สายสกุล สหุนาฬุ และสหุนาลุ 

ประวัติสกุล สหุนาฬุ และ สหุนาลุ 

โดย อาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ ปราชญ์ศีขรภูมิ

รวบรวมโดย ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ สหุนาฬุ 

  เรียบเรียง และจัดทำโดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม

นายนึม ผู้ใหญ่บ้านคนแรกแห่งบ้านอนันต์ กำเนิดนามสกุล "สหุนาฬุ" นามสกุลลำดับที่ 2 แห่งอำเภอศีขรภูมิ พุทธศักราช 2456 ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงตรา พ.ร.บ.ขนานนามสกุลให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจดทะเบียนนามสกุลทั่วราชอาณาจักร สำหรับอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ที่จัดการตั้งขึ้นเป็นกิจลักษณะ ตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2454 ให้มีการจดทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน ณ ที่ว่าการอำเภอศีขรภูมิ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านอนันต์ หมู่ที่ 2 ตำบลยางในปี 2456 โดยมีนายพันเมือง นายอำเภอเป็นประธานเปิดบัญชีลงทะเบียนเป็นคนแรก ขึ้นทะเบียนหมายเลข 1 ใช้นามสกุลว่า "อะมะระนิมิ" ซึ่งต่อมาท่านผู้นี้ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงพิศิษฏ์สุรินทร์รัฐ" สมรสกับ "โลกแม่บุ" เชื้อสายพระศีขรภูมิมานุรักษ์ เจ้าเมืองศีขรภูมิพิสัย ปรากฏว่าท่านผู้นี้เป็นหมันหมดสายสืบสกุล จึงไม่มีผู้ใช้ นามสกุลอะมะระนิมิ (อัมระนิมิ) สืบต่ออีกเลย

เลขทะเบียนหมายเลข 2 ได้แก่นายนึม ผู้มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านอนันต์ ได้ถูกคัดเลือกจากลูกท่านหลานเธอหัวหน้าผู้ปกครองบ้านเมืองดั้งเดิมให้เป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูล กล่าวคือ นายนึมผู้นี้เป็นบุตรลำดับที่ 6 ของพระสีมาปัจจิมเขตต์กับอำแดงอำไพ นับเป็นชั้นที่ 4 ของตระกูลพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) ปฐมวงศ์เจ้าเมืองขุขันธ์ นายนึมสมรสกับกุลสตรีบ้านอนันต์ ได้รับเกียรติให้จดทะเบียนนามสกุลต่อจากนายอำเภอในฐานะหัวหน้าของชาวบ้าน

หลวงพิศิษฏ์ฯ นายอำเภอถามว่าจะใช้นามสกุลอย่างไร นายนึมผู้ใหญ่ ตอบว่าสุดแท้แต่ท่านจะพิจารณา ท่านนายอำเภอจึงพลิกตัวอย่างนามสกุลที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงให้ตัวอย่างมาหลายตัวอย่าง เห็นว่านามสกุลตัวอย่างนี้มีคำว่า "สะหุนะฬุ" และอีกนามสกุลหนึ่งว่า "ลุละกนสัน" นายอำเภอจึงว่าผู้ใหญ่นึมเอานามสกุล "สะหุนะฬุ" ไป ส่วนนายดอกผู้ใหญ่บ้านยาง หมู่ที่ 1 ที่ถามแล้วได้ความเหมือนกันว่าสุดแท้แต่โลกโอวเนียยอำเภอจะกรุณาท่านเลยให้นายดอกเอา "ลุละคนสัน" ไปเป็นนามสกุลลำดับที่ 3 จะมีความหมายอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่ทั้งสองแลดูชอบใจ

นามสกุลจำพวกนี้จึงเป็นนามสกุลอีกแบบหนึ่งที่มีความพิเศษ กล่าวคือ เป็นนามสกุลที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงตั้งขึ้นและให้ตัวอย่างไว้ และทรงระบุในตอนท้ายพระราชปรารภว่า "ผู้ใดจะนำนามสกุลตัวอย่างที่ทรงให้ไว้นี้ไปใช้ถือว่านามสกุลเป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทาน" เป็นนามสกุลอีกประเภทหนึ่งที่ถือว่าได้รับพระราชทานให้ตามนัยนี้โดยปริยาย

ดังนั้นเมื่อนายนึมได้รับนามสกุลมาแล้ว จึงได้ให้บรรดาพี่น้อง ลูกหลานทั้งสายชาย และสายหญิง รวมถึงผู้ติดตามใช้สอยใช้นามสกุลร่วมกันสืบมาจนถึงปัจจุบัน ตามที่จดทะเบียนดั้งเดิมคือ "สะหุนะฬุ" มาเปลี่ยนเป็น สหุนาฬุ/สหุนาลุ ในภายหลัง คงเป็นเพราะช่วงการปฏิวัติทางภาษาสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามและความผิดพลาดของทางอำเภอในสมัยนั้น


ที่มา: หนังสือรวมผลงานชุดที่ 2 สายเลือด สายสกุล และอัตชีวประวัติของอาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ