B-031-ผักหนาม

ชื่ออื่น

มีชื่อเรียกอื่นว่า กะลี (มลายู, นราธิวาส), บอนหนาม (ไทลื้อ, ขมุ), ผะตู่โปล่ เฮาะตู่คุ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ด่อแกงเล่อ (ปะหล่อง), บ่อนยิ้ม (เมี่ยน), บ่ะหนาม (ลั้วะ), หลั่นฉื่อโก จุยหลักเท้า (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น[1],[5],[9]

ชื่อวิทยาศาสตร์

Lasia spinosa (L.) Thwaites จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)

ลักษณะ

  • ต้นผักหนาม จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี ลำต้นมีลักษณะเป็นเหง้าแข็งอยู่ใต้ดินทอดเลื้อย ทอดขนานกับพื้นดิน ตั้งตรงและโค้งลงเล็กน้อย ชูยอดขึ้น ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวได้ประมาณ 75 เซนติเมตร ตามลำต้นมีหนามแหลม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย ทางตอนใต้ของประเทศจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงอินโดนีเซีย ในประเทศพบได้ตามแหล่งธรรมชาติทั่วทุกภาค ชอบดินร่วน ความชื้นมาก และแสงแดดแบบเต็มวัน มักขึ้นในที่ชื้นแฉะมีน้ำขัง เช่น ตามริมน้ำ ริมคู คลอง หนอง บึง ตามร่องน้ำในสวน หรือบริเวณดินโคลนที่มีน้ำขัง[1],[2],[6],[7]

ใบผักหนาม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวลูกศรหรือรูปโล่ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบและหยักเว้าลึกเป็น 9 พู รอยเว้ามักลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ ใบมีขนาดกว้างมากกว่า 25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร มีหนามแหลมตามเส้นใบด้านล่างและตามก้านใบ ใบอ่อนม้วนเป็นแท่งกลม ก้านใบมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาวและแข็ง โดยมีความยาวประมาณ 40-120 เซนติเมตร[

ดอกผักหนาม ออกดอกเป็นช่อเชิงลด ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก เป็นแท่งยาวขนานเท่ากับใบ ประมาณ 4 เซนติเมตร แทงออกมาจากกาบใบ ก้านช่อดอกมีหนามและยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร มีดอกย่อยอัดกันแน่นเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ใบประดับเป็นกาบสีน้ำตาลแกมเขียวถึงสีม่วง กาบหุ้มม้วนบิดเป็นเกลียวตามความยาวของกาบ มีความยาวได้ถึง 55 เซนติเมตร ดอกเป็นช่อดอกแบบแท่ง Spadix ช่อดอกเป็นสีน้ำตาล ดอกเพศผู้จะมีจำนวนมากและอยู่ตอนบน ส่วนดอกเพศเมียจะมีจำนวนน้อยกว่าและอยู่ตอนล่าง จะออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[

ผลผักหนาม ผลมีลักษณะเรียงชิดกันแน่นเป็นแท่งรูปทรงกระบอก เป็นผลสด หนา และเหนียว ผลอ่อนเป็นสีเขียวมีเนื้อนุ่ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมแดง จะเป็นผลในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม

สรรพคุณ

  • ตำรายาไทยจะใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ[1] ส่วนในอินเดียจะใช้ทั้งต้นเป็นยาแก้ปวดท้อง ปวดตามข้อและโรคผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้ ใช้น้ำคั้นจากต้นเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร และใช้ลำต้นและผลเป็นยาแก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับคอ[9]
  • ชาวไทใหญ่จะใช้ทั้งต้นรวมกับไม้เปาและไม้จะลาย นำไปต้มอาบและดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย[5]
  • ลำต้นผักหนาม มีรสเผ็ดชา ใช้เป็นยาแก้ไอ แก้กระหายน้ำ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเหลืองหรือแดง ผิวหนังเน่าเปื่อยเป็นหนอง ใช้ต้มเอาน้ำอาบแก้อาการคันเนื่องจากพิษหัด เหือด ไข้ออกผื่น สุกใส ดำแดง ทำให้ผื่นหายเร็ว และใช้เป็นยาถอนพิษ[1],[9] บ้างใช้ลำต้นแห้งทำเป็นยารักษาโรคผิวหนัง[6]
  • ตำรับยาแก้ผิวหนังเน่าเปื่อยเรื้อรัง เท้าเน่าเปื่อย หรือศีรษะเน่าเปื่อยเป็นแผลเรื้อรัง ให้ใช้ลำต้นผักหนามนำต้มเอาน้ำชะล้างหรือบดให้เป็นผงแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น[9]
  • เหง้าใช้เป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ ใช้ต้มกับน้ำอาบแก้คันเนื่องจากพิษหัด เหือด สุกใส ดำแดง และโรคผิวหนัง[1],[2],[3] บ้างใช้เหง้าฝนกับน้ำกินเป็นยาถ่ายพยาธิ (เหง้า)[8]
  • รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เจ็บคอ[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุให้ใช้รากต้มกับน้ำให้เด็กแรกเกิดอาบ แก้อาการเจ็บคอ[1]
  • รากและใบมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ[1],[3]
  • ใบผักหนามใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้ไอ[1],[2] ส่วนในศรีลังกาจะใช้ใบเป็นยาแก้ปวดท้องและอาการปวดอื่น ๆ ใช้ก้านใบบดให้เละแล้วนำไปให้โคกระบือกินครั้งละน้อย ๆ เป็นยาแก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับคอ[9]

ขนาดและวิธีใช้ : การเก็บยาให้เก็บลำต้นในช่วงฤดูร้อนและล้างให้สะอาด แล้วนำไปตากแห้งหรือหั่นเป็นแผ่นตากแห้งเก็บไว้ใช้ (ลักษณะยาที่ดีจะรสเผ็ดชา ต้นที่เก็บจะต้องมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก เปลือกสีน้ำตาลเทา มีข้อเป็นปุ่ม ขรุขระมีหนามแข็ง แต่ละข้อห่างกันประมาณ 6-7 เซนติเมตร มีรากฝอยขดม้วนเข้าไปที่โคนก้านใบ เนื้อในเป็นสีเทาหรือสีชมพู มีแป้งมาก และมีจุดสีน้ำตาลเล็ก ๆ อยู่ทั่วไป) โดยให้ใช้ลำต้นแห้งประมาณ 10-15 ต้มกับน้ำกิน ส่วนการใช้ภายนอกให้นำไปต้มเอาน้ำชะล้างหรือบดเป็นผงทาบริเวณที่เป็น[9]

ประโยชน์

  • ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนผักหนามมีรสจืด (ถ้านำไปดองจะมีรสเปรี้ยว) สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้ โดยนำมาลวกหรือต้มกับกะทิ หรือใช้ทำผักดองแกล้มแกงไตปลาและขนมจีน รับประทานร่วมกับน้ำพริก หรือนำไปผัด ปรุงเป็นแกง อย่างแกงส้ม แกงไตปลา เป็นต้น โดยคุณค่าทางโภชนาการของผักหนามใน 100 กรัม จะประกอบไปด้วย พลังงาน 18 แคลอรี, โปรตีน 2.1 กรัม, ไขมัน 0.2 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 2.0 กรัม, ใยอาหาร 0.8 กรัม, เถ้า 0.8 กรัม, วิตามินเอ 6,383 หน่วยสากล, วิตามินบี 1 0.92 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.04 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 0.91 มิลลิกรัม, วิตามินซี 23 มิลลิกรัม, แคลเซียม 14 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.9 มิลลิกรัม และฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม[1],[7]
  • ก้านใบอ่อนใช้ต้มกินกับน้ำพริก[5]
  • ในอินเดียจะใช้ผลผักหนามปรุงเป็นอาหาร[9]
  • ลำต้นนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใช้ผสมในข้าวสาร แล้วนำไปหุง จะช่วยเพิ่มปริมาณ[5]
  • ก้านและใบใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงโคกระบือ (นำมาตำกับเกลือให้โคกระบือกิน) ทำให้อ้วนท้วนสมบูรณ์ เพราะผักหนามมีฮอร์โมนบางชนิดและสารบางตัวที่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะช่วยในการส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันโรคได้อีกทางหนึ่ง[3]
  • นักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มีการทดลองนำผักหนาม โดยใช้ส่วนของก้านแก่และใบแก่ (ปริมาณร้อยละ 0.5) มาบดผสมลงไปในอาหารเลี้ยงไก่ เมื่อเปรียบเทียบผลกับการใช้อาหารสัตว์ที่มีการผสมยาปฏิชีวนะ ผลการทดลองพบว่า ไก่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โดยที่ปริมาณอาหารที่กิน อัตราการเพิ่มน้ำหนัก และอื่น ๆ ไม่แตกต่างกับการใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นต้นทุนด้านค่าอาหาร (เมื่อคิดต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวไก่แล้ว การใช้ผักหนามมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ) แต่เมื่อเพิ่มปริมาณเป็นร้อยละ 1.5 โดยใช้ลำต้นและรากผักหนามแทน จะเห็นได้ชัดว่า ผักหนามให้ผลดีกว่ายาปฏิชีวนะ เพราะน้ำหนักตัวของไก่เพิ่มขึ้นมากกว่าไก่ที่เลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมยาปฏิชีวนะเกือบ 20% และมีการกินอาหารได้มากกว่า แต่ต้นทุนค่าอาหารก็ยังต่ำกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเหมาะกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เป็นอย่างมาก[3]

ข้อควรระวัง : ใบ ก้านใบ และต้นผักหนามมีสารไซยาโนเจนิกไกลโคไซด์ (Cyanogenic. Glycosides) ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ (สารพิษชนิดหนึ่ง) ได้ โดยเป็นสารพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบการไหลเวียนของเลือด เมื่อได้รับพิษหรือรับประทานเข้าไปดิบ ๆ จะทำให้อาเจียน กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก มึนงง ไม่รู้ตัว ชักก่อนจะหมดสติ มีอาการขาดออกซิเจน ตัวเขียว ถ้าได้รับมากจะทำให้โคม่าภายใน 10-15 นาที และเสียชีวิตได้ เมื่อได้รับพิษจะต้องทำให้อาเจียนออกมา แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการล้างท้อง ดังนั้นก่อนนำมารับประทานจะต้องนำไปทำให้สุกหรือดองเปรี้ยวเพื่อกำจัดพิษไซยาไนด์เสียก่อน[1],[4],[9]

วิธีการปลูก

โดยปกติแล้วผักหนามจะขึ้นเองตามธรรมชาติ บริเวณดินเลน ริมคลอง หนองน้ำ หรือริมแม่น้ำในป่า แต่ถ้าหากอยากปลูกสามารถนำเมล็ดสุกมาเพาะเมล็ด หรือแยกหน่อจากเหง้าหรือหัวใต้ดินได้ แต่ต้องปลูกในบริเวณที่ดินชื้นหรือริมหนองน้ำนะคะ เพราะผักหนามเป็นพืชที่ชอบความชื้น และแสงแดดเต็มวันมาก

การขยายพันธุ์ผักหนามสามารถทำได้โดยการเพาะเมล็ด และการแยกเหง้าจากต้นเดิมโดยนำเหง้าที่มีตามาตัดเป็นท่อนแล้วนำมาปลูกในกระถางหรือแปลงปลูก แต่โดยปกติชาวบ้านไม่นิยมนำผักหนามมาปลูก แต่จะปล่อยให้ขึ้นเองเจริญเติบโตตามธรรมชาติ พอถึงช่วงแทงยอดอ่อนชาวบ้านจะไปเก็บเพื่อนำมาปรุงอาหารและหากพบว่ามียอดอ่อนจำนวนมากก็จะนำไปจำหน่าย ยอดอ่อนของผักหนามสามารถนำไปลวกหรือนึ่งกินกับน้ำพริก และทำเป็นแกงหรือผัดก็ได้ เมนูจากผักหนาม อาทิเช่น ยอดผักหนามลวกกับน้ำพริกปลา น้ำพริกอ่อง หรือ น้ำพริกปลาร้า จอผักหนาม เป็นต้น

สภาพนิเวศ : ชอบขึ้นตามที่ชื้น เช่น ดินเลนตามชายน้ำ หนองน้ำ หรือริมแม่น้ำในป่า

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ดและแยกหน่อ

คุณค่าทางโภชนาการ

พลังงาน 18 กิโลแคลอรี

- ความชื้น 94.1%

- โปรตีน 2.1 กรัม

- แป้ง 2.0 กรัม

- ใยอาหาร 0.8 กรัม

- แคลเซียม 14 มิลลิกรัม

- ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม

- เหล็ก 0.9 มิลลิกรัม

- วิตามินเอ 6383 IU

- วิตามินบี1 0.92 มิลลิกรัม

- วิตามินบี 2 0.4 มิลลิกรัม

- วิตามินบี 3 0.91 มิลลิกรัม

- วิตามินซี 23 มิลลิกรัม

อ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

องค์การสวนพฤกษศาสตร์

ศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพ

สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน)

Samunpri

  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [29 ก.ย. 2015].
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [29 ก.ย. 2015].
  3. คมชัดลึกออนไลน์. “ใช้ผักหนามเลี้ยงไก่”. (พีรเดช ทองอำไพ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net. [29 ก.ย. 2015].
  4. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/poison/poison.htm. [29 ก.ย. 2015].
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ผักหนาม” อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 : สมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภูติยานันต์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [29 ก.ย. 2015].
  6. โครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองภาคใต้ สำหรับประชาชน, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “ผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th/ProjectSite/webpage/detail-project.htm. [29 ก.ย. 2015].
  7. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [29 ก.ย. 2015].
  8. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่. “เดินป่า ศึกษาสมุนไพร แก่งยาว ๕๘ – ๒ (๕. ผักหนาม)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rakkhaoyai.com. [29 ก.ย. 2015].
  9. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 17 คอลัมน์ : อื่น ๆ. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). “หนาดใหญ่และผักหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [29 ก.ย. 2015].