ประวัติเจ้าสี่หมื่นพะเยา

“เจ้าสี่หมื่นพะเยา” เป็นชื่อเรียกตำแหน่ง หรือนามบรรดาศักดิ์ ของเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา โดยเฉพาะ ซึ่งได้รับ การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากกษัตริย์ แห่งอาณาจักรเชียงใหม่ ตำแหน่งเจ้าสี่หมื่นพะเยา จะต้องเป็นบุคคลสำคัญมีความสามารถ และมีความดีความชอบต่อราชสำนัก จากหลักฐานทางจารึก ชื่อของเจ้าสี่หมื่นพะเยาปรากฏเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๔ ในสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน กษัตริย์แห่งอาณาจักรเชียงใหม่ พระองค์ทรงปูนบำเหน็จแก่ “อาเลี้ยง” ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าแสนเมืองมา พระราชบิดาของพระเจ้าสามฝั่งแกน ให้มาปกครองเมืองพะเยา โดยมีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าสี่หมื่นพะเยา ใน พ.ศ.๒๐๓๖ พระยอดเชียงราย ได้ทรงโปรดแต่งตั้งราชครูของพระองค์ขึ้นเป็นเจ้าสี่หมื่นพะเยา ครองเมืองพะเยา แทนเจ้าสี่หมื่นพะเยาผู้เป็นอัยกา ร่องรอยจากชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงที่มาของราชครูผู้นี้ว่า ใน พ.ศ.๒๐๓๗ อำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อ ปาเทป ได้ขอพระแก่นจันทร์แดงที่พระเจ้าติโลกราช นำจากวัดป่าแดงหลวงดอนไชยเมืองพะเยาไปยังเมืองเชียงใหม่ กลับคืนมาเมืองพะเยา การที่อำมาตย์ ปาเทป ทูลขออัญเชิญพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวกลับสู่พะเยาจึงเป็นร่องรอยที่ แสดงให้เห็นว่าอำมาตย์ผู้นี้ มีเชื้อสายเกี่ยวพันธ์กับเมืองพะเยาและพระยาแก่นจันทร์แดง ความสัมพันธ์ระหว่างอำมาตย์ผู้นี้กับพระยาแก่นจันทร์แดง และเมืองพะเยานั้นถูกขยายความเพิ่มเติม ในพงศาวดารโยนกว่า อำมาตย์ผู้นี้เป็น “ หมื่นหนอเทพครู เชื้อวงศ์ของพระยายุษฐิระ” และน่าเป็นคนเดียวกับ เจ้าหมื่นจุฬาพะเยา ผู้ฝังจารึกวัดนางหมื่นร่วมกับพระยอดเชียงราย ในพ.ศ.๒๐๓๖ หมื่นหน่อเทพครูได้มีโอกาสสนองเบื้องพระยุคลบาท พระเจ้ายอดเชียงราย ในตำแหน่งพระราชครู ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา หรือ ถวายคำปรึกษาแก่พระเจ้ายอดเชียงราย เนื่องจากหมื่นเทพครูได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งด้วยดีเสมอมา จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พ่อครูพระเป็นเจ้า” ต่อมาภายหลังได้รับการปูนบำเหน็จความดีความชอบ โปรดเกล้าให้เป็น “เจ้าสี่หมื่นพะเยา” หรือ “สมเด็จบพิตรพ่อครูพระเป็นเจ้า” มาปกครองเมืองพะเยา นับแต่ปี พ.ศ. ๒๐๓๙ เป็นต้นมาในรัชสมัยของพระองค์ เมืองพะเยาเป็นปึกแผ่นมั่นคง บ้านเมืองมีแต่ความสงบร่มเย็น พระองค์ทรงโปรดการทำนุบำรุง พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ทรงสร้างวัดวาอารามหลายแห่งในเมืองพะเยา ดังเช่นในปี พ.ศ. ๒๐๓๘ พระองค์ทรงโปรดให้มีการสร้าง “วัดลี” เพื่อเป็นการถวายส่วนบุญส่วนกุศลแด่พระเจ้ายอดเชียงราย และทรง โปรดเกล้าฯ แต่ตั้งให้ “พระมหาเถรปัญญาวังสะ” เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดลี