เรื่องที่ 2 ความหลากหลายทางชีวภาพ


   ความหลากหลายทางชีวภาพ คือ การที่มีสิ่งมีชีวิตมากมายหลากหลายสายพันธุ์และชนิดอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง

   ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกมีมากมายมหาศาลตลอดเวลา ความหลากหลายทางชีวภาพได้เกื้อหนุนให้ผู้คนดำรงชีวิตอยู่โดยมีอากาศและน้ำที่สะอาด มียารักษาโรค มีอาหารเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆการสูญเสียชนิดพันธุ์ การสูญเสียระบบนิเวศ การสูญเสียพันธุกรรมไม่ได้เพียงแต่ทำให้โลกลดความร่ำรวยทางชีวภาพลง แต่ได้ทำให้ประชากรโลกสูญเสียโอกาสที่ได้อาศัยในสภาพแวดล้อมที่สวยงามและสะอาด สูญเสียโอกาสที่จะได้มียารักษาโรคที่ดีและสูญเสียโอกาสที่จะมีอาหารหล่อเลี้ยงอย่างพอเพียง

ประเภทของความหลากหลายทางชีวภาพ

ความหลากหลายทางชีวภาพแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. ความหลากหลายของชนิด (Species diversity) เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากนักนิเวศวิทยาได้ศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกลุ่มของสิ่งมีชีวิตในเขตพื้นที่นั้นเมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป

  2. ความหลากหลายทางพันธุกรรม (Genetic diversity) เป็นส่วนที่มีความเกี่ยวเนื่องมาจากความหลากหลายของชนิดและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกลไกวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต การปรากฏลักษณะของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะถูกควบคุมโดยหน่วยพันธุกรรมหรือยีนและการปรากฏของยีนจะเกี่ยวข้องกับการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตที่ทำ ให้สิ่งมีชีวิตนั้นดำรงชีวิตอยู่ได้ และมีโอกาสถ่ายทอดยีนนั้นต่อไปยังรุ่นหลัง และลักษณะหนึ่งลักษณะของสิ่งมีชีวิตคือจะมีหน่วยพันธุกรรมมากกว่าหนึ่งแบบ จึงทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันมีลักษณะบางอย่างต่างกัน

  3. ความหลากหลายของระบบนิเวศ(Ecological diversity)หรือความหลากหลายของภูมิประเทศ (Landscape diversity) ในถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติมีลักษณะสภาพทางภูมิประเทศแตกต่างกันหลายแบบ

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต

สิ่งมีชีวิตได้วิวัฒนาการแยกออกเป็นชนิดต่างๆ หลายชนิด โดยแต่ละชนิดมีลักษณะการดำรงชีวิตต่างๆ เช่น บางชนิดมีลักษณะง่ายๆ เหมือนชีวิตแรกเกิด บางชนิดมีลักษณะซับซ้อน บางชนิดดำรงชีวิตอยู่ในน้ำ บางชนิดดำรงชีวิตอยู่บนบก เป็นต้น ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน ตามแนวความคิดของ อาร์ เอช วิทเทเคอร์ (R.H. whittaker) จำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็น 5 อาณาจักร คือ

1. อาณาจักรมอเนอรา ( Kingdom Monera )

2. อาณาจักรโพรทิสตา ( Kingdom Protista )

3. อาณาจักรฟังไจ ( Kingdom Fungi )

4. อาณาจักรพืช (Plantae)

5. อาณาจักรสัตว์ ( Kingdom Animalia )

สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ ฟองน้ำ กัลปังหา แมงกะพรุน พยาธิต่าง ๆ ไส้เดือน หอย ปู แมลง หมึก

สัตว์มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยและท้องถิ่น

สิ่งมีชีวิตในโลกนี้มีหลากหลายชนิด ในจำนวนนี้มีอยู่ในประเทศไทย ประมาณร้อยละ7 ประเทศไทยมีประชากรเพียงร้อยละหนึ่ง ของประชากรโลก ดังนั้น เมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนประชากร ประเทศไทยจึงนับว่ามีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตอย่างมาก สิ่งมีชีวิตในประเทศไทยมีหลากหลาย เนื่องจากมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่หลากหลายและแต่ละแหล่งล้วนมีปัจจัยที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต นับตั้งแต่ภูมิประเทศแถบชายฝั่งทะเล ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ราบลอนคลื่น และภูเขาที่มีความสูงหลากหลายตั้งแต่เนินเขาจนถึงภูเขาที่สูง ประเทศไทยจึงเป็นแหล่งของป่าไม้นานาชนิด ได้แก่ ป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบ และป่าสนเขา

การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่น

  การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่น ทำได้หลายวิธี ดังนี้

1. จัดระบบนิเวศให้ใกล้เคียงตามธรรมชาติ โดยฟื้นฟูหรือพัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรมให้ความหลากหลายทางชีวภาพไว้มากที่สุด

2. จัดให้มีศูนย์อนุรักษ์หรือพิทักษ์สิ่งมีชีวิตนอกถิ่นกำเนิด เพื่อเป็นที่พักพิงชั่วคราวที่ปลอดภัย ก่อนนำกลับไปสู่ธรรมชาติ เช่น สวนพฤกษศาสตร์ ศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม

3. ส่งเสริมการเกษตรแบบไร่นาสวนผสม และใช้ต้นไม้ล้อมรั้วบ้านหรือแปลงเกษตรเพื่อให้มีพืชและสัตว์หลากหลายชนิดมาอาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพได้