เรื่องที่ 1 ความสำคัญของสารเคมีกับชีวิตและสิ่งแวดล้อม   

                                                        
      สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเราทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรม (จับต้องมองเห็นได้) และนามธรรม (วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ) มีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกันเป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือ

ทำลาย อีกส่วนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ้สิ่งแวดล้อมเป็นวงจร และวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ

สิ่งแวดล้อม แบ่งออกเป็นลักษณะกว้าง ๆ ได้ 2 ส่วน คือ

1. สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ดิน น้ำ อากาศ ทรัพยากร

2. สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ชุมชนเมือง สิ่งก่อสร้างโบราณสถาน ศิลปกรรม

ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม


มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่น ในอดีตปัญหาเรื่องความสมดุลของธรรมชาติตามระบบนิเวศยังไม่เกิดขึ้นมากนัก เนื่องจากผู้คนในยุคนั้นมีชีวิตอยู่ภายใต้อิทธิพลของธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านธรรมชาติ และสภาวะแวดล้อมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้ธรรมชาติสามารถปรับสมดุลของตัวเองได้ แต่ปัจจุบันนี้ได้มีปัญหาอย่างรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในบางส่วนของโลก และปัญหาดังกล่าวก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกประเทศ ดังนี้

1. ปัญหาทางด้านภาวะมลพิษทางน้ำ

2. ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสลายและหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว เช่น น้ำมันแร่ธาตุ พืชสัตว์ ทั้งที่เป็นอาหารและการอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา

3.ปัญหาที่เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมนุษย์ เช่น การวางผังเมือง และชุมชนไม่ถูกต้องทำให้เกิดการแออัด การใช้ทรัพยากรผิดประเภทและเกิดปัญหาจากของเหลือทิ้งพวกขยะมูลฝอย

สสาร หมายถึง สิ่งที่มีมวล ต้องการที่อยู่ และสามารถสัมผัสได้ หรืออาจหมายถึงสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา  มีตัวตนต้องการที่อยู่สัมผัสได้ อาจมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ได้ เช่นอากาศ ดิน น้ำ เป็นต้น

สาร หมายถึง สสารที่ทราบสมบัติ หรือสสารที่จะศึกษาเป็นสสารที่เฉพาะเจาะจง

สมบัติของสาร หมายถึง ลักษณะเฉพาะตัวของสาร เช่น เนื้อสาร สี กลิ่น รส การนำไฟฟ้า การละลายน้ำ จุดเดือด จุดหลอมเหลว ความเป็นกรด – เบส เป็นต้น

สมบัติของสารจำแนกได้ 2 ประเภท คือ

1. สมบัติทางกายภาพ เป็นสมบัติที่สังเกตได้จากลักษณะภายนอก หรือใช้เครื่องมือง่ายๆในการสังเกต ซึ่งเป็นสมบัติทีไม่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาเคมี เช่น สี กลิ่น รสสถานะ จุดเดือด ลักษณะ รูปผลึก ความหนาแน่น การนำไฟฟ้า การละลาย จุดหลอมเหลว

2. สมบัติทางเคมี เป็นสมบัติที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างภายในของสาร เป็นสมบัติที่สังเกตได้เมื่อมีปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้น เช่น ความเป็นกรด- เบส การเกิดสนิม เป็นต้น

ในชีวิตประจำวันของเราจึงมีความจำเป็นต้องใช้สารต่างๆ ทั้งเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตในรูปปัจจัยสี่ คือ สารเป็นแหล่งอาหาร เราใช้สารเป็นเครื่องใช้ไม้สอยในการสร้างที่อยู่อาศัยและเครื่องอำนวยความสะดวกเราใช้สารพวกเส้นใยมาผลิตสิ่งทอใช้เป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ที่ใช้เพื่อการป้องกันโรค บำบัดรักษาโรค ล้วนแต่เป็นสารทั้งสิ้น