การจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้าน

บ้าน นับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ ดังนั้นการจัดสิ่งแวดล้อมที่บ้านให้ถูกสุขลักษณะ อย่างปลอดภัย ก็จะช่วยป้องกันอันตรายให้กับผู้อยู่อาศัย เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาในการเดินและการทรงตัว จึงเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุภายในบ้าน ดังนั้นสมาชิกในบ้านจึงต้องช่วยกันดูแลรักษาและจัดสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัย โดยมีแนวทางในการดำเนินการใน 5 ปัจจัยหลัก ดังนี้

1.ปลอดภัย : ลดความเสี่ยงและความรุนแรงต่อการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ

2.เข้าถึงได้สะดวก : จัดวางพื้นที่หรือจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุเข้าถึงเพื่อใช้งานได้ง่าย

3.ใช้งานได้ง่าย :  จัดหาอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้งานได้ง่ายและใช้แรงน้อย

4.เหมาะสมกับผู้ใช้งาน : วางระยะและปรับระดับความสูงของอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ ตามสรีระและการใช้งานของผู้สูงอายุ

5.สร้างแรงกระตุ้น : โดยสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมให้ผู้สูงอายุประกอบกิจกรรมไ้ด้วยตนเอง

อ้างอิง กรมป้องกันสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย

เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายๆ ด้าน การปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้อย่างสะดวกปลอดภัย เรามาดูแนวทางในการปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสมกับทุกๆคน  โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

ห้องน้ำ

เริ่มที่ ห้องน้ำ ซึ่งถือเป็นห้องที่สำคัญและจำเป็นสำหรับทุกคน ข้อมูลต่อไปนี้ เป็นเพียงคำแนะนำเพื่อปรับให้เหมาะสมเท่าที่จะทำได้ เพราะห้องน้ำเป็นอีกที่หนึ่ง ที่ผู้สูงวัยมักจะเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด เนื่องจากห้องน้ำมักจะลื่น เปียกและมีขนาดเล็กทำให้ผู้สูงอายุใช้งานไม่สะดวกสบาย ต้องระมัดระวังในการใช้งาน  เรามาดูข้อแนะนำกัน ดังนี้ 

1 ไม่ควรอยู่ไกล
ห้องน้ำไม่ควรอยู่ไกลจากห้องนอน เนื่องจากผู้สูงอายุที่มีอายุมากๆ มักจะมีปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาจไม่สะดวกสำหรับการเดินทางไปห้องน้ำ แต่ถ้าอยู่ไกลอาจแก้ปัญหาโดยการใช้กระโถน หรือหม้อนอน(หม้อเมล์) ไว้ในห้องนอน


2 ห้องน้ำไม่ควรกว้างหรือแคบมากไป 

ควรมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 – ยาวไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร  (มีส้วม และอ่างล้างมือในห้องน้ำ) มีพื้นที่กว้างพอให้รถเข็นหมุนกลับตัวได้สะดวก 

3 ประตูห้องน้ำกว้างอย่างน้อย 90 ซม.

ประตูห้องน้ำ ประตูควรมีความกว้างอย่างน้อย 90 ซม. บริเวณด้านหน้าและด้านหลังของประตูต้องมีพื้นที่ว่างและไม่มีของวางเกะกะ ประตูควรเป็นบานเลื่อน หรือประตูแบบเปิดออก และประตูควรเป็นแบบที่สามารถปลดล็อคจากด้านนอก เพื่อให้คนอื่นสามารถเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และลูกบิดของประตู ควรเป็นแบบก้านโยก เพื่อที่ผู้สูงอายุ จะได้ไม่ต้องออกแรงมากในการบิดจับ เพื่อเปิดประตู

4 ใช้ประตูห้องน้ำบานเลื่อนหรือบานเปิดออก

ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหากผู้สูงอายุล้มและนอนขวางอยู่บริเวณหน้าประตู ผู้ที่อยู่นอกห้องจะไม่สามารถเปิดเข้าไปช่วยเหลือได้เหมือนการใช้บานเลื่อนหรือบานเปิดออกนอกจากนั้นควรใช้มือจับประตูแบบก้านโยก เพื่อความสะดวกในการเปิด-ปิดโดยไม่ต้องใช้แรงข้อมือในการบิดหมุนแบบประตูลูกบิดทั่วไป

5 ระดับพื้นควรเท่ากับห้องนอน
พื้นห้องน้ำควรมีระดับเสมอหรืออยู่ในระดับเดียวกันกับพื้นด้านนอก ถ้าเป็นพื้นต่างระดับควรเป็นทางลาด (การพลัดหกล้มในผู้สูงอายุมักเกิดจากพื้นเปียกลื่น หรือเปลี่ยนระดับ ทำให้ไม่สามารถทรงตัวได้) พื้นห้องน้ำควรเป็นวัสดุที่มีความหยาบระดับหนึ่ง เพื่อป้องกันการลื่น ทำความสะอาดง่าย มีระบบการระบายน้ำที่ดีหรือแยกส่วนแห้งและส่วนเปียก ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรแยกห้องอาบน้ำออกจากห้องส้วม เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะปัสสาวะบ่อยเพราะกระเพาะปัสสาวะมีความจุลดลง ถ้าอยู่รวมกันพื้นห้องน้ำที่เปียกจากการอาบน้ำอาจทำให้ลื่นหกล้มได้ง่าย 

6 มีราวจับช่วยพยุงตัว
ควรมีราวบาร์จับทุกจุดที่มีการนั่ง-ลุกยืน และเดิน เช่น จากห้องนอน ต่อเนื่องมาที่ห้องน้ำได้และภายในห้องน้ำควรมีราวจับที่สามารถเดินได้ทั่วห้องน้ำเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุทรงตัวได้ดี ป้องกันการล้ม

7 อุปกรณ์ในห้องน้ำ

ควรเลือกแบบที่ใช้งานง่าย และสะดวก สำหรับผู้สูงอายุ  เช่น
-มีที่นั่งหรือเก้าอี้นั่งอาบน้ำกรณีที่นั่งอาบน้ำเป็นเก้าอี้ เนื่องจากผู้สูงอายุ ไม่สามารถยืนได้นาน เก้าอี้อาบน้ำ ต้องเป็นเก้าอี้ที่ติดอยู่กับที่ หรือเป็นแบบที่ขาเก้าอี้มีความฝืด เพื่อป้องกันการลื่นไถล มีราวจับด้านข้างเพื่อใช้ทรงตัว หรือมีพนักพิงเพื่อป้องกันผู้สูงอายุหงายหลัง
-แต่ถ้ายังปรับพื้นไม่ได้ ก็ควรใช้แผ่นกันลื่นสำหรับในห้องน้ำ ตรงตำแหน่งบริเวณที่อาบด้วย
-ควรใช้ฝักบัวอาบน้ำแทนการตักอาบด้วยขัน เพื่อลดการใช้แรงในผู้สูงอายุที่เหนื่อยง่าย แต่ถ้าไม่มีควรใช้ขันที่มีน้ำหนักเบา ขนาดเล็ก
-มีก๊อกน้ำอ่างล้างหน้าและวาล์วเปิดปิดน้ำควรใช้แบบก้านปัด(ปัดซ้าย-ขวา หรือ ขึ้น-ลง) เพื่อความสะดวกในการเปิดปิด
ไม่ควรเป็นแบบหมุน เนื่องจากแบบก้านปัด จะสะดวกสำหรับผู้สูงอายุมากกว่า
-เคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าแบบลบมุมมน ป้องกันอันตรายจากการชนหรือล้มกระแทก
-อ่างล้างหน้าควรเป็นแบบขอบโค้งเว้าให้รถเข็นใช้งานได้สะดวก
-มีพนักแขนช่วยพยุงตัว
-ฝักบัวและสายฉีดชำระแบบปรับแรงดันได้ โดยให้ปรับเป็นแรงดันต่ำ วาล์วเปิด – ปิด เป็นแบบก้านยาว เพื่อลดการออกแรงมาก ๆ ของผุ้สูงอายุ      
-ที่ใส่กระดาษทิชชูที่สามารถเปลี่ยนกระดาษทิชชูได้ง่าย
-กระจกในห้องน้ำควรใช้แบบปรับมุม  ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุมองเห็นช่วงล่าง  ทำให้เค้าสำรวจได้ แบบไม่ต้องยืน

8 โถสุขภัณฑ์หรือโถส้วม
ควรติดตั้งโถส้วมแบบนั่งราบ(ชักโครก)เพื่อความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ  เพราะผู้สูงอายุจะนั่งยองลำบากมักมีอาการปวดข้อ  ก็จะเพิ่มความสบายมากขึ้นและควรติดตั้งราวจับ บริเวณด้านข้างของชักโครกเพื่อให้ผู้สูงอายุ ใช้ทรงตัวในการลุก
หากยังเป็นส้วมแบบนั่งยอง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เปลี่ยนเป็นชักโครก เนื่องจากส้วมนั่งยอง  จะลำบากสำหรับผู้สูงอายุเวลาเปลี่ยนอิริยาบท จากนั่ง มาเป็นยืน ทำให้หลายคนล้มได้

9.ความสูงของอุปกรณ์ต่างๆ
ให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้สูงอายุ เช่น ระดับฝักบัวมีก้านปรับระดับ ราวแขวนผ้าระดับติดตั้งความสูงสำหรับการใช้งานบนรถเข็น ก่อให้เกิดความสะดวกในการใช้งานของผู้สูงอายุ เป็นต้น

10 ติดตั้งสัญญาณฉุกเฉินบริเวณที่ใช้งานง่าย
อาทิ บริเวณข้างสุขภัณฑ์และบริเวณที่อาบน้ำ ให้คนภายนอกสามารถรับรู้ถึงความผิดปกติและเข้ามาช่วยได้ทัน

11 ตะแกรงกันน้ำกั้นส่วนห้องนอน ห้องน้ำ
เพื่อลดการมีพื้นที่ต่างระดับ หากออกแบบเพื่อสร้างห้องน้ำใหม่ หรือสามารถปรับปรุงได้ ควรมีร่องระบายน้ำปูทับด้วยตะแกรงกันน้ำ ส่วนพื้นที่เปียก-แห้ง แทน
หรือใช้วิธีปูพื้นกระเบื้องเอียงลาดเข้าด้านในเพื่อไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับมาและควรมีพื้นที่ อย่างน้อย 1.5 เมตร X 1.5 เมตร สำหรับไว้กลับรถเข็น

12 ใช้วัสดุประเภทผิวฝืด
มีค่าความฝืดที่เหมาะกับพื้นที่ส่วนเปียกและส่วนแห้ง หรืออาจเปลี่ยนสีหรือลายที่แตกต่างสำหรับโซนเปียก โซนแห้ง เพื่อให้เห็นได้ชัด ป้องกันการลื่นล้มหรือสะดุดล้ม

13 มีแสงสว่างเพียงพอ
ควรจัดให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ โดยเลือกใช้แสงสีขาวเพื่อให้มองเห็นสิ่งของภายในห้องได้ง่ายแต่ไม่ควรเป็นแสงที่จ้าเกินไป และควรมีสวิตซ์เปิด - ปิด ไฟ อยู่ในตำแหน่งที่ผู้สูงอายุสามารถ เปิด-ปิด ได้สะดวก

14 การเลือกใช้สีของฝาผนัง และพื้นห้อง
ควรเป็นสีตัดกันตลอดจนเครื่องสุขภัณฑ์อื่นๆ เช่น โถส้วม อ่างล้างหน้า ควรมีสีแตกต่างจากพื้นห้องเนื่องจากผู้สูงอายุจะมีความสามารถในการมองเห็นและการแยกความแตกต่างของสีที่คล้ายกันได้ลดลง

15 ไฟทางเดินระหว่างห้องนอนไปห้องน้ำ
ควรมีไฟทางเดินนำจากเตียงนอนไปสู่ห้องน้ำและควรเป็นกลุ่มไฟสีเหลืองเนื่องจากหากเป็นไฟสว่างจ้าจะทำให้ผู้สูงอายุกลับมานอนหลับได้ยาก

ปรับปรุงข้อมูลจาก กรมกิจการผู้สูงอาย  และ บริษัท โฮมบายเออร์ไกด์ จำกัด
ปรับปรุงข้อมูลจาก Allwell Life Co., Ltd
เอกสารอ้างอิง : การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ สำนักงานอนามัยและสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

แต่ในความเป็นจริงของชุมชนส่วนใหญ่ ห้องน้ำมักเป็นห้องน้ำรวมที่ใช้ร่วมกัน ดังนั้นการที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านควรปรับสภาพห้องน้ำให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้สูงอายุเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญ ดังนี้
1.ที่จับหรือราวจับที่มั่นคง แข็งแรง
2.แสงสว่างที่เพียงพอต่อการมองเห็น ทั้งทางเดิน และภายในห้องน้ำ
3.ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากความลื่นของพื้นที่เปียกแฉะ
4.ที่วางเครื่องใช้หรือองค์ประกอบที่ใช้ในการอาบน้ำต้องหยิบจับได้ง่าย
5.โถส้วมควรเป็นแบบชักโครก แต่ถ้ายัไม่สามารถปรับแก้ไขได้ ควรหาเก้าอี้เสริมนั่งยอง ซึ่งหาซื้อได้ในร้านสุขภัณฑ์ทั่วไปในราคาไม่แพงนัก (ดังภาพ)

ห้องนอน

ข้อมูลต่อไปนี้ เป็นเพียงคำแนะนำเพื่อปรับให้เหมาะสมเท่าที่จะทำได้ เพราะห้องนอนเป็นอีกบริเวณของพื้นที่ภายในบ้านที่ผู้สูงอายุใช้มากอีกห้องหนึ่ง กรณีที่บ้านมีหลายชั้น ห้องนอนของผู้สูงอายุควรอยู่ชั้นล่าง มีหน้าต่างที่สามารถมองเห็นวิวและรับแสงแดดเข้ามาภายในห้องได้ เพื่อบรรยากาศภายในห้องดูผ่อนคลาย และช่วยในการระบายอากาศ การจัดวางสิ่งของภายในห้องพิจารณาเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ ซึ่งภายในห้องนอนควรจัดสภาพแวดล้อม ดังนี้

ห้องนอน ควรจัดให้อยู่ในพื้นที่ที่ ไม่ควรเก็บสะสมสิ่งของที่ไม่จำเป็นเพราะจะทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นจัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ ข้างเตียงควรมีราวจับ เพื่อป้องกันการหกล้มจากเตียงโดยเฉพาะเวลาตื่นนอนตอนเช้า ที่สำคัญควรจัดห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุให้อยู่ชั้นล่างของบ้าน ไม่ควรให้ผู้สูงอายุต้องขึ้นลงบันได

1.พื้นที่ภายในห้อง
ห้องนอนมีความกว้างเพียงพอต่อการรับความช่วยเหลือ(สำหรับผู้สูงอายุหนึ่งคนควรมีพื้นที่ประมาณ 10 -12 ตร.ม. และถ้าเป็นห้องที่มีผู้สูงอายุสองคน ควรมีพื้นที่ 16 – 20 ตร.ม.) มีพื้นที่ว่างรอบเตียงทั้งสามด้านสำหรับใช้ในการทำกิจกรรมงานอดิเรกต่าง ๆ  และวางอุปกรณ์ในการดูแล พื้นที่ตรงส่วนนี้ควรมีความกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร หากต้องมีรถเข็นวีลแชร์ก็ควรจัดพื้นที่ว่างอย่างน้อย 1.50 ตร.ม. ด้วย พื้นห้องนอนควรมีพื้นผิวเรียบ ไม่ลื่น อาจติดตั้งวัสดุพื้นลดแรงกระแทก เพื่อให้ผู้สูงอายุเดินได้อย่างมั่นคง และไม่ควรมีพื้นต่างระดับหรือปูพรม เพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม

2.เตียงนอน
ควรเป็นเตียงเดี่ยวขนาดที่เหมาะสม ยาวอย่างน้อย 180 เซนติเมตร และกว้าง 90 เซนติเมตร ควรจัดวางในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่าย เพราะจะช่วยให้การขยับพลิกตัวลงจากเตียงได้สะดวก ความสูงของเตียงอยู่ในระดับข้อพับเข่าของผู้สูงอายุ หรือระดับที่เท้าของผู้สูงอายุสามารถสัมผัสพื้นได้พอดี (ควรอยู่ที่ 40-45 เซนติเมตร ) พราะการเปลี่ยนท่า จากนอน เป็นนั่ง แล้วยืน มุมองศาของเข่า 90 องศา จะทำให้ยืนง่ายที่สุด และทำให้มีการทรงตัวดีที่สุด  ส่วนที่นอนก็ไม่ควรนุ่ม หรือแข็งเกินไปเพราะจะทำให้ปวดหลังได้ และเพื่อความสะดวกและความปลอดภัย (ถ้าเป็นไปได้)ควรติดตั้งราวกันตกข้างเตียง หรือเลือกเตียงที่มีราวกันตก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุพลัดตกเตียง และใช้เป็นที่จับในการพลิกตัว  หรือมีราวจับช่วยพยุงตัวเมื่อลุกขึ้นจากเตียงนอน และมีโต๊ะข้างหัวเตียงสำหรับวางสิ่งของที่จำเป็นในตำแหน่งที่มือเอื้อมถึงได้ง่าย

3.เก้าอี้นั่ง
เก้าอี้นั่งสำหรับผู้สูงอายุต้องมีความแข็งแรง มีพนักพิง มีที่วางแขน ความสูงพอเหมาะโดยเมื่อนั่งแล้วสามารถวางเท้าถึงพื้นหัวเข่าตั้งฉากกับพื้นตำแหน่งของการวางเก้าอี้สำหรับผู้มาเยี่ยม กรณีผู้สูงอายุเจ็บป่วย ควรวางด้านเดียวกัน หลีกเลี่ยงการล้อมผู้สูงอายุเป็นวงกลมเพื่อป้องกันการวิงเวียนจากการที่ต้องหันศีรษะไปคุยกับผู้มาเยี่ยม

เก้าอี้ ควรมีพนักพิง และมีความสูงในระดับที่สามารถวางเท้าถึงพื้นได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการทรงตัวของผู้สูงวัยในขณะที่นั่ง อีกทั้งเก้าอี้สำหรับผู้สูงวัยก็ไม่ควรทำด้วยวัสดุที่หนักเกินไป เพราะจะทำให้ยากต่อการเลื่อนหรือขยับเก้าอี้ได้  

4.โต๊ะข้างเตียง
ควรมีโต๊ะข้างหัวเตียงขนาดเล็กๆสำหรับวางสิ่งของที่จำเป็นในตำแหน่งที่มือเอื้อมถึงได้ง่าย

5.แสงสว่างภายในห้อง
ระดับแสงสว่างภายในห้องต้องสว่างเพียงพอ ควรเป็นแสงสีขาวนวล สวิตช์ไฟเป็นสีสะท้อนแสงเพื่อความสะดวกต่อการมองเห็นเวลากลางคืน และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไป(บริเวณที่เหมาะสมอยู่บริเวณหัวเตียง) อาจมีไฟฉายขนาดที่พอเหมาะไว้ประจำ

6.เปิดหน้าต่าง
ห้องนอนของผู้สูงอายุที่ดี ต้องมีหน้าต่างสำหรับให้อากาศได้ถ่ายเทสะดวก ซึ่งเป็นส่วนทำให้อากาศภายในห้องไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป จึงควรเปิดหน้าต่างเป็นประจำเพื่อให้อากาศได้ไหลเวียนภายในห้องนอน

7.ตู้เสื้อผ้าหรือชั้นวางเสื้อผ้า
ในความเป็นจริงเสื้อผ้าของผู้สูงอายุมักจะมีไม่มากนัก แต่หากจำเป็นที่ต้องมีตู้เสื้อผ้าแล้วควรจัดของชิ้นใหญ่หรือของที่มีน้ำหนักไว้ชั้นล่างสุด เสื้อผ้าเครื่องใช้ควรจัดในระดับเสมอตัว เสื้อผ้าเครื่องใช้ที่ใช้ประจำควรมีชั้นวางเสื้อผ้าไว้นอกตู้เพื่อสะดวกในการหยิบใช้
ปรับปรุงข้อมูลจากเอกสาร : การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ สำนักงานอนามัยและสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

แต่ในความเป็นจริงของชุมชนส่วนใหญ่ จะให้ห้องนอนร่วมกันอาจมีเพียงฉากม่านกั้น ซึ่งถือว่าเป็นส่วนดีในการดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด คำแนะนำต่อไปนี้สำหรับบ้านที่มีพื้นที่จำกัด โดยให้ความสำคัญ ดังนี้
1.ที่นอนเป็นแบบนอนราบ ไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป ที่สำคัญหากเป็นเตียงต้องมีความแข็งแรงและไม่สูงจนเกินไป
2.ภายในห้องมีแสงสว่างที่เพียงพอต่อการมองเห็น
3.หลีกเลี่ยงการวางของเกะกะ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจากการเหยียบ ลื่นหรือเกี่ยวล้ม
4.ที่วางเครื่องใช้หรือเครื่องใช้ส่วนตัวต้องหยิบจับได้ง่าย
5.หน้าต่าง ประตู ควรเปิดโล่งเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก

บันใดและราวจับ

สำหรับบ้านที่มีลักษณะยกพื้นสูง หรือ มีระดับชั้น ซึ่งต้องมีบันได ดังนั้นจึงเป็นอีกพื้นที่หรือบริเวณที่ ที่ผู้สูงอายุ มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ ลักษณะบันไดที่เหมาะสม และมีความปลอดภัยเพียงพอต่อการสัญจร มีดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการวางสิ่งของตามขั้นบันได โดยเฉพาะบันไดขั้นบนสุดหรือล่างสุด เช่น รองเท้า สัตว์เลี้ยง พรมเช็ดเท้า
2.ขอบบันไดแต่ละขั้นควรติดวัสดุกันลื่น และมีสีที่แตกต่างจากพื้นผิวของบันไดเพื่อให้สังเกตเห็นความแตกต่างของบันไดได้ชัดเจน
3.บันไดที่มีความยาว ราวบันไดควรมีรูปร่างทรงกลม 2 ข้าง เพื่อความสะดวกในการยึดเกาะ มีแถบสีหรือสัญลักษณ์ที่บอกตำแหน่งบนสุด หรือล่างสุดและราวบันไดควรยาวกว่าตัวบันไดประมาณ 30 เซนติเมตร เล็กน้อยเพื่อป้องกันการพลัดหกล้มกรณีที่ก้าวผิด

4.บันไดในแต่ละขั้นควรมีความสูงเสมอกัน และไม่ชันมากจนเกินไป
5.ควรมีแสงสว่างเพียงพอตลอดแนวบันได แสงสว่างบริเวณบันไดต้องเพียงพอ มีสวิตซ์ไฟทั้งชั้นบนและล่าง ตามขั้นบันไดจะต้องไม่มีแสงสะท้อน เพราะอาจทำให้ก้าวผิดขั้นหรือเกิดการลื่นไถลได้ง่าย

6.ปรับปรุงความลาดชันลูกตั้งลูกนอนและรูปแบบบันไดที่ปลอดภัยหรือปรับเปลี่ยนเป็นทางลาด พื้นผิวของบันไดใช้วัสดุที่ไม่ลื่นบันไดมีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ควรมีขนาดลูกตั้งสูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร ลูกนอนกว้างไม่น้อยกว่า 28 เซนติเมตร ปิดด้านหลังขั้นบันไดให้สนิท เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะเดินหลังค่อม เข่าและสะโพกงอเล็กน้อย เวลาก้าวเดินฝ่าเท้าจะระไปกับพื้น ก้าวขาได้สั้น ถ้าบันไดแต่ละขั้นสูงจะก้าวขึ้นบันไดลำบาก หากมีชานพักที่บันไดบ้านควรมีความกว้างของชานพักไม่น้อยกว่า 1.2 เมตร 

แต่ในความเป็นจริงของชุมชนชนบทส่วนใหญ่ บ้านจะยกสูงจากพื้น ซึ่งการขึ้นลงบนบ้านจะใช้บันได คำแนะนำต่อไปนี้สำหรับบ้านที่มีบันได โดยให้ความสำคัญ ดังนี้
1.ต้องมีราวบันไดที่มีความมั่นคง แข็งแรง จะมีเพียงด้านเดียว หรือสองด้านก็ได้
2.พื้นขั้นบันได ต้องมีความแข็งแรง
3.หลีกเลี่ยงการวางของเกะกะบริเวณบันได
4.หากปรับความสูงแต่ละขั้นได้ ควรปรับความสูงไม่เกินขั้นละ 15 ซม.

ประตู

ประตูมีความกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร เป็นแบบบานเปิดออก หรือบานเลื่อน ไม่ควรมีธรณีประตู เพราะเป็นสาเหตุของการสะดุดล้ม สามารถ เปิด-ปิด ได้ง่าย เบาแรง ในกรณีที่ประตูเป็นกระจกต้องติดเครื่องหมายหรือแถบสีที่สังเกตเห็นได้ชัด อุปกรณ์เปิด-ปิดประตูควรเป็นชนิดก้านบิดหรือแกนผลักอยู่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 1 เมตร แต่ไม่เกิน 1.2 เมตร

พื้นห้อง และฝาผนัง

พื้น ควรปรับให้มีลักษณะเป็นพื้นเรียบที่ไม่ลื่น ไม่ขรุขระจนเกินไป พื้นห้องที่ต้องให้ความใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ คือ ห้องน้ำ/ห้องส้วม เพราะการเปียกลื่นทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและส่วนใหญ่มักรุนแรง ควรหมั่นทำความสะอาดพื้นห้องน้ำ/ห้องส้วมอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้มีคราบสบู่หรือตะคร่น้ำตกค้าง อาจนำแผ่นกันลื่นมาวางไว้ในห้องน้ำ ที่สำคัญควรทำราวเกาะไว้รอบๆ ห้องน้ำ/ห้องส้วม เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ในการยึดเกาะทรงตัวเวลาผู้สูงอายุเข้าห้องน้ำ/ห้องส้วม จะได้ไม่หกล้มง่ายๆ  ส่วนฝาผนัง ควรเป็นสีสว่างๆดูสะอาดตา ทั้งนี้ สีผนังและสีพื้นไม่ควรเป็นสีเดียวกัน เพื่อการแยกแยะ บริเวณ ขอบเขตส่วนต่างๆภายในห้องนั้นๆ

วัสดุและอุปกรณ์อื่นๆ

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยน จัดเก็บ การจัดหาสิ่งเพิ่มเติมนำมาประยุกต์ใช้  นอกจากจะทำให้บ้านมีความน่าอยู่ ปลอดภัยแล้ว ยังจะช่วยให้ผู้สูงอายุ ได้ใช้ชีวิตดูแลตนเองอย่างมีความสุขอีกด้วย โดยอาจจะพิจารณาตรวจสอบ ปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มเติม รายการต่อไปนี้  

1.ตรวจสอบความแข็งแรง ของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ เตียง ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ว่ามีสั่น โยก ผุ หลุด หลวม หรือไม่

2.ตรวจสอบความแข็งแรงของพื้น บันได ราวบันได 

3.ตรวสอบคุณภาพสายไฟของอุปกรณ์ เครื่องใช้ สายปลั๊กไฟต่อพ่วง(ควรเลือกที่มีมาตรฐาน มีขนาดสายไฟที่มีฉนวนหุ้มสองชั้น)

4.ตรวจสอบระบบไฟฟ้าแสงสว่างภายในห้องนอน ห้องน้ำ ให้ความสำคัญกับ หลอดไฟ สวิทช์ ทั้งด้านตำแหน่งความสะดวกในการปิดเปิด และความปลอดภัย รวมถึงความแน่นหนาของเต้าเสียบด้วย หากมีการใช้สายปลั๊กต่อพ่วง ต้องจัดเก็บให้เรียบร้อยป้องกันการเดินสะดุดล้ม

5.ตรวจสอบความสะอาดของอุปกรณ์ต่างๆในห้องน้ำ ต้องระมัดระวังคราบน้ำ คราบเชื้อรา คุณภาพของอุปกรณ์ที่อาจจะผุกร่อน

6.ตรวจสอบชุดจ่ายไฟ สายเชื่อมต่อของสมาร์ทโฟน(ไม่ควรใช้ของที่ด้อยมาตรฐานที่หาซื้อโดยทั่วไป ควรใช้ของแท้หรือเทียบเท่า)

7.ควรติดตั้งกริ่งสัญญาณหรือระบบขอความช่วยเหลือตามจุดหรือตำแหน่งต่างๆภายในบ้าน ก็จะช่วยเสริมความมั่นใจในการเข้าถึงผู้สูงอายุเพื่อช่วยเหลือได้ทันท่วงที

8.เพิ่มมุมนั่ง และตกแต่งเพิ่มเติมตามจุดหรือบริเวณต่างๆ อาทิ ริมทางเดิน บริเวณหน้าประตูบ้าน

9.เพิ่มมุมมองธรรมชาติ ภูมิทัศน์ที่สวยงาม โดยจัดมุมปลูกต้นไม้หรือสวนเล็กๆบริเวณหน้าบ้าน หรือมีกระถางต้นไม้เล็กๆบนโต๊ะอาหาร

10.ตรวจสอบรอยต่อของทางเดินทุกช่วง ให้เรียบร้อย มีความปลอดภัย อาทิ ห้องนอนไปห้องน้ำ ห้องนอนออกมาทางเดินในบ้าน หรือระหว่างทางเดินไปประตูบ้าน หรือออกไปถนนด้านนอก

จากความเสื่อมถอยของร่างกายของผู้สูงอายุ ในด้านการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหวร่างกาย การตกแต่ง การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของบ้านและพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ใช้งานได้ง่าย เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ก็จะช่วยให้การดำรงชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข มีความปลอดภัย