ลำดับท่านเจ้าอาวาสวัดลี

พ.ศ. ๒๐๓๘ พระมหาเถระปัญญาวังสะ

พ.ศ. ๒๐๓๙ – พ.ศ. ๒๔๖๕ ไม่ทราบประวัติหรือข้อมูลที่ชัดเจน

พ.ศ. ๒๔๖๕ – พ.ศ. ๒๔๘๔ * ครูบาแก้ว คันธวังโส (ผู้มาบูรณะ)

พ.ศ. ๒๔๘๔ – พ.ศ. ๒๕๑๐ ** ครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ

พ.ศ. ๒๕๑๐ – พ.ศ. ๒๕๑๒ พระศรีทอน (รักษาการแทนเจ้าอาวาส)

พ.ศ. ๒๕๑๒ – ปัจจุบัน พระวิมลญาณมุนี

* พ.ศ. ๒๔๘๑ เมื่อครูบาศรีวิชัย มรณภาพ ครูบาแก้ว คันธวังโส จึงได้กลับไปจำพรรษาที่วัดพระเจ้าตนหลวง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔

** พ.ศ. ๒๔๘๔ ครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ จำพรรษาอยู่วัดพระเจ้าตนหลวง และจากนั้น ท่านก็ได้รับนิมนต์ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดลี และมรณภาพในปี พ.ศ. ๒๕๑๐

ประวัติครูบาแก้ว คันธวังโส (พ.ศ. ๒๔๖๕ – พ.ศ. ๒๔๘๔) (ผู้มาบูรณะ)

เดิมชื่อ เขื่อนแก้ว วรรณพีระ เกิดเมื่อจุลศักราช ๑๒๖๓ ปี ล้วงเป้า เดือน ๘ เหนือ แรม ๑๓ ค่ำเม็งวันพุธ ไทยกาบสง้า ยามแตรใกล้เที่ยงตรงกับวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ เป็นบุตรนายยอด นาง แผ่น วรรณพีระ เกิดที่บ้านห้วยกาน ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน มีพี่น้องรวมกัน ๕ คน คือ

๑. ครูบาแก้วคันธวังโส (วรรณพีระ)

๒. นายคำ วรรณพีระ

๓. นางดา วรรณพีระ

๔. นางนำ วรรณพีระ

๕. นางแสง วรรณพีระ

การศึกษา, บรรพชา, อุปสมบท

เด็กชายเขื่อนแก้ว วรรณพีระ เมื่อยามเยาว์บิดามารดานำไปฝากเรียนหนังสือกับสามเณรทูล แสงแปง ซึ่งเป็นครูสอนหนังสือพื้นเมือง เมื่อสามเณรทูลลาสิกขาไปแล้วก็ไปอยู่กับพระยศ อภิชโย เป็นอาจารย์สอน เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี เข้าบรรพชาที่วัดห้วยกาน แล้วส่งไปเรียนหนังสือภาษาไทยต่อที่สำนักวัดป่าพูล พอมีความรู้อ่านออกเขียนได้ อายุได้ ๑๘ ปี จึงย้ายไปเรียนที่วัดสะดือเมือง จังหวัดลำพูน มีความรู้สอบไล่ได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ และท่านมีความรู้ทางภาษาไทยได้ดี อยู่มาจนอายุครบ ๒๐ ปี บริบูรณ์จึงอุปสมบท

อุปสมบท เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๘ เหนือ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีกดสัน จุลศักราช ๑๒๘๒ ตรงกับวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓ เวลา ๐๖.๒๕ น. ประชุมสงฆ์ ๑๔ รูป ณ พัทธสีมาวัดป๋อย ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้างโฮ่ง จังหวัดลำพูน พระครูศิลาภรณ์พิมล อาจารย์ผู้ให้ศีล ครูบาสมณะวัดบ้านล่อง เป็นพระอุปัชฌาย์ ครูบาไชยา วัดห้วยน้ำดิบ เป็นกรรมวาจาจารย์ ครูบาแก้วคุโณ วัดบ้างล่อง เป็นอนุสาวนาจารย์

ท่านอุปสมบทแล้ว จำพรรษาอยู่วัดห้วยกาน ๒ พรรษา อาศัยท่านเป็นผู้มีความรู้ภาษาไทย มีสติปัญญาฉลาดจึงเป็นที่รู้จักของผู้หลักผู้ใหญ่ ในสมัยนั้นเป็นอย่างดี ครั้นหนึ่งพ่อขุนโฮ่งและนายโต๊ะ ปลัดอำเภอมาติดต่อขอท่านไปเป็นเสมียนมหาดไทย แต่ท่านก็ไม่ยินยอมรับหน้าที่นั้น เพราะยังมีความรักในพระพุทธศาสนาและสมณะเพศ และรักการปฏิบัติธรรมอยู่ หลังจากนั้นอีกพ่อขุนโฮ่งและปลัดกลับขอวิงวอนให้ท่านรับภารธุระสอนหนังสือ ไทยโดยเปิดโรงเรียนขึ้นที่วัดห้วยกาน ท่านอดวิงวอนไม่ได้จึงรับสอนหนังสือไปเป็นเวลา ๑ ปี ต่อมาท่านก็ลาออกจากการเป็นครูสอนเสีย แล้วไปอยู่ปฏิบัติอุปัฏฐากครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เพราะท่านรักการปฏิบัติศาสนากิจเมื่อเข้าปฏิบัติศึกษาอบรมทั้งในด้านสม ถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตลอนจนการงานอื่น ๆ มีนวกรรมกิจ เป็นต้น จนมีความชำนาญแล้ว ในโอกาสที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยไปก่อสร้างโบราณสถาน โบราณวัตถุ ทั้งในท้องที่และต่างจังหวัดท่านก็ได้ติดตามไปทุกแห่ง เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน และ เชียงราย เป็นต้น

พ.ศ. ๒๔๖๕ ครูบาศรีวิชัยได้รับอาราธนาจากพระครูศรีวิราชปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา ไปก่อสร้างวิหารวัดศรีโคมคำทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยา ครั้งออกพรรษาแล้วท่านครูบาศรีวิชัยจึงพาเอาลูกศิษย์และศรัทธาจากจังหวัด ลำพูนไปเป็นจำนวนมาก เมื่อตระเตรียมพร้อมแล้วท่านจึงลงมือสร้างวิหาร ฤกษ์เมื่อวันอังคาร แรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ เหนือ จุลศักราช ๑๒๘๔ ตรงกับวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ท่านครูบาแก้วได้ช่วยตั้งแต่นั้นมา การก่อสร้างครั้งนี้ถือว่าเป็นการก่อสร้างครั้งใหญ่ นอกจากวิหารแล้ว ยังได้สร้างโรงอุโบสถ วิหารพระพุทธบาท ศาลารอบวัดและลาดพื้นบริเวณทั้งหมดในคราวเดียวกัน เสร็จแล้วได้ จัดมหรสพฉลองอย่างมโหฬาร เมื่อก่อสร้างที่นี้เสร็จแล้วท่านครูบาศรีวิชัยยังก่อสร้างโบราณสถาน โบราณวัตถุที่อื่น ๆ ต่อไปอีก และได้มอบหมายให้ครูบาแก้วรับภาระปกครองดูแลรักษาโดยตลอดมาชั่วอายุขัยของ ท่าน

ตั้งแต่ครูบาแก้ว คันธวังโสได้ย้ายอยู่จังหวัดพะเยา จำพรรษาอยู่ที่วัดพระเจ้าตนหลวง พร้อมกับครูบาศรีวิชัย ที่ได้รับอาราธนาจากพระครูศรีวิราชปัญญา เพื่อมาสร้างวิหารพระเจ้าตนหลวงนั้น ครูบาแก้ว คันธวังโส ก็ได้รับนิมนต์ไปเป็นผู้มาบูรณะวัดลี โดยมีคณะศรัทธาวัดลีไปนิมนต์รับท่านมาอยู่ช่วยบูรณะโบราณสถาน โบราณวัตถุ ภายในวัดลี ซึ่งจะอยู่ในช่วงระยะเวลา หลายปี ตั้งแต่ท่านได้เข้ามาช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างพระวิหารวัดพระเจ้าตนหลวง ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ เป็นต้นมา นอกจากนั้นท่านครูบาแก้ว คันธวังโส ยังติดตามไปช่วยสร้างโบราณสถาน โบราณวัตถุ อีกหลายแห่งตามครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นการไป ๆ มา ๆ โดยท่านจะพำนักอยู่ที่วัดลีเป็นหลัก ท่านครูบาแก้ว คันธวังโส ได้บูรณะพระธาตุเจดีย์วัดลี สร้างพระวิหารใหม่ สร้างหอระฆัง สร้างกำแพงวัด จนกระทั้งครูบาศรีวิชัยมรณภาพ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านได้สร้างพระอุโบสถวัดลีจนแล้วเสร็จ และเป็นชิ้นสุดท้ายก่อนที่ท่านได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเจ้าตนหลวง และในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านจึงได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเจ้าตนหลวงตามเดิม และมอบหมายให้ ครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ พระลูกศิษย์ของครูบาศรีวิชัยอีกท่านหนึ่ง ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดลีแทน

เมื่อท่านไปจำพรรษาอยู่วัดพระเจ้าตนหลวง ครูบาแก้ว คันธวังโส ท่านก็ได้ทำหน้าที่ปกครองพระภิกษุสามเณร ต่อจากครูบาปัญญา ซึ่งชราภาพลงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๖ จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๙ ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระเจ้าตนหลวง และเป็นที่น่าเสียดาย ครูบาแก้วท่านเริ่มป่วยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นต้นมา ได้พยายามรักษาพยาบาลเรื่อยมา แทนที่โรคจะทุเลาลงกลับกำเริ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย และมาทรุดหนักเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ต้นปีถึง พ.ศ. ๒๕๐๙ จนวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ เวลาประมาณ ๐๓.๒๐ น. ตรงกับเดือน ๔ เหนือ แรม ๙ ค่ำ ท่านก็ถึงแก่มรณภาพลงไปในท่ามกลางคณะศิษยานุศิษย์ กรรมการวัดและศรัทธา ณ โรงพยาบาลพะเยา ด้วยความเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่งที่ท่านได้ล่วงลับไป สิริรวมอายุของท่านได้ ๖๕ ปี ๔๕ พรรษา

ดังมีหลักฐานจาก ประวัติ พระครูวิเศษสารคุณ (ครูบาคำอ้าย) อดีตเจ้าอาวาสวัดบุญเรือง (ในปี พ.ศ.๒๔๙๑-๒๕๔๓) สถานะเดิม ชื่อ อ้าย นามสกุล สะเภาคำ เป็นบุตรนายทิพย์ นาง คำป้อ สะเภาคำ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗เมษายน ๒๔๕๒ ตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ เหนือ ปีระกา ที่บ้านสันป่างิ้ว ดอกคำใต้ ตำบลสันช้างหินอำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ( บ้านสันป่างิ้ว ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านดอกป๊าวหรือดอกพร้าวและเป็นบ้านบุญเรืองใน ปัจจุบัน) เป็นบุตรคนเดียวของนายทิพย์กับนางคำป้อ เมื่อเกิดอายุได้ ๓ เดือน นางคำป้อก็ได้เสียชีวิตลง นายทิพย์จึงได้พาเด็กชายคำอ้ายมาอยู่กินกับนางดำ คำอ้ายได้นางดำเป็นแม่นมเลี้ยงดู และได้มีพี่น้องร่วมบิดาอีก ๓ คน คือ นายคำ นายหมาย และนางช้อย เมื่อเด็กชายคำอ้าย อายุได้ ๑๓ ปี ก็ได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียนที่วัดบุญเรืองกับหลวงพ่อปัญญา ได้ศึกษาหนังสือพื้นเมือง จนได้รู้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ ๑ ปี ก็บวชเป็นสามเณร แล้วขอลาจากหลวงพ่อปัญญาออกไปปฏิบัติวิปัสสนาธรรมกับครูบาศรีวิชัยอยู่ที่ วัดพระเจ้าตนหลวง ตำบลเวียง อำเภอพะเยา จนอายุได้ ๒๑ ปี ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดพระเจ้าตนหลวง เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๓ เวลา ๗ นาฬิกา ๑๐ นาที โดยมีพระครูศรีวิราชปัญญา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูบาลีเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูบาจุ้มเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ พระคำอ้าย อินทวํโส” ขณะนั้น วัดพระเจ้าตนหลวง กำลังก่อสร้างโบสถ์และพระวิหารอยู่ พระคำอ้าย อินทวํโส ก็ได้ช่วยก่อสร้างอยู่ด้วยตลอดมา จากนั้น พระคำอ้ายก็ได้ติดตาม พระครูบาแก้วคันธวังโสมาทำการก่อสร้างวัดลีนานถึง ๒ ปี แล้วติดตามครูบาแก้วคันธวังโสไปช่วยพระครูบาศรีวิชัย สร้างวัดสวนดอกที่เชียงใหม่ ได้อีก ๑ ปีก็แล้วเสร็จ เมื่อจัดงาน ฉลองเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ติดตามพระครูบาศรีวิชัยไปก่อสร้างวิหารวัดศรีโสดา ต่อจากนั้นก็ได้ทำการสร้างถนนขึ้นไปสู่พระธาตุดอยสุเทพ ระยะทาง ๑๒ กิโลเมตรเศษ ได้ ๑ ปี ก็เสร็จเรียบร้อยหลังจากที่พระครูคำอ้าย ได้ติดตามพระครูบาศรีวิชัยข้างต้นแล้ว ก็กลับมาพักที่วัดพระเจ้าตนหลวง อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ได้เวลา ๕ เดือน ก็ได้ย้ายมาที่วัดบุญเรือง(บ้านดอกพร้าว ดอกคำใต้) ได้ ๑ พรรษา คณะศรัทธาวัดแม่อิง สันป่างิ้ว มาขอนิมนต์ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่อิง สันป่างิ้ว เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๘๗ อยู่บ้านแม่อิงได้ ๔ ปี ก็ได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สำนักตำบลดงเจนและตำบลห้วยลาน จากนั้นก็ได้กลับมาอยู่ที่วัดบ้านเกิดถิ่นเดิมคือ วัดบุญเรือง ตำบลดอกคำใต้ อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย ใน ปี พ.ศ.๒๔๙๑ พระครูพินิจธรรมประพาส ซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอ ได้แต่งตั้งให้พระคำอ้าย อินทวํโส เป็นเจ้าอาวาสวัดบุญเรือง

นอกจากนั้นยังมีหลักฐาน เกี่ยวกับครูบาแก้ว คันธวังโส ในประวัติการสร้างวิหารวัดพระเจ้าตนหลวง และประวัติเจ้าอาวาสวัดพระเจ้าตนหลวง (วัดศรีโคมคำ) ดังนี้

วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เริ่มลงมือรื้อพระวิหารหลังเก่าจนเสร็จเรียบร้อย วันเสาร์ที่ ๖ มกราคมพ.ศ. ๒๔๖๖ ตรงกับวัน ๗ ฯ ๒ ค่ำ ปี จอ จุลศักราช๑๒๔๘ วางศิลาฤกษ์ ลงเสาพระวิหารใหญ่ต่อจากนั้นก็เทเสราพระวิหารต้นอื่น ต่อไป ขุดรากฝาผนัง ก่อฝาผนัง และก่อกำแพงล้อมรอบ สร้างศาลาบาตร (ศาลาราย) รอบกำแพงวัดสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร พระพุทธบาทจำลอง สร้างพร้อมกันทั้งหมดทุก ๆ หลังในคราวเดียวกัน และก่อสร้างภายในปีเดียวเหมือนเนรมิต คิดค่าก่อสร้างเป็นจำนวน ๑๑๓, ๐๐๐ รูปี ( รูปีหนึ่งคิดราคา ๗๕ สตางค์)

ครั้นวันที่ – มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ทำบุญฉลองพระวิหารพร้อมกับศาสนาวัตถุอื่น ๆ ที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทำบุญฉลองพระวิหารนานประมาณ ๑ เดือน จึงแล้วเสร็จ หลังจากทำบุญฉลองแล้ว ครูบาศรีวิชัยก็กลับไปจังหวัดเชียงใหม่เริ่มสร้างวิหารวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มอบหมายให้พระครูบาแก้ว คันธวังโส เป็นผู้รับภาระธุรการดูแลรักษาโบราณวัตถุและพระวิหารแทน

วัดศรีโคมคำ เริ่มก่อสร้างขึ้นหลังสุดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ พระครูศรีวิราชปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทางฝ่ายบ้านเมือง อดีตเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา พระยาประเทศอุดรทิศ และอดีตนายอำเภอเมือพะเยา คือ หลวงสิทธิประสาสน์ (นายคลาย บุษยบรรณ) นายอำเภอเมืองพะเยาคนแรก ได้ร่วมใจกันอาราธนานิมนต์ครูบาศรีวิชัย จังหวัดลำพูน มาเป็นประธานนั่งหนักในการก่อสร้างเสนาสนะต่าง ๆ จนสำเร็จบริบูรณ์ ท่านก็มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ ลำดับเจ้าอาวาสมีดังนี้

พ.ศ. ๒๔๖๕ – ๒๔๖๗ พระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยาเป็นเจ้าอาวาส

พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๕๐๖ ครูบาปัญญาปญฺโญ เป็นเจ้าอาวาส

พ.ศ. ๒๕๐๖ – ๒๕๐๙ ครูบาแก้ว คนฺธวํโส เป็นเจ้าอาวาส

พ.ศ. ๒๕๐๙ พระโสภณธรรมมุนี เจ้าคณะอำเภอเมืองพะเยา ( พระธรรมวิมลโมลี) เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ และได้รับแต่งตั้ง เป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑

ครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฒิ

เจ้าอาวาสวัดลี อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย

(คัดลอกมาจาก หนังสือ คติธรรมและประวัติ ครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฒิ ๒๔ มีนาคม ๒๕๑๑)

ประวัติท่านครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ เจ้าอาวาส วัดลี อ.พะเยา จ.เชียงราย

ท่านครูบาแก้วมูล (ต๊ะก่า) ญาณวุฑฺฒิ เป็นบุตรคนที่ ๗ ของเจ้าพ่อหนานศรีหมุด เจ้าแม่หน้อย ได้ถือกำเนิดวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๒ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๒ (เดือนยี่ เหนือ) ปีกุล ณ บ้านทุ่งกะทิง หมู่ที่ ๑๐ ต.บ้านเป้า อ.เมือง จ.ลำปาง

มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๐ เวลา ๐๔.๒๕ น. ณ วัดลี อ.พะเยา จ.เชียงราย สิริรวมอายุได้ ๖๘ ปี

ท่านครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ มีพี่น้องร่วมกัน ๙ คน คือ

๑. เด็กชายขอด ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์

๒. แม่เฒ่าปิก ถึงแก่กรรม

๓. นายน้อยหลวง ถึงแก่กรรม

๔. น.ส.บัวผัน (หลี) ถึงแก่กรรม

๕. นายหนานศรีโม๊ะ ถึงแก่กรรม

๖. นายน้อยซาว ถึงแก่กรรม

๗. ท่านครูบาแก้วมูล ถึงแก่มรณภาพ เมื่อ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๐

๘. นายน้อยบุญโยง ถึงแก่กรรม

๙. พระภิกษุบุญศรี ถึงแก่มรณภาพ

เมื่อยังเยาว์ท่านเป็นที่โปรดปราณของคุณพ่อคุณแม่มาก จึงไม่มีโอกาสได้บวชเรียนเหมือนพี่น้องด้วยกัน ประกอบกับว่า ท่านเป็นเด็กที่มีนิสัยดี ว่านอนสอนง่ายเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ ประพฤติตนอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ จึงเป็นที่ชอบพอรักใคร่ของญาติและคนทั่วไป เมื่อคุณพ่อคุณแม่สิ้นบุญไปแล้วเห็นจะเป็นเพราะความว้าเหว่ใจประกอบกับในขณะ นั้น ท่านครูบาศรีวิชัย ได้รับนิมนต์ให้มานั่งหมักเพื่อปฏิสังขรณ์ วิหารวัดพระแก้วดอนเต้า ต.เวียงเหนือ และ วัดพระบาท ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง รู้สึกว่าท่านเกิดปสาทะศรัทธาในท่านครูบาศรีวิชัย อย่างเหลือเกิน อุส่าห์ไปเฝ้าปฏิบัติวัตรฐากท่านครูบาฯ โดยตลอด จนกระทั่งอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ทางการได้มีหมายเรียกเพื่อเข้าไปคัดเลือกเป็นทหาร ช่างเป็นเวรกรรมเสียจริง ๆ บังเอิญท่านคัดเลือกได้ ทว่าไม่ได้เป็นทหารตามที่คาดหมายไว้หรอก หากแต่ว่าได้เป็นตำรวจเสียนี่ ถ้าจะพูดกันถึงอุปนิสัยของท่านแล้ว ท่านชอบที่จะครองสบง ทรงจีวรเสียมากกว่าที่จะไปสวมเครื่องแบบ มือถือบาตร ถือพัด เสียมากกว่าที่จะไปจับด้าม อาวุธ ฝึกฝนอบรมจิตคนให้เป็นไปในเมตตากรุราเสียมากกว่า ที่จะไปฝึกปรืออาวุธเพื่อที่จะประหัตประหารผู้อื่น ถึงกระนั้นก็ตามท่านก็ยังอุส่าห์ฝึกหัดการใช้อาวุธท่าต่าง ๆ ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หาได้ขาดไม่ ชะรอยจะเป็นเพราะบุญกรรมที่ได้สะสมไว้แต่เบื้อง บุรพชาติคอยกระตุ้นเตือน เพื่อจะหาโอกาสสนองก็เป็นได้ ในขณะที่กำลังฝึกแถวอยู่นั้น ทำให้ท่านคิดถึงบ้านอย่างเหลือเกิน ครั้นเลิกแถวแล้ว ท่านก็ได้ขอลาผู้บังคับบัญชาเพื่อกลับไปเยี่ยมบ้าน ทางผู้บังคับบัญชาก็อนุญาตให้แต่โดยดี เมื่อท่านมาถึงบ้าน ก็ได้ยินพวกญาติพูดกันว่าขณะนี้ท่านครูบา ศรีวิชัย มาพักอยู่ที่วัดศรีบุญเรือง (อ.เมือง จ.ลำปาง) จะออกเดินทางไปยังวัดบ้านปาง ลำพูน พรุ่งนี้แล้ว พอได้ยินเท่านั้นก็ดีใจ กระวีกระวาดจัดหาจังหันเพื่อจะไปใส่บาตรท่านครูบาศรีวิชัย พอรุ่งขึ้น พร้อมด้วยญาติก็ได้ไปใส่บาตรท่านครูบาศรีวิชัย ที่วัดศรีบุญเรือง หลังจากได้กราบ-บูชาพระรัตนตรัยแล้ว ก็พากันเข้าไปกราบท่านครูบาศรีวิชัย พอท่านครูบาศรีวิชัยเห็นเข้าเท่านั้น ก็เรียกให้เข้าไปหาแล้วบอกให้นวด จนกระทั่งได้เวลาออกบิณฑบาต ฉันและกระทำอนุโมทนากิจเสร็จแล้ว ญาติโยมก็พากันทยอยกลับ ท่านอยากจะกลับเหมือนกัน แต่ท่านครูบาศรีวิชัยได้พูดไว้ว่า “ อย่าเพิ่งกลับเลยน่า เอาขันข้าว (สลุง) ฝากเขาไปเสียก่อนก็ได้” ด้วยความเคารพประกอบกับความเกรงใจ ท่านจึงได้ทำตามอย่างว่าง่าย พอตอนบ่ายท่านครูบาศรีวิชัยจะเดินทางไปพักที่วัดทุ่งกู่ด้าย (ต.ปงแสนทอง อ.เมือง ลำปาง) ได้ออกปากชวน ท่านก็ได้ติดตามไปจนถึงวัดกู่ด้าย จากนั้นท่านครุบาศรีวิชัยได้เดินทางต่อไปยัง ต.แม่สันเมืองยาว (อ.ห้างฉัตร ลำปาง) ท่านก็ได้ติดตามท่านครูบาต่อไปอีก จนกระทั่งถึงวัดบ้านปาง อ.ลี้ ลำพูน ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่นั่น โดยท่านครูบาศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌายะ

เห็นจะเป็นเพราะคำว่า “ บุญ” คำเดียวเท่านั้น คืออาจจะถือว่าท่านได้ปฏิบัติ “ ตนบุญ” อย่างใกล้ชิดจะได้บุญมากนั่นเอง หรือจะเป็นเพราะบุญที่ตนได้สั่งสมมาแต่อดีตชาติติดตามมาเกื้อหนุน ก็เหลือที่จะเดาได้จึงทำให้ท่านลืมบ้านช่อง ลืมญาติพี่น้อง ลืมจนกระทั่งตัวท่านเอง ซึ่งกำลังรับราชการตำรวจอยู่ก็มิได้คำนึงถึง แต่เมื่อทางการตำรวจได้ทราบว่า ท่านได้ไปบวชอยู่ในลำปาง กับท่านครูบาศรีวิชัยเสียแล้ว ก็มิได้ติดตามเอาเรื่องแต่ประการใด

ท่านบวชเป็นสามเณรจำพรรษาที่วัดบ้านปาง ๒ พรรษา จากนั้นก็ได้ติดตามท่านครูบาศรีวิชัยไปบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ จำพรรษาอยู่ที่นั่นเมื่อสร้างพระอุโบสถเสร็จแล้ว ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยท่านครูบาศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌายะในนามฉายาว่า ญาณวุฑฺฒิ จากนั้นท่านก็ได้ติดตามท่านครูบาศรีวิชัยไปบูรณปฏิสังขรณ์ตามที่ต่าง ๆ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ ท่านครูบาศรีวิชัยก็ได้ถึงแก่มรณภาพ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ท่านก็ได้ไปจำพรรษาที่วัดพระเจ้าองค์หลวง อ.พะเยา จ.เชียงราย โดยการชักชวนของท่านครูบาแก้วคันธวังโส ผู้ซึ่งเป็นศิษย์ที่ใกล้ชิดองค์หนึ่งของท่านครูบาศรีวิชัย จากนั้นท่านก็ได้รับนิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดลี ได้เป็นหัวหน้าชักชวนญาติโยมบูรณปฏิสังขรณ์ ต่อจากที่ท่านครูบาแก้วได้เริ่มไว้จนสำเร็จต่อจากนั่น ท่านก็ได้ริเริ่มก่อสร้างกุฏิ กำแพง เจดีย์องค์เล็ก ตลอดจนการติดตั้งไฟฟ้าต่อท่อน้ำประปา จนสำเร็จเรียบร้อย ในด้านสาธารณะอื่น ๆ ก็มีการตัดถนนและเป็นหัวหน้าในการจัดสร้างอาคารเรียนโรงเรียนประชาบาล เป็นต้น ตลอดเวลาที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดลีนี้ ท่านก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์ วัดวาอารามตลอดถึงสาธารณประโยชน์จนถึงวารสุดท้ายของชีวิต ก็นับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาอำเภอพะเยาด้วยท่านหนึ่ง

พระวิมลญาณมุนี

พระราชาคณะชั้นสามัญ

ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดพะเยา

เจ้าอาวาสวัดลี

ประวัติและปฏิปทา (บุญชื่น ฐิตธมฺโม) (พ.ศ. ๒๕๑๒ จนถึงปัจจุบัน)

วัดลี ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา

พระวิมลญาณมุนี (บุญชื่น ฐิตธมโม) นามเดิม เมืองชื่น เสมอเชื้อ เกิดเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๒ ตำบลแม่ต่ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๗ คน ของนายมืด - นางปัน เสมอเชื้อ ณ บ้านแม่ต๋ำสายใน ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เมื่อจบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนเทศบาล ๓ (หล่อยอิงราษฎร์บำรุง) ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗ (ขณะนั้นพะเยายังเป็นอำเภอหหนึ่งของจังหวัดเชียงราย) ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่วัดเมืองชุม โดยมีหลวงพ่อพระครูขันตยาลังการ เจ้าอาวาสวัดเมืองชุม เป็นพระครูอุปัชฌาย์ อยู่ต่อมาจนอายุครบ ๒๑ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยมีหลวงพ่อพระครูขันตยาลังการ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาสะอาด ปัญญาศิริ เป็นกรรมวาจาจารย์ และพระมหาอุดม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

การศึกษา

ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ สอบได้เป็นนักธรรมตรี

ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ สอบได้เป็นนักธรรมโท

ปี พ.ศ. ๒๔๐๓ อายุครบ ๒๑ปี จึงอุปสมบทเป็นภิกษุที่วัดแม่ต๋ำเมืองชุม ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

พระวิมลญาณมุนี ท่านได้จำพรรษาที่วัดเมืองชุม ตำบลแม่ต๋ำ จนถึง พ.ศ.๒๕๑๒ คณะกรรมการและศรัทธาวัดลีได้นิมนต์ ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดลี โดยท่านได้รับตำแหน่งแต่งตั้งดำรงตำแหน่งดังนี้

พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น พระธรรมทูต ประจำอำเภอเมืองจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดลี ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูอนุรักษ์บุรานันท์

พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะอำเภอเมืองพะเยา

พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา

พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองพะเยา ชั้นโท

พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองพะเยา ชั้นเอก

พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร สาขาเอกพุทธศาสนา คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยวิทยาเขตพะเยา

พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดพะเยา

พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ "พระวิมลญาณมุนี"

พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ดร.) สาขาเอกพุทธศาสนา คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดพะเยา

เกียรติคุณที่ได้รับ

พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับเกียรติบัตร การอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน จากโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนา ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับพระราชทานรางวัล เสาเสมาธรรมจักร จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับพระราชทานเกียรติบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติในด้านส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมรมดกไทย ทางพุทธศาสนาจากสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก

งานทางด้านวิชาการ

พระวิมลญาณมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดพะเยา เจ้าอาวาสวัดลี เป็นผู้ที่มีความสนใจใฝ่ศึกษางานด้านศิลปวัฒนธรรมและโบราณคดีมาเป็นเวลานาน เนื่องในวัยเด็กคุ้นเคยกับซากโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่เห็นอยู่มากมายในเมืองพะเยา ตลอดจนการดำเนินชีวิตอยู่ทามกลางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เข้มแข้ง ทำให้ท่านได้ซึบซับและเห็นคุณค่างานทางด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ้นและโบราณคดี มีจิตสำนึกและมีความภูมิใจและรักท้องถิ่นของตนเอง ครั้นต่อมาเมื่อท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุและจำพรรษาอยู่ที่วัดแม่ต๋ำเมืองชุม ท่านจึงได้เริ่มงานอย่างจริงจังกับการเก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ถูกปล่อยทิ้งกระจัดกระจาย อยู่ตามวัดร้างต่าง ๆ ในเขตเมืองเก่าพะเยา โดยท่านเพียรพยายามในการเก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่าง ๆ ทั้งในส่วนที่เสาะแสวงหาด้วยตนเอง และส่วนที่ชาวบ้านได้นำมาถวายให้กับวัด สมัยเริ่มแรก ส่วนใหญ่จะเป็นโบราณวัตถุที่ค้นพบได้ในเมืองพะเยา ภายหลังเริ่มมีบางส่วนที่ได้มาจากแหล่งอื่น ในเขตภาคเหนือ โบราณวัตถุที่ท่านได้เก็บรวบรวมไว้ส่วนใหญ่ ได้แก่ ศิลปวัตถุประเภทหินทราบ นอกจากนั้นเป็นจำพวกคัมภีร์ใบลาน และเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ในสมัยโบราณ ซึ่งบางชิ้นหามาได้ด้วยความเหนื่อยยากลำบาก หรือบางชิ้นมีคุณค่าต่องานทางด้านวิชาการมหาศาล ภายหลังท่านมาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดลี จึงได้ขนย้ายโบราณวัตถุที่เคยเก็บรวบรวมไว้จากวัดแม่ต๋ำเมืองชุม มาเก็บรักษาไว้ที่วัดลี ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดลี ท่านได้ริเริ่มงานซึ่งเป็นผลงานดีเด่นของท่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน นั่นคือ การค้นหาและการเก็บรวบรวมศิลาจารึกของเมืองพะเยา ศิลาจารึกเหล่านี้นับเป็นเอกสารโบราณที่มีความสำคัญ และมีคุณค่ามากมายต่อการศึกษาค้นคว้างานวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และการที่ท่านได้เก็บรวบรวมศิลาจารึกไว้อย่างเป็นระเบียบแบบแผน โดยได้จัดทำทะเบียนจารึกไว้ทุกหลัก ทำให้ผู้ที่มาศึกษาค้นคว้าง่ายต่อการหาข้อมูล จากประสบการณ์และระยะเวลาอันยาวนานในการทำงานของท่าน ทำให้ผู้คนในแวดวงวิชาการตลอดจนผู้ที่สนใจยอมรับผลงานของท่าน และท่านทำให้วัดลีได้กลายเป็นแหล่งค้นคว้าหรือคลังข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดีอีกแห่งหนึ่งของเมืองพะเยา

<<<กลับสู่ด้านบน>>>