ประวัติ.. คณะราษฎร์บำรุง

โดย ครูจีรพันธ์ สมประสงค์

คณะราษฎร์บำรุง เป็นชื่ออะไร

คณะราษฎร์บำรุง ชื่อนี้มาจากไหน และ ทำไมต้องใช้ชื่อ คณะราษฎร์บำรุง

คณะราษฎร์บำรุง ปัจจุบันคือโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ประจำจังหวัดปทุมธานี มีชื่อเดิมว่า โรงเรียนสตรีปทุมธานี ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2472 แรกมีที่ตั้งอยู่ ณ บริเวณที่ทำการเทศบาลเมืองปทุมธานี ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ในปัจจุบัน) และสภาพเดิมนั้น เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ไม่มีรั้วรอบขอบชิดเป็นสัดส่วน และมีพื้นที่บริเวณโรงเรียนแคบมาก ไม่สามารถขยายพื้นที่ออกไปได้ด้วยอยู่ใกล้กับสถานีตำรวจภูธรเมืองปทุมธานีมาก ภาพจึงไม่เหมาะสมที่พัฒนาให้บริเวณนี้เป็นสถานศึกษา ขณะนั้นมี นางสาวอรุณ พิศลบุตร มีตำแหน่งเป็นครูใหญ่ มีขุนศึกษาการพิสิษฐ์เป็นศึกษาธิการจังหวัดได้ประชุมร่วมกันดำเนินการขอความอนุเคราะห์จาก พระครูบวรธรรมกิจ (หลวงปู่เทียน) เจ้าอาวาสวัดโบสถ์เชียงราก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เพื่อขอใช้ที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม (ฝั่งตะวันออก) เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงเรียน เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2478 ในเนื้อที่ธรณีสงฆ์ประมาณ 6 ไร่ 7 ตารางวา ขณะนั้นมีผู้ว่าราชการจังหวัด หลวงนรกิจกำจร และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปทุมธานีได้ดำเนินการทำเรื่องขอทุนช่วยเหลือในการก่อสร้างอาคารใหม่ไปยังสโมสรคณะราษฎรเพื่อขอทุนก่อสร้างอาคารเรียน ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของชื่อโรงเรียนใหม่จาก “สตรีปทุมธานี” ไปเป็น “คณะราษฎร์บำรุง 3”

ภาพถ่ายทางอากาศ การย้ายจากฝั่งตะวันตก สู่ฝั่งตะวันออก (ปัจจุบัน)

อาคารเรียนหลังแรก 2 ชั้น 10 ห้องเรียน สร้างด้วยเงินจากสโมสรคณะราษฎร พ.ศ. 2480

คณะราษฎร หมายถึง บุคคลคณะหนึ่ง ซึ่งมีจุดประสงค์ที่คิดจะล้มล้างระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อนำเอาระบบประชาธิปไตยมาใช้แทน โดยจะทำการปฏิวัติทางการเมือง และการปฏิวัติทางเศรษฐกิจให้มีสภาพดีขึ้น บุคคลกลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์ และความมุ่งหมายไม่รุนแรงแบบคณะปฏิวัติ ร.ศ. 103 เขามีความปรารถนาและต้องการจะให้มีการปกครองตามระบบรัฐธรรมนูญโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญต้องการให้มีการประชุมรัฐสภา เพื่อปรึกษาหารือกิจการบ้านเมืองตามแบบนานาอารยะประเทศ ต้องการให้ประชาชนพลเมืองมีสิทธิมีเสียงในการปกครองประเทศ ต้องการให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเสมอภาค ภราดรภาพ เท่าเทียมกันตามกฎหมาย และเป็นธรรมชาติ ตามทฤษฎีและทรรศนะของนักปรัชญาในศตวรรษที่ 17-18 จะเร่งรัดปรับปรุงการศึกษา จะประกันความอดอยากยากแค้นของราษฎร โดยจัดกระบวนการทางการเมืองและทางเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ จะวางโครงการเศรษฐกิจโดยจะไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยากปากแห้งดังที่ได้เป็นอยู่ในขณะนั้น จะไม่ปล่อยให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ หรือมีชีวิตเป็นไปอย่างยถากรรมตามเรื่อง รัฐบาลจะเข้าทำการช่วยเหลือตามวิถีทาง

อาคารเรียนที่สร้างสำเร็จรุ่นแรก

เมื่อสรุปวัตถุประสงค์ของคณะราษฎรแล้วก็คือ การจะสร้างสรรค์เสถียรภาพทางการเมือง จะสร้างสรรค์เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จะสร้างเสถียรภาพของสังคม ตลอดจนการคลัง การศึกษา ให้เป็นไปตามครรลองในระบบประชาธิปไตย

คนสำคัญของคณะราษฎร ในการพลิกแผ่นดิน หรือทำการโค่นล้มราชบัลลังค์พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยปราศจากเลือดแม้แต่หยดเดียว เป็นการปฏิวัติที่เต็มไปด้วยความเรียบร้อย น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง บุคคลนี้คือ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ท่านเป็นคนซื่อ มีความบริสุทธิ์ใจ มีอุดมการณ์ ตั้งปณิธานอยู่ประการเดียวในการปฏิวัติ คือ ต้องการให้ประเทศไทยมีการปกครองระบบประชาธิปไตย ต้องการเห็นบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ท่านจึงเสี่ยงชีวิตเพราะต้องการประชาธิปไตย จัดเป็นนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ และมีมรรยาททางการเมือง หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 2 สมัย ท่านก็ลาออกเพราะท่านไม่ต้องการผูกขาดอำนาจ ไม่ต้องการเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น สิ่งเดียวที่ต้องการคือ ให้ประเทศสยามมีการปกครองในระบบประชาธิปไตย

จากเงินทุนที่ได้มาสร้างอาคารเรียนจากสโมสรคณะราษฎรนั้น ได้นำมาก่อสร้างเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น 10 ห้องเรียน กว้าง 12 เมตร ยาว 28 เมตร มีมุขหน้า 2 มุข มีระเบียงเชื่อมอยู่ตรงกลาง สร้างเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2480 สิ้นเงินก่อสร้าง 9,031 บาท และได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อใหม่ว่า คณะราษฎร์บำรุง 3 โดยมีพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ทรงมาเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารเรียนหลังใหม่

ชื่อเดิม โรงเรียนสตรีปทุมธานี อาคารหลังเก่า

ยกระดับทางเดินจากท่าน้ำไปถึงอาคารเรียน

ม.ล.ปิ่น มาลากุล และ ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล พบกับหลวงปู่เทียน ในงานวางศิลาฤกษ์อาคารเรียน

ท่าเรือข้ามฟากหลังเก่า

ใน พ.ศ. 2484 ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเงิน 700 บาท สร้างเป็นโรงอาหาร

ใน พ.ศ. 2495 ได้รับเงิน ก.ศ.ส. 50,000 บาท มาสร้างห้องเรียนเพิ่มเติมขึ้นอีก 2 ห้องเรียน เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ใน พ.ศ. 2497 ของบประมาณ 10,000 บาท เพื่อทำถนนทางเดินเข้าโรงเรียนให้สูงพ้นน้ำ จากริมแม่น้ำเดินเข้าสู่โรงเรียนได้สะดวก

อาคารเรียน (พ.ศ. 2495) สร้างด้วยเงินงบประมาณ (ก.ศ.ส.) ด้วยเงิน 50,000 บาท

อาคารพยาบาลหลังเก่า

นายอภัย จันทวิมล มาเป็นประธานในพิธีเปิดอาคาร

อาคารหอประชุมของโรงเรียน

นักเรียนรุ่นแรกๆ

พื้นที่โรงเรียนเดิมจะต่ำ น้ำจะท่วมทุกปี (ภาพถ่ายขณะน้ำท่วมโรงเรียน ปี พ.ศ. 2514)

ใน พ.ศ. 2499 ปรับพื้นสนามหน้าโรงเรียน ทำถนนหน้าอาคารตามแนวริมคลองวัดโบสถ์ โดยเงินบำรุงการศึกษา 7,000 บาท และสร้างสะพานท่าน้ำโรงเรียนใหม่ด้วยเงินบำรุงท้องที่กับเงินบำรุงการศึกษา รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 30,000 บาท

ใน พ.ศ. 2500 ได้รับเงินงบประมาณด้านพลศึกษาจากจังหวัด 3,000 บาท ให้มาปรับปรุงสนาม และขุดคลองด้านหลังโรงเรียนต่ออีกด้วยเงินบำรุงการศึกษาและเงินยืมทดลองจ่าย เป็นเงิน 8,621.70 บาท

ใน พ.ศ. 2505 ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนเป็นเงิน 100,000 บาท เป็นอาคาร 2 ชั้น มี 4 ห้องเรียน และสร้างห้องครัวให้นักเรียนฝึกหัดประกอบอาหาร โดยใช้เงินบำรุงการศึกษา 14,800 บาท

ใน พ.ศ. 2509 ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ 5,000 บาท ถมสระน้ำบริเวณหน้าโรงเรียน เพื่อทำสนามกีฬา และที่พักผ่อนหย่อนใจ

ใน พ.ศ. 2513 ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นเงิน 2,400,000 บาท สร้างอาคารเรียนเป็นตึก 4 ชั้น 16 ห้องเรียน และมีห้องพิเศษอีก 8 ห้อง รวมเป็น 24 ห้องเรียน

ใน พ.ศ. 2515 ได้รับเงินงบประมาณ 80,000 บาท สร้างอาคารคหกรรม และอีก 300,000 บาท สร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กยาว 110 เมตร และรั้วสูง 1.50 เมตร

ใน พ.ศ. 2520 ได้รับเงินงบประมาณ 900,000 บาท สร้างโรงอาหาร – หอประชุม ชื่ออาคารนิลุบล

ใน พ.ศ. 2521 ได้รับเงินงบประมาณ 4,000,000 บาท สร้างอาคารบุณฑริก เป็นอาคารแบบพิเศษ 4 ชั้น

ใน พ.ศ. 2525 ได้รับงบประมาณเพื่อติดต่ออาคารเรียนแบบพิเศษเป็นเงิน 6,500,000 บาท

ใน พ.ศ. 2527 ได้รับเงินงบประมาณสร้างบ้านพักครูแบบตึก 2 ชั้น ปีละ 1 หลัง จำนวน 1 หลัง จำนวน 10 หลัง และบ้านพักภารโรงอีก 3 หลัง

ใน พ.ศ. 2529 ได้รับงบประมาณ 3,115,000 บาท สร้างอาคารโรงฝึกงานแบบ 406/27 จำนวน 1 หลัง ชื่ออาคารปัทมา

ใน พ.ศ. 2535 ได้รับเงินงบประมาณ 26,000,000 บาท สร้างอาคารเรียนแบบเอนกประสงค์แบบพิเศษ 4 ชั้น จำนวน 1 หลัง ชื่ออาคารกุมุทมาศ

ใน พ.ศ. 2536 ได้งบพัฒนาจังหวัดปทุมธานีมาจัดสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย เป็นเงิน 1,276,000 บาท

ใน พ.ศ. 2537 – 2540 ใช้งบประมาณปรับปรุงบริเวณ/อาคาร สถานที่ ปรับปรุงศูนย์การเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ – จัดทำห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติฯ และปรับปรุงขยายโรงอาหาร

ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียน จากอดีต ถึงปัจจุบัน

1. นางสาวอรุณ พิศลยบุตร ปี พ.ศ. 2472 - 2479

2. นางสาวสมถวิล ศุนวัต ปี พ.ศ. 2480 - 2484

3. นางสาวนพพร ฐิตะวัฒน์ ปี พ.ศ. 2484 - 2490

4. นางปทุมมาลย์ รัชตะปิติ ปี พ.ศ. 2490 - 2493

5. นางสารภี ท่าเรือรักษ์ ปี พ.ศ. 2494 - 2498

6. นางสงบ ชยสมบัติ ปี พ.ศ. 2498 - 2501

7. นางประจวบ ชำนิประศาสน์ ปี พ.ศ. 2502 - 2507

8. นางพงศ์ทอง ดีแท้ ปี พ.ศ. 2507 - 2518

9. นางวณิช เฟื่องทอง ปี พ.ศ. 2518 - 2529

10. นางสุรณี สนั่นเมือง ปี พ.ศ. 2529 - 2530

11. นางดวงเดือน เต็งต้นวงศ์ ปี พ.ศ. 2530 - 2532

12. นางมาลี ไพรินทร์ ปี พ.ศ. 2533 - 2535

13. นางสาวเทียมจันทร์ รามนันทน์ ปี พ.ศ. 2535 - 2537

14. นางสาวผ่องศรี เดชวิเศษ ปี พ.ศ. 2537 - 2541

15. นางสมจิต พูลศิริ ปี พ.ศ. 2541 - 2543

16. นายสมพงษ์ เลี้ยงเจริญ ปี พ.ศ. 2543 - 2544

17. นางสาวกาญจนา สอนง่าย ปี พ.ศ. 2544 - 2554

18. นางวิไลวรรณ วรังครัศมิ ปี พ.ศ. 2554 - 2557

19. นายไพฑูรย์ จารุสาร ปี พ.ศ. 2558 - 2559

20. นายเจริญ บัวลี พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน