สายสกุล ทรงศรี

ประวัติสกุล ทรงศรี

โดย อาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ ปราชญ์ศีขรภูมิ

รวบรวมโดย ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ สหุนาฬุ 

  เรียบเรียง และจัดทำโดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม

         นายเสาะเป็นต้นตระกูล ทรงศรี จดทะเบียนนามสกุลที่ว่าการอำเภอศีขรภูมิ ขณะตั้งที่ว่าการอำเภอที่บ้านอนันต์ หมู่ที่ 2 ตำบลยาง (ประมาณ พ.ศ. 2456-2457) นายเสาะเป็นบุตรหลวงกลางสังขะเขต กรมการเมืองสังขะ เกิดที่บ้านสังขะ อำเภอสังขะ ครั้งยังเป็นเมือง ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ขณะบวชเรียนอยู่ที่วัดในเมืองสังขะ ได้ติดตามเจ้าคุณพระราชมุนี ไปอยู่ที่วัดสุปัฏนาราม เมืองอุบลราชธานี เพื่อศึกษาธรรมบาลี จึงมีความรู้อักขระภาษาขอม ภาษาไทย จากสังฆะ และรอบรู้อักขระหนังสือลาวทั้งตัวธรรมและตัวไทจากสำนักวัดสุปัฏนาราม เมืองอุบลฯ เมื่ออยู่วัดสุปัฏนารามได้ประมาณ 2 พรรษา จึงเดินทางกลับจากอุบลฯ มาทางศรีสะเกษอุทุมพรพิสัยมาสู่เมืองจารพัตร เพื่อต่อไปสังขะ ระหว่างเดินทางจากอุทุมพรได้แวะพักที่สำนักวัดบ้านอนันต์ 1 พรรษา ระหว่างนั้นได้พบ บุญเลียง บุตรสาวคนโตของอำแดงโคตร เป็นหลานสาวคนโตของพระสีมาปัจจิมเขตต์ (ดวง) ไปทำบุญตามเทศกาลที่วัดหลายครั้ง พระภิกษุเสาะจึงพึงพอใจ เมื่อออกพรรษาจึงลาสิกขา จัดหาผู้ใหญ่มาสู่ขอแม่บุญเลียงเป็นภรรยาทำพิธีสมรสและอยู่กับ คุณย่าโคตรที่บ้านยาง นายเสาะเป็นคนมีความรู้ทั้งอักขระและภาษาไทยลาวได้ดี ใช้สอยติดต่อกับมูลนาย เจ้าบ้าน เจ้าเมืองได้ดี จึงถูกใช้ให้ช่วยราชการ คุณพระสีมาบิดาคุณย่าโคตรในฐานะเป็น หลานเขยคนโต และติดต่อราชการได้ดี เขียนหนังสือทั้งภาษาขอม ภาษาไทยได้ดี มีความชอบ พระยาขุขันธ์ เจ้าเมืองขุขันธ์จึงแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้อาจารย์เสาะเป็น “หลวงวิจิตรอักษร” ให้เป็นกรมการหัวเมืองช่วยราชการ หัวเมืองตะวันตก (บ้านยางอนันต์) ขึ้นตรงต่อเมืองขุขันธ์ หลวงวิจิตรอักษรกับแม่บุญเลียงมีบุตรด้วยกัน 5 คน คือ 1. นายเกียรติ ทรงศรี 2. นายบุ ทรงศรี 3. นายฤทธิ์ ทรงศรี 4. นายรัง ทรงศรี 5. นายนิล ทรงศรี แม่บุญเลียงถึงแก่กรรม บุตรทั้ง 5 คน จึงตกเป็นภาระของคุณอำแดงโคตรเป็นผู้เลี้ยงดูตลอดมาจนแยกย้ายกันมีครอบครัวสืบต่อมาเมื่อภายหลัง ส่วนหลวงวิจิตรไปมีภรรยาใหม่กับแม่ไหม ซึ่งเป็นหม้ายดุจกัน และมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นางเขียด จันทอง ภรรยานายเรือง จันทอง และ นางสาวลม ทรงศรี ผู้สืบสกุล “ทรงศรี” โดยตรงคงได้แก่ นายเกียรติ ทรงศรี นายบุ ทรงศรี นายฤทธิ์ ทรงศรี แต่งงานกับชาวบ้านปราสาทระแงงจึงไปขยายนามสกุลทรงศรีที่นั่น และนายรัง ทรงศรี มีครอบครัวอยู่บ้านอนันต์ จึงขยายนามสกุลทรงศรีที่นั่นเหมือนกัน นายเสาะไปแต่งงานกับแม่ไหม ไม่มีบุตรชายอีกจึงไม่มีสายสกุลสืบต่อ แต่ได้นำนามสกุลนี้ไปให้แก่ นายเปียด ผู้เป็นบุตรติดกับแม่ไหมได้ใช้ร่วมด้วย นายเปียดจึงได้นามสกุลทรงศรีไปขยายโดยการใช้นามสกุลร่วม ซึ่งนายเปียด เป็นน้องชายของนายทัด นายทัด ใช้นามสกุลตามบิดาที่สืบสายเลือดที่ถูกเป็น “โสฬส” นายทัด ถูกเกณฑ์เป็นตำรวจภูธรรุ่นแรก ตามกฎหมายลักษณะการเกณฑ์ทหาร (รวมทั้งเกณฑ์เป็นตำรวจด้วย) ไปประจำอยู่ที่กองตำรวจเมืองสุรินทร์ พลตำรวจทัด โสฬส ถูกเขียนชื่อเป็น พลฯ ทัด โสพัด “โสฬส” จึงเป็น “โสพัด” พลฯ ทัด โสพัด มีบุตรชายคนเดียว คือ นายสี นายสีจึงได้นามสกุล “โสพัด” เพียงคนเดียวในบ้านยาง-อนันต์ คนอื่นๆ เขาเป็น “โสฬส” กันหมด นายทัด พี่นายเปียด นามสกุล โส-พัด นายเปียด โสฬส น้องนายทัดได้นามสกุล “ทรงศรี” เพราะเป็นลูกแม่ไหมติดแม่ไหมไปได้กับพ่อเสาะ ทรงศรี จึงได้ทรงศรีดังกล่าวมาแล้ว 


ที่มา: หนังสือรวมผลงานชุดที่ 2 สายเลือด สายสกุล และอัตชีวประวัติของอาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ