เวียงน้ำเต้า

สถานที่ตั้ง บ้านประตูชัย ตำบลเวียง และ ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา

ประวัติความเป็นมา เวียงพยาว หรือ เวียงน้ำเต้า เริ่มมีการอยู่อาศัยในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นอย่างเก่าที่สุดและเจริญรุ่งเรืองในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เพราะพบหลักฐานมากในช่วงเวลานี้รวมทั้งศิลาจารึกที่กล่าวถึงการสร้างวัดต่าง ๆ หลายแห่งและมีหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าเวียงนี้น่าจะเป็นตัวเมืองหรือเป็น ศูนย์กลาง การปกครองของเมืองพะเยาคือจากเวียงนี้มีแนวคันดินเป็นเส้น ทางคมนาคมหลายสายตัดออกไปติดต่อกับเวียงหรือชุมชนอื่น ๆ หลายแห่งตามพันนาต่างๆ เวียงนี้จึงมีลักษณะเป็นจุดศูนย์รวมหรือชุมชนหลักของเมืองเช่นเดียวกับเวียง พยาว ซึ่งสันนิษฐานว่าท่าวังทองและเวียงพยาวเป็น ชุมชนเดียวกัน โดยเวียงหนึ่งเป็นศูนย์การปกครองและอีกเวียงหนึ่งเป็นย่านการค้า ส่วนเวียงใดเกิดขึ้นก่อนและมีการขยายมาสร้างอีกเวียงเมื่อไรนั้น ไม่มีหลักฐานใด ๆ ยืนยันได้แน่ชัด แต่น่าสังเกตว่ามีการกล่าวถึงเวียงพยาว ๒ เวียงอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เล่าเรื่องตอนพระยาคำฟูกับพระยากาวน่าน ร่วมกันตีเมืองพะเยาว่า พระยาทั้งสองก็ริพลคนศึกเข้าไปปล้นเอาเวียงพระยางำเมืองทั้งสองเวียง

ลักษณะทั่วไป เวียงพยาว หรือ เวียงน้ำเต้า เป็นเวียงโบราณที่อยู่ในจังหวัดพะเยา ตั้งห่างจากตัวเมืองปัจจุบันไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑๐๐ เมตร อยู่ระหว่างเส้นละติจูด ๙๐ ๑๐ ๐๓ เหนือ และเส้นลองติจูด ๙๙ ๕๗ ๔๕ ตะวันออก มีแม่น้ำอิงไหลผ่านเวียง จากทิศใต้ไปทางทิศตะวันออก มีรูปร่างคล้ายผลน้ำเต้า วางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก โดยส่วนหัวขั้วของผลน้ำเต้าจะอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร จากนั้นแนวคูเมืองจะผายออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้เป็นส่วนลำตัวของผลน้ำเต้า มีความกว้างประมาณ ๑, ๐๐๐ เมตร ส่วนความยาวที่สุดจากขั้วน้ำเต้าทางตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงแนวคูเวียงด้านตะวันตกประมาณ ๑, ๕๐๐ เมตร ลักษณะคูน้ำมีเพียงชั้นเดียว มีคันดินเตี้ย ๆ ขนาบอยู่ทั้ง ๒ ฝั่งคูน้ำ แต่ละส่วนมีความกว้างและลึกไม่เท่ากัน ทางด้านเหนือกว้างประมาณ ๒๑ เมตร ทางด้านตะวันออกกว้างประมาณ ๑๖ เมตร ส่วนที่ผ่านที่ลุ่มคูจะไม่ลึกมาก เฉลี่ยประมาณ ๕ เมตร ส่วนที่ตัดผ่านที่เนินสูง คูจะลึกกว่าปกติ คันดินมีขนาดเล็กมาก สภาพของคูน้ำคันดินของเวียงปัจจุบันเหลือเฉพาะด้านเหนือและตะวันออกบางส่วน เท่านั้น ส่วนทางใต้และตะวันตกถูกไถทำลาย เพื่อสร้างถนน บ้านเรือนไปเกือบหมดแล้ว สภาพภายในเวียงปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการและที่อยู่อาศัย สลับกับพื้นที่เพาะปลูกทำสวนผลไม้ และทำไร่

หลักฐานที่พบ

บริเวณภายในเวียงมีบ่อน้ำ-สระน้ำ อยู่หลายแห่ง และมีซากวัดร้างอยู่ทั่วไป แต่ไม่อยู่ในสภาพที่จะสามารถศึกษารูปแบบศิลปกรรมได้ เนื่องจากพังทลายมาก และบางส่วนฝังอยู่ใต้ดิน วัดที่ยังคงสภาพอยู่ในปัจจุบันคือวัดสิบสองห้องหรือวัดศรีจอมเรืองและวัดลี ซึ่งมีเจดีย์แบบล้านนาอยู่ ๑ องค์ ได้ซ่อมแซมบูรณะมาหลายครั้ง แต่จากร่องรอยลายปูนปั้นในบริเวณส่วนฐานบัว สามารถกำหนดอายุได้ว่าอยู่ ในประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ โบราณวัตถุจำนวนมากที่พบในเวียงนี้ ได้รวบรวมไว้ที่วัดลี ส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมหินทราย ได้แก่ พระพุทธรูป สถูปจำลอง รูปสัตว์ ฐานส้วม ครกหิน มีหลักฐานสำคัญคือศิลาจารึก ๔ หลัก ที่พบในเขตเวียงนี้ ได้แก่ จารึกวัดลี (พ.ศ. ๒๐๓๘) จารึกวัดพระเกิด (พ.ศ.๒๐๕๖) จารึกวัดสิบสองห้อง (พ.ศ. ๒๐๕๘) และจารึกวัดสุวรรณาราม หลักฐานจากการสำรวจผิวดิน พบเศษภาชนะดินเผา ทั้งแบบธรรมดาและเครื่องเคลือบ มีปริมาณไม่มากนัก เครื่องเคลือบที่พบมีทั้งของเตาในล้านนา คือ เตาเมืองพานเป็นภาชนะเคลือบสีเขียว ขูดขีดลวดลายเป็นรูปดอกไม้ ๔ กลีบ เตาเวียงกาหลง เป็นแบบเขียนลายสีดำใต้เคลือบ และภาชนะจากเตาของเมืองพะเยาเองที่ตั้งอยู่ บริเวณม่อนออม ทางใต้ของเวียงพะเยานี้ รวมทั้งเครื่องลายครามของจีน สมัยราชวงค์หมิง เขียนลายเป็นรูปตัวอักษรภาษาสันสกฤต เป็นต้น หลักฐานทั้งหมดนี้ สามารถกำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่๒๐-๒๑หลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีภายในเวียงนี้พบว่ามีชั้นดินอยู่อาศัยต่อเนื่องกันมาเพียงชั้นเดียว โดยพบหลักฐานเศษภาชนะดินเผาคล้ายคลึงกับที่ทำการสำรวจบนผิวดิน และได้พบเศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงและชิงตอนต้น ทำให้ตีความได้ว่าเวียงนี้ เริ่มมีการอยู่ อาศัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐาน

การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในภาคเหนือได้รับอิทธิพลจากสภาพธรรมชาติเป็นสำคัญ ที่ราบขนาดใหญ่มีสองบริเวณคือ บริเวณที่ราบลุ่มเชียงใหม่ - ลำพูน กับบริเวณที่ราบลุ่มเชียงราย - พะเยา โดยจะเลือกตั้งบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ รูปแบบของการตั้งถิ่นฐานจึงเป็นแนวยาวตามลำแม่น้ำ เมืองพะเยา มีกำเนิดขึ้นตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำกก ได้แก่ แอ่งเชียงราย เป็นที่ราบลุ่มค่อนข้างกว้างใหญ่ พื้นดินอุดสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตรกรรม เขตตอนมีเชียงรายเป็นศูนย์กลาง แบ่งเป็นตอนเหนือ มีเชียงราย - เชียงแสน และตอนใต้มีพะเยาอยู่ในลุ่มแม่น้ำอิง ที่ราบลุ่มเชียงราย - พะเยา เป็นดินแดนที่เรียกว่า โยนก สมัยโบราณเป็นถิ่นฐานของไทยวน อยู่บริเวณที่ราบลุ่มเขตจังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา และบริเวณใกล้เคียงโดยรอบ ต่อเนื่องเข้าไปถึงบางส่วนของพม่าและลาว โดยมีแม่น้ำกกเชื่อมแม่น้ำโขงเป็นแกน ที่ราบลุ่มเชียงราย-พะเยา มีเทือกเขาขนานตามแนวเหนือ - ใต้ มีลำน้ำเกิดจากดอยต่าง ๆ ไหลจากทิศตะวันตกไปบรรจบแม่น้ำโขง ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือทั้งสิ้น ลำน้ำที่สำคัญได้แก่ ลำน้ำกก ลำน้ำลาว และลำน้ำอิง ทำให้เกิดที่ราบลุ่มสำคัญ อันเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของกลุ่มโยนกโบราณ เมืองโบราณที่พบในเขตนี้มีเมืองเชียงแสน เป็นเมืองสำคัญ และมีเมืองเล็กเมืองน้อยที่เรียกว่า เวียง เช่น เวียงหนองลุ่ม เวียงมโนรา เวียงแก้ว และเวียงพาน เป็นต้น ที่ราบลุ่มแม่น้ำกก มีเมืองเชียงรายเป็นเมืองสำคัญ และมีเวียงอีกไม่น้อยกว่า ๑๑ แห่ง ที่ราบลุ่มแม่น้ำลาวมีเมืองโบราณที่พบ เช่น เวียงกาหลง เวียงป่าเป้า เวียงแม่สรวย เวียงไชย เป็นต้น ส่วนที่ราบลุ่มแม่น้ำอิง มีเวียงภูกามยาว เวียงต๋อม เวียงปู่ล่าม เวียงแก้ว เวียงลอ เวียงเทิง เป็นต้น เมืองในเลุ่มแม่น้ำอิง มีชุมชนกระจายอยู่บนภูเตี้ย ๆ มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มีหลักฐานที่สำคัญคือ แหล่งหินทรายที่ม่อนผาเกี๋ยง อำเภอเมือง ฯ แต่เดิมเป็นแหล่งทำเครื่องมือหินขัด ต่อมาเมื่อได้นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ก็กลายเป็นแหล่งหินทราย เพื่อทำพระพุทธรูปและศาสนวัตถุอื่น ๆ บริเวณเทือกเขาหินทราย ด้านหนึ่งตัดเป็นผนังผา มีถ้ำหลายแห่งพบเครื่องมือหิน เช่น ขวานหินขัด (ยุคก่อนประวัติศาสตร์) หน้าผาบางแห่งมีภาพเขียนสีแดงปรากฎอยู่ มีร่องรอยของการสกัดหินไปใช้ พบอักษรไทย - ล้านนาปรากฎอยู่ การตั้งถิ่นฐานของชาวพะเยา จะกระจายตามแอ่งหรือที่ราบลุ่มแม่น้ำเป็นแนวยาวตามลำน้ำอิง ชุมชนที่เกิดขึ้นในระยะแรก ๆ เป็นชุมชนเล็ก ๆ แยกกันอยู่เป็นแห่ง ๆ มีผู้นำชุมชนในนามของเจ้าผู้ปกครอง การตั้งชุมชนบ้านและเมืองได้พัฒนาจากถิ่นฐานที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีวัฒนธรรมด้อยกว่า ผสมผสานกับวัฒนธรรมต่างถิ่นที่เจริญกว่า เมืองพะเยา ได้พัฒนาจากรับโบราณขนาดเล็ก มาเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ และมีความซับซ้อนมากขึ้น ในลักษณะเดียวกันกับเมืองหริภุญไชย จากการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศพบว่า มีบริเวณที่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นร่องรอยเมืองโบราณขนาดเล็ก ปรากฎอยู่ทั่วไปประมาณ ๔๐ เมือง กระจายอยู่ตามที่ราบริมแม่น้ำอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของดินแดนในภาคเหนือที่เป็นหุบเขา ทำให้เมืองต่าง ๆ มีลักษณะเป็นเอกเทศ เมืองพะเยาในลุ่มน้ำอิง เป็นการแยกตัวของผู้นำเชื้อสายลาวจก จากเมืองเงินยวงในลุ่มน้ำกก เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นเมืองอิสระ ไม่ขึ้นแก่ศูนย์กลางเดิมแต่อย่างใด จากการค้นพบซากโบราณสถาน และพุทธศิลป์พบว่า มีความเก่าถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ นอกจากนี้ยังเห็นความสัมพันธ์กับอิทธิพลศิลปะขอม เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘

การตั้งเมืองพะเยา ตามตำนานได้กล่าวถึง การเลือกที่ตั้งเวียง จากตำแหน่งที่ระบุว่า ทิศตะวันตกเป็นที่สูง ทิศตะวันออกลาดต่ำลง มีหนองน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในตำแหน่งดังกล่าวตรงกับเวียงน้ำเต้า ซึ่งมีผังเมืองเป็นรูปน้ำเต้า นอกจากนั้นตำนานเมืองพะเยา ยังได้อ้างถึงสภาพก่อนตั้งเมืองพะเยา ในบริเวณนี้มีเมืองมาก่อน แต่ได้ร้างไป

เวียงน้ำเต้า เป็นเวียงเก่า ต่อมาชุมชนได้ขยายตัวออกมาด้านริมกว๊านพะเยา เพราะใกล้แหล่งน้ำจึงสร้างเวียงทางทิศตะวันตกเป็นรูปสี่เหลี่ยมอยู่ติดชายกว๊าน เรียกว่า เวียงลูก - ตะวันตก ตำนานพื้นเมืองพะเยากล่าวว่า เวียงลูกตะวันตกนี้สร้างในสมัยพระยาสิงหราช โดยเจ้าราชบุตรบุญเมือง เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ.๑๗๑๗ เวียงน้ำเต้าและเวียงลูกตะวันตก เป็นเวียงแฝด เวียงทั้งสองถือเป็นเวียงหลักของเมืองพะเยา นอกจากเวียงหลักแล้ว เมืองพะเยายังมีเวียงบริวาร ซึ่งสร้างขึ้นภายหลังเมื่อชุมชนเมืองขยายตัว เวียงบริวารได้แก่ เวียงพระธาตุจอมทอง เวียงปู่ล่าม เวียงหนองหวี และเวียงต๋อม เวียงพระธาตุจอมทองนั้น ตั้งอยู่บนเนินเขาด้านเหนือของเมือง มีคูเมืองล้อมรอบ ทำหน้าที่เป็นเวียงพระธาตุ ในล้านนาเวียงพระธาตุจะอยู่ใกล้เวียงหลัก เวียงปู่ล่าม และเวียงหนองหวี เป็นเวียงแฝดขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพะเยา เวียงต๋อมอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของกว๊านพะเยา เวียงหลัก และเวียงบริวารดังกล่าว ตั้งอยู่ในลักษณะเป็นกลุ่มเมืองพะเยา

ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ สมัยเริ่มสร้างบ้านแปงเมือง สู่นครรัฐอิสระ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๖๓๙ พระยาลาวเงิน ผู้ครองเมืองหิริญนครเงินยาง (เชียงแสน) ได้ส่งราชบุตรองค์น้อยชื่อ พระยาจอมธรรม ไปครองเมืองฝ่ายใต้ ตั้งอยู่เชิงเขาชมภู หรือดอยด้วนใกล้แม่น้ำสายตา หรือแม่น้ำอิง เรียกเมืองนั้นว่า ภูกามยาว หรือเมืองพยาว เป็นนครเก่าสร้างมาแต่โบราณ มีเขื่อนค่าย ปราการ กำแพง คูเมือง มีประตูใหญ่แปดช่อง ทิศตะวันตกเป็นที่สูง ทิศตะวันออกเป็นที่ต่ำ มีสระหรือหนองใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศใต้ ตั้งอยู่สุดเชิงเขาชมพูอันเป็นเนินยาว พบภาชนะสิ่งของทำด้วยศิลา เช่น ครก หินบด เป็นต้น อยู่ตามป่าเชิงเขาเป็นอันมาก สันนิษฐานว่า เป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยขอม เมื่อแรกเริ่มสร้างเมืองพะเยา ได้จัดระเบียบโครงสร้างของสังคมโดยจัดเป็นระบบพันนาไต้ ๓๖ พันนา โดยมีศูนย์กลางการปกครองคือตัวเวียงพะเยา ตั้งอยู่กลางหุบเขา ปลายสุดดอยด้วน ริมฝั่งตะวันออกของกว๊านพะเยา การแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๓๖ พันนา มีจำนวนใกล้เคียงกับการแบ่งเขตตำบลต่าง ๆ ในปัจจุบันซึ่งมี ๓๐ ตำบล สมัยนั้นประชากรส่วนใหญ่ของพันนาต่าง ๆ มีอาชีพเกษตรกรรม ระบบพันนาเป็นหน่วยการปกครองในระดับที่เล็กกว่าเมือง การจัดแบบนี้เพื่อให้จำนวนไพร่มีความสมดุลกับปริมาณที่ดิน ขนาดของเมืองจะใหญ่หรือเล็ก ขึ้นอยู่กับจำนวนพันนาที่ขึ้นกับเมืองนั้น ๆ เช่นเมืองพะเยามี ๓๖ พันนา ผู้ปกครองพันนาจะมียศเป็นหมื่น ภายในพันนาจะมีขุนนางตำแหน่งต่าง ๆ เช่น หมื่นนา ล้านนา พันนาหลัก และแสนนา หน่วยปกครองที่เล็กกว่าพันนาคือ ปาก - นา ผู้ปกครองมียศเป็นพัน หน่วยปกครองที่เล็กกว่าปากนาคือ หมู่บ้าน มีแก่บ้านเป็นผู้ปกครอง เมืองพะเยามีเมืองอื่น ๆ อยู่ในอาณาเขตคือ เมืองลอง เมืองเท่ง เชียงแรง เมืองคอบจะลาว เมืองออย แจ่เสียง หนองขวาง แจ้หลวง แจ้ห่ม เมืองวัน

เมืองพะเยามีประตูแปดประตูคือ

ประตูไชย เป็นประตูที่ขุนจอมธรรมเข้าเมืองเป็นครั้งแรก

ประตูหอกลอง เมื่อผู้ใดมีเหตุการณ์ใดให้ตีกลองที่ประตูเข้าเมือง

ประตูเหล็ก คือ ประตูผังแผ่นเหล็กเครื่องตาดท้าวห้าประการลงในประตู

ประตูท่านาง คือ ประตูที่ฝ่ายหญิงลงไปอาบน้ำในกว๊าน

ประตูท่าเหล้า คือ ประตูที่ประชาชนทั้งหลายลงไปท่าเพื่อกินข้าวและเหล้าเวลาเย็น

ประตูปราสาท คือ ประตูที่ลงเลขยันต์รูปปราสาท

ประตูท่าแป้น คือ ประตูที่ลงเลขยันต์ลงไม้กระดานหรือเรียกแป้นกระดาน

ประตูออมปอม คือ ประตูที่ลงเลขยันต์ลงในขวดออมหรือกระปุก

พระยาจอมธรรมได้ให้สร้าง และบูรณะวัด ๑๘ วัด เมื่อครองเมืองพะเยาได้สามปี มีโอรส เมื่อปี พ.ศ.๑๖๔๒ มีชื่อว่า พระยาเจื๋อง ต่อมาอีกสามปีมีโอรสชื่อว่า พระยาชอง พระยาจอมธรรมครองเมืองพะเยาได้ ๒๑ ปี มีอายุได้ ๕๙ ปี ก็ถึงแก่กรรม พระยาเจื๋องได้ขึ้นครองเมืองสืบแทนต่อมา เมื่อครองเมืองได้หกปี มีข้าศึกแก๋วยกกำลังมาประชิดเมืองเชียงแสน ทางพระยาเจื๋องก็ได้รวบรวมกำลังจากเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองลอ เมืองเท่ง เมืองเชียงแลง แจ้หลวง แจ้ห่ม เมืองลับ รวมกำลังได้ ๑๓๓,๐๐๐ คน แล้วยกกำลังไปปราบข้าศึกที่เมืองเชียงแสนได้ชัยชนะ พระยาชินเจ้าเมืองเชียงแสนยกธิดาชื่อนางอั้วคำคอน ให้เป็นชายา ยกเมืองเชียงแสนให้พระยาเจื๋องครอง พระยาเจื๋องจึงให้โอรส พระยาเงินเรืองขึ้นครองเมืองพะเยาแทน ส่วนพระยาเจื๋องก็ได้ปราบปรามบรรดาเมืองแถบล้านช้างทั้งหมด จนได้รับการยกย่องให้เป็นพระยาจักรวรรดิราช ชื่อ เจื๋องธรรมิกราช ครองเมืองแก๋ว ได้อภิเษกสมรสกับพระนางอู่แก้ว ธิดาพระยาแก๋ว มีโอรสสามคน ขุนเจื๋องได้ขยายอาณาเขตออกไปจนถึงเมืองแกว ภายหลังได้สิ้นพระชนม์ในสมรภูมิเมื่ออายุได้ ๖๗ พรรษา ครองล้านนา ได้ ๒๔ ปี ปราบล้านช้างและครองเมืองแก้วได้ ๑๗ ปี พระยางำเมือง เป็นโอรสพระยามิ่ง ผู้ครองเมืองพะเยา เกิดเมื่อปี พ.ศ.๑๗๘๑ ได้ไปศึกษาต่อที่สำนักสุกทันตฤาษี ณ กรุงละโว้ เป็นเวลาสองปี เป็นศิษย์ร่วมรุ่นกับพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย พระยางำเมืองได้ครองแคว้นพะเยา เมื่อปี พ.ศ.๑๘๐๑ ฝ่ายเมืองเชียงแสนนั้นก็ได้สืบราชสมบัติต่อกันมาได้สี่ชั่วราชวงศ์มาถึงพระยาลาวเมือง มีโอรสชื่อลาวเมง ได้อภิเษกสมรสกับราชธิดาเจ้าผู้ครองเมืองเชียงรุ้ง มีโอรสพระนามมังราย

ความสัมพันธ์ระหว่างพระยางำเมืองกับพระยามังรายนั้นเป็นพระญาติสืบสายมาแต่ต้นตระกูลเดียวกันคือ ลวะจักราช และประสูติร่วมปีเดียวกันคือ พ.ศ.๑๗๘๑ ในปี พ.ศ.๑๘๑๙ พระยามังรายครองราชย์อยู่เมืองเชียงรายได้ยกทัพมาตีเมืองพะเยา พระยางำเมืองยอมยกแคว้นบวกน้ำจำนวน ๕๐๐ หลังคาเรือนให้แก่พระยามังราย แล้วได้เป็นไมตรีต่อกัน ได้มีการทำสัญญาสามกษัตริย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๐ และในปี พ.ศ.๑๘๓๕ พระยางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหงได้เสด็จไปร่วมพิธีสร้างเมืองเชียงใหม่ สมัยผนวกเมืองเข้าสู่อาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านนาก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๘๓๙ โดยพระยามังราย เมืองพะเยาก่อนที่จะผนวกเข้าสู่อาณาจักรล้านนานั้น อยู่ในฐานะรัฐอิสระ หลังจากอาณาจักรล้านนาเป็นปึกแผ่นตั้งแต่สมัยพระยามังรายจนถึงสมัยพระยาคำฟู ประมาณปี พ.ศ.๑๘๗๗ - ๑๘๗๙ พระยาคำฟูได้ขยายอาณาเขตไปทางตะวันออกโดยเริ่มทำสงครามกับเมืองพะเยา และยึดเมืองพะเยาไว้ได้ในสมัยพระยาคำลือ แล้วถูกลดฐานะเป็นเมืองเล็ก ๆ ขึ้นกับเมืองเชียงราย ยุทธิษฐิระจากสุโขทัยครองเมืองพะเยา พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาใช้เมืองพะเยาเป็นฐานอำนาจเข้าครอบครองเมืองแพร่ และเมืองน่าน รวมทั้งทำสงครามกับ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อชิงดินแดนแคว้นสุโขทัย ยุทธิษฐิระเป็นบุตรของพระยาราม มีเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นครองราชย์แล้วได้โปรดให้ตั้งยุทธิษฐิระเป็นพระยาสองแคว ครองเมืองพิษณุโลก ทำให้ยุษธิษฐิระไม่พอใจ ดังนั้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๙๔๔ ยุทธิษฐิระได้ลอบส่งสารไปทูลพระเจ้าติโลกราช ขอขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ และนัดหมายให้พระเจ้าติโลกราชยกทัพมาตีเมืองปากยม เมืองสุโขทัย และเมืองชากังราวได้สำเร็จ พระเจ้าติโลกราชจึงให้ยุทธิษฐิระไปครองเมืองภูคา ต่อมาให้ครองเมืองพะเยาและควบคุมเมืองแพร่กับเมืองน่าน อันเป็นเขตแดนประชิดแคว้นสุโขทัยทางแม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน เมื่อเป็นเจ้าเมืองพะเยาแล้ว ยุทธิษฐิระได้สร้างเมืองพะเยาแห่งใหม่ สร้างวัดป่าแดนหลวง สร้างพระพุทธรูปแก่นจันทน์ และยังเชื่อกันว่า ได้อัญเชิญรอยพระพุทธบาทมาจากแคว้นสุโขทัยด้วย สร้างเมื่อพะเยาแห่งใหม่ ยุทธิษฐิระได้บรรดาศักดิ์เป็นเจ้าหมื่นเมืองพะเยาและพระเจ้าติโลกราช ยกขึ้นเป็นลูก จากจารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๗ กล่าวว่า ยุทธิษฐิระมาสร้างบ้านหนองเต่าให้เป็นที่อยู่ใหม่ อาจกล่าวได้ว่าขณะนั้นพระยายุทธิษฐิระมีอำนาจค่อนข้างมาก ทางฟากตะวันออกของแคว้นล้านนา ตั้งแต่ใต้เมืองเชียงรายลงมาตลอด ไปจนสุดแคว้นล้านนาตะวันออก ชนกับเขตแดนแคว้นสุโขทัย ยุครุ่งเรืองของเมืองพะเยาเริ่มที่ยุคพระยายุทธิษฐิระครองเมือง และสิ้นสุดก่อนที่แคว้นล้านนาจะถูกพม่ายึดครองเมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๑ รวมทั้งผู้ครองเมือง ๑๓ คน คนสุดท้ายคือ พระยาเมืองตู้

สมัยพม่าปกครองล้านนา ความเสื่อมของอาณาจักรล้านนาเกิดขึ้นในปลายราชวงศ์มังราย รวมไปถึงเมืองพะเยาด้วย เป็นการเสียเอกราชของล้านนาตลอดไป พม่าปกครองล้านนาถึงสองร้อยปี นับตั้งแต่พระเจ้าบุเรงนองครองอำนาจ (พ.ศ.๒๑๐๑ - ๒๓๑๗) ในสมัยราชวงศ์มังราย เมืองเชียงรายมีฐานะเป็นเมืองอุปราชและเป็นศูนย์กลางของกลุ่มเมือง ในเขตตอนบนของล้านนา ในสมัยพม่าปกครองเชียงรายมีความสำคัญรองจากเชียงแสน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๒๔๔ เป็นต้นมา พม่าให้เชียงแสนเป็นศูนย์กลางทางตอนบนของล้านนาขึ้นตรงต่อพม่า และในปี พ.ศ.๒๒๗๖ เมืองแพร่ น่าน ลำปาง ฝาง เมืองสาด เมืองเชียงของ และเมืองเทิง ทั้งหมดต่างขึ้นต่อเชียงแสน แต่เมืองเชียงรายไม่ได้ขึ้นกับแชียงแสน พม่าให้เมืองเชียงรายมีอำนาจครอบคลุมเมืองพยาว เมืองพาน เมืองเทิน เมืองชลาว และเมืองลอ ในปี พ.ศ.๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยึดเชียงใหม่ได้ จึงโปรดให้เจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองลำปาง ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของไทย เพื่อต่อต้านพม่าที่ยังยึดครองดินแดนล้านนาบางส่วน

ในปี พ.ศ.๒๓๓๐ ครั้งนั้นเมืองเชียงแสนยังอยู่ในอำนาจพม่า ฝ่ายพม่าส่งกองทัพมาตีเมืองฝางได้แล้ว ให้ปราบปรามบ้านเล็กเมืองน้อยอื่น ๆ ทำให้เจ้าเมืองฝ่ายล้านนา ต่างพากันลี้ภัยไปอยู่เมืองลำปาง มีชาวพะเยาก็หนีไปอยู่เมืองลำปางด้วย สมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากพม่ายึดครองแล้วเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา การฟื้นฟูเมืองพะเยาได้กระทำหลังการฟื้นฟูเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ได้อย่างมั่นคงแล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เมืองพะเยา เมืองงาว และเมืองเชียงราย ได้มีการตั้งเมืองขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.๒๓๘๖ เมืองพะเยากับเมืองงาวขึ้นกับเมืองลำปาง ส่วนเมืองเชียงรายขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองลำปางได้ส่งเชื้อสายของตนมาปกครองพะเยา ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๘๗ เจ้าเมืองพะเยาคนแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เจ้าพุทธวงศ์ เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยา ในเวลาต่อมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองพะเยาที่อยู่ด้านตะวันออกติดกับกว๊านพะเยา มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม เป็นเมืองหน้าด่านซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการสงครามอยู่เสมอ โดยเฉพาะสงครามเชียงตุง ทั้งสามครั้ง ในปี พ.ศ.๒๓๙๒ - ๒๓๙๕ และ๒๓๙๗ ชาวเมืองพะเยาถูกเกณฑ์ไปทำสงครามด้วยทุกครั้ง ในปี พ.ศ.๒๓๘๖ เจ้าหลวงวงศ์ เป็นผู้นำชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลำปาง แล้วฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นใหม่ จากสภาพป่ารกร้าง โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสันเวียงใหม่ ในปี พ.ศ.๒๔๔๘ เจ้าหลวงมหาชัย ผู้ครองเมืองพะเยาถึงแก่กรรม ในห้วงเวลาที่ครองเมืองอยู่เป็นช่วงเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดให้ปฎิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองพะเยาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ มณฑลลาวเฉียง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มณฑลพายัพ มีที่ว่าการมณฑลอยู่ที่เชียงใหม่ เงี้ยวปล้นเมือง เงี้ยวเป็นไทยใหญ่กลุ่มหนึ่งได้ก่อความไม่สงบ ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ โดยพกาหม่อง ได้นำพรรคพวกเงี้ยวประมาณ ๓๐ - ๔๐ คน เข้าปล้นเมืองแพร่ แล้วลุกลามถึงเมืองน่านกับเมืองพะเยา เจ้าเมืองพะเยาได้ไปขอกำลังทหารจากเจ้าผู้ครองนครเมืองลำปางให้มาปราบเงี้ยว สามารถปราบได้ราบคาบ หลังจากนั้นก็ได้มีการนำเอาดินจี่ตามวัดร้าง ที่มีอยู่รอบเมืองไปก่อกำแพงเมือง จากเมืองพะเยาเป็นจังหวัดพะเยา เมื่อกบฎเงี้ยวสงบลงแล้ว เมืองพะเยาได้เปลี่ยนเป็นจังหวัด เรียกว่า จังหวัดบริเวณพะเยา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๘ ให้เปลี่ยฐานะเป็นอำเภอเมืองพะเยา แล้วให้เจ้าอุปราชมหาชัย คีตสาร รักษาการในตำแหน่งเจ้าเมืองพะเยา ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ เมืองพะเยา เมืองเชียงคำ แม่ใจ จุน อยู่ในการปกครองของเมืองเชียงราย ส่วนเมืองปง เชียงม่วน ขึ้นอยู่กับเมืองน่าน

ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ได้มีประกาศจัดตั้งจังหวัดพะเยา โดยรวบรวมตำบลในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ผนวกกับตำบลในอำเภอเมืองพะเยา ตั้งเป็นอำเภอแม่ใจ ปัจจุบันจังหวัดพะเยา มี ๗ อำเภอและ ๒ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอเชียงคำ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอจุน อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน กิ่งอำเภอภูซาง และกิ่งอำเภอภูกามยาว

.................................................

หากจะมีคำถามว่าเมืองพะเยาลูกปัจจุบันนี้ตั้งขึ้นมาเมื่อไหร่ก็คงจะได้คำตอบที่แตกต่างกันไป แต่ถึงอย่างไรก็มิใช่เป็นลูกแรกแน่นอนเพราะลูกแรกจะมีรูปพรรณสันฐานดังน้ำเต้า เมื่อพิจารณาตามประวัติความเป็นมาของเมืองพะเยาลูกปัจจุบันอย่างน้อยก็น่าจะเป็นลูกที่สามที่มีพรรณสันฐานดังนั่งกระต่าย ( น่าง - เครื่องมือดักสัตว์) ซึ่งประกอบด้วยประตูทั้ง ๘ คือ.-ประตูชัย,ประตูปู่ยี่,ประตูปราสาท,ประตูแป้น,ประตูท่านาง,ประตูเหล็ก,ประตูกลอง,และประตูออมปอม แต่หลักฐานบางแห่งมีประตูเหล้าด้วยจึงน่าจะเป็นความเข้าใจผิดด้วยประการใดประการหนึ่งเป็นแน่ ที่สำคัญก็คือเมืองพะเยานี้สร้างขึ้นเมื่อไหร่และหลักฐานอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้บ้างสำหรับเมืองลูกแรกนั้นมีหลักฐานชัดเจนว่าได้สร้างขึ้นในสมัยของพระยาจอมธรรมซึ่งได้อพยพมาจากเมืองเชียงแสนแล้วได้ตั้งขึ้นในศักราช ๔๔๑ พ.ศ.๑๕๐๒ แต่สำหรับลูกปัจจุบันนี้ในตำนานได้บ่งว่าสร้างขึ้นโดยพระบุญเมืองแล้วจัดตั้งวัดต่างๆ ขึ้นทั้ง ๑๘ แห่ง พระองค์ทรงอยู่ในสมณเพศจนถึง ๓๓ พรรษาแล้วจึงทรงลาผนวชเพื่อช่วยกิจการบ้านเมืองซึ่งในขณะนั้นพระเมืองเกษทรงออผนวชตั้งแต่ศักราช ๙๐๑- ๙๐๘ ดังนั้นพระองค์จึงได้ขึ้นครองเมืองพะเยาต่อจากพระเมืองเกษ (พระเมืองตู้) เมื่อเทียบกับตำนานหน้า ๓๕๑ (หนังสือประวัติเมืองพะเยา) ที่กล่าวว่า "ท้าวเธอก็ทำให้เหมือนท้าวตนปู่คือขุนเคียนทุกประการ และท้าวเธอก็ให้กว้านแผ้วสถานที่ตั้งศาสนาคือวัดต่างๆ ๑๘ แห่ง แล้วก็ให้เบิกบายให้ชื่อประตูทั้ง ๘ ประตู ดังนั้นจึงขอกล่าวย้อนไปถึงกษัตริย์ผู้ปู่ของพระเมกุฏิที่ขึ้นครองเมืองพะเยาผู้มีนามว่า "พระเจ้ายอดเชียงราย"ซึ่งประสูติเมื่อศักราช ๘๐๐ ปีเปิกสง้า พ.ศ.๑๙๘๑ และได้ขึ้นครองเมืองพะเยาเมื่อศักราช ๘๕๓ ปีล้วงไก๊ พ.ศ.๒๐๓๔ ซึ่งมีนามตามจารึกว่า "พระเจ้าแสนญาณะ" และตามตำนานว่าพระเจ้าเมืองยี่ หรือ พระเจ้าหัวเคียน พระองค์ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปพระเจ้าตนหลวงนานถึง ๓๓ ปี (เท่ากับจำนวนพรรษาการผนวชของพระเมกุฏิพอดี) ซึ่งมาแล้วเสร็จในสมัยของพระเมืองเกษในศักราช ๘๘๖ พ.ศ.๒๐๖๗ ส่วนพระองค์ได้เสด็จลงไปครองกรุงศรีอยุธยาแล้วเสด็จสวรรคตเมื่อศักราช ๘๘๔ พ.ศ.๒๐๖๕ ในพระนามว่า "พระเจ้า นรบดีภูตาธิบดี" ผู้เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอาทิตย์หรือพระเมืองแก้ว (พระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ) นั่นเอง และเมื่อเทียบกับหลักฐานในศิลาจารึกที่ พ.ย.๓ แล้วก็ตรงกับปู่เวียงพระผู้มาครองเมืองพะเยา ต่อจากอาว์ของปู่เวียงพระ ( พระเจ้ายุทิษฐิระ) ด้วยเหตุนี้เองในนามของเจ้าเมืองผู้ครองเมืองพระเยาลูกปัจจุบันจึงต้องตกอยู่กับ พระเมกุฎิ (พระมหาธรรมราชา) ซึ่งได้ขึ้นสร้างและครองเมืองพะเยาลูกปัจจุบันเมื่อศักราช ๙๐๑ พ.ศ. ๒๐๘๒ เมื่อนับถึงปัจจุบันนี้กินเวลาได้ ๔๕๙ ปี สำหรับพระเมืองแก้วผู้เป็นพระราชบิดาของเมกุฏิจึงอยู่ในฐานะของพ่อเมืองหรือเจ้าพ่อหลักเมืองอันเป็นบุพการีของเจ้าผู้ครองเมือง ซึ่งชาวพะเยาได้เอ่ยถึงพระนามทุกครั้งยามเมื่ออัญเชิญดวงพระวิญญาณของพระเสื้อเมือง และพระเจ้ายอดเชียงรายในฐานะผู้เป็นพระอัยกาจึงนับเป็นปู่เวียงตรงตามหลักฐานทุกประการ

หลักฐานในการตั้งเมืองพะเยาลูกแรก - (ประวัติเมืองพระเยาฉบับร่าง) มีกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า " ฝ่ายพันธเสนาปุโรหิตาจารย์ " พากันไปตรวจดูภูมิสถานที่ตั้งเมืองใหม่ ไปพบรากฐานของเมืองโบราณเมืองหนึ่งตั้งอยู่ปลายเทือกเขาชมภูหางดอยด้วนไปจรดฝั่งแม่น้ำสายตา เมืองนี้ปรากฏว่ามีค่ายคู ลึกและกว้าง ๗ วา กำแพงเมืองกว้าง ๑๐๐๐ วา ยาว ๑๒๐๐ วา ประตู ๘ ประตู ตัวเมืองมีสันฐานคล้ายรูปผลน้ำเต้า ทิศเหนือเป็นเนินสูง ส่วนทิศใต้และทิศตะวันออกมีพื้นลาดต่ำลงมา ทิศตะวันตกมีหนองใหญ่และมีหนองน้ำทางทิศอีสาน มีสัณฐานลักษณะชัยมงคลอันประเสริฐนามเมืองนี้มีชื่อว่า''สีหราช'' จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลขุนจอมธรรมให้ทรงทราบ เมื่อขุนจอมธรรมได้ทราบเรื่องโดยตลอดแล้วเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ทรงรับสั่งให้พันธเสนาปุโรหิตาจารย์ ข้าราชบริวารและประชาชนไปแผ้วถางให้เรียบร้อยดีงามแล้วให้จัดสร้างมณฑปที่ประทับขึ้นในท่ามกลางเมือง ประดับด้วยช่อธงจุดประทีปโคมให้สว่างทั่วบริเวณนั้น ตั้งบายศรี อัญเชิญเทวดาตามพระราชประเพณี ฝังเสาหลักเมือง แก้วมณี เงินทอง และปลูกศิริรุกขชาติไว้ที่ใกล้ประตูเมืองมีประตูคุ้มน้อย ประตูคุ้มหลวง ทรงอาราธนาพระมหาเถระมาสวดมนต์ ทรงถวายมหาทานแก่พระมหาสังฆเถระ ทรงสังเวยเทวดาแล้วอภิเษกขุนจอมธรรมขึ้นครองเมืองพะเยา

มีข้อที่ควรยกขึ้นมาพิจารณาอยู่ประเด็นหนึ่งก็คือ เหตุใดพระเจ้าตนหลวงจึงได้ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง ๓๓ ปี ทั้งๆที่ควรจะเสร็จในชั่วเวลาไม่ทันข้ามปีเพราะมีขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก ประกอบกับเป็นการก่อสร้างโดยพระราชดำริของพระเจ้ายอดเชียงรายอีกด้วย ดังนั้นจึงน่าจะมีเหตุบางประการที่ชวนให้วิเคราะห์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเวลาที่เท่ากันกับเวลาออกผนวชของพระเมกุฏิพอดี คือ ๓๓ ปี เมื่อเริ่มก่อสร้างพระเจ้าองค์หลวงนั้นตรงกับศักราช ๘๕๓ ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้ายอดเชียงรายได้ครองเมืองพะเยาต่อจากพระเจ้ายุทิษฐิระ ในตอนนั้นพระเมกุฏิอายุได้ ๕ พรรษา แต่ในปีที่เริ่มสร้างวัด ในตำนานระบุว่าเป็นศักราช ๘๔๙ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่พระเมกุฏิประสูติได้ ๑ ปี จึงน่าจะสันนิษฐานว่าวัดพระเจ้าองค์หลวงนี้ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในการประสูติของพระเมกุฏิเป็นการเฉพาะ และพระเจ้ายอดเชียงรายคงได้ตั้งพระราชปณิธานไว้ว่าจะทำการฉลองสมโภชน์ก็ต่อเมื่อพระเมกุฏิจะทรงครองราชย์ ซึ่งพระองค์คงจะทรงคาดหมายว่าถ้าพระเมกุฏิจะทรงผนวชในศักราช ๘๖๘ แล้วลาผนวชเมื่อศักราช ๘๖๙ เพื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ก็จะครบ ๒๐ ปีในการสร้างวัดพอดี แต่เผอิญว่าพระเมกุฏิไม่ยอมลาสิกขาเพราะยังมีพระเมืองเกษเป็นผู้รับสืบสันตติวงศ์ต่อมา ดังนั้นพระเจ้าองค์หลวงก็ยังไม่อาจที่จะทำให้แล้วเสร็จได้ จนกระทั่งพระเจ้ายอดเชียงรายเสด็จสวรรคตไปแล้วในศักราช ๘๘๔ ก็ยังไม่ลาผนวช ดังนั้นพระเมืองเกษจึงได้รีบสร้างให้เสร็จเสียในศักราช ๘๘๖ เพื่อที่จะให้พระเมกุฏิจำยอมลาผนวชเพื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ให้สมกับพระราชประสงค์ของพระอัยกาแต่ก็หาเป็นผลสำเร็จไม่ ที่จริงแล้วก็น่าจะเป็นเวลาที่พอเหมาะเพราะครบ ๓๓ ปี ในการสร้างพระเจ้าองค์หลวงพอดี (๘๘๖ - ๘๕๓) แต่พระเมกุฏิคงจะขอผลัดเพี้ยนให้บวชได้ครบ ๓๓ พรรษาเสียก่อนเพื่อที่จะได้เท่ากับเวลาที่สร้างพระพุทธรูปพอดีซึ่งพระเมืองเกษก็คงจะจำยอมตามพระประสงค์ อีกทั้งคงจะรับปากว่าจะยอมบวชทดแทนให้ถึง ๗ พรรษาอีกด้วย ในที่สุดพระเมกุฏิจึงได้ลาผนวชเพื่อขึ้นครองราชย์ ในศักราช ๙๐๑ ซึ่งในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ ๕๓ พรรษาแล้ว ถ้าเหตุการณ์เป็นไปในทำนองนี้จริงแล้วก็นับได้ว่าพระเจ้าองค์หลวงนี้เป็นพระคู่บารมีของพระเมกุฏิโดยแท้ซึ่งก็สอดคล้องกับเหตุผลที่ว่าพระเมกุฏิ (พระบุญเมือง) ผู้สร้างเมืองพะเยาลูกปัจจุบันเมื่อศักราช ๙๐๑ จึงได้รับการขนานนามว่า "เจ้าเมืองพะเยา" และพระเมืองแก้วก็อยู่ในฐานะเป็นพ่อเมืองหรือเจ้าพ่อหลักเมืองซึ่งได้ตั้งศาลหลักเมืองไว้ที่บริเวณสนามเวียงแก้ว ส่วนพระเจ้ายอดเชียงรายก็อยู่ในฐานะเป็นปู่เวียงและพระเจ้าตนหลวงก็อยู่ในฐานะที่เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองพะเยาอันต้องตรงตามหลักฐานเป็นอย่างดี

<<<กลับสู่่ด้านบน>>>