เกียรติประวัติบรรพบุรุษ

ภาพวาด หลวงทรงวิชัย (คำ) ต้นสกุลคำงาม ภาพต้นฉบับของ ว่าที่ ร.ต. ชัชวาลย์ คำงาม  วาดโดย อาจารย์วนา คำเนตร

หลวงทรงวิชัย (คำ คำงาม)


โดย อาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ ปราชญ์ศีขรภูมิ

รวบรวมโดย ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ สหุนาฬุ

  เรียบเรียง และจัดทำโดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม

นายคำ คือต้นสกุล คำงาม เป็นลูกหลานบ้านยางอนันต์ เป็นผู้มีระดับผู้หนึ่งในกองยางอนันต์ เติบโตได้บวชเรียนอยู่วัดบ้านอนันต์ เมื่อลาผนวช ได้ช่วยทำราชการในหน้าที่กรมการเมือง หัวเมืองฝ่ายตะวันตกขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ โดยมีพระสีมาปัจจิมเขตต์ (ดวง) นายกองนอกยางอนันต์ ปกครองขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ ซึ่งต่อมานายคำ ได้รับการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ ศักดินาเป็น “หลวงทรงวิชัย” ระหว่างไปมาติดต่อราชการเมืองขุขันธ์และกองยางอนันต์ได้พบกับ “อำแดงกิม” กุลสตรีชาวบ้าน “แทรง” (เตรง) บุตรสาวของคหบดีทอง สมรสแล้วพามาสร้างครอบครัวอยู่ที่บ้านยาง เมื่อชุมชนบ้านยางมีผู้คนหนาแน่น บ้านเรือนชิดติดกันไม่สะดวกแก่การตั้งโรงช้าง คอกวัว คอกควาย ไล่ต้อนเข้าออกลำบาก พระสีมาปัจจิมเขตต์ (ดวง) จึงจัดให้นายเวือน หัวหน้าพวกทาส ย้ายคอกวัวไปตั้งที่ใจกลางดงทางเหนือบ้านยาง บริเวณนั้นจึงว่าโคกตาเวือน ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองท้องถิ่น เมื่อแปลเป็นภาษาไทยเรียกว่า โคกตาวัน ซึ่งกลางมาเป็นบ้านศรีตะวัน ณ ปัจจุบันนี้ ต่อมาได้มีผู้คนเข้ามาบุกเบิกที่ทางบริเวณป่าโคกตาเวือน ทำไร่ ทำนา ทำสวน ปลูกหม่อน กล้วย อ้อย ยาสูบ สร้างคอกวัวปะปรายบริเวณริมหนองตาสาย (ตรงบ้านนายสวัสดิ์ ทรงศรี ในปัจจุบัน) มีผู้คนตระกูลคำงามสายหลวงทรงวิชัย (คำ คำงาม) นายเจาะ คำงาม นายสาย มาตั้งคอกวัวปักหลักบริเวณแถบนี้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2456-2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงบัญญัติให้ชาวไทยมีนามสกุลเป็นครั้งแรก ใน พ.ร.บ. ขนานนามสกุล ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนชาวไทยทุกคนมีนามสกุลต่อท้ายชื่อของตนเอง ทำให้ที่ว่าการอำเภอศีขรภูมิขณะนั้นต้องทำหน้าที่จดทะเบียนนามสกุล โดยบุคคลที่ทำหน้าที่จดทะเบียนนั้นคือ หลวงพิสิษฐสุรินทรรัฐ (พานเมือง อัมระนิมิ) นายอำเภอศีขรภูมิคนแรก ซึ่งเคยเล่าไว้ใน ประวัติสกุลสหุนาฬุ นามสกุลลำดับที่ 2 แห่งศีขรภูมิที่จดทะเบียนต่อจากนามสกุล อัมระนิมิ ของท่านนายอำเภอ ท่านนายอำเภอผู้นี้คงได้ทำการถามผู้ที่มาขอจดทะเบียนว่า จะใช้ชื่อสกุลว่าอย่างไร? ในบันทึกของอาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ ระบุว่า บิดาของหลวงทรงวิชัย (คำ) คงจะชื่อ ตางาม จึงตั้งชื่อสกุลว่า คำงาม แต่ผู้ขอจดทะเบียนนามสกุลในที่นี้ผู้เรียบเรียง (ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม) คิดว่าคงเป็นหลานชายคนโตของหลวงทรงวิชัย (คำ คำงาม) เป็นผู้มาขอจด เพราะเป็นผู้มีหลักฐานมั่นคงเป็นที่นับถือของตระกูล คือ นายพิง (พริ้ง) คงจะให้หลวงพิสิษฐฯ ท่านช่วยคิดให้จึงเป็นเหตุให้ซักไซร้ไต่ถามถึงตัวบรรพบุรุษพบว่า บรรพบุรุษของนายพิง คือ หลวงทรงวิชัย (คำ) ปู่ นายกลัด (กะรัต) บิดา นายพิง (พริ้ง) หลาน ท่านคงตั้งให้ว่า คำงาม อันมีความหมายว่าเป็นสกุลของผู้ที่สืบเชื้อสายของ หลวงทรงวิชัย (คำ) ปู่ และนายพิง (พริ้ง) หลาน เพราะคำว่า พิง (พริ้ง) มีความหมายว่า งาม จึงแปลงนามสกุลเป็น คำงาม (สกุลคำงามจะเป็นนามสกุลลำดับที่เท่าไรไม่อาจทราบได้ เนื่องด้วยไม่ได้จดจำเป็นรายละเอียด อีกทั้งเอกสารการจดทะเบียนนามสกุลได้ถูกไฟไหม้ไปพร้อมกันที่ว่าการอำเภอหลังเก่าดังประวัติที่คุณปู่สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ ท่านเล่าไว้) 

หลวงทรงวิชัย (คำ คำงาม) มีน้องหลายคน เท่าที่ทราบนามมี นายเจาะ และเข้าใจว่า นายดอน คำงาม (พ่อนายนิว พ่อนางปิด พ่อนายเปรียด คำงาม ซึ่งเกิดจาก นางริม นางสิม บ้านปราสาท) ด้วยกับ อำแดงอะ น้องๆ อีกหลายๆ คนไม่ทราบว่าชื่ออะไรบ้าง เพราะไม่ได้จดบันทึกไว้


ที่มา: หนังสือรวมผลงานชุดที่ 2 สายเลือด สายสกุล และอัตชีวประวัติของอาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ