5. นักเรียนดาราวิทยาลัยจังหวัดเชียงใหม่ เคยสวมเครื่องแบบสีม่วง – ขาวจริงหรือ ?

วันที่โพสต์: Nov 03, 2013 2:52:18 PM

นักเรียนดาราวิทยาลัยจังหวัดเชียงใหม่ เคยสวมเครื่องแบบสีม่วง – ขาวจริงหรือ ?

โดย....บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา

ผู้เขียนในฐานะศิษย์เก่า โรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนแห่งแรกของนครเชียงใหม่ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 120 ปี ดังที่เคยนำเสนอมาแล้ว พร้อมตั้งประเด็นขอให้ทุกคนช่วยกันขบคิดเรื่องชื่อโรงเรียนว่า มีความหมายเป็นมาอย่างไร เคยมีการบอกกล่าวให้นักเรียนปัจจุบันรู้จักภูมิหลังของบรรพบุรุษมากน้อยเพียงใด

การหยิบยกเรื่องชื่อ โรงเรียนพระราชชายา มากล่าวอีกครั้ง มิได้มีเจตนาเชิงลบเลย เพียงแต่ต้องการให้ทุกคนหันกลับไปมองอดีตเพื่อเรียนรู้ถึงรากเหง้า หากมองแบบวิเคราะห์จะพบว่าหลากหลายเรื่องราวที่ลึกซึ้งทางประวัติศาสตร์ เราน่าจะมาร่วมด้วยช่วยกันในเชิงสร้างสรรค์และร่วมด้วยช่วยกันในเชิงสร้างสรรค์และร่วมภาคภูมิใจกับโรงเรียนดาราวิทยาลัย ที่เป็นจุดกำเนิดให้สตรีล้านนาได้รับการศึกษา เป็นโรงเรียนแห่งแรกของนครเชียงใหม่

เป็นที่ทราบกันดีว่านักเรียนโรงเรียนดาราวิทยาลัย สวมเครื่องแบบเสื้อสีขาว กระโปรงสีแดง รองเท้าถึงเท้าสีขาว สำหรับนักเรียนหญิง ส่วนนักเรียนชายที่รับเข้ามาในยุคหลังเพื่อปรับเป็นโรงเรียนสหศึกษายังคงสวมเสื้อสีขาวนุ่งกางเกงสีดำ ดังนั้นประเด็นที่ว่า นักเรียนดาราวิทยาลัยสวมเครื่องแบบนักเรียนโดยใช้สีแดง-ขาว ซึ่งเหมือนกับโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง ในเครือสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย คือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (กุลสตรีวังหลัง) ที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เมื่อใด และมีเหตุผลไรในการใช้สีแดง – ขาว ซึ่งเป็นสีประจำโรงเรียนด้วย

คำถามเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น ถ้าหากว่าผู้เขียนไม่ได้อ่านพบข่าวเรื่อง การเสด็จฯ ทอดพระเนตรโรงเรียนดาราวิทยาลัยในหนังสือพิมพ์ข่าวเสด็จ ประจำวันที่ 29 มกราคม 2469 ซึ่งผู้เขียนขอสรุปข้อความมากล่าว ณ ที่นี้.. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ประพาสมณฑลพายัพระหว่างวันที่ 23 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 และเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2469 ได้เสด็จ ทอดพระเนตรกิจการของโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ก่อนเสด็จพระราชดำเนินมา โรงเรียนดาราวิทยาลัย มีคณะครู-นักเรียนรอรับเสด็จ ฯ

ขณะนั้น มิสแมคคลัว เป็นอาจารย์ใหญ่ และ มิสซิสฮัว เทเลอร์ เป็นอาจารย์ปกครอง เป็นผู้นำเสด็จฯ ทอดพระเนตรอาคาร ซึ่งเป็นตึกขนาดใหญ่ ข้างล่างเป็นห้องเรียนและชั้นต่าง ๆ ส่วนชั้นบนเป็นห้องนอนมีเตียงเหล็ก มีสปริงชนิดนอนคนเดียว ทาสีเรียงรายเป็นระยะ และสะอาดสะอ้าน (หอพัก) เมื่อเสด็จฯ ถึงห้องประชุม มีคณะครู – นักเรียนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และ นางนิวรณ์ โรคาพาธ (สุดา ไชยวรรณ) ครูประจำชั้นมัธยมปีที่ 6 อ่านคำกราบบังคมทูลความว่าโรงเรียนนี้ตั้งขึ้นโดยคณะมิชชันนารีในชั้นต้นตั้งที่เชิงสะพานนวรัฐเมื่อ 40 ปีมาแล้ว บัดนี้การศึกษาเจริญก้าวหน้าขึ้น ขยายการเรียนถึงชั้นมัธยมปีที่ 6 พอถึงปี พ.ศ. 2464 ได้รับทุนกจากคณะคริสเตียนสตรีในสหรัฐอเมริกา บริจาคเงินจำนวน 21,000 บาท มาสร้างโรงเรียนแห่งใหม่นี้ที่ตำบลหนองเส้ง จึงแก้ไขระเบียบใหม่แยกโรงเรียนออกเป็น 2 แห่งที่เดิม (ดาราใต้) รักนักเรียนเช้ามาเย็นกลับที่อยู่บ้านใกล้เคียง สอนตั้งแต่ชั้นต่ำถึงชั้นมัธยมปีที่ 2

ส่วนโรงเรียนแห่งใหม่นี้ (ดาราเหนือ) รับนักเรียนประจำกับนักเรียนเช้ามาเย็นกลับ ที่อยู่บ้านใกล้เคียงกับตำบลนี้ รวมนักเรียนทั้งสองแห่งมีนักเรียนประจำ 45 คน นักเรียนเช้ามาเย็นกลับ 205 คน มีครูต่างประเทศ 2 คน ครูไทย 18 คน นักเรียนที่จบชั้นมัธยมปีที่ 6 ไปแล้ว 25 คน ล้วนประสบความสำเร็จ เช่น เป็นครูใหญ่อยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือหรือบางคนเป็นนางพยาบาล โรงเรียนตั้งอยู่ได้เพราะได้การอุปการะจากคณะมิชชันนารีของอเมริกา เงินที่เก็บได้จากนักเรียนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ได้รับพระราชทานจาก พระราชชายาเจ้าดารารัศมีบ้าง ทำให้โรงเรียนดำเนินได้โดยเรียบร้อย

แม้คณะครู-นักเรียน ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะสนองพระเดชพระคุณยิ่งไปกว่าจะความจงรักภักดี ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และตั้งใจทำกิจในหน้าที่ของตนโดยเต็มกำลัง จะเชื่อฟังโอวาทคำสั่งสอนครูบาอาจารย์ และพระราชกำหนด กฎหมาย อบรมนิสัยของคนให้เป็นพลเมืองดี กระทำการที่ดีมีประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความเจริญแห่งประเทศให้ทวียิ่งขึ้น ในครั้งนี้มิสซิสฮิว เทเลอร์ ได้นำหมอนปักพระบรมนามาภิธัยย่อและผ้าปูโต๊ะ รวมทั้งภาพถ่ายครูนักเรียน 1 อัลบั้ม ทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระบรมราชินี ก่อนเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังโรงเรียนปริ้นส์รอยแยลส์วิทยาลัย

ส่วนท้ายของข่าวนี้มีข้อความตอนหนึ่งที่แสดงให้ทราบว่าเครื่องแบบนักเรียนดาราวิทยาลัยที่ผู้รายงานข่าวเขียนไว้......เมื่อได้เห็นสถานที่ของโรงเรียนนี้ ทั้งหมดตลอดจนห้องนอน และเตียงแล้วทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึงโรงเรียนสตรีอีกแห่งหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าได้เคยเห็นมาแล้ว คือ โรงเรียน วัฒนาวิทยาลัย กรุงเทพฯ ซึ่งข้าพเจ้าเคยไปเยี่ยมครั้งหนึ่ง เพราะทุกสิ่งล้วนเหมือนกันทั้งหมด ผิดกันแต่โรงเรียนนี้ย่อมกว่าเท่านั้น ครูและนักเรียนทุกคนสวมเครื่องแบบคือ ครูแต่งชุดสีม่วงอ่อน นักเรียนนุ่งผ้าซิ่นสีม่วงอ่อน เสื้อสีขาว มีอักษร ด.ว. อยู่ในวงกลม ติดหน้าอกเสื้อข้างซ้ายเหมือนกันทุกคน........

พระราชดำรัสตอบของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนดาราวิทยาลัย ความว่า

“ข้าพเจ้าขอขอบใจ คณะครู และนักเรียนในโรงเรียนนี้ที่ได้ให้พรแก่เราทั้งสอง เรามีความยินดีเป็นอันมากที่ได้เห็นโรงเรียนนี้ ซึ่งนับว่าเป็นโรงเรียนที่งดงาม น่ารัก สบายมาก เหมาะที่เป็นโรงเรียนสำหรับสตรี การศึกษาสำหรับสตรีนั้นนับว่าเป็นของสำคัญ เพราะเมื่อผู้หญิงมีความรู้ทั้งวิชา อ่าน หนังสือและทั้งในทางเย็บปักถักร้อย ทำครัว การบ้าน ก็ย่อมจะทำให้เกิดความสุขในบ้านของบิดามารดาหรือเมื่อมีบ้านช่องของตัวเอง จะได้รู้จักสั่งสอนบุตรหลานให้ยิ่งขึ้นไปทำให้มีความสุขสบายมาสู่บ้านของตนทุก ๆ แห่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมจะทำให้เกิดความสุขแกคนทั่วไป การศึกษาสำหรับสตรีในทางบ้านเหล่านี้เป็นของสำคัญอย่างยิ่ง เท่าที่ได้มาที่นี้ดูหลักสูตรเห็นมีการสอนในเรื่องความรู้รอบตัวและการทำครัวการบ้าน ซึ่งเป็นของที่ผู้หญิงควรจะเรียนไว้ให้คล่องแคล่ว รู้สึกว่าโรงเรียนนี้ดำเนินการสอนสำหรับสตรีเป็นการถูกต้องดี มากเป็นที่ยินดีอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นขอให้พระให้โรงเรียนนี้เจริญยิ่งขึ้นทุกที ขอให้พวกครูและนักเรียน มีความสุขสบายทุก ๆ คน”

อดีตที่ผ่านมา... จวบจนปัจจุบัน ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงคามครรลองของโลก.... จากนักเรียนจำนวนนับสิบ.. นับร้อย.....นับพัน คุณปการของผู้ก่อตั้งโรงเรียนที่มีต่อวงการศึกษาบ้านเรามากมายเหลือคณานับ ณ วันนี้โรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ มีนักเรียนเกือบ 7,000 คน ในปีการศึกษา 2542 และมีงานฉลองครบรอบ 120 ปี ฝากเชิญชวนศิษย์เก่าทุกท่าน กลับมาเยี่ยมโรงเรียนและร่วมกิจกรรมอันเป็นประโยชน์เพื่อสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ ให้เป็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติสืบไป

แต่ผู้เขียนขอฝากทิ้งท้ายไว้ว่ารู้หรือไม่ว่าพวกเราชาวแดง-ขาว เคยสวมเครื่องแบบสีม่วง-ขาว มาก่อนตามหลักฐานที่อ้างถึงแล้วชวนให้คิดไปว่าศิษย์เก่าวังหลัง (วัฒนาวิทยาลัย กรุงเทพฯ) ก็เคยสวมเครื่องแบบเหมือนกัน เพราะปัจจุบัน นักเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และนักเรียน วัฒนาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ก็สวมเครื่องแบบเหมือนกัน คือ เสื้อสีขาว กระโปรงสีแดง

************************************

ที่มา : หนังสือ 120 ปีดาราวิทยาลัย