เรื่องที่ 1 เซลล์ (Cell)

         เซลล์ (Cell)  หมายถึง หน่วยที่เล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิต โดยเซลล์ (cell) มาจากคำว่า cella ในภาษาละติน ซึ่งมีความหมายว่าห้องเล็กๆ เซลล์ (cell) สามารถเพิ่มจำนวน เจริญเติบโต และตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ เซลล์บาง

ชนิดเคลื่อนที่ได้ด้วยตนเอง


ส่วนประกอบของเซลล์ประกอบด้วยอะไรบ้าง

เซลล์โดยทั่วไปไม่ว่าจะมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม แต่จะมีลักษณะโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่คล้ายคลึงกัน เซลล์ของสิ่งมีชีวิตจะมีส่วนประกอบที่เป็นโครงสร้าง พื้นฐานอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ 

1. ส่วนห่อหุ้มเซลล์

1.1 เยื่อหุ้มเซลล์ (Cell membrane) มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ ทำหน้าที่ห่อหุ้มส่วนต่างๆที่อยู่ภายในเซลล์ ประกอบด้วยโปรตีนและไขมัน มีหน้าที่ ควบคุม ปริมาณ และชนิดของสารที่ผ่านเข้าออกจากเซลล์

1.2 ผนังเซลล์ (Cell wall) เป็นส่วนที่อยู่นอกสุด ทำหน้าที่เพิ่มความแข็งแรง และป้องกันอันตรายให้แก่เซลล์พืช ประกอบด้วย สารเซลลูโลสเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้มีคิวทินซูเบอริน เพกทิน ลิกนิน ผนังเซลล์พบในเซลล์พืช แบคทีเรีย และสาหร่าย

1.3 สารเคลือบเซลล์ (cell coat) เป็นสารที่เซลล์สร้างขึ้นเพื่อห่อหุ้มเซลล์อีกชั้นหนึ่งเป็นสารที่มีความแข็งแรง ไม่ละลายน้ำ ทำให้เซลล์คงรูปร่างได้และช่วยลดการสูญเสียน้ำ

2. นิวเคลียส (nucleus)

เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของเซลล์ มีรูปร่างค่อนข้างกลม นิวเคลียสทำหน้าที่ ควบคุมเมแทบอลิซึมของเซลล์ ควบคุมการสังเคราะห์โปรตีนและเอนไซม์ ควบคุมการถ่ายทอดลักษณะ ทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ไปสู่รุ่นลูกหลาน ควบคุมกิจกรรมต่างๆ ภายในเซลล์ ควบคุมการเจริญเติบโต และควบคุมลักษณะต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต ประกอบด้วย

    2.1 เยื่อหุ้มนิวเคลียส (nuclear membrane) เป็นเยื่อบาง ๆ 2 ชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยลิพิดเรียงตัว 2 ชั้น มีโปรตีนแทรกเป็นระยะๆ มีช่องเล็กๆ ทะลุผ่านเยื่อหุ้มนิวเคลียส

    2.2 นิวคลีโอลัส (Nucleolus) ประกอบด้วยสาร DNA และ RNA ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีน และสร้างไรโบโซม

   2.3 โครมาทิน (Chromatin) ซึ่งเส้นใยเล็ก ๆ ยาว ๆ หดไปมาเป็นร่างแห เมื่อหดตัวสั้นและหนาขึ้น เรียกว่า โครโมโซม (chromosome) ประกอบด้วย ยีน และโปรตีนหลายชนิดบนยีนจะมีรหัสพันธุกรรมซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการสร้างโปรตีน

3. ไซโทพลาสซึม (Cytoplasm)

เป็นส่วนที่อยู่รอบ ๆ นิวเคลียส มีลักษณะเป็นของเหลวโดยมีสารอาหารและสารอื่นๆละลายอยู่ นอกจากนี้ในไซโทพลาสซึมยังมีออร์แกเนลล์ที่สำคัญ ได้แก่

3.1 ไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) ทำหน้าที่สร้างพลังงานให้แก่เซลล์

3.2 ไรโบโซม (Ribosome) พบทั้งในเซลล์ พืช และสัตว์ มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีน

3.3 ไลโซโซม (Lysosome) ทำหน้าที่ย่อยสารและสิ่งแปลกปลอมที่เซลล์ไม่ต้องการ

3.4 กอลจิบอดี (Golgi body) ทำหน้าที่สะสมโปรตีนเพื่อส่งออกนอกเซลล์

3.5 เอนโดพลาสมิก เรติคูลัม (Endoplasmic reticulum) มี 2 แบบ คือ ชนิดเรียบทำหน้าที่สร้างสารพวกไขมันและชนิดขรุขระทำหน้าที่ขนส่งโปรตีน

3.6 แวคิวโอล (Vacuole) เป็นแหล่งสะสมสารต่าง ๆ ซึ่งในเซลล์พืชจะมีขนาดตามอายุของเซลล์

สิ่งมีชีวิตมีการรักษาดุลยภาพย่างไร

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีการรักษาดุลยภาพสภาวะและสารต่างๆ ภายในร่างกาย ดังนี้

1. การรักษาสมดุลของอุณหภูมิ

2. การรักษาสมดุลของน้ำ

3. การรักษาสมดุลของกรด-เบส

4. การรักษาสมดุลของแร่ธาตุ

สาเหตุที่สิ่งมีชีวิตต้องมีกลไกการรักษาดุลยภาพของร่างกาย เพราะว่าสภาวะและสารต่างๆ ภายในร่างกายมีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ ซึ่งทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาชีวเคมีต่าง ๆที่เกิดขึ้นภายในเซลล์และร่างกาย

พืชรักษาดุลยภาพของน้ำอย่างไร

การคายน้ำถือเป็นกระบวนการสำคัญในการรักษาดุลยภาพของน้ำในพืชซึ่งเป็นกระบวนการที่พืชกำจัดน้ำออกมาในรูปของไอน้ำหรือหยดน้ำ โดยไอน้ำจะออกมาทางปากใบ(Stoma) ผิวใบหรือรอยแตกบริเวณลำต้น แต่หยดน้ำจะออกมาทางช่องเปิดบริเวณขอบใบหรือปลายใบปัจจัยที่มีผลต่อการคายน้ำของพืช ได้แก่ ลม ความกดดันอากาศ อุณหภูมิความเข้มของแสงสว่าง ความชื้นในอากาศ ปริมาณน้ำในดิน


ข้อดีจากการคายน้ำของพืช

1. ช่วยให้พืชมีอุณหภูมิลดลง 2-3°C

2. ช่วยให้พืชดูดน้ำและแร่ธาตุในดินเข้าสู่รากได้

3. ช่วยให้พืชลำเลียงน้ำและแร่ธาตุไปตามส่วนต่างๆ ของพืชได้

ข้อเสียจากการคายน้ำของพืซ คือ พืชคายน้ำออกไปมากกว่าที่จะนำไปใช้ในการเจริญเติบโตและสร้างผลผลิต

สัตว์รักษาดุลยภาพของน้ำและสารต่าง ๆ ในร่างกายอย่างไร

อวัยวะสำคัญในการรักษาดุลยภาพของน้ำและสารต่างๆ ในร่างกาย คือ ไต (Kidneys)พบในสัตว์มีกระดูกสันหลัง ไตคนมีลักษณะคล้ายเม็ดถั่วแดง 2 เม็ดอยู่ด้านหลังของลำตัวเมื่อผ่าไตจะสังเกตเห็นเนื้อไตชั้นนอกและชั้นใน ซึ่งในเนื้อไตแต่ละข้างประกอบด้วยหน่วยไต(Nephron) 1 ล้านหน่วย ทำหน้าที่กำจัดของเสียในรูปของปัสสาวะ


มนุษย์มีการรักษาดุลยภาพของกรด-เบสในร่างกายอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงความเป็นกรด-เบสมากๆ จะทำให้เอนไซม์ (Enzyme) ภายในเซลล์หรือร่างกายไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้นร่างกายจึงมีกลไกการรักษาดุลยภาพความเป็นกรด-เบสภายในให้คงที่ ซึ่งมี  3 วิธี คือ

1. การเพิ่มหรือลดอัตราการหายใจ ถ้าคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ในเลือดมีปริมาณมากจะส่งผลให้ศูนย์ควบคุมการหายใจ คือสมองส่วนเมดัลลาออบลองกาตา(Medulla Oblongata) ส่งกระแสประสาทไปสั่งให้กล้ามเนื้อกะบังลม และกล้ามเนื้อยึดกระดูกซี่โครงทำงานมากขึ้น เพื่อจะได้หายใจออกถี่ขึ้น ทำให้ปริมาณ CO2 ในเลือดลดลงถ้า CO2 ในเลือดมีปริมาณน้อย จะไปยับยั้งสมองส่วนเมดัลลาออบลองกาตา ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อกะบังลมและกล้ามเนื้อยึดกระดูกซี่โครงทำงานน้อยลง

2. ระบบบัฟเฟอร์ (Buffer) คือ ระบบที่สามารถรักษาระดับค่า pH ให้เกือบคงที่ไว้ได้เมื่อมีการเพิ่มของสารที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือเบสเล็กน้อยน้ำเลือด เลือดที่แยกส่วนของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือดออกแล้ว) ทำหน้าที่เป็นระบบบัฟเฟอร์ให้กับร่างกายมนุษย์

3. การควบคุมกรดและเบสของไต ไตสามารถปรับสมดุลกรด-เบสของเลือดได้มากโดยผ่านกระบวนการผลิตปัสสาวะ ระบบนี้จึงมีการทำงานมาก สามารถปรับค่า pH ของเลือดที่เปลี่ยนแปลงไปมากให้เข้าสู่ภาวะปกติหรือภาวะสมดุลได้แต่จะใช้เวลานาน


สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มีการรักษาดุลยภาพของน้ำและแร่ธาตุอย่างไร


การรักษาดุลภาพของสัตว์แต่ละชนิด เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาวะสมดุล เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากน้ำในร่างกายจะมีความสัมพันธ์กับความเข้มข้นของแร่ธาตุ และสารต่างๆ ที่ละลายอยู่ในน้ำ ดังนั้นการรักษาดุลยภาพของน้ำในร่างกาย จึงมีความเกี่ยวข้องกับการรักษาดุลยภาพของแร่ธาตุ และสารต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน การรักษาดุลภาพของน้ำและแร่ธาตุในร่างกายของสัตว์มี ดังนี้

สัตว์บก

สัตว์บกจะได้รับน้ำจากการดื่มน้ำ และจากน้ำที่เป็นส่วนประกอบในอาหารเช่น ในพืชผัก ผลไม้ ตลอดจนน้ำที่อยู่ในเนื้อสัตว์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้รับน้ำจากกระบวนการย่อยสลายสารอาหาร ตลอดจนการเผาผลาญสารอาหาร หากร่างกายได้รับปริมาณมากเกินไปร่างกายจะกำจัดน้ำส่วนเกินออกในรูปของเหงื่อ ไอน้ำในลมหายใจ ปัสสาวะ และอุจจาระ โดยมีไตเป็นอวัยวะหลักที่ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของน้ำ และแร่ธาตุในร่างกาย

สัตว์ปีก

นกหลายชนิดจะมีขนปกคลุม เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำเนื่องจากความร้อนและยังมีระบบการรักษาดุลยภาพของน้ำด้วยการขับออกในรูปปัสสาวะนอกจากนี้ยังพบว่านกทะเลที่กินพืชหรือสัตว์ทะเลเป็นอาหาร จะมีอวัยวะที่ทำหน้าที่กำจัดแร่ธาตุหรือเกลือส่วนเกินออกไปจากร่างกาย เรียกว่า ต่อมนาสิก (Nasal Gland) หรือต่อมเกลือ (Salt Gland) ซึ่งอยู่บริเวณหัวและจมูก โดยแร่ธาตุและเกลือจะถูกกำจัดออกในรูปของน้ำเกลือ วิธีการรักษาสมดุลเช่นนี้ จึงทำให้นกทะเลต่าง ๆ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แม้จะบริโภคอาหารที่มีแร่ธาตุและเกลือสูงเป็นประจำ

สัตว์น้ำเค็ม

จะมีวิธีการควบคุมสมดุลน้ำและแร่ธาตุในร่างกายที่แตกต่างไปจากสัตว์บกเนื่องจากสัตว์น้ำเค็มจะต้องมีการปรับความเข้มข้นของเกลือแร่ในร่างกายให้ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อม เรียกระดับความเข้มข้นเกลือแร่ภายในร่างกายให้ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมว่า ไอโซทอนิก (isotonic) ซึ่งจะช่วยทำให้ร่างกายกับสภาพแวดล้อมมีความสมดุลกันจึงไม่มีการสูญเสียน้ำหรือรับน้ำเข้าสู่ร่างกาย โดยสัตว์น้ำเค็มแต่ละชนิดจะมีกลไกในการรักษาดุลยภาพที่แตกต่างกัน ดังนี้ ในปลากระดูกอ่อน เช่น ปลาฉลาม จะมีระบบการรักษาสมดุลโดยการพัฒนาให้มียูเรียสะสมในกระแสเลือดในปริมาณสูง จนมีความเข้มข้นใกล้เคียงกับน้ำทะเลจึงไม่มีการรับน้ำเพิ่มหรือสูญเสียน้ำไปโดยไม่จำเป็นส่วนในปลากระดูกแข็งจะมีเกล็ดตามลำตัว เพื่อใช้ป้องกันการสูญเสียน้ำภายในร่างกายออกสู่สภาพแวดล้อมเนื่องจากสภาพแวดล้อมมีความเข้มข้นของสารละลายมากกว่าในร่างกายและมีการขับเกลือแร่ออกทางทวารหนัก และในลักษณะปัสสาวะที่มีความเข้มข้นสูงและมีกลุ่มเซลล์ที่เหงือกทำหน้าที่ลำเลียงแร่ธาตุออกนอกร่างกายด้วยวิธีการลำเลียงแบบใช้พลังงาน

สัตว์น้ำจืด

มีความเข้มข้นของของเหลวในร่างกายมากกว่าน้ำจืด ดั้งนั้น มีกลไกลการรักษาสมดุล เช่น ปลาน้ำจืด มีผิวหนังและเกล็ดป้องกันการซึมเข้าของน้ำ มีการขับปัสสาวะบ่อยและเจือจาง และมีอวัยวะพิเศษที่เหงือกคอยดูดเกลือแร่ที่จำเป็นคืนสู่ร่างกายโพรทิสต์(Protist) เช่น โพรโทซัวที่อาศัยในน้ำจืด จะใช้วิธีการปรับสมดุลของน้ำและของเสียที่เกิดขึ้นในเซลล์ โดยการแพร่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ออกไปสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรงนอกจากนี้ยังใช้ คอนแทรกไทล์ แวคิวโอล (contractile vacuole) กำจัดสารละลายของเสียและน้ำออกสู่ภายนอกเซลล์ ทำให้สามารถรักษาดุลยภาพของน้ำช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์เต่งหรือบวมมากจนเกินไป

สัตว์รักษาดุลยภาพอุณหภูมิอย่างไร

การรักษาดุลยภาพอุณหภูมิของสัตว์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามอุณหภูมิของร่างกาย ดังนี้

1. สัตว์เลือดเย็น คือ สัตว์ที่มีอุณหภูมิภายในร่างกายไม่คงที่ เพราะจะเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมภายนอก

2. สัตว์เลือดอุ่น คือ สัตว์ที่มีอุณหภูมิภายในร่างกายคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม จะมีกลไกการรักษาอุณหภูมิภายในร่างกาย ดังนี้

2.1 การรักษาอุณหภูมิโดยอาศัยโครงสร้างของร่างกาย สัตว์เลือดอุ่นจะมีการพัฒนาโครงสร้างของผิวหนังเพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนของร่างกายจากสภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำ เช่น การมีชั้นไขมันหนาอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง การมีขนปกคลุมร่างกาย หรือการมีโครงสร้างเพื่อลดความร้อนของร่างกาย จากสภาวะที่มีอุณหภูมิสูง เช่น มีต่อมเหงื่อและรูขุมขนตามร่างกาย สำหรับระบายความร้อน เป็นต้น

2.2 การรักษาอุณหภูมิโดยอาศัยการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายเป็นการตอบสนองต่ออุณหภูมิที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายโดยมีศูนย์กลางการควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่สมองส่วนไฮโพทาลามัส ซึ่งกระบวนการทำงานภายในร่างกาย เพื่อตอบสนองต่ออุณหภูมิจะมีลำดับขั้นตอนการทำงาน ดังนี้

  2.2.1การรับรู้ความรู้สึกหนาวหรือร้อน จะเกิดขึ้นที่ตัวรับรู้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ซึ่งมี 2 ชนิด คือ ตัวรับความรู้สึกร้อน สามารถพบได้ในผิวหนังทุกส่วน จะพบมากที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ส่วนตัวรับความรู้สึกหนาว จะพบได้มากที่บริเวณเปลือกตาด้านในและบริเวณเยื่อบุในช่องปาก

  2.2.2 การทำงานร่วมกันของศูนย์ควบคุมในสมองส่วนไฮโพทาลามัสจะรับสัญญาณความรู้สึกจากตัวรับรู้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิทั่วร่างกายแล้วจัดการแปลข้อมูล จากนั้นจึงส่งกระแสประสาทไปสู่อวัยวะหรือตัวแสดงการตอบสนองที่ทำหน้าที่ปรับระดับอุณหภูมิในร่างกาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยปรับอุณหภูมิในร่างกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คือ ไม่ร้อนและไม่เย็นจนเกินไป

  2.2.3 การแสดงการตอบสนอง เมื่อได้รับสัญญาณจากสมองแล้ว ตัวแสดงการตอบสนองต่าง ๆ ในร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยให้ระดับอุณหภูมิในร่างกายกลับเข้าสู่สมดุล โดยลักษณะการตอบสนองเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิในร่างกายอาจมีได้หลายลักษณะ ดังนี้

  1.) กระบวนการเมแทบอลิซึม เป็นการเผาผลาญสารอาหารให้เกิดพลังงานความร้อน โดยเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิลดต่ำลง สมองส่วนไฮโพทาลามัสจะส่งสัญญาณไปกระตุ้นอวัยวะที่ควบคุมอัตราเมแทบอลิซึมในร่างกายเพื่อเพิ่มกระบวนการเมแทบอลิซึมให้มากขึ้น ทำ ให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น แต่หากร่างกายมีอุณหภูมิสูงสมองส่วนไฮโพทาลามัสก็จะส่งสัญญาณไปกระตุ้นอวัยวะต่าง ๆ เพื่อลดกระบวนการเมแทบอลิซึมในร่างกายให้ลดลงทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงด้วย

  2.) เส้นเลือด เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูง เส้นเลือดจะขยายตัวทำให้มีการลำเลียงเลือดจากอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายไปยังผิวหนังดีขึ้น ความร้อนในร่างกายจึงถ่ายเทออกสู่ภายนอกได้ดีขึ้น ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง แต่ถ้าร่างกายมีอุณหภูมิต่ำ เส้นเลือดจะหดตัว ทำให้มีการลำเลียงเลือดไปยังผิวหนังน้อยลง ความร้อนใน

ร่างกายจึงถ่ายเทออกสู่ภายนอกได้น้อยลง ร่างกายจึงเก็บรักษาความร้อนไว้ได้

  3.) การหลั่งของเหงื่อ เป็นการระบายความร้อนไปพร้อมกับหยดน้ำเหงื่อ ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลง

  4.) การหดตัวของรูขุมขน การหดตัวของกล้ามเนื้อโคนขน มีผลทำให้รูขุมขนหดเล็กลง จึงช่วยลดการสูญเสียความร้อนทางรูขุมขน ทำให้เกิดการอาการขนลุก

      5.) การหดตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการสั่นจึงได้พลังงานความร้อนมาชดเชยความร้อนที่สูญเสียไป

2.3 การรักษาอุณหภูมิโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง การรักษาอุณหภูมิโดยโครงสร้างของร่างกายและการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายไม่เพียงพอต่อการรักษาอุณหภูมิภายในร่างกายสัตว์ต่าง ๆ จึงมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อให้สามารถใช้สภาพแวดล้อมเข้ามาช่วยในการรักษาอุณหภูมิภายในร่างกาย เช่น การนอนแช่น้ำ การอพยพไปยังพื้นที่ ที่มีอุณหภูมิเหมาะสมกว่าการใส่เสื้อกันหนาวของมนุษย์ เป็นต้น