เกียรติประวัติบรรพบุรุษ

        พระสีมาปัจจิมเขตต์ (โลกตาเปรี๊ยะสีมา) 

ต้นตระกูลคนตำบลยาง

โดย อาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ ปราชญ์ศีขรภูมิ

รวบรวมโดย ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ สหุนาฬุ

  เรียบเรียง และจัดทำโดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


              พระสีมาปัจจิมเขตต์ เดิมชื่อนายดวง เป็นบุตรของพระขุขันธ์ (ชาวบ้านเรียกว่า โลกตาเปตี๊ยะธม) มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าผู้ปกครองบ้านอาร์นาร์ (อนันต์) ในปี พ.ศ. 2306 - 2390 และพระขุขันธ์ผู้นี้ เป็นบุตรผู้หนึ่งของพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตะกะจะ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก ที่ถูกส่งมาปกครองดินแดนฝั่งตะวันตกเพื่อยันเขตเมืองขุขันธ์ไว้ไม่ให้เมืองสังขะรุกล้ำ เพราะบ้านกุดไผทสิงขรจารพัตร เขตของสังขะนั้นเป็นดินแดนติดต่อขนาบด้วยเขตเมืองสุรินทร์ด้านตะวันตก และเขตเมืองรัตนบุรีด้านตะวันตกเฉียงเหนือ 

         นายดวง บุตรชายพระขุขันธ์ ได้สมรสกับอำแดงอำไพ กุลสตรีแห่งบ้านโพนชัย (ปัจจุบันคือบ้านโพนชัย อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ) แต่งงานครองเรือนอยู่ที่บ้านอนันต์ในนิวาสสถานเดียวกับบิดาจนมีบุตร 3 คน พอที่จะแยกครอบครัวได้ จึงออกเรือนแยกครอบครัวไปตั้งบ้านเรือนและโรงช้าง คอกวัว และเรือนนอนอยู่อาศัยของข้าทาสบริวารกว่า 10 หลังคาเรือน ในป่าที่ดอนโคกหนองยาง(ตั้งบ้านเรือนบริเวณบ้านอาจารย์อมฤต ผาสุก ในปัจจุบัน ผู้จดบันทึกคือคุณปู่สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ จดบันทึกในเดือนพฤศจิกายน 2538)

         นายดวง อำแดงอำไพ เริ่มสร้างบ้านยางเกิดชุมชนใหม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีคนอพยพจากบ้านอนันต์ติดตามมา ผู้คนจากป่าดงที่ทำไร่เลื่อนลอยก็มาร่วมลงหลักปักฐานด้วย ภายในสิบปีก้ได้ขนานนามว่าบ้านยาง-บ้านใหม่ ตามชื่อต้นยางใหญ่ที่ขึ้นอยุ่ริมหนองเป็นสัญลักษณ์เรียกติดปากว่าบ้านยาง (เซราะเยียง)

            เมื่อพระขุขันธ์ หัวหน้าผู้ปกครองบ้านอนันต์ถึงแก่กรรมลง ตำแหน่งหัวหน้าผู้ปกครองบ้านอนันต์จึงตกมาอยู่ที่นายดวงบุตรชายคนโตที่เป็นหัวหน้าผู้ปกครองบ้านยาง จานั้นมาบ้านอนันต์และบ้านยางจึงถูกรวมกัน เรียกว่า เซราะเยียงอานันร และยกฐานะขึ้นเป็นกอง ชื่อ กองนอกเยียงอานันร (กองนอกบ้านยางอนันต์ในภาษาไทย) ถูกจัดเป็นหัวเมืองฝ่ายตะวันตกขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ บ้านยางจึงมีชื่อขึ้นหน้าบ้านอนันต์ และเกิดเป็นชื่อของตำบลในเวลาต่อมา

        กองนอกยางอนันต์นั้น ถูกจัดเป็นหัวเมืองฝ่ายตะวันตกขึ้นตรงต่อเมืองขุขันธ์ เจ้าเมืองขุขันธ์ก็มีฐานะเป็นญาติสนิทชิดเชื้อมีการไปมาติดต่อราชการเป็นประจำ จนกระทั่งนายดวงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางศักดินา โดยเจ้าเมืองขุขันธ์แต่งตั้งเพื่อสำรองราชการไว้ก่อนมีบรรดาศักดิ์เป็นพระสีมาปัจจิมเขตต์ ชาวบ้านเรียก ตาเปรี๊ยะสีมา, โลกตาเปรี๊ยะสีมา ยังไม่ทันได้กราบบังคมทูลขอแต่งตั้งเป็นเมือง ก็มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเสียก่อน (มีรายละเอียดจะเล่าภายหลัง)

        พระสีมาฯ มีบุตรหญิงชายรวม 11 คน ดังนี้

1. สวาย ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระนรินทรภักดี

2. เนียม ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประเสริฐสรรพกิจ

3. อำแดงโคตร สมรสกับ พระสท้านธรณี(มี)

4. น้อม ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงทิพย์โอสถ

5. นายนิล

6. นายนึม ผู้ใหญ่บ้านอนันต์คนแรก ผู้จดทะเบียนนามสกุล “สหุนาฬุ”

7. คุณหญิงขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (กระโอม) สมรสกับ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวบุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 3

8. แสงเพ็ง

9. นายแก้ว

10. อำแดงตลับ สมรสกับ พระประเทศพานิช

11. อำแดงกา บุตรบุญธรรม ซึ่งอำแดงอำไพขอจากน้องสาวมาเลี้ยงไว้ เป็นชาวทุ่งไชย ศรีสะเกษ

ที่มา: หนังสือรวมผลงานชุดที่ 2 สายเลือด สายสกุล และอัตชีวประวัติของอาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ 

ภาพตราประทับประจำตำแหน่งของพระสีมาปัจจิมเขตต์ (ดวง) นายกองนอกยางอนันต์ บุตรชายท่านบ้านใหญ่ หลานปู่พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) ปฐมวงศ์เจ้าเมืองขุขันธ์