วัดศรีโคมคำ

วัดศรีโคมคำตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา ถนนพหลโยธิน ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ ๑ กิโลเมตร ทิศใต้และทิศตะวันตกติดกับกว๊านพะเยา วัดนี้เริ่มก่อสร้างองค์พระประธาน (พระเจ้าตนหลวง) เมื่อจุลศักราช ๘๕๓ พ.ศ. ๒๐๓๔ วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (แปดเหนือ) สมัยพระยายี่เมืองคลองเมืองพะเยา สำเร็จบริบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๗ ในกาลต่อมาล้านนาได้ถูกข้าศึกพม่ารุกรานมากขึ้นทำให้ต้องอพยพหนีภัย โดยทิ้งเมือพะเยาให้เป็นเมืองร้างไปประมาณ ๕๖ ปี

วัดป่าแดงบุนนาค

ตั้งอยู่ที่ ต. ท่าทอง อ. เมือง จ. พะเยา เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของเมืองพะเยา พบศิลาจารึกจำนวน ๒ หลัก บริเวณวัดป่าแดงบุนนาคนี้ จารึกหลักที่ ๑ (พย.๙) จารึกเมื่อพุทธศักราช ๒๐๔๒ เรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดพญาร่วง” จารึกหลักที่ ๒ (ลพ.๑๒) จารึกเมื่อพุทธศักราช ๒๐๗๘ เนื้อหากล่าวถึงพระเป็นเจ้าอยู่หัว (พระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์แห่งเมืองเชียงใหม่) มีราชโองการให้เจ้าเมืองสร้างมหามณฑปขึ้นในเมืองพะเยา ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกมหาราชครองอาณาจักรล้านนาไทยประกอบกับลักษณะแบบแผนขององค์เจดีย์แบบสมัยสุโขทัยแล้วพิจารณาได้ว่า วัดนี้คงจะสร้างขึ้นในสมัยพระยายุทธิษฐิระเจ้าเมืองพิษณุโลก เมื่อครั้งที่อพยพมาอยู่ที่ล้านนาและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองพะเยาเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ วัดนี้ถือว่าเป็นวัดที่สำคัญของพะเยาที่หลักฐานยืนยันความสัมพันธ์ของอาณาจักรล้านนา สุโขทัย และเมืองพะเยาที่มีต่อกันในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดี

ภายในวัดในสิ่งก่อสร้างที่สำคัญดังนี้

๑. พระเจดีย์ที่มีลักษณะเป็นศิลปะแบบสมัยสุโขทัย

๒. พระเจดีย์ทรงล้านนา ที่ลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

๓. เนินซากโบราณสถาน จำนวน ๒๕ ตำแหน่ง

๔. ซากแนวกำแพงโบราณ ๔ แนว

วัดพระธาตุจอมทอง

ตั้งอยู่ที่ ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา วัดพระธาตุจอมทองตั้งอยู่ที่กลางเมืองโบราณ “เวียงจอมทอง” ตามตำนานกล่าวว่าในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์เสด็จมาถึงเมืองพะเยาประทับ ณ จอมดอยลูกหนึ่ง ตั้งอยู่ข้างฝั่งหนองเอี้ยงไปทางทิศเหนือ ที่นั้นมีบ้านช่างทองอยู่หลังหนึ่ง ได้นำอาหารมาถวายแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทรงเล็งเห็นว่าสถานที่นี้สมควรที่จะตั้งพุทธศาสนา จึงประทานพระเกศาธาตุองค์หนึ่งสำหรับนำไปประดิษฐ์ไว้ในถ้ำใต้จอมดอยลึกลงไป ๗๐ วา ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า ดอยจอมทอง

พระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม ๑ ชั้น ต่อด้วยฐานเขียงย่อมุม ๓ ชั้น จากนั้นเป็นฐานปัทม์ย่อมุมต่อด้วยฐานทรงกลม ๓ ชั้น จากนั้นเป็นชั้นมาลัยเถาทรงกลม ๓ ชั้น รองรับองค์ระฆัง ส่วนบัลลังก์นั้นมีย่อมุมส่วนปล้องไฉนนั้นมีปูนปั้นรูปบัว ๒ ชั้นประดับอยู่ที่ฐานและยอดของปล้องไฉน จากนั้นขึ้นไปเป็นปลียอดและฉัตร เชื่อกันว่าเป็นพระธาตุเจดีย์ที่มีพระเกศาธาตุและพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ถือเป็นปูชนียสถานและโบราณสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองพะเยามาตั้งแต่โบราณ

วัดราชคฤห์

ตั้งอยู่ที่ ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา เป็นพระเจดีย์ที่เก่าแก่ของเมืองพะเยาที่มีรูปแบบแตกต่างกันออกไปจากเจดีย์ล้านนาในจังหวัดพะเยา โดยรับอิทธิพลมาจากศิลปะเชียงใหม่ตอนต้น

พระเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม (ในชั้นนี้มีเจดีย์รายตั้งอยู่ตรงมุมของฐาน ๔ องค์) ต่อด้วยฐานปัทม์ย่อเกล็ดแปดเหลี่ยมมีย่อมุม ๒ ชั้น มีซุ้มจระนำ ๔ ทิศชั้นบนเหนือซุ้มจระนำมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมรูปทรงปราสาท

อยู่อีก ๔ทิศ อยู่บนฐานเดียวกับชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ต่อด้วยบัลลังก์ย่อมุมจากนั้นขึ้นไปเป็นคอเจดีย์ปล้องไฉน และปลียอดในส่วนลานประทักษิณที่รอบเจดีย์มีขนาดกว้างประมาณ ๑.๕๐ เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบมีประตูทางเข้าสี่ทิศ แต่ละทิศจะมีปูนปั้นรูปสิงห์เฝ้าทางเข้าประตูละ ๒ ตัว

วัดหลวงราชสัณฐาน

ตั้งอยู่ที่ ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา วัดแห่งนี้เดิมเป็นวัดร้างมาก่อน ต่อมาพุทธศักราช ๒๓๘๗ เจ้าหลวงวงศ์ร่วมกับชาวบ้านได้บูรณะปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซมจนแล้วเสร็จ ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดหลวงเพราะว่าเจ้าหลวงเมืองพะเยาเป็นผู้บูรณะปฏิสังขรณ์ ต่อมาได้มีประชาชนได้มาประกอบพิธีทางศาสนาและได้ชื่อว่าวัดหลวงราชสัณฐานมาจนถึงทุกวันนี้

พระวิหารเป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองล้านนาที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง มีอายุประมาณ ๑๓๕ ปี ซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังอยู่ภายใน เป็นภาพจิตรกรรมสีฝุ่นผสมกาวยางไม้เขียนบนกระดาษสา ผ้าแปะติดอยู่บนฝาผนังไม้ เป็นรูปที่เขียนเล่าเรื่องมหาชาดกและพุทธประวัติ ต่อมาในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๗ ได้เกิดพายุฝนทำให้วิหารพังทลายลงมาหมด

ปัจจุบันทางวัดได้สร้างพระวิหารใหม่ โดยสร้างขึ้นบนฐานเก่าตามลักษณะเดิมแล้วนำภาพจิตรกรรมของเดิมมาติดตั้งเป็นบางส่วน

ส่วนพระเจดีย์ทรงพื้นเมืองล้านนา ประกอบด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยม ๓ ชั้น ต่อด้วยบัวหงายมีเรือนธาตุ ถัดขึ้นไปเป็นบัวค่ำบัวหงายต่อด้วยฐานเขียงรูปทรงกลม ๓ ชั้น ต่อด้วยมาลัยเถารูปทรงกลม จากนั้นขึ้นไปเป็นคอระฆังกลมองค์ระฆังรูปแปดเหลี่ยม ปล้องไฉนเป็นปูนปั้นรูปกลีบบัว ๒ ชั้น และปลียอด

วัดศรีอุโมงค์คำ

ตั้งอยู่ที่ ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญและมีความเก่าแก่แห่งหนึ่งในเมืองพะเยา เนื่องจากที่ตั้งของพระวิหารและพระเจดีย์อยู่บนเนินสูงซึ่งภายในเนินดังกล่าวมีอุโมงค์อยู่ข้างใน สมันก่อนเรียกชื่อว่าวัดอุโมงค์ ในปัจจุบันนี้เรียกชื่อว่าวัดศรีอุโมงค์คำ แต่ชาวบ้านมักเรียกวัดสูงมากกว่า ภายในวัดมีวิหารที่สร้างขึ้นใหม่โดยสร้างขึ้นบนฐานเดิม ประดิษฐานพระเจ้าล้านตื้อหรือหลวงพ่องามเมืองเรืองฤทธิ์ และพระเจ้าแข้งคม

ลักษณะเจดีย์เป็นศิลปะสมัยเชียงแสน ประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยม ๓ ชั้น ต่อด้วยเรือนธาตุ ซึ่งเป็นส่วนย่อมุมยืดสูงเป็นรูปแปดเหลี่ยม และมีซุ้มจระนำอยู่ ๔ ทิศ ต่อด้วยชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมเป็นฐานบัวทรงกลมซ้อนกันขึ้นไป ๓ ชั้น รองรับองค์ระฆังทรงกลมต่อด้วยบัลลังก์ ปล้องไฉนปลียอด

วัดพระธาตุแจ้โว้

ตั้งอยู่ที่ ต.ถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา วัดพระธาตุแจ้โว้เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองโบราณตั้งอยู่บนเนินเขาเรียกว่า “เวียงห้าว” ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเมือง เป็นโบราณสถานสำคัญที่มีอายุอยู่ในราว

พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้างคือ ปู่แจย่าโวและได้บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ภายในองค์พระธาตุ

พระเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียง รูปแปดเหลี่ยมต่อด้วยฐานปัทม์ย่อมุม

จากนั้นเป็นชั้นมาลัยเถารองรับองค์ระฆังรูปแปดเหลี่ยม บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลียอด พระธาตุเป็นแบบอย่างสถาปัตยกรรมพื้นเมืองล้านนา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลียอดของเจดีย์มีบัวกลุ่มอันเป็นลักษณะเฉพาะที่พบมากในเมืองเชียงแสน ช่วยกำหนดเรื่องราวของเมืองโบราณดังกล่าวได้เช่นกัน ต่อมาครูบาเจ้าศรีวิชัยได้บูรณะซ่อมแซมพระธาตุให้มีสภาพดีขึ้น

วัดพระธาตุจอมศิล

ตั้งอยู่ที่ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา พระธาตุเจดีย์เป็นปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนเนินเขา เชื่อกันว่าเป็นพระธาตุที่บรรจุพระเกศาและพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ต่อมาพระครูศรีวิราชวชิรปัญญาเจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา ร่วมกับพระยาประเทศอุดรทิศ ได้นำชาวบ้านมาบูรณะซ่อมแซมในปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ และทุกปีจะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุในวันมาฆบูชาและวันสงกรานต์

ลักษณะองค์พระธาตุเจดีย์ ประกอบด้วยฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมต่อด้วยฐานปัทม์ย่อมุมขึ้นไปมาถึงชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆังทรงกลมต่อด้วยบัลลังก์ขึ้นไปมีบัวกลุ่มที่ปล้องไฉน ต่อด้วยปลียอด จะเห็นได้ว่ารูปทรงของพระธาตุเจดีย์องค์นี้คล้ายกับพระเจดีย์วัดลี อ.เมืองพะเยา มีลักษณะเอวคอดรูปทรงสูง

วัดพระธาตุศรีปิงเมือง

ตั้งอยู่ที่ ต.ลอ อ.จุน จ.พะเยา ยังไม่พบเอกสารที่แน่ชัดว่าพระธาตุศรีปิงเมืองสร้างเมื่อใด เมื่อพิจารณารูปทรงทางสถาปัตยกรรมแล้ว น่าจะสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ในช่วงนั้นเมืองพะเยาเป็นเมืองที่มีความสัมพันธ์กับเมืองล้านนา โดยเป็นพระธาตุที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองโบราณที่เรียกว่า “เวียงลอ” เป็นพระธาตุที่มีความสัมพันธ์คู่บ้านคู่เมืองของเวียงลอ

ตังพระธาตุตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมต่อด้วยฐานปัทม์ย่อมุมขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกฟักทรงกลมจากนั้นขึ้นไปเป็นมาลัยเถาทรงกลมรองรับองค์ระฆังกลม (พระเจดีย์มีความสูงเพียงองค์ระฆังเท่านั้น) ศิลปะเชียงใหม่ตอนต้น เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนานิกายหินยานที่มามีอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย

วัดพระธาตุดอยหยวก

ตั้งอยู่ที่ ต.ปง อ.ปง จ.พะเยา วัดพระธาตุดอยหยวกตั้งอยู่บนภูเขาเตี้ย ๆ ตามตำนานกล่าวว่าในครั้งพุทธกาลพระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงดอยภูเติม พญานาคที่รักษาดอยนี้อยู่แลเห็นพระพุทธเจ้าคิดว่าเป็นพระยาครุฑก็แทรกกายหนี ต่อมาได้กราบและได้ฟังธรรมจากพระองค์จึงเลื่อมใส พระพุทธเจ้าจึงมอบพระเกศาให้และตรัสกับพระอานนท์ว่าเมื่อพระตถาคตนิพพานแล้ว ให้เอากระดูกริมตาขวามารวมไว้กับพระเกศานั้นเถิด กาลข้างหน้าจะมีชื่อว่า พระธาตุภูเติม จึงได้บรรจุและสร้างพระธาตุขึ้น ณ ดอยแห่งนี้ต่อมาจึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า “พระธาตุดอยหยวก”

ภายในวัดมีวิหารพื้นเมืองทรงต่ำแบบพื้นเมืองล้านนา ส่วนพระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนแถวหน้ากระดานสี่เหลี่ยม ต่อด้วยเรือนธาตุที่เป็นส่วนย่อมมุมยืดสูงเป็นรูปสี่เหลี่ยมและมีซุ้มจระนำอยู่ ๔ ทิศ ขึ้นไปเป็นมาลัยเถารองรับองค์ระฆังทรงกลมขึ้นไปเป็นบัลลังก์ต่อด้วยปล้องไฉนจนถึงปลียอด เป็นเจดีย์ทรงล้านนาที่สวยงามแบบหนึ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะพะเยา

วัดลี

ตั้งอยู่ที่ ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณรูปน้ำเต้า เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ ตามหลักฐานจากสิลาจารึกกล่าวว่า วัดลีสร้างในปีพุทธศักราช ๒๐๓๘ โดยเจ้าสี่หมื่นพระยา โดยมีพระมหาเถระปัญญาวงค์เป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้น

พระเจดีย์มีรูปทรงแบบสถาปัตยกรรมพื้นเมืองล้านนา เป็นเจดีย์ทรงสูง เอวคอด ฐานกว้าง ๑๖.๕๐ เมตร สูง ๓๗ เมตร ลักษณะรูปทรงของพระเจดีย์ส่วนฐานประกอบด้วยหน้ากระดานสี่เหลี่ยม ๑ ชั้น ต่อไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม ๓ ชั้น ต่อด้วยเรือนธาตุ ซึ่งเป็นส่วนย่อมุมยืดสู.เป็นรูปแปด และมีลวดลายปูนปั้นอยู่กลางเรือนธาตุเป็นลายประจำยามประดับอยู่และมีการประดับลวดลายปูนปั้นบริเวณมุมของเจดีย์อีก จนถึงบัวหงาย ด้านบนของฐานปัทม์ต่อด้วยชั้นมาลัยเถาเป็นฐานบัวแปดเหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปเป็นปล้องไฉนที่ฐานและยอดปล้องไฉนมีปูนปั้นกลีบดอกบัว ๒ ชั้น ต่อด้วยปลียอดรูปทรงกลม เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะสวยงาม

วัดร้างประตูชัย หรือวัดพระเจ้ายั้งย่อง

ตั้งอยู่ที่ ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ตั้งอยู่ใกล้สี่แยกประตูชัย เป็นวัดที่อยู่ปากทางเข้าเมือง ในสมัยก่อนเมื่อจะยกทัพออกจากปราบปรามข้าศึกก็จะยกทัพออกทางประตูที่เรียกว่าประตูชัยนี้เพื่อถือเป็นเคล็ดที่จะทำให้รบชนะ โดยจะมีการทำพิธีกรรมและพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการสู้รบ จึงมีการสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น

วัดนี้ดั้งเดิมมีบริเวณกว้างขว้างหลายสิบไร่ มีบ่อน้ำ คูเมือง น้ำไหลตลอดปี มีต้นไม้ใหญ่ล่มรื่น ต่อมาวัดแห่งนี้ได้ชื่อใหม่ตามที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดยั้งย่อง” ซึ่งคำว่า “ยั้งย่อง” หมายถึงการหยุดตั้งตัวให้สวยงาม

สันนิษฐานว่าวัดนี้แต่เดิมคงเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญมากวัดหนึ่งของเมืองพะเยาจากการพิจารณาชัยภูมิที่ตั้งของวัด ขนาด เนื้อที่บริเวณวัดละองค์พระประธานที่เป็นพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ นอกจากนี้ภายในวัดก็ยังมีพระวิหารที่ประดิษฐานพระประธาน เนินเจดีย์เนินซากโบราณสถาน ๒ เนิน

วัดรัตนคูหาวราราม (วัดบ้านถ้ำ)

วัดรัตนคูหาวราราม ตั้งอยู่ที่ ต.ถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ทราบแต่เพียงว่าก่อนที่จะตั้งหมู่บ้านนี้ก็มีองค์พระเจดีย์อยู่แล้ว ที่บ้านถ้ำนี้มีการก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๐๐ โดยครอบครัวที่มีเชื้อสายพะเยาอพยพกลับมาจากบ้านทุ่งม่าน เมืองลำปาง รวม ๗ ครอบครัว ย้ายเข้ามาทำมาหากินและก่อตั้งหมู่บ้าน ต่อมาก็มีการบูรณะวัดบ้านถ้ำขึ้นใน พุทธศักราช ๒๔๖๐ และตั้งชื่อใหม่ว่าวัดช้างแก้วมีพระเตบินเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น จนมาถึงพระคูบาก๋า เมื่อพระครูบาก๋ามรณภาพวัดก็ร้างไปอีกประมาณ ๕๐ ปีต่อมาพระภิกษุได้มาเป็นผู้นำในการบูรณะเจดีย์และเปลี่ยนชื่อจากวัดช้างแก้วมาเป็น “วัดบ้านถ้ำ” ปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดรัตนคูหาวราราม”

พระเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเรียงซ้อนกัน ๓ ชั้น ต่อขึ้นไปเป็นฐานปัทม์แปดเหลี่ยมถัดขึ้นไปเป็นมาลัยเถารูปแปดเหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไป ๓ ชั้น รองรับองค์ระฆังทรงเหลี่ยมเป็นแบบจำปาแปดกลีบ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสกุลช่างพะเยา ด้านบนเป็นรูปปั้นกลีบบัว ๒ ชั้น ครอบลงมาต่อด้วยบัลลังก์แปดเหลี่ยม ปล้องไฉน มีปูนปั้นบัวหงายรองรับปลียอด ถือว่าเป็นเจดีย์ศิลปะสกุลช่างพะเยาที่สวยงามแห่งหนึ่ง

วัดพระธาตุดอยคำ

วัดพระธาตุดอยคำตั้งอยู่ที่ ต.เจดีย์คำ อ.เชียงคำ จ.พะเยา ที่มาของเจดีย์คำหรือพระธาตุดอยคำนั้น มีตำนานว่าหญิงม่ายคนหนึ่งพบทองคำแท่งใหญ่วางยาวอยู่ระหว่างภูเขาสองลูกหันท้ายจรดภูเขาจึงนำชาวบ้านไปดู ครั้นเมื่อพญาผู้ครองเมืองได้ทราบข่าวก็มีความโลภที่จะอยากได้ทองคำนั้นจึงสั่งให้มีการตัด เมื่อทำการตัดแล้วทองคำก็แยกหายไปในดอยแล้วก็ปรากฏว่าเป็นเจดีย์ที่มีพระธาตุบรรจุอยู่ภายในแล้ว ชาวบ้านจึงเรียกว่าพระธาตุดอยคำตั้งแต่นั้นมา

วัดพระธาตุสบแวน

วัดพระธาตุสบแวนตั้งอยู่ที่ ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา เป็นวัดเก่าแก่ ตามตำนานว่าสร้างเมื่อประมาณพุทธศักราช ๒๔๔๗ โดยชาวไทลื้อที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานใน อ.เชียงคำ ได้มาสำรวจที่สร้างวัดและพบพระเจดีย์องค์หนึ่งที่สวยงามมากแต่รกร้าง จึงบูรณะขึ้นใหม่และตั้งชื่อขึ้นใหม่ว่า วัดพระธาตุสบแวน ประจวบเหมาะกับบริเวณดังกล่าวมีแม่น้ำแวนไหลมาบรรจบกับน้ำฮ่องที่นั้น

วัดแสนเมืองมา

วัดแสนเมืองมาหรือวัดมาง ตั้งอยู่ที่บ้านมาง ต.หย่วน อ.เชียงคำ เป็นวัดที่เก่าแก่มีพระอุโบสถที่สวยงาม โดยในปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถาน (อุโบสถไทลื้อ) ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ ได้ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะของไทลื้อเอาไว้

วัดพระธาตุเจดีย์จอมก๊อ

วัดพระธาตุเจดีย์จอมก๊อ ตั้งอยู่ที่ ต.เจริญราษฎร์ อ.แม่ใจ จ.พะเยา เป็นเจดีย์ทรงล้านนาที่สวยงามอีกองค์หนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพสักการบูชาของประชาชนทั่วไป

พระเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม (ในชั้นนี้มีเจดีย์ตั้งอยู่รายตรงมุมของฐานสี่องค์) ต่อด้วยฐานเขียงรูปแปดเลี่ยม ๓ ชั้น จากนั้นเป็นเรือนธาตุรูปแปดเหลี่ยม ต่อด้วยมาลัยเถาแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆังทรงกลม ต่อด้วยคอระฆังกลม ปล้องไฉน และปลียอด

วัดพระธาตุภูขวาง

วัดพระธาตุภูขวาง ตั้งอยู่บน ต.ห้วยแก้ว กิ่งอำเภอภูกามยาว จ.พะเยาตั้งอยู่กลางเมืองโบราณ ชื่อ “เวียงพระธาตุภูขวาง” เป็นปูชนียสถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าเป็นพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระธาตุข้อมือขวาของพระพุทธเจ้า

พระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานกระดานสี่เหลี่ยมย่อมุม ๔ ชั้น ต่อด้วยเรือนธาตุย่อมุมถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงรูปทรงกลม ๓ ชั้น รองรับองค์ระฆังกลม (ไม่มีบัลลังก์) ต่อด้วยคอระฆังกลม ปล้องไฉนซึ่งมีปูนปั้นเป็นรูปกลีบบัว ๒ ชั้น จากนั้นเป็นปลียอด