ประวัติย่อพญาจอมธรรม

“ปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรพะเยา” เรื่องราวของเมืองพะเยา เท่าที่ปรากฏหลักฐานในเอกสารทางประวัติศาสตร์ จะเริ่มต้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ โดยได้กล่าวถึง พญาลาวเงิน กษัตริย์ผู้ครองนครเงินยางเชียงแสน ทรงมีพระราชโอรส ๒ พระองค์ คือ พญาชิน และ พญาจอมธรรม เมื่อพระโอรสทั้ง ๒ พระองค์ ทรงเจริญวัยแล้ว พญาเงินพระราชบิดาจึงแบ่งราชสมบัติออกเป็น ๒ ส่วน โดยให้พญาชิน ครองนครเงินยางเชียงแสน และให้พญาจอมธรรมมาสร้างเมืองใหม่ ซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ ประมาณ พ.ศ. ๑๖๓๙ พญาจอมธรรม พร้อมด้วยข้าราชบริพารได้อพยพมาถึง เมืองภูกามยาว รวมเวลาเสด็จได้ ๗ วัน ฝ่ายเสนาปุโรหิตาจารย์ก็พากันไปตรวจดูภูมิสถานที่ตั้งรากฐานบ้านเมืองใหม่ จึงได้พบรากฐานเมืองโบราณเมืองหนึ่ง ตั้งอยู่เชิงเขาดอยชมภู หรือ ดอยด้วน ลงไปจดแม่น้ำสายตา (แม่น้ำอิง) เมืองนี้ปรากฏว่ามีค่ายคูลึกและกว้าง ตัวเมืองมีลักษณะคล้ายรูปน้ำเต้า (วัดลีอยู่ในเมืองนี้) ลักษณะเป็นชัยมงคลอันประเสริฐ พญาจอมธรรมจึงทรงพอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ทรงรับสั่งให้เสนาปุโรหิตาจารย์ ข้าราชบริพารและประชาชน จัดสร้างมณฑปที่ประทับขึ้นในท่ามกลางเมือง ทรงฝังเสาหลักเมือง แล้วทรงพระราชพิธีปราบดาภิเษกพญาจอมธรรมขึ้นเป็นผู้ครองเมืองภูกามยาว หรือ พะเยา พญาจอมธรรมมีพระราชโอรส ๒ พระองค์ คือ พญาเจือง และพญาจอง ซึ่งพญาเจืองโอรสองค์ที่ ๑ นั้น เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ที่ทำสงครามต่อสู้เอาชนะบ้านเมืองต่าง ๆ ในล้านนา และไกลออกไปจนถึงคาบสมุทรอินโดจีน เช่น แดนล้านช้างและเมืองแก้ว (เวียดนาม) กษัตริย์พระองค์นี้ เชียวชาญในด้านการรบจึงได้รับการเฉลิมพระนามว่า “พญาเจืองฟ้าธรรมมิกราช”

ประวัติพญาจอมธรรม

* * * * * * * * * * * * * * * * * *

แรกเริ่มเดิมที เมืองพะเยาเป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีเอกราชสมบูรณ์มีกษัตริย์ปกครองสืบสันติวงศ์ ตั้งแต่ราชวงศ์ลวจังคราชปฐมกษัตริย์แห่งนครเงิน

ยางเชียงแสน ปรากฏตามตำนานเมืองพะเยาดังต่อไปนี้

จุลศักราช ๔๒๑ พุทธศักราช ๑๖๐๒ พญาเงินหรือลาวเงินราชโอรสของพญาแรงกวากษัตริย์แห่งนครเงินยางเชียงแสน มีพระราชบุตร ๒ พระองค์ คือ พญาชิน ๑, พญาจอมธรรม ๑ เมื่อพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ ทรงพระเจริญวัย พญาเงินทรงพิจารณาเห็นว่า ครั้นจะให้ราชโอรสของเราทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ในราชสำนักเดียวกัน ต่อไปภายหน้าเกรงว่าจะเป็นข้าศึกแก่กันและกัน สมควรแบ่งราชสมบัติให้ไปครองเมืองอื่นต่อไป จึงทรงแบ่งราชสมบัติออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งพระราชทานให้แก่พญาจอมธรรมราชบุตรองค์ที่สอง ไปครองเมืองภูกามยาว (พะเยา) ซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ อีกส่วนหนึ่งทรงพระราชทานแก่พญาชิน อยู่ในราชอาณาจักรนครเงินยางต่อไป

พญาเงินแบ่งราชสมบัติออกแล้ว ทรงรับสั่งให้ข้าราชบริพารของพญาจอมธรรม ขนเอาราชสมบัติขึ้นบรรทุกต่างม้า ทรงรับสั่งให้พลช้าง พลม้า ข้าราชบริพารตามส่งเสด็จพญาจอมธรรมลุถึงเมืองภูกามยาว เมื่อเสด็จถึงแล้วทรงประทับแรมอยู่ที่บ้านเชียงหมั้น (บ้านกว้าน) ข้างดอยหยุก (อยู่ในท้องที่ตำบลดงเจน ) รวมเวลาเสด็จได้ ๗ วัน เมื่อทรงพักผ่อนพอสมควรแล้ว จึงตรัสสั่งให้พันธเสนาและปุโรหิตาจารย์ ชื่อ “สามผญา” ไปตรวจดูภูมิสถานที่จะตั้งเมืองใหม่ ฝ่ายพญาจอมธรรมทรงรับสั่งให้ข้าราชบริพารรวมกับราษฏรในหมู่บ้านช่วยกันขุดร่องน้ำจากแม่น้ำสายตา เพื่อประโยชน์แก่การบริโภคใช้สอยทั้งคนและสัตว์พาหนะ ร่องน้ำแห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า “แม่เหมือง” มาจนทุกวันนี้

ฝ่ายพันธเสนาปุโรหิตาจารย์ ก็พากันไปตรวจภูมิสถานที่จะตั้งเมืองใหม่ จึงไปพบรากฐานของเมืองโบราณเมืองหนึ่ง ตั้งอยู่ปลายเทือกเขาชมภูหางดอยด้วนไปจรดฝั่งแม่น้ำสายตา เมืองนี้ปรากฏว่ามีค่ายคูลึกและกว้าง ๗ วา มีกำแพงเมืองกว้าง ๑,๐๐๐ วา ยาว ๑,๒๐๐ วา มีประตู ๘ ประตู ตัวเมืองมีสันฐานคล้ายรูปน้ำเต้า ทางทิศเหนือเป็นเนินสูงส่วนทางทิศใต้และทิศตะวันออกมีพื้นลาดต่ำลงมา ทางทิศตะวันตกมีหนองใหญ่ (หมายถึงกว๊าน) และมีหนองอยู่ทางทิศอีสาน อันหมายถึงหนองหวีหรือหนองแว่น หรือหนองบึง มีสัณฐานลักษณะชัยมงคลอันประเสริฐนามเมืองนี้ชื่อ “สีหราช “ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพญาจอมธรรมให้ทรงทราบ เมื่อพญาจอมธรรมทราบเรื่องราวโดยตลอดแล้ว เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ทรงรับสั่งให้พันธเสนาปุโรหิตาจารย์ ข้าราชบริพาร และประชาชนไปแผ้วถางให้ราบเรียบดีงามให้จัดสร้างมณฑปที่ประทับขึ้นในท่ามกลางเมือง ประดับด้วยช่อธงจุดประทีบโคมไฟให้สว่างไสว ไปทั่วบริเวณนั้นตั้งบายศรีอัญเชิญเทวดาตามราชประเพณี ฝังเสาหลักเมือง ฝังแก้วมณี เงินทองและปลูกศิริรุกขชาติ (ต้นไม้ประจำเมือง) ไว้ที่ใกล้ประตูเมือง มีประตูคุ้มน้อย ประตูคุ้มหลวง ทรงอาราธนาพระมหาเถระมาสวดมนต์ ทรงถวายมหาทานแก่พระมหาเถระ ทรงสังเวยเทวดา แล้วทรงอภิเษกพญาจอมธรรมขึ้นครองเมืองภูกามยาว

ครั้นขึ้นครองเมืองแล้วก็ทรงสั่งให้สำรวจพลเมืองทั้งภายนอกหัวเมืองรวมได้ ๑๘๐,๐๐๐ คน จัดแบ่งออกได้รวม ๓๖ พันนา พันนาละ ๕,๐๐๐ คน คือ พันนาเชียงดี, พันนาโคกหลวง ,พันนาแซ่ตาก,พันนาม่วง , พันนาแลง , พันนาทุ่งหลวง , พันนาไชย ,พันนาลอใต้ ,พันนาเชียงเคี่ยน ,พันนาทน , พันนาครัว , พันนาสาร , พันนาชะนาค , พันนาแหน ,พันนาเชียงเคิ่ง ,พันนาเริง , พันนารินทร์ , พันนาแก้ว,พันนาฉางหลวง , พันนามูล, พันนาแควน้อย, พันนาท่าไคร้ ,พันนาแซ่หาด, พันนาแป้น, พันนาคง ,พันนาปิม , พันนาจัน, พันนากิม, พันนาเชาว์, พันนาช่วย, พันนาเชียงชี, พันนาช้าง, พันนาแช่โหว้, พันนาซาง ,พันนาคีม, พันนาแช่ห่ม ,พันนาแช่ซ้อน

เมืองพะเยา มีอาณาเขตแคว้นแดนเมือง ดังต่อไปนี้ คือ ทิศบูรพาจรด ขุนผากาด จำบอน ตาดม่าน ปางสีก้ำ ไทรสามต้น สบห้วยปู น้ำพุง สบปั๋ง น้ำยม ห้วยบ่อทอง ตาดซาววา กิ่วแก้ว กิ่วสามช่วงนี้มีหลักหิน ๓ ก้อนฝังไว้ กิ่วฤษี แม่น้ำสายตา กิ่วช้าง กิ่วง้ม กิ่วเปี้ย ดอยปางแม่พาด ทางทิศตะวันตก โป่งปูด ห้วยแก้ว ดอยปุย แม่คาว ทางทิศใต้ กิ่งรูหลาว(รูเหว) ดอยจิ๊กจ้อง ขุนถ้ำ ดอยตั่งดอยหนอก ผาคอกวัว แช่ม่าน ไปจวบเอาดอยผาหลักไก่ อยู่ทางทิศหรดีเป็นแดน

หัวเมืองน้อยใหญ่ต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่ในอำนาจปกครองของอาณาจักรพะเยา คือ เมืองงาว เมืองกวาสะเอียบ เมืองเชียงม่วน เมืองสระ เมืองออย เมืองสะลาว เมืองคอบ เมืองลอ เมืองเชียงคำ เมืองเชียงแรง เมืองหงาว เมืองเทิง เมืองแซ่เหียง เมืองแซ่ลุ เมืองปากบ่อง เมืองหนองขวาง เมืองป่าเป้า เมืองวัง เมืองแช่ซ้อน เมืองปาน เมืองแช่ห่ม ทิศใต้สุดจรดนครเขรางค์ และนครหริภุญชัย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือต่อแดนขรนคร

พญาจอมธรรม ทรงรับทราบเขตแคว้นแดนเมือง ของภูกามยาว / เมืองพะเยา โดยตลอดแล้วแต่ยังไม่พอกับความต้องการที่จะปกครองดูแลให้ทั่วถึงจำเป็นจะกระจายออกไปเป็นพันนา ๆ หนึ่งมีกี่หมู่บ้านจึงได้กระจายออกไปเป็นพันนาดังนี้คือ

๑. พันนาเชียงคำ มี ๑๗ บ้านคือ บ้านถ้ำ บ้านนอย บ้านสอนหลวง บ้านจามควาย บ้านเทิง บ้านหลอด บ้านพร้าว บ้านแซ่ตาก ปากโท่งร้าววารยาง และบ้านแรง

๒. พันนาลิน บ้านปอ บ้านกว้าน บ้านทุ่ง บ้านม่วงคำ บ้านเคน

๓. พันนาแดง บ้านถีคำ บ้านกอง บ้านชะนาก บ้านดัง บ้านไก่เถื่อน บ้านปิน บ้านตาก บ้านตากล้า

๔. พันนาโคกหลวง มีบ้านร่องช้าง บ้านฝายยาย บ้านน้อย บ้านสวนหลวง บ้านหมก บ้านคำใต้ บ้านจ่านา

๕. พันนาฟืม (ปืม) บ้านลุง บ้านโท้ง บ้านได บ้านคา บ้านหมุด บ้านหม้วย บ้านปงทำไชย

๖. พันนาเลา – พันนาม่วง บ้านถีลอม บ้านโป่ง บ้านเอี่ยน บ้านดอน บ้านเหม้า บ้านแม่ไชย บ้านชาย

๗. พันนาจัน บ้านงิ้ว บ้านสาง บ้านตุ่น บ้านเลิง บ้านสวนหลวง บ้านสันดอนมูล

๘. พันนาแปง บ้านรอด บ้านโซ้ บ้านร่องคำ บ้านโท่ง บ้านป่าจำ บ้านสันช้างหิน บ้านแม่ใส

๙. พันนาคม บ้านนาปอย บ้านแม่กา บ้านต้นหนุน บ้านท่า บ้านจำป่าหวาย บ้านจำตาเหิน บ้านร่องขิว (ร่องขุย )

๑๐. พันนางืม บ้านชำหมากชมพู บ้านหมิ้ว บ้านสรีกอเคล้า บ้านเหล่า บ้านหาดได บ้านร่องแหย่ง บ้านหนองพันนางืมอยู่ทิศตะวันออก และตั้งต่ออีก ๔ ต่อ คือ

๑. ต่อแขก บ้านกอง บ้านแหวน บ้านออย บ้านพง บ้านฟ้าซ้ำ บ้านอำเภอ บ้านโรงช้าง โดยให้นาย สุดทีป เป็นแก่บ้านหรือผู้ใหญ่บ้าน

๒. ต่อหวาย บ้านเขียน บ้านห้วยคมคำ บ้านท่าปง บ้านงิ้วงาม บ้านขาม บ้านดง ให้นายพายสาน เป็นแก่บ้าน

๓. ต่อนาหลัง บ้านภูยาง บ้านสีไข่มด บ้านสรซีเขิง บ้านตาลถ้อย บ้านพูแกงน้อย บ้านพูแกงหลวง บ้านแช่พาน ให้นายการ เป็นแก่บ้าน

๔. ต่อนาเริน บ้านดอนชัย บ้านแม่คาว บ้านป่าหุ่ง บ้านผาแดง บ้านเหมี้ยง บ้านปอ บ้านสะลา ให้นายมาล เป็นแก่บ้าน

พญาจอมธรรม ขึ้นครองราชสมบัติแล้วทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม มีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนโดยธรรม จึงทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองด้วยโภคสมบัติไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินต่างมีศีลธรรมรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ฟ้าฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าภูมินาก็งอกงามประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขทุกถ้วนหน้า ไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียน ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยผาสุขตั้งอยู่ในสุจริตธรรม บ้านเมืองไม่มีภัยสงครามเจ้าประเทศราชต่าง ๆ ก็มีความสัมพันธไมตรีต่อกัน เมื่อพระยาจอมธรรมจะทรงสั่งสอนพสกนิกรภายใต้การปกครอง ก็ย่อมสั่งสอนด้วยธรรม ๒ ประการ คือ อปริหานิยธรรม ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ๑ และประเพณีธรรม คือ ขนบธรรมเนียมอันเป็นระเบียบแบบแผนอันดีงามของครอบครัว ๑ ( คือวัฒนธรรม ) ทรงยึดหลักธรรมทั้งสองประการนี้

พญาจอมธรรม ครองเมืองพะเยาได้ ๓ ปี มีพระราชโอรสองค์ที่ ๑ ประสูติวัน ๓ ฯ ๕ ค่ำ ปีเถาะ เอกราช ๔๖๑ พ.ศ.๑๖๔๖ เวลาใกล้รุ่ง อาทิตย์ จันทร์ เสาร์ อยู่ราศีเมษ ราหูอยู่ราศีกุมภ์ พุธอยู่ราศีมีน อังคารอยู่ราศีมังกร พฤหัสบดีอยู่ราศีกรกฏ ศุกร์อยู่ราศีตุลย์ ลักขณาอยู่ราศีมีน โหรถวายคำพยากรย์ว่าพระราชโอรสองค์นี้จะเป็นจักรพรรดิราชปราบชมภูทวีป มีบุญญาธิการมาก เวลาประสูตรมีของทิพย์ ๓ ประการคือ แส้ทิพย์ พระแสงทิพย์ คัณฑีทิพย์ ใช้นามพระโอรสว่า “พญาเจือง” ต่อมาอีก ๓ ปี พญาจอมธรรมได้พระโอรสอีก ๑ พระองค์ คือ “พญาจอง หรือพญาชิง ”

พญาจอมธรรม ครองเมืองพะเยาได้ ๒๑ ปี พระชนมายุได้ ๕๙ ปี ก็สิ้นพระชนม์ พญาเจือง พระราชโอรสขึ้นครองราชสมบัติเมืองพะเยาต่อจากพระราชบิดา