หลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ ปทุมธานี

โดย ครูจีรพันธ์ สมประสงค์

ทุกๆ ปีที่ตรงกับวันที่ 18 กรกฎาคม พวกเราชาวคณะราษฎร์ฯ ทุกคน จะต้องพากันตั้งจิตน้อมรำลึกถึงหลวงปู่เทียน พระเกจิอาจารย์ผู้เป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนเรา ท่านได้อนุญาตให้ใช้ที่ดินของวัดโบสถ์ 6 ไร่เศษ มาจัดสร้างเป็นโรงเรียนคณะราษฎร์ฯ ที่เราได้ศึกษาเล่าเรียนกันมาจนทุกวันนี้

จากวารสุทธาสิโนบล ฉบับนี้ จึงขอเขียนเล่าถึงชีวประวัติของหลวงปู่เทียนเอาไว้ เพื่อเตือนใจให้รำลึกถึงท่านและเพื่อเป็นข้อมูล ให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้เรียนรู้ ศึกษา พิจารณาชีวประวัติของท่าน ต่อไป

หลวงปู่เทียน ท่านเป็นยอดเกจิอาจารย์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากอีกองค์หนึ่งของจังหวัดปทุมธานี ท่านได้ให้การทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาจนเจริญรุ่งเรืองไว้หลายด้าน เช่น ได้สร้าง ปรับปรุง พัฒนาวัดในจังหวัดปทุมธานี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดโบสถ์ ซึ่งท่านจำวัดอยู่ให้เจริญก้าวหน้าและท่านยังไปร่วมสร้างวัดบ่อเงิน ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ท่านสร้างพระอุโบสถ โดยสร้างเหรียญรุ่นแรกหารายได้ในงานผูกพันธสีมา ที่วัดบ่อเงินนี้เอง ในปี พ.ศ. 2490 นอกจากนี้ หลวงปู่เทียนยังได้ดำเนินการจัดการศึกษาให้กับพระภิกษุ สามเณร ได้เรียนพระปริยัติธรรมตลอดจนพระธรรมวินัย และนำเข้าสอบนักธรรมเป็นประจำทุกปี ทางด้านพัฒนาบ้านเมือง และการศึกษาของบุตรหลาน ท่านได้อนุญาตให้ใช้ที่ดิน 6 ไร่เศษของวัด จัดสร้างเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดปทุมธานี 1 หลัง ปัจจุบันก็คือ โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุงปทุมธานีและยังเป็นผู้ให้การอุปการะโรงเรียนการเรือนหญิง ปัจจุบันคือวิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี และท่านยังได้สร้างโรงเรียนประชาบาลไว้อีกหนึ่งหลัง ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัดโบสถ์ (บวรธรรมกิจ) นั่นเอง คุณงามความดีในด้านการพัฒนาการศึกษาให้เกิดแก่เยาวชนนี้เอง ทำให้ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุโมทนาถวายพัดยศรูปราชสีห์ประคองพานรัฐธรรมนูญ ด้ามงา ปักด้วยดิ้นทอง ให้ไว้เป็นเกียรติยศแก่ท่าน

พื้นที่ดูแล ของวัดโบสถ์ ปทุมธานี

ประวัติหลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ ปทุมธานี

หลวงปู่เทียน นามเดิมชื่อ นายเทียน นามสกุลว่า ดุลยกนิษฐ์ เป็นบุตร นายน้อย และนางเล็ก ดุลยกนิษฐ์ เกิดที่บ้านปากคลอง ตำบลกระแชงมอญ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2419 ตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ปีชวด (ต้นรัชกาลที่ 5) มีพี่น้องรวมกันทั้งหมด 8 คน ตัวของหลวงปู่เทียนเองเป็นบุตรคนที่ 3 เมื่อท่านมีอายุได้ประมาณ 11 ปี จึงได้เริ่มเรียนหนังสือภาษามอญ กับพระอธิการ ที่วัดชัยสิทธาวาท (พัฒนสายบำรุง) อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ศึกษาอยู่ไม่นานก็ได้ย้ายมาอยู่ที่วัดโบสถ์ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ได้เรียนหนังสือต่อกับท่านอาจารย์นวน จนอ่านออกเขียนได้ และมีความรู้แตกฉานในด้านการคิดเลข ทั้งบวก ลบ คูณ หาร จนอายุท่านได้ 14 ปี จึงย้ายลงไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ท่านได้เข้าเรียนหนังสือไทยต่อที่โรงเรียนวัดมหาพุฒาราม จนสอบไล่ได้จบหลักสูตรของโรงเรียน

เมื่อหลวงปู่เทียนอายุได้ 18 ปี ได้เข้ารับราชการเป็นทหารมหาดเล็ก เป็นอยู่ได้ 1 ปี ท่านก็ลาออกไปรับราชการใหม่เป็นเสมียนอยู่กับอธิบดีศาลอุทธรณ์ เป็นได้ 1 ปี จนอายุท่านได้ย่างเข้า 21 ปี ซึ่งถือว่าครบบวชแล้ว ท่านจึงได้ลาออกจากราชการ เดินทางกลับบ้านที่จังหวัดปทุมธานีนี้และเข้าทำการอุปสมบทที่วัดบางนา อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2439 ตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 4 โดยมีท่านเจ้าคุณพระรามัญมหาเถระ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีในขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ ให้ได้รับฉายาว่า “ปุบฺผธมฺโม” เมื่อทำการอุปสมบทแล้ว ได้ไปอยู่กับพระอุปัชฌาย์ที่วัดโบสถ์ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนภาษาบาลี และภาษามอญ ซึ่งท่านมีพื้นฐานอยู่บ้างแล้ว เรียนควบคู่กันไป หลวงปู่เทียนท่านได้ศึกษาอยู่กับพระอุปัชฌาย์ตลอดมา

พระครูบวรธรรมกิจ (หลวงปู่เทียน ปุบฺผธมฺโม)

หลวงปู่เทียนอยู่ที่วัดโบสถ์นี้มาจนได้ 6 พรรษา พระอุปชาฌาย์ของท่านคือท่านเจ้าพระรามัญมหาเถระก็ป่วยหนักด้วยโรคชรา และใต้มรณะภาพ ละสังขารไปด้วยโรคชรานั่นเอง รวมอายุท่านได้ถึง 92 ปี และในปีนั้นเองหลวงปู่เทียนก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอธิการวัดโบสถ์ปทุมธานีทันที เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 (ในราวตอนปลายๆ สมัยรัชกาลที่ 5)

พระครูบวรธรรมกิจ (หลวงปู่เทียน ปุบฺผธมฺโม)

พ.ศ. 2457 หลวงปู่เทียนได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะตำบล ตำบลบ้านกลาง จังหวัดปทุมธานี พ.ศ. 2469 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ. 2477 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูกรรมการศึกษา พ.ศ. 2481 ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์รับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศเป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท นาม “พระครูบวรธรรมกิจ” พ.ศ. 2502 ท่านได้รับพระราชทานพัดยศพิเศษ จ.ป.ร. พ.ศ. 2506 ท่านได้รับพระราชทานให้เลื่อนชั้นเป็นพระครูชั้นเอก ในพระราชทินนามเดิมคือ พระครูบวรธรรมกิจ

ภาพบริเวณกุฎิของหลวงปู่เทียน ปุบฺผธมฺโม

จนมาถึงวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2509 เวลา 02.00 น. หลวงปู่เทียนก็ได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ รวมอายุท่านได้ถึง 89 ปี 8 เดือน 14 วัน และท่านได้อยู่ในสมณะเพศถึง 70 พรรษา นับเป็นการสูญเสียเกจิอาจารย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของจังหวัดปทุมธานีไป ในขณะนั้น

สุดยอดพระเครื่องรางของขลัง และเกร็ดความรู้จาก “หลวงปู่เทียน”

จากอดีตถึงปัจจุบันนี้ก็ตาม หลวงปู่เทียนยังนับเป็นสุดยอดพระเกจิอาจารย์ที่ยังคงมีชื่อเสียงโด่งดังมาก มีคนเคารพนับถือมิเสื่อมคลายองค์หนึ่ง แม้ท่านจะมรณภาพไปนานแล้วก็ตาม ด้วยท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ยึดมั่นในพระธรรมวินัย ให้การอบรมสั่งสอนแก่ศิษย์ และสาธุชนทั่วไปด้วยความเมตตา ท่านช่วยชี้ทางให้พ้นทุกข์ ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จึงมีผู้คนหลั่งไหลมาขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องรางของขลังของท่าน ที่ท่านได้จัดสร้างขึ้นทุกวันในขณะนั้น เป็นจำนวนมากมาจากทั่วทุกสารทิศจนท่านปลุกเสกให้ไม่ทัน

การสร้างพระเครื่องของหลวงปู่เทียน ท่านได้เริ่มการสร้างพระเครื่องจริงจังก็เมื่อตอนเกิดสงครามอินโดจีนนั้นเอง ในตอนนั้นท่านได้จัดสร้างวัตถุมงคลหลายอย่าง มีทั้งพระเครื่อง พระผงสมเด็จ รวมทั้งเสื้อยันต์ ผ้าประเจียด ตะกรุด ลูกประคำ ฯลฯ จนถึงเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่ญี่ปุ่นบุกเขาประเทศไทย พวกทหารไทยได้พากันมาขอเสื้อยันต์ของหลวงปู่ไปใช้จำนวนมาก ถึงขนาดต้องทำกันเป็นพันๆ ตัวเลยทีเดียว

การทำเสื้อยันต์ของหลวงปู่เทียน ท่านต้องเขียนอักขระลงบนเสื้อทีละตัวๆ คือปากจะว่าคถาไป มือก็เขียนยันต์ไป เขาถึงเรียกว่า “การลงยันต์” จะใช้การพิมพ์เหมือนกับในปัจจุบันนี้ไม่ถูกต้อง

หลวงปู่เทียน ปุบฺผธมฺโม กับลูกศิษย์ชั้นผู้ใหญ่

ในด้านการสร้างพระสมเด็จเนื้อผงนั้น หลวงปู่เทียนเคยเล่าว่า ท่านได้สูตรการทำพระ และได้ส่วนผสมและวิชาการทำพระสมเด็จโดยการสอบถามมาจากท่านขุนอะไรคนหนึ่ง ท่านว่าจำชื่อท่านไม่ได้แล้ว แต่ท่านขุนคนนี้มีบิดาซึ่งเคยเป็นศิษย์ก้นกุฏิ ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษีมาก่อน บิดาได้เล่าให้ท่านขุนฟัง และท่านขุนได้นำมาเล่าให้หลวงปู่ฟัง ทุกอย่างที่รู้หลวงปู่เทียนจึงได้นำเอาสูตรนี้มาจัดสร้างพระตามขั้นตอน และการใช้ส่วนผสมทุกอย่างเช่นเดียวกับส่วนผสมของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ดังนั้น พระสมเด็จเนื้อผงของหลวงปู่เทียนวัดโบสถ์ทุกรุ่น จึงมีคุณค่ามาก เทียบได้กับสมเด็จวัดระฆังเลยทีเดียว

ความที่ท่านขุนเล่าให้ฟังถึงสูตรการสร้างพระเครื่องวัดระฆัง ให้หลวงปู่เทียนฟังว่า พระสมเด็จเนื้อผงต้องทำด้วยผงดินสอพอง ผงวิเศษ ผงอิธะเจ ผงปัถมัง ผงมหาราช ผงพุทธคุณ ผงตรีสิงเห ข้าวสุก กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมจันทร์ (ใส่ทั้งเปลือก) ผงเกษตร ดอกไม้ ว่านร้อยแปด ปูนขาว น้ำมันตังอิ้ว ขั้นตอนแรกคือ

- ผงดินสอพอง ได้จากการเขียนอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงบนกระดานชนวนด้วยดินสอพอง แล้วลบออกเอาผงที่ได้มาใช้ผสม เพราะโบราณถือว่าอักขระเลขยันต์เมื่อเขียนแล้วจะไม่ลบทิ้งไปเฉยๆ เพราะเป็นหัวใจพระคาถาถือว่าพระพุทธวัจนะ จะทิ้งลงพื้นดินอันสกปรกไม่ได้ ต้องลบใส่ผอบหรือใส่ยาตรพระไว้ จึงจะถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติ

- ผงวิเศษ เกิดจากการเขียนหัวใจพระคาถาหรือพระพุทธวัจนะต่างๆ ลงบนกระดานชนวนด้วยดินสอพองเช่นกัน เช่นทำผงอิสระเจ ท่านต้องท่องมนต์ และเขียนสูตรมุลกัจจายนะ คือ “อิธะเจตะโสทฬห หิตามะสา” ฯลฯ... อักขระเหล่านี้ ลบแล้วจะเก็บเอาผงใส่ผอบไว้เรียกว่า “ผงอิธะเจ” มีอนุภาพทางเมตตามหานิยมยิ่งนักแล ผงปัถมัง ผงนี้จะได้จากการท่องมนต์คาถาและการเขียนพระพุทธปริต “ปถท” อิธโลโปจ ฯลฯ แล้วเขียนรูปยันต์ต่างๆ ตามไปด้วย เช่น ยันต์รูปองค์พระ ยันต์ย่อมุมทั้ง 7 เป็นต้น เมื่อเขียนยันต์เหล่านี้แล้วให้ลบเอาผงดินสอพองเก็บไว้ ผงที่ลบนี้เรียกว่า “ผงปัถมัง” มีอานุภาพ สามารถทำให้อยู่ยงคงกระพันชาตรีนะจังงัง ล่องหนหายตัวได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ผงมหาราช ผงนี้เกิดจากการทำผงปัถมง คือเอาผงจากการทำ “นะปัถมัง” ดังกล่าวมาปั้นเป็นแท่งอีกครั้ง ทิ้งให้แห้งจึงนำกลับไปเขียนอักขระเลขยันต์ตามสูตรมหาราชอีกครั้ง จนเต็มกำลังทั้ง 108 คาบ แล้วจึงลบเอาผงไว้ ผงที่ได้นี้เรียกว่า “ผงมหาราช” มีอานุภาพดีทางเสน่ห์มหานิยมยิ่งนัก ผงพุทธคุณ และผงตรีสิงเห ผงทั้งสองนี้ก็มีนัย การทำตามขั้นตอนดังกล่าวมาแล้วทั้งนั้น เมื่อได้รวมผงทั้งหมดดังกล่าวมานี้เข้าได้ด้วยกัน จึงรวมเรียกว่า “ผงวิเศษ” อันเป็นเนื้อผงที่ผสมในพระพิมพ์สมเด็จของหลวงปู่เทียนที่ได้สร้างขึ้นทุกรุ่นด้วย

- ข้าวสุก ต้องเป็นข้าวที่ได้มาจากการบิณฑบาตเท่านั้น โดยต้องนำมาแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเก็บไว้ฉันท์ ส่วนหนึ่งไว้ให้ลูกศิษย์ส่วนหนึ่งให้เป็นทานกับนกกา และส่วนสุดท้ายเก็บเอาไว้ผสมทำพระพิมพ์ต่อไป

- เกสรดอกไม้ และว่าน 108 อย่าง มีเกสรดอกไม้ทั้ง 7 อย่างเรียกว่า “สัตตบุษ” โดยได้มาจากดอกบัวบูชา นำมาใช้เฉพาะเกสรดอกบัวหลวง บัวขาว บัวขาบ บัวสัตตบงกช บัวสัตบุตร ฯลฯ เป็นต้น ด้วยดอกบัวเป็นดอกไม้วิเศษ ซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับพุทธดำเนินเมื่อคราวที่พระพุทธองค์ประสูตจากครรภ์มารดาที่ป่าลุมพินีนั่นเอง ส่วนว่าน 108 เป็นพืชที่จะต้องจัดหาและเก็บสะสมไว้ต้องใช้เวลานานจึงจะได้ครบถึง 108 อย่าง

- ปูนขาว ต้องเป็นปูนขาวที่เก็บเอาเปลือกหอยที่มีอยู่ตามชายหาดมาเผาแล้วนำไปบดผสมเป็นเนื้อพระพิมพ์จึงจะทำให้พระมีเนื้อที่แข็งแกร่ง มีน้ำหนักดี ผิดกับพระพิมพ์สำนักอื่นๆ

- น้ำมันตังอิ้ว นำมาตั้งไฟเคี้ยวให้ข้น แห้ง เหนียว จึงจะใช้ได้ดี นำไปผสมลงในเนื้อพระพิมพ์ โขลกให้เข้ากันด้วยน้ำมันตังอิ้ว จะทำให้ส่วนผสมที่ใส่ไปทั้งหมดยึดเกาะเกี่ยวกันอยู่ได้จนเป็นเนื้อเดียวกัน และยังทำให้พระพิมพ์ไม่แห้งเปราะ หักง่ายๆ อีกด้วย

หลวงปู่เทียนเองทานเคยได้เล่าเรียนการทำผงวิเศษมาบ้างแล้ว จึงสามารถทำได้อย่างถูกต้อง เมื่อท่านได้สร้างพระพิมพ์ครั้งแรกๆ เป็นพระพิมพ์สมเด็จเนื้อผงวิเศษประมาณ 20 -30 องค์ พวกลูกศิษย์ใกล้ชิดชอบใจนำเอาไปบูชา เกิดปาฏิหาริย์เป็นที่กล่าวขวัญกันมาก ต่อมาก็เลยสร้างพระพิมพ์สมเด็จขึ้นมามากมายหลายพิมพ์ หลายขนาด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยการสร้างพระเครื่องต่างๆ ของท่าน ท่านจะให้ลูกศิษย์ไปหาว่าน 108 มาใช้ เช่น ว่านนางกวัก ว่านเพชรน้อย ว่านเพชรใหญ่ ว่านเพชรกลับ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งพระเครื่องทั้งหมดของหลวงปู่เทียน ไม่ว่าจะเป็นพระสมเด็จเนื้อผง หรือพระนางพญา เนื้อดิน และพระอื่นๆ ล้วนแต่ทำด้วยเนื้อผงตามสูตรเดียวกันทั้งนั้น และที่สำคัญหลวงปู่ได้ทำการปลุกเสกด้วยตัวท่านเอง ทุกๆ องค์ ทุกครั้ง นอกจากเนื้อพระสมเด็จของหลวงปู่เทียนจะมีชื่อเสียงโด่งดัง และมีพุทธคุณยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีตะกรุดสาริกาขนาดจิ๋ว ชนอดใส่ตาอยู่ได้ทั้งวัน โดยไม่มีการระคายเคืองตา ท่าจะทำตะกรุดนี้ ด้วยมือของท่านเองอีกเช่นกัน ดังนั้น พระสมเด็จฯ ของท่านนอกจากจะมีเนื้อเยี่ยมยอดด้วยพุทธคุณแล้ว ทุกองค์ยังมีตะกรุดฝังอยู่ใต้องค์พระ 2 ดอก เพิ่มอานุภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย

พระเครื่องรุ่นสำคัญๆ ของหลวงปู่เทียน มีดังต่อไปนี้

1. พระสมเด็จพุฒาจารย์ หรือพระสมเด็จรุ่นพิเศษ (รุ่น พ.ศ. 2506) เป็นพระเนื้อผงอิทธิเจ ปัถมัง ด้านหน้าเป็นรูปพระนั่งสมาธิอยู่บนฐาน 3 ชั้น ภายในซุ้มโค้งรูปเล็บมือแบบเดียวกับพระสมเด็จฯด้านหลังเป็นรูปนูนต่ำหลวงปู่เทียน(พระครูบวรธรรมกิจ) ท่านั่งสมาธิบนฐานภายในซุ้มกรอบกนกได้ฐานมีข้อความว่า “บวรธรรมกิจ” เป็นบรรทัดแรก ส่วนบรรทัดรองลงมาเป็นเลข พ.ศ. 2506 ใต้องค์พระขอบด้านล่าง มีฝังตะกรุด 2 ดอก เป็นตะกรุดสาริกา เมตตามหานิยมแบบใส่ตาได้หลายๆวันไม่ระคายเคือง นั่นเอง ขนาดองค์พระมีความกว้างประมาณ 3.8 ซ.ม. สูงประมาณ 5.5 ซ.ม. ความหนาประมาณ 0.8 ซ.ม.

พระสมเด็จรุ่นพิเศษ พระสมเด็จเกศบัวตูม

พระสมเด็จพุฒาจารย์ รุ่นพิเศษ พ.ศ. 2506 นี้ พวกลูกศิษย์ และผู้ที่เคารพนับถือในองค์หลวงปู่เทียนได้นิมนต์ให้ท่านสร้างขึ้นเนื่องในงานกวนข้าวทิพย์ และหล่อรูปเหมือน และฉลองพัดยศเป็นพระครูชั้นเอก เมื่อวันที่ 2 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2506 โดยมีนายจรัส ธารีสาร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีขณะนั้น เป็นประธานฝ่ายฆราวาสและมีท่านเจ้าคุณธรรมานุสารี รักษาการเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ขณะนั้นเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เพื่อให้จองกันเองในงานนี้ จึงตกลงเป็นมูลค่า เพื่อนำไปบูชาองค์ละ 50 บาท และได้นำเงินนี้มาใช้เป็นค่าหล่อรูปเหมือนเท่าองค์จริงของหลวงพ่อ ซึ่งขณะนี้ประดิษฐ์ฐานอยู่ที่ด้านหน้าโบสถ์ ของวักโบสถ์

ด้านหน้า ด้านหลัง

สำหรับพุทธคุณของสมเด็จพุฒาจารย์ รุ่นพิเศษนี้จากการบอกเล่าของ ร.ต.ท.ฟ้อย ธนะนิมิตร แห่งสถานีตำรวจภูธรเมืองปทุมธานีว่า คนได้ทำการทดลองเอาไม้ขีด 2 กล่อง วางห่างกัน 4 นิ้ว แล้วเอาพระสมเด็จพุฒาจารย์รุ่นพิเศษของหลวงปู่เทียนวางละตรงกลาง จากนั้นเอาไฟจุดแต่จุดเท่าไหร่ก็ไม่คิด ทำอย่างนี้สลับกันถึง 2 ครั้ง ต่อหน้าผู้กำกับ พ.ต.อ.พิชัย สุคันธวานิช ขณะนั้น การทดลองจุดไฟนี้ผู้บังคับกอง พ.ต.ต.สละ พูนศิริ ก็ได้ทำการทดลองจุดไฟด้วยวิธีเดียวกับ ร.ต.ท.ฟ้อย ธนะนิมิตร ต่อหน้านายแบบอัยการจังหวัดปทุมธานีขณะนั้น ไฟก็ไม่คิดอีกเช่นกัน

พระสมเด็จพุฒาจารย์ รุ่นพิเศษ ของหลวงปู่เทียนนี้นอกจากจะกันไฟได้แล้ว ยังมีพุทธคุณในทางแคล้วคลาด ผู้กำกับคนก่อนของสถานีไปโดนรถชนมา ก็ไม่เป็นอะไรทั้งๆ ที่รถเข้าชนตรงด้านที่นั่งพอดี ซึ่งปรากฏว่ารถที่ถูกชนนี้เสียหายยับเยิน ร.ต.ต.อำนวย เจริญสุข นั่งจักรยานยนต์ซ้อนท้ายนายเคียง ถูกรถบรรทุกชนอย่างจัง ทั้งคู่กระเด็นไป 10 วา กลับไม่เป็นอะไรเช่นกัน ในทางคงกระพัน เถ้าแก่หยวนจากโรงฆ่าสัตว์ปทุมธานี ได้เอาพระรุ่นนี้ไปทดลองยิง แต่กลับยิงไม่ออกทั้ง 6 นัด แต่พอหันไปยิงทางอื่น กลับยิงออกทุกนัด

ด้วยเหตุนี้เอง นายจรัส ธารีสาร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีขณะนั้น จึงได้มีพระสมเด็จพุฒาจารย์ รุ่นพิเศษ ของหลวงปู่เทียนไว้บูชาถึง 24 องค์ ผู้กำกับกองมีถึงพิเศษ ของหลวงปู่เทียนไว้บูชาถึง 24 องค์ ผู้กำกับกองมีถึง 12 องค์ ผู้บังคับกองมีถึง 9 องค์ เถ้าแก่หยวนมีถึง 14 องค์ และนายตุ๊ ลูกชายเถ้าแก่หยวนเองก็มีถึง 14 องค์เช่นกัน

2. พระสมเด็จเนื้อผงพิมพ์เกศบัวตูม 3 ชั้น รุ่นไตรมาส (พ.ศ. 2507) ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิเกศบัวตูม ประทับนั่งบนฐาน 3 ชั้น อยู่ในซุ้มวงโค้งรูปเล็บมือ ด้านหลังเป็นรูปลายเส้นภาพเหมือนของหลวงปู่เทียนนั่งสมาธิ ไม่มีซุ้มปรากฏ และทุกองค์ที่ลานเส้นจะต้องฉาบทอง ด้านล่างมีมีข้อความว่า “บวรธรรมกิจ” ความกว้างขององค์พระประมาณ 2.7 ซ.ม. ความสูงประมาณ 3.7 ซ.ม. ความหนาประมาณ 0.6 ซ.ม. ด้านล่างฝังตะกรุด 2 ดอกเช่นกัน

3. เหรียญรุ่นแรก เป็นเหรียญรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้อทองแดงขนาดกว้าง 2 ซ.ม. สูง 3.5 ซ.ม. ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่เทียนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดสังฆาฎิใต้รูปมีข้อความว่า “พระครูบวรธรรมกิจ 2490” ด้านหลังเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งบนฐาน 7 ชั้น ในซุ้มเรือนแก้ว ด้านบนมีข้อความว่า “ที่ระฤกในการผูกพัทธสีมา” ส่วนด้านล่างของพระพุทธรูปเป็นชื่อวัดบ่อเงิน เหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญรุ่นแรกที่สร้างในปี พ.ศ. 2490 เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมเหรียญหนึ่งมากในขณะนี้

4. เหรียญรุ่นที่ 2 ออกในวาระการทำบุญครบ 6 รอบ (72 ปี) ใน พ.ศ. 2491 เป็นเหรียญรุ่นแรกที่ออกที่วัดโบสถ์ จัดสร้างจำนวนน้อยมาก จะแจกให้เฉพาะในงาน เหรียญมีลักษณะรูปคล้ายๆ หยดน้ำ มีขอบหยักบนและล่างเล็กน้อย มีเส้นยกขอบ 2 เส้น เส้นนอกใหญ่เส้นในเล็ก มีหูเจาะในตัว มีเนื้อ คือเนื้อเงิน และเนื้ออลูมิเนียม ด้านหน้าเป็นรูปของหลวงปู่เทียนนั่งสมาธิเต็มองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดสังฆาฎิ ด้านล่างมีข้อความว่า “พระครูบวรธรรมกิจ พ.ศ. 2491” ข้างๆ องค์หลวงปู่ช่วงข้อศอกมีอักขระข้างละ 2 ตัว ด้านหลังเหรียญเรียบ

5. เหรียญรุ่น 3 พ.ศ. 2506 มีลักษณะเป็นเหรียญรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้อทองแดงคล้ายรุ่นแรก แต่มีขนาดเล็กกว่าคือ มีความกว้างประมาณ 2 ซ.ม. สูง 3 ซ.ม. หลวงปู่เทียนท่านสร้างเหรียญรุ่นนี้ เมื่อ พ.ศ. 2506 ขณะท่านมีอายุ 87 ปี ด้านหน้าของเหรียญเป็นรูปเหมือนของหลวงปู่เทียนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดสังฆาฎิ ได้รูปมีข้อความ 2 บรรทัด บรรทัดบน “พระครูบวรธรรมกิจ” บรรทัดล่างเป็น “พ.ศ. 2506” ข้างเหรียญยกขอบเช่นเดียวกับรุ่นแรก ส่วนด้านหลังเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ หูบายสี ประทับนั่งบนฐาน 7 ชั้น อยู่ภายในซุ้มโค้งรูปเล็บมือปัจจุบันเป็นเหรียญที่นิยมที่สุดของวัดโบสถ์ปทุมธานี

6. เหรียญรุ่น 4 เป็นเหรียญที่สร้างออกในงานทำบุญฉลองอายุ 97 ปี ของหลวงปู่ใน พ.ศ. 2509 โดยมี พล.ต.ต.เนื่อง อาขุบุตร์ ศิษย์ใกล้ชิดเป็นประธานในการสร้างแกะแม่พิมพ์โดยนายช่างจากกองกษาปณ์ กรมธนารักษ์เหรียญรุ่น 4 เป็นเหรียญรุ่นสุดท้ายที่สร้างในขณะที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ ลักษณะเหรียญเป็นรูปวงรี รูปไข่ มีเนื้อทองแดงและเนื้อเงิน ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่เทียนครึ่งองค์ นูนต่ำห่มจีวรคลุม ขอบเหรียญเป็นเส้นขอบ 2 เส้น มีข้อความวนรอบเหรียญว่า “การทำบุญฉลองอายุ 91 ปี พระครูบวรธรรมกิจ (เทียน ปุบฺผธมฺโม)” ด้านหลังเป็นยันต์มีอักขระ 4 ตัว คือ ว-พ-ธ-จ ใต้ภาษาไทยเป็นอักขระภาษามอญอ่านว่า “เวอะ เพอะ เจอะ” ใช้ดีในทางคลาดแคล้วและคงกระพันชาตรี ดียิ่ง

นอกจากนี้ยังมีพระเครื่องรางรุ่นสำคัญๆ แต่ส่วนมากหลวงปู่ท่านจะจัดสร้างไว้ จำนวนน้อยขึ้น เช่น

7. พระสมเด็จ 9 ชั้น เนื้อผง

8. รูปเหมือนเฉพาะใบหน้า ของหลวงปู่เทียนเนื้อผง

9. พระนางพญา เนื้อดินเผา

10. พระขุนแผน เนื้อดินเผา

11. พระรอด เนื้อดินเผา

12. พะรทุ่งเศรษฐี เนื้อดินเผา

13. ตระกรุดสาริกา, ตระกรุดมหาอุด

14. พระสมเด็จคะแนน จิ๋ว เนื้อผง เป็นต้น

รูปเหมือนหล่อเท่าองค์จริง “หลวงปู่เทียน”

บริเวณป่าช้าวัดสระเกศที่เต็มไปด้วยซากศพ

เกร็ดความรู้ ทางประวัติศาสตร์ ของหลวงปู่เทียน

หลวงปู่เทียน ท่านเองมีความคุ้นเคยกับสมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศ (ราวปลายสมัยรัชกาลที่ 5) ตั้งแต่สมเด็จฯ ยังเป็น “มหาอยู่” หลวงปู่เทียนท่านเล่าเรื่องให้ฟังว่า ท่านต้องมาที่วัดสระเกศนี้บ่อยมาก เพราะต้องนำเอาพระ เณร มาฝากเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดสระเกศนี้ ท่านได้เล่าเกร็ดความรู้เรื่องแร้งที่วัดสระเกศไว้ว่า เมื่อครั้งปี พ.ศ. 2443 ว่าขณะนั้นได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดขึ้นในกรุงเทพฯ มีผู้คนล้มตายไปมากมายหลายพันคน จนในแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนั้นเต็มไปด้วยซากศพ มีคนตายลอยน้ำเต็มไปหมด หลวงปู่ยังเล่าต่อไปอีกว่า เห็นแร้งที่วัดสระเกศเกาะกันอยู่เป็นฝูงๆ และมีบินอยู่บนท้องฟ้าเต็มไปหมดมันจะพากันลงกินซากศพอย่างเอร็ดอร่อย ทางวัดต้องทิ้งศพให้แร้งกิน โดยต้องตัดศพออกเป็นชิ้นๆ โยนให้แร้งกินจนเหลือแต่กระดูกเหล่านี้ไปเผา หรือฝังอีกที แต่กว่าสัปเหร่อจะมาเอากระดูกไปเผาหรือฝังก็หลายวัน เศษเนื้อที่ติดๆกระดูกอยู่จะส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวนไปหมดทั่วบริเวณวัดสระเกศ ส่วนแร้งที่กินอิ่มแล้ว ก็จะบินไปจับอยู่บนต้นไม้ใกล้ๆ กับที่ทิ้งซากศพนั่นเอง แร้งก็จะพากันปล่อยมูลลงมาบนพื้นขาวโพลนไปทั่วโคนต้นไม้นั้น

คำบอกเล่าของหลวงปู่เทียนนี้ เป็นความรู้ช่วงหนึ่งที่สามารถใช้เป็นข้อมูลศึกษาประวัติศาสตร์ของยุคนั้นที่บริเวณวัดสระเกศ ได้เป็นอย่างดี