โบราณสถาน โบราณวัตถุที่น่าสนใจภายในวัดลี

พระธาตุเจ้าวัดลี พระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่

พระธาตุเจ้าวัดลี เป็นพระธาตุที่อยู่คู่วัดลี คู่หมู่บ้าน คู่ชุมชนวัดลีมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๐๓๘ จากหลักฐานในศิลาจารึกวัดลี จากนั้นก็มีการบูรณะมาเรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ ในช่วง ปี พ.ศ. ๒๐๓๙ จนถึง ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ แต่ไม่สามารถหาประวัติ หรือข้อมูลที่ชัดเจนได้ จนมาถึง ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ จึงได้มีเรื่องราวที่สามารถบอกได้ถึงประวัติความเป็นมา และข้อมูล ได้ว่าอยู่ในช่วงของครูบาแก้ว คันธวังโส ผู้เริ่มบุกเบิก จากวัดที่มีสภาพเป็นวัดร้าง ได้ปรับปรุงพัฒนามาจนเป็นวัดที่มีรอยต่อของการบูรณะมาจนถึงปัจจุบัน

พระธาตุเจ้าวัดลี แต่เดิมก่อนที่ครูบาแก้ว คันธวังโส จะเข้ามาทำการบูรณะนั้น ยังมีสภาพเป็นเพียงกองซากพระเจดีย์ที่หักพังทลาย เห็นเพียงครึ่งองค์เท่านั้น บริเวณรอบ ๆ รกทึบไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ป่าหญ้าคาสูง พื้นที่รอบองค์พระธาตุ มีร่องรอยของการขุดเจาะ พบมีหลุมขนาดใหญ่อยู่บริเวณทั้งสี่ด้าน ของตัวองค์พระธาตุ และตัวองค์พระธาตุมีต้นไม้ขึ้นอยู่เต็มไปหมด ก่อสร้างด้วยก้อนอิฐโบราณขนาดใหญ่กว่าก้อนอิฐปัจจุบันมาก โบกปูน แต่เกิดการผุกร่อนจนไม่เห็นปูนที่โบกทับ เห็นแต่ก้อนอิฐวางเรียงเป็นตัวองค์พระธาตุ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ๑ ชั้น ด้านบนเป็นตัวองค์พระธาตุ เป็นรูปแปดเหลี่ยม มีประมาณ ๓ ชั้น ต่อด้วยฐานบัวคว่ำ ๒ ชั้น และเอวพระธาตุ ส่วนกลางองค์พระธาตุ สูงประมาณ ๒ เมตร ต่อด้วยบัวหงายเล็ก ๒ ชั้น และบัวหงายใหญ่อีก ๒ ชั้น ส่วนบนเป็นกองอิฐหักพังทลาย มีต้นไม้ขึ้นอยู่เต็ม ไม่มีกำแพงแก้ว มีพระพุทธรูปหินทรายองค์ใหญ่ ๒ องค์ อยู่ทางด้านทิศเหนือ ๑ องค์ และทิศตะวันออก ๑ องค์ (พระพุทธรูปหินทรายองค์ใหญ่ทางทิศตะวันออก มีการสร้างวิหารครอบไว้ จนมาถึงช่วงของครูบาแก้ว คันธวังโส จึงได้รื้อถอนวิหารออก เหลือเพียงองค์พระพุทธรูปหินทราย ต่อมา ในช่วงของครูบาแก้วมูล ท่านจึงได้สร้างพระเจดีย์องค์เล็ก ครอบไว้) ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ช่วงครูบาแก้ว คันธวังโส ครูบาแก้ว คันธวังโสท่านเป็นพระลูกศิษย์ของท่านครูบาศรีวิชัยตอนจำพรรษาอยู่ที่จังหวัด ลำพูน เช่นเดียวกับครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ จากนั้นท่านครูบาแก้ว คันธวังโสจึงได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเจ้าตนหลวง ตามคำเชิญชวนของพระที่เป็นสหายกันในสมัยนั้น ท่านมาอยู่ที่วัดพระเจ้าตนหลวงได้ประมาณ ๑ พรรษา คณะศรัทธาวัดลี จึงได้ไปนิมนต์ท่านมาอยู่ที่วัดลี ท่านจึงได้รับนิมนต์มาเป็นผู้บูรณะวัดลี ตั้งแต่นั้นมา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงของครูบาแก้ว คันธวังโส

ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ครูบาแก้ว คันธวังโสย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดลี

ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ครูบาศรีวิชัยมาสร้างพระวิหารวัดพระเจ้าตนหลวง ครูบาแก้ว คันธวังโสจึงไปนิมนต์ท่านให้มาเป็นประธานในการสร้างพระธาตุเจ้าวัดลี โดยท่านครูบาศรีวิชัยได้มาดูและมอบหมายให้ครูบาแก้ว คันธวังโสเป็นผู้จัดสร้าง โดยได้มอบเงินจำนวนหนึ่ง และช่างมาช่วยสร้าง

ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เมื่อสร้างพระธาตุเจ้าวัดลีเสร็จ ครูบาแก้ว คันธวังโส จึงได้ทำบุญสรงน้ำพระธาตุในเดือนห้าเป็ง โดยมีพระครูบาศรีวิชัยมาร่วมงานทำบุญในครั้งนั้นด้วย ดังจะเห็นในประวัติท่านพระศรีวิชัย ของเจ้าสุริยะวงศ์ สิโรรส พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ มีข้อความว่า "ในพุทธศักราช ๒๔๖๖ ครั้นออกพรรษาแล้ว ท่านก็ลงไปลำปาง ไปสร้างวิหารดอนเต้าลำปาง และไปปฏิสังขรณ์สร้างวิหารพระบาทที่ลำปางแล้ว ท่านก็ออกจากลำปางไปฉลองวิหารหลวงเมืองพยาว และสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในเมืองพยาวที่นั้น เริ่มงานทำบุญในเดือน ๕ เป็ง วัดลี พุทธศักราช ๒๔๖๖ นั้นตลอดถึงเดือน ๖ เป็ง วัดพระธาตุจอมทอง สำเร็จการทำบุญที่พยาวแล้ว ก็ลงไปลำปาง และเชียงใหม่สร้างวัดพระสิงห์เชียงใหม่" เป็นต้น

ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ครูบาแก้ว คันธวังโส เตรียมที่จะจัดฉลองงานประเพณีสรงน้ำในเดือนห้าเป็ง (เดือน ๓ ไทย) แต่ต้องเลื่อนไปก่อน เพราะครูบาแก้ว คันธวังโส ได้ทราบข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า ครูบาศรีวิชัย ท่านจะสร้างถนนหนทางขึ้นดอยสุเทพ ท่านครูบาแก้ว คันธวังโส จึงได้พา พระ เณร และคณะศรัทธา ไปช่วยกันสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ กลับมาจึงได้ทำการจัดงานฉลองพระธาตุเจ้าวัดลี ในเดือนเก้าเป็งแทน (ประมาณเดือน มิถุนายน)

ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ครูบาแก้ว คันธวังโสนำคณะศรัทธาเตรียมสร้างพระวิหารหลังใหม่ ได้ทำการเตรียมการหล่อเสาพระวิหาร กำลังหล่อเสาพระวิหารอยู่ยังไม่เสร็จดี ครูบาแก้ว คันธวังโส ได้ทราบข่าวจากจังหวัดลำพูนว่า ครูบาศรีวิชัยเริ่มป่วยหนัก จึง ได้พา พระ เณร และคณะศรัทธาไปเยี่ยมท่านครูบาศรีวิชัยที่จังหวัดลำพูน จนกระทั่งท่านครูบาศรีวิชัยมรณภาพ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ และกับมาสร้างพระวิหารจนเสร็จ

ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เมื่อท่านครูบาแก้ว คันธวังโสกลับมา จึงได้เริ่มสร้างพระอุโบสถใหม่เมื่อสร้างเสร็จก็ทำการฉลองในปีนั้น

ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านครูบาแก้ว คันธวังโสได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่วัดพระเจ้าตนหลวง พร้อมกับสร้างโรงเรียนสอนบาลีที่วัดพระเจ้าตนหลวง จากนั้นท่านครูบาแก้ว คันธวังโส จึงได้นิมนต์ครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ มาจำพรรษา เป็นเจ้าอาวาสวัดลีแทน ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา ขณะนั้นท่านครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดพระเจ้าตนหลวงเช่นกัน

เมื่อครูบาแก้ว คันธวังโส ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดลี ท่านจึงได้ริเริ่มให้คณะศรัทธาทำการแผ่วถางต้นไม้ ปรับปรุงสถานที่ สร้างกุฏิ จากนั้นท่านก็เริ่มสำรวจสถานที่ พบว่ามีเศษซากพระวิหารเก่า เศษซากของโบสถ์เก่า มีศาลามุ่งด้วยหญ้าคาอยู่ติดกับซากโบสถ์เก่าภายในมีพระพุทธรูปหินทราย ประดิษฐานอยู่ มีเศษซากพระอุโบสถเก่า และพระธาตุเจดีย์เก่าสภาพหักพังทลายเหลือเพียงครึ่งองค์ มีวิหารหลังเล็กอยู่ทางทิศตะวันออกของพระเจดีย์ มุ่งด้วยหญ้าคา ภายในมีพระพุทธรูปหินทรายองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ เมื่อท่านสำรวจทั้งหมดแล้ว จึงมีความเห็นว่าควรจะทำการบูรณะองค์พระธาตุเจดีย์ก่อน เพราะ วิหารยังมีอยู่ถึงแม้หลังเล็กแต่ก็พอใช้ได้ เอาไว้ทำการบูรณะที่หลัง จากนั้นท่านจึงปรึกษากับคณะศรัทธาวัดลีเรื่องการบูรณะองค์พระธาตุ แต่การบูรณะต้องใช้เงินจำนวนมาก ท่านครูบาแก้ว คันธวังโสเห็นว่าหากจะสร้างเพียงลำพังกับคณะศรัทธาวัดลีคงไม่มีทางจะสร้าง เสร็จได้ ท่านจึงได้คิดถึงครูบาศรีวิชัย ครั้นนั้นท่านได้ทราบข่าวว่าท่านครูบาศรีวิชัยจะมาทำการสร้างพระวิหารวัดพระ เจ้าตนหลวง ท่านจึงเห็นว่าต้องไปพึ่งท่านครูบาศรีวิชัยมาช่วยในการสร้างพระธาตุเจ้าวัด ลีครั้งนี้ ดังนั้นครั้นครูบาศรีวิชัยมาสร้างพระวิหารวัดพระเจ้าตนหลวง ท่านครูบาแก้ว คันธวังโส จึงไปนิมนต์ครูบาศรีวิชัยมาเป็นองค์ประธาน ในการสร้างพระธาตุเจ้าวัดลี ท่านครูบาศรีวิชัยได้มาดูแล้วจึงได้มอบหมายให้ท่านครูบาแก้ว คันธวังโส เป็นผู้ทำการสร้าง พร้อมด้วยคณะศรัทธาวัดลี ส่วนท่านครูบาศรีวิชัยก็ได้ส่งเงินมาช่วยจำนวนหนึ่ง และส่งช่างมาช่วยสร้าง จากนั้นท่านครูบาศรีวิชัยจึงได้กลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเจ้าตนหลวง เพื่อสร้างพระวิหารหลวงต่อไป

ท่านครูบาแก้ว คันธวังโส เมื่อได้รับมอบหมายจากท่านครูบาศรีวิชัยแล้ว จึงได้เกณฑ์ชาวบ้าน พร้อมเรี่ยไร่เงินสมทบจากศรัทธาต่างบ้านมาร่วมทำบุญ ในการสร้างพระธาตุครั้งนี้ จากนั้นท่านจึงได้ทำการแบ่งหน้าที่ พร้อมหาช่างมาช่วยสร้าง โดยในขณะนั้นจะต้องทำการปั้นอิฐบางส่วน และหาซื้อบางส่วน ปูนก็ต้องซื้อมา (มีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ดินในการเกาะยึดอิฐในการสร้างพระธาตุในสมัยนั้นว่า บางก็เอาดินผสม มูลวัวมูลควาย ผสมน้ำผึ้ง และวัสดุอื่น ทำการหมักไว้ ใช้แทนปูนซีเมนต์) ส่วนอิฐที่จะต้องทำการปั้นนั้น มีข้อมูลการจากการสอบถาม พบว่ามีเจ้าภาพ คือ พ่อเลี้ยงเมทา ซึ่งเป็นหมอรักษาคนสติไม่ดี (เป็นผีบ้า) ได้เกณฑ์คนรอบ ๆ บ้านใกล้เคียง ทั้งคนที่เคยมารักษา คนในหมู่บ้าน มาช่วยกันปั้นอิฐ ที่บริเวณบวกหมื่นแก้ว (บริเวณพื้นที่ว่างระหว่างบ้านสันขะเจ๊าะและบ้านเจดีย์งาม) (มาถึงตรงนี้จึงขอเล่าเรื่องความเป็นมาของบวกหมื่นแก้ว ดังนี้ คือมีอยู่ว่าครั้นนั้นมีเจ้าหมื่นแก้ว ผู้มีศรัทธาได้ยินว่าทางวัดลีจะได้ทำการก่อสร้างพระธาตุ โดยมีพระครูบาเจ้าศรีวิชัยมาเป็นผู้บูรณะ แต่ยังขาดอิฐ ดิน สำหรับงานก่อสร้าง จึงได้เกณฑ์คนงานและชาวบ้านบริเวณนั้น มาช่วยกันปั้นอิฐ และทำเตาเผาบริเวณนั้น โดยเห็นว่าดินในพื้นที่ของเจ้าหมื่นแก้วเป็นดินเหนี่ยวสามารถใช้ทำอิฐได้ จึงพากันขุดนำดินบริเวณดังกล่าว มาสร้างเป็นอิฐสำหรับสร้างพระธาตุ ได้แบ่งหน้าที่กันคือ คนขุดดิน คนปั้นดิน คนตากดิน และคนเผาดิน ต่างคนก็ต่างพากันขุดเอาดินขึ้นมา ขุดดินตรงนี้หน่อย ขุดดินตรงนั้นหน่อย จนเป็นหลุมขนาดใหญ่ เมื่อฝนตกลงมาก็เกิดน้ำขัง มีลักษณะเป็นบึงเล็ก ๆ ชาวบ้านบริเวณนั้นจึงเรียกว่าบวกหมื่นแก้ว) นอกจากนั้นยังมี สิบตำรวจอาย แม่คำใส พูนไชย เป็นต้น ได้ทำการปั้นอิฐมาถวาย เมื่อมีอิฐพร้อม ปูนพร้อม จึงเริ่มทำการก่อสร้าง จนแล้วเสร็จในเดือนห้าเหนือ ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เมื่อทำการสร้างเสร็จ จึงได้ทำการฉลองในเดือนห้าเป็ง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เหนือ โดยมีพระครูบาศรีวิชัยมาร่วมงานทำบุญในครั้งนั้นด้วย ดังจะเห็นในประวัติท่านพระศรีวิชัย ของเจ้าสุริยะวงศ์ สิโรรส พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ และถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านครูบาแก้ว คันธวังโส และคณะศรัทธาเตรียมจัดงานฉลองสรงน้ำพระธาตุ ในเดือนห้าเป็ง (เดือน ๓ ไทย) แต่ต้องเลื่อนไปก่อน เพราะได้ข่าวจากเชียงใหม่ ว่าครูบาศรีวิชัยจะเริ่มสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ครูบาแก้ว คันธวังโส จึงได้นำพระเณร และคณะศรัทธาไปช่วยกันสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ กลับมาจึงได้ทำการจัดงานฉลองพระธาตุเจ้าวัดลี ในเดือนเก้าเป็งแทน (ประมาณเดือน มิถุนายน) จากนั้นก็ได้ทำการจัดงานสรงน้ำพระธาตุขึ้นในเดือนห้าเป็งตามปกติ และถือเป็นงานประเพณีที่สืบทอดกันมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ลักษณะ ส่วนประกอบและศิลปะในการก่อสร้างพระธาตุเจ้าวัดลี

บริเวณพระธาตุประกอบด้วย พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา จำนวน ๒๐ องค์ มีพระพุทธรูปหินทรายองค์ใหญ่ ๑ องค์ อยู่ด้านทิศเหนือ มีพระพุทธรูปหินทรายอยู่ ๒ ลักษณะ คือ พระพุทธรูปหินทรายที่มีพระเศียรเป็นลายตาราง และพระพุทธรูปหินทรายที่มีพระเศียรเป็นลายขมวดก้นหอย พระพุทธรูปหินทรายทุกองค์ ประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐานดอกบัวบ้าง บนฐานราบสูงบ้าง

กำแพงแก้ว กำแพงแก้วด้านทิศตะวันตก มีความกว้างประมาณ ๒๐ เมตร ด้านทิศเหนือ และทิศใต้มีความกว้างประมาณ ๒๐.๕๐ เมตรบริเวณองค์พระธาตุองค์ใหญ่ ด้านคอขวด มีความกว้างประมาณ ๗ เมตร ส่วนด้านข้างทางทิศเหนือ และทิศใต้ของพระธาตุองค์เล็ก มีความกว้างประมาณ ๓.๒๐ เมตร กำแพงทางทิศเหนือ หน้าพระธาตุองค์เล็ก มีความกว้างประมาณ ๗ เมตรประกอบด้วยเสา ๑๐ ต้น ระหว่างเสากว้างประมาณ ๒ เมตร ตัวเสาสูงประมาณ ๑ เมตร มีฐานสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร บนหัวเสาประดับด้วยดอกบัว ๓ ชั้น เป็นดอกบัวตูม ตัวกำแพงมี ลูกดิ่ง ๙ ลูก ด้านในประกอบไปด้วย ฉัตร ๔ ฉัตร อยู่สี่มุมของกำแพงแก้ว มีฐานรองรับเป็นรูปแปดเหลี่ยม ย่อมุม ๑๒ ประกอบด้วยขอบรองรับฐานบัว ๑ ชั้น ฐานบัวคว่ำ ๑ ชั้น ตรงกลางเป็นขอบเล็ก ๆ ห่างกัน ๒ ขั้น ฐานบัวหงาย ๑ ชั้น และขอบรองรับต้นฉัตร ๑ ชั้น ต้นฉัตรประกอบด้วย ฐานดอกบัว ๒ ชั้น ส่วนลำต้น ประดับลายด้วยดอกลายกนก สี่กลีบ โดยรอบ ด้านบนเป็นกลีบดอกบัวรอบรับ ฉัตร ๒ ชั้น และฉัตร รูปวงกลมชั้นเดียว

ส่วนประกอบขององค์พระธาตุ องค์พระธาตุองค์ใหญ่ มีความสูง ๓๗ เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ ๑๗ เมตร ต่อด้วยฐานรูปแปดเหลี่ยม ๓ ชั้น ชั้นแรกกว้างประมาณ ๖ เมตร ชั้นที่สองและที่ชั้นที่สาม ลดลั่นขึ้นไป ไม่มีย่อมุม ต่อด้วยฐานบัวคว่ำ ๒ ชั้น ย่อมุม ๒๘ สี่ด้าน ต่อด้วยส่วนเอว มีขอบเล็ก ๑ ขั้น และฐานบัวหงาย ๑ ชั้น และส่วนเอว สูง ๒ เมตร ย่อมุม ๒๘ สี่ด้าน ด้านที่มีย่อมุม มีประดับลายปูนปั้นลวดลายประจำยาม ที่ย่อมุมตรงกลาง เป็นรูปสี่เหลี่ยมเฉียงขึ้น และด้านหน้ากระดาน สี่ด้านที่เหลือ ประดับลายปูนปั้นลวดลายประจำยาม เป็นรูปดอกประจำยาม รูปวงกลม ถัดขึ้นไปมีฐานบัวคว่ำ ๑ ชั้น และขอบเล็กอีก ๑ ขั้น ต่อด้วยฐานบัวหงาย ๒ ชั้น ย่อมุม ๒๘ สี่ด้าน ถัดขึ้นไป เป็นส่วนที่เรียกว่า คอบาตร รูปทรงแปดเหลี่ยม ไม่มีย่อมุม ประกอบด้วย ขอบใหญ่ ๑ ขั้น รองรับฐานบัวคว่ำ ๑ ชั้น ต่อด้วยปล่องขอบเล็ก ห่างกัน ๒ ขั้น และขอบใหญ่ ๑ ขั้น ต่อด้วยส่วนที่เรียกว่า พุ่ม หรือ ระฆังคว่ำ หรือมาลัยเถา รูปทรงแปดเหลี่ยม ย่อมุมเป็นชั้น ๆ ลดลั่นขึ้นไป จำนวน ๘ ชั้น (เมื่อได้มีการบูรณะเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓ ได้มีการลดจำนวนชั้นลงเหลือเพียง ๕ ชั้น และลดขนาดลงเข้าอีก ๑.๕ เมตร)

ชั้นสุดท้าย เป็นรูประฆังคว่ำสูง ๓ เมตร ต่อด้วยส่วนที่เรียกว่าบัลลังก์แก้ว มีลักษณะคล้ายพาน รูปแปดเหลี่ยม มีขอบตรงกลางเล็ก ๑ ขอบ ส่วนด้านบนที่บานออก (ขอบพาน) ประดับด้วยกระจกสีทองโดยรอบ และ ต่อด้วยส่วนคอ (ฐานรองรับปล้องไฉน) รูปทรงกระบอก ประดับ กระจกสีทองโดยรอบ ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉน มีลักษณะทรงกรวย ชั้นแรกเป็นขอบใหญ่รองรับฐานกลีบดอกบัว ชั้นที่สองเป็นรูปกลีบดอกบัว ๒ ชั้น ต่อด้วยมาลัยเถา วงแหวน จำนวน ๑๓ วง ชั้นที่สิบสาม มีฐาน รองรับฐานกลีบดอกบัว ๑ ขั้น ต่อด้วย กลีบดอกบัว อีก ๒ ชั้น ขึ้นไปเป็นยอดปลี (หัวปลี หรือ ดอกบัวตูม) ยอดระฆัง และฉัตร ตามลำดับ ยอดฉัตรประดับด้วยยอดดอกบัวตูม ทำด้วยทองคำ และชั้นรองลงมาเป็นดอกบัวหงาย ๑ ชั้น ทำด้วยทองคำ และชั้นดอกบัวคว่ำอีกหนึ่งชั้น ทำด้วยทองคำ ตัวธงทำด้วยทองคำ มีเสากลางทำด้วยเงินปิดทองคำเปลว ตัวฉัตรทำด้วยทองเหลือง ฉลุลายกนก

พระพุทธรูปหินทรายศิลปะสกุลช่างพะเยา

พระพุทธรูปหินทรายองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ มีความสูง ๒.๓๐ เมตร หน้าตักกว้าง ๑.๙๐ เมตร ซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธรูปหินทรายองค์ใหญ่ที่สุดในวัดลี และมีความเก่าแก่ อยู่คู่กับวัดลีมาช้านาน มีลักษณ์เด่น คือ เป็นศิลปะสกุลช่างพะเยาที่มีความสวยงาม มีพระพักตร์ที่อิ่มเอิบ มีลายผ้าจีวรผาดบริเวณหน้าตักซ้าย พระเศียรเป็นลายตาราง ซึ่งเป็นศิลปะสกุลช่างพะเยาที่หาชมได้ยาก พระเมาลีเป็นเปลวรัศมีที่กว้างใหญ่ นั่งบนฐานราบ หรือฐานเขียง ปางมารวิชัย

พระธาตุเจดีย์องค์เล็ก

พระธาตุเจดีย์องค์เล็ก เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ในสมัยของครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ ซึ่งในการสร้างนั้น เป็น การสร้างเพื่อฉลองครบรอบปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ของพระพุทธศาสนาที่ผ่านมาถึง ๒,๕๐๐ ปีแล้ว โดยได้สร้างครอบพระพุทธรูปหินทรายองค์ใหญ่ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกขององค์ พระธาตุองค์ใหญ่

ลักษณะของพระธาตุเจดีย์องค์เล็ก เป็นศิลปะล้านนา มีความสูงประมาณ ๘ เมตร ประกอบไปด้วย ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความกว้างด้านละ ๓.๗๒ เมตร จำนวน ๓ ชั้น โดยชั้นที่สอง และ ชั้นที่สามมีความกว้างลดลั่นขึ้นไป ต่อด้วยตัวองค์พระธาตุเป็นลักษณะทรงสี่เหลี่ยมมีการย่อมุม ๑๒ มีฐานบัวคว่ำ ๑ ชั้น ข้อต่อ ๑ ชั้น สูงขึ้นเป็น เป็นองค์พระธาตุ ไม่มีลวดลาย มีความสูง ๒ เมตร ขึ้นไปเป็นข้อต่ออีก ๑ ชั้น ต่อด้วยฐานบัวหงาย ๑ ชั้น ถัดไปเป็นชั้นมาลัยเถา เป็นทรงกระบอก ๓ ชั้น แต่ละชั้นมีการประดับลวดลาย ดอกไม้ลายกนก โดยรอบ แต่ละชั้นบริเวณขอบของมาลัยเถา มีลายดอกไม้ดอกเล็กวางเรียงร้อยติดกันโดยรอบ ชั้นต่อมาเป็นส่วนของคอองค์พระธาตุเป็นทรงกระบอก มีลายดอกไม้ประดับโดยรอบคั้นกลางด้วยข้อต่อ ๑ ชั้น และมีฐานรองรับปล้องไฉน เป็นทรงกระบอกประดับลายไทย ๑ ชั้น และรูปกลีบดอกบัวหงาย ๑ ชั้น และต่อด้วยปล้องไฉนรูปทรงระฆังคว่ำ ประดับด้วยกระจกสีทอง ขึ้นเป็นชั้นบัลลังก์แก้ว ชั้นมาลัยแก้ว ยอดปลี และยอดฉัตร

พระวิหาร วัดลี พระวิหาร วัดลี ก่อน พ.ศ. ๒๔๖๕ ก่อนช่วงครูบาแก้ว คันธวังโส จะเข้ามาสร้างใหม่ สภาพเป็นเพียงเศษกองอิฐ เป็นลักษณะของพระวิหารที่ร้างผุพังทลาย เหลือแต่ฐานราบของพระวิหารที่ปูด้วยอิฐเรียงกัน ด้านทิศตะวันตกมีฐานพระและพระพุทธรูปหินทรายประดิษฐานอยู่เพียง ๑ องค์เท่านั้น ที่เห็นนั้นเป็นเพียงซากวิหารเก่า แต่ยังมีวิหารที่สร้างแบบเรียบง่ายอยู่ทางทิศเหนือของซากพระวิหารเก่า ไปทางด้านทิศตะวันตก อยู่ติดกับพระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ อีก ๑ หลัง ซึ่งมีสภาพในตอนนั้นเป็นพระวิหารที่สร้างขึ้นชั่วคราว มีลักษณะเป็นศาลามุงด้วยหญ้าคา ภายในมีพระพุทธรูปหินทรายองค์ใหญ่ ประดิษฐานบนบัลลังก์แก้ว ก่อด้วยอิฐ (ในช่วงของครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ ได้สร้างพระเจดีย์องค์เล็กครอบเอาไว้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐) เสาวิหารทำด้วยไม้ ตัวอาคารเปิดโล่ง ไม่มีกำแพง ฝาผนัง ด้านล่างเป็นพื้นก่อด้วยอิฐเรียงกัน มีแผ่นหิน วางกระจาดกระจาย มีต้นไม้ขึ้นรกมากรอบพระวิหาร

เมี่อครูบาแก้ว คันธวังโส ได้ย้ายเข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดลีและเป็นผู้ริเริ่มบูรณะวัดลี ท่านได้ทำการบูรณะองค์พระธาตุเจดีย์ก่อน เพราะเกรงว่าจะพังลงมามากกว่านี้ ในการก่อสร้างบูรณะพระธาตุนั้น ท่านครูบาแก้ว คันธวังโส เห็นว่าครั้นจะสร้างจะต้องใช้เงินจำนวนมาก ต้องเตรียมอิฐ ปูน ให้พร้อมก็จะใช้เวลานาน ประจวบกับท่านครูบาศรีวิชัยได้เดินทางมาสร้างวิหารวัดพระเจ้าตนหลวง ท่านจึงได้ปรึกษากับคณะศรัทธา เพื่อไปขอท่านครูบาศรีวิชัยมาเป็นประธานในการสร้าง ท่านครูบาศรีวิชัยจึงให้ครูบาแก้ว คันธวังโสเป็นผู้จัดการ โดยได้มอบเงินมาจำนวนหนึ่ง และช่างมาช่วยสร้าง การก่อสร้างดำเนินไปประมาณ ๑ ปีเศษ รวมทั้งการหาอิฐ การปั้นอิฐดินกี่ เสร็จสิ้นเป็นองค์พระธาตุ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ จึงได้ฉลอมสมโภช จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๘๐ หลังจากที่ได้สร้างพระธาตุเจดีย์เรียบร้อยแล้ว ท่านจึงปรึกษากับคณะศรัทธาเรื่องการสร้างพระวิหารต่อ เพราะวิหารเดิมเริ่มผุพัง ไม่มั่นคง และมีขนาดเล็ก และอีกอย่างหนึ่งพระวิหารตั้งอยู่ติดกับพระธาตุจนเกินไป จึงได้ปรึกษาที่จะสร้างใหม่ และย้ายลงมาที่ซากวิหารเก่า ส่วนพระวิหารหลังนั้นก็ให้รื้อถอนออกเสีย และใช้โบสถ์ที่อยู่ข้างทิศเหนือแทนไปก่อน เมื่อตกลงกันแล้วครูบาแก้ว คันธวังโสจึงได้แบ่งหน้าที่ เตรียมอิฐดินกี่ ปูน ให้พร้อม ซึ่งใช้เวลาหลายเดือน จนได้เวลาจึงเริ่มทำการหล่อเสาพระวิหารขึ้น ในช่วงกำลังพากันหล่อเสาพระวิหารนั้น ท่านครูบาแก้ว คันธวังโส ก็ได้ทราบข่าวจะจังหวัดลำพูน ว่า ท่านครูบาศรีวิชัยป่วยหนัก จึงพาพระ เณร และคณะศรัทธาไปเยี่ยมท่านครูบาศรีวิชัยที่จังหวัดลำพูน การก่อสร้างจึงหยุดชะงัก จนท่านครูบาศรีวิชัยมรณภาพ ในปี ๒๔๘๑ ครูบาแก้ว คันธวังโสจึงได้กลับมาสร้างพระวิหารจนแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ และได้รื้อโบสถ์เก่าที่อยู่ทางทิศเหนือออก (ลักษณะของพระวิหารในสมัยของครูบาแก้ว คันธวังโส โครงสร้างก่อด้วยไม้ มีเสาทำด้วยการหล่อปูน หลังคามุงด้วยไม้แผ่นเรียงเป็นเกร็ด หลังคาชั้นเดียว) และในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ นั้นครูบาแก้ว คันธวังโส ก็ได้สร้างพระอุโบสถใหม่ขึ้นอีกหลังหนึ่ง ก่อนที่ท่านจะย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเจ้าตนหลวง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ และให้ครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ มาเป็นเจ้าอาวาสแทน

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ช่วงครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ ในพระวิหารมีพระพุทธรูปหินทรายขนาดกลางอยู่ จำนวน ๒ – ๓ องค์ และฐานบัลลังก์แก้วก็ต่ำไม่สวยงาม ครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ จึงได้ทำการสร้างใหม่ โดยสร้างฐานบัลลังก์แก้วให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม และทำการปั้นพระพุทธรูปในพระวิหารเสียใหม่ ครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิได้พาช่างจากเมืองพาน ชื่อหนานแขก หรือ สล่าแขก มาสร้าง ได้สร้างฐานบัลลังก์แก้ว และพระพุทธรูปปูนปั้น ๓ องค์ องค์กลางองค์ประธานได้สร้างให้มีขนานใหญ่กว่าอีก ๒ องค์ที่อยู่ข้าง ๆ พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ได้ทาสีขาวทั้ง ๓ องค์ และมีเจ้าภาพได้มาทำการติดทอง คือ เจ้พงษ์ เป็นเจ้าภาพทาสีทองพระพุทธรูปองค์ซ้ายมือ แม่ปั้น สินพูนทรัพย์ ได้เป็นเจ้าภาพทาสีทองพระพุทธรูปองค์ขวามือ ทั้งสองได้เป็นเจ้าศรัทธาในการสร้างและทาสี ตลอดจนพระประธานองค์ใหญ่ก็ได้ทาสีขาวแทน ส่วนรูปภาพหลังพระพุทธรูปในวิหาร ครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิได้ช่างจากวัดพระเจ้าตนหลวง แต่ไม่มีข้อมูลว่าชื่ออะไร มาทำการเขียน ซึ่งเป็นภาพพระพุทธเจ้าชนะมาร เป็นภาพที่ทำการเขียนขึ้นหลังจากสร้างพระพุทธรูปในพระวิหารเสร็จแล้ว หลังจากนั้นก็มีได้เปลี่ยนหลังคาพระวิหาร ซึ่งมีการเปลี่ยนปรับปรุงซ่อมแซมถึงสองครั้ง คือ ครั้งแรกเปลี่ยนจากหลังคาจากไม้ เป็นกระเบื้องสีขาว และครั้งที่สอง เปลี่ยนจากกระเบื้องสีขาวเป็นกระเบื้องสีแดง ต่อจากนั้นพระวิหารหลวงก็ได้เสร็จสมบูรณ์และได้ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้

รูปแบบ และ ส่วนประกอบ ของศิลปกรรม พระวิหารหลวงวัดลี

พระวิหารหลวงวัดลี สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมล้านนา หลังคาสองชั้น ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ตัวอาคารมีความกว้างประมาณ ๑๓.๕๐ เมตร มีความยาว ๒๐ เมตร มีบันไดข้างทางทิศเหนือ กว้างประมาณ ๔ เมตร ยาวประมาณ ๓ เมตร บันไดหน้าทางทิศตะวันออก มีความกว้างประมาณ ๔.๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๒.๓๕ เมตร ชายคาวิหารมีตัวค้ำยันเป็นรูปพญานาค จำนวน ๒๐ อัน ข้างละ ๑๐ อัน ด้านข้างทางทิศใต้มีหน้าต่าง จำนวน ๘ ช่องหน้าต่าง หน้าต่างแต่ละบานทำจากไม้แกะสลักเป็นรูปลายไทย นับจากข้างหลังพระวิหารไปข้างหน้า หน้าต่างบานที่ ๑ แกะสลักเป็นรูปเทพพนม รอบล้อมด้วยลายเครือเถา หน้าต่างบานที่ ๒ แกะสลักเป็นรูปสิงห์ รอบล้อมด้วยลายเครือเถา หน้าต่างบานที่ ๓ แกะสลักเป็นรูปนกกินรี หน้าต่างบานที่ ๔ แกะสลักเป็นรูปหนุมาน หน้าต่างบานที่ ๕ แกะสลักเป็นรูปพญานาค หน้าต่างบานที่ ๖ แกะสลักเป็นรูปเทวดา หน้าต่างบานที่ ๗ แกะสลักเป็นรูปลายเครือเถา หน้าต่างบานที่ ๘ แกะสลักเป็นรูปเทพพนมอีกแบบหนึ่ง หน้าต่างข้างทางทิศเหนือมีหน้าต่าง จำนวน ๗ ช่องหน้าต่าง หน้าต่างแต่ละบานทำจากไม้แกะสลักเป็นรูปลายไทยเหมือนหน้าต่างข้างทางทิศใต้ แต่มีเว้นช่อง ๑ ช่องนับจากทางข้างหลังพระวิหารไปข้างหน้า ช่องที่ ๓ สำหรับทำประตูทางขึ้น ส่วนด้านนอกของขอบหน้าต่างทุกบานทำเป็นลายปูนปั้นเป็นรูปซุ้มจาระนำยอดใบ เสมาประดับกระจกสีน้ำเงิน และสีเขียว ทางด้านหลังพระวิหาร มีลายปูนปั้นลายเครือเถาสีเหลือง มีรูปเทพพนมอยู่ตรงกลาง ตัวองค์เทพพนมทาสีขาว พื้นหลังทาสีแดง พระวิหารหลวงวัดลี สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมล้านนา หลังคาสองชั้น ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ตัวอาคารมีความกว้างประมาณ ๑๓.๕๐ เมตร มีความยาว ๒๐ เมตร มีบันไดข้างทางทิศเหนือ กว้างประมาณ ๔ เมตร ยาวประมาณ ๓ เมตร บันไดหน้าทางทิศตะวันออก มีความกว้างประมาณ ๔.๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๒.๓๕ เมตร ชายคาวิหารมีตัวค้ำยันเป็นรูปพญานาค จำนวน ๒๐ อัน ข้างละ ๑๐ อัน ด้านข้างทางทิศใต้มีหน้าต่าง จำนวน ๘ ช่องหน้าต่าง หน้าต่างแต่ละบานทำจากไม้แกะสลักเป็นรูปลายไทย นับจากข้างหลังพระวิหารไปข้างหน้า หน้าต่างบานที่ ๑ แกะสลักเป็นรูปเทพพนม รอบล้อมด้วยลายเครือเถา หน้าต่างบานที่ ๒ แกะสลักเป็นรูปสิงห์ รอบล้อมด้วยลายเครือเถา หน้าต่างบานที่ ๓ แกะสลักเป็นรูปนกกินรี หน้าต่างบานที่ ๔ แกะสลักเป็นรูปหนุมาน หน้าต่างบานที่ ๕ แกะสลักเป็นรูปพญานาค หน้าต่างบานที่ ๖ แกะสลักเป็นรูปเทวดา หน้าต่างบานที่ ๗ แกะสลักเป็นรูปลายเครือเถา หน้าต่างบานที่ ๘ แกะสลักเป็นรูปเทพพนมอีกแบบหนึ่ง หน้าต่างข้างทางทิศเหนือมีหน้าต่าง จำนวน ๗ ช่องหน้าต่าง หน้าต่างแต่ละบานทำจากไม้แกะสลักเป็นรูปลายไทยเหมือนหน้าต่างข้างทางทิศใต้ แต่มีเว้นช่อง ๑ ช่องนับจากทางข้างหลังพระวิหารไปข้างหน้า ช่องที่ ๓ สำหรับทำประตูทางขึ้น ส่วนด้านนอกของขอบหน้าต่างทุกบานทำเป็นลายปูนปั้นเป็นรูปซุ้มจาระนำยอดใบ เสมาประดับกระจกสีน้ำเงิน และสีเขียว ทางด้านหลังพระวิหาร มีลายปูนปั้นลายเครือเถาสีเหลือง มีรูปเทพพนมอยู่ตรงกลาง ตัวองค์เทพพนมทาสีขาว พื้นหลังทาสีแดง

พระอุโบสถ หมายถึง สถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์มาร่วมประชุมทำสังฆกรรม

สังฆกรรม หมายถึง กิจที่พระสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปรวมกันทำภายในเขตอุโบสถ

เขตพัทธสีมา หมายถึง เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้น มีสิ่งแสดงไว้เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าเป็นเขตของสงฆ์

เสมา หมายถึง เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์ สำหรับทำสังฆกรรม หรือที่เรียงกันอยู่บนกำแพงเมือง ทำเป็นรูปคล้ายเจว็ดพระภูมิ ใบเสมา ก็เรียก

(พจนานุกรมนักเรียนฉบับปรับปรุง พ.ศ.๒๕๓๕) ตามประวัติจากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก พย.๒๗ ได้กล่าวถึง การสร้างวัดลี เมื่อปีจุลศักราช ๘๕๗ หรือปี พ.ศ.๒๐๓๘ ตรงกับสมัยของ พระเจ้ายอดเชียงราย กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา (เชียงใหม่) พระเจ้ายอดเชียงรายได้มีพระราชโองการให้เจ้าหมื่นหน่อเทพครู ผู้เป็นพ่อครูหรือพระราชครูของพระเจ้ายอดเชียงราย ขณะนั้นมากินตำแหน่งเป็น “ เจ้าสี่หมื่นพะเยา” ฐานะเป็นเจ้าผู้ครองเมือง ได้มาสร้างวัดลีเพื่อเป็นการถวายส่วนบุญ ส่วนกุศลแด่พระเจ้ายอดเชียงราย กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ เจ้าสี่หมื่นพะเยาได้มากระทำฝังหินกำหนดเขตวัดและผูกพัทธสีมาเป็นอุโบสถไว้ กับวัดลี เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (ประมาณปลายเดือน พ.ค. หรือต้นเดือน มิ.ย.) ปี พ.ศ. ๒๐๓๘ และเจ้าสี่หมื่นพะเยาได้อาราธนาพระมหาสามีญาณเทพ จากวัดมหาพน มาเป็นประธานในพิธี

ลำดับ ปี พุทธศักราชที่เกี่ยวของกับวัดลี

ปี พ.ศ. ๒๐๓๘ หลักฐานจากศิลาจารึกเกี่ยวกับการสร้างวัดลี

ปี พ.ศ. ๒๑๐๑ ถึง ๒๓๑๗ รวม ๒๑๖ ปี เกิดสงครามพม่า กับ กรุงศรีอยุธยา

ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ – ๒๔๘๔ ช่วงครูบาแก้ว คันธวังโส และครูบาศรีวิชัย บูรณะพระธาตุวัดลี

ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หลักฐานจากศิลาจารึกสร้างใหม่ ตอนสร้างอุโบสถ

พระอุโบสถวัดลี นับตั้งแต่มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกเมื่อ ปี พ.ศ.๒๐๓๘ แล้วนั้น นับว่ามีอายุ ๕๑๕ ปี (ในปี พ.ศ.๒๕๕๓) ต่อมาหลังจากนั้นก็ได้ผ่านการเป็นวัดร้าง และผ่านศึกสงครามจากพม่า มาหลายร้อยปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๑๐๑ – พ.ศ. ๒๓๑๗ รวม เป็นเวลา ๒๑๖ ปี ตลอดจนผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่มีกองทัพทหารญี่ปุ่นเข้ามาในราชอาณาไทย และตามหัวเมืองฝ่ายเหนือของล้านนา ถือว่าได้ผ่านการถูกทำลาย การขุดค้นของมีค่าต่าง ๆ จากสภาวะสงคราม จากผู้คนต่างถิ่น ตลอดจนจากผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ยังคงความเป็นวัดที่เก่าแก่ โบราณวัดหนึ่งในเมืองพะเยา ซึ่งต่างจากวัดอื่น ๆ ที่มีการถูกทำลาย การขุดค้น จนไม่เหลือสภาพการเป็นวัด หรือเป็นวัดร้างที่มีสภาพจนไม่สามารถจะบูรณะขึ้นใหม่ได้ นับว่าวัดลี และพระอุโบสถวัดลี สามารถผ่านช่วงระยะเวลาอันเลวร้ายต่าง ๆ มาได้ถึงแม้นว่าจะมีบ้างส่วนชำรุดเสียไปบ้าง แต่ก็สามารถแสดงให้เห็นถึงการเป็นวัดที่เก่าแก่ และเป็นวัดที่มีความสำคัญในอดีต ซึ่งถึงว่าเป็นวัดใหญ่ในเขตหัวเวียงน้ำเต้า และเป็นวัดศิลปะล้านนาวัดเดียวที่เหลืออยู่ในเขตตัวเมืองเก่า “ เวียงน้ำเต้า”

พระอุโบสถวัดลี แต่เดิมเป็นเพียงอาคารที่ก่อสร้างด้วยการยกฐานโดยก้อนอิฐโบราณ วางเรียงกันเป็นพื้นสูง 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๐ เมตร กว้างประมาณ ๗ เมตร ผนังอุโบสถก่อด้วยอิฐเพียงครึ่งเดียว ด้านบนเป็นหลังคาทำด้วยไม้ ทำเป็นแผ่นเกร็ดนาค ไม่มีเพดาน หลังคาประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ที่ทำจากไม้แกะสลักเป็นรูปพญานาค เหมือนวัดทั่วไป โดยใช้วิธีการแกะสลัก แบบเรียบง่าย จากช่างฝีมือ ภายในพื้นที่ เป็นแบบศิลปะล้านนาโบราณ มีเชิงบันไดทำด้วยก้อนอิฐวางเรียงกันเป็นขั้น ๆ และมีจำหลักหินทราย วางเรียงเป็นจุดโดยรอบ เพื่อทำให้ทราบว่าเป็นเขตพระอุโบสถ ภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปหินทราย องค์ประธานองค์ใหญ่ ๑ องค์ และมีพระพุทธรูปหินทรายองค์เล็ก ๆ วางเรียงซ้อนกัน ประมาณ ๔ – ๕ องค์ ซึ่งพระอุโบสถเดิมนั้นอยู่ในสภาพเหมือน ศาลา โบสถ์ วิหาร ตามวัดรางโดยทั่วไป มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ขาดการดูแล และบูรณะ บริเวณรอบ ๆ เป็นป่า มีต้นไม้ ต้นหญ้า ขึ้นรกมาก เพราะได้ผ่านกาลเวลามายาวนาน จนมาถึงในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ในสมัยครูบาแก้ว คันธวังโส ได้ทำการชักชวนคณะศรัทธามาช่วยกันแผ่วถางต้นไม้และต้นหญ้า ปรับแต่งบริเวณรอบ ๆ ให้สามารถเข้าไปใช้ได้ ปรับปรุงซ่อมแซมหลังคา ผนังโบสถ์ จนในเวลาต่อมาได้รวมกับคณะศรัทธาปรึกษากันเพื่อทำการบูรณะขึ้นใหม่ เพราะหากไม่ทำการบูรณะสร้างใหม่ พระอุโบสถที่มีสภาพเก่าแก่ก็อาจจะพังลงมาได้ จนได้เวลาจึงทำการบูรณะครั้งใหญ่ มีการสร้างพระอุโบสถใหม่ กำแพงแก้วใหม่ โดยมีศรัทธาแม่ยายหนิ้ว ฮั่นตระกลู เป็นประธาน พร้อมครอบครัว และคณะศรัทธาวัดลี รวมถึงคณะศรัทธาจากที่ต่าง ๆ มาร่วมใจสมทบทุนสร้างพระอุโบสถ การก่อสร้างเริ่มแบบคอยเป็นคอยไป จนสร้างเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๘๑

ลักษณะของหลักศิลาจารึก

เป็นหลักศิลาจารึกที่ก่อด้วยปูนซีเมนต์ ยอดใบเสมาหรือยอดแหลม ตกแต่งขอบด้วยลายครีบปลา มีความสูง ๗๖ เซนติเมตร กว้าง ๒๐ เซนติเมตร จารึกด้วยตัวอักษรธรรมล้านนา ด้านบนระหว่างกลางยอด มีการเขียนลายดอกไม้ล้านนา เป็นลักษณะการเขียนลายชนิดหนึ่งของคนล้านนา ส่วนมากจะนิยมเขียนในใบลาน หรือพับสา คัมภีร์ เพื่อเป็นการเริ่มต้น หรือ สิ้นสุดเนื้อหาที่เขียนไว้นั้น บ้างครั้งอาจมีลักษณะคล้าย รูปเสือ รูปสิงห์ รูปเปลือกหอย รูปตัวหนู หรือรูปกระแต รูปแมงป่อง แล้วแต่จิตนาการของผู้เขียน ส่วนในศิลาจารึกนี้เป็นลาย มังกร

หลักฐานจากศิลาจารึก : จารึกได้กล่าวไว้ว่า “ พุทธศักราช ๒๔๘๑ จุลศักราช ๑๓๐๐ ตัว ปีเปิกยี่ (ปีขาล) เดือน ๘ เหนือ ขึ้น ๘ ค่ำ พร่ำว่าได้ วันเสาร์ สมณะศรัทธา หมายมี สวาธุเจ้า (พระมหาเถระ) คันธวังแก้ว เป็นเคล้า (เป็นประธาน) พร้อมด้วย สิกโยม (ลูกศิษย์ (พระลูกศิษย์) และ โยม (อุบาสก อุบาสิกา)) จุตนจุองค์ (ทุกตนทุกพระองค์) ภายนอก บถมมูลศรัทธา นาย จินต้น เป็นเคล้า (เป็นประธาน) พร้อมด้วย ภริยา นางหนิ้ว และบุตรา บุตรี และ พ่อแม่พี่น้อง และ ศรัทธาอุบถมัคคะ (อุปถัมภ์ และ มัคนายก) จุผู้จุคน (ทุกผู้ทุกคน) ก็ได้สร้าง อุโบสถหลังนี้ ถวายเป็นทานเถิง (ถึง) แก่พระแก้วเจ้า ๓ ประการ ทานฝากฝังไว้ภายหน้า คือ เมืองฟ้า และนิพพานัง สาธุ สุทินนัง วัตตะ เม ทานัง นิพพานะ สัมปะติ สุขา วะ หัง โหนตุ เม นิจจัง. ด้านล่างมีตัวอักษรว่า เสี้ยง (สร้างด้วยเงินบริจาค) เงิน ๕๐๐ บาท และมีการเขียนลายดอกไม้ล้านนา อีกหนึ่งลาย ไว้ตรงกลางด้านล่างของศิลาจารึก” พระอุโบสถ เป็นพระอุโบสถศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา พระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีความยาว ๑๐.๕๐ เมตร กว้าง ๗.๑๒ เมตร เชิงบันได ยาว ๑.๙๒ เมตร มีฐานสูง ๑.๒๕ เมตร ตัวพระอุโบสถ ประกอบด้วย ช่องหน้าต่าง ๖ ช่อง ข้างละ ๓ ช่อง บานหน้าต่างแต่ละบาน เป็นไม้แกะสลักลายไทย เป็นรูปเถาวัลย์รูปแบบ ต่าง ๆ ส่วนขอบหน้าต่างด้านนอก เป็นรูปลายปูนปั้น ประดับซุ้มจาระนำใบเสมา ด้านหน้ามีระเบียบ มีประตูทางเข้าพระอุโบสถ ๑ ประตู อยู่ตรงกลาง บานประตูเป็นไม้แกะสลักลายไทย เป็นรูปเถาวัลย์ขอบประตูด้านนอก เป็นรูปลายปูนปั้นประดับซุ้มจาระนำเป็นรูปเจดีย์ยอดแหลม หลังคาสามชั้น มีหน้ามุกยื่นออกมา ด้านหน้า มีหลังคาสามชั้น ส่วนหน้าบัน เป็นศิลปะการแกะสลักไม้ เป็นรูปเครือเถา ตรงกลางเป็นรูปเสมาธรรมจักร ส่วนด้านล้างของหน้าบัน แกะสลักเป็นรูปเครือเถา มีรูปเทพพนมอยู่ตรงกลาง ส่วนปีกซ้ายขวา แกะสลักเป็นรูปพญานาค คดลายเครือเถา ส่วนภายใน ด้านบนมี เพดาน ทำด้วยไม้แผ่นทาสีแดง ผนังทาสีขาว ตรงกลางมีพระพุทธรูปหินทราย ปางมารวิชัย ขนาดกลาง ๑ องค์ ตัวองค์พระทาสีทอง พระเกศาทาสีดำ และพระพุทธรูปหินทราย และพระพุทธรูปไม้องค์เล็กๆวางเรียงซ้อนกัน ประมาณ ๑๐ องค์ (บางส่วนถูกนำมาเก็บรักษาไว้ใน พิพิธภัณฑ์เวียง พยาว (วัดลี)) นั่งบนบัลลังก์แท่นแก้ว ทำด้วยลายปูนปั้นประดับแก้วสีต่างๆ มีกลีบดอกบัวประดับเป็นชั้น ๆ มีลายผ้าพาดตรงข้างหน้ายาวลงถึงฐานแท่นแก้ว มีตัวหนังสือประดับแก้ว ติดไว้ในส่วนของฐานแท่นแก้วล่างสุดมีข้อความว่า “ ส.ง.๕๑๗ (เสี้ยงเงิน ๕๑๗ บาท) โบสถ์หลังนี้ ศรัทธาแม่หนิ้ว พร้อมกับลูกเต้าถวาย ส.ง.๕๑๙ (เสี้ยงเงิน ๕๑๙ บาท)”

ด้านนอก ประกอบด้วย กำแพงแก้ว ส่วนประกอบของกำแพงแก้ว สร้างด้วย เสาสูง ๑.๒๕ เมตร ระหว่างเสาห่าง ๒ เมตร รวมทั้งหมด ๒๘ ต้น หัวเสาแต่ละต้นประดับด้วย ดอกบัวตูม ระหว่างเสาเป็นกำแพง มีลูกดิ่ง ๙ ลูก ด้านข้างมี ลูกดิ่ง ๑๐ ลูก กำแพงด้านหน้า เว้นช่วงไว้ ๑ ช่วงสำหรับทำประตูทางเข้า

เสาใบเสมา เสาใบเสมา ใบเสมาทำจากหินทรายแกะสลัก มีทั้งหมด ๗ ใบ แต่ละใบ มีความกว้าง ๔๙ เซนติเมตร ฐานสูง ๖๕ เซนติเมตร ใบเสมาสูง ๗๕ เซนติเมตร

เสาใบเสมา ใบที่ ๑ แกะสลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งบนดอกบัว มีฐานบัลลังก์แก้ว หรือแท่นแก้วรองรับ ในท่าปางมารวิชัย ภายในฐานบัลลังก์แก้วมี ตัวอักษรมคธ (ภาษาอินเดีย) เขียนไว้ ด้านบนเป็นซุ้มแก้ว ครอบองค์พระพุทธเจ้า ด้านข้างของฐานบัลลังก์แก้ว มีรูปพระสาวกนั่งคุกเข่าพนมมืออยู่ ๒ รูป ซ้าย ขวา เหนือพระสาวกรูปซ้ายมือของพระพุทธเจ้า มีรูปบาตรพระมีฝาปิดพร้อมฐานรองก้นบาตร ๑ ใบ รูปกรวยกรองน้ำ ๑ อัน รูปตาลปัตรรูปพัด ๑ อัน ด้านบนเป็นรูปพระจันทร์ ทางด้านขวามือของพระพุทธเจ้า เหนือพระสาวกรูปขวา มีรูปบาตรพระมีฝาปิดพร้อมฐานรองก้นบาตร ๑ ใบ เหนือขึ้นไปเป็นรูปตุง หรือ ธง ประดับบนเสาพร้อม ถัดขึ้นไปเป็นรูปเส้นลูกประคำ หรือลูกนับ ด้านบนเป็นรูปพระอาทิตย์ (สันนิษฐานว่าเป็นรูปภาพเกี่ยวกับการทำพิธีขอบวช มีเครื่องอัฐบริขารประกอบ หรือการแสดงพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า แก่พระสาวก ในเรื่องการบวชอุปสมบถ และสิ่งจำเป็นในการบวชอุปสมบถเป็นพระภิกษุสงฆ์)

เสาใบเสมา ใบที่ ๒ แกะสลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าทรงประทับยืนบนดอกบัว อยู่เหนือนก หรือครุฑ มีปีกสองข้าง พระพุทธเจ้าทรงยกพระหัตถ์ขึ้น เหนือพระอุระ และหัน ฝ่าพระหัตถ์ออกทั้งสองข้าง ด้านซ้ายมือของพระพุทธเจ้า มีรูปเทวดาอยู่ ๑ องค์ยืนอยู่บนก้อนเมฆ มือถือฉัตร กั้นเหนือพระเศียร ของพระพุทธเจ้า ด้านขวามือของพระพุทธเจ้า มีรูปเทวดาอยู่ ๑ องค์ยืนอยู่บนก้อนเมฆ มือขวาถือพู่ มือซ้ายถือคนโท (สันนิษฐานว่าเป็นรูปภาพเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปแสดงพระธรรมเทศนาบน สรวงสวรรค์ชั้นต่าง ๆ โดยมีเหล่าเทวดาให้การต้อนรับ)

เสาใบเสมา ใบที่ ๓ แกะสลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งบนฐานดอกบัว ในท่าปางมารวิชัย มีฐานบัลลังก์แก้ว หรือแท่นแก้ว รองรับ ด้านล่างฐานบัลลังก์แก้ว มีรูปอุบาสก อุบาสิกา ๔ คน อยู่ข้างละ ๒ คน นั่งคุกเข่าพนมมือไหว้ในมือถือเครื่องบูชา (ดอกไม้ ธูปเทียน) ตรงกลางมีพานรองรับเครื่องบูชา (ขันแก้ว) ด้านบนข้างซ้ายของพระพุทธเจ้า มีรูปเทวดา ๒ องค์ องค์ล่างทำท่าพนมมือในมือถือเครื่องบูชา (ดอกไม้ ธูปเทียน) องค์บนถือฉัตร กั้นเหนือพระเศียร ของพระพุทธเจ้า ด้านขวามือของพระพุทธเจ้า มีรูปมานพหนุ่ม ๑ คน บนศีรษะมีหัวพญานาค (สันนิษฐานว่าเป็นรูปพญานาคแปลงกายมาเฝ้าสักการะพระพุทธเจ้า) ด้านบนเป็นรูปพระเจดีย์ ๑ องค์ (สันนิษฐานว่าเป็นรูป พระพุทธเจ้าเป็นที่สักการะแก่เหล่ามนุษย์ เทวดา และสัตว์ ผู้มีธรรมะทั้งหลาย)

เสาใบเสมา ใบที่ ๔ แกะสลักเป็นรูปบุคคล นั่งคุกเข่า ในมือถือดอกบัว พนมมือไหว้ ด้านบนมีรูปพระเจดีย์ ๑ องค์ ด้านล่างจารึกอักษรฝักขามล้านนาไทย มีข้อความว่า “ กิตติมาณว กิตติปัพพการาม หริภุญไชยนคร (สันนิษฐานว่า เป็นบุคคลที่เป็นเจ้าภาพ หรือผู้อุปถัมภ์ในการสร้างเสาใบเสมา ถวายไว้กับพระอุโบสถหลังนี้)

เสาใบเสมา ใบที่ ๕ แกะสลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าทรงประทับยืน (ปางลีลา) บนฐานดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นอยู่ระดับพระอุระ พระหัตถ์ขวาทอดวางข้างลำตัว พระหัตถ์จับหัวพญานาค ส่วนรูปของตัวพญานาคนั้น คดลำตัวเป็นวงกลมซ้อนกันขึ้น ชูหัวขึ้น และในปากคาบดอกบัวตูม ๑ ดอก ส่วนทางด้านซ้ายของพระพุทธเจ้ามีรูปพระสาวก ๑ รูปสะพายบาตร (พระบวชอุปสมบถใหม่) ยืนหันหน้าไปทางพระพุทธเจ้า แล้วพนมมือไหว้ ด้านบนซ้ายของพระพุทธเจ้า มีรูปเทวดาลอยมา ๑ องค์ ในมือถือฉัตรกั้นบนพระเศียรของพระพุทธเจ้า ด้านบนขวาของพระพุทธเจ้า มีรูป ดอกไม้ และ รูปพระเจดีย์ ๑ องค์ (สันนิษฐานว่าเป็นรูปตอนที่พญานาคมาขอพระพุทธเจ้าเพื่อขอบวชอุปสมบถ แต่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ดังนั้นพญานาคจึงขอใช้นามของตน ว่า “ พระนาค” แก่บุรุษผู้ที่จะบวชอุปสมบถแทน พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาต)

เสาใบเสมา ใบที่ ๖ แกะสลักเป็น รูปพระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งบนฐานดอกบัว รองรับด้วยบัลลังก์แก้ว หรือแท่นแก้ว เป็นรูปดอกบัวคว่ำ ดอกบัวหงาย อยู่ในท่าปางมารวิชัย มีกรอบซุ้มแก้วครอบ ด้านล่างข้างบัลลังก์แก้ว มีรูปแจกันพร้อมดอกบัวอยู่ทั้ง ๒ ข้าง ด้านบนตรงกลางเป็นรูปต้นศรีมหาโพธิ์ ด้านซ้ายมีรูปพระจันทร์ ด้านขวามีรูปพระอาทิตย์ (สันนิษฐานว่าเป็นรูป การสืบทอดพระพุทธศาสนา ให้มั่นคงอยู่ทุกทีวา ราตรี ด้วยพระธรรมของพระพุทธเจ้า)

เสาใบเสมา ใบที่ ๗ แกะสลักเป็นรูปพระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งบนฐานดอกบัว อยู่ในท่าปางมารวิชัย มีกรอบซุ้มแก้วครอบ ด้านหลังเป็นรูปต้นศรีมหาโพธิ์ (ปางตรัสรู้ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์)

พระวิหารพระนอน

พระวิหารพระนอน เป็นศิลปะทรงไทยล้านนา ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีหน้ามุกยื่นมาทางด้านหน้า หลังมุงกระเบื้องสีแดง หน้าบันประดับลายปูนปั้นลายพญานาคในลายกนกเครือเถา บริเวณรอบ ๆ ประดับกระจกสีน้ำเงิน ตรงกลางมีรูปใบเสมา พื้นสีแดง ด้านในใบเสมา มีลายกนกรูปเปลวเพลิง ๑ เปลว ด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นอยู่ตรงกลาง มีต้นเสาสองข้างประดับลายปูนปั้นรูปเครือเถา ดอกไม้ โดยรอบ มีตัวค้ำยันเป็นรูปหงส์ ส่วนหัวเสาราวบันไดมีรูปเทวดานั่งท่าพนมมือประจำอยู่ที่หัวเสา หน้าต่างมีสองบาน ด้านซ้าย ๑ บาน ด้านขวา ๑ บาน ขอบหน้าต่างประดับลายปูนปั้นเป็นรูปซุ้มจาระนำรูปใบเสมาประดับกระจกสี น้ำเงิน ตรงกลางซุ้มมีลายดอกไม้ปูนปั้นประดับอยู่ บานหน้าต่างทำจากไม้แกะสลัก เป็นรูปพระเวสสันดรชาดก

ประตูทางเข้า ขอบประตูประดับด้วยลายปูนปั้นเป็นรูป ซุ้มจาระนำยอดเจดีย์ ตกแต่งด้วยกระจกสีเขียว บานประตูเป็นไม้แกะสลัก เป็นรูปพระเวสสันดรชาดก

บานประตูทางซ้ายแกะสลักเป็นรูปพระเวสสันดรชาดก ในกัณฑ์ที่แปด กัณฑ์กุมาร กล่าวถึง ครั้นพราหมณ์ชูชกเข้ามาขอเจ้ากัณหา และเจ้าชาลี กับพระเวสสันดร เจ้าชาลีผู้พี่ได้ยินเสียงตรัสของพระเวสสันดร ผู้เป็นบิดา กับพราหมณ์ชูชก ว่าจะมอบ เจ้ากัณหา กับ เจ้าชาลีให้เป็นทาน เจ้าชาลีจึงพาน้องกัณหามาหลบซ่อนในบึง พระเวสสันดรจึงค้นหา และได้มาเจอที่บึง และนำตัวไปให้พราหมณ์ชูชก

บานประตูทางด้านขวาแกะสลักเป็นรูปพระเวสสันดรชาดก ในกัณฑ์ที่สี่ กัณฑ์วนปเวศน์ กล่างถึงครั้นพระเวสสันดรทรงสละราชสมบัติ ถวายของที่มีอยู่เป็นทานจนหมด พระบิดาทรงกริ้วจึงทรงขับไล่ให้ไปอยู่ป่า พระเวสสันดรจึงพาพระนางมัทรีและเจ้าชาลี เจ้ากัณหา เดินทางไปยังป่าหิมพานต์

หน้าต่างทางด้านทิศใต้ บานหน้าต่างทางด้านซ้ายแกะสลักเป็นรูปพระเวสสันดรชาดก ในกัณฑ์ที่หก กัณฑ์จุลพน กล่าวถึง พราหมณ์ชูชก เดินทางเข้าป่าจนมาถึง เขตที่อยู่ของพรานเจนตบุตร และถูกสุนัขของพรานเจตตบุตรไล่ พราหมณ์ชูชกจึงวิ่งขึ้นไปหลบอยู่บนต้นไม้

หน้าต่างทางด้านทิศใต้ บานหน้าต่างทางด้านขวาแกะสลักเป็นรูปพระเวสสันดรชาดก ในกัณฑ์ที่เจ็ด กัณฑ์มหาพน กล่าวถึง ฤาษีบอกทางไปหาที่อยู่ของพระเวสสันดร แก่พราหมณ์ชูชก

หน้าต่างทางด้านทิศเหนือ บานหน้าต่างทางด้านซ้ายแกะสลักเป็นรูปพระเวสสันดรชาดก ในกัณฑ์ที่ห้า กัณฑ์ชูชก กล่าวถึง พราหมณ์ชูชก ได้นางอมิตตาเป็นภรรยา ครั้นแล้วนางอมิตตาก็ได้สั่งให้พราหมณ์ชูชกไปขอเจ้ากัณหา และเจ้าชาลี กับพระเวสสันดรในป่าหิมพานต์ หน้าต่างทางด้านทิศเหนือ บานหน้าต่างทางด้านขวาแกะสลักเป็นรูปพระเวสสันดรชาดก ในกัณฑ์ที่เก้า กัณฑ์มัทรี กล่าวถึง ตอนที่พระนางมัทรีเข้าป่าไปหาผลไม้ ตอนกลับ ได้เจอกับพญาราชสีห์ เสือ นอนขวางทางอยู่

ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ หรือ พระพุทธรูปนอน คติการสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์นั้น ก็ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้รำลึกถึงการเสด็จปรินิพพานขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นอนุสติเตือนใจให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท สังขารทั้งหลายเป็นสิ่งไม่เที่ยง แม้กระทั่งพระพุทธองค์ก็ยังเลี่ยงไม่พ้น ส่วนที่ว่าทำไมพระพุทธไสยาสน์จึงเป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวัน อังคาร ก็เพราะตามพุทธประวัติกล่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับสีหไสยาสน์ เสด็จดับขันธปรินิพพานในวันอังคาร จึงถือเอาพระพุทธไสยาสน์เป็นพระประจำวันอังคาร อีกทั้งในความคุ้นเคยของผู้คนเมื่อได้เห็นพระพุทธไสยาสน์ มักจะเข้าใจว่าเป็นปางปรินิพพานเสียทั้งหมด แต่แท้จริงแล้ว ตามพุทธประวัติมีพระพุทธไสยาสน์ทั้งหมด ๙ ปาง เฉพาะในประเทศไทยนั้นนิยมสร้างปางโปรดอสุรินทราหูและปางเสด็จดับ ขันธ ปรินิพพาน ส่วนปางอื่นๆ นั้นมักปรากฏเป็นเพียงภาพวาด ด้วยเหตุนี้พระพุทธไสยาสน์ จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยให้นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจ ที่ต้องการเสริมสร้างความเจริญทางจิตใจ และความเป็นมงคลให้กับชีวิต ได้เรียนรู้และมีความเข้าใจในพุทธประวัติ ซึ่งพระพุทธไสยาสน์ แต่ละองค์ในแต่ละวัดล้วนแล้วแต่มีความสำคัญและน่าสนใจที่แตกต่างกัน ทั้งประวัติความเป็นมา และลักษณะทางพุทธศิลป์ที่งดงามเป็นเอกลักษณ์

พระพุทธรูปปางไสยาสน์วัดลี ก่อสร้าง โดยองค์พระเป็นปูนขาวทั้งองค์ หันพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก พระเศียรสู่ทิศใต้อันเป็นทิศหัวนอน พระบาทสู่ทิศเหนือเป็นปลายตีน ประทับนอนแบบสีหไสยาสน์ พระกัจฉาทับพระเขนยและพระหัตถ์ยกขึ้นประคองพระเศียร ซึ่งตรงตามตำราสีหไสยา เชื่อกันว่าพระพุทธไสยาสนี้เป็นปางโปรดอสุรินทราห์

<<<กลับสู่ด้านบน>>>