ตราพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี)

ความเป็นมาและความหมายของตราประจำพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี)

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ทางวัดลี ร่วมกับหน่วยงานราชการ ได้แก่ จังหวัดพะเยา โดยท่านธนเษก อัศวานุวัตร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา สมัยนั้น พร้อมด้วยหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติจังหวัดพะเยา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และผู้ที่เกี่่ยวข้อง ร่วมกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดลี ขึ้นมาโดยปรับปรุงศาลาการเปรียญของวัดลี เป็นที่จัดแสดงวัตถุโบราณ ชั่วคราวเพือให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน คนในจังหวัดพะเยาและจังหวัดอื่น ๆ ได้มาศึกษาดูงาน เป็นแหล่งเรียนรู้ของจังหวัดพะเยา และได้ตั้งชื่อว่า "พิพิธภัณฑ์เวียงพยาว (วัดลี)"

เมื่อมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา ทางคณะกรรมการจึงเห็นสมควรจัดทำตราสัญลักษณ์ ประจำพิพิธภัณฑ์ขึ้น มาเพื่อเป็นที่จดจำ และเป็นเอกลักษณ์ประจำพิพิธภัณฑ์ของเรา ทางคณะกรรมการจึงเห็นว่าลวดลายบนศิลาจารึก เจ้าสี่หมื่นมีความโดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนหลักศิลาจารึกอื่น ๆ ที่ค้นพบมา

โดยหลักศิลาจารึกเจ้าสี่หมื่นพะเยา นี้ ท่านพระวิมลญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดลี ได้ค้นพบเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ณ บริเวณวัดร้างแห่งหนึ่งในตัวเมืองเก่าเวียงน้ำเต้า ห่างจากวัดลี ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๔๙๔.๓๖ เมตร มีลักษณ์ เป็นหินทรายสีแดงปนเทารูปใบเสมา สภาพชำรุดแตกหักเหลือเพียงท่อนบน ๒ ท่อน เนื้อความกล่าวถึง "เจ้าสี่หมื่นพะเยามาสร้างพระพุทธรูปในปี ร้วงเหม้า (พ.ศ.๑๙๕๔) ให้กับวัดแห่งหนึ่งในเมืองพะเยาซึ่งเป็นลูกวัดสุวรรณมหาวิหาร

ซุ้มลายกนก หมายถึง การปกครองดินแดนภายใต้ อำนาจของพระมหากษัตริย์ล้านนาในสมัยนั้น

พระขรรค์ คือ อาวุธมีคม ลักษณะคล้ายดาบ มีคมสองด้าน ตรงกลางคอด สมมุติเป็นอาวุธของเทพเจ้า เห็นได้ในภาพประกอบเรื่องราวในวรรณคดี หรือตราสัญลักษณ์ที่มีเทวดาทรงพระขรรค์ นอกจากนี้ยังเป็น อาวุธคู่บารมีแห่งพระมหากษัตริย์ (หมายถึงพระเจ้าติโลกราช สืบทอดมาถึงพระเจ้ายอดเชียงราย ในสมัยนั้น)

ในนิยายเรื่อง ล้านนา ดาบสรีกัญชัย ปรากฏแล้วในตอนตีเมืองเฉลียง และจะปรากฏในตอนสำคัญเช่นตอนที่พญาไชยสงครามยกทัพไปรบกับพญาเบิก เมื่อจัดแต่งกลศึกแล้ว ก็กราบบังคมทูลรายงานพญามังรายให้ทรงทราบ ดั่งหนังสือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่หน้าที่ ๓๔ ว่า

"เจ้ามังรายได้ยินคำลูกตนจากกลศึกทุกอย่างแล้ว เจ้าก็ยินดีในคำอันนั้น จึ่งปลงปันแก้วแสงอันเป็นมังคละชัยชนะศัตรู กับเงินคำของรางวัลแก่ลูกตนมากนัก กับทั้งดาบสรีกัญชัยเล่ม ๑ อันเป็นโบราณขัคคามังคละมาแต่เช่นลวจังกราชะมา มีเตชะมากนัก ครั้นเอาออกปัดเมื่อใด หัวใจริพลทั้งหลายฝูงเป็นสุรโยธาหากบังเกิดสุรภาวะกล้าหาญทุกคน ด้วยอานุภาวะแห่งดาบเล่มนั่นแล"

ดาบสรีกัญชัยนี้ก็ได้ตกทอดไปถึงพระเจ้าติโลกราช

ดังนั้นพระขรรค์ ดังกล่าวอาจหมายถึง ดาบสรีกัญชัย ดาบคู่พระบารมีพระมหากษัตริย์ล้านนาในสมัยนั้น ดังนั้นหลักศิลาจารึกที่มีลายซุ้มกนกครอบพระขรรค์ จึงหมายถึง วัดนั้นเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง หรือสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระมหากษัตริย์ล้านนาในสมัยนั้น