สายสกุล คำงาม

ประวัติสายสกุล คำงาม 

โดย อาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ ปราชญ์ศีขรภูมิ

รวบรวมโดย ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ สหุนาฬุ 

  เรียบเรียง และจัดทำโดย ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม

หลวงทรงวิชัย (คำ คำงาม) เป็นต้นตระกูล "คำงาม" ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรมการเมือง เมื่อครั้งที่พระยาขุขันธ์ เจ้าเมืองขุขันธ์ มีดำริจัดตั้งกองนอกหัวเมืองฝั่งตะวันตกเพื่อยันเขตเมืองใกล้เคียง โดยหวังจะให้กองยางอนันต์ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมือง แต่ก็มิได้เป็นไปดังประสงค์ หลวงทรงวิชัยเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของพระสีมาปัจจิมเขตต์ (ดวง) กองนอกยางอนันต์ สมัยขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ ซึ่งพระสีมาปัจจิมเขตต์ (ดวง) ผู้นี้เป็นผู้มีเชื้อสายของเจ้าเมืองขุขันธ์

นายคำ เป็นลูกหลานบ้านยางอนันต์ เมื่อเติบโตได้บวชเรียนอยู่วัดบ้านอนันต์ เมื่อลาผนวช ได้ช่วยทำราชการในหน้าที่กรมการเมือง เป็นที่ปรึกษาของพระสีมาปัจจิมเขตต์ (ดวง) กองนอกยางอนันต์ ขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ ซึ่งต่อมานายคำ ได้รับการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ ศักดินาเป็น “หลวงทรงวิชัย” ตำแหน่งกรมการเมือง ระหว่างไปมาติดต่อราชการเมืองขุขันธ์และกองยางอนันต์ได้พบกับ “อำแดงกิม” กุลสตรีชาวบ้าน “แทรง” (เตรง) เมืองขุขันธ์ บุตรสาวของคหบดีทอง สมรสแล้วพามาสร้างครอบครัวอยู่ที่บ้านยาง เมื่อชุมชนบ้านยางมีผู้คนหนาแน่น บ้านเรือนชิดติดกันไม่สะดวกแก่การตั้งโรงช้าง คอกวัว คอกควาย ไล่ต้อนเข้าออกลำบาก พระสีมาปัจจิมเขตต์ (ดวง) จึงจัดให้นายเวือน หัวหน้าพวกทาส ย้ายคอกวัวไปตั้งที่ใจกลางดงทางเหนือบ้านยาง บริเวณนั้นจึงว่าโคกตาเวือน ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองท้องถิ่น เมื่อแปลเป็นภาษาไทยเรียกว่า โคกตาวัน ซึ่งกลางมาเป็นบ้านศรีตะวัน ณ ปัจจุบันนี้ ต่อมาได้มีผู้คนเข้ามาบุกเบิกที่ทางบริเวณป่าโคกตาเวือน ทำไร่ ทำนา ทำสวน ปลูกหม่อน กล้วย อ้อย ยาสูบ สร้างคอกวัวปะปรายบริเวณริมหนองตาสาย (ตรงบ้านนายสวัสดิ์ ทรงศรี ในปัจจุบัน) มีผู้คนตระกูลคำงามสายหลวงทรงวิชัย (คำ คำงาม) นายเจาะ คำงาม นายสาย คำงาม มาตั้งคอกวัวปักหลักบริเวณแถบนี้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2456-2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงบัญญัติให้ชาวไทยมีนามสกุลเป็นครั้งแรก ใน พ.ร.บ. ขนานนามสกุล ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนชาวไทยทุกคนมีนามสกุลต่อท้ายชื่อของตนเอง ทำให้ที่ว่าการอำเภอศีขรภูมิขณะนั้นต้องทำหน้าที่จดทะเบียนนามสกุล โดยบุคคลที่ทำหน้าที่จดทะเบียนนั้นคือ หลวงพิสิษฐสุรินทรรัฐ (พานเมือง อัมระนิมิ) นายอำเภอศีขรภูมิคนแรก ซึ่งเคยเล่าไว้ใน ประวัติสกุลสหุนาฬุ นามสกุลลำดับที่ 2 แห่งศีขรภูมิที่จดทะเบียนต่อจากนามสกุล อัมระนิมิ ของท่านนายอำเภอ ท่านนายอำเภอผู้นี้คงได้ทำการถามผู้ที่มาขอจดทะเบียนว่า จะใช้ชื่อสกุลว่าอย่างไร? ในบันทึกของอาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ ระบุว่า บิดาของหลวงทรงวิชัย (คำ) คงจะชื่อ ตางาม จึงตั้งชื่อสกุลว่า คำงาม แต่ผู้ขอจดทะเบียนนามสกุลในที่นี้ผู้เรียบเรียง (ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ คำงาม) คิดว่าคงเป็นหลานชายคนโตของหลวงทรงวิชัย (คำ คำงาม) เป็นผู้มาขอจด เพราะเป็นผู้มีหลักฐานมั่นคงเป็นที่นับถือของตระกูล คือ นายพิง (พริ้ง) คงจะให้หลวงพิสิษฐฯ ท่านช่วยคิดให้จึงเป็นเหตุให้ซักไซร้ไต่ถามถึงตัวบรรพบุรุษพบว่า บรรพบุรุษของนายพิง คือ หลวงทรงวิชัย (คำ) ปู่ นายกลัด (กะรัต) บิดา นายพิง (พริ้ง) หลาน ท่านคงตั้งให้ว่า คำงาม อันมีความหมายว่าเป็นสกุลของผู้ที่สืบเชื้อสายของ หลวงทรงวิชัย (คำ) ปู่ และนายพิง (พริ้ง) หลาน เพราะคำว่า พิง (พริ้ง) มีความหมายว่า งาม จึงแปลงนามสกุลเป็น คำงาม (สกุลคำงามจะเป็นนามสกุลลำดับที่เท่าไรไม่อาจทราบได้ เนื่องด้วยไม่ได้จดจำเป็นรายละเอียด อีกทั้งเอกสารการจดทะเบียนนามสกุลได้ถูกไฟไหม้ไปพร้อมกันที่ว่าการอำเภอหลังเก่าดังประวัติที่คุณปู่สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ ท่านเล่าไว้) 

หลวงทรงวิชัย (คำ คำงาม) มีน้องหลายคน เท่าที่ทราบนามมี นายเจาะ และเข้าใจว่า นายดอน (พ่อนายนิว นางปิด พ่อนายเปรียด คำงาม ซึ่งเกิดจาก นางริม นางสิม บ้านปราสาท) ด้วยกับ อำแดงอะ น้องๆ อีกหลายๆ คน ไม่ทราบว่าชื่ออะไรบ้าง เพราะไม่ได้จดบันทึกไว้ 


ที่มา: หนังสือรวมผลงานชุดที่ 2 สายเลือด สายสกุล และอัตชีวประวัติของอาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ 

ภาพถ่ายงานศพนายพิง คำงาม หลานชายคนโตของหลวงทรงวิชัย (คำ คำงาม) บุคคลในภาพประกอบด้วยหลานๆ ของหลวงทรงวิชัย และ พระสีมาปัจจิมเขตต์ (ดวง) สายอำแดงตลับ ธิดาพระสีมาฯ บุคคลในภาพประกอบด้วย

แถวนั่ง ซ้าย ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ สหุนาฬุ คนถัดมา สุดสาคร สหุนาฬุ สมัย ระดมบุญ / ปี ชื่นชม / พัทธนันท์ เปี่ยมธราพัฒน์ (น้าเล็ก  -  ลูกสาวคนเล็กของคุณยายรีกเกิดกับคุณทวดพิง)  เหรียญ  สหุนาลุ  /  แก้ว นิสัยกล้า ถัดมาผู้ชายตัวเล็กชุดกากี  อนิรุธ สหุนาฬุ  ชายถัดมาอีกคนไม่ทราบข้อมูล  

แถวยืน จากซ้าย กระจาย  คำงาม  (เกิดจากคุณย่าทวดรีก กงหยู่  /  ใช้นามสกุลตามพ่อเลี้ยงคือคุณทวดพิง)   คนถัดมาเสื้อขาว  พิมพ์ สงครามพล (สามีคนแรกของย่าประไพ) คนเสื้อดำหลังพิมพ์ ชื่อเขมา สหุนาฬุ (น้องชายทวดขุนสวรรค์พิทักษ์ (โป๊ะ) บิดาของ อ.สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ) คนต่อมาชุดขาว กางเกงขาสั้น กิมฮวด คำงาม (น้องชายของย่าชัยเงิน เกิดจากพ่อจีนเช่นกัน เอานามสกุลตามคุณทวดพิงพ่อเลี้ยง) คนถือหมวก อาจารย์สัมฤทธิ์ สหุนาฬุ ชายยืนติด อ.สัมฤทธิ์ ยืนติดร่ม ธานินทร์  คำงาม  คนถือร่ม  ย่าชัยเงิน สหุนาฬุ คนที่ย่าชัยเงินอุ้ม คือ พรพิมล บุญประสม (ลูกสาว อ.สัมฤทธิ์ ใช้สกุลสามี) คนยืนถัดมา ทวดรีก  คำงาม  ( ภรรยากงหยู่ / คุณทวดพิง) คนยืนหลังเทียดรีก คือ ลำดวน ชูศรี คนถัดมา ชัยกิม คำงาม (น้องสาวติดย่าชัยเงิน พ่อจีน แม่เดียวกัน ใช้สกุลพ่อเลี้ยง) ชุดดำ ย่าประไพ คำงาม ถัดมาเด็กผู้หญิง ผมยาว ผ่องพัตรา คำมา (ลูกสาวของ อ.สัมฤทธิ์ ใช้สกุลสามี) คนยืนข้างหลัง ผกากรอง บุญเต็ม (ลูกสาว อ.สัมฤทธิ์ ใช้สกุลสามี) ถัดมาผู้หญิงมีอายุหน่อย เชด คำงาม (ลูกคุณทวดพิง กับภรรยาคนก่อน) 

ข้อมูลและภาพจาก คุณพักตร์วิไล สหุนาฬุ