โกงลวงเข้าธนาคารออนไลน์

มิจฉาชีพจะดำเนินการใน 2 ลักษณะ
1. หลอกให้ติดตั้งมัลแวร์ในคอมพิวเตอร์
2. หลอกติดตั้งมัลแวร์ในสมาร์ตโฟน
3.ส่ง SMS ให้เหยื่อทำการ update App เพื่อปรับปรุงหรือยืนยันข้อมูล

ลักษณะเหตุการณ์

มิจฉาชีพมักแฝงมัลแวร์ (Malware) ไว้ตามลิงก์ดาวน์โหลด หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยใช้ข้อความเชิญชวนหลอกล่อให้เหยื่อคลิกเพื่อติดตั้งโปรแกรม เช่น “คุณเป็นผู้โชคดี คลิกที่นี่เพื่อรับรางวัล” เมื่อเหยื่อหลงเชื่อทำตามที่มิจฉาชีพบอก เช่น คลิกไปที่ลิงก์มัลแวร์จะถูกติดตั้งในคอมพิวเตอร์ และทำการบันทึกข้อมูลการใช้งานธนาคารออนไลน์ของเหยื่อ เช่น รหัสผ่านผู้ใช้งาน (username) รหัสผ่าน (password) เพื่อนำไปปลอมแปลงคำขอโอนเงินให้เหมือนเป็นคำสั่งของเจ้าของบัญชี เมื่อธนาคารได้รับคำขอโอนเงินที่จริง ๆ แล้วมาจากมิจฉาชีพ ธนาคารก็จะส่งรหัสผ่านชั่วคราวผ่านระบบ SMS ให้แก่เหยื่อ ซึ่งมิจฉาชีพจะสร้างหน้าต่างหรือหน้าจอ pop-up ขึ้นมาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ของเหยื่อเพื่อหลอกถามรหัสผ่านชั่วคราวที่ถูกส่งมายังโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ หรืออาจใช้โปรแกรมบันทึกการกดรหัสผ่าน แล้วนำมาใช้ยืนยันการโอนเงินออกจากบัญชีของเหยื่อ

หรือนำข้อมูล(ชื่อ-นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ หรือ อีเมล์ ข้อมูลบัญชีธนาคารของเหยื่อที่เลือก) ทำการส่ง SMS มาถึงเหยื่อ แจ้งให้ทำการปรับปรุงข้อมูล ซึ่งจะหลอกให้คลิกลิ้งค์ เพื่อเข้าหน้าเว็บ(ปลอม) หรือไปยังแอป(ปลอม)

ข้อสังเกต

กรณีที่เป็นคอมพิวเตอร์
เมื่อเหยื่อหลงกลคลิกลิ้งค์(ติดตั้งมัลแวร์)แล้ว มิจฉาชีพก็จะยังไม่สามารถโอนเงินของเหยื่อออกจากบัญชีได้ หากเหยื่อไม่กรอกรหัสผ่านชั่วคราวเพื่อใช้ในการยืนยันการทำธุรกรรมของมิจฉาชีพ

กรณีที่เป็นสมาร์ทโฟน
เมื่อเหยื่อหลงกลติดตั้งมัลแวร์ มิจฉาชีพไม่จำเป็นต้องหลอกขอรหัสผ่านชั่วคราวจากเหยื่ออีก เพราะมัลแวร์จะทำหน้าที่ดัก SMS แจ้งรหัสผ่านชั่วคราวไว้แล้วส่งให้แก่มิจฉาชีพ มิจฉาชีพจึงสามารถโอนเงินออกจากบัญชีเหยื่อได้

การป้องกัน
​• ไม่ควรใช้รหัสผ่าน (password) ที่ง่ายต่อการคาดเดา เช่น 123456 หรือ วัน/เดือน/ปีเกิด

ก่อนเข้าใช้ธนาคารออนไลน์ จะต้องมั่นใจหรือตรวจสอบให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ที่ใช้นั้นไม่มีมัลแวร์ (Malware) แฝงอยู่

ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสที่ถูกกฎหมาย พร้อมตรวจสอบและอัพเดตโปรแกรมอยู่เสมอ

ไม่ติดตั้งหรือดาวน์โหลดโปรแกรมแปลก ๆ หรือโปรแกรมที่ไม่ถูกกฎหมาย เพราะอาจเป็นช่องทางให้มัลแวร์เข้ามาในคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ตได้

ไม่ใช้ลิงก์เชื่อมโยงที่มากับอีเมลหรือในเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่ระบบธนาคารออนไลน์ แต่ควรพิมพ์ URL ด้วยตัวเอง

ไม่ทำธุรกรรมการเงินผ่านอินเทอร์เน็ตสาธารณะ แต่หากจำเป็น ให้เปลี่ยนรหัสผ่านหลังจากใช้งานทันที

ตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวในบัญชี และการเข้าใช้ระบบธนาคารออนไลน์อยู่เสมอ ว่าเป็นรายการที่ได้ทำไว้หรือไม่

ควร "ออกจากระบบ" (logout) ทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน

จำกัดวงเงินในการทำธุรกรรมผ่านธนาคารออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงในกรณีถูกมิจฉาชีพขโมยรหัสผ่าน

ธนาคารไม่มีนโยบายส่ง SMS หรือ email เพื่อให้ดาวน์โหลด ติดตั้งโปรแกรม หรือเข้าสู่ระบบธนาคารออนไลน์

หากคลิกลิงก์ต้องสงสัย ให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือฝ่ายบริการลูกค้าของธนาคารทันทีและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้งานที่ปลอดภัย

ไม่เก็บเอกสารหรือข้อมูลสำคัญไว้ในสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต เช่น เลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัญชีเงินฝาก

หลีกเลี่ยงการดาวน์โหลด หรือติดตั้งโปรแกรมจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้งานธนาคารออนไลน์

หลีกเลี่ยงการใช้งานธนาคารออนไลน์ผ่านอุปกรณ์ที่มีการดัดแปลง หรือแก้ไขระบบปฏิบัติการ (jailbreak หรือ root) เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขโมยข้อมูล

เหตุการณ์ที่เป็นข่าว

1.การลวงเข้าธนาคารออนไลน์

2.เว็บปลอมธนาคาร-สำนักข่าวดัง หลอกข้อมูลส่วนตัว โอนเงินเกลี้ยงบัญชี

3.มิจฉาชีพอ้างบริจาคเงิน สุดท้ายหลอกเอาเลขบัญชี

4.หนุ่มร้องถูกแฮกบัญชี สูญเงินหลักหมื่น