เรื่องที่ 4  วัฏจักรของน้ำ

        วัฏจักรของน้ำ (Water cycle) หรือ ชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า "วัฏจักรของอุทกวิทยา"    (Hydrologic cycle) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงสถานะของน้ำระหว่างของเหลว ของแข็ง และก๊าซ  วัฏจักรของน้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงสถานะไปมา จากสถานะหนึ่งไปยังอีกสถานะหนึ่งอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุดภายในอาณาจักรของน้ำ (Hydrosphere) เช่น การเปลี่ยนแปลงระหว่าง ชั้นบรรยากาศ น้ำ  ผิวดิน ผิวน้ำ น้ำใต้ดิน และพืชการเปลี่ยนสถานะของน้ำเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เริ่มจากน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ เช่น ทะเล มหาสมุทร แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ทะเลสาป การคายน้ำของพืช การขับถ่ายของเสียและจากกิจกรรมต่างๆในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต ทั้งหมดนี้เมื่อระเหยกลายเป็นไอขึ้นสู่บรรยากาศและกระทบกับความเย็นบนชั้นบรรยากาศจะควบแน่นกลายเป็นละอองน้ำเล็ก ๆ รวมตัวกันเป็นก้อนเมฆเมื่อมีน้ำหนักพอเหมาะก็จะกลายเป็นฝน หรือลูกเห็บ ตกลงสู่พื้นดินแล้วไหลลงสู่แหล่งน้ำหมุนเวียนอยู่เช่นนี้เรื่อยไป  กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ สามารถแยกได้เป็น 4 ประเภท คือ การระเหยเป็นไอ  (Evaporation), หยาดน้ำฟ้า (Precipitation), การซึม (Infiltration) และ การเกิดน้ำท่า (Runoff)

การระเหยเป็นไอ (Evaporation) เป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของน้ำบนพื้นผิวไปสู่บรรยากาศทั้งการ
ระเหยเป็นไอ (Evaporation) โดยตรง และจากการคายน้ำของพืช (Transpiration) ซึ่งเรียกว่า "Evapotranspiration"
หยาดน้ำฟ้า (Precipitation) เป็นการตกลงมาของน้ำในบรรยากาศสู่พื้นผิวโลก โดยละอองน้ำในบรรยากาศ จะรวมตัวกันเป็นก้อนเมฆ และในที่สุดกลั่นตัวเป็นฝนตกลงสู่ผิวโลก รวมถึง หิมะ และลูกเห็บ
การซึม (Infiltration) จากน้ำบนพื้นผิวลงสู่ดินเป็นน้ำใด้ดิน อัตราการซึมจะขึ้นอยู่กับประเภทของดิน หิน และ ปัจจัยประกอบอื่น ๆ น้ำใต้ดินนั้นจะเคลื่อนตัวช้า และอาจไหลกลับขึ้นบนผิวดิน หรืออาจถูกกักอยู่กายใต้ชั้นหินเป็นเวลาหลายพันปี โดยปกติแล้วน้ำใต้ดินจะกลับเป็นน้ำที่ผิวดินบนพื้นที่ที่อยู่ระดับต่ำกว่า ยกเว้นในกรณีของบ่อน้ำบาดาล
น้ำท่า (Runof) หรือ น้ำไหลผ่านเป็นการไหลของน้ำบนผิวดินไปสู่มหาสมุทร น้ำไหลลงสู่แม่น้ำและไหลไปสู่มหาสมุทร ซึ่งอาจจะถูกกักชั่วคราวตาม บึง หรือ ทะเลสาบ ก่อนไหลลงสู่มหาสมุทร น้ำบางส่วนกลับกลายเป็นไอก่อนจะไหลกลับลงสู่มหาสมุทร
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำ

1. ความร้อนจากควงอาทิตย์ ทำให้โมเลกุลของน้ำแตกตัวและเกิดการระเหยของน้ำกลายเป็นไอขึ้นสู่บรรยากาศ
2. กระแสลม ทำให้น้ำระเหยกลายเป็นไอเร็วขึ้น
3. มนุษย์และ สัตว์ ขับถ่ายของเสียออกมาในรูปของเหงื่อ ปัสสาวะ และลมหายใจ กลายเป็นไอน้ำสู่ชั้นบรรยากาศ
4. พืช รากต้นไม้ ซึ่งเปรียบเหมือนฟองน้ำ ที่มีความสามารถในการดูดน้ำจากใต้ดินจำนวนมากขึ้นไปเก็บ    ไว้ในส่วนต่าง ๆ ทั้งยอด กิ่ง ใบ ดอก ผล และลำต้น แล้วคายน้ำสู่บรรยากาศ ไอน้ำเหล่านี้จะควบแน่นและรวมกันกลายเป็นเมฆและตกลงมาเป็นฝนต่อไปปริมาณที่ระเหย จากมหาสมุทร  84% จากพื้นดิน 16% ปริมาณน้ำที่ตก ลงในมหาสมุทร 77% บนพื้นดิน 23%