โครงการและแผนงาน

1. ชื่อโครงการ
โครงการการจัดและส่งเสริมการจัดการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อคงพัฒนาการทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ

2. หลักการและเหตุผลความจำเป็น
ปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก โดยในประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เต็มรูปแบบในปี 2565 นี้ ซึ่งการมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ย่อมจะส่งผลกระทบในหลากหลายด้าน อาทิ ด้านสุขภาพ พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 95 มีโรคประจำตัว ภาครัฐต้องใช้งบประมาณในการดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงอายุจำนวนมาก ด้านเศรษฐกิจ พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 34.3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ต้องรับการเลี้ยงดู ด้านสภาพแวดล้อมและด้านสังคม พบว่าผู้สูงอายุต้องอยู่ลำพังเพียงคนเดียวหรืออยู่ลำพังกับคู่สมรสมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงคนรุ่นใหม่มีทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูงอายุ จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบและกิจกรรมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาระบบรองรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคม ที่เน้นการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ โดยมีกรอบแนวทางที่สำคัญได้แก่ 1) การสร้างความมั่นคงและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 2) การพัฒนาระบบบริการและระบบบริหารจัดการสุขภาพ 3) การมีสภาพแวดล้อมและนวัตกรรมที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตในสังคมสูงวัย 4) การสร้างความเข้มแข็งของสถาบันทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรมและความเข้มแข็งของชุมชน และ 5) การพัฒนาการสื่อสารมวลชนให้เป็นกลไกในการสนับสนุนการพัฒนา ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเตรียมและพัฒนาคนในทุกช่วงวัย โดยส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมในการรับมือสังคมผู้สูงวัย มุ่งเน้นไปที่โครงสร้างของประชากรทั้งหมด ให้ประชาชนมีความมั่งคั่ง มั่นคงและสุขภาพดี ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ ให้สามารถเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพและมีคุณค่าต่อสังคมต่อไป

การจัดการศึกษาตลอดชีวิตในมิติของสำนักงาน กศน.จะมีลักษณะของการเชื่อมโยง หนุนเสริม และต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ไปสู่ผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม ด้วยการออกแบบการจัดการศึกษาตลอดชีวิตในมิติของ กศน. ให้มีความเหมาะสมกับองค์ความรู้ในเรื่องนั้น ๆ และเหมาะสมกับผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคมที่มีการคัดกรองโดยหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว สำนักงาน กศน. โดยศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ (ศกพ.) ได้ดำเนินการขยายผล ต่อยอดโครงการ “จัดและส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อคงพัฒนาการทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ” โดยจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตให้กับผู้สูงอายุใน 4 มิติ อันประกอบไปด้วย มิติสุขภาพ (การดูแลรักษาสุขภาพกายและใจ) มิติเศรษฐกิจ (การสร้างรายได้และการออม) มิติสภาพแวดล้อม (การสร้างบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม) และมิติสังคม (การสร้างชุมชนสังคมอบอุ่น ปลอดภัย และการใช้เทคโนโลยีเบื้องต้น) ภายใต้สโลแกนที่ว่า “กศน.ร่วมใจ เรียนรู้ทั่วไทย สุขใจวัยเก๋า” โดยมอบหมายให้ครูและบุคลากร กศน.ทำหน้าที่จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตใน 4 มิติดังกล่าวข้างต้น ให้กับผู้สูงอายุถึงครัวเรือนและภายในชุมชน ทั้งในรูปแบบ onsite และ online เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดีขึ้น สามารถดูแลสุขภาพและช่วยเหลือตนเองได้ รวมถึงลดภาระภายในครัวเรือนในการดูแลบริบาลผู้สูงอายุ ตลอดจนภาครัฐใช้งบประมาณในการดูแลช่วยเหลือรักษาพยาบาลผู้สูงอายุน้อยลง

3. วัตถุประสงค์
3.1 เพื่อจัดและส่งเสริมการจัดกิจกรรมการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อคงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองให้แก่ผู้สูงอายุ ในรูปแบบกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตใน 4 มิติ ได้แก่ มิติสุขภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสภาพแวดล้อม และมิติสังคม
3.2 เพื่อพัฒนาครูและบุคลากร กศน. ให้สามารถจัดกิจกรรมการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อคงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองให้แก่ผู้สูงอายุ ในรูปแบบกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตใน 4 มิติ ได้แก่ มิติสุขภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสภาพแวดล้อม และมิติสังคม ได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ รองรับการให้บริการสังคมผู้สูงอายุในอนาคต

4. เป้าหมายโครงการ (Output)
4.1 เป้าหมายเชิงปริมาณ
1) ผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม จำนวน 160,000 คน มีโอกาสเข้ารับการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อคงสมรรถนะทางกาย จิต และสมอง ในรูปแบบกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตที่หลากหลายใน 4 มิติ ในพื้นที่ของ กศน. เช่น ศูนย์การเรียนชุมชน (ศรช.) ศูนย์การเรียนประจำตำบล/แขวง (กศน.ตำบล/แขวง) ห้องสมุดประชาชน บ้านหนังสือชุมชน เป็นต้น และพื้นที่ของภาคีเครือข่ายหรือพื้นที่สาธารณะ อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาคารเอนกประสงค์ในชุมชน/หน่วยงานท้องถิ่น วัด โรงเรียนผู้สูงอายุ สวนสาธารณะ
2) ครูและบุคลากร กศน.ทุกคน สามารถจัดกิจกรรมการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อคงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองให้แก่ผู้สูงอายุ ในรูปแบบกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตใน 4 มิติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

4.2 เป้าหมายเชิงคุณภาพ
1) ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรม มีสุขภาวะทางกายและจิตที่ดีขึ้น เหมาะสมกับช่วงวัยของตน รวมถึงสามารถดูแลช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นได้มากขึ้นด้วย
2) ครูและบุคลากร กศน. มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการจัดกิจกรรมการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อคงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองให้แก่ผู้สูงอายุ ในรูปแบบกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตใน 4 มิติ ได้อย่างมีคุณภาพ

5. กลุ่มเป้าหมายโครงการ (Targets group)
5.1 ผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม จำนวน 160,000 คน
5.2 ครูและบุคลากร กศน.

6. ตัวชี้วัดเป้าหมายโครงการ (Outputs) และตัวชี้วัดผลลัพธ์ (Outcomes)
6.1 ตัวชี้วัดเป้าหมายโครงการ (Outputs)
1) ร้อยละ 80 ของผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ได้รับการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อคงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองให้แก่ผู้สูงอายุ ในรูปแบบกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตใน 4 มิติ ได้แก่ มิติสุขภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสภาพแวดล้อม และมิติสังคม
2) ครูและบุคลากร กศน.ที่เข้ารับการพัฒนา ผ่านการอบรมพัฒนาทุกคน

6.2 ตัวชี้วัดผลลัพธ์ (Outcomes)
1) ร้อยละ 80 ของผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต มีความพึงพอใจ และต้องการกลับมาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งต่อไป รวมถึงสามารถนำความรู้ และทักษะที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
2) ครู กศน.ทุกคน สามารถจัดกิจกรรมการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อคงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองให้แก่ผู้สูงอายุ ในรูปแบบกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตใน 4 มิติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ได้อย่างมีคุณภาพ

7. วิธีดำเนินการ (Activity) – กิจกรรม
7.1 ขั้นตอนการดำเนินงาน
1) พัฒนาแนวทางและรูปแบบการจัดกิจกรรม และจัดส่งคู่มือแนวทางการจัดกิจกรรม
2) จัดประชุมสร้างความเข้าใจในการจัดกิจกรรมให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง
3) พัฒนาครูและบุคลากร กศน.ในการจัดกิจกรรม
4) พัฒนาระบบการรายงานร่วมกับกลุ่มแผนงาน สำนักงาน กศน. ผ่านระบบ DMIS
5) เปิดตัวโครงการฯ : Kick off
6) พื้นที่จัดกิจกรรม
7) เสริมพลัง กำกับ ติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน
8) ถอดบทเรียน/องค์ความรู้ และสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ
7.2 *กิจกรรม

8. *ตัวชี้วัดกิจกรรม
8.1 ต้นทาง

(1) แบบสำรวจความพร้อมการจัดกิจกรรม
(2) แผนการจัดกิจกรรม
(3) คู่มือแนวทางการจัดกิจกรรม
(4) ระบบการรายงานผลการดำเนินงานเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

8.2 กลางทาง
- ระดับความรู้ ความเข้าใจของผู้รับผิดชอบของ กศน.และเครือข่าย ในบทบาทหน้าที่ของการส่งเสริมการจัดกิจกรรมการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อคงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ ในรูปแบบกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตใน 4 มิติ และการพัฒนาบุคลากร กศน. ในการจัดกิจกรรม

8.3 ปลายทาง
- ระดับการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตผู้สูงอายุของครูและบุคลากร กศน.ในแต่ละพื้นที่
- ระดับความรู้ ความพึงพอใจ และการนำไปประยุกต์ใช้ของผู้สูงอายุผู้เข้าร่วมกิจกรรม

9. ระยะเวลาดำเนินการ (วัน/เดือน/ปี) ตุลาคม 2564 – กันยายน 2565

10. สถานที่ดำเนินการ/*พื้นที่ดำเนินการ
- สำนักงาน กศน. / ศกพ.
- กศน.อำเภอ/เขต
- กศน.ตำบล/แขวง
- ศูนย์การเรียนชุมชน (ศรช.)
- บ้านหนังสือชุมชน
- ชมรมผู้สูงอายุ
- โรงเรียนผู้สูงอายุ
- ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.)
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

11. งบประมาณ 23,565,000 บาท
12. หน่วยงานรับผิดชอบ
12.1 หน่วยงานหลัก

สำนักงาน กศน. โดย ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ
สำนักงาน กศน. จังหวัด และ กศน.อำเภอ/เขต

12.2 หน่วยงานร่วม
- กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
- กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และองค์กรปกครองท้องถิ่น

13. ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ (Impact)
13.1 ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ดูแลช่วยเหลือตนเองได้ มีรายได้ มีเงินออม สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารและการเรียนรู้ได้ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
13.2 ลดภาระภายในครัวเรือน และชุมชน ในการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ รวมถึงลดจำนวนผู้ป่วย และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งของประชาชนและภาครัฐ
13.3 เตรียมความพร้อมให้กับบุคลากร กศน. และภาคีเครือข่ายในการจัดและส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต รองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต