A-025-ข่า

ชื่อสามัญ

Galanga, Greater galangal, False galangal

ชื่อวิทยาศาสตร์

Alpinia galanga (Linn.) Swartz.

ลักษณะ

พืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เหง้ามีข้อหรือปล้องเห็นได้ชัด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ใบรูปหอกมีปลายแหลม รูปรีหรือเกือบขอบขนาน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ โคนใบแหลมก้านใบมีขนเล็กน้อย กาบใบแผ่ออกหุ้มต้น ดอกเป็นช่อออกที่ปลายยอด ก้านช่อมีผิวเกลี้ยง ไม่มีขน แต่แกนกลางช่อมีขน ดอกมีขนาดเล็ก ใบประดับรูปไข่ กลีบเลี้ยงสีขาวอมเขียว มีขน โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นหยักมนๆ กลีบดอกมีโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็น 3 กลีบ มีกลีบบนหนึ่งกลีบ กลีบล่างสองกลีบ ที่โคนกลีบดอกมีผลรูปกลมหรือรี สีแดงอมส้ม เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ภายในมี 2-3 เมล็ด

ต้น ข่าเป็นไม้ล้มลุก มีกาบใบซ้อนทับกันมองดูคล้ายลำต้น ขนาดสูงใหญ่กว่ากระชายมาก ความสูงประมาณ 2 เมตร อยู่เป็นกอเกาะกลุ่มกัน มีเหง้าขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน ลักษณะเหง้าแข็งและเป็นข้อปล้อง ใหญ่กว่าหัวแม่เท้า มักคดไปมา มีรากแข็งหลายเส้นออกมาจากเหง้าข่า เนื้อข่ามีสีเหลือง กลิ่นหอม ใช้เป็นเครื่องเทศและเป็นยา

ใบ ใบเลี้ยงเดี่ยวสีเขียวยาวรี ปลายแหลม กว้าง 10 ซม. ยาว 30 ซม. เนื้อใบสองข้างมักไม่เท่ากัน ใบออกเรียงสลับตรงข้ามกัน

ดอก ออกดอกเป็นช่อยาวที่ยอด ก้านช่อยาว 10-30 ซม. ดอกมีขนาดเล็กมีอยู่เป็นจำนวนมาก กลีบดอกสีขาว กลีบใหญ่ที่สุดมีริ้วสีแดง

ผล เปลือกแข็งรูปร่างกลมหรือรี สีแดงอมส้ม ขนาดประมาณ 1 ซม. มี 2-3 เมล็ดอยู่ภายใน ผลแก่จัดจะมีสีดำ

สรรพคุณ

ข่าเป็นพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอาหารมากมาย ใช้ใส่ในต้มข่า ต้มยำ น้ำพริกแกงทุกชนิดใส่ข่าเป็นส่วนประกอบ ยกเว้น แกงเหลืองและแกงกอและทางภาคใต้ที่ไม่นิยมใส่ข่า มีบทบาทในการดับกลิ่นคาวของเนื้อและปลา

หน่อข่าอ่อน เป็นหน่อของข่าที่เพิ่งจะแทงยอดออกมาจากลำต้นใต้ดิน ถ้าอายุประมาณ 3 เดือนเรียกหน่อข่า ถ้าอายุ 6-8 เดือนเรียกข่าอ่อน ถ้าอายุมากกว่า 1 ปีจัดเป็นข่าแก่ ปริมาณน้ำมันหอมระเหยประมาณ 3% หน่อข่าอ่อนทั้งสดและลวกใช้จิ้มหลนและน้ำพริก นำมายำ[3]

ข่ายังมีฤทธิ์ทางยา เหง้าแก่แก้ปวดท้อง จุกเสียด แน่นท้อง ดอกใช้ทาแก้กลากเกลื้อน ผลช่วยย่อยอาหาร แก้คลื่นเหียน อาเจียน ต้นแก่นำไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว ทาแก้ปวดเมื่อย เป็นตะคริว ใบมีรสเผ็ดร้อน แก้พยาธิ สารสกัดจากข่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย น้ำมันหอมระเหยจากข่ามีฤทธิ์ทำให้ไข่แมลงฝ่อ กำจัดเชื้อราบางชนิดได้ ใช้ผสมกับสะเดาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดแมลง[4] ข่า ลดการบีบตัวของลำไส้ ขับน้ำดี ขับลม ลดการอักเสบ ยับยั้งแผลในกระเพาะอาหาร ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อราใช้รักษากลากเกลื้อน [5]


ประโยชน์

สำหรับการใช้ ประโยชน์ข่า ด้านการรักษาโรค และใช้ทำสมุนไพร นั้น นิยมใช้ หน่อ เหง้า ราก ดอก ผล และใบ เรียกได้ว่าทุกส่วนของข่าสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด รายละเอียด ดังต่อไปนี้

  • เหง้าของข่า สามารถนำมาช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยป้องกันมะเร็ง ช่วยช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยรักษาโรคหลอดลมอักเสบ ช่วยขับเสมหะ ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขับลมในลำไส้ ช่วยแก้บิด แก้อาหารเป็นพิษ ช่วยย่อยอาหาร เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยยับยั้งแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ ช่วยขับน้ำดี ช่วยขับเลือด ขับน้ำคาวปลา เป็นยารักษาแผลสด ช่วยลดอาการอักเสบ ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ใช้รักษาโรคผิวหนัง ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ช่วยรักษากลากเกลื้อน ช่วยแก้โรคน้ำกัด ช่วยแก้ฟกช้ำ ช่วยแก้เหน็บชา ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศ ช่วยไล่แมลง
  • ใบของข่า สามารถนำมาช่วยฆ่าพยาธิ ช่วยรักษากลากเกลื้อน
  • รากของข่า สามารถนำมาช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดปรกติ ช่วยขับเสมหะ
  • ดอกของข่า สามารถนำมาช่วยแก้อาการท้องเสีย ช่วยแก้ฝีดาษ
  • ผลของข่า สามารถนำมารักษาอาการปวดฟัน ช่วยรักษาโรคท้องร่วง ช่วยย่อยอาหาร
  • หน่อของข่า สามารถนำมาช่วยบำรุงธาตุไฟ ช่วยแก้ลมแน่นหน้าอก

ประโยชน์ทางยาของ…ข่า

การใช้รักษาอาการท้องอืด แน่นจุกเสียด

  • ใช้เหง้าสด 5 กรัม หรือเหง้าแห้ง 2 กรัม ต้มกับน้ำจนเดือด รินน้ำดื่ม
  • ใช้เหง้าอ่อนขนาดหัวแม่มือทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดืม จะขับลมในลำไส้ได้ดี
  • กวนหัวข่าแก่ตำละเอียดกับน้ำปูนใส 2 แก้ว นำมาดื่ม

การใช้รักษาโรคเกลื้อน

  • ใช้เหง้าสดกับเหล้าโรง หรือ้ำส้มสายชู หรือเหง้าสดตำแช่แอลกอฮอล์ทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน เช้า-เย็น
  • เอาข่าปอกเปลือกนิดหน่อย จุ่มเหล้าแล้วเอามาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน ทาถูแรงๆ เช้า-เย็น
  • เอาหัวข่าแก่ๆ ล้างให้สะอาดฝานเป็นแว่นบางๆ หรือทุบพอแตก นำไปแช่เหล้าขาวทิ้งไว้สัก 1 คืน เอามาทาถูแรงๆ บริเวณที่เป็นเกลื้อนจนพอแดง จะรู้สึกแสบๆ เย็น ๆ ทาเช้าและเย็น หลังการแช่เหล้า 1 คืนทำให้ตัวยาออกมามากขึ้น
  • ใช้ข่าสดตัดท่อนละ 1 นิ้ว ทุบให้แตกพอช้ำอย่าถึงกับละเอียด ใส่ถ้วยแช่เหล้าโรงประมาณ 1/4 ถ้วยชา ใช้สำลีชุบทาเช้า-เย็น

ข่า ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช: แมลงวันทอง

วิธีการปลูก

ข่าเป็นพืช เศรษฐกิจ ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลรักษามาก ศัตรูพืชน้อย สำหรับการปลูกข่า นั้นมีเรื่องที่ต้องรู้ คือ การเตรียมดิน การปลูก การเก็บผลผลิต รายละเอียด ดังนี้

  1. การเตรียมดิน สำหรับปลูกข่า ข่าชอบดินร่วนซุย มีความชื้น แต่ไม่ชอบน้ำขัง สำหรับการเตรียมต้นพันธุ์ สำหรับปลูกข่า ให้ใช้ต้นพันธุ์อายุ 1 ปี ครึ่ง เนื่องจากอายุพันธุ์ข่า ขนาดนี้เหมาะสำหรับการนำมาปลูก เนื่องจากมีแข็งแรง และมีตามาก ทำให้การเจริญเติบโตจะดี
  2. การปลูกข่า ใช้วิธีการปักดำ นำเหง้าพันธ์ุข่ามาปักลงหลุมที่เตรียมดินไว้ สำหรับหลุมละ 3 เหง้า ระยะห่าง ประมาณ 1 เมตร ต่อหลุม ข่าสามารถแตกหน่อได้มากถึง 1500 กอ ให้ผลผลิตที่ดี
  3. การดูแลข่า ข่าเป็นพืชที่ชอบความชื้นแต่ไม่ชอบน้ำขัง จึงต้องหมั่นตรวจสอบอย่าให้น้ำขัง รดน้ำเดือนละ 2 ครั้งก็เพียงพอสำหรับข่า หมั่นให้ปุ๋ย สามารถเก็บเกี่ยวข่าได้ตามต้องการ

คุณค่าทางโภชนาการ

คุณค่าทางโภชนาการของเหง้าข่าอ่อน ขนาด 100 กรัม พบว่าให้พลังงาน 20 กิโลแคลอรี่ มีสารอาหารต่างๆ ประกอบด้วย กากใยอาหาร 1.1 กรัม แคลเซียม 5 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 0.1 มิลลิกรัม วิตามินบี 1 0.13 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.15 กรัม และวิตามินซี 23 มิลลิกรัม

รูปภาพ

อ้างอิง

  • ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พ.ศ. 2549
  • ข่า ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุ กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • นิดดา หงษ์วิวัฒน์. หน่อข่าอ่อน ผักสมุนไพรมีเฉพาะในฤดูฝน. ครัว. ปีที่ 19 ฉบับที่ 228 มิถุนายน 2556 หน้า 20 - 22
  • อาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี. กทม. แม่บ้าน. มปป. หน้า 12-14

ข่า จากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล

https://www.aroka108.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/

https://beezab.com/tag/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A0%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B9%88/