เกียรติประวัติบรรพบุรุษ

พระนรินทรภักดี (สวาย)


โดย อาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ ปราชญ์ศีขรภูมิ

รวบรวมโดย ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ สหุนาฬุ

  เรียบเรียง และจัดทำโดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม


             พระนรินทร์ฯ มีนามเดิมว่า"สวาย"เป็นบุตรคนโตของพระสีมาปัจจิมเขตต์ นับเป็นผู้สืบสกุลชั้นที่ 4 นับจากพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(ตากะจะ) ผู้เป็นบรรพบุรุษ ท่านเกิดที่บ้านอนันต์ ด้วยความที่นายสวายเป็นบุตรคนโตจึงได้มีโอกาสติดตามพระสีมาฯผู้เป็นบิดาไปราชการระหว่างเมืองขุขันธ์กับกองยางอนันต์ในฐานะผู้ช่วย ซึ่งในเวลาต่อมาท่านได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระนรินทรภักดี” รับสืบทอดตำแหน่งเป็นนายกองนอกหัวเมืองฝ่ายตะวันตกขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ (กองนอกยางอนันต์) ต่อจากพระสีมาปัจจิมเขตต์ (ดวง) ผู้เป็นบิดา ลูกหลานของท่านผู้นี้เรียกแต่ชื่อ "โอ็วเปรี๊ยะ" หรือ “โลกตาเปรี๊ยะ” เฉยๆ เท่านั้น ไม่มีใครเรียกพระนรินทร์เลย มาทราบว่าท่านมีบรรดาศักดิ์ก็สมัยหลังนี้เอง จึงรู้จักท่านในนามโอ็วเปรี๊ยะ ตาเปรี๊ยะ(แปลว่า พ่อพระ)เท่านั้น จนตลอดมาถึงหลานเหลนหามีใครทราบชื่อเดิมว่า สวาย ซึ่งตอนเล็กๆ ยังเป็นทารกกระโหลกศีรษะค่อนข้างแบนไม่กลมสนิท ผู้เฒ่าจึงมักเรียกว่า สวายซำเปล (แปลว่าบุบแบนไม่กลม) เมื่อเจริญวัยท่านได้ไปมีภรรยาอยู่ที่บ้านบิ่ง ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ ชื่อแม่มี มีบุตรร่วมกัน 2 คน คนแรกเป็นหญิงชื่อ พันทอง ต่อมาแม่พันทองสมรสกับนายพร ประโลม คนบ้านดองกำเม็ด มีบุตรหลานสืบเชื้อ สายสกุลประโลม บุตรหญิงอีกคนใช้สกุลร่วมกับนายนึม ผู้เป็นอา คือ สกุลสหุนาฬุและท่านพระนรินทร์ เป็นผู้ให้นายแนม ที่มาจากแคว้นเสียมเรียบ(เสียมราฐ กัมพูชา) ใช้สกุลสหุนาลุร่วมด้วยในฐานะที่เป็นผู้สนิทชิดชอบ ช่วยเหลือกิจการต่างๆ

          ดังนั้นด้วยความที่พระนรินทร์ไม่มีบุตรชายสืบสกุล ผู้สืบสายเลือดของพระนรินทร์ชั้นต่อมาจึงใช้สกุล “ประโลม ตามสามี และ สหุนาฬุ ตามญาติพี่น้องของพระนรินทร์”


ที่มา: หนังสือรวมผลงานชุดที่ 2 สายเลือด สายสกุล และอัตชีวประวัติของอาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ