห้ทันที ก้มเกล้าแล้วถวายบังคมทูลว่า

“ข้าขอนิ้วเป็นเพชร มีฤทธิ์เดชชี้ไปที่ใครขอให้ตาย”

“ตกลงกูให้มึง”

เมื่อได้นิ้วเพชรแล้วนนทกก็ออกจากที่เฝ้า ในใจคิดแค้นเทวดากรุ่นอยู่ เดินมาจนถึงบันไดเขาไกรลาสอันเป็นที่ที่ตนคอยล้างเท้าเทวดาอยู่ ฝ่ายเทวดาพอได้เวลาต่างก็มาเฝ้าพระอิศวร มาถึง

นนทกก็ล้างเท้าให้เหมือนแต่ก่อน เทวดาไม่รู้ว่านนทกมีนิ้วเพชร พอนนทกล้างเท้าก็เอามือดึงผม เทวดาองค์อื่นเห็นเข้าก็พากันหัวเราะขบขัน นนทกคอยการกระทำอยู่แล้ว พอเทวดาพิเรนถอนผมและเทวดาอื่นพากันหัวเราะเยาะเย้ยนนทกก็ลุกพรวดพราดขึ้นร้องตวาดก้อง

“เหม่ เหม่ ไอ้พวกเทวดาใจทราม หัวกูเป็นอย่างไรหรือพวกมึงจึงชอบถอนเล่นกันนัก ทำไมหัวพวกมึงจึงไม่ถอนกันบ้าง ทำอย่างนี้หมิ่นกันเหลือเกิน วันนี้แหละจะได้เห็นฤทธิ์กูเสียบ้าง”

ว่าดังนั้นแล้วนนทกก็เอานิ้วเพชรชี้ไปที่เทวดาพิเรน เทวดาก็ตายอยู่กับที่ เทวดาอื่นเห็นเข้าก็กลัวพยายามจะหนี แต่นนทกไม่ยอมให้หนีไปได้ เอานิ้วชี้เสียตายเรียบหมด เทวดาองค์อื่นที่ไกลอยู่ออกไปเห็นท่าไม่ดีจึงพากันไปเข้าเฝ้าพระอิศวร พระอิศวรจึงให้พระนารายณ์ไปปราบนนทก พระนารายณ์แปลงโฉมเป็นนางเทพอัปสรดักอยู่ทางที่นนทกจะผ่าน ฝ่ายนนทกเดินผ่านมาเห็นก็ดีใจยิ่งนักจึงเกี้ยวพาราสีต่าง ๆ นานา ฝ่ายนางเทพอัปสรแปลงก็ทำทีบอกให้นนทกร่ายรำตามตนำปทุกท่าแล้วจะยินดีผูกมิตรด้วย นนทกก็ทำตาม จนกระทั้งถึงท่านาคาม้วนหางนิ้วเพชรของนนทกชี้ไปที่ขาของตัวเอง ขานนทกก็หักลงทันใด นนทกล้มลง ทันใดนั้น นางแปลง็กลายเป็นพระนารายณ์เหยียบอกนนทกไว้ ก่อนจะฆ่านนทก พระนารายณ์ได้ท้าให้นนทกไปเกิดใหม่มีสิบเศียรสิบพักตร์ยี่สิบมือ เหาะเหินเดินอากาศได้ มีอาวุธทั้งกระบองและธนู ส่วนพระนารายณ์จะไปเกิดเป็นมนุษย์มีสองมือตามไปฆ่านนทกให้ได้ นนทกพอวิญญาณหลุดจากร่างก็ไปจุติในครรภ์พระนางรัชดามเหสีท้าวลัสเตียน เกิดมาเป็นโอรสนามว่า ทศกัณฐ์ มีสิบเศียร ยี่สิบมือ ต่อมาอีกไม่นานก็มีโอรสอีกองค์หนึ่งชื่อ กุมภกรรณ

กำเนิดอินทรชิต

อินทรชิต

ทศกัณฐ์มีเมียหลายคน และมีลูกหลายคนด้วย ลูกที่เกิดจากนางมณโฑนั้น มีชื่อว่ารณพักตร รณพักตรมีสันดานหยาบเหมือนพ่อ อยากเรียนวิชาให้เก่งกล้าจึงไปเรียนกับฤาษีโคบุตรอาจารย์ของทศกัณฐ์ ฤาษีเห็นว่าปัญญาดีจึงให้เรียนมหากาฬอัคคี รณพักตรก็บำเพ็ญเพียรเรียนจนครบเจ็ดปี ร้อนถึงพระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ ทั้งสามพระองค์จึงลงมาถามถึงความต้องการในการบำเพ็ญเพียรครั้งนี้ของรณพักตร รณพักตรอยากได้ศร พระอิศวรจึงประทานศรพรหมาศ พระพรหมประทานศรนาคบาศและพระเวทสำหรับแปลงกายเป็นพระอินทร์ พร้อมกับประทานพรว่าเวลาตายให้ตายบนอากาศ อย่าให้ตายบนดิน ถ้าเศียรขาดตกลงมาบนดินให้เกิดไฟประลัยกัลป์ ต้องใช้พานแก้วทิพย์ของพระพรหมมารองรับ พระนารายณ์ประทานศรวิษณุปาณัม

เมื่อได้ศรทั้งสามก็ดีใจ จึงหาเรื่องรุกรานคนอื่น โดยรณพักตรได้จัดกองทัพไปรบกับพระอินทร์และสามารถเอาชนะได้ ทศกัณฐ์ดีใจยิ่งนักจึงให้นามใหม่แก่รณพักตรว่า อินทรชิต

กำเนิดพิเภก

พิเภก

ฝ่ายพระอิศวรนั้น เมื่อทราบว่านนทกลงไปเกิดเป็นทศกัณฐ์ ลูกท้าวลัสเตียนในกรุงลงกา กิตติศัพท์ร้ายกาจนัก โลกพากันเดือดร้อนวุ่นวาย ไม่มีผู้ใดปราบได้ พระนารายณ์จะอวตารลงไปปราบมัน แต่พวกมันก็เก่งกล้าสามารถมาก ถ้าไม่ส่งคนลงไปเป็นไส้ศึก พระนารายณ์เห็นจะปราบมันยาก จึงให้เวสสุญาณเทพบุตรลงไปเกิดในท้องพระนางรัชดา โดยให้เรียนโหราวิชาไสยคอยท่าพระนารายณ์อยู่ โดยประทานแว่นวิเศษไปด้วย เวสสุญาณเทพบุตรก็ลงมาจุติตามพระบัญชา ท้าวลัสเตียนให้ชื่อลูกว่า พิเภก พิเภกมีปัญญาฉลาดหลักแหลมนักแต่มีฤทธิ์น้อยไม่เหมือนทศกัณฐ์ ต่อมาจากพิเภก ท้าวลัสเตียนก็มีพระธิดาอีกองค์หนึ่ง มีนามว่า สำมนักขา

วันที่ อังคาร พฤศจิกายน 2550


พระอิศวร

พระอิศวร คือเทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ มีกายสีเขียว แต่พระศอเป็นสีดำเพราะเคยดื่มยาพิษ มีพระเนตรถึง 3 ดวง ดวงที่ 3 อยู่กลางพระนลาฏ ซึ่งตามปกติจะหลับอยู่เนื่องจากพระเนตรดวงที่ 3 นี้มีอานุภาพร้ายแรงมาก หากลืมขึ้นเมื่อใดจะเผาผลาญทุกอย่างให้มอดไหม้ได้

พระมเหสีของพระองค์ คือ พระอุมา มีพระราชโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ คือ พระขันทกุมารและพระพิฆเณศ พระอิศวรมีนาคเป็นสังวาล มีพระจันทร์เป็นปิ่น อาวุธประจำพระองค์คือตรีศูล (หลาวสามง่าม) พาหนะของพระองค์ คือ โคอุศุภราช พระองค์ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น พระศุลี พระศิวะ พระภูเตศวร พระตรีเนตร พระสยมภู พระมหาเทพ พระวิศานาถ พระมเหศวร เป็นต้น

พระแม่อุมา

พระแม่อุมา เป็นมเหสีของพระอิศวร มีสองภาคคือภาคใจดีกับภาคดุร้าย พระอุมาในภาคใจดีเป็นหญิงสาวที่มีรูปโฉมงดงามมาก ส่วนในภาคดุร้ายจะมีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวมีหัวกะโหลกมนุษย์ห้อยที่พระศอ มี 10 กร แต่ละกรถืออาวุธต่าง ๆ กัน ทั้งยังมีจิตใจโหดเหี้ยมมากแม้แต่พระอิศวรเองก็ยังเกรงพระอุมาในภาคดุร้ายนี้ พระนามของพระอุมาในภาคดุร้ายมีชื่อเรียกอย่างอื่นเช่น ทุรคา กาลี จัณฑี เป็นต้น

ท้าวมาลีวราช

ท้าวมาลีวราช หรือมาลีวัคคพรหม เป็นพรหมมี 4 พักตร์ 8 กร มีความยุติธรรมมากจึงได้รับพรจากพระอิศวรให้มีวาจาสิทธิ์ ท้าวมาลีวราช มีศักดิ์เป็นปู่ของทศกัณฐ์ เมื่อทศกัณฐ์ทำสงครามกับพระรามต้องสูญเสียญาติมิตรและบริวารเป็นจำนวนมาก

ทศกัณฐ์หวังจะให้ท้าวมาลีวราชสาปแช่งพระราม จึงฟ้องร้องต่อท้าวมาลีวราชใส่ร้ายพระรามมากมาย ท้าวมาลีวราชไม่ต้องการฟังความข้างเดียว จึงให้เชิญพระรามและนางสีดาไปสอบสวนจนได้ความจริง ท้าวมาลีวราชสั่งให้ทศกัณฐ์คืนนางสีดาไป แต่ทศกัณฐ์ไม่ยินยอม ท้าวมาลีวราชโกรธมากกล่าวคำสาปแช่งให้ทศกัณฐ์ต้องตายด้วยศรของพระราม

พระอินทร์

พระอินทร์ คือ เทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กายสีเขียว มีพระเนตรถึงพันดวง ใช้วัชระ(สายฟ้า) เป็นอาวุธ มีช้างเอราวัณเป็นพาหนะ พระองค์มีมเหสี 4 องค์ คือ สุจิตรา สุธรรมา สุนันทา และสุชาดา

พระอินทร์เป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของมนุษยโลก ยามใดที่มีเรื่องเดือดร้อนขึ้นบนโลกมนุษย์ อาสนะของพระองค์ที่เคยอ่อนนุ่มก็จะแข็งกระด้าง หรือบางครั้งก็ร้อนจนไม่สามารถประทับอยู่ได้ พระอินทร์มีชื่อเรียกอย่างอื่น เช่น ท้าวสหัสนัยน์ ท้าวโกสีย์ ท้าวสักกะ เทวราช อมรินทร์ ศักรินทร์ มัฆวาน เพชรปาณี เป็นต้น

พระนารายณ์

พระนารายณ์ เป็นเทวดาผู้เป็นใหญ่ฝ่ายปราบปราม มีกายสีดอกตะแบก มี 4 กรซึ่งกรทั้ง 4 นั้นถิออาวุธต่าง ๆ กัน คือ คฑา ตรี จักร สังข์ ประทับอยู่กลางเกษียรสมุทรบนหลังพญานาค ชื่อ อนันตนาคราช พระมเหสีของพระองค์คือพระลักษมี ทรงใช้ครุฑเป็นพาหนะพระนารายณ์มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก เช่น พระทรงครุฑ พระสี่กร พระทรงสังข์ พระวิษณุ พระธราธร พระสังขกร เป็นต้น

นิลพัท

นิลพัท เป็นลิง กายสีน้ำรัก (สีดำสนิท) มีเขี้ยวแก้วเช่นเดียวกับหนุมานมีฤทธิ์เดชเก่งกล้ามาก เมื่อพระรามให้พวกวานรทำถนนข้ามไปกรุงลงกา นิลพัทกับหนุมานเกิดทะเลาะวิวาทและต่อสู้กัน แต่ไม่มีใครเอาชนะได้ เพราะต่างก็มีฤทธิ์เดชเท่าเทียมกัน พระรามกริ้วมากสั่งให้นิลพัทไปรักษาเมืองขีดขินคอยส่งเสบียงอาหารให้กองทัพของพระราม ส่วนหนุมานก็ให้ทำถนนให้เสร็จภายใน 7 วัน

องคต

องคต เป็นลิง มีกายสีเขียว เป็นบุตรของพาลีกับนางมณโฑ กล่าวคือเมื่อพาลีแย่งนางมณโฑมาจากทศกัณฐ์แล้ว นางต้องเป็นภรรยาของพาลีจนกระทั่งตั้งครรภ์ ทศกัณฐ์ไปฟ้องฤๅษีอังคัตผู้เป็นอาจารย์ของพาลีให้มาว่ากล่าวพาลี จนพาลียอมคืนนางมณโฑให้แต่ขอลูกเอาไว้ ฤๅษีอังคัตจึงทำพิธีเอาลูกออกจากท้องนางมณโฑไปใส่ในท้องแพะ เมื่อครบกำหนดคลอดพระฤๅษีก็ทำพิธีให้ออกจากท้องแพะให้ชื่อว่า องคต ทศกัณฐ์ยังผูกใจเจ็บ จึงแปลงกายเป็นปูยักษ์ คอยอยู่ก้นแม่น้ำเพื่อจะฆ่าองคตขณะทำพิธีลงสรง แต่ถูกพาลีจับได้ แล้วเอามาผูกไว้ให้ลูกลากเล่นอยู่เจ็ดวันจึงปล่อยไป เมื่อสุครีพขอให้พระรามมาช่วยปราบพาลี ก่อนที่พาลีจะสิ้นใจตาย ได้สำนึกตนว่าทำผิดต่อสุครีพ ทั้งไม่รักษาคำสัตย์สาบาน จึงได้ทูลฝากฝังสุครีพและองคตไว้กับพระราม องคตได้ช่วยทำศึกกับกองทัพของทศกัณฐ์อย่างเต็มความสามารถ พระรามเคยส่งองคตเป็นทูตไปเจรจากับทศกัณฐ์ เพื่อทวงนางสีดาคืนแม้จะไม่สำเร็จ แต่ก็ได้แสดงความเฉลียวฉลาดและความกล้าหาญ ให้ประจักษ์แก่ตาของทศกัณฐ์

มัจฉานุ

มัจฉานุ เป็นบุตรของหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา จึงมีร่างกายเป็นลิงเผือกเช่นเดียวกับหนุมาน แต่มีหางเป็นปลา เมื่อนางสุพรรณมัจฉาคลอดมัจฉานุออกมาแล้ว ก็กลัวทศกัณฐ์จะรู้ จึงนำมัจฉานุไปทิ้งที่ชายหาด มัยราพณ์ ซึ่งเป็นญาติกับ ทศกัณฐ์ มาพบเข้ามีความสงสาร ได้นำไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ต่อมามัยราพณ์ลักพาตัวพระรามมาไว้ที่เมืองบาดาล หนุมานติดตามมาช่วย ได้พบกับมัจฉานุจึงต่อสู้กัน แต่ไม่สามารถเอาชนะกันได้ จนกระทั่งได้รู้ว่าเป็นพ่อลูกกัน

ชมพูพาน

ชมพูพาน เป็นลิง กายสีหงส์ชาด เกิดจากพระอิศวรนำเหงื่อไคลของพระองค์มาทำการชุบขึ้น มีความรู้เรื่องยาต่าง ๆ สำหรับเป็นแพทย์ประจำกองทัพของพระราม ชมพูพานเคยรับพระบัญชาของพระราม ออกช่วยงานสงครามหลายครั้ง

อสุรพัต

อสุรพัต เป็นบุตรของหนุมานกับนางเบญกาย มีหน้าเป็นลิง แต่ศีรษะและตัวเป็นยักษ์ กายสีเหลืองเลื่อม ๆ เมื่อพิเภกซึ่งเป็นตา ถูกท้าวจักรวรรดิกับไพนาสุริยวงศ ์จับไปขังไว้

อสุรพัตจึงหนีมาหาหนุมาน เล่าเรื่องราวให้ฟัง พระรามจึงโปรดให้ พระพรตกับพระสัตรุดยกกองทัพไปปราบ ซึ่งเป็นการทำศึกกับกรุงลงกาครั้งที่สอง เมื่อเสร็จศึกแล้ว พระรามได้แต่งคั้งให้อสุรพัต มีตำแหน่งเป็น พระยามารนุราชมหาอุปราช แห่งกรุงลงกา

นนทุก

นนทุก เป็นยักษ์ที่ทำหน้าที่ล้างเท้าเทวดาอยู่ที่เชิงเขาไกรลาส ถูกพวกเทวดาแกล้งตบหัวบ้าง ถอนผมบ้าง จนหัวโล้น นนทกมีความแค้นมาก จึงเข้าเฝ้าพระอิศวรทูลขอพรให้มีนิ้วเป็นเพชร สามารถชี้ให้ผู้ใดตายก็ได้

จากนั้นนนทุกก็ใช้นิ้วเพชรชี้ให้เทวดา พญาครุฑ คนธรรพ์ ตายเกลื่อนกลาด พระนารายณ์จึงต้องไปปราบ ก่อนตายนนทุกต่อว่าพระนารายณ์ว่า ตนเองมีเพียงสองมือเท่านั้นจะชนะพระนารายณ์ที่มีถึงสี่กรได้อย่างไร พระนารายณ์จึงประทานพรให้แก่นนทุกไปเกิดเป็นยักษ์มีสิบหน้า ยี่สิบมือ แล้วพระองค์จะไปเกิดเป็นมนุษย์มีเพียงสองมือ เพื่อปราบนนทกในชาติใหม่ ให้หมดสิ้นทั้งวงศ์ยักษ์ นนทกจึงกลับชาติมาเกิดเป็นทศกัณฐ์

กุมภกรรณ

กุมภกรรณ เป็นยักษ์กายสีเขียว มีหอกโมกขศักดิ์เป็นอาวุธ ได้ชื่อว่ากุมภกรรณ (หูหม้อ) เพราะมีร่างกายใหญ่โตจนเอาหม้อใส่ไว้ในหูได้ กุมภกรรณเป็นน้องร่วมมารดาของทศกัณฐ์ โดยเป็นพี่ของพิเภก ครั้งหนึ่ง กุมภกรรณออกรบกับพระลักษมณ์ ได้พุ่งหอกโมกขศักดิ์ไปถูกพระลักษมณ์จนสลบ แต่พิเภกและหนุมานช่วยแก้ไขให้ฟื้นได้ ต่อมา กุมภกรรณได้ทำพิธีทดน้ำ โดยเนรมิตรกายให้ใหญ่โตขวางทางน้ำไว้ เพื่อให้กองทัพของพระรามอดน้ำตาย แต่ถูกหนุมานทำลายพิธี ครั้งสุดท้าย กุมภกรรณออกรบกับพระราม ถูกศรของพระรามจนเสียชีวิต

ไมยราพ

ไมยราพ เป็นยักษ์ มีกายสีม่วงอ่อน เป็นญาติของทศกัณฐ์ ปกครองเมืองบาดาลอยู่ มีอาวุธ คือ กล้องยาสะกด ใช้สำหรับเป่าเพื่อสะกดให้กองทัพของข้าศึกหลับใหล ไมยราพถอดดวงใจใส่ตัวแมลงภู่ ซ่อนไว้บนยอดเขาตรีกูฏ จึงไม่มีใครฆ่าให้ตายได้ วันหนึ่งไมยราพไปพบมัจฉานุ ซึ่งนางสุพรรณมัจฉามาคลอดทิ้งไว้ที่หาดทราย จึงเก็บไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมา ไมยราพช่วยทศกัณฐ์ทำสงคราม โดยเป่ากล้องยาสะกดกองทัพของพระรามแล้วจับพระรามไปขังไว้ที่เมืองบาดาล หนุมานตามลงไปช่วยพระรามและฆ่าไมยราพตายโดยจับตัวแมลงภู่มาขยี้

มารีศ

มารีศ เป็นยักษ์กายสีขาว เป็นบุตรของนางกากนาสูร มีศักดิ์เป็นน้าของทศกัณฐ์ เมื่อทศกัณฐ์ได้ฟังคำยอโฉมนางสีดาจากนางสำมนักขา ก็ให้หลงใหลอยากได้นางเป็นชายา จึงบังคับมารีศให้แปลงเป็นกวางทองเดินไปให้นางสีดาเห็น นางสีดาอยากได้กวางทองจึงอ้อนวอนให้พระรามออกไปจับมาให้ พระรามใช้ศรยิงมารีศล้มลง มารีศแกล้งตัดเสียงเป็นพระรามร้องขึ้นดัง ๆ เหมือนได้รับบาดเจ็บ นางสีดาได้ยินคิดว่าพระรามมีอันตรายขอให้พระลักษมณ์ตามไปช่วย แล้วมารีศก็ขาดใจตาย

วิรุณจำบัง

วิรุณจำบัง เป็นยักษ์ กายสีมอหมึก (สีขาวเจือดำ) เป็นบุตรของพญาทูษณ์แห่งกรุงจารึก จึงเป็นหลานของ ทศกัณฐ์ มีม้าคู่ใจชื่อนิลพาหุ ม้าตัวนี้มีอิทธิฤทธิ์ สามารถหายตัวได้ วิรุณจำบังยกทัพไปช่วยทศกัณฐ์ทำศึ่กกับพระราม โดยขี่ม้านิลพาห ุหายตัวเข้าไปในกองทัพของพระราม ลอบฆ่าพวกไพร่พลลิงตายไปเป็นจำนวนมาก พิเภก ถวายคำแนะนำให้พระรามแผลงศรไปฆ่าม้านิลพาหุเสีย วิรุณจำบังหนีไปซ่อนตัวในฟองน้ำ แต่ก็ถูกกหนุมานตามไปฆ่าตาย

นางสำมนักขา

นางสำมนักขา เป็นยักษ์ กายสีเขียว เป็นน้องร่วมมารดาคนสุดท้องของทศกัณฐ์ สามีชื่อชิวหา ต่อมาชิวหาถูกทศกัณฐ์ขว้างจักรตัดลิ้นขาดถึงแก่ความตาย นางสำมนักขาจึงเป็นม่าย มีความว้าเหว่ออกท่องเที่ยวไปจนได้พบพระราม นางเห็นพระรามรูปงามก็นึกรักอยากได้ไปเป็นคู่ครอง ถึงกับตบตีนางสีดาดวยความหึงหวงจึงถูกพระลักษมณ์ตัดหู จมูก มือและเท้าแล้วไล่ไปนางสำมนักขากลับไปฟ้องพี่ชาย คือ ทูษณ์ ขร และตรีเศียร ว่าถูกพระรามข่มเหง แต่ยักษ์ทั้ง 3 ตน ก็ถูกพระรามสังหาร นางสำมนักขาจึงไปหาทศกัณฐ์ ชมโฉมนางสีดาให้ฟัง จนทศกัณฐ์นึกอยากได้เป็นชายา จนกระทั่งไปลักพานางสีดามา

สุพรรณมัจฉา

สุพรรณมัจฉา เป็นลูกของทศกัณฐ์กับนางปลา รูปร่างท่อนบนของนางจึงเป็นมนุษย์ ส่วนท่อนล่างเป็นปลา เมื่อพระรามสั่งหนุมานให้พาบริวารลิงขนหินมาถมสมุทร เพื่อทำถนนข้ามไปกรุงลงกาทศกัณฐ์ก็สั่งให้นางสุพรรณมัจฉากับพวกปลาทั้งหลาย ช่วยกันขนหินไปทิ้ง หนุมานมีความสงสัยดำน้ำลงไปดูจึงพบนางสุพรรณมัจฉา ทั้งสองมีความรักต่อกัน นางจึงยอมเป็นภรรยาของหนุมาน ต่อมานางสุพรรมัจฉาตั้งครรภ์และคลอดบุตรชายชื่อมัจฉานุ

นางเบญกาย

นางเบญกาย เป็นธิดาของพิเภกกับนางตรีชฎา ทศกัณฐ์ได้ใช้ให้นางเบญกายแปลงเป็นสีดาลอยน้ำมาเพื่อลวงให้พระรามเลิกทัพกลับไป พระรามลงสรงน้ำเห็นศพลอยมาติดท่าน้ำคิดว่านางสีดาตายจริง ๆ ก็เสียพระทัย แต่หนุมานสงสัย ทูลขออนุญาตนำศพขึ้นมาเผาไฟ นางเบญกายทนความร้อนไม่ไหวจึงเหาะหนีไป หนุมานตามไปจับตัวมาถวายพระรามได้ พระรามเห็นแก่พิเภกจึงให้หนุมานพานางไปส่งที่กรุงลงกา ระหว่างทางหนุมานพูดจาเกี้ยวพาราสีจนได้นางเบญกายเป็นภรรยา เวลาต่อมาหลังจากเสร็จศึกแล้วนางมีบุตรชายกับหนุมานชื่ออสุรผัด

นางมณโฑ

นางมณโฑ เป็นมเหสีของทศกัณฑ์ มีชาติกำเนิดเดิมเป็นกบ อาศัยอยู่ใกล้อาศรมของพระฤๅษี 4 ตน พระฤๅษีมักจะให้ทานน้ำนมนางกบอยู่เสมอ วันหนึ่ง นางกบเห็นนางนาคมาคายพิษใส่อ่างน้ำนม เพื่อฆ่าพระฤๅษีทั้ง 4 นางจึงสละชีวิต กระโดดลงไปกินนมในอ่างจนตาย

พระฤๅษีได้ชุบชีวิตนางให้ฟื้นขึ้นเพื่อถามเรื่องราว เมื่อทราบความจริงแล้ว จึงชุบนางกบให้เป็นมนุษย์ มีความสวยงาม ตั้งชื่อให้ว่า มณโฑ (แปลว่ากบ)แล้วนำนางไปถวายพระอุมาบนสวรรค์ ต่อมา พระอิศวรประทานนางมณโฑให้แก ่ทศกัณฐ์เป็นรางวัลตอบแทน ที่ยกเขาไกรลาสให้ตั้งตรงเหมือนเดิมได้ แต่ถูกพาลีชิงนางไประหว่างทาง นางต้องไปเป็นภรรยาของพาลีจนตั้งครรภ์ พระฤๅษีอังคัต จึงสั่งพาลีให้คืนนางให้แก่ทศกัณฑ์โดยผ่าท้องนำทารกไปฝากไว้ในท้องแพะ ต่อมาจึงเกิดเป็นองคต

สดายุ

สดายุ เป็นพญานก กายสีเขียว เป็นเพื่อนกับท้าวทศรถ วันหนึ่งสดายุ พบทศกัณฐ์อุ้มนางสีดาเหาะมา นางสีดาเรียกให้ช่วย สดายุจึงเข้าต่อสู้กับทศกัณฐ์เพื่อแย่งนางสีดา ทศกัณฐ์สู้ไม่ได้ สดายุมีความฮึกเหิมพูดอวดตนว่า ตนไม่เคยเกรงกลัวใครเลย นอกจากพระอิศวร พระนารายณ์และพระธำมรงค์ของพระอิศวรที่นางสีดาสวมอยู่เท่านั้น ทศกัณฐ์จึงถอดพระธำมรงค์วงนั้นขว้างไปถูกปีกของสดายุหักได้รับบาดเจ็บสาหัส แล้วทศกัณฐ์ก็พานางสีดาไป สดายุทนความเจ็บปวดคาบพระธำมรงค์รอจนพระรามตามมาถึง เมื่อทูลเรื่องราวทั้งหมดและถวายพระธำมรงค์แล้วสดายุก็สิ้นใจ

โดย almayati_arm http://www.oknation.net/blog/feedomhiphop