เรื่องที่ 3 การใช้สารเคมีที่ถูกต้องและปลอดภัย


หลักสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย มีหลักสำคัญ ดังนี้

1. การจัดเก็บ ต้องจัดเก็บให้ถูกต้องเหมาะสมกับสมบัติของสารนั้น การจัดเก็บต้องเป็นสัดส่วน สารไวไฟต้องเก็บในขวดที่ปิดมิดชิด อากาศแห้งเย็น ห่างจากประกายไฟแหล่งความร้อน สารพิษและสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อนต้องเก็บแยกต่างหากมีป้ายบอกที่เก็บเป็นสัดส่วนชัดเจนไม่จัดเก็บปะปนกับวัตถุดิบที่นำมาใช้ในกระบวนการปรุงอาหารที่สำคัญที่สุด ต้องเก็บให้ห่างจากมือเด็ก เด็กต้องไม่สามารถนำออกมาได้

2. ฉลาก รู้จักฉลากและใส่ใจในการอ่านฉลากอย่างละเอียดก่อนนำมาใช้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านส่วนใหญ่เป็นสารที่มีพิษให้โทษรุนแรงในระดับต่างกันก่อนนำมาใช้ จึงต้องอ่านฉลากให้เข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำที่ผู้ผลิตระบุไว้ที่ฉลากอย่างเคร่งครัดตัวอย่าง

คำอธิบายในฉลาก เช่น

- อันตราย (DANGER) แสดงให้เห็นว่าควรใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความระมัดระวังเพิ่มมาก

ขึ้นเป็นพิเศษสารเคมีที่ไม่ได้ถูกทำให้เจือจางเมื่อสัมผัสถูกกับตาหรือผิวหนังโดยไม่ได้ตั้งใจอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นถูกกัดทำลายหรือสารบางอย่างอาจติดไฟได้ถ้าสัมผัสกับเปลวไฟ

- สารพิษ (POISON) คือ สารที่ทำให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสียชีวิตถ้าถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังรับประทานหรือสูดดมคำนี้เป็นเป็นข้อเตือนถึงอันตรายที่รุนแรงที่สุด

- เป็นพิษ (TOXIC) หมายถึง เป็นอันตรายทำให้อวัยวะต่างๆทำหน้าที่ผิดปกติไปหรือทำให้เสียชีวิตได้ถ้าถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังรับประทานหรือสูดดม

- สารก่อความระคายเคือง (IRRITANT) หมายถึง สารที่ทำให้เกิดความระคายเคืองหรืออาการบวมต่อผิวหนังตาเยื่อบุและระบบทางเดินหายใจ

- ติดไฟได้ (FLAMMABLE) หมายถึง สามารถติดไฟได้ง่าย และมีแนวโน้มที่จะเผาไหม้ได้อย่างรวดเร็ว

- สารกัดกร่อน (CORROSIVE) หมายถึง สารเคมีหรือไอระเหยของสารเคมีนั้นสามารถทำให้วัสดุถูกกัดกร่อนผุหรือสิ่งมีชีวิตถูกทำลายได้


3. ซื้อมาเก็บเท่าที่จำเป็น ไม่จำเป็นต้องมากักตุนไว้จำนวนมากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่มีความจำเป็นต้องนำมาเก็บสำรองในปริมาณมาก การสำรองเท่ากับเป็นการนำสารพิษมาเก็บไว้โดยไม่ตั้งใจนอกจากนี้ยังต้องหมั่นตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์มีสมบัติเปลี่ยนแปลงไปจากตอนที่ซื้อมาใหม่หรือไม่ เช่น สี กลิ่น เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจจะหมดอายุหรือหมดสภาพจำเป็นต้องนำไปทิ้ง หรือทำลายด้วยวิธีการที่ถูกต้อง

4. ไม่เก็บสารเคมีปะปนกับอาหาร ทั้งนี้เนื่องจากสารเคมีอาจหกหรือมีไอระเหยทำให้ปนเปื้อนกับอาหารได้ และเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีเสร็จแล้วควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง

5. การทิ้งภาชนะบรรจุหรือผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ ต้องคำนึงเสมอว่าภาชนะบรรจุหรือผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุที่จำเป็นต้องทิ้ง อาจก่อให้เกิดพิษต่อสิ่งแวดล้อมการทิ้งขยะจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องแยกและนำทิ้งในระบบการจัดเก็บขยะมีพิษของเทศบาลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากไม่มีจำเป็นต้องฝังกลบหรือทำลายให้ดูคำแนะนำในฉลากและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

6. หลักปลอดภัยสูงสุดในขณะใช้ ต้องคำนึงไว้เสมอว่าสารเคมีทุกอย่างมีพิษแม้จะมั่นใจว่ามีพิษต่ำก็ให้ปฏิบัติเสมือนสารเคมีที่มีพิษสูงเพื่อความปลอดภัยการหยิบจับต้องใช้ถุงมือมีเสื้อคลุมกันเปื้อนใช้ผ้าปิดจมูก (mask) สวมแว่นตากันสารเคมี (Goggle) หากสัมผัสสูดดมเอาไอระเหยหรือเผลอกลืนกินเข้าไปให้ดูวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากฉลาก และรีบนำไปพบแพทย์ทันทีโดยนำภาชนะผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากติดตัวไปด้วย