หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 ทักษะชีวิตที่จำเป็น 3 ประการ

- ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective communication)

- ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal relationship)

- ทักษะการเข้าใจผู้อื่น (Empathy)

2.1 ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

การสื่อสาร เป็นกระบวนการสร้างความเข้าใจกันระหว่างบุคคล โดยอาจเป็นการสื่อสารทางเดียว (one-way communication) คือ การสื่อข่าวสารจากผู้ส่งสาร ไปยังผู้รับสาร โดยไม่มีการสื่อสารกลับ หรือสะท้อนความรู้สึกกลับไปยังผู้ส่งสารอีกครั้ง ส่วนการสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) เป็นการสื่อข่าวสารจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร และมีการสื่อสารกลับ หรือสะท้อนความรู้สึกกลับจากผู้รับสาร ไปยังผู้ส่งสารอีกครั้ง จึงเรียกว่า เป็นการสื่อสารสองทาง

การสื่อสารระหว่างบุคคล นับว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะในการดำเนินชีวิตปกติในปัจจุบัน การสื่อสารเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วย การพูด การเขียน การแสดงกิริยาท่าทาง หรือการใช้เครื่องมือสื่อสารที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์ Internet e-mail ฯลฯ ทั้งนี้ การสื่อสารด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม ควรทำให้ผู้ส่งสาร และผู้รับสารเกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน และเกิดสัมพันธภาพที่ดีตามมา ซึ่งทักษะที่จำเป็นในการสื่อสาร ได้แก่ การรู้จักแสดงความคิดเห็น หรือความต้องการให้ถูกกาลเทศะ และการรู้จักแสดงความชื่นชมผู้อื่น การรู้จักขอร้อง การเจรจาต่อรองในสถานการณ์คับขันจำเป็น การตักเตือนด้วยความจริงใจ และใช้วาจา สุภาพ การรู้จักปฏิเสธเมื่อถูกชักชวนให้ปฏิบัติในสิ่งที่ผิดขนบธรรมเนียมประเพณี หรือผิดกฎหมาย เป็นต้น

2.2 ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล

จะสร้างสัมพันธภาพที่ดีได้อย่างไร

การเรียนรู้วิธีการสร้างสัมพันธภาพที่ดีเป็นสำคัญ และทุกคนควรจะค้นหาเพื่อให้เกิดมิตรภาพ ดังนี้

1. ความใส่ใจ เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ดูแลกันทั้งยามสุข ยามทุกข์

2. ความไว้เนื้อเชื่อใจ การอยู่กับผู้อื่นอย่างมีความสุขเราต้องไว้วางใจในตัวเขาและต้องให้เขาไว้วางใจในตัวเราด้วย

3. การยอมรับ เราจะต้องรู้จักให้การยอมรับ และนับถือคนอื่น รู้จักแสดงความชื่นชม และยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น

4. การมีส่วนร่วม และการแบ่งปัน สัมพันธภาพที่ดีคือ การได้มีส่วนร่วมแบ่งปันในประสบการณ์ รู้จักรับฟังความคิด และยอมรับความจริงจากคนส่วนมาก

5. การมีความยืดหยุ่น คนที่มีความยืดหยุ่นจะเป็นคนที่สามารถมีความสุข แม้จะอยู่กับคนที่มีความเห็นต่างกัน

6. ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การแสดงความเห็นอกเห็นใจ จะทำได้ง่ายถ้ามีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เพราะจะไม่เกิดความเข้าใจผิดต่อกันจากการที่คนเราต้องมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นนั้น ก็เพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

การสร้างสัมพันธภาพด้วยการให้

1. การฝึกให้เป็นผู้เสียสละ หรือเป็นผู้ให้นั้น พ่อแม่จะต้องสอนลูก หรือเป็นตัวอย่างในการเป็นผู้ให้เสมอ

2. การให้โดยทั่วไปนั้น เรามักจะนึกถึงแต่การให้สิ่งของ หรือเงินทอง แต่ความจริงยังมีสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรให้แก่กัน ได้แก่ การให้รอยยิ้ม ให้ความจริงใจ ให้การช่วยเหลือ ให้คำชมเชย ให้ความเมตตา ให้อภัย ฯลฯ ซึ่งการให้สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องเสียเงินทองซื้อหา แต่ต้องเป็นการให้ที่ออกมาจากใจจริง จะเป็นการสร้างมิตรภาพที่ดีต่อกัน

3. ให้นึกเสมอว่า จงเป็นผู้ให้เถิด ให้ผู้อื่นให้มากขึ้น รับให้น้อยลง จึงจะเป็นการทำให้ครอบครัวเรามีความสุข และสังคมจะอบอุ่น เพื่อลูกได้ซึมซับ และนำไปใช้ในการเป็นผู้ให้เสมอกับเพื่อน ๆ พี่ น้อง และคนอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมกัน

2.3 ทักษะการเข้าใจผู้อื่น

การที่บุคคลจะอยู่ในครอบครัว อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข จำเป็นต้องรู้จักตนเองและรู้จักผู้ที่ตนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย ดังภาษิตจีนที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”ดังนั้น การที่เราจะทำความรู้จักผู้อื่น ซึ่งเราจะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นภายในครอบครัวของเราเอง หรือในสถานศึกษา ในสถานที่ทำงาน เพราะเราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ในทุกที ทุกสถานการณ์

หลักในการเข้าใจผู้อื่น มีดังนี้

1. ต้องคำนึงว่าคนทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา จึงควรปฏิบัติกับเพื่อนมนุษย์ทุกคนด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็น คนจน คนรวย คนแก่ เด็ก คนพิการ ฯลฯ

2. บุคคลทุกคนมีความแตกต่างกัน ทั้งพื้นฐานความรู้ ฐานะทางเศรษฐกิจ สภาพความเป็นอยู่ ระดับการศึกษา การปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยม ระเบียบ วินัย ความรับผิดชอบ ฯลฯ ดังนั้น  หากเรายอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลดังกล่าว จะทำให้เราพยายามทำความเข้าใจเขา และสื่อสารกับเขาด้วยกิริยาวาจาสุภาพ ไม่แสดงอาการดูถูกดูแคลน หรือแสดงอาการหงุดหงิด รำคาญ เป็นต้น

3. การเอาใจเขามาใส่ใจเรา บุคคลทั่วไปมักชอบให้คนอื่นเข้าใจตนเอง ยอมรับ ในความต้องการ ควรเป็นตัวตนของตนเอง เมื่อเราพยายามเข้าใจเขา และปฏิบัติให้สอดคล้องกับความชอบความต้องการของเขาแล้ว ก็จะทำให้การอยู่ร่วมกัน หรือการทำงานร่วมกันเป็นไปด้วยความราบรื่นและแสดงความสงบสันติสุขในครอบครัว ชุมชน และสังคม

4. การรับฟังผู้อื่น การที่เราจะเข้าใจผู้อื่นได้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเรารับฟังความคิดเห็น ความต้องการของเขามากน้อยเพียงใด บุคคลทั่วไปในปัจจุบันไม่ชอบฟังคนอื่นพูด แต่ชอบที่จะพูดให้คนอื่นฟัง และปฏิบัติตาม ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เราเข้าใจผู้อื่นก็คือ ทักษะการฟัง ซึ่งจะต้องเป็นการฟังอย่างตั้งใจ ไม่ขัดจังหวะ หรือแสดงอาการเบื่อหน่าย และควรแสดงกิริยาตอบรับ เช่น สบตา ผงกศีรษะ ทั้งนี้ การฟังอย่างตั้งใจ จะทำให้เรารับทราบความคิด ความต้องการ