พระเครื่องเมืองพะเยา

พระพุทธรูปโบราณในเมืองพะเยามี ๒ แบบ คือสมัยชียงแสนและสมัยสุโขทัย พระกรุออกที่ฝางเรียกว่าศิลปะฝาง ออกที่น่านก็เรียกว่าศิลปะน่าน ออกที่กรุพะเยาก็เรียกว่าศิลปะพะเยาหรือสกุลช่างพะเยา นอกจากนั้นยังแยกออกเป็นสกุลช่างหลวงและช่างราษฎ์ ส่วนใหญ่นักสะสมพระเครื่องจะสังเกตจากความสวยงามของพิมพ์พระและการเทเนื้อพระ เช่น ช่างหลวงจะมีพิมพ์พระงดงาม และการเนื้อพระจะได้สัดส่วน พัฒนาการในการเทเนื้อพระก็มรส่วนในการแยกแยะยุคสมัย เช่น พระบูชาพระเชียงแสนยุคต้นจะเทเนื้อทองสำริดได้หนาและเนื้อแก่ เงินและทองคำสีเนื้อจะเข้มข้น มาถึงยุคกำแพงเพชรช่างหล่อจะเทเนื้อพระได้บางมาก ถือได้ว่าเป็นสุดยอดในการเทเนื้อพระ ข้อเสียคือ เวลาเอาพระออกจากกรุจะมีพระชำรุดเสียหายมาก พระที่พบในกรุเมืองพะเยาส่วนใหญ่จะเป็นสิงห์สาม มีทั้งช่างเชียงแสนฝากกรุและช่างพะเยาพระที่พบมีเนื้อหินทรายจำนวนมาก ส่วนพระเครื่องนั้นจะมีช่างพะเยาและเชียงแสน การสร้างพระจะสร้างในเวลาที่บ้านเมืองได้เจ้าเมืองดี พลเมืองขยันทำมาหารกิน พร้อมใจกันพัฒนาบ้านเมืองและอยู่ในช่วงที่ไม่มีสงคราม ช่วงที่มีการสร้างวัดวาอารามมากที่สุดของเมืองพะเยานั้น มีอยู่สองช่วง คือ พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ และพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑

การสร้างพระเครื่องในอดีตจะสร้างพร้อมกับพระพุทธรูปหรือพร้อมกับพระธาตุเจดีย์ โดยจะนำเอาพระเครื่องติดในองค์พระ ใต้ฐานพระพุทธรูป พระประธาน หรือบรรจุอยู่ในพระเจดีย์ที่สร้างมาพร้อมกับหารสร้างวัดและสร้างพระธาตุเจดีย์ หารสร้างพระในสมัยโบราณถือได้ว่าได้ผลบุญมาก พระเถระชั้นผู้ใหญ่ เจ้าเมือง หรือผู้มีเงินในสมัยนั้นต่างก็นิยมสร้างวัดหรือไม่ก็พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ทั้งนี้หากสร้างขนาดใหญ่หรือใช้โลหะที่มีค่ามากเท่าไรก็ยิ่งแสดงถึงฐานะของผู้สร้างและผลบุญที่ได้รับมากขึ้นเท่านั้น ชาวเมืองทั่วไปจะร่วมทำบุญด้วยโดยจะแบ่งกันสร้างพระขนาดเล็ก พระที่สร้างขึ้นก็จะขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ทำบุญ โดยจะทั้งเนื้อทองคำเนื้อแก้ว เนื้อโลหะที่มีค่า เนื้อทองสำริด เนื้อชิน เนื้อดิน หมดขึ้นอยู่กับค่านิยมว่ายุคนั้นนิยมสร้างพระเครื่องเห็นอะไร เช่น เนื้อชิน แม่พิมพ์ยุคแรกจะแกะพระลึกเทเนื้อพระได้หนา ยุคต่อมามีการพัฒนาแม่พิมพ์ให้อ่อนช้อย สวยงาม แกะมาพิมพ์ได้บางหรือเทเนื้อพระได้บางขึ้น เป็นต้น

ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชครอบครองจักรล้านนาไทยระหว่างปีพุทธศักราช ๑๙๘๔- ๒๐๒๕ พระองค์แผ่อำนาจลงไปทางใต้ ยกกองทัพเข้าปราบเมืองสองแคว เมืองเชลียง เมืองสุโขทัย ตลอดถึงเมืองกำแพงเพชรให้อยู่ในอำนาจทั้งหมด พระยาอุทิศเจียง เจ้าเมืองสองแควเข้าสวามิภักดิ์ พระเจ้าติโลกราชจึงให้ไปครองเมืองภูคา ต่อมาในปีพุทธศักราช ๑๙๙๔- ๒๐๓๐ พระยาอุทิศเจียง จึงมาครองเมืองพะเยา และเอาช่างปั้นถ้วยชามเครื่องเคลือบสังคโลกอันเป็นศิลปะของกรุงสุโขทัยมาด้วย “การทำถ้วยชามหยุดชะงักไปเมื่อข้าศึกของพระบรมไตรโลกนาถกับพระเจ้าติโลกราชรบกัน ฝ่ายพระยาอุทิศเจียงเจ้าเมืองสองแควยอมสวามิภักดิ์กับพระเจ้าติโลกราช ได้กวาดต้อนเอาพวกช่างปั้นเชลียงขึ้นไปหนเหนือ(ภาคเหนือ)”

ในระหว่างที่พระยาอุทิศเจียงครองเมืองพะเยาอยู่นั้นพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก มีการสร้างวิหารวัดป่าแดงบุนนาค หรือวัดป่าแดงดอนชัย สร้างวัดบุนนาค หรือวัดพญาร่วง โดยมีฝ่ายสงฆ์ในยุคนั้นคือ มหาเถรติขปัญญา อารามิกธิปัตติ แห่งวัดพญาร่วง ซึ่งคาดว่าเป็นผู้มีบทบาทในการสร้างพระเครื่องยุคนั้น เรื่องการสร้างวัดนี้เกี่ยวโยงกับเรื่องสองตายายถมสระหนองเอี้ยงเมื่อ พุทธศักราช ๒๐๓๐ เพื่อสร้างพระเจ้าตนหลวง ในพุทธศักราช ๒๐๓๔ ยุคนั้นพระยาอุทิศเจียงกำลังขยายอาณาจักร ประกอบกับระยะเวลาที่ช่างชาวเชลียงได้ถูกกวาดต้อนมาอยู่ทางเหนือกว่า ๓๐-๔๐ ปี จึงเป็นเหตุให้พระเครื่องที่พบในองค์พระเจ้าตนหลวงได้รับอิทธิพลจากช่างปั้นดินชาวเชลียงและช่างชาวกำแพงเพชร ศิลปะจึงผสมผสานทั้งเชียงแสนและสุโขทัย เรียกว่าช่างพะเยา ดังจะเห็นได้จากความละเอียดของเนื้อดินพระวิธีการสร้าง หรือการแกะแม่พิมพ์ต่างก็ได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย และกำแพงเพชร เช่น พระซุ้มกอ พะเยามี ลักษณะคล้ายคลึงกับพระซุ้มกอพิมพ์เล็กกำแพงเพชรมาก

พระยอดขุนพลพะเยา ถือได้ว่าเป็นพระเจ้าตนหลวงจำลอง พระยอดขุนพลพะเยา พบในเศษปูนที่กะเทาะออกมาจากองค์พระเจ้าตนหลวง ครั้งที่บูรณะเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๙ ชาวบ้านและพระเณรขนกองปูนองค์ที่แตกออกไปกองไว้ด้านหลัง ได้พระยอดขุนองค์ประมาณ ๒๐ องค์ (องค์พระชำรุดเนื่องจากถูกน้ำท่วมทำให้องค์พระเจ้าตนหลวงเอียง ฐานและสะโพกด้านขวาองค์พระแตกร้าวเสียหาย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๖) พบพระยอดขุนพลอีก เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ (เนื่องจากนำก้อนเศษปูนองค์พระที่ชำรุดไปไว้ใกล้หุ่นปูนปั้นข้างกำแพงวัดทหารและชาวบ้านที่ไปช่วยขนเป็นผู้พบ ได้พระยอดขุนพลอีกประมาณ ๒๐ องค์ ปัจจุบันกองเตาปูนนี้ถูกทุบจนละเอียดหมดแล้ว) พระที่พบนั้นมีหลายพิมพ์และแต่ละพิมพ์ต่างก็ถูกพบในกรุต่าง ๆ ทั่วเมืองพะเยา เมื่อนำพระพิมพ์เดียวกันแต่ต่างกรุหลาย ๆ องค์มาเปรียบเทียบกันดูจะสังเกตได้ว่าสภาพดินกรุ เนื้อพระ และการเผาเนื้อดินจะแตกต่างกันมาก แต่จุดตำหนิพิมพ์เหมือนกัน ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า

๑. การสร้างพระยอดขุนพลพะเยาในยุคนั้น เป็นการสร้างพร้อมกับองค์พระพุทธรูปพระเจ้าตนหลวง

๒. แม่พิมพ์ที่ใช้กดพระยอดขุนพล มีการสร้างหลายพิมพ์ซึ่งจะแกะลวดลายแตกต่างกันเพื่อความรวดเร็วในการสร้าง โดยจะใส่ในองค์พระเจ้าตนหลวงและใส่ฐานพระซึ่งคาดว่าเป็นหมื่น ๆ องค์

๓. มีการชักชวนเจ้าสังเถรทั้งหลายอุบาสกอุบาสิกาของวัดในเวียงพะเยา และเวียงบริวารให้นำดินของวัดของตนมาช่วยสร้างพระเจ้าตนหลวง ปันอิฐ และกดพิมพ์พระยอดขุนพลพะเยาแล้วนำพระยอดขุนพลที่เป็นแบบจำลององค์พระเจ้าตนหลวงกลับวัดของตนเพื่อใส่ในเจดีย์ต่อไป

๔. พระยอดขุนพลที่ใช้ติดในองค์พระเจ้าตนหลวงแล้โบกปูนทับนั้น ได้สร้างไว้เรียบร้อย ก่อนแล้ว สังเกตได้จากองค์พระเจ้าตนหลวงจะเนื้อละเอียด ผ่านการนวดเนื้อดิน จนดินที่นวดเดิมเป็นสองสี คือสีแดง มีกระแสสีขาว หรือเนื้อขาวมีกระแสสีแดง เนื้อดินกรุสัน ต้นแหนเป็นสีขาวสะอาด เนื้อละเอียดแบบชามกระเบื้องกรุเวียงกาหลง เนื้อดินจะเป็นสีขาวนวล กรุเวียงกาหลงสีจะออกขาวอมเหลือง เป็นต้น

๕. พระยอดขุนพลที่ใช้ติดในพระองค์พระเจ้าตนหลวงนั้น ถ้าเป็นพระเนื้อดินเผาที่ถูกเผาไฟด้วยความชำนาญ เนื้อพระจะเป็นเนื้อแดง หรือเนื้อดำ ไม่มีเนื้อสองสี หรือเนื้อผ่านดำ ต่างจากกรุวียงห้าวที่ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อดินผ่านดำ คือเป็นเนื้อแดง รองผ่านดำเป็นแห่ง ๆ (ส่วนมากจะเป็นด้านหลัง)

๖. พระยอดขุนพลพะเยากรุองค์พระเจ้าตนหลวง ไม่ใช่พระพบในกรุอื่นรวบรวมมาใส่ หรือพระกรุสร้างมานานกว่าพระเจ้าตนหลวง เพราะเป็นพระที่มีคราบดินกรุเป็นปูนที่ใช้โบกเป็นเนื้อพระเจ้าตนหลวงไม่มีคราบดินกรุเหมือนพระกรุอื่น ๆ ถ้าเป็นพระกรุอื่น ๆ ที่ถูกรวบรวมมาเพื่อติดองค์พระเจ้าตนหลวง จะต้องมีคราบกรุสองชั้น คือคราบดิน และคราบปูน หรือบางท่านก็ว่าเป็นพระที่ครูบาศรีวิชัยสร้างแล้วนำมาใส่ไว้ตอนที่ท่านมาบูรณะปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ คงเป็นไปไม่ได้ที่ชาวพะเยาจะยอมให้ช่างซ่อมองค์พระมาทุบปอกผิวปูนองค์พระทั้งหมดแล้วเอาพระใหม่ไปติด หรือเอาพระถอดพิมพ์ใส่เพิ่ม เพราะพระยอดขุนพลที่พบในเศษปูนที่แตกมาจากองค์พระเจ้าตนหลวงนั้น เป็นพิมพ์ที่เหมือนกรุอื่น ๆ และเป็นพระที่คมชัด ประณีตบรรจงตั้งแต่การนวด กดแม่พิมพ์ การเผาด้วยความชำนาญ

๗. เนื้อพระธรรมชาติบางองค์ประกอบ เช่น การตัดขอบองค์พระ การกดเนื้อบางหนา พระประเภทผิวเปิด เนื้อพรุน การเผาเนื้อดินและการพิจารณาจากคราบดินกรุที่ติดอยู่ผิวพระตามซอกองค์พระจะไม่เหมือนกัน เช่น พระยอดขุนพลที่มีเนื้อพระเป็นสีขาวคล้ายกัน แต่มีคราบกรุต่างกัน ถ้าเป็นเนื้อขาวกรุเวียงกาหลงจะมีคราบกรุสีเทาเข้ม ดินคราบกรุสีจะแก่กว่ากรุเวียงลอซึ่งออกสีเทาอ่อนกว่า และถ้าเป็นเนื้อขาวกรุสันตันแหน ดินคราบกรุจะออกสีเหลืองปนเทาอ่อน เป็นต้น ส่วนกรุองค์พระเจ้าตนหลวงจะมีคราบปูนสีขาวอย่างเดียว ส่วนกรุสันธาตุนั้น เนื่องจากมีการสร้างประตูน้ำของกรมประมง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ ทำให้วัดวาอารามและพระธาตุต่าทุ่งเยงถูกน้ำท่วมเป็นกว๊านพะเยาในปัจจุบัน ทำให้พระที่ได้จากกรุนี้มีสภาพหลาย ๆ อย่างเช่น พระที่ขึ้นมาจะอยู่ในโคลนดิน ผู้ที่ได้บางท่านจะขัดถูทันทีทำให้ผิวพระเสียหายหรือบางท่านจะนำไปตากแดดทำให้ผิวพระแตกระแหง หรือนำไปล้างน้ำมากเกินไปผิวพระจะพรุน บางองค์ถูกล้างและเก็บไว้ดีจะมีคราบดินกรุเป็นดินโคลนสีเทาอ่อนติดอยู่ตามซอกและมีราดำคลุมผิวพระ แต่ลักษณะเหล่านี้สามารถระบุได้ว่าเป็นกรุไหน ทั้งนี้อาจจะผิดพลาดได้บ้างไม่ถือเป็นข้อยุติ

๘. พระยอดขุนพลพิมพ์เดียวกันต่างกรุอาจมีลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย เช่น หน้าตา หรือเส้นสังฆาฏิไม่เหมือนกันหรือตื้น สันนิษฐานว่าเป็นพระที่สร้างในยุคเดียวกันแต่อ่อนปีกว่า ถูกสร้างเพิ่มเติมโดยการถอดพิมพ์ และแต่งแม่พิมพ์ใหญ่เล็กกว่า สาเหตุพระยอดขุนพลที่ได้มานั้นไม่มากพอที่จะบรรจุในเจดีย์พระธาตุ หรือเจดีย์พระธาตุสร้างใหม่ จึงมีการแกะพิมพ์ใหม่หรือเอาพระมาถอดพิมพ์แล้วแต่งลายฐานเพิ่มเติมให้ดูแปลกตา จำนวนสร้างมากน้อยขึ้นอยู่กับฐานะของผู้สร้าง พระยอดขุนพลพะเยา นิยมใช้เป็นแบบแม่พิมพ์ และถ้าจะเรียกชื่อให้ถูกต้องน่าจะเรียกใหม่ว่า พระเจ้าตนหลวงปรกโพธิ์ หรือพระเจ้าตนหลวงซุ้มเสมา

แหล่งที่พบกรุพระเครื่องเมืองพะเยา

แหล่งที่พบกรุพระเครื่องเมืองพะเยา คือตัวเมืองเดิมและบริวารถึง ๑๐ แห่ง ดังนี้

ตัวเมืองเดิม แยกเป็นบริวารวียงน้ำเต้า ซึ่งตั้งทางด้านขวาของถนนไฮเวย์ ด้านที่ตั้งโรงเรียนพะเยาพิทยาคม โรงเรียนเทศบาล ๓ และที่ตั้งวัดลี พบกรุดังนี้

กรุบริเวณวัดลี กรุวัดศรีจอมเรือง กรุวัดพระเกิด กรุวัดธาตุนกแซว (หรือวัดเจดีย์งาม) กรุวัดหมื่นลอ กรุกู่ม้าขาว กรุปู่ดำ (เป็นที่นาเจ้าขอชื่อนายดำ) กรุสบร่องขุน (เป็นกรุที่อยู่บริเวณฝั่งด้านกู่ม้าขาว) ส่วนเวียงนางกระต่าย มีกรุวัดหลวงราชสัณฐาน กรุวัดจันทร์นอก กรุวัดจันทร์ใน กรุวัดมหาพน กรุต้นศรีคำ กรุสันธาตุ (อยู่กลางกว๊านพะเยาตัวธาตุเดิมยังเห็นเป็นเกาะกลางกว๊าน)

เวียงจอมทอง ตั้งอยู่บนเนินพระธาตุจอมทองและบริเวณใกล้เคียง พบกรุวัดวาอารามป่าญะ กรุวัดอุ่นหล้า กรุองค์พระเจ้าตนหลวง

เวียงปู่ล่าม ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลทำวังทอง (อาจเป็นเมืองเชียงแกนเดิมก็ได้) กรุที่พบในเวียงนี้ และเขตใกล้เคียงคือกรุวัดป่าแดงบุนนาค กรุพระเจ้าปิ่นหน้าล่องใต้ กรุวัดป่าแดด กรุวัดหนองหวี กรุวัดอารามป่าน้อย กรุวัดหนองบัว กรุวัดปูปอ (พลูปอ) อยู่ตำบลดงเจน และกรุที่เลยไปทางเขตติดต่ออำเภอป่าแดด กรุสันต้นแหน

เวียงเก่า ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของบ้านเหยี่ยน ตำบลบ้านใหม่ มีคูเมือง ๓ ชั้น พบกรุ เป็นพระเนื้อชิ้น

บ้านร่องคือ (หรือ ร่องคู อาจเรียกตามคูเมืองเก่า) อยู่ตำบลแม่ปืม ติดอำเภอแม่ใจ มีการพบกรุที่บ้านร่องคือ และในอำเภอแม่ใจด้วย

เวียงห้าว ตังอยู่บ้านปาง ตำบลถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ พบกรุบริเวณเวียงห้าว และเขตใกล้เคียง กรุจำตาเหิน กรุคือเวียง (พบซุ้มเสมาเนื้อดิน บางองค์ฝังทับทิมแดง) มีอีกหลายกรุให้เรียกเป็นกรุเวียงห้าว

เวียงลอ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอจุน เป็นเมืองที่รุ่งเรืองมาในอดีต มีวัดและพระธาตุเจดีย์ที่หมดสภาพมากมาย เล่ากันว่าในอดีตได้มีการลักลอบขุดกรุนำของโบราณใส่รถสิบล้อไปทีละคันรถ

กรุอื่น ๆ ที่เป็นเมืองเก่า เมืองเดิม เมืองหน้าด่าน เป็นเมืองบริวาลเดิมได้พบกรุพระที่มีพระยอดขุนพลฝากกรุอยู่เช่น กรุเวียงกาหลง เขตแม่ขะจาน กรุสันกำแพง เขตวังเหนือ เป็นต้น

พระซุ้มกอพะเยา

พระซุ้มกอพะเยา เป็นพระเนื้อดินละเอียด มีหลายสีเช่น สีแดง สีเหลืองพิกุล สีดำ พิมพ์มีลักษณะคล้ายกับพระซุ้มกอของกำแพงเพชร ด้านหลังมีทั้งหลังเรียบและหลังนูน กรุพระที่พบมีหลายกรุ เช่น กรุกู่ม้าขาว กรุบริเวณธาตุนกแซว กรุวัดหลวงใน หรือกรุวัดหลวงราชสัณฐาน และกรุอื่น ๆ