ประติมากรรมช้าง

ช้างประดับฐานพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยา

ในงานศิลปกรรมไทยเรามักพบช้างเข้าเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอ โดยเฉพาะศิลปกรรมอันเนื่องในพุทธศาสนา

“ช้าง” เข้ามาเกี่ยวข้องในพระพุทธศาสนาและงานศิลปกรรมไทยได้อย่างไร หลายท่านคงจะได้เคยพบเห็นมาบ้างแล้วจากพุทธประวัติหรือความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ว่าช้างเป็นที่ค้ำจุนจักรวาลหรือค้ำจุนพระพุทธศาสนา เช่น คติการสร้างเจดีย์ที่มีช้างล้อมรอบฐานมักนิยมเรียกเจดีย์ช้างอ้อม ช้างรอบ หรือช้างค้ำ เป็นต้น ในศิลปะล้านนาสกุลช่างพะเยาพบว่าได้ประติมากรรมที่เป็นรูปช้างอยู่จำนวนมากและมีหลายรูปแบบ เช่น ช้างที่เป็นประติมากรรมลอยตัวและช้างที่เป็นประติมากรรมนูนสูงประดับส่วนฐานพระพุทธรูปประติมากรรมรูปช้างของพะเยาที่มีมารูปแบบเป็นอย่างไร มีอายุเวลาเท่าใดเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ในฐานที่ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาวิจัยพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะยาจึงขอนำเสนอรูปแบบ อายุเวลา ตลอดจนคติความเชื่อในการสร้างช้างประดับพระพุทธรูป เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาศิลปะล้านนาสกุลช่างพะเยาต่อไป

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าพระพุทธรูปในศิลปะล้านนานั้นส่วนใหญ่จะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยโลหะสำริด แต่มีศิลปะล้านนาสกุลช่างพะเยานิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยหินทราย เหตุที่สกุลช่างพะเยานิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยหินทรายส่วนหนึ่งคงมาจากบริเวณจังหวัดพะเยามีแหล่งหินทรายที่สามารถนำมาสร้างงานประติมากรรมได้หลายแหล่ง และไดพบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการสกัดหินนำมาใช้ด้วย คือ แหล่งตัดหินบริเวณเทือกเขาใกล้สำนักวิปัสสนาผาธรรมนิมิต อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยาจำนวนมากแล้ว ประติมากรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากพระพุทธรูปส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาแทบทั้งสิ้น ที่จะกล่าวในที่นี้คือ ประติมากรรมช้างหินทรายส่วนฐานสกุลช่างจังหวัดพะเยา แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ

คือ

๑.ช้างที่เป็นประติมากรรมลอยตัว มีลักษณะเหมือนจริงทุกประการ

พบทั้งที่อยู่ในท่ายืนและท่าหมอบ บางครั้งเป็นช้างที่ประดับเครื่องทรง นอกจากนี้หลังจากช้างบางเชือกยังเจาะเป็นรูหรือเป็นร่อง สันนิษฐานว่าใช้สำหรับสวมเดือยหรือรองรับส่วนฐานของพระพุทธรูปฐานธรรมาสน์ หรือมักใช้ปักเครื่องสูงละเครื่องบูชาอื่น ๆ

๒. ช้างที่เป็นประติมากรรมนูนสูง ประดับส่วนฐานพระพุทธรูป แบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ

๒.๑ ประติมากรรมกึ่งลอยตัว คือ ทำเป็นช้าง ๓ หรือ ๔ เชือก หันหลังชนกันรอบแท่งหรือแกนหิน ยืนอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมหรืฐานหน้ากระดานเกลี้ยงรองรับส่วนฐานพระพุทธรูป ช้างจะยื่นออกมาครึ่งตัว ประกอบด้วยส่วนหัวและขาหน้า

๒.๒ ช้างสามเศียร ช้างสามเศียรนั้นพบทั้งช้างสามเศียร ๓ เชือก และช้างสามเศียรเชือกเดียว ซึ่งคงหมายถึงช้างเอราวัณ สำหรับช้างสามเศียรนี้บางส่วนพบเป็นประติมากรรมลอยตัวด้วยประติมากรรมประดับฐานพระพุทธรูปส่วนใหญ่จะมีภาพบุคคลหรือภาพเทวดาประกอบที่พบมาก ได้แก่ ช้างประดับด้วยเทวดาเทพธิดา หรือภาพบุคคลเหนือหลังช้างรองรับส่วนฐานพระพุทธรูปอีกชั้นหนึ่ง นอกจากจะพบประติมากรรมช้างประดับฐานพระพุทธรูปแล้ว ยังพบว่ามีการใช้สิงห์หรือม้า ช้างหินทรายเหล่านี้เป็นประติมากรรมสกุลช่างพะเยา

การกำหนดอายุโดยใช้ประติมากรรมช้างอย่างเดียวนั้นไม่สามารถกำหนดให้แน่ชัดได้ เนื่องจากการสร้างนั้นเกิดจากคติความเชื่อ ซึ่งสามารถทำสืบต่อกันมาได้ตลอดเวลา ดังนั้นการกำหนดอายุสามารถกระทำได้จากการศึกษาเปรียบเทียบประกอบหลักฐานด้านอื่น ๆ เช่น จากรูปแบบของพระพุทธรูปหินทราย ลวดลายเทวดาที่ประดับเหนือหลังช้างประกอบด้วยหลักฐานอื่น ๆ พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา ลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพระพุทธรูปสมันสุโขทัยและพระพุทธรูปสมัยล้านนา ในระยะที่ ๒ หรือแบบสิงห์สอง

อิทธิพลของศิลปะสมัยสุโขทัยและศิลปะล้านนาในพะเยาคงเกิดขึ้นในสมัยของพญายุธิษฐิระปกครองเมืองพะเยา ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราชปกครองอาณาจักรล้านนา หลักฐานสำคัญคือ ศิลาจารึกและจารึกที่ฐานพระพุทธรูปทั้งพระพุทธรูปสำริดและพระพุทธรูปหินทราย กล่าวว่าถึงปีที่สร้างตรงกับสมัยของพญายุธิษฐิระ สอดคล้องกับพระเจ้าติโลกราชที่สร้างเจดีย์วัดป่าแดงหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ทรงกลมในสมัยสุโขทัย

พระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา ซึ่งมีลักษณะเดียวกับพระพุทธรูปทรงเครื่องสำริดในสมัยล้านนา สามารถเปรียบเทียบได้กับเทวดาปูนประดับวัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ ที่สร้างขึ้นในพระเจ้าติโลกราช จากลักษณะของเทวดาประดับฐานพระพุทธรูปและพระพุทธรูปทรงเครื่องหินทรายนี้แสดงให้เห็นถึงความสำพันธ์ทางด้านรูปแบบของศิลปะล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ได้เป็นอย่างดี จึงอาจกล่าวได้ว่า ประติมากรรมช้างประดับส่วนฐานพระพุทธรูปสกุลช่างพะเยาสร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยา คือ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑

ดังได้กล่าวไว้ในช่วงตอนต้นแล้วว่า ช้างได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานศิลปกรรมไทยอยู่เสมอ โดนเฉพาะการนำมาประดับส่วนฐานเจดีย์ที่พบอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เจดีย์วัดช้างล้อม วัดช้างรอบและวัดช้างค้ำ ที่สุโขทัย ศรีสัชนาลัย นาน เป็นต้น คติการสร้างช้างประดับฐานเจดีย์หรือฐานพระพุทธรูป น่าจะมีที่จากคติเดียวกัน คือ ช้างเป็นผู้ค้ำจุนจักรวาล ซึ่งมีกล่าวไว้ในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ เรื่องมหากาพย์รามายณะพระพุทธศาสนาก็มีความเชื่อเกี่ยวกับคติเช่นนี้เดียวกัน เช่น ที่ถ้ำการ์ลี ในหระเทศอินเดีย และเจดีย์รุวันเวลิในประเทศศรีลังกา ก็มรช้างประดับส่วนฐานของพระเจดีย์ ความหมายของช้างประดับฐานเจดีย์และพระพุทธรูปในพระพุทธศาสนา จึงน่าจะหมายถึง “ช้างคือผู้ค้ำจุนพระพุทธศาสนา”

คติการสร้างช้างประดับส่วนฐานเจดีย์ในสมัยสุโขทัย น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะลังกา โดยพิจารณาจากเจดีย์ทรงกลมหรือทรงลังกา และพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยล้วนแต่มีลักษณะของศิลปะลังกาทั้งสิ้น ทั้งนี้ยังมีหลักฐานทางศิลาจารึกแสดงให้เห็นการติดต่อแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนาระหว่างลังกา สุโขทัยและล้านนาอีกด้วย ดังนั้น คติการสร้างสร้างประดับฐานพระเจดีย์น่าจะมาจากหลังกา มีอิทธิพลต่อสุโขทัยและเผยแพร่ไปยังล้านาอีกด้วยต่อหนึ่ง คติการสร้างช้างประดับฐานพระพุทธรูปในศิลปะล้านนาสกุลช่างพะเยาน่าจะมาจากคติเดียวกับการสร้างช้างประดับฐานเจดีย์ที่ผ่านมาของสุโขทัยและล้านนา อันหมายถึงช้างคือ ผู้ค้ำจุนพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องหมายแสดงความยิ่งใหญ่ ความมีอำนาจ ประกอบกับมีเทวดาประดับเหนือหลังช้าง เทวดานี้ส่วนใหญ่อยู่ในท่าพนมมือ ยกมือขึ้นทูนเชิญฐานพระพุทธรูป หรือบางครั้งถือดอกบัวพุ่มดอกไม้ทูนเชิญขึ้นรองรับฐานพระพุทธรูป ช้าง เทวดา และพานพุ่มดอกบังเหล่านี้ น่าจะหมายถึงการทูนเชิญการน้อมสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเอง