ผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อผู้สูงอายุ

โดยธรรมชาติดั้งเดิมของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสังคมชนบท มักไม่ค่อยชอบปรับตัว ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบใช้เทคโนโลยี ยิ่งอายุมากยิ่งทำความผิดพลาดบ่อย ประการสำคัญชอบเก็บตัวอยู่กับบ้าน ไม่ชอบลองอะไรใหม่ๆ (แต่ก็มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่ ไม่ต้องการอยู่กับบ้าน ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ ต้องการท่องเที่ยว) แต่เมื่อพัฒนาการด้านต่างๆเปลี่ยนไป ความใกล้ชิดของครอบครัว ความเจริญเติบโตของชุมชน รวมถึงสวัสดิการภาครัฐผ่านช่องทางเทคโนโลยี นำมาซึ่งเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องปรับตัวตาม อาจจะช้าบ้าง เร็วบ้าง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงนั่นคือ ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องแท้จริงท่ามกลางกระแสของเทคโนโลยี ยังมีไม่มากนัก

จากการที่ได้เกริ่นกล่าวไปแล้วว่า มนุษย์อยู่ท่ามกลางเทคโนโลยี ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม คราวนี้เรามาดูกันว่า ผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง

แม้ว่าเทคโนโลยีจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางสังคมทั้งชุมชนเมืองและชุมชนชนบท ส่งผลให้คุณภาพชีวิตในมิติต่างๆดีขึ้นมากมาย ช่วยให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำเพิ่มอีกมากมาย ช่วยสร้างความเพลิดเพลิน และเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาสมอง

แต่ก็ยังมีมีข้อจำกัดสำหรับผู้สูงอายุบางคนอยู่บ้าง ซึ่งเว็บไซต์ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุอยู่สุข เนอร์สซิ่งโฮม ได้ให้แง่คิดไว่ค่อนข้างน่าสนใจ ดังนี้

1.ทัศนคติต่อเทคโนโลยีและการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ด้วยยังมีความเชื่อว่าเป็นเรื่องของคนหนุ่มสาวเท่านั้น และคิดว่า ตนเองแก่เกินที่จะเรียนรู้ กลัวว่าตนเองไม่มีความสามารถในการเรียนรู้ เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นผู้ที่เกิดและเติบโตมาก่อนที่จะมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

2.สภาพทางกายภาพของผู้สูงอายุที่เสื่อมลงอาทิ ด้านการมองเห็น การได้ยิน ความไม่คล่องแคล่วว่องไวในการเคลื่อนไหวมือ เวลาในการตอบสนองช้า ความเจ็บป่วยและโรคประจำตัว

3.ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี จากการที่ผู้สูงอายุมีชีวิตอยู่มานานโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต และการที่มีโอกาสน้อยที่จะได้รับรู้ถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการตำรงชีวิตจึงทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากมองไม่เห็นว่าเทคโนโลยีสารสนเทศมีความเกี่ยวข้องและเป็นสิ่งจำเป็น

4.ความสามารถทางภาษาและการรู้หนังสือเนื่องจากบริการต่าง ๆ จำนวนมากและภาษาที่ใช้ในเทคโนโลยีเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นจึงเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับผู้สูงอายุที่มีพื้นฐานการศึกษาต่ำ

ผลเสียและข้อควรระวังในการใช้เทคโนโลยีของผู้สูงอายุ

เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีเป็นไปอย่างกว้างขวาง แต่บนเส้นทางของเทคโนโลยีก็นำมาซึ่ง อุปสรรค รวมถึง ผลเสียและภัยร้ายในรูปแบบต่างๆมากมาย ส่งผลกระทบต่อผู้คนในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อาทิ

ด้านอุปกรณ์เครื่องใช้

1.เครื่องใช้สมัยใหม่บางชนิด ผู้สูงอายุที่ไม่มีพื้นความรู้อาจจะไม่เข้าใจระบบการใช้งาน เช่น เครื่องซักผ้าแบบถังเดียวฝาบน-ฝาหน้า ซึ่งมีการตั้งค่าเงื่อนไขการซัก หรือการใช้รีโมท เพื่อการควบคุมเครื่องรับโทรทัศน์+เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม หรือเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

2.อุปกรณ์หรือเครื่องใช้บางรายการ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น เครื่องปิ้งขนมปัง กาต้มน้ำร้อน

3.สมาร์ทโฟน ที่ล้ำสมัย ผู้สูงอายุบางรายอาจไม่เข้าใจการทำงานในบางส่วน ยิ่งถ้าตั้งค่าเป็นภาษาอังกฤษ ยิ่งทำให้สับสนหรือไม่เข้าใจได้

4.อุปกรณ์เครื่องใช้พิเศษ สำหรับช่วยเหลือผู้สูงอายุ อาทิ เครื่องช่วงฟัง (Smart Hearing Aids) เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการได้ยิน

ด้านเทคโนโลยีเครือข่ายและอินเทอร์เน็ต

1.ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสังคมเสื่อมถอย เพราะแต่ละคนจะหมกมุ่นกับสมาร์ทโฟนของตนเอง

2.ทำให้ชีวิตเกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ทั้งแบบคัดลอกบน Social media และการเข้าถึงผ่านการโทรศัพท์หรืออีเมล์

3.ทำให้การกระจายข่าวสารที่ไม่เป็นจริง(ปลอม) หรือไม่เหมาะสม แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว สร้างความตื่นตระหนกในสังคม

4.เป็นแหล่งล่อลวง ชักจูง จนเกิดอาชญากรรม เช่น หลอกขายสินค้า หลอกการซื้อบริการต่างๆ คอลเซนเตอร์ต่างๆ

5.ทำให้เกิดความกล้วและวิตกกังวล ต่อสถานการณ์บนโลกออนไลน์ต่างๆ

6.ใส่ร้าย โจมตี ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่น ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง อันเป็นผลจากการกระจายข่าวสาร(ข้อ 3) หรือจากการนึกคิดจากข้อมูลที่เท็จหรือคลาดเคลื่อน

7.ทำให้ธุรกิจร้านค้าออนไลน์รายย่อยเกิดความเสี่ยง อันเป็นผลที่เกิดจากการล่อลวง การหลอกขายสินค้า กรณีที่ผู้สูงอายุทำร้านค้าออนไลน์

8.หน้าจอสมาร์ทโฟนหากขาดการทำความสะอาด เป็นเวลานาน จะเป็นอีกที่หนึ่งที่มีเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลต่อสุขภาพได้ โดยแบคทีเรียนี้มีชื่อเรียกว่า สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสารพิษและทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนและท้องร่วงได้

9.หากใช้งานด้านโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะเป็นสาเหตุทำให้เกิด“โรคเสพติดโซเชียลมีเดีย” มักพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นได้บ่อย จำเป็นต้องให้การรักษาควบคู่กันไป เช่น โรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคกลัวการเข้าสังคม โรคย้ำคิดย้ำทำ พฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าว การใช้สารเสพติด

10.การใช้สมาร์ทโฟนเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดปัญหาสายตาเสื่อมลงด้วย เนื่องจากดวงตาต้องจ้องมองหน้าจอที่มีตัวหนังสือหรือภาพซึ่งหน้าจอทั่วไปจะมีอัตรากระพริบ ส่งผลต่อดวงตา เป็นสาเหตุสำคัญทำให้สายตาเสื่อมลง

การให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุอย่างง่ายๆเท่าที่จำเป็น ตามศักยภาพของแต่ละราย จะช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีพื้นความรู้ที่ถูกต้อง นำไปสู่การแสวงหาการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างมีสติและเหตุผล ลูกหลานเครือญาติ และหน่วยงานทางการศึกษา หน่วยงานราชการและชุมชน จะต้องมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและให้ความรู้ในเรื่องต่างๆอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอและยั่งยืน