วิธีปกป้องข้อมูลส่วนตัว

จากการที่ท่านได้ศึกษาเรียนรู้ เรื่อง เทคโนโลยีดิจิทัลใกล้ตัวเรื่องที่ต้องรู้นบทเรียนที่ผ่านมา ท่านจะเห็นว่าตัวท่านทุกๆคนล้วนแต่มีข้อมูลดิจิทัลติดตัวกันทุกคน มากบ้าง น้อยบ้าง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถือเป็นสิทธิส่วนตัวที่ท่านต้องรักษา เพราะสิ่งเหล่านี้นำไปสู่การให้บริการภาครัฐ รวมถึงการสร้างหลักฐาน ความผูกพันด้านอื่นๆ อีก อาทิความผูกพันด้านการทำธุรกิจ ความผูกพันด้านการเงินและการธนาคาร และหากข้อมูลดังกล่าวตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดี ก็จะส่งผลให้ท่านอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์หรือวิกฤตการณ์ที่ท่านไม่ได้เป็นผู้สร้าง อาจตกเป็นจำเลยของคดีความต่างๆ โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นการปกป้องตัวตนบนโลกดิจิทัลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ ท่านต้องรู้และนำไปปรับประยุกต์ใช้

สำหรับบทเรียนนี้จะนำเสนอ วิธีปกป้องข้อมูลตัวตนบนโลกดิจิทัลและโลกออนไลน์ต้องทำอย่างไรบ้าง

ตั้งรหัสผ่านที่เดายาก ไม่ใช้ซ้ำ และหมั่นเปลี่ยนอยู่เสมอ

วิธีง่าย ๆ ที่เราสามารถทำได้คือ การตั้งรหัสผ่านที่คาดเดายากและหลากหลาย มีความยาวอย่างน้อย 12-14 ตัวอักษร ประกอบไปด้วย ตัวอักษรใหญ่ ตัวอักษรเล็ก ตัวเลข และไม่ควรใช้ซ้ำกับ Online Account อื่น ๆ รวมถึงคอยตรวจสอบคำขอรีเซ็ตรหัสผ่านในบัญชีด้วย และที่สำคัญควรเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นประจำทุก 3- 6 เดือน เพื่อป้องกันกรณีที่มีการรั่วไหลของข้อมูลโดยที่เราไม่รู้ตัว

หมั่น Update ระบบปฏิบัติการบนอุปกรณ์

หมั่นตรวจสอบการ Update ระบบปฏิบัติการและการตั้งค่าเบราว์เซอร์อุปกรณ์ต่างให้ทันสมัยอยู่เสมอ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป ฯลฯ เพราะ แพทซ์ทุกเวอร์ชันย่อมมีช่องโหว่ที่แฮกเกอร์สามารถเข้ามายังระบบได้ แต่เมื่อเราหมั่น Update แพทซ์ ก็จะช่วยปิดช่องโหว่นั้น ๆ และ เพิ่ฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ช่วยให้มีความปลอดภัยระบบมากขึ้นหรือหากระบบปฏิบัติการผิดพลาดจนไม่สามารถใช้งานได้ เราจะได้แก้ไขอย่างทันท่วงที

หลีกเลี่ยงการใช้ Wi-Fi สาธารณะ

พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ Wi-Fi สาธารณะ ทางที่ดีควรใช้อินเทอร์เน็ตเครือข่ายมือถือของตัวเองเพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า เครือข่าย Wi-Fi สาธารณะปลอดภัยจริงหรือไม่ เป็น Wi-Fi ปลอมที่แฮกเกอร์สร้างเพื่อดักจับข้อมูลเหยื่อหรือเปล่า หากไม่มีทางเลือกควรใช้ VPN (Virtual Private Networks) ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรมออนไลน์ทั้งหมดจะปลอดภัยตั้งแต่ ธนาคารออนไลน์ไปจนถึงข้อความส่วนตัว

อย่าแชร์ทุกอย่างที่คิด ก่อนแชร์ให้คิดก่อนเสมอ

ในโลก Social media มีอันตรายแอบแฝงอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเราใช้งานโดยการแชร์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเราลงบนโลกออนไลน์ เช่น แชร์ข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดแบบสาธารณะ แชร์ Location ที่อยู่อาศัยของตัวเอง ฯลฯ อาจเป็นการแบ่งปันข้อมูลให้กับแฮกเกอร์ หรือ คนแปลกหน้าก็ได้ ทางทีดีควรคิดก่อนแชร์เสมอ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

จดบันทึกประวัติการใช้งานทางการเงิน

จดบันทึกการใช้งานเครดิตอยู่เสมอว่าเราได้ใช้ทำอะไร ที่ไหน เวลาเท่าไหร่ และจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงแม้จะเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อป้องกันยอดเงินแปลกๆ ที่หักเงินในบัตรเครดิตเราแบบที่ไม่รู้ตัวและที่สำคัญไม่ควรผูกเลขบัตรเครดิต เลขบัญชีธนาคารลงในเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ หรือ เว็บไซต์ Social ต่าง ๆ เพราะหากโดนแฮกบัญชี สิ่งพวกนี้คือเป้าหมายแรกของแฮกเกอร์ในการขโมยข้อมูล

ตรวจสอบประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ตเสมอ

ตรวจสอบการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อป้องกันการติดตามต่างๆและป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลบนโลก Social (ข้อมูลส่วนตัวที่คุณโชว์ไว้บน Profile Digital ต่าง ๆ) ของเราเพื่อรักษาตัวเองให้ปลอดภัยจากการติดตามออนไลน์ที่ถูกคุกคามโดยโฆษณาออนไลน์ต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสม

ใช้ระบบรักษาความปลอดภัยในทุกอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อออนไลน์

ถ้าคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ชิ้นนั้น สามารถออกสู่โลกอินเทอร์เน็ตได้ ต้องป้องกันมันด้วย เช่น ถ้าเป็นโน๊ตบุ๊ค แท็บเล็ต หรือ มือถือ ก็จะต้องมี Antivirus หรือระบบตรวจจับการบุกรุก เพื่อป้องกันการโดนไวรัส หรือการเข้าถึงบุกรุกโจมตี เพราะทุกการเชื่อมต่อมีภัยแฝงเสมอ การเลือกระบบรักษาความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ผลกระทบจากการถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวนอกจากจะทำให้เกิดความสูญเสียด้านทรัพย์สินแล้ว ยังทำให้เสียสุขภาพจิต เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด ฯลฯ เพราะข้อมูล Digital ของเราคือสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวเอง ยิ่งเปิดเผยมากเท่าไหร่ ยิ่งไม่ปลอดภัยมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาจทำให้ถูกคุกคามความเป็นส่วนตัวจากคนแปลกหน้า โฆษณาออนไลน์ต่างๆที่ไม่เหมาะสม หรือแฮกเกอร์ด้วยนั่นเอง ดังนั้น หากเราทำตามข้อแนะนำที่กล่าวไว้ข้างต้น จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย ที่สำคัญจะสามารถรับมือการถูกโจมตีภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้เกือบทุกรูปแบบ


ที่มา: https://www.thaicert.or.th/statistics/statistics.html