ประวัติหมู่บ้านวัดลี , หมู่บ้านหล่ายอิง , ชุมชนวัดลี

หมู่บ้านวัดลี เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ตามหลักฐานที่สามารถค้นพบ เรียกว่าหมู่บ้านวัดลี โดยตั้งชื่อตามชื่อของวัดที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่วัดลี หมู่บ้านวัดลี จึงถือเอาประวัติวัดลีมาเป็นประวัติของหมู่บ้าน

“วัดลี” เป็นชื่อแต่ดั้งเดิม หมายถึงกาดหรือตลาด เป็นวัดที่อยู่ในย่านชุมชนตลาด ประวัติของวัดลี ตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในจารึก พย.๒๗ ได้กล่าวถึง การสร้างวัดลี เมื่อปีจุลศักราช ๘๕๗ หรือปีพ.ศ.๒๐๓๘ ตรงกับสมัยของพระเจ้ายอดเชียงราย กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา (เชียงใหม่) พระเจ้ายอดเชียงรายได้มีพระราชโองการให้เจ้าหมื่นหน่อเทพครู ผู้เป็นพระราชครูของพระเจ้ายอดเชียงราย ขณะนั้นมากินตำแหน่งเป็น “เจ้าสี่หมื่นพะเยา”ฐานะเป็นเจ้าผู้ครองเมือง ได้มาสร้างวัดลีเพื่อเป็นการถวายส่วนบุญ ส่วนกุศลแด่พระเจ้ายอดเชียงรายกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ เจ้าสี่หมื่นพะเยาได้มากระทำพิธีฝังหินกำหนดเขตวัดและ ผูกพัทธสีมาเป็นอุโบสถไว้กับวัดลี เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ ปี พ.ศ. ๒๐๓๘ มีพระมหาเถรปัญญาวังสะ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดลี

ภายหลังในสมัยของพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ ได้เกิดสงครามระหว่างล้านนากับพม่า และพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์ของพม่าสามารถยึดครองล้านนาได้สำเร็จ ทำให้ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นพม่านับถือตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๐๑ จนถึง พ.ศ.๒๓๑๗ รวมระยะเวลานานถึง ๒๑๖ ปี สภาพการเป็นเมืองขึ้นของพม่า ทำให้เมืองล้านนาไม่มีความสงบสุข เพราะต้องอยู่ในภาวะสงครามเกือบตลอดเวลาและผู้คนล้มตายไปในสงครามเป็นจำนวนมาก เนื่องจากถูกกองทัพพม่าเกณฑ์ไปรบในสงครามระหว่างพม่ากับกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง และอีกส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนเป็นเชลยและเกณฑ์ไปเป็นทาสใช้แรงงานในพม่า ด้วยเหตุนี้เองทำให้ประชากรในล้านนาลดลงเป็นอย่างมาก และตามหัวเมืองต่างๆ ของล้านนารวมถึงเมืองพะเยาต้องกลายเป็นเมืองร้างไปเป็นเวลายาวนาน ส่วนทางด้านศาสนาก็ขาดผู้คนมาทะนุบำรุงจึงทำให้วัดวาอารามส่วนใหญ่ถูกปล่อยให้รกร้างชำรุดทรุดโทรมต้องกลายเป็นวัดร้างไปในที่สุด

ความล่มสลายของอาณาจักรล้านนาทำให้การฟื้นฟูบ้านเมืองต้องใช้ระยะเวลายาวนานเพราะการขาดผู้นำที่เข้มแข็งและไม่มีกำลังคนมากพอจะมาพลิกฟื้นเมือง จนกระทั้งปี พ.ศ. ๒๓๑๗ ในสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงได้ยกกองทัพพม่าออกจากล้านนาได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้ล้านนาได้ รับการปลดปล่อยเป็นอิสรภาพ หลังจากนั้นล้านนาจึงเริ่มเข้าสู่ยุคการฟื้นฟูเมืองภายใต้นโยบาย “เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าเข้าเมือง” สำหรับเมืองพะเยากว่าจะได้รับการฟื้นฟูตั้งเมืองขึ้นมาอีกครั้งก็เข้ายุคกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว คือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๖ ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

หมู่บ้านวัดลีก็เช่นเดียวกัน ในช่วงสงคราม ต่างพากันอพยพไปอยู่จังหวัดลำปาง เมื่อสงครามเสร็จสิ้น ในปี ๒๓๘๖ ช่วงสร้างบ้านแปงเมือง จึงพากันอพยพกลับมาตั้งบ้านอยู่ริมแม่น้ำอิง ตอนแรกมีประมาณ ๔๐ ครัวเรือน ตั้งชื่อว่า บ้านหล่ายอิง เป็นการตั้งชื่อตามลักษณะภูมิประเทศ มีแม่น้ำอิงไหลผ่าน เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำอิง จึงเรียกว่าบ้านหล่ายอิง มีพื้นที่เป็นเนินดินสูง บนฐานของตัวเมืองเก่าเวียงน้ำเต้า มีอาณาเขตรวม บ้านหล่ายอิง ตัวเมืองเก่าเวียงน้ำเต้าทั้งหมด และบ้านสันขะเจ๊าะ คำว่า หล่าย เป็นภาษาท้องถิ่นล้านนา แปลว่า อยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ สมัยก่อนการเดินทางจากหมู่บ้านแม่ต๋ำ หรือหมู่บ้านทางทิศตะวันตกของแม่น้ำอิง (บ้านหล่ายกว๊าน) เวลาจะเดินทางเข้ามาหมู่บ้านนี้จะต้องข้ามสะพานแม่น้ำอิงเข้ามา จึงเรียกกันติดปากว่าบ้านหล่ายอิง ส่วนหมู่บ้านทางด้านทิศเหนือที่ตั้งอยู่บนเนินต่ำของแม่น้ำอิง จะเรียกว่า บ้านฝั่งหมิ่น เป็นต้น มีวัดลีเป็นศูนย์กลางรวมจิตใจ มีโรงเรียนบ้านหล่ายอิง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ปัจจุบันตั้งชื่อว่าโรงเรียนเทศบาล ๓ (หล่ายอิงราษฎร์บำรุง) สังกัดเทศบาลเมืองพะเยา และมีวัดลี ซึ่งได้ผ่านการเป็นวัดร้างมาหลายร้อยปีเพิ่งมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และยกฐานะขึ้นเป็นมาเป็นวัดอีกครั้ง ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยมีพระครูบาศรีวิชัย นักบุญล้านนา เจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน มาเป็นผู้นำในการบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ จึงได้ไปนิมนต์ครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ ซึ่งเป็นพระลูกศิษย์ของครูบาศรีวิชัย ขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเจ้าตนหลวงให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดลี ต่อมาจนกระทั้งปีพ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านจึงมรณภาพ และได้มีการแต่งตั้งพระศรีทอนซึ่งเป็นพระลูกวัดขึ้นรักษาแทนเจ้าอาวาส ภายหลังปีพ.ศ. ๒๕๑๒ เจ้าอาวาสรักษาการได้ลาสิกขา คณะกรรมการวัดและศรัทธาวัดจึงได้ไปนิมนต์พระบุญชื่น ฐิตธมฺโม จากวัดแม่ต๋ำเมืองชุม จังหวัดพะเยาให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดลี สืบต่อจวบจนปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ทางเทศบาลเมืองพะเยาได้มีการแบ่งเขตการปกครองเป็นชุมชนต่าง ๆ หมู่บ้านหล่ายอิง จึงได้เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น ชุมชนวัดลี อีกครั้ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีรายชื่อผู้นำชุมชนในอดีตถึงปัจจุบันดังนี้

พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๑๒ พ่อหลวงแหลง ฟักทอง

พ.ศ. ๒๕๑๒ - ๒๕๒๔ พ่อหลวงสา สิงห์ชู

พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๓๖ พ่อหลวงสี ทวีกุล

พ.ศ. ๒๕๓๖ - ๒๕๔๐ นายสุพจน์ รัตนากร

พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๒ นายคำ ฟูศรี

พ.ศ. ๒๕๔๒ - ๒๕๔๔ น.ส.ดวงบุหลัน ศีติสาร

พ.ศ. ๒๕๔๔ - ๒๕๔๖ นายเกษม ทวีกุล

พ.ศ. ๒๕๔๖ - ๒๕๔๘ นายมนตรี หนูกลัด

พ.ศ. ๒๕๔๘ - ๒๕๕๐ นายกิจภพ กัณฑมิตร

พ.ศ. ๒๕๕๐ - ๒๕๕๒ นางนงคราญ ทวีกุล

พ.ศ. ๒๕๕๒ - ๒๕๕๓ นายสวัสดิ์ สุภาวะ

พ.ศ. ๒๕๕๓ - ๒๕๕๗ นางนงคราญ ทวีกุล

พ.ศ. ๒๕๕๗ - ๒๕๕๘ นายมนตรี เปลี่ยนชะเอม

พ.ศ. ๒๕๕๘ - ปัจจุบัน นางนงคราญ ทวีกุล

ลักษณะทั่วไปของหมู่บ้าน/ชุมชน

ชุมชนวัดลี อยู่บนพื้นที่ราบสูงทางทิศตะวันออกของตัวเมืองพะเยา ระยะทางห่างจากเทศบาลเมืองพะเยา 1 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเมืองเก่า มีคูเมืองล้อมรอบ เป็นรูปผลน้ำเต้า

ที่ตั้งและอาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ ๑๓ ตำบลท่าวังทอง

ทิศใต้ ติดต่อกับ ชุมชนวัดศรีจอมเรือง

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ ๑๔ ตำบลท่าวังทอง

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คูเมืองชุมชนวัดหัวข่วงแก้ว

<<<กลับสู่ด้านบน>>>