สายสกุล พวงประยงค์

ประวัติสายสกุล พวงประยงค์

โดย อาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ ปราชญ์ศีขรภูมิ

รวบรวมโดย ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ สหุนาฬุ 

  เรียบเรียง และจัดทำโดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม 

ประวัติสกุลพวงประยงค์นี้ได้จากการสัมภาษณ์ที่อาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ บันทึกไว้ในปลายปี พ.ศ. 2534 โดยได้สัมภาษณ์นายอิ่ม พวงประยงค์ ผู้เป็นลูกเขยคุณยายอิว ยายอิวเป็นน้องสาวของคุณปู่ทิม สามีคนที่สองของคุณย่าตลับ (อำแดงตลับ ธิดาพระสีมาฯ มีศักดิ์เป็นย่าของผู้เขียนคืออาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ) ท่านจึงต้องสัมภาษณ์นายอิ่ม พวงประยงค์ เพื่อสืบสาวถึงเรื่องของปู่ทิม เท่าที่จะสามารถรู้เรื่องราวได้บ้างตามสมควร ทั้งนี้เพื่อการเขียนบันทึกประวัติของสกุลพระสีมาฯ เท่าที่จะทำได้ ได้ความดังนี้

ตามอม ตาโถ เป็นพี่น้องกัน ท่านเหล่านี้มีบรรพบุรุษของตน คือ ตาประ ตากะยง และตาโพง เมื่อเอาชื่อบรรพบุรุษทั้ง 3 ท่านนี้มาผสมกันเรียบเรียงถ้อยคำให้ได้ภาษาไทยทั้งสละสลวยมีความหมายจึงเป็น “พวง-ประ-ยงค์” ในตอนจดทะเบียนนามสกุลตาม พ.ร.บ.ขนานนามสกุล ปี พ.ศ. 2456 สมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งรัตนโกสินทร์ ซึ่งก่อนหน้านี้เมืองไทยยังไม่ได้ใช้นามสกุลกัน การเรียกชื่อมักเรียกกันลอยๆ เรียกแต่ชื่อเท่านั้น เช่น ตาคำ ตาดี ตาโพ ยายเจา ยายยอง ยายตุม เป็นต้น 

ตามอม เป็นผู้มีชื่อในทางล่ากระต่าย เชี่ยวชาญการเป็นพรานล่ากระต่ายป่า รอยกระต่ายสังเกตเห็นได้ยาก เพราะมีอุ้งตีนคล้ายแมว รอยที่ทิ้งไว้ตามพื้นดิน จะเห็นเป็นรอยเล็บเท่านั้น รอยกระต่ายนี้สังเกตยาก แต่ตามอมแกสังเกตเก่งจึงมักตามแกะรอยกระต่ายที่ลงมาแทะกินข้าวไร่ที่เพิ่งขึ้นใหม่ๆ ได้ทุกราย เจอร่องรอยตัวใดต้องตามล่าได้ทุกตัว จึงมีชื่อเสียงโด่งดังทางตามรอยกระต่าย ซึ่งตามอมมีชีวิตอยู่ในราวปี พ.ศ. 2400-2478 (โดยประมาณ เพราะผู้เขียนคืออาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ เคยพบเห็นตามอมในวัยชราแล้ว)


ที่มา: หนังสือรวมผลงานชุดที่ 2 สายเลือด สายสกุล และอัตชีวประวัติของอาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ