ประวัติวัดลี

วัดลี ตั้งอยู่เลขที่ ๕๑ ถนนวัดลี ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ๕๖๐๐๐ (เดิมชื่อ"บ้านหล่ายอิง") ใกล้กับโรงเรียนเทศบาล ๓ (หล่ายอิงราษฎร์บำรุง) มีเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๑ งาน ๘ เศษ ๘ ส่วน ๑๐ ตารางวา

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่

๑.พระเจดีย์ “พระธาตุเจ้าวัดลี” เป็นเจดีย์เก่าแก่ที่สร้างขึ้น ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และภายหลังได้รับการบูรณปฎิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๕-๒๔๖๖ โดยครูบาศรีวิชัย

๒. พระพุทธบาทจำลองหินทราย เป็นโบราณวัตถุที่สำคัญของวัดมีมาตั้งแต่ดั้งเดิม

๓.ศิลาจารึกวัดลี เป็นจารึกที่กล่าวถึงประวัติการสร้างวัดลีใน พ.ศ. ๒๐๓๘ และเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นเดียวที่ทำให้ทราบประวัติความเป็นมาของวัดลี

ประวัติ

“วัดลี” เป็นชื่อเดิม หมายถึงกาดหรือตลาด ในความหมาย “วัดลี” เป็นวัดที่อยู่ในย่านชุมชนตลาด คำว่า "ลี" เป็นภาษาไทยภาคเหนือ แปลว่า กาด หรือ ตลาด ในสมัยนั้น วัดลียังเป็นวัดร้าง อยู่ในที่ชุมชนใกล้ตลาด มีชาวบ้านจากที่ต่าง ๆ มาค้าขายโดยรอบเป็นจำนวนมาก ในช่วงเช้า จนมาถึงใน ปี พ.ศ. ๒๐๓๘ สมัยของเจ้าสี่หมื่นพะเยา ผู้เป็นพระราชครูของพระเจ้ายอดเชียงรายกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ได้มาบูรณะวัดนี้ขึ้นและเรียกว่าวัดในกาดลี และย่อมาเป็นวัดลี มาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติของวัดลี ตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในจารึก พย.๒๗ ได้กล่าวถึง การสร้างวัดลี เมื่อปีจุลศักราช ๘๕๗ หรือปี พ.ศ.๒๐๓๘ ตรงกับสมัยของพระเจ้ายอดเชียงราย กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา (เชียงใหม่) พระเจ้ายอดเชียงรายได้มีพระราชโองการให้เจ้าหมื่นหน่อ เทพครู ผู้เป็นพ่อครูหรือพระราชครูของพระเจ้ายอดเชียงราย ขณะนั้นมากินตำแหน่งเป็น “เจ้าสี่หมื่นพะเยา” ฐานะเป็นเจ้าผู้ครองเมือง ได้มาสร้างวัดลีเพื่อเป็นการถวายส่วนบุญ ส่วนกุศลถวายแด่พระเจ้ายอดเชียงรายกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ เจ้าสี่หมื่นพะเยาได้มากระทำพิธีฝังหินกำหนดเขตวัด และผูกพัทธสีมาเป็นอุโบสถไว้กับวัดลี เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๖ เดือน มิถุนายน ปี พ.ศ. ๒๐๓๘ ตรงกับขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ และเจ้าสี่หมื่นพะเยาได้อาราธนาพระมหาสามีญาณเทพ จากวัดมหาพน มาเป็นประธานในพิธี พร้อมกับมีพระเถระสำคัญจากวัดต่าง ๆ ในเมืองพะเยามาร่วมพิธี อาทิเช่น พระมหาสามีนนท์ปัญญา จากวัดใหม่ พระสังฆราชาพุทธาทินนท์ จากวัดพญาร่วง พระเถรญาณสุนทร จากวัดป่า พระเถรญาณมงคล จากวัด…(หลักฐานจากจารึกชำรุด)…เป็นต้น เจ้าสี่หมื่นพะเยาได้ถวายที่นาให้ วัดหรือที่เรียกกันว่า “นาจังหัน” ซึ่งผู้ที่ทำนาในจังหันจะต้องเสียภาษีให้กับวัด รายได้จากภาษีนาเป็นค่าทะนุบำรุงวัด ทั้งข้าวัดและนาจังหันเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดโดยสมบูรณ์ กษัตริย์รัชกาลที่สืบต่อมา ไม่มีสิทธิ์จะเพิกถอน พระมหาเถรปัญญาวังสะ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดลี และมีพระลูกวัดร่วมจำพรรษาอยู่ ๓ รูปคือ พระเถรญาณทัสสี พระเถรสวรเทพ และพระเถรพุทธิมา และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๕ เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๐๔๐

ภายหลังในสมัยของพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์หรือท้าวแม่กุ กษัตริย์อาณาจักรล้านนา ได้เกิดสงครามระหว่างล้านนากับพม่า และพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์ของพม่าสามารถยึดครองล้านนาได้สำเร็จ ทำให้ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นพม่า ตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๐๑ จนถึง พ.ศ.๒๓๑๗ รวมระยะเวลานานถึง ๒๑๖ ปี สภาพการเป็นเมืองขึ้นของพม่า ทำให้บ้านเมืองล้านนาไม่มีความสงบสุข เพราะต้องอยู่ในภาวะสงครามเกือบตลอดเวลา และผู้คนล้มตายไปในสงครามเป็นจำนวนมาก เนื่องจากถูกกองทัพพม่าเกณฑ์ไปรบในสงครามระหว่างพม่ากับกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง และอีกส่วนหนึ่งถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยและเกณฑ์ไปเป็นทาสใช้แรงงานในพม่า ด้วยเหตุนี้เองทำให้ประชากรในล้านนาลดลงเป็นอย่างมาก และตามหัวเมืองต่างๆ ของล้านนารวมถึงเมืองพะเยาต้องกลายเป็นเมืองร้างไปเป็นเวลายาวนาน ส่วนทางด้านการศาสนาก็ขาดผู้คนมาทะนุบำรุงจึงทำให้วัดวาอารามส่วนใหญ่ถูกปล่อยให้รกร้างชำรุดทรุดโทรมต้องกลายเป็นวัดร้างไปในที่สุด

ความล่มสลายของอาณาจักรล้านนา ทำให้การฟื้นฟูบ้านเมืองต้องใช้ระยะเวลายาวนาน เพราะการขาดผู้นำที่เข้มแข็งและไม่มีกำลังคนมากพอจะมาพลิกฟื้นเมือง จนกระทั้งปี พ.ศ. ๒๓๑๗ ในสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงได้ยกกองทัพมาตีพม่าที่เมืองเชียงใหม่ จนสามารถขับไล่พม่าออกจากล้านนาได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้ล้านนาได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสรภาพ หลังจากนั้นล้านนาจึงเริ่มเข้าสู่ยุคการฟื้นฟูเมืองภายใต้นโยบาย “เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” สำหรับเมืองพะเยากว่าจะได้รับการฟื้นฟูตั้งเมืองขึ้นมาอีกครั้งก็เข้ายุคกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว คือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๖ ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

ส่วน วัดลี นั้น แม้จะไม่ปรากฎประวัติหลักฐานแน่ชัดในช่วงสมัยพม่ายึดครองล้านนา แต่เข้าใจว่าไม่แตกต่างไปจากวัดอื่นๆ ในเมืองพะเยาสมัยนั้น คือ ถูกปล่อยให้รกร้าง ดังจะเห็นได้จากหลักฐานเอกสารในหนังสือราชการของกระทรวงมหาดไทยที่ ๓๓/๑๔๒ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๔๔๗ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงนำความกราบทูลเพื่อขอพระราชกระแสอนุญาต จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ ๕ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายเมืองพะเยาไปอยู่ ที่บ้านแม่ต่ำ ในหนังสือได้บรรยายสภาพของเมืองพะเยาสมัยนั้นว่า ในเขตเวียงมีสภาพแห้งแล้งกันดารน้ำ ราษฎรทำมาหากินลำบาก และราษฎรที่ทนลำบากไม่ได้ก็อพยพไปอยู่ที่อื่นหมด บ้านเรือนราษฎรเหลืออยู่ประมาณ ๒๖๐ หลังคาเรือน และแทบจะไม่ค่อยมีผู้คนอาศัย จะเหลือเพียงแต่ที่ทำการของราชการเท่านั้น ผู้คนส่วนใหญ่อพยพไปอยู่บ้านแม่ต๋ำเนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำอิงและมีผู้คนอยู่หนาแน่น และในส่วนของวัดวาอารามส่วนใหญ่อยู่สภาพเป็นวัดร้าง จะมีวัดที่เหลืออยู่ไม่กี่แห่ง แต่ละวัดก็มีพระจำพรรษาอยู่เพียง ๒-๓ รูปเท่านั้น

วัดลี ซึ่งได้ผ่านการเป็นวัดร้างมาหลายร้อยปีเพิ่งมาได้รับการบูรณปฎิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และยกฐานะขึ้นเป็นมาเป็นวัดอีกครั้ง ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๕ -๒๔๖๖ โดยมีพระครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา เจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน มาเป็นผู้นำในการบูรณะ เมื่อการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ จึงได้ไปนิมนต์ครูบาแก้วมูล ญาณวุฑฺฒิ ซึ่งเป็นพระลูกศิษย์ของครูบาศรีวิชัย ขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเจ้าตนหลวงให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดลี ต่อมาจนกระทั้งปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านจึงมรณภาพ และได้มีการแต่งตั้งพระศรีทอนซึ่งเป็นพระลูกวัดขึ้นรักษาแทนเจ้าอาวาส ภายหลังปีพ.ศ. ๒๕๑๒ เจ้าอาวาสรักษาการได้ลาสิกขา คณะกรรมการวัดและศรัทธาวัดจึงได้ไปนิมนต์พระบุญชื่น ฐิตธมฺโม จากวัดแม่ต๋ำเมืองชุม จังหวัดพะเยา ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดลี สืบต่อจวบจนปัจจุบัน

((อ่านข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ "ข้อมูลวัดลี" คลิก))

<<<กลับสู่ด้านบน>>>