พระเจ้าทองทิพย์

พระเจ้าทองทิพย์พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอแม่ใจประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีสุพรรณ ตำบลแม่ใจ ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอแม่ใจ พระเจ้าทองทิพย์มีพุทธลักษณะงดงามมาก เป็นพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่น ๓ หล่อด้วยทองสำริดทั้งองค์มีพระพักตร์เป็นเนื้อทองสุกปลั่งตลอดเวลา พระศกละเอียด พระเกศเป็นเปลวสวยงาม หน้าตักกว้าง๒๙นิ้ว สูง๒๔นิ้ว จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ชาวอำเภอแม่ใจเล่าว่า แต่เดิมนั้นบริเวณบ้านแม่ใจโดยทั่วไปเต็มไปด้วยป่าไม้ กอไผ่ขึ้นหนาทึบและได้เกิดไฟลุกไหม้บริเวณรอบ ๆ ดงไผ่จึงได้พบพระเจ้าทองทิพย์ อยู่ในดงไผ่นั้น ต่อมาจึงได้สร้างอาคารชั่วคราวครอบไว้ และด้วยจิตศรัทธาของชาวแม่ใจ จึงได้ร่วมสร้างวิหารถาวรครอบไว้บริเวณดงกอไผ่เดิมโดยไม่โยกย้ายเลยจนถึงปัจจุบันนี้

จากคำบอกเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าทองทิพย์ และที่มาของพระเจ้าทองทิพย์นั้น เพราะว่าเมื่อฝนฟ้าไม่ตก บ้านเมืองแห้งแล้ง หรือชาวบ้านเกิดการเจ็บป่วยประสบเคราะห์กรรมใด ๆ ก็จะอัญเชิญพระเจ้าทองทิพย์ลงจากอาสนะทำพิธีสักการะบูชา แห่สรงน้ำ ฝนก็จะตกลงมาทันที หร์อผู้ประสบเคราะห์กรรมก็จะมีโชคลาภ มีความสุขสบายยิ่งขึ้นด้วยเหตุนี้พระเจ้าทองทิพย์จึงเป็นที่เคารพสักการะของชาวพุทธตลอดมา

วันที่ ๑๗ เมษายนของทุกปีจะเป็นวันสรงน้ำของพระเจ้าทองทิพย์ ประชาชนพากันมาทำพิธีวันสำคัญนี้มากมาย และนำเอาน้ำที่สรงพระเจ้าทองทิพย์แล้วใส่ภาชนะกลับไปบ้านเพื่อประพรมลูกหลานให้อยู่ดีมีสุข กล่าวกันว่าปีใดไม่ได้มาสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ปีนั้นก็จะไม่ค่อยมีความสุขสบายและไม่มีโชคลาภ(ชรินทร์ แจ่มจิตร ๒๕๒๔ เอกสารอัดสำเนา)

พระเจ้าองค์ดำ

พระเจ้าองค์ดำเป็นพระพุทธรูปทองสำริด มีผิวสีดำ ค้นพบโดยพ่อหนานใจ วรรณจักร ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธาราม ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ ท่านได้เดินธุดงค์ไปบริเวณรอบหนองเล็งทราย และได้พบพระพุทธรูปองค์นี้ที่วัดร้าง ซึ่งอยู่บริเวณบ้านดงอินคา และบ้านดงบุนนาคในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเขตบริเวณหนองเล็งทรายทั้งหมด ท่านจึงอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดโพธาราม ต่อมาท่านได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง (วัดขัวตาด) ซึ่งเป็นวัดร้าง พ่อหนานใจและชาวบ้านได้ร่วมกันบูรณะซ่อมแซมและอัญเชิญพระเจ้าองค์ดำไปประดิษฐานที่วัดศรีบุญเรือง จนถึงปัจจุบัน

ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ (เดือน ๙ เหนือ) ของทุกปี จะมีงานประเพณีสรงน้ำ พระเจ้าองค์ดำ มีประชาชนไปร่วมทำพิธีเป็นจำนวนมาก เชื่อกันว่าถ้าปีไหนฝนไม่ตกตามฤดูกาล ชาวบ้านจะอัญเชิญลงจากอาสนะเพื่อทำพิธีขอฝน(เอกสารบรรยายสรุป อำเภอแม่ใจ ๒๕๓๙)

พระพุทธบาทจำลอง วัดศรีโคมคำ

พระพุทธบาทจำลอง ประดิษฐาน ณ วิหารวัดศรีโคมคำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีเรื่องราวที่ได้จากการบันทึกของพ่อหนานเลาแก้ว ศีติสาร อดีตสารวัตรศึกษาอำเภอเมืองพะเยา ซึ่งจดบันทึกไว้ว่า

พระพุทธบาทจำลองคู่นี้ทำจากหิน ฐานขนาดกว้าง ๙๘.๕๐ เซนติเมตร ยาว ๑๙๗ เซนติเมตรมีลักษณะลวดลายต่าง ๆ เช่น มหาปุริสลักษณะ และอนุพยัญชนะ โดยครบถ้วน สลักเป็นลวดลายสวยงามเป็นพิเศษ จัดเป็นปูชนียวัตถุและโบราณวัตถุมาตั้งแต่ดั้งเดิม ปัจจุบันนี้ประดิษฐานไว้ในวิหาร เมื่อเข้าไปบริเวณเขตพุทธาวาส วิหารพระพุทธบาทจะตั้งอยู่ทางขวามือก่อนจะถึงวิหารประธานใหญ่ทางภาคเหนือนิยมเรียกพระเจ้าตนหลวง การพบรอยพระพุทธบาทนี้เนื่องมาจากในช่วงที่กำลังปรับปรุงบ้านเมืองให้ฟื้นคืนสภาพเดิม หลังจากถูกเงี้ยวบุก เจ้าหลวงประเทศอุดรทิศ (มหาชัย ศีติสาร) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งอุปราช ได้มีคำสั่งให้รื้อถอนเอาอิฐตามโบราณสถานที่มีอยู่มาก นำมาก่อสร้างกำแพงเมืองให้แข็งแรงยิ่งขึ้น

ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒ จุลศักราช ๑๒๖๕ นายตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธร ได้สั่งให้ตำรวจรื้อฐานเจดีย์วัดสวยจันทร์ใน ซึ่งอยู่ด้านหลังที่ว่าการอำเภอปัจจุบันนี้ เพื่อเอาอิฐมาทำถนน จึงพบ “รอยพระพุทธบาทจำลอง” คู่หนึ่งเป็นวัตถุโบราณไม่ทราบว่าสร้างมากี่ร้อยปีมาแล้ว เพราะเป็นเจดีย์เก่าเป็นวัดร้างมาแต่ก่อน ฝ่าพระบาทนั้นมีลวดลายตามมหาปุริสลักษณะ และอนุพยัญชนะ ๘๐ โดยครบถ้วนสวยงามมากลักษณะบรรจุพุทธบาทนั้นคือ เอาปลายนิ้วพระบาทชี้ขึ้นด้านบน ส้นพระบาทลงล่าง รอยเบื้องซ้ายอยู่ทิศใต้ รอยเบื้องขวาอยู่ทิศเหนือ ตั้งห่างประมาณ ๒ ศอก

เมื่อเอาพระพุทธบาทจำลองออกจากฐานพระเจดีย์แล้วต่างก้อมีความปีติยินดี “เจ้าหลวงอุดรประเทศทิศ” (มหาไชยวงศ์) เจ้าเมืองพะเยาและ “หลวงศรีสุทธาการ” ข้าหลวงประจำจังหวัดพะเยา สมัยนั้นเป็นจังหวัดพะเยา เรียกว่า “บริเวณ” จึงได้มอบพระพุทธบาทนี้ทั้งสองรอยนี้ให้ พระครูศรีวิลาสวชิรปัญญา เจ้าคณะเมือง (จังหวัด) วัดหัวข่วงแก้ว โดยสร้างวิหารพลางครอบไว้ ต่อมาเจ้าหลวงอุดรประเทศทิศถึงแก่อนิจกรรม จังหวัดพะเยามีฐานะเป็นอำเภอหนึ่ง จุลศักราช ๑๒๖๘ พุทธศักราช ๒๔๔๙ เจ้าอุปราช(มหาไชย ศีติสาร) ได้รับสัญญาบัตรเป็นเจ้าหลวงครองเมืองพะเยา

วิหารหลวงที่บรรจุพระพุทธบาทวัดหัวข่วงแก้วชำรุดหักพังไปมาก ต่อมาท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ท่านได้ก่อสร้างวัตถุโบราณสถาณที่ต่าง ๆ ในจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ และจังหวัดอื่น ๆเป็นอันมาก ฝ่ายพระสงฆ์ มีพระครุวิลาสวชิรปัญญา ฝ่ายบ้านเมืองมีเจ้าหลวงประเทศอุดรทิศ พร้อมกันให้ไปอาราธนาท่านมาสร้างวิหารใหญ่ สำหรับพระเจ้าตนหลวง ท่านรับอาราธนาและมาสร้างขึ้นเมื่อปี จุลศักราช ๑๒๘๔ (พุทธศักราช ๒๔๖๕)

เมื่อสร้างพระวิหาร ศาลาอุโบสถพร้อมทั้งลาดพื้นข่วงแก้วแล้ว จึงทำบุญฉลองในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ครั้นฉลองเสร็จแล้ว พระครูศรีวิลาสวชิรปัญญา และเจ้าหลวงประเทศอุดรทิศต่างก้อพิจารณาเห็นพระพุทธบาทที่อยู่วัดข่วงแก้วเกรงว่าจะชำรุดเสียหาย จึงไปกราบเรียนครูบาศรีวิชัยว่าใคร่นำเอารอยพระพุทธบาทมาไว้ที่วัดศรีโคมคำท่านครูบาเจ้ายินดีรับ จึงให้เอามาบรรจุไว้ เมื่อวันที่๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ โดยสร้างเป็นวิหารครอบรอยพระบาทไว้เรียกว่า “วิหารพระพุทธบาท”รอยพระพุทธบาททั้งสองนี้มีลักษณะได้สัดส่วน ลวดลายมหาปุริสลักษณะก็มีครบถ้วนทั้งสองรอยสลักได้งดงามเป็นพิเศษ จัดได้ว่าเป็นปูชนียวัตถุอันควรค่าแก่การเคารพยิ่ง

พระเจ้าหินทิพย์

เป้นพระพุทธรูปหินทราย ฝีมือสกุลช่างพะเยาหน้าตักกว้าง ๗๒ นิ้ว ความสูง ๙๙ นิ้ว ปัจจุบันประดิษฐานที่วัดดงบุนนาค ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

จากการสอบถามนักประวัติศาสตร์ล้านนาท่านหนึ่ง คือ อาจารย์อินทร์ สุใจ ท่านได้ให้ความกระจ่างว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๐๑๐ โดยสกุลช่างพะเยา เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนรุ่นที่ ๒ แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดก๋อมก๊อ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านดงบุนนาคในปัจจุบัน สภาพที่พบเห็นก่อนนั้นมีแต่องค์พระตั้งอยู่บนแท่น ตากแดดตากฝนอยู่อย่างนั้น เพราะเสนาสนะสิ่งปลูกสร้างทรุดโทรมสูญหายไปหมดแล้ว

ล่วงมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ในสมัยนายอำเภอเพชร์ ดิษฐฐาตรี และท่านพระครูวัดดงบุนนาค ได้นำชาวบ้านไปอัญเชิญมาประดิษฐานที่ วัดบ้านดงบุนนาค และเกิดปาฏิหาริย์ปรากฏแก่สายตาชาวบ้านจึงพร้อมใจกันเรียกพระเจ้าหินทิพย์มาจนถึงปัจจุบัน

พระเจ้านั่งดิน

อยู่ที่อำเภอเชียงคำ ตามตำนานเล่าว่าพญาผู้ครองเมืองพุทธรสะได้ค้นพบประวัติ(ตำนาน) เมื่อนมจตุจุลศักราช ๑๒๓๓ ปีระกา เดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ วันจันทร์ พระพุทธเจ้าได้เสด็จออกเมตสตารรพสัตว์รอบโลกโดยอภินิหาร พอพระองค์เสด็จมาถึงเวียงพุทธรสะ(อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา)พระองค์ได้เสด็จไปประทับอยู่บนดอยสิงห์กุตตะ (พระธาตุดอยคำในปัจจุบัน) ทรงแผ่เมตตาประสาทพร ตรัสสั่งพญาคำแดงเจ้าเมืองพุทธรสะ ในขณะนั้นให้สร้างรูปเหมือนของพระองค์ไว้ยังเมืองพุทธรสะนี้ พอสัพพัญญูเจ้าตรัสจบก็ปรากฏว่าพระอินทร์องค์หนึ่ง พญานาคตนหนึ่ง พระฤาษี ๒ ตน และพระอรหันต์ ๔ องค์ ช่วยกันเนรมิตเอาดินศักดิ์สิทธิ์จากเมืองลังกาทวีปมาสร้างรูปเหมือนพระพุทธองค์ โดยใช้เวลาสร้าง ๑ เดือน กับ ๗ วันจึงแล้วเสร็จ

ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จไปโปรดสัตว์ทั่วถึงแล้ว จึงเสด็จเข้าสู่เมืองพุทธรสะอีกครั้ง ทรงเห็นรูปเหมือนที่ทรงให้สร้างนั้นเล็กกว่าองค์ตถาคต จึงครัสให้เอาดินมาพอกเสริม ให้ใหญ่กว่าเดิมเท่าองค์สัพพัญญู และพระพุทธองค์ได้แผ่รัศมีออกครอบจักรวาล รูปปั้นจำลองจึงเคลื่อนลงจากฐานชุกชี (แท่น) มากราบไหว้พระสัพพัญญูเจ้า พระองค์ได้ตรัสเทศนากับรูปเหมือนที่ให้สร้างขึ้นนั้นว่า “ขอให้ท่านจงช่วยอยู่รักษาศาสนาของตถาคตให้ครบห้าพันพรรษา” พระรูปนั้นได้กราบรับน้อมเอา แล้วประดิษฐานอยู่บนพื้นดินนั้นพระรูปเหมือนดังกล่าวคือ “พระเจ้านั่งดิน”ในปัจจุบันนั่นเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระเจ้านั่งดินองค์นี้ไม่ได้ประทับบนฐานชุกชีเหมือนกับพระพุทธรูปในอุโบสถวัดอื่น ๆ มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เคยมีชาวบ้านพากันสร้างฐานชุกชี แล้วอัญเชิญพระเจ้านั่งดินนั่งประทับ แต่มีเหตุปาฏิหาริย์ฟ้าผ่าลงมาที่อุโบสถถึง ๓ ครั้ง พุทธบริษัททั้งหลายจึงอาราธนาลงมาประดิษฐานบนพื้นดินดังเดิมตราบเท่าทุกวันนี้

พระเจ้าแข้งคม

พระเจ้าแข้งคม เป็นพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย มีอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีอุโมงค์คำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีหน้าตักกว้าง ๑.๓๐ เมตร สูง ๑.๙๐ เมตร การสร้างพระพุทธรูปแบบแข้งคมที่เกิดขึ้นในล้านนาน่าจะมีแรงบันดาลใจมาจากพระเจ้าแข้งคมที่พระเจ้าติโลกราชโปรดให้สร้างขึ้น โดยให้หล่อพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ มีลักษณะเหมือนพระพุทธรูปแบบลวปุระ(พระแข้งคม) ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดศรีเกิด จังหวัดเชียงใหม่

พระพุทธรูปแข้งคม วัดศรีเกิด จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแข้งคม ที่วัดศรีอุโมงค์คำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ถึงแม้จะทำขึ้นด้วยวัสดุต่างกันก็ตาม(ต่างกันที่พระพุทธรูปแข้งคม วัดศรีอุโมงค์คำ มีปลายนิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน) จึงสันนิษฐานว่าจะสร้างขึ้นในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน และจากรูปแบบที่มีลักษณะพิเศษซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสร้างขึ้นเป็นกรณีพิเศษ

หลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ยืนยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าติโลกราชกับเจ้าผู้ครองเมืองพะเยาในสมัยนั้น คือ พญายุทธิษฐิระ ผู้ที่พระเจ้าติโลกราชโปรดไปครองเมืองพะเยา นอกจากมีความสัมพันธ์อย่างสนิทกับพระเจ้าติโลกราชแล้ว พระองค์ยังเป็นผู้ทำนุบำรุงศาสนาอย่างมาก อาจเป็นไปได้ที่พญายุทธิษฐิระสร้างพระพุทธรูปแข้งคมขึ้นตามแบบอย่างพระเจ้าติโลกราช โดยช่างเมืองพะเยา และวัสดุหินทรายแทนสำริดจึงอาจกล่าวได้ว่าลักษณะของพระพุทธรูปแข้งคมที่วัดศรีอุโมงค์คำนี้ น่าจะเป็นแบบอย่างสกุลช่างพะเยา

พระเจ้าหิน(พระเจ้าบุนนาค)

พระเจ้าหินเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หินทราย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ประดิษฐานอยู่ที่วัดบุนนาค ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา มีหน้าตักกว้าง ๑.๖๒ เมตร สูง ๒.๖๔ เมตร พระเจ้าหินองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาจากหินทั้งองค์ ที่แกะสลักมาจากหินทั้งองค์ โดยแกะสลักมาจากหินก้อนใหญ่ องค์พระมีลักษณะสวยงามมาก พระพุทธรูปนี้ได้มาจากวัดร้างในเวียงลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา หลักฐานทางด้านโบราณคดีได้พบจารึกหมื่นลอมงคล ตรงกับ พ.ศ.๒๐๔๓ ที่กล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์และพระพุทธรูปจำนวนมากเพื่ออุทิศให้กับพระศาสนา ด้วยเหตุนี้เองจึงอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้น่าจะมีอายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นพระพุทธรูปที่ชาวเชียงคำและใกล้เคียงเคารพนับถือเป็นอย่างมาก จึงได้จัดงานประเพณีนมัสการพระพุทธรูปขึ้นทุกปี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ (เดือน ๕ เหนือ) ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาของทุกปี

พระเจ้ายั้งยอง

พระเจ้ายั้งยอง เป็นพระพุทธรูปหินทราย หน้าตักกว้าง ๒.๐๐ เมตร สูง ๓.๒๒ เมตร ประดิษฐานอยู่ที่วัดร้างประตูชัย หรือวัดพระเจ้ายั้งยอง ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

องค์พระมีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุด ประทับนั่งขัดสมาธิราบแบบปัทมาสนะ ปางมารวิชัย ศิลปะช่างสกุลพะเยา อายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ตั้งอยู่ใกล้บริเวณ ๔ แยกประตูชัย เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งที่อยู่คู่กับเมืองพะเยามาตั้งแต่โบราณ สมัยก่อนเมื่อจะออกไปปราบข้าศึกศัตรู จะต้องออกทางประตูชัย จากนั้นก็จะตั้งเครื่องสักการะบูชา พระพุทธรูปองค์นี้เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นขวัญและกำลังใจแก่ทหารและชาวเมืองให้มีชัยชนะเหนือศัตรู เมื่อเสร็จจากการรบแล้ว ก็จะมากราบไหว้สักการะบูชาพระพุทธรูปองค์นี้อีกครั้ง ก่อนที่จะเข้าเมืองก็จะต้องเข้าทางประตูชัยเพื่อความเป็นสิริมงคล

พระพุทธรูปหินทราย ที่วัดร้างวิสุทธาราม

พระพุทธรูปหินทรายที่วัดร้างวิสุทธาราม มีหน้าตักกว้าง ๒.๕๐ เมตร สูง ๓.๐๐ เมตร ประดิษฐานอยู่ที่วัดร้างวิสุทธาราม (อยู่ในโรงเรียนบ้านห้วยบง) ตำบลแม่ปืม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เป็นพระพุทธรูปหินองค์ใหญ่ที่สุดที่พบในเมืองพะเยา เป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญมาก ได้พบจารึกในบริเวณวัด ที่พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ จารึกได้กล่าวถึงชื่อวัดวิสุทธาราม สร้างในปี พ.ศ.๒๐๔๒ ว่าสมเด็จมหาสวามีศรีวิมลโพธิญาณเจ้าอาวาสวัดป่าแดง ขออนุญาตมหาธรรมราชาธิราชฝังจารึกไว้ในวัดวิสุทธาราม เมืองพะเยา พระเจ้าทั้งสองพระองค์(พระเมืองแก้ว กับพระชนนี) อนุญาต และให้แสนญาณเจ้าเมืองพะเยา ถวายคนเป็นข้าพระพระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดใหญ่ ยากต่อการเคลื่อนย้าย และเป็นประธานของวัดมาแต่เดิม

พระเจ้าล้านตื้อ

พระพุทธรูปองค์นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์”ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในวิหารวัดศรีอุโมงค์คำ ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย มีประวัติว่าเจ้าเมืองพะเยาได้นำมาจากวัดร้างที่ตั้งอยู่ใน บริเวณสนามเวียงแก้ว (ปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งศาลหลักเมืองพะเยา) เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณที่มีพุทธลักษณะผสมผสานระหว่างศิลปะสุโขทัยและศิลปะพะเยา เป็นฝีมือช่างสกุลพะเยาโดยเฉพาะและถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามองค์หนึ่งในล้านนา

ถึงปีพุทธศักราช ๒๓๘๔ ก็ทรงโปรดเกล้าให้นายพุทธวงศ์มาเป็นเจ้าเมืองครองพะเยาเป็นพระยาประเทศอุดรทิศ ต่อมาเจ้าน้อยมหายศก็ได้เป็นเจ้าเมืองครองพะเยาจึงมีการบูรณะองค์พระประธาน เริ่มก่อสร้างวิหารและเสนาสนะต่อมาพระวิหารหลังเดิมทรุดโทรมพระยาประเทศอุดรทิศ (มหาไชย ศีติสาร) จึงคิดที่จะบูรณะเป็นระยะเวลาเดียวกับที่ล้านนาเปลี่ยนการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล พะเยาอยู่ในมณฑลพายัพโดยมีนายคลาย บุษยบรรณ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยา ทั้งสองท่านจึงร่วมกันบูรณะโดยได้นิมนต์ครูบาศรีวิชัยมาเป็นประธาน ครูบาศรีวิชัยได้เดินทางมาสร้างพระวิหารเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ โดยในที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ ได้รื้อวิหารเดิมลง ในวันที่ ๖มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ได้วางศิลาฤกษ์เสาพระวิหารและได้ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปีเดียว

ต่อมาวัดศรีโคมคำได้รับพระราชทานยกฐานะให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี (สามัญ) พุทธศักราช ๒๕๒๘ ได้มีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นโดยมีนายอังคาร กัลยาณพงศ์ และนายภาพตะวัน สุวรรณกูฏ เป็นผู้วาดภาพภายในพระอุโบสถเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจึงขอพระราชทานวิสุงคามราชสีมาใหม่ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙

ต่อมากรมศิลปากรได้ทำเรื่องกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จตัดลูกนิมิต ในวันที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ นับเป็นสิริมงคลแก่ชาวพะเยา