สถาปัตยกรรมดีเด่น

วัดศรีโคมคำ

วัดศรีโคมคำตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา ถนนพหลโยธิน ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ ๑ กิโลเมตร ด้านทิศใต้และทิศตะวันตกติดกับกว๊านพะเยา โดยมีการเริ่มก่อสร้างองค์พระประธาน (พระ-เจ้าตนหลวง) เมื่อจุลศักราช ๘๕๓ พุทธศักราช ๒๐๓๔ วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (แปดเหนือ) สมัยพญายี่ครองเมืองพะเยา สำเร็จบริบูรณ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๐๖๗ ในกาลต่อมาได้ถูกข้าศึกพม่ารุกรานมากขึ้นจนต้องอพยพหนีภัยโดยทิ้งเมืองพะเยาให้เป็นเมืองร้างไปนานประมาณ ๕๖ ปี

ถึงปีพุทธศักราช ๒๓๘๔ ก็โปรดเกล้าให้นายพุทธวงศ์มาเป็นเจ้าเมืองครองพะเยา เป็นพระยาประเทศอุดรทิศ ต่อมาเจ้าน้อยมหายศก็ได้เป็นเจ้าครองพะเยา จึงได้มีการบูรณะองค์พระประธาน เริ่มก่อสร้างวิหารและเสนาสนะขึ้น ต่อมาพระวิหารหลังเดิมทรุดโทรม พระยาประเทศอุดร (มหาไชยศีติสาร) จึงคิดที่จะบูรณะโดยอาราธนาครูวิชัยมาเป็นประธานในการรื้อสร้างใหม่ ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ล้านนาเปลี่ยนการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล พะเยาอยู่ในมณฑลพายัพโดยมี นายคลาย บุษยบรรณ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยา ครูบาศรีวิชัย ได้เดินทางมาสร้างพระวิหารเมื่อวันที่

๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ โดยในวันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ ได้รื้อวิหารลงมา ในวันที่ ๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ได้วางศิลาฤกษ์ เสาพระวิหาร และได้ก่อสร้างเสร็จภายในปีเดียว

พระวิหารเป็นหลังใหม่มีการขุดรากฝาผนัง และกำแพงล้อมรอบมีศาลาบาตร (ศาลาราย) รอบกำแพงวัด มีพระอุโบสถ และพระวิหารที่ครอบรอยพระพุทธบาทจำลอง เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความงดงามแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา

อนึ่งในวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๓ วัดศรีโคมคำได้พระราชทานยกฐานะให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี (สามัญ) เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๘ ได้มีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นโดยมีนายอังคาร กัลยาณพงศ์ และภาพตะวัน สุวรรณกูฏ เป็นผู้วาดภาพภายใน เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจึงขอพระราชทานวิสุงคามราชสีมาใหม่เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙ ต่อมากรมศิลปากรได้ทำเรื่องกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทรงตัดลูกนิต ในวันที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ นับเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ชาวพะเยา

วิหารวัดหลวงราชสัณฐาน

ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยาทางทิศตะวันออกของกว๊านพะเยาระยะห่างประมาณ ๕๐๐ เมตร ติดกับถนนพหลโยธิน เดิมชื่อวัดหลวงขี้เหล็ก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศักราช ๑๗๑๗ (พงศาวดารเงินยางเชียงแสน)

สิ่งสำคัญคือวิหาร เจดีย์และกำแพงวัดที่เห็นในปัจจุบัน ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นวิหารที่วามสวยงามด้วยลักษณะที่เป็นสถาปัตยกรรมล้านนา สันนิษฐานว่าคงจะมีอายุราว ๑๓๕ ปี เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมากอีกแห่งหนึ่งของล้านนา วิหารจะตั้งอยู่ในบริเวณทางทิศใต้ของวัด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัววิหารตั้งอยู่บนฐานสูงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๒.๗๒ เมตร ยาว ๓๐.๓๙ เมตร มีย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งทำให้แบ่งบริเวณภายในวิหารได้แบ่งออกเป็น ๕ ห้อง ตามด้วยย่อมุมผนัง

ตัวผนังก่ออิฐถือปูน โบกปูนติดกับเสาไม้สี่เหลี่ยม มีประตู ๓ ประตู คือ ด้านหน้าเป็นประตูใหญ่และด้านข้างสองข้าง ไม่มีหน้าต่างแต่เจาะผนังเป็นกากบาทเป็นระยะผนังช่องที่ ๓ จากด้านหน้าทั้งสองด้านถัดจากผนังปูนขึ้นไปเป็นไม้กระดานเข้ากรอบทั้ง ๔ ด้าน เรียงติดกันช่องเสาละ ๓ กรอบ ด้านละ ๓ ช่องเสา ในปี ๒๕๑๖ ทางวัดได้เจาะผนังปูนทำหน้าต่าง รวมทั้งผนังเอาไว้ข้างบนด้วย ลักษณะภายนอก ด้านหน้ามีราวบันไดนาค ๒ ตัว และมีสิงห์ ๒ ตัวอยู่ที่กำแพงวัด ซึ่งตรงกับหน้าวิหาร ลักษณะของหลังคาลดสามชั้น มุ่งด้วยแป้นเกล็ดชายคา มีคันทวยแกะด้วยไม้ฝีมือชั้นสูงออกแบบไม่ซ้ำกัน ส่วนผนังด้านหน้าเลยผนังปูนขึ้นไปแกะเป็นลายเมฆไหล

บริเวณภายในวิหารเครื่องบนเป็นเครื่องไม้มีเสาเรียงกัน ๗ คู่ทำด้วยไม้ มีบัวประดับกระจกอยู่ปลายเสา จิตรกรรมฝาผนังภายในวัดเป็นจิตรกรรมสีฝุ่นผสมกาวยางไม้โดยมีการเขียนลงบนวัสดุต่างชนิดกัน คือ

๑. เขียนบนพื้นผนังปูน คือ การเขียนตั้งแต่ระดับศีรษะและเหนือหน้าต่างขึ้นไปจนสุดผนัง ยกเว้นผนังสองข้างประตูด้านข้างและผนังที่ติดกับพระประธานเขียนลงมาติดกับพื้นวิหาร

๒. เขียนบนกระดาษสา ผ้าแปะ ติดกับผนัง

๓. เขียนบนเสา

รูปที่เขียนเป็นเรื่องมหาชาติชาดกและพุทธประวัติ ยกเว้นผนังแรกของทั้ง ๒ ด้าน คือ

ข้างประตู จะเป็นรูปนรกมีรูปคล้ายกษัตริย์นั่งอยู่ในตำหนัก ส่วนอีกข้างหนึ่งเป็นรูปวัดหลวงราชสัณฐาน ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๗ ได้เกิดพายุฝนทำให้วิหารพังทลายลงมา ปัจจุบันได้มีการสร้างใหม่โดยคงรูปแบบเดิมไว้ แต่จิตรกรรมฝาผนังนั้นแตกหักเสียหายไม่เหลือสภาพเดิม

พระธาตุเจดีย์จอมทอง

พระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม ต่อด้วยฐานเขียงย่อมุม ๓ ชั้น จากนั้นเป็นฐานปัทม์ย่อมุม ต่อด้วยฐานทรงกลม ๓ ชั้น จากนั้นเป็นชั้นของมาลัยเถาทรงกลม ๓ ชั้น รองรับองค์ ส่วนบัลลังก์นั้นมีย่อมุม ส่วนปล้องไฉนนั้นมีปูนปั้นบัว ๒ ชั้น ประดับอยู่ที่ฐานและยอดของปล้องไฉน จากนั้นขึ้นไปเป็นปลียอดและฉัตร เชื่อกันว่าเป็นพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ถือเป็นปูชนียสถานและโบราณสถานที่สำคัญคู่บ้านคูเมืองพะเยามาตั้งแต่สมัยโบรา

เจดีย์วัดลี

พระเจดีย์มีรูปทรงแบบสถาปัตยกรรมพื้นเมืองล้านนา เป็นเจดีย์ทรงสูง เอวคอด ฐานกว้าง ๑๖.๕ เมตร ยาว ๑๖.๕ เมตร สูง ๓๗ เมตร ลักษณะรูปทรงของพระเจดีย์ส่วนฐานประกอบด้วยหน้ากระดานสี่เหลี่ยม ๑ ชั้น ต่อไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม ๓ ชั้น ต่อด้วยเรือนธาตุซึ่งเป็นส่วนย่อมุมยืดสูงเป็นรูปแปดเหลี่ยม และมีลวดลายปูนปั้นอยู่กลางเรือนธาตุเป็นลายประจำยามประดับอยู่มีการประดับลวดลายปูนปั้นบริเวณมุมของเจดีย์จนถึงบัวหงายด้านบนของฐานปัทม์ ต่อด้วยชั้นมาลัยเถาเป็นฐานบัวแปดเหลี่ยม ซ้อนกันขึ้นไปรองรับองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ต่อด้วยคอระฆังกลมขึ้นไปเป็นปล้องไฉน ที่ฐานและยอดปล้องไฉนมีปูนปั้นกลีบดอกบัว ๒ ชั้น ต่อด้วยปลียอดรูปทรงกลม เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะสวยงามอีกแห่งหนึ่งในพะเยา

พระธาตุเจดีย์แจ้โหว้ อำเภอดอกคำใต้

พระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปแปดเหลี่ยมต่อด้วยฐานปัทม์ย่อมุม จากนั้นเป็นชั้นมาลัยเถารองรับองค์ระฆังแปดเหลี่ยม บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลียอดพระธาตุเป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมพื้นเมืองล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะปลียอดของเจดีย์มีบัวกลุ่มอันเป็นลักษณะเฉพาะที่พบมากในเมืองเชียงแสน ช่วยกำหนดเรื่องราวของเมืองโบราณดังกล่าวได้เช่นกัน ต่อมาครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มาทำการบูรณะซ่อมแซมพระธาตุให้มีสภาพดีขึ้น

พระธาตุเจดีย์ดอยหยวก อำเภอปง

ภายในวัดมีวิหารพื้นเมืองทรงต่ำแบบพื้นเมืองล้านนา ส่วนพระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม ต่อด้วยเรือนธาตุที่เป็นส่วนย่อมุมยืดสูงเป็นรูปสี่เหลี่ยมและมีซุ้มจระนำอยู่ ๔ ทิศ ขึ้นไปเป็นมาลัยเถารองรับองระฆังทรงกลมขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ต่อด้วยปล้องไฉนจนถึงปลียอด เป็นเจดีย์ทรงล้านนาที่สวยงามแบบหนึ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะพะเยา

เจดีย์วัดศรีปิงเมือง อำเภอจุน

ตั้งอยู่ที่ ตำบลลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา พระธาตุเจดีย์ศรีปิงเมืองยังไม่พบเอกสารว่าสร้างเมื่อใด พิจารณาทางสถาปัตยกรรมแล้ว น่าจะมีการสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ในช่วงนั้นเมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีความสัมพันธ์กับเมืองล้านนา โดยเป็นพระธาตุที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองโบราณที่เรียกว่า “เวียงลอ” เป็นพระธาตุที่เป็นสิ่งคู่บ้านคู่เมืองเป็นพระธาตุที่มีความสำคัญและเก่าแก่กับเวียงลอ

ตัวพระธาตุตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมต่อด้วยฐานปัทม์ย่อมุมขึ้นไปเป็นฐานบัวรูปฟักทรงกลม จากนั้นขึ้นไปเป็นบันไดเถาทรงกลมรองรับองค์ระฆังกลม (พระเจดีย์มีความสูงเพียงองค์ระฆังเท่านั้น) ศิลปะเชียงใหม่ตอนต้น เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนานิกายหินยานที่มาจากอิทธิพลจากศีลปะสุโขทัย

เจดีย์วัดราชคฤห์

พระเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม (ในชั้นนี้มีเจดีย์ราบตั้งอยู่ตรงมุมของฐาน ๔ องค์) ต่อด้วยฐานปัทม์ย่อเกล็ดแปดเหลี่ยมมีย่อมุม ๒ ชั้น ซุ้มจระนำ ๔ ทิศ ชั้นบนเหนือซุ้มจระนำมีเจดีย์สี่เหลี่ยมรูปทรงปราสาทอยู่อีก ๔ ทิศ อยู่บนฐานเดียวกับชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ต่อด้วยบัลลังก์ย่อมุม จากนั้นขึ้นไปเป็นคอเจดีย์ ปล้องไฉนและปลียอด ในส่วนลานประทักษิณที่รอบเจดีย์มีขนาดกว้างประมาณ ๑.๕ เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีประตูทางเข้า ๔ ทิศ แต่ละทิศจะมีปูนปั้นรูปสิงห์เฝ้าทางเข้าประตูละ ๒ ตัว เป็นเจดีย์ศิลปะล้านนาที่สวยงามมากอีกแห่งหนึ่งในพะเยา

บ้านสุทธิภักติ

นับเป็นบ้านทางโบราณที่มีคุณค่าทางประวิติศาสตร์ นอกจากเคยเป็นบ้านของคหบดีที่มีชื่อเสียงของอำเภอพะเยา (สมัยนั้น) คือหลวงศรีนครานุกูลแล้ว บ้านหลังนี้ยังมีความสำคัญที่ได้ต้อนรับบุคคลสำคัญของประเทศที่มีพักอาศัยในระหว่างราชการบ้าง บุคคลสำคัญ เช่น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, เจ้าพระยาพหลพลพยุหเสนา, พันเอกหลวงชำนาญยุทธศาสตร์ (จอมพลผิน ชุณหวัน) เป็นต้น

บ้านสิทธิภักตินั้นตั้งชื่อตามที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามสกุลว่า “สุทธิภักติ” บริเวณบ้านตั้งอยู่ตรงข้ามกว๊านพะเยา นับเป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยาที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของกว๊านที่สวยงาม เนื้อที่มีขนาดกว้างประมาณ ๙ ไร่ มีบ้านที่สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมด ๓ หลัง เป็นเรือนหลังใหญ่ ๒ ชั้น และมีเรือนหลังเล็กต่อเชื่อมกันอยู่ด้านหลังอีก ๑ หลัง มีเรือนไม้ชั้นเดียวสร้างแยกเดี่ยวออกไปทางทิศตะวันตกอีก ๑ หลัง บ้านแต่หลังสร้างด้วยไม้สัก ด้วยมือช่างชั้นครูจากเมือง

เซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะเรือนหลังใหญ่สร้างเป็นเรือนรูปทรงปั้นหยา หลังคามีหน้าจั่ว และมุ่งด้วยแป้นเกล็ดที่ใช้กบไสให้เรียบมองดูคล้ายกระเบื้องดินเผาบานประตูออกแบบลวดลายงดงามมาด้านบนของประตูที่เรียกว่า “คอสอง” ประดับด้วยกระจกสี ตรงมุมต่าง ๆของเสาบ้านมีการแกะสลักลวดลายเครือเถางดงามมาก บ้านหลังนี้จึงสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๕

วิหารไม้สัก วัดนันตาราม

วิหารไม้สักวัดนันตาราม ตั้งอยู่ที่ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยมีพ่อเฒ่านันตา (อู่) เป็นเจ้าภาพสร้างวิหาร โดยสร้างแทนวิหารหลังเก่าที่มุงด้วยหญ้าคา สถาปัตยกรรมวิหารไม้สักวัดนันตารามเป็นรูปทรงแบบไทยใหญ่ หลังคามุงด้วยจั่วยกเป็นช่อชั้นลดลั่นกันสวยงาม มุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด (กระเบื้อง)ไม้เพดานภายในประดับประดาด้วยกระจกสี มีเสาไม้สักทองลงรักปิดทองทั้งสิ้น ๖๘ ต้น ค่าก่อสร้างประมาณ ๔๕,๐๐๐ บาท ผู้ออกแบบและทำการก่อสร้าง ชื่อ สล่าตัน เป็นช่างไทยใหญ่

วิหารไทลื้อ วัดแสนเมืองมา อำเภอเชียงคำ

วิหารไทลื้อ วัดแสนเมืองแสน อยู่ที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา สันนิษฐานว่าก่อสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด (กระเบื้องไม้) กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติแล้ว

วิหารไทลื้อวัดท่าฟ้าใต้ อำเภอเชียงม่วน

วิหารไทลื้อวัดท่าฟ้าใต้ อยู่ที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา สันนิษฐานว่าก่อสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ความสำคัญของวิหารเป็นรูปทรงแบบสถาปัตยกรรมไทลื้อ วิหารก่ออิฐถือปูน หลังคามี ๓ ชั้น มุงด้วยแป้นเกล็ด (กระเบื้องไม้) ชั้นที่ ๑ เป็นแบบปั้นหยา ครอบตัววิหารทั้ง ๔ ด้าน ชั้นที่ ๒-๓ ทรงแบบปราสาทมีหน้าบัน ทางทิศตะวันออกและทางทิศตะวันตกมีหลังคากันสาดรับทั้งสองด้าน ตัววิหารทึบประตูเป็นบานไม้สัก ข้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔