เรื่องที่ 1 หลักและวิธีการใช้ยาแผนโบราณและยาสมุนไพร
ปัจจุบันมีการสนับสนุนให้ใช้ “สมุนไพร” ในการรักษาโรคต่าง ๆ และมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรออกมามากจนเกิดการสับสนระหว่าง “สมุนไพร” และ “ยาแผนโบราณ” ซึ่ง “ยาสมุนไพร”นั้น จะหมายถึง ยาที่ได้จากพฤกษชาติ สัตว์ หรือแร่ ซึ่งมิได้ผสมปรุงหรือแปรสภาพในขณะที่ “ยาแผนโบราณ” เป็นการนำเอาสมุนไพรมาแปรรูปแล้วอาจจะอยู่ในรูปยาน้ำ ยาเม็ด หรือแคปซูล ซึ่งยาแผนโบราณนี้ การจะผลิตหรือนำสั่งเข้ามาจะต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อน รวมทั้งการขายยาแผนโบราณต้องขายเฉพาะในร้านขายยาแผนโบราณหรือในร้านขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น

1.1 หลักและวิธีการใช้ยาแผนโบราณ
ความหมายของยาแผนโบราณตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2510 ได้แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ “ยาแผนโบราณ” คือ ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบโรคศิลป์แผนโบราณ ซึ่งเป็นยาที่อาศัยความรู้จากตำราหรือเรียนสืบต่อกันมา

การควบคุมยาแผนโบราณตามกฎหมายที่ควรรู้
1. การผลิต นำเข้า และการขายยาแผนโบราณ จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และต้องจัดให้ผู้ประกอบโรคศิลป์แผนโบราณเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการประจำอยู่ตลอดเวลาที่เปิดทำการ
2. ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตผลิตยา ขาย หรือนำเข้ายาแผนโบราณนอกสถานที่ที่ได้กำหนดไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่เป็นการขายส่งตรงต่อผู้รับอนุญาตขายยาแผนโบราณ

ปัญหายาแผนโบราณที่พบในปัจจุบัน

แม้ว่าจะมีกฎหมายและหน่วยงานที่คอยควบคุมการผลิตและการขายยาแผนโบราณเพื่อคุ้มครองให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากการใช้ยาแผนโบราณ แต่ก็ไม่สามารถที่จะขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบผลิตและขายยาแผนโบราณโดยไม่ได้ขออนุญาตผลิตและขายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด การขายยาแผนโบราณที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือยาปลอม

อันตรายจากการรับประทานยาแผนโบราณที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือยาปลอม

ในปัจจุบันพบว่า มียาแผนโบราณที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือยาปลอมก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ เช่น มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค หรือการนำสารเคมีที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคมาใส่ในยาแผนโบราณ เช่น เมธิลแอลกอฮอล์ คลอโรฟอร์ม การใส่ยาแก้ปวด แผนปัจจุบัน เช่น อินโดเมทาซิน หรือแม้แต่การนำยาเฟนิลบิวตาโวนและสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งมีผลข้างเคียงสูงผสมลงในยาแผนโบราณ เพื่อให้เกิดผลในการรักษาที่รวดเร็ว แต่จะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค คือ ทำให้เกิดโรคกระดูกผุ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคกระเพาะได้ เป็นต้น

1.2 หลักและวิธีการใช้ยาสมุนไพร
ในปัจจุบันค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในแต่ละปีประเทศชาติต้องเสียงบประมาณในการสั่งซื้อยา และเวชภัณฑ์จากต่างประเทศเป็นจำนวนมากกระทรวงสาธารณสุขได้พยายามหากลวิธีในการใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการป้องกันส่งเสริมสุขภาพและรักษาโรค สมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทยนับเป็นทางเลือกหนึ่งของประชาชนซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาไทยที่นอกจากมีความปลอดภัยแล้วยังเป็นการประหยัดเงินตราของประเทศอีกด้วยสมุนไพรตามพระราชบัญญัติยา หมายถึง ยาที่ได้จากพืช สัตว์ 

ส่วนของพืชที่นำมาใช้เป็นสมุนไพร
ส่วนของพืชที่เรานำมาใช้เป็นยานั้นมีหลายส่วนขึ้นอยู่กับตัวยาว่าใช้ส่วนใดของพืชซึ่งส่วนของพืชที่นำมาใช้เป็นสมุนไพร มีดังนี้
1. ราก (Root) รากของพืชจะมี 2 แบบ คือ แบบที่มีรากแก้วและรากฝอย ซึ่งสามารถนำมาใช้ทำเป็นยาได้ทั้ง 2 แบบ

2. ลำต้น (Stem) สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

ลำต้นเหนือดิน (Aerial Stem) ได้แก่ พืชที่มีลำต้นอยู่เหนือดินทั้งหลาย มีทั้งต้น

ใหญ่และต้นเล็ก อาจนำเปลือกหรือเนื้อไม้มาทำเป็นยาได้

ลำต้นใต้ดิน (Underground Stem) จะมีลักษณะคล้ายราก แต่จะมีขนาดใหญ่ มี

รูปร่างต่าง ๆ ซึ่งเราเรียกส่วนที่อยู่ใต้ดินว่า “หัว” หรือ “เหง้า”

3. ใบ (Leaf) ใบของพืชจะมีรูปร่างแตกต่างกันไป เช่น รูปเรียวยาว รูปรี รูปไข่ รูป

ใบหอก รูปหัวใจ รูปไต รูปโล่ เป็นต้น

4. ดอก (Flower) ดอกไม้จะประกอบด้วย กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสร

ตัวเมีย ซึ่งจะติดอยู่บนฐานรองดอก

5. ผล (Fruit) อาจเรียกเป็นผลหรือเป็นฝักก็ได้

วิธีใช้สมุนไพร
สมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในปัจจุบันนี้มักนำมาปรุงเป็นยาเพื่อใช้รักษา ป้องกัน และสร้างเสริมสุขภาพ แต่ส่วนมากจะเป็นการรักษาโรค ที่พบมากมีดังนี้ 1. ยาต้ม อาจเป็นสมุนไพรชนิดเดียวหรือหลาย ๆ ชนิดก็ได้ที่นำมาต้ม เพื่อให้สาระสำคัญที่มีในสมุนไพรละลายออกมาในน้ำ วิธีเตรียมทำโดยนำสมุนไพรมาใส่ลงในหม้อ ซึ่งอาจเป็นหม้อดินหรือหม้อที่เป็นอะลูมิเนียม สแตนเลสก็ได้ แล้วใส่น้ำลงไปให้ท่วมสมุนไพร แล้วจึงนำไปตั้งบนเตาไฟ ต้มให้เดือดแล้วเคี่ยวต่ออีกเล็กน้อย วิธีรับประทานให้รินน้ำสมุนไพรใส่ถ้วยหรือแก้วหรือจะใช้ถ้วยหรือแก้วตักเฉพาะน้ำขึ้นมาในปริมาณพอสมควร

2. ยาผง เป็นสมุนไพรที่นำมาบดให้เป็นผง ซึ่งตามร้านขายยาสมุนไพรจะมีเครื่องบด โดยคิดค่าบดเพิ่มอีกเล็กน้อย อาจเป็นสมุนไพรชนิดเดียวหรือหลายชนิดก็ได้ที่นำมาบดให้เป็นผงแล้วนำมาใส่กล่อง ขวด หรือถุง วิธีรับประทานจะละลายในน้ำแล้วใช้ดื่มก็ได้ หรือจะตักใส่ปากแล้วดื่มน้ำตามให้ละลายในปากได้ ปัจจุบันมีการนำมาใส่แคปซูล เพื่อสะดวกในการรับประทาน พกพาและจำหน่าย
3. ยาชง วิธีเตรียมจะง่ายและสะดวกกว่ายาต้ม มักมีกลิ่นหอม เตรียมโดยหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากหรืออบให้แห้งแล้วนำมาชงน้ำดื่มเหมือนกับการชงน้ำชา ปัจจุบันมีสมุนไพรหลายอย่างที่นำมาชงดื่ม มักเป็นสมุนไพรชนิดเดียว เช่น ตะไคร้ หญ้าหนวดแมว ชาเขียวใบหม่อน หญ้าปักกิ่ง เป็นต้น ในปัจจุบันมีการนำสมุนไพรมาบดเป็นผงแล้วใส่ซองมีเชือกผูกติดซอง ใช้ชงในน้ำร้อนบางชนิดมีการผสมน้ำตาลทรายแดงเพื่อให้มีรสชาติดีขึ้นแล้วนำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม ซึ่งทั้งสองรูปแบบนี้มีขายอยู่ทั่วไป
4. ยาลูกกลอน เป็นการนำยาผงมาผสมกับน้ำหรือน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นลูกกลม ๆ เล็กๆ วิธีรับประทานโดยการนำยาลูกกลอนใส่ปาก ดื่มน้ำตาม

5. ยาเม็ด ปัจจุบันมีการนำยาผงมาผสมน้ำหรือน้ำผึ้งแล้วมาใส่เครื่องอัดเป็นเม็ดเครื่องมือนี้หาซื้อได้ง่าย มีราคาไม่แพง ใช้มือกดได้ ไม่ต้องใช้เครื่องจักร ตามสถานที่ปรุงยาสมุนไพรหรือวัดที่มีการปรุงยาสมุนไพรมักจะซื้อเครื่องมือชนิดนี้มาใช้

รื่องที่ 2 อันตรายจากการใช้ยาแผนโบราณและยาสมุนไพร

อันตรายจากยาแผนโบราณ
จากปัญหาของยาแผนโบราณในสังคมไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้มีการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของยาสมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ ซึ่งเป็นยาปลอมอย่างสม่ำเสมอ และจากผลการตรวจวิเคราะห์ยาปลอมเหล่านั้น พบว่า มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคหรือการลักลอบนำสารเคมีที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคมาใส่ในยาแผนโบราณ เช่น เมธทิลแอลกอฮอล์คลอโรฟอร์ม การใส่ยาแก้ปวดแผนปัจจุบัน

สารสเตียรอยด์ที่ผสมอยู่ในยาแผนโบราณก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้มากมาย เช่น
- ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร อาจถึงขั้นทำให้กระเพาะทะลุ ซึ่งพบในผู้ที่รับประทานยากลุ่มนี้หลายรายที่กระเพาะอาหารทะลุ ทำให้หน้ามืด หมดสติ และอาจอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว
- ทำให้เกิดการบวม (ตึง) ที่ไม่ใช่อ้วน
- ทำให้กระดูกผุกร่อน และเปราะง่าย นำไปสู่ความทุพพลภาพได้


บทกำหนดโทษตามกฎหมาย
บทกำหนดโทษตามกฎหมายสำหรับผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องของยาแผนโบราณ มีดังนี้
ฝ่าฝืนกฎหมายบทกำหนดโทษ
1. ผู้ผลิต ขาย หรือนำเข้ายาแผนโบราณ โดยไม่ได้รับอนุญาตผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท (ห้าพันบาท)
2. ผู้ผลิต ขาย หรือนำเข้ายาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท (ห้าพันบาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ผู้ที่ผลิตยาปลอมจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 – 50,000 บาท (หนึ่งหมื่นถึงห้าหมื่นบาท)
4. ผู้ที่ขายยาปลอมจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท (สองพันถึงหนึ่งหมื่นบาท)
5. ผู้ที่โฆษณาขายยาโดยฝ่าฝืนกฎหมายต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท)

เลือกซื้อยาแผนโบราณอย่างไรจึงปลอดภัย
หากท่านมีอาการเจ็บป่วย และมีความจำเป็นที่จะต้องซื้อยาแผนโบราณมาใช้โปรด
1. ซื้อยาจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตขายยาเท่านั้น
2. สังเกตฉลากยาแผนโบราณที่ต้องการซื้อ (จากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตขายยา)ที่ฉลากต้องมีข้อความสำคัญต่าง ๆ ดังนี้
- ชื่อยา
- เลขที่หรือรหัสใบสำคัญการขึ้นทะเบียนยา ซึ่งก็คือเลขทะเบียนตำรับยานั่นเอง
- ปริมาณของยาที่บรรจุ
- เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต
- ชื่อผู้ผลิตและจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยา
- วัน เดือน ปี ที่ผลิตยา

พบปัญหาหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาแผนโบราณติดต่อที่ใด
1. พบยาแผนโบราณที่ไม่มีเลขทะเบียนตำรับ
2. พบการขายยาจากรถเร่ขาย การขายยาตามวัด แผงลอยและตลาดนัด และสงสัยว่าเป็นยาปลอม
3. พบการโฆษณายาแผนโบราณที่โอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด
4. สงสัยเกี่ยวกับยาแผนโบราณท่านสามารถติดต่อไปได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและโปรดอย่าลืม ซื้อยาแผนโบราณครั้งใดต้องซื้อจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตเท่านั้น และตรวจสอบฉลากให้รอบคอบก่อนซื้อ ว่ายานั้นมีเลขทะเบียนตำรับยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังในการใช้ยาสมุนไพร

1. พืชสมุนไพรหลายชนิดมีพิษโดยเฉพาะถ้าใช้ไม่ถูกส่วน เช่น ฟ้าทะลายโจร ควรใช้ส่วนใบอ่อน แต่ไม่ควรใช้ก้านหรือลำต้น เพราะมีสารไซยาไนต์ประกอบอยู่ ดังนั้นก่อนใช้ยาสมุนไพรต้องแน่ใจว่ามีอะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง
2. ก่อนใช้ยาสมุนไพรกับเด็กและสตรีมีครรภ์ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
3. การรับประทานยาสมุนไพรควรรับประทานตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ หากใช้ในปริมาณที่เกินขนาดอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็น
อันตรายมาก
4. ต้องสังเกตเสมอว่า เมื่อใช้แล้วมีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่ หากมีอาการผิดปกติเช่น ผื่นคัน เวียนศีรษะ หายใจไม่สะดวก หรือมีอาการถ่ายรุนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

สรุป
ยาทุกประเภทมีทั้งคุณและโทษ การใช้ยาโดยขาดความรู้ความเข้าใจหรือใช้ไม่ถูกกับโรค ไม่ถูกวิธี นอกจากไม่เกิดประโยชน์ในการรักษาแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยเฉพาะยาแผนโบราณและยาสมุนไพรที่มีขายอยู่ทั่วไป มีจำนวนไม่มากนักที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น การเลือกใช้ยาดังกล่าวจึงต้องคัดเลือกยาที่ได้รับมาตรฐานอาหารและยา (อย.)ตลอดจนต้องทราบสรรพคุณและวิธีการใช้ที่ถูกกับสภาพและอาการเจ็บป่วยของแต่ละบุคคล จึงจะเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ก่อนใช้ยาทุกประเภทควรคำนึงถึงหลักการใช้ยาทั่วไป โดยอ่านฉลากยาให้ละเอียดและใช้อย่างระมัดระวัง