digital literacy for senior well being

Digital Literacy หรือ ทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

หมายถึง ทักษะในการนำเครื่องมือหรืออุปกรณ์ เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะโทรศัพท์ และ(หรือ)แท็บเล็ต รวมถึง สื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ การดำเนินชีวิต หรือเป็นช่องทางในการประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัย
ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ได้กำหนดทักษะดังกล่าวครอบคลุมความสามารถ 4 มิติ สำหรับข้าราชการและผู้ทำงานในภาครัฐ ครอบคลุมใน 4 ด้าน คือ การใช้ (Use), เข้าใจ (Understand), การสร้าง (create) และเข้าถึง (Access) เทคโนโลยีดิจิทัล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แยกเป็นทักษะรวม 9 ด้าน คือ การใช้คอมพิวเตอร์, การใช้งานอินเทอร์เน็ต, การใช้งานเพื่อความมั่นคงปลอดภัย, การใช้โปรแกรมประมวลคำ, การใช้โปรแกรมตารางคำนวน, การใช้โปรแกรมนำเสนอ, การใช้โปรแกรมสร้างสื่อดิจิทัล, การทำงานร่วมกันแบบออนไลน์ และการใช้ดิจิทัลเพื่อความมั่นคงปลอดภัย

Digital Literacy สำหรับผู้สูงอายุ ครอบคลุมแค่ไหน

แต่ในความเป็นจริง ทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องรู้หรือควรรู้ อาจจะไม่เท่ากัน เทคโนโลยีในปัจจุบันก็มีความหลากหลายและต่างก็เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ในหลายๆด้าน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคมและชุมชน(ชุมชนเมืองหรือชุมชนชนบท)ของผู้สูงอายุแต่ละคน ถ้าเป็นผู้สูงอายุทั่วไป คงเน้นทักษะความเข้าใจและการใช้เพียงไม่กี่เรื่อง อาทิ ทักษะการใช้อุปกรณ์ที่ครอบครอง(สมาร์ทโฟน หรือรีโมทควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ) อย่างถูกต้อง มีความเข้าใจในการใช้งาน เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโปรแกรมหรือ Apps ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการติดต่อสื่อสาร ด้านการเงินการธนาคาร การเข้าสู่บริการภาครัฐ การเข้าถึงข้อมูลด้านข่าวสาร ความบันเทิง การค้นหาข้อมูลได้อย่างปลอดภัย

ด้วยสภาพสังคมปัจจุบัน ต่างต้องทำมาหากิน คนวัยหนุ่มสาวต้องออกจากบ้านเพื่อไปประกอบอาชีพ บางรายก็แยกตัวออกจากครอบครัวเดิม ไปสร้างสังคมครอบครัวใหม่ ส่งผลให้ครอบครัวเดิมคงเหลือแต่ผู้สูงวัย หรือผู้สูงวัยอยู่คนเดียวในช่วงเวลากลางวัน ดังนั้นการส่งเสริมผู้สูงอายุ มีทักษะ ความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้อง จะเป็นอีกพลังสำคัญเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตด้วยตนเองหรืออยู่อย่างลำพังได้อย่างเป็นสุขและปลอดภัย