A-024-ขิง

ชื่อสามัญ

Ginger (จิน'เจอะ)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Zingiber officinale Roscoe จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)

ลักษณะ

เหง้ามีลักษณะเป็นข้อๆ แบนในแนวนอน แตกแขนง รูปร่างเหมือนฝ่ามือประกอบด้วยแง่งเล็กๆ เปรียบเสมือนนิ้ว ขนาดยาว 3-16 เซนติเมตร กว้าง 3-4 เซนติเมตร และหนา มากกว่า 2 เซนติเมตร ผิวนอกสีเหลือง หรือน้ำตาลอ่อน มีแนวย่นตามยาว ภายในมีสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาล เป็นเสี้ยน มีเส้นใย (fiber) มาก กลิ่นหอมเฉพาะ ผงสีเหลืองอ่อน รสหวาน เผ็ดจัด ร้อน

สรรพคุณ

ตำรายาไทย: ใช้เหง้า รักษาอาการท้องอืด เฟ้อ เสียดท้อง อาหารไม่ย่อย ปวดเกร็งช่องท้อง แก้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร รักษาอาการหวัด รักษาอาการปวดศีรษะเนื่องจากไมเกรน และรักษาอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ บำรุงธาตุไฟ ฆ่าพยาธิ สรรพคุณโบราณ ขิงแห้ง แก้ไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้หอบ แก้ลม แก้จุกเสียด แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียน อาเจียน ส่วนขิงสด ใช้แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ให้ผายลมและเรอ แก้อาเจียน ยาขมเจริญอาหาร ขับน้ำดีช่วยย่อยอาหาร แก้ปากคอเปื่อย แก้ท้องผูก ลดความดัน

ตำราเภสัชกรรมไทย: มีการใช้เหง้าขิงใน ”พิกัดตรีรัตตะกุลา (ตรีสัตกุลา)” คือการจำกัด ตัวยาอันสามารถ 3 อย่าง ประกอบด้วย เหง้าขิงสด ผลผักชีลา และเทียนดำ ใช้อย่างละเท่าๆ กัน ในการบำรุงธาตุไฟ ขับลมในลำไส้ แก้อาการธาตุ

บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของขิง ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียที่ไม่ติดเชื้อ ตำรับ "ยาประสะไพล"มีส่วนประกอบของเหง้าขิงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณรักษาระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร นอกจากนี้เหง้าขิงยังจัดอยู่ในบัญชียาพัฒนาจากสมุนไพรที่สามารถใช้เดี่ยว เพื่อบรรเทาอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการเมารถ เมาเรือ ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน หลังการผ่าตัด

ทางสุคนธบำบัด ใช้น้ำมันหอมระเหยจากขิง บรรเทาอาการเหนื่อยล้าของจิตใจโดยจะทำให้เกิดอาการตื่นตัว และรู้สึกอบอุ่น ช่วยเพิ่มความจำ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด บรรเทาอาการปวดรูมาตอยด์ ปวดกล้ามเนื้อ เคล็ดขัดยอก


ประโยชน์

ขิงไม่เพียงแต่มีประโยชน์เฉพาะทางด้านการประกอบอาหาร หรือทำให้รสชาติอาหารดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ทางด้านอื่นๆ รวมถึงมีสรรพคุณที่ดีต่อร่างกายหลายด้าน ซึ่งประโยชน์เหล่านั้นก็มีดังนี้

1. แก้อาการเมารถเมาเรือ

กลิ่นของขิงถือเป็นกลิ่นที่แรง บวกกับการมีรสชาติที่เผ็ดอมเปรี้ยว จึงช่วยแก้อาการเมารถ เมาเรือได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังช่วยแก้อาการแพ้ท้องสำหรับสตรีตั้งครรภ์ได้เป็นอย่างดี แต่ในกรณีของคนตั้งครรภ์ หากรับประทานขิงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนรับประทานดีกว่าเพื่อความปลอดภัย

2. แก้ปัญหาผมขาดร่วง

สำหรับผู้ที่มีปัญหาผมขาดร่วง แนะนำให้นำเหง้าขิงสดไปผิงไฟจนอุ่น แล้วนำมาตำให้แหลก จากนั้นนำมาพอกบริเวณที่มีผมขาดร่วง พอกวันละ 2 ครั้ง จนกว่าอาการจะดีขึ้น หรืออีกวิธีหนึ่งคือ นำน้ำขิงสดคั้นผสมกับน้ำมันมะกอก จากนั้นนำมาหมักผม นวดให้ทั่วศีรษะแล้วทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีจึงล้างออก วิธีนี้จะช่วยลดปัญหาผมขาดร่วงได้ดี พร้อมทั้งช่วยให้สุขภาพผมแข็งแรง นุ่มลื่น และไม่ขาดง่าย

3. ช่วยลดอาการท้องอืด

สำหรับใครที่มีอาการท้องอืดหรือรู้สึกว่าอาหารไม่ย่อย ขิงช่วยบรรเทาอาการได้ เพียงแค่จิบน้ำขิงหรือจะรับประทานสดๆ ก็จะช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้ เพราะขิงเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยขับลมและช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน

เมื่อมีอาการวิงเวียนศีรษะหรือเกิดอาการเมารถเมาเรือ มักจะใช้ขิงช่วยบรรเทาอาการ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยค้นพบว่า ขิงมีส่วนช่วยในการป้องกันและบรรเทาอาการอาเจียนหลังจากผ่าตัดได้ นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียนสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับเคมีบำบัดได้ด้วยเช่นกัน

5. บรรเทาอาการไมเกรน

หลายๆ คนที่ประสบปัญหาอาการปวดหัวไมเกรน สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานขิง เพราะจากการศึกษาพบว่าการรับประทานขิงในช่วงที่อาการปวดไมเกรนกำลังเข้าสู่ช่วงกำเริบนั้น ทำให้อาการปวดลดลง เพราะขิงจะช่วยยับยั้งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับอาการอักเสบได้

นอกจากนี้ ยังช่วยรักษาอาการไขข้ออักเสบได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีการค้นพบว่าผู้ที่มีอาการโรคข้อเข่าเสื่อมหรือเป็นโรครูมาตอยด์ อาการจะลดลงเมื่อรับประทานขิงผงเป็นประจำทุกวัน มีการศึกษาในปี 2015 พบว่าอาจมีประโยชน์และปลอดภัยกับโรคข้อเข่าเสื่อม แต่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

6. ลดความเสี่ยงของการเกิดความดันโลหิตสูง

ขิงเป็นสมุนไพรที่มีรสจัดและเป็นสมุนไพรที่มีโซเดียมที่ต่ำมาก ซึ่งอาหารที่มีโซเดียมต่ำจะช่วยลดความดันโลหิตสูงได้

7. ลดระดับน้ำตาลในเลือด

ขิง มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ควรบริโภคตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากขิงอาจไปทำปฏิกิริยากับยาที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่ได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังต้องติดตามผลของระดับน้ำตาลอย่างใกล้ชิด หากรับประทานมากเกินไปก็จะทำให้ระดับอินซูลินลดลง และอาจทำให้ร่างกายอยู่ในขีดอันตรายได้

8. ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง

ขิง มีคุณสมบัติที่ช่วยต้านมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการศึกษาพบว่า ขิง คือสมุนไพรที่ช่วยทำให้เซลล์มะเร็งในรังไข่ตายได้ เพราะสารเคมีในขิงจะไปกระตุ้นเอนไซม์กลูตาไธโน-เอส-ทรานสเฟอรเรส ซึ่งเอนไซม์ชนิดนี้ คือ สารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้

9. รักษากรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน เป็นภาวะที่เกิดจากกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมายังหลอดอาหาร ส่งผลทำให้หลอดอาหารอักเสบได้ แต่ขิงสามารถช่วยรักษากรดไหลย้อนได้เช่นกัน โดยนำขิงแก่สด 2-3 แง่ง มาทุบให้ละเอียด จากนั้นต้มในน้ำเดือด ปิดไฟ รอให้อุ่น แล้วกรองมาดื่มหรืออาจจะนำมาจิบในระหว่างวันบ่อยๆ จะช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้

10. ช่วยรักษาโรคต่างๆ อีกมากมาย

นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ขิงยังมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคต่างๆ ได้อีกมากมาย เช่น รักษาแผลน้ำร้อนลวก ป้องกันอาการแพ้อาหารทะเลจนขึ้นผื่นคัน รักษาลมพิษ รักษาแผลเริมบริเวณแผ่นหลัง รักษาอาการปวดข้อตามร่างกาย มีส่วนช่วยในการฆ่าพยาธิ รักษาโรคนิ่ว เป็นต้น ที่สำคัญยังเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย

วิธีการปลูก

1.เตรียมรากขิงสำหรับเพาะปลูก โดยเลือกรากขิงที่สด สมบูรณ์และเรียบ

2.หาภาชนะใส่น้ำสะอาดแล้วนำรากขิงที่เตรียมไว้ใส่ลงไป แช่ทิ้งไว้ประมาณครึ่งวัน

3.ตักดินใส่กระถางให้เรียบร้อย ซึ่งกระถางที่ใช้สำหรับการเพาะควรมีลักษณะระบายน้ำได้ดี

4.นำรากขิงที่เตรียมไว้มาหั่นให้เป็นชิ้นขนาดกำลังพอดี แล้วนำไปใส่ในกระถาง จากนั้นรดน้ำให้เรียบร้อย

5.ระวังเรื่องของปริมาณน้ำ เพราะหากมีน้ำขังในกระถาง อาจส่งผลให้ขิงที่เราเพาะนั้นเน่าได้

คุณค่าทางโภชนาการ

ขิง 100 กรัม ให้คุณค่าทางโภชนาการดังนี้

พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่ โปรตีน 0.4 กรัม คาร์โบไฮเดรท 4.4 กรัม ไขมัน 0.6 กรัม เส้นใยอาหาร 0.8 กรัม ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม แคลเซียม 18 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม เบต้า-คาโรทีน 10 ไมโครกรัม วิตามินซี 1 มิลลิกรัม ไธอะมีน 0.02 มิลลิกรัม ไนอะซีน 1 มิลลิกรัม ไลโบฟลาวิน 0.02 มิลลิกรัม

ไม่ควรรับประทานขิงเกินวันละ 4 กรัมต่อวัน เนื่องจากอาจทำให้เกิดกรดไหลย้อน และรบกวนยาต้านการแข็งตัวของเลือดได้

รูปภาพ

Cr.Pic:board.postjung.com/1071804

อ้างอิง

  1. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, ขิง (http://www.medplant.mahidol.ac...)
  2. Tieraona Low Dog, Ginger (https://www.drweil.com/vitamins-supplements-herbs/herbs/ginger/)
  3. Andrew Weil, Ginger For Arthritis? (https://www.drweil.com/health-wellness/health-centers/aging-gracefully/ginger-for-arthritis/), 26 December 2016