๙๐ ปี โรงเรียนสตรีฯ จ.ปทุมธานี

โดย ครูจีรพันธ์ สมประสงค์

๒๕ เมษายน ๒๔๖๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ จังหวัดปทุมธานีได้เกิดมี โรงเรียนประชาบาลแผนกสตรี แห่งแรกเกิดขึ้นที่ตำบาลบางปรอก จึงนับเนื่องให้เป็นโรงเรียนสำหรับสตรีแห่งแรกของจังหวัดปทุมธานีนับแต่นั้น มา และถึง วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๖ นี้ก็จะมีอายุการก่อตั้งครบ ๙๐ ปีพอดี

อันสรรพสิ่งทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนมีที่มา มีประวัติความเป็นมา มีการกำเนิดหรือเกิดขึ้นที่สามารถสืบค้นหาหลักฐานมายืนยันได้สำหรับวันนี้ โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุงปทุมธานีก็เช่นกัน ควรได้มีการชำระประวัติศาสตร์การก่อตั้งโรงเรียนกันใหม่และควรมีการนับ เรื่องรวมมาตั้งแต่การก่อกำเนิดโรงเรียนสตรีแห่งแรกของจังหวัดปทุมธานีเข้า ไว้ด้วยเพื่อเป็นการให้เกียรติและเทิดทูนศักดิ์ศรีให้เกิดความภาคภูมิใจ จากประวัติความเป็นมาอันทรงเกียรติยิ่งของตนเอง ดังต่อไปนี้

ตามพระราชบัญญัติการประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ พระอง๕ทรงให้ความสำคัญต่อการศึกษาของชาติไทย เป็นอย่างมากและได้ประกาศใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าว ไปเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๖๔ มีสาระสำคัญคือบังคับให้เด็กๆทุกคน ไม่เลือกเพศ ศาสนา ที่มีอายุตั้งแต่ ๗ ปีขึ้นไป ต้องเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนถึงอายุ ๑๔ ปีบริบูรณ์ โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน หากฝ่าฝืนบิดามารดา หรือผู้ปกครอง ต้องมีโทษปรับ จึงนับเป็นการเริ่มต้นการศึกษาภาคบังคับขึ้นเป็นนครั้งแรกในสยาม (เหมือนเรียนฟรีสมัยนี้) และจากการประกาศใช้การศึกษาภาคบังคับ ในระดับประถมศึกษาทั่วประเทศฉบับนี้ทำให้เกิดโรงเรียนประเภทใหม่ขึ้นมา คือ โรงเรียนประชาบาล เพิ่มมาจากโรงเรียนรัฐบาลและเพิ่มจากโรงเรียนราษฎร์ โรงเรียนประชาบาลคือ โรงเรียนที่ประชาชนในท้องถิ่นร่วมกันจัดตั้งขึ้นและดำรงอยู่ด้วยทุนทรัพย์ ของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นโรงเรียนประถมศึกษา เงินค่าใช้จ่ายได้มาจากเงิน “ศึกษาพลี” ซึ่งเรียกเก็บจากประชาชนเป็นรายปี นอกจากนี้ยังอาจได้รับ เงินอุดหนุนจากงบของกระทรวงธรรมการด้วย โดยจะมีการเรียกเก็บจากชายที่มีอายุระหว่าง ๑๘ – ๖๐ ปี ต้องเสียค่าศึกษาพลีไม่ต่ำกว่า ๑ บาท แต่ไม่เกิน ๓ บาท ผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่า ศึกษาพลี ได้แก่ผู้ที่ทำมาหาเลี้ยงชีพไม่ได้ และพระภิกษุ สามเณร บาทหลวง ทหาร ตำรวจ จึงเปรียบได้ว่า เป็นโรงเรียนที่ราษฎร์ มาช่วยกันบำรุง และมีนายอำเภอ ศึกษาธิการอำเภอ ศึกษาธิการจังหวัด ดูแลเรื่องนี้ตำบลละ ๑ โรงเรียน

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ จังหวัดปทุมธานีจึงเกิดโรงเรียนประชาบาลแผนกสตรี ตำบลบางปรอกขึ้นเป็นโรงเรียนประจำตำบลสำหรับสตรีแห่งแรกในจังหวัดปทุมธานี จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๖๖ โดยมีอำมาตย์โท พระยาประทุมธานี ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีในสมัยนั้นเป็นหัวหน้าเรี่ยไรเงิน จากข้าราชาร พ่อค้า และคหบดีในจังหวัดปทุมธานีได้เงินมา ๒,๐๔๖ บาท ๒๔ สตางค์ นำมาสร้างโรงเรียนขึ้นหลังหนึ่งในบริเวณตลาดบางปรอก เป็นเรือนทรงปั้นหยา ชั้นเดียว กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๘ เมตร เสาเป็นไม้เต็งรัง เครื่องบน พื้น และฝาใช้ไม้ตะแบก ประตูหน้าต่างใช้ไม้สัก ส่วนหลังคามุงจาก สิ้นเงินก่อสร้าง ๑,๖๔๕ บาท ๘๙ สตางค์ ยังเหลือเงินบริจาคอีก ๔๐๐ บาท ๓๕ สตางค์ จึงนำไปซื้อเครื่องใช้ไม้สอยในโรงเรียน โรงเรียนตั้งอยู่ไม่ห่างจากศาลากลางจังหวัดปทุมธานีไปทางทิศตะวันตก แต่เดิมในบริเวณนี้เป็นเกาะเมือง มีคลองคูเมืองตั้งแต่คลองวัดโสภาวนาราม ยาวถึงคลองวัดหงส์ปทุมมาวาส ล้อมรอบเป็นวง เรียกกันเกาะเมืองปทุมธานีและเกาะเมืองนี้ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ สำคัญๆในยุคนั้นอีกหลายแห่ง เช่น ศาลากลาง (พ.ศ. ๒๔๖๐) จวนผู้ว่าฯ ศาลจังหวัดปทุมธานี ที่ว่าการอำเภอเมือง ที่ดินจังหวัด สถานีตำรวจ ที่ทำการไปรษณีย์ และตลาดสดบางปรอก ปัจจุบันคลองคูเมืองถูกถมเป็นถนนและเป็นที่จอดรถยนต์ไปหมดแล้ว ยังมีหลักฐาน รายนามผู้บริจาคทรัพย์เป็น “ศึกษาพลี” ปรากฏเป็นหลักฐานในหนังสือวิทยาจารย์ ๑๕ กันยายน ๒๔๖๗ เล่มที่ ๒๔ ตอนที่ ๑๘ หน้า ๑๑๒๙ ถึง ๑๑๓๒ ความว่า

โรงเรียนประชาบาลยุคแรกเริ่ม

การแต่งกายของนักเรียนสตรี

แจ้งความมา ณ วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๖๖ ว่าโรงเรียนประชาบาลแผนกสตรีตำบลบางปรอก ที่ได้ทำพิธีเปิดเป็นสถานเล่าเรียนฝ่ายสตรีไปเมื่อ ๒๕ เมษายน ๒๔๖๖ มีรายนามผู้บริจาค ดังนี้

อำมาตย์โท พระยาปทุมธานี ให้ที่ดินสร้างโรงเรียนนี้ ๑๙๙ ตร.ว. กับเงิน ๑๐๐ บาท ขุนธนานุสร ๖๕ บาท หลวงรามสิทธิศร ๖๓ บาท ๕๐ สตางค์ หลวงมหาสวัสดิ์ภิบาล ๕๐ บาท ขุนชาญพยุหกิจ/นายฮะกิม/นายฉั่ว/นายเบ็ก/นายแตงซุ้ย รายละ ๕๐ บาท ขุนรักษ์ราชธน ๔๔ บาท คุณหญิงประทุมธานี/นายเพิ่ม เป็นสุข/นายกร่าง ผลลออ รายละ ๔๐ บาท ขุนอภิยุตสระทัณฑ์ ๓๕ บาท ขุนประกอบคดี ๓๕ บาท นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านช่วยกันบริจาคอีกหลายร้อยราย ฯลฯ ในวันเปิดโรงเรียนนายกู๋/นายฮะกิม/นายฉั่ว/นายเบ็ก/นายแตงซุ้ย ได้น้ำงิ้มมาช่วยเล่นอีก ๓ วัน ๓ คืน ด้วย

จากการสืบค้นเพื่อ ติดตามหาสถานที่ตั้งโรงเรียนประชาบาลสตรีบางปรอก ได้รับคำยืนยันจากคุณจุรี วิถีพานิช เจ้าของร้าน “ปุ๊ก” ร้านกาแฟโบราณคู่จังหวัดปทุมธานีมานาน บอกเล่าว่า โรงเรียนสตรีบางปรอกในอดีตตั้งอยู่ ณ ที่ตลาดเทศบาลเมืองปทุมธานี ตรงจุดที่ขายเนื้อ ขายหมู และขายของชำ อยู่ขณะนี้ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ของราชพัสดุ โดยการสร้างโรงเรียนจะสร้างหลักศาลากลางจังหวัด ๖ ปี มีผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีขณะนั้น คือ พระยาปทุมธานี (ฟื้น กฤษณะบัตร) ดำรงตำแหน่ง ๑๘ พ.ย. ๒๔๕๗ ถึง ๒๕ ต.ค. ๒๔๖๗ เป็นผู้ดูแลการสร้างโรงเรียนจนสำเร็จ

ศาลากลางจังหวัด พ.ศ. ๒๔๖๐ สร้างก่อน ร.ร.สตรีฯ ๖ ปี

กิจการของโรงเรียนสตรีบางปรอกฯ ดำเนินการมาได้ประมาณ ๖ ปี จน พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้ขยายจากตลาดเทศบาลฯ ข้ามฝั่งแม่น้ำ มาอยู่ฝั่งตะวันออก โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนสตรีปทุมธานี โดยจ้างเหตุผลว่า ที่ตรงนั้นคับแคบมากเพียง ๑๙๕ ตร.ว. เท่านั้น ขยายไม่ได้และใกล้สถานีตำรวจแหล่งชุมชน จึงดูไม่เหมาะสม ศึกษาธิการจังหวัดขณะนั้นคือ นายวิโรจน์ กมลพันธ์ จึงมีดำริ จะให้สร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ แต่ศึกษาคนนี้ย้ายไปเสียก่อน ต่อมาขุนศึกษาการพิสิษฐ์ มารับตำแหน่งแทนจึงทำการต่อโดย มาขอความอนุเคราะห์กับหลวงปู่เทียน เจ้าอาวาสวัดโบสถ์เชียงราก ผู้ว่าขณะนั้นคือ หลวงนรกิจกำจร และชาวบ้านก็เห็นดีด้วย ด้วยจึงพร้อมใจกันย้ายโรงเรียนข้ามฝั่งมาสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ในเนื้อที่ของธรณีสงฆ์ของวัดโบสถ์เชียงรากประมาณ ๖ ไร่ ๓ งาน ๒๕ ตร.ว.(จุดนี้เป็นป่าช้าเก่าวัดลุ่มเมื่อ ๓๐๐ ปีก่อน) เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๗๘ โดยทางวัดโบสถ์เชียงราก ไม่ได้คิดค่าเช่าแต่อย่างใด ส่วนทุนในการสร้างอาคารเรียน จังหวัดได้ขอไปยังสโมสรคณะราษฎรเป็นเงินทุน มาสร้างเป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น ๑๐ ห้องเรียน สร้างเสร็จ พ.ศ. ๒๔๘๐ สิ้นเงิน ๙,๐๓๑ บาท และใช้ชื่อใหม่ว่า โรงเรียนสตรีปทุมธานีคณะราษฎร์บำรุง ๓ เมื่อเสร็จ มีพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ทรงเป็นประธานมาเปิดอาคารเรียน

อาคารเรียน (๒๔๘๐)

อาคารเอนกประสงค์ (๒๔๘๒)

เดิมโรงเรียนสตรีปทุมธานีฯ นี้จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๑ ถึง ๔ (มาถึง ๒๕ ปี) ต่อมาได้ยุบ ชั้นประถมปีที่ ๑ – ๔ และเปิดสอนมัธยมปีที่ ๑ – ๖ ขึ้นแทนใน พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญแผนกศิลปะโดยรับนักเรียนทั้งชายและ หญิง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้เปิดสอนแผนกวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและพัฒนาตามหลักสูตรการ ศึกษาชาติเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน รวม ๙๐ ปี