B-029-ชะพลู

ชื่อสามัญ

Wildbetal leafbush

ชื่อวิทยาศาสตร์

Piper sarmentosum Roxb. จัดอยู่ในวงศ์พริกไทย (PIPERACEAE)

ลักษณะ

• ลำต้น

ลำต้นมีลักษณะตั่งตรง สูงประมาณ 30-50 ซม. สีเขียวเข้ม มีข้อเป็นปม แตกกอออกเป็นพุ่ม เติบโตได้ดีในพื้นที่ดินชุ่ม

• ใบ

ใบมีสีเขียวสดถึงเขียวแก่ ก้านใบยาว 1-3 ซม. ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว คล้ายรูปหัวใจ ใบกว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเว้า ผิวมันออกมัน แทงใบออก 2 ใบตรงข้ามกัน มีเส้นใบประมาณ 7 เส้น แทงออกจากฐานใบ

• ดอก

ดอกเป็นช่อ ทรงกระบอก ชูตั้งขึ้น ดอกอ่อนมีสีขาว เมื่อแก่จะออกสีเขียว รูปทรงกระบอก แทงดอกบริเวณปลายยอด และช่อใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1.5 ซม. ดอกเป็นดอกแยกเพศ • ผล ผลเจริญบนช่อดอก มีลักษณะเป็นผลสีเขียว ผิวมัน มีลักษณะกลมเล็กฝังตัวในช่อดอกหลายเมล็ด มักออกดอกมากในฤดูฝน

สรรพคุณ

ชะพลูจัดเป็นพืชสมุนไพร และผักพื้นบ้าน สามารถทุกส่วนของลำต้น ทั้งใบ ราก ผล โดยนำใบ ลำต้น หรือ ราก มาต้มกับน้ำเดือดเพื่อนำมาดื่ม

1. ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด

2. ลดกลิ่นปาก ต้านเชื้อแบคทีเรีย

3. ลดระดับน้ำตาลในเลือด บรรเทาอาการโรคเบาหวาน

4. ปริมาณโปรตีนสูง มีคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้เจริญอาหาร

5. ลดการหดตัวของกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดเมื่อยของร่างกาย

6. ลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก

7. บรรเทาโรคหืด

8. แก้ และป้องกันโรคบิด

9. แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม บำรุงธาตุ

10. ช่วยขับเสมหะ

11. ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระต่างๆ

12. ช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน

• ราก : แก้ธาตุพิการ บรรเทาเบาหวาน ขัดเบา ปวดเจ็บ ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ แก้เมื่อยขบ ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้ปวดท้อง ท้องเสีย แก้เสมหะ แก้ปัสสาวะรดที่นอน ขับเสมหะให้ตกทางทวารหนัก และแก้สะอึก

• ต้น : ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ลมจุกแน่นท้อง แก้มูกออกในอุจจาระ

• ใบ : ใช้เป็นยาลดเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้ธาตุพิการ ต้านเชื้อแบคทีเรีย และบำรุงธาตุร่างกาย

• ดอก : แก้เสมหะในลำคอ ทำให้ชุ่มคอ ขับลมในลำไส้ แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ต้านเชื้อแบคทีเรีย

• ผล : ขับลม แก้เสมหะในลำคอ ช่วยย่อยอาหาร ต้านเชื้อแบคทีเรีย

สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ทางยา

1. aromatic alkene

2. 1 – allyl – 2 -methoxy – 4

3. 5 -methylenedioxybenzene

4. sitosterol

5. pyrrole amide

6. sarmentine

7. sarmentosine

8. pellitorine, (+) -sesamin

9. horsfieldin

10. two pyrrolidine amides 11 และ 12

11. guineensine

12. brachystamide B

13. sarmentamide A, B, และ C


ประโยชน์

ะพลู ถือเป็นผักพื้นบ้านที่มีประโยชน์มากพอสมควร ซึ่งประโยชน์ของชะพลูก็มีด้วยกันดังนี้

1. รักษาโรคหอบและโรคหวัด

ชะพลู ช่วยในการรักษาโรคหวัด เพราะจะช่วยในเรื่องของการหายใจ ทำให้หายใจโล่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งใช้น้ำมันที่มาจากใบชะพลูทาบริเวณหน้าอกก็จะช่วยบรรเทาอาการของโรคหอบหืดลงได้

2. รักษาอาการปวด

ใบชะพลูได้รับความนิยมอย่างมากในการใช้รักษาอาการปวด ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดศีรษะและอาการปวดที่มีสาเหตุมาจากโรคข้ออักเสบ ซึ่งวิธีการใช้งานนั้นง่ายมาก เพียงนำใบชะพลูไปคั้นเอาน้ำ หลังจากนั้นก็นำมาผสมกับน้ำมันเพื่อนวด เสร็จแล้วนำไปทาบริเวณต่างๆ ที่ปวด

3. สร้างแรงกระตุ้น

ชะพลู มีสารสกัดสำคัญภายในที่สามารถช่วยกระตุ้นร่างกาย ให้รู้สึกคล้ายคลึงกับการออกกำลังกายได้ จึงช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น โดยการดื่มน้ำใบชะพลูที่ผสมกับน้ำผึ้ง ก็จะช่วยกระตุ้นระบบประสาทด้านต่างๆ ให้ดีขึ้นแล้ว

4. เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ

เมื่อนำใบชะพลูมาเคี้ยวสดๆ จะได้รับวิตามินซี ซึ่งสามารถช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันเชื้อแบคทีเรียและไวรัสต่างๆ ได้

5. ป้องกันอาการปวดท้องในกระเพาะอาหาร

ใบชะพลูมีสรรพคุณช่วยลดความเป็นกรด ควบคุมความสมดุลในกระเพาะอาหาร และช่วยขจัดสารพิษที่มีอยู่ในลำไส้เล็กได้

6. กระตุ้นระบบย่อยอาหาร

โดยเคี้ยวใบชะพลูหลังรับประทานอาหาร หรือหากใครไม่ถนัดเคี้ยวใบชะพลู ก็ต้มน้ำใบชะพลูดื่มแทนได้ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยในเรื่องการกระตุ้นระบบย่อยอาหารได้แล้ว

7. ช่วยในการฆ่าเชื้อ

ผลชะพลู มีส่วนประกอบของสารกลุ่มเอไมด์ (amide) ซึ่งเป็นสารชนิดสำคัญที่ออกฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อ โดยเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคมาลาเรีย(Plasmodium falciparum) และ วัณโรคได้ดีทีเดียว

8. บรรเทาอาการไอ

ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรังสามารถต้มใบชะพลูดื่มแก้อาการดังกล่าวได้ เพราะใบชะพลูมีสรรพคุณช่วยลดอาการอักเสบได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถช่วยลดอาการอักเสบที่เกิดขึ้นในลำคอได้ด้วยนั่นเอง

9. ช่วยรักษาอาการบิด

อาการบิดก็สามารถรักษาได้ด้วยชะพลูเช่นกัน เพียงนำรากของชะพลูมาต้มน้ำแล้วเคี่ยว จากนั้นกรองเอาแต่น้ำมาดื่มเพื่อช่วยรักษาอาการปวดบิด

10. สร้างสมดุลให้กับร่างกาย

รากชะพลูมีสรรพคุณช่วยบำรุงและสร้างสมดุลให้กับร่างกาย และยังช่วยบำรุงธาตุได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

11. ช่วยต้านการอักเสบ

ใบชะพลูมีส่วนประกอบของสารกลุ่มโพลิฟีนอล ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดอาการอักเสบได้

12. ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์

สารสกัดที่ได้จากลำต้นและใบชะพลู มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรสได้ดีมาก จึงสามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้

13. ลดระดับน้ำตาลในเลือด

ชะพลูมีสารฟลาโวนอยด์ (flavonoids) สูง ซึ่งสารดังกล่าวจะออกฤทธิ์คล้ายกับยาเบาหวานกลุ่ม insulin secretagogues โดยการกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนเพื่อเพิ่มการดูดซึมกลูโคส ทำให้ช่วยรักษาโรคเบาหวานได้

ไอเดียการกินชะพลูเพื่อสุขภาพ

เมนูอาหารสุดฮิต ที่นิยมนำใบชะพลูมาเป็นส่วนประกอบ ก็คงหนีไม่พ้น " เมี่ยง " แต่จริงๆแล้ว ชะพลูยังสามารถนำมาประกอบเมนูอาหารอื่นๆ ได้อีกมากมาย ได้แก่

1. ยำปลาทูใบชะพลู

เริ่มจากการเตรียมน้ำยำ โดยใช้น้ำปลา น้ำตาลทราย น้ำมะนาว พริก ปรุงรสตามชอบ นำปลาทูไปทอดพอเหลืองกรอบ แล้วนำมาแกะเนื้อและหั่นเป็นชิ้นๆ ซอยใบชะพลู หลังจากนั้นนำปลาทูและใบชะพลูลงไปคลุกในน้ำยำ เพียงเท่านี้ก็จะได้ยำสุดแซ่บแถมดีต่อสุขภาพไว้รับประทานในมื้อเย็นแล้ว

2. แกงคั่วกุ้งใบชะพลู

โดยปกติ เราอาจจะคุ้นเคยกับเมนูแกงคั่วหอยขมใบชะพลู แต่เมนูนี้เราจะดัดแปลงโดยใช้กุ้งแทน เริ่มจากนำพริกแกงไปผัดจนหอม เติมกะทิลงไปและผัดจนกะทิแตกมัน จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลทรายหรือน้ำตาลปี๊ป และเมื่อได้รสที่ต้องการแล้ว ให้ใส่กุ้งลงไป รอจนกุ้งสุกจึงนำใบชะพลูลงไปผัดคลุกเคล้าจนเข้ากัน ปิดเตา เป็นอันเสร็จ

3. เมี่ยงปลาเผาใบชะพลู

เมี่ยงปลาเผาใบชะพลู ถือเป็นอีกหนึ่งเมนูที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน วิธีการทำก็แสนง่าย เริ่มจากน้ำจิ้มแสนอร่อย นำน้ำตาลปี๊บใส่หม้อตั้งไฟเพื่อละลาย แล้วจึงใส่กะปิพร้อมน้ำมะขามเปียก รอจนเดือดจึงค่อยใส่มะพร้าวขูด กุ้งแห้งและเคี่ยวจนเหนียว เป็นอันเสร็จน้ำจิ้ม

หลังจากนั้น นำปลาไปล้างให้สะอาด โขลกกระเทียม รากผักชี พริกไทย และยัดใส่ท้องปลา เมื่อเสร็จให้นำฟอยล์มาเตรียมไว้ วางใบชะพลูตามไป และวางปลาพร้อมใบชะพลูทับอีกครั้ง นำไปย่างพอสุก แล้วนำมาเสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้ม อาจมีผักสดรับประทานคู่กันอีกเล็กน้อย เพียงเท่านี้ก็ได้เมนูสุดอร่อยแล้ว

4. หมูย่างใบชะพลู

เมนูนี้ถือเป็นอาหารโบราณขนานแท้ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ โดยนำหมูสับมาเตรียมใส่ถ้วยผสมไว้ แล้วผสมเครื่องปรุงและวัตถุดิบต่างๆ ได้แก่ รากผักชี กระเทียม หอมแดง ตะไคร้ น้ำมันหอย ซีอิ๊วขาว ย้ำตาล พริกไทย และนมข้นจืด คลุกผสมจนเข้ากัน นำไปแช่ตู้เย็นครึ่งชั่วโมง แล้วนำออกมา

หลังจากนั้นปั้นหมูเป็นแท่งยาว แล้วห่อด้วยใบชะพลู นำไปย่างโดยไม่ต้องกลัด เพราะใบชะพลูจะห่อตัวโดยอัตโนมัติ ก็จะได้เมนูหมูย่างใบชะพลูที่มีกลิ่นหอมน่ารับประทานสุดๆ

5. ไข่น้ำใบชะพลู

เมนูแสนง่ายที่สามารถทำเองได้ง่ายๆ เหมือนกันกับการทำไข่น้ำโดยทั่วไป แต่จะแตกต่างตรงที่ นำใบชะพลูไปผสมกับไข่แล้วจึงนำไปเจียว หลังจากได้ไข่เจียวใบชะพลูแล้ว ก็จะทำน้ำซุป โดยอาจจะใส่ผักอื่นๆ เพิ่มเติม แล้วจึงใส่ไข่ที่เจียวตามลงไป ก็จะได้ไข่เจียวใบชะพลูแสนน่ารับประทานมาเป็นอาหารแล้ว

6. น้ำชะพลู

สำหรับวิธีการทำ คือ เลือกรากชะพลูมา 7 ราก ล้างน้ำให้สะอาด หลังจากนั้นนำมาต้มให้เดือด แล้วกรองเอาแต่น้ำไว้ดื่ม คล้ายกับการดื่มน้ำชา ซึ่งจะช่วยรักษาโรคเบาหวานได้เป็นอย่างดี

ข้อควรระวังในการรับประทานใบชะพลู

ถึงแม้ว่าใบชะพลูจะมีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรที่จะบริโภคใบชะพลูติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะใบชะพลูมีแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate) ปริมาณสูง ซึ่งแคลเซียมออกซาเลตนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้เกิดโรคนิ่วในไต ดังนั้น ควรดื่มน้ำเปล่ามากๆ เพื่อช่วยเจือจางออกซาเลตในร่างกายให้ลดลง

และนี่ก็คือ ประโยชน์และสรรพคุณของชะพลู พืชผักสมุนไพรพื้นบ้านที่หารับประทานได้ง่าย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานหรือตามบ้านเรือนในชนบท แถมนำมาประกอบเมนูอาหารได้หลากหลายเมนูอีกด้วย กลิ่นก็หอมเป็นเอกลักษณ์ มีดีมากขนาดนี้ก็อย่าลืมหาสมุนไพรชนิดนี้มารับประทานกัน

วิธีการปลูก

ชะพลูเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ชอบดินร่วนซุย มีอินทรียวัตถุมาก และมีความชุ่มชื้น ชอบแสงรำไร จึงมักพบชะพลูโตดีในพื้นที่ชื้น มีร่มเงา โดยเฉพาะบริเวณใต้ร่มไม้ ชะพลูสามารถขยายพันธุ์ด้วยการแยกเหง้าหรือหน่อออกปลูก เหง้าที่แยกอาจเป็นต้นอ่อนหรือต้นแก่เพียง 2-3 ต้น ก็สามารถแตกกอใหญ่ได้

การให้น้ำ ควรให้น้ำสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่มักขาดแคลนน้ำ ส่วนในฤดูฝนต้นชะพลูสามารถเติบโตได้ดีเพียงอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ

การใส่ปุ๋ยอาจใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก รวมถึงเศษใบไม้หว่านโรยรอบเหง้าชะพลู ส่วนปุ๋ยเคมีที่ใช้ควรให้สูตร 16-8-8 เพียง 1 กำ/ต้น หลังจากต้นเริ่มแตกเหง้าสร้างทรงพุ่ม

คุณค่าทางโภชนาการ

ใบชะพลูปริมาณ 100 กรัม ให้คุณค่าทางโภชนาการดังนี้

  • พลังงาน 101 กิโลแคลอรี่
  • สารอาหารหลัก : คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน
  • วิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ
    • แคลเซียม เบต้า-แคโรทีน วิตามินซี ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง และไนอาซิน
  • เส้นใย (fiber)
  • สารอาหารสำคัญที่พบ ได้แก่ แคลเซียม และสารเบต้า-แคโรทีน ซึ่งมีในปริมาณสูง และน้ำมันหอมระเหย (Volatile Oil) ที่ประกอบด้วยสารในกลุ่ม Lignans และ Alkaloids และสารอื่นดังแสดงด้านล่าง

• คุณค่าทางอาหาร (ในน้ำหนักแห้ง 100 กรัม)

– พลังงาน 101.00 กิโลแคลอรี่

– โปรตีน 5.40 กรัม

– ไขมัน 2.50 กรัม

– คาร์โบไฮเดรต 14.20 กรัม

– แคลเซียม 298.00 มิลลิกรัม

– ฟอสฟอรัส 30.00 มิลลิกรัม

– เหล็ก 4.63 กรัม

– วิตามินบี1 0.09 กรัม

– วิตามินบี2 0.23 กรัม

– ไนอาซีน 3.40 กรัม

– วิตามินซี 22.00 กรัม

– เบต้า แคโรทีน 414.45 ไมโครกรัม

– ใยอาหาร 6.90 กรัม

ใบชะพลู หากรับประทานในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน แคลเซียมที่มีอยู่ในใบชะพลูจะเปลี่ยนเป็นแคลเซียมออกซาเลต (Oxalate) ซึ่งสารชนิดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนิ่วในไตได้ ดังนั้นคุณจึงควรดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อให้สารออกซาเลตเจือจางลง และถูกขับออกทางปัสสาวะ หรือจะเลือกรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ๆ เพื่อป้องกันโรคนิ่วก็ทำได้เหมือนกัน เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดคุณควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม

อ้างอิง

อาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี. กทม. แม่บ้าน. มปป. หน้า 64 - 65

นฤมล ผิวเผื่อน. ผลึกแคลเซียมออกซาเลตและปริมาณออกซาเลต ในพืชผักบางชนิดในจังหวัดหนองคาย. (http://scijournal.kku.ac.th/files/Vol_42_No_4_P_820-829.pdf), 2557

Pranom Puchadapirom et al., Effect of the water extract of Chaplu (Piper sarmentosum) on the chromosomal damage of the bone marrow cells in rats by using micronucleus test. Thai Journal of Phytopharmacy Vol. 11(1) Jun. 2004.(http://repository.li.mahidol.ac.th/dspace/bitstream/123456789/3266/1/sc-ar-pranom-2547.pdf)

นัชฎาภรณ์ สอรักษา, อําพา เหลืองภิรมย์. ผลของสารสกัดจากใบชะพลูต่อฤทธิ์ลดระดับนํ้าตาลในเลือด ระดับฮอร์โมนอินซูลิน และจุลกายวิภาคของไอส์ เลตในตับอ่อนของหนูเบาหวาน (https://gsbooks.gs.kku.ac.th/57/grc15/files/bmp12.pdf), 2014

น้อย เนียมสา, ก้าน จันทร์พรหมมา.การศึกษาสารเคมีจากชะพลูPiper sarmentosum Roxb. วารสารสงขลานครินทร์. 2526;5(2):151-152.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.rspg.or.th สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)