นิยาม ความหมายของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ คือ คนทั้งเพศหญิง และชาย ที่มีอายุ มากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่มีความแตกต่างจากช่วงอายุอื่น เป็นอายุบั้นปลายของชีวิต ดังนั้นปัญหาของผู้สูงอายุในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น มิติสุขภาพ (การดูแลรักษาสุขภาพกายและใจ) มิติเศรษฐกิจ (การสร้างรายได้และการออม) มิติสภาพแวดล้อม (การสร้างบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม) และมิติสังคม (การสร้างชุมชนสังคมอบอุ่น ปลอดภัย) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหา และหาแนวทางที่จะนำสังคมของผู้สูงอายุให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมของประชากรในทุกช่วงวัยอย่างมีความสุข
นอกจากนี้ วิกิพีเดีย ยังให้ความหมายของ วัยสูงอายุ หรือ วัยชรา หมายถึง มนุษย์ที่มีอายุอยู่ในช่วงปลายของชีวิต นิยามของผู้สูงอายุ แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่ามองผ่านความรู้สาขาใด
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ให้นิยามคำว่า ผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทั้งชายและหญิง ซึ่งในการศึกษารวบรวมข้อมูลประชากรผู้สูงอายุได้แบ่ง ผู้สูงอายุเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุตอนต้น(บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี) และผู้สูงอายุตอนปลาย(บุคคลที่มีอายุ 70 ปี ขึ้นไป)

มีการคาดการณ์ว่าปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ มากถึง 11.6 ล้านคน (17.57%)

นอกจากนี้องค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ว่า ช่วงปี 2001-2100 ( พ.ศ.2544-2643 ) จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ โลกจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ละประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแตกต่างกันไป ตามสภาพแวดล้อม เช่น การพัฒนาด้านการแพทย์ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และโภชนาการทางด้านอาหาร

นิยามคำว่า “ผู้สูงอายุ” (Older person) ของรัฐบาลไทย หมายถึง ผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 คือ บุคคลซึ่ง มีอายุเกินกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย
นิยามขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN World Population Ageing) ได้นิยามคำว่าสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และผู้สูงอายุ (Older person) หมายถึงกลุ่มของประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

องค์การสหประชาชาติ แบ่งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่

1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society)
หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged society)
หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

3. ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super Aged society)
หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่

ความจริงประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 แล้ว ตอนนั้นเรามีผู้สูงอายุ 10.4% ปี พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นมาเป็น 16.7% และในปีนี้ (พ.ศ. 2564) จะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 5 หรือ 17.57% เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” (Complete Aged Society) ตามหลักเกณฑ์ที่ว่า คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดการณ์ว่าในปี 2574 ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด นั่นหมายถึงเราจะเข้าสู่ “ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่” (Super Aged Society) ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง


อ้างอิงจาก
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข